ปริศนาพยักหน้าและซบลงบนบ่าท่านชาย ท่านชายกอดปริศนาอยู่นิ่งครู่ใหญ่ก็ปล่อย รับสั่งว่า

“เธอไปนอนเสียเถอะปริศนา แล้วอุตส่าห์นอนให้หลับนะ”

“แน่ล่ะคะ” 

“ลาก่อนปริศนา พรุ่งนี้พบกันใหม่”

“ทูลลาก่อน”

“คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่เราจะจากกัน แล้วเราจะไม่จากกันอีกตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป…ปริศนา พรุ่งนี้แล้ว”

ท่านชายเสด็จไปแล้ว ปริศนาก็กลับขึ้นห้องนอน ปิดไฟแล้วก็ขึ้นเตียงนอนท่องคำว่า “พรุ่งนี้” จนหลับไป

กรี๊ด… ในที่สุดความรักของหม่อมเจ้าพจนปรีชาและปริศนาก็จบลงด้วยความสุขสมหวัง คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายแล้วที่ท่านชายจะเสด็จมาลา ‘นางสาวปริศนา’ ก่อนพิธีเสกสมรสในวันรุ่งขึ้น และทั้งสองจะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป ผมอ่านไปอินไปจนเผลอจิกหมอนเกร็งทุกครั้ง แม้ว่าว่าผมจะอ่านนวนิยายเรื่อง ปริศนา จบลงเป็นรอบที่ 20 แล้วก็ตาม

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

ภาพความงดงามของหาดหัวหินช่วง พ.ศ. 2480 อันเป็นฉากแห่งความรักโรแมนติกของทั้งคู่ยังวนเวียนอยู่ในจินตนาการ บ้านไม้หลังสวยที่ตั้งเรียงรายไปตามหาดทรายขาวสะอาดทอดยาวไปไกล หมู่ต้นลั่นทมส่งกลิ่นหอมฟุ้ง สังคมอบอุ่นที่ใครต่อใครก็ล้วนรู้จักและเอื้ออาทรต่อกัน

หัวหินในวันนี้ธรรมชาติขาดหาย บ้านไม้หลังสวยถูกแทนที่ด้วยแท่งคอนกรีตตะกายฟ้า จนยากที่จะตามหาร่องรอยความสงบงามดั่งอดีต แต่มีบ้านอยู่หลังหนึ่งที่เหล่าทายาทพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป โดยไม่สนใจข้อเสนออันเย้ายวนจากกลุ่มธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น แม้ทราบว่าการอนุรักษ์บ้านโบราณหลังนี้ต้องใช้งบประมาณอยู่ไม่น้อย แต่พวกเขาก็ร่วมกันหาทางออกจนสำเร็จ และนับเป็นกรณีศึกษาเรื่อง Heritage Management ที่น่าเรียนรู้

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

คอลัมน์ Heritage House ครั้งนี้ ขอพาทุกท่านย้อนอดีตสู่หัวหินยุคปริศนา ผ่านเรื่องเล่าของ ‘บ้านบาหยัน’ ที่เหล่าทายาทอันได้แก่ คุณปุรณี จัยวัฒน์, พลอากาศโทหญิงเสริมพัฒน์ จัยวัฒน์, คุณสการ จัยวัฒน์, คุณปุณิกา จัยวัฒน์ และ คุณอแมนด้า เอลลิส รวมทั้งสถาปนิกอนุรักษ์ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ผู้รับผิดชอบโครงการซ่อมบำรุงบ้านบาหยัน จะร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวหลากมิติให้เราได้รับรู้ 

บรรยากาศความงามของหัวหินในวันวานกำลังจะหวนกลับมาอีกครั้ง ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป

แป้งบาหยันสู่บ้านบาหยัน

“ก่อนจะมาเป็นบ้านบาหยัน ที่นี่คือส่วนหนึ่งของบ้านพลับป่า ก ค่ะ” คุณปุรณีเอ่ย 

บ้านพลับป่า ก เป็นตำหนักตากอากาศของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลเทวกุล สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้ประทานแก่พระธิดา คือ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระชายาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลกิติยากร

“หม่อมเจ้าอัปษรสมานเคยเสด็จมาทำพระเกศาที่ร้านของ คุณย่าสงวนศรี (สงวนศรี กมลวาทิน) ผู้เป็นน้องสาวคนเล็กของคุณย่าดิฉัน ท่านทรงเปรยว่าต้องพระประสงค์จะขายบ้านที่หัวหิน หลายปีต่อมาคุณย่าก็ได้เป็นผู้ซื้อบ้านหลังนี้ไว้ และนั่นคือที่มาของบ้านบาหยัน”

หม่อมเจ้าอัปสรสมาน กิติยากร สิ้นชีพิตักษัยลงเมื่อ พ.ศ. 2482 ผู้จัดการมรดกในพระองค์ได้จัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงย่อยๆ และได้ขายบ้านพร้อมที่ดินแปลงหนึ่งให้กับ ‘คุณย่า’ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2495 และคุณย่าได้ขนานนามบ้านหลังนี้ใหม่ว่าบ้านบาหยัน 

“คุณย่าก็คือ คุณประภา จัยวัฒน์ ผู้จัดการบริษัทเพ็ญประภา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งบาหยันที่ฮิตมากในยุคนั้น” คุณปุรณีขยายความ

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“คุณย่าเล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนผู้หญิงไม่มีโอกาสเรียนอย่างผู้ชาย ตอนนั้นครอบครัวอาศัยอยู่ที่เยาวราช ใกล้ๆ กับโรงบ่อน ซึ่งมีผู้ชายมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาเล่นการพนัน พ่อของคุณย่าก็เลยยิ่งหวง ไม่อยากให้ใครมาเห็นลูกสาว เลยยิ่งเก็บท่านไว้แต่ในบ้าน คุณย่าเห็นพี่ชายได้เรียนหนังสือก็อยากเรียนกับเขาบ้าง ท่านไปขอร้องคุณแม่ให้แอบจ้างครูมาสอนที่ห้องใต้ดิน คุณแม่ของท่านก็จ้างครูมาสอนทุกวิชา รวมทั้งวิชาภาษาอังกฤษด้วย นั่นคือการเริ่มต้นการศึกษาของท่าน ต้องนับว่าท่านเป็นคนหัวก้าวหน้ามากในสมัยนั้น” พลอากาศโทหญิงเสริมพัฒน์ถ่ายทอดสิ่งที่คุณย่าประภาเคยเล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม ความมุมานะของคุณย่าประภาก็ประสบผลสำเร็จ เพราะในที่สุดท่านก็ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ จนสำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเสาวภา ย่านปากคลองตลาด

ต่อมาคุณย่าประภาได้เข้ามาทำงานกับพี่ชาย นายเจือ เพ็ญภาคกุล ผู้เป็นเจ้าของห้างขายยาสตรีเพ็ญภาคที่เยาวราช

“ตอนนั้นท่านอายุเพียงสิบห้าปี แต่พี่ชายไว้วางใจให้มาเป็นผู้ดูแลร้าน คุณย่าภูมิใจมากว่าในสมัยนั้นไม่มีผู้หญิงคนไหนทำหน้าที่นี้ คนที่เป็นผู้ดูแลร้านต้องคิดเลขเก่ง คำนวณปริมาณสินค้าได้แม่นยำ และต้องมีความซื่อสัตย์มากๆ ท่านได้ทำงานกับพี่ชายจนอายุยี่สิบแปดปี ก็อยากจะมีธุรกิจของตนเองบ้าง ท่านรู้ตัวว่าชอบเรื่องความสวยความงาม เลยเบนเข็มมาเริ่มธุรกิจเครื่องสำอางพลอากาศโทหญิงเสริมพัฒน์เล่าถึงคุณย่าประภา

เมื่อเริ่มธุรกิจแป้งบาหยันใหม่ๆ ใน พ.ศ. 2475 คุณย่าประภาต้องเดินทางไปฝรั่งเศสเพียงคนเดียว โดยสารเรือเดินสมุทรจากท่าเรือคลองเตยไปยังสิงคโปร์ ก่อนต่อเครื่องบินไปปารีสเพื่อเลือกหัวน้ำหอมนานาชนิด จนได้กลิ่นที่ตัวเองพอใจ แล้วจึงนำกลับมาปรุงและจัดจำหน่าย นั่นคือจุดเริ่มต้นของแป้งบาหยัน แป้งยุคบุกเบิกที่มีกลิ่นหอมทันสมัยแบบตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากน้ำอบไทยที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปในขณะนั้น

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“แป้งบาหยันมีทั้งแป้งน้ำ แป้งฝุ่น มีน้ำมันสำหรับแต่งผมทรงเอลวิส เพรสลี่ ด้วย เมื่อก่อนคุณย่าจะนำแป้งบาหยันออกเร่ขายไปพร้อมกับหนังกลางแปลง คนมาดูหนังก็มาซื้อแป้งด้วย วิธีของคุณย่าทำให้แป้งบาหยันกลายเป็นสินค้าติดตลาดทั่วเมืองไทยในที่สุด” คุณปุรณีเล่าให้ฟังพร้อมนำแป้งบาหยันออกมาให้ชม เป็นที่น่าเสียดายว่าแป้งยอดฮิตในอดีตกลายเป็นสินค้าในตำนานไปเสียแล้วในวันนี้

“คุณย่าเป็นคนชอบบ้านเก่า เมื่อท่านประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว ก็อยากมีบ้านไว้เป็นที่พักผ่อนของครอบครัวที่หัวหินด้วย เมื่อได้ครอบครองส่วนหนึ่งของบ้านพลับป่า ก ท่านก็เลยนำชื่อสินค้ามาเป็นชื่อบ้านหลังนี้ เพราะผูกพันกับชื่อนี้มาก

“ผู้ที่ตั้งชื่อแป้งบาหยันก็คือ คุณโชติ แพร่พันธุ์ หรือ ยาขอบ นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ยาขอบยังเป็นผู้ที่เขียนคำโฆษณาแป้งบาหยันที่ปรากฏลงตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าป้ายโฆษณา หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมทั้งเพลงในสื่อวิทยุที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคยกันดี โดยมีเนื้อร้องว่า ‘สาวชาววัง เอวเล็กเอวบาง ประแป้งบาหยัน’

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยาขอบกำลังเขียนเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ อยู่พอดี และได้รับความจุนเจือจากคุณย่าให้มีรายได้เสริมด้วยการเป็นนักโฆษณาให้กับสินค้าของท่านด้วย” พลอากาศโทหญิงเสริมพัฒน์เล่าถึงที่มาของชื่อสำคัญ

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

หลังจากได้ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 บ้านบาหยันกลายมาเป็นบ้านตากอากาศของครอบครัวจัยวัฒน์ ที่สมาชิกครอบครัวทุกรุ่นล้วนมีความรักและผูกพันต่อบ้านหลังนี้อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

หัวหินวันวาน

ตำหนักมโนรมย์

ทูลเจ้าพี่ทรงทราบ

เจ้าพี่เห็นหญิงเข้าเดี๋ยวนี้คงจำไม่ได้เพราะหญิงตัวดำปื๋อ อยู่กลางแดดตลอดวัน เดี๋ยวนี้คนมาหัวหินมาก มากันเต็มทุกเที่ยวรถไฟ หญิงขี่รถถีบไปสถานีกับวิมลเกือบทุกวัน และได้พบคนรู้จักมากๆ ทุกคราว ครูปริศนาของหญิงก็มาด้วย อยู่บ้านใกล้ ๆ กับโฮเต็ล ครูไม่มีคนครัวมาด้วยต้องทำกับข้าวกันเอง หญิงกับวิมลเลยเข้าครัวเป็นลูกมือกับครูปริศนา สนุกจังค่ะ พี่รตีแต่งตัวสวยไปโฮเต็ลทุกวัน พอค่ำๆ ก็กลับบ้าน มีหนุ่มๆ มาส่งเต็ม โก้พอใช้

รักเจ้าพี่เสมอ

รัตนาวดี

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“ไปหัวหินทีกลับมาตัวดำจริงๆ ค่ะ เพราะกันไปทีนานนับเดือนตลอดหน้าร้อน วันๆ ก็เล่นแต่น้ำทะเล ใช้ยางในรถยนต์เป็นห่วง ลอยไปหลับไป ผู้ใหญ่มาตามยังไม่อยากขึ้นบ้าน (หัวเราะ) เย็นๆ หาดกว้างมาก ก็เล่นตี่จับ วิ่งเปี้ยว ชักกะเย่อ ผู้ใหญ่มาตามก็ไม่ยอมเลิกอีก พอวันเสาร์อาทิตย์เย็นก็เดินไปเที่ยวโรงแรมรถไฟกัน” คุณปุรณีเล่าถึงหัวหินในวัยเด็ก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในขณะนั้น ดำเนินการจัดสร้างโรงแรมขึ้นที่หัวหินจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2466 นับเป็นโฮเต็ลตากอากาศมาตรฐานยุโรปแห่งแรกของประเทศ และเป็น Clubhouse ของชาวกรุงที่มาตากอากาศกันที่นี่

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“โรงแรมรถไฟนี่ไปทีไรก็จะเจอคนรู้จักอยู่ที่นั่น เราก็ใส่ขาสั้น แต่งตัวแบบปริศนาไปกับพี่ๆ น้องๆ ไปเล่นกอล์ฟกันในวันเสาร์อาทิตย์ เดินเลียบหาดไปจนถึงสนามกว้างของโรงแรม โอ้โห ตื่นตาตื่นใจมาก ของกินเพียบ (หัวเราะ) มีทั้งปลาหมึกย่าง หอยเสียบทานกับมะละกอเส้น มะยมเชื่อมสีแดงๆ เสียบไม้ขาย ข้าวเกรียบว่าว ข้าวเกรียบมะพร้าวงาดำ ฯลฯ ที่โรงแรมมีต้นไม้ตัดเป็นรูปช้าง มีต้นตะโกดัด อาคารทรงยุโรปสวยๆ บรรยากาศครื้นเครง” 

นอกจากการไปโฮเต็ลแล้ว มีกิจกรรมยอดฮิตอีกอย่างที่มักเกิดขึ้นบนหาดในคืนเดือนมืด

“จับปูลมค่ะ ผู้ใหญ่บอกว่าจะจับปูนี่กำลังจะทำบาปนะ ต้องคิดให้ดี อย่าจับมาเล่น ทำให้เขาเจ็บ ถ้าจะจับก็ต้องกิน ในที่สุดปูที่จับมาก็ต้องนำมาทอดกินกันอร่อย ตามความเข้าใจของเราตอนเป็นเด็กก็คืออย่างนั้นไม่ถือว่าทำบาปแล้ว เพราะจับปูลมมาทานเกลี้ยงไปหมดแล้ว” คุณปุรณีเล่าเสียงใสด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย

หัวหินเป็นถิ่นของมิตรภาพ บ้านบาหยันก็เช่นกัน

“คุณย่ามีพี่น้องหลายคน มีลูกมีหลานเยอะ ก็จะนอนเรียงกันทั่วบ้านสักสามสิบคนได้ สนุกเป็นที่สุด บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ก็ล้วนรู้จักมักคุ้นกัน แต่ละบ้านก็จะมีเมนูเด็ดมาเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน อย่างบ้านใกล้ๆ กันทำรวมมิตรอร่อย ทำเสร็จแล้วก็แบ่งมาให้เราได้ทานด้วย แล้วเราก็จะแวะเวียนกันไปนอนบ้านเพื่อน เพื่อนก็มานอนบ้านเรา เป็นความทรงจำที่ดีมาก” 

กิจกรรมที่คุณย่าทำกับหลานๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย และทำให้หัวหินเป็นแหล่งเรียนรู้บางวิชาในระหว่างปิดเทอมฤดูร้อน

“วิชาแรกคือวิชาคำนวณค่ะ เพราะคุณย่ากับเพื่อนๆ ของท่านชอบตั้งวงเล่นไพ่กัน (หัวเราะ) แล้วก็จะชวนหลานๆ เล่นด้วย อย่างรัมมี่ ตีแตก แล้วก็ไพ่ตอง ก็หัดเล่นเป็นกันที่นี่

“อีกวิชาคือคหกรรม หน้าร้อนเป็นหน้ามะม่วง คุณย่าก็จะซื้อมะม่วงมาเป็นเข่ง แล้วก็นั่งปอกไปเรื่อยๆ ดิฉันก็ช่วยคุณย่าและหัดปอกเป็นที่นั่น ต้องปอกให้เรียบเนียน ไม่มีสันเลยนะคะ เนื้อมะม่วงต้องเรียบกริ๊บเลย อีกอย่างคือปอกลูกตาล เป็นลูกตาลอ่อนเสียด้วย ต้องปอกโดยไม่ให้น้ำในลูกตาลทะลักออกมา เวลาปอกทีใช้เวลานานมาก แต่กินทีทั้งลูก ใช้เวลาแค่เสี้ยววินาที (หัวเราะ) เวลาอยู่หัวหินเราจะอยู่กับคุณย่าเป็นหลัก เพราะพ่อแม่ทำงานและไปอยู่ได้เพียงช่วงสั้นๆ” คุณปุรณีเล่าพร้อมสาธิตการปอกมะม่วงแบบเรียบไร้สันให้ผมดูเป็นขวัญตา

เวลาสำคัญที่ทั้งคุณย่าคุณหลานรอคอยก็คือช่วงบ่าย 2 เพราะของอร่อยกำลังจะมา

“ขนมของ แม่เก็บ ไงคะ จำได้ว่าหลังจากนอนกลางวันเสร็จแล้ว ตื่นมาสักบ่ายสองบ่ายสาม ก็จะชวนกันมานั่งที่บันไดหน้าบ้าน เขาจะหาบขนมเดินเลียบชายหาดแวะขายไปตามบ้านต่างๆ มีขนมเปียกปูน ขนมซ่อนลูก ขนมสาลี่ ขนมหม้อแกง ฯลฯ สมัยนั้นห่อด้วยใบตอง ขายห่อละสองบาท คุณย่ากับเด็กๆ ก็จะมานั่งรอขนมแม่เก็บกัน เพราะเป็นเวลาหิวพอดี (หัวเราะ)” คุณปุรณีเล่าถึงขนมของ คุณยายเก็บ เฟื่องแก้ว ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นร้านแม่เก็บที่โด่งดังไปทั่วหัวหิน

ช่วงเวลาแห่งความสุขทุกฤดูร้อนกับคุณย่าที่บ้านบาหยันนานับสิบปีได้ก่อให้เกิดความรักและผูกพันต่อสถานที่นี้ 

“บ้านบาหยันเป็นบ้านตากอากาศของครอบครัวอยู่นานหลายสิบปี รุ่นคุณพ่อคุณอาก็ดูแลบ้านหลังนี้ได้ดีมากๆ มารุ่นเราก็เริ่มโทรมจนคิดว่าจะปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็จะโทรมลงไปเรื่อยๆ แต่จะอนุรักษ์อย่างไร ด้วยวิธีใด เป็นสิ่งที่ไม่มีความรู้ โชคดีที่ได้ปรึกษาสถาปนิกอนุรักษ์อย่าง ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน เพื่อร่วมหาทางออก หัวหินเองก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย สภาพแวดล้อมเดิมๆ แทบไม่เหลือ อย่างน้อยบ้านบาหยันอาจเป็นจุดเชื่อมของหัวหินในอดีตกับปัจจุบันได้” คุณปุรณีกล่าวถึงที่มาของการอนุรักษ์บ้านโบราณไว้ให้คงอยู่ต่อไป พร้อมข้อท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องเผชิญตามมา

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

บ้านสู่โรงแรม

บ้านบาหยันสร้างขึ้นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2454 – 2466 เป็นอาคารไม้สูง 2 ชั้นหลังคาทรงปั้นหยาทำจากกระเบื้องว่าว ตั้งอยู่ขนานกับชายทะเลหัวหิน ชั้นล่างใต้ถุนโล่งใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ชั้นบนประกอบด้วยห้องนอนจำนวน 5 ห้อง พร้อมระเบียงขนาดใหญ่ (Verandah) อาคารมีการประดับตกแต่งด้วยลูกกรงและไม้ฉลุลายไปทั่วทั้งช่องแสง แผงกันแดด ราวระเบียง ตลอดจนราวบันได

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“เฉลียงใหญ่และโล่งเป็นลักษณะสำคัญของบ้านตากอากาศริมชายทะเลในเขตหัวหินและชะอำ เช่นเดียวกับบ้านปลุกปรีดี มีลายประดับที่ฉลุเลียนแบบลายเรขาคณิต ส่วนใหญ่เป็นลายเลียนแบบไพ่ตอง ซึ่งเชื่อมโยงกับกิจกรรมยามบ่ายของผู้มาพักอาศัยในช่วงนั้น แล้วไม่ใช่บ้านบาหยันเท่านั้นนะคะ จากการวิจัย เราเจอบ้านหลายหลังที่เป็นลายไพ่ตองเช่นเดียวกัน” ดร.ยุวรัตน์ สถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการซ่อมบำรุงบ้านบาหยันกล่าวนำ ตามด้วยเสียงหัวเราะของทุกคน

เมื่อจะอนุรักษ์บ้านบาหยัน ทั้งสถาปนิกและเจ้าของต้องตัดสินใจร่วมกันว่าจะอนุรักษ์อะไรและจะอนุรักษ์อย่างไร

“เราสรุปร่วมกันว่าการอนุรักษ์ที่คิดไว้ไม่ใช่แค่อาคาร แต่ควรอนุรักษ์บรรยากาศเดิมๆ ไว้ให้มากที่สุด ให้มีความโปร่งเท่าเดิม คุณภาพแดด ลม และแสงเงาเหมือนเดิม เพื่อให้บรรยากาศแห่งความสุขยังคงอยู่ ราว พ.ศ. 2541 ก็คุยกับคุณปุรณีอย่างจริงจังแล้วว่าจะซ่อมอย่างไรดี เพราะสภาพบ้านคือโทรมมาก ต้องรีบทำ ลอกสีเดิมทั้งหมด ให้ผิวไม้ได้หายใจ แล้วก็ต้องเสริมโครงสร้าง ตอนนั้นสภาพห้องนอนและห้องน้ำก็ไม่ดี ต้องรีบแก้ไข และเป็นการซ่อมที่ใช้งบประมาณสูง 

“อาคารสำคัญคือตัวบ้านที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ถือว่าเป็นอาคารเก่าแก่และมีความเสี่ยงมากที่สุด สาเหตุมาจากสภาพอากาศ ความชื้น และความเค็มของทะเล การซ่อมต้องมีอยู่เรื่อยๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน มีการประเมินว่าบ้านหลังนี้ต้องซ่อมทุกห้าปี จึงต้องเตรียมงบประมาณเพื่อการนี้ไว้ด้วย” 

ดร.ยุวรัตน์กล่าว ตามด้วยโจทย์สำคัญที่ทางทายาทต้องขบคิด ว่าจะสร้างธุรกิจอะไรที่นำรายได้มาใช้ในการบำรุงรักษามรดกสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าแห่งนี้ให้คงอยู่

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“ในที่สุดก็ร่วมกันตัดสินใจทำธุรกิจโรงแรม ที่ทำโรงแรมก็เพราะว่าตัวเองเป็นคนชอบเดินทาง ชอบไปพักที่พักที่สงบ สบาย ไม่จำเป็นต้องหรูหรา เป็นที่พักง่ายๆ ธรรมดาๆ แต่สะท้อนเรื่องราวของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ อีกอย่างคือเป็นคนอยากบริการ อยากดูแลคนอื่น ตื่นเช้ามาก็อยากทัก Good morning. Tea or coffee? อยากทำหน้าที่นี้มากๆ (หัวเราะ) แล้วก็อยากกวาดบ้านทำสมาธิ (หัวเราะอีกครั้ง)

“เลยบอกกับทีมสถาปนิกว่า ขอให้เป็นโรงแรมขนาดไม่ต้องใหญ่ แต่อบอุ่น เป็นกันเอง และยังรักษาสภาพของบ้านกับบรรยากาศของหัวหินเมื่อวันวานเอาไว้ได้ เชื่อว่าอย่างน้อยเมื่อเราดำเนินธุรกิจโรงแรมในนามบริษัท ก็พอจะมีรายได้มาเพื่ออนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้ โดยไม่ต้องให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งของครอบครัว ต้องกลายมาเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” คุณปุรณีเล่าด้วยความสุขเมื่อโจทย์เริ่มคลี่คลาย

สำหรับรุ่นเหลนอย่างคุณปุณิกาก็ได้ร่วมรำลึกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ตอนที่ทราบว่าจะทำเป็นโรงแรมนี่ร้องไห้เลยค่ะ รู้สึกว่าบ้านของเรากำลังจะกลายเป็นที่ของคนอื่น ไม่ใช่ของเราอีกต่อไปแล้ว คือรู้สึกผูกพันกับที่นี่ไม่ต่างจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็เข้าใจและคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง”

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

การซ่อมบำรุงเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2545 จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2547 จึงเปิดดำเนินการ โดยโรงแรมบ้านบาหยันนับเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“เมื่อโจทย์มาเป็นโรงแรม ก็ต้องหาวิธีอนุรักษ์และจัดสรรพื้นที่ ตัวบ้านนั้นถือเป็นอาคารประธาน ต้องเป็นที่ที่แขกทุกคนขึ้นมาชื่นชมได้ มีโอกาสเรียนรู้เรื่องสถาปัตยกรรมในสมัยก่อน ส่วนพื้นที่รอบบ้านนั้น ได้พัฒนาขึ้นให้เป็นห้องพักสำหรับแขก ในที่สุดก็ลงตัวที่ยี่สิบเอ็ดห้อง โดยห้องพักแขกในแต่ละยูนิตจะต้องให้ความรู้สึกว่าได้ลม ได้แสง ได้ความรู้สึก เหมือนหัวหินสมัยก่อน และต้องการให้คนที่มาพักต้องรู้สึกว่าได้มาเป็นแขกของบ้านบาหยันจริงๆ” ดร.ยุวรัตน์เปิดเผยพร้อมรอยยิ้ม คราวนี้ผมชักอยากเดินสำรวจพื้นที่เพื่อย้อนกลับไปสู่หัวหินยุคปริศนาเสียแล้ว

ของดีที่ต้องรักษาให้อยู่คู่บ้านบาหยัน

ของดีที่ต้องอนุรักษ์ไว้เป็นอันดับต้นๆ ก็คือต้นไม้ เพราะการอนุรักษ์ต้นไม้ คือการอนุรักษ์ทั้งแสงและเงา รวมทั้งบรรยากาศโดยรวม

“ที่นี่มีต้นไม้เยอะมาก ดังนั้นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกๆ คือการสำรวจต้นไม้ก่อนเลยว่าในพื้นที่มีต้นอะไรบ้าง เราดูด้วยว่าเป็นไม้ใบ ไม้ผล หรือไม้ดอก และจะออกดอกฤดูไหน เพราะอยากจินตนาการให้ได้ว่าสมัยนั้นจะมองเห็นอะไร ช่วงไหน และมีภาพจำเป็นอย่างไร 

“ต้นไม้หลักๆ คือต้นพลับป่า ต้นคูน ต้นหางนกยูง และดีใจมากที่เก็บต้นไม้ใหญ่น้อยไว้ได้เกือบหมด มีตัดไปเพียงต้นเดียว เพราะเป็นโจทย์ของโรงแรมที่ต้องการเพิ่มสระว่ายน้ำไว้สำหรับแขก แต่เชื่อไหมคะว่าพอตัดต้นไม้ต้นนั้นทิ้งไป ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นรู้สึกได้เลยว่ากระแสลมเปลี่ยน ลมพัดแรงขึ้นตรงลานกลางบ้านจนของล้ม คือเราเคยเรียนรู้มาว่าคนโบราณจะปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ริมหาด เพื่อช่วยลดลมปะทะก่อนถึงตัวบ้าน นี่คือบทพิสูจน์เลยว่าการตัดต้นไม้เพียงต้นเดียว ก็สร้างผลกระทบเรื่องกระแสลมแปรปรวนได้ทันที” ดร.ยุวรัตน์กล่าว

นอกจากต้นไม้แล้ว อาคารสำคัญที่สุดคือตัวบ้านไม้ที่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านพลับป่า ก และยังนับว่าเป็นบังกะโลรุ่นแรกๆ ของหัวหิน อันเคยเป็นที่ประทับสังสรรค์ของเจ้านายหลายพระองค์ที่เสด็จแวะเวียนไปมาหาสู่กันเสมอ

“ต้องบอกว่าเราโชคดีมากที่ซ่อมบ้านหลังนี้ในช่วงเวลาเดียวกันกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เลยได้รับการแนะนำช่างไม้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฐานอนุรักษ์ ซึ่งเป็นช่างไม้ผู้ซ่อมพระราชนิเวศน์ฯ ให้มาช่วยซ่อมบ้านบาหยันด้วย” ดร.ยุวรัตน์เล่า 

“เราพยายามรักษาบ้านตามสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด มีเรื่องสีของบ้านที่เปลี่ยนไป คือเราเพิ่งมาดูรูปแล้วพบว่าสีเดิมของบ้านคือสีน้ำเงินกับแดง ซึ่งเป็นสีที่นิยมในยุคปริศนา และบ้านในหัวหินหลายหลังก็ใช้ อย่างหมู่ตำหนักของราชสกุลกฤดากรก็ใช้สีน้ำเงินกับแดงเหมือนกัน แต่สันนิษฐานว่าทั้งสองสีนี้ไม่น่าจะเป็นสีดั้งเดิมที่ใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หก น่าจะเป็นสีที่มาฮิตในยุคปริศนามากกว่า 

“สุดท้ายเราเลยเลือกใช้สีเหลืองเป็นหลัก และใช้สีประกอบเป็นสีเขียวน้ำทะเลกับส้ม สีเหลืองมาจากสีของดอกคูน ส่วนสีส้มคือสีของดอกหางนกยูง ต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้มีปลูกมากทั่วหัวหิน ซึ่งจะออกดอกพร้อมกันในช่วงหน้าร้อน จึงเป็นภาพจำของหัวหินในอดีต” 

เมื่อเดินขึ้นมาบนตัวบ้านจะพบกับห้องที่เป็นทั้งห้องนอนหลัก (Master Bedroom) และห้องนอนรอง (Guest Bedroom) มีทั้งหมด 5 ห้อง ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นห้องพักสำหรับรับรองแขกได้ 3 ครอบครัว โดยมีเฉลียงทำหน้าที่เชื่อมห้องทุกห้องไว้ด้วยกัน เฉลียงนั้นนับว่าเป็นพื้นที่ใช้สอยสำคัญมาแต่อดีต ด้วยเป็นพื้นที่สำหรับนั่งเล่น รับแขก พบปะสังสรรค์ และกางมุ้งนอนเรียงในเวลากลางคืนของสมาชิกรุ่นเด็ก

พื้นที่ทั้งหมดได้รับการอนุรักษ์ไว้ใกล้เคียงกับต้นฉบับดั้งเดิม พร้อมตกแต่งด้วยเครื่องเรือนร่วมสมัย ใน พ.ศ. 2548 บ้านหลังนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยทายาทได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

นอกจากตัวบ้านแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องอนุรักษ์ไว้ก็คือบันได

“แกนหลักของบ้านคือบันไดที่ทอดขึ้นจากหาดสู่บริเวณบ้านและเดินตรงมายังอีกบันไดหนึ่งที่ทอดขึ้นสู่ตัวเรือน ทั้งสองบันไดนี้จะตั้งอยู่ในแนวเดียวกัน ตัวหาดนั้นเปรียบเป็นหน้าบ้าน เป็นทางสัญจรหลัก ดังนั้นแขกไปใครมาก็จะเดินมาขึ้นบ้านโดยใช้สองบันไดนี้” ดร.ยุวรัตน์อธิบาย

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

 บันไดหน้าเรือนมักใช้เป็นที่บันทึกภาพถ่ายของครอบครัวเวลามาตากอากาศกันทุกๆ ปี และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทุกบ้าน ไม่เฉพาะแต่บ้านบาหยัน ข้างบันไดมักจะมีต้นลั่นทมปลูกประดับอยู่คู่กัน เวลาถ่ายรูปก็จะเห็นทั้งบันไดและต้นลั่นทมด้วย สถาปนิกจึงรักษาลั่นทมคู่บันไดเอาไว้ ต่อมาก็ได้กลายเป็นโลโก้ของโรงแรมมาจนถึงทุกวันนี้

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“บันไดนี้คือบันไดที่มานั่งรอขนมแม่เก็บช่วงบ่ายๆ เวลาหิวๆ หลังนอนกลางวันเสร็จ” คุณปุรณีเล่าพร้อมนั่งเอามือเท้าคาง ทำท่าคอยขนมแม่เก็บให้ชม

ไม่ใช่แค่บันไดขึ้นเรือนเท่านั้น บันไดสำคัญแห่งก็คือบันไดที่ทอดลงสู่หาด

“อีกอย่างที่รักษาไว้ก็คือบันไดที่ทอดลงสู่หาด พร้อมกับเสาที่เขียนชื่อบ้านบาหยันเอาไว้ เดิมจะเป็นชื่อบ้านบ้านพลับป่า ก ภาพนี้เป็นภาพของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาในรัชกาลที่ห้า ประทับบนบันไดเดียวกัน” ดร.ยุวรัตน์ชวนให้ชมภาพสำคัญ

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

ของคู่บันไดคือบ่อน้ำชำระทราย ซึ่งเป็นปูนก่อใส่น้ำสะอาดไว้ชะล้างเศษดินเศษทรายที่เท้าให้สะอาดเสียก่อน

“บ่อน้ำชำระทรายเป็นของคู่หัวหิน มีตั้งไว้ตั้งแต่บันไดที่ทอดจากหาดขึ้นสู่บริเวณบ้าน และที่หน้าบันไดขึ้นเรือน ถือเป็นจารีตสำคัญสำหรับแขกที่ไปมาหาสู่กัน โดยจะใช้ทั้งสองบ่อเพื่อให้แน่ใจว่าเท้าสะอาดปราศจากทราย และจะไม่ขึ้นไปทำให้ตัวเรือนสกปรก ส่วนทางเดินที่ทอดจากหาดสู่บริเวณบ้าน จะปลูกต้นไม้สูงใหญ่เพื่อให้ร่มเงา ทำให้แขกรู้สึกเย็นสบายขึ้น หลังจากเดินฝ่าแดดร้อนๆ เลียบหาดมา เป็นการต้อนรับสู่บ้านที่ทำให้แขกรู้สึกสงบ สบายตัว ก่อนพบปะกันด้วย” ดร.ยุวรัตน์อธิบาย

หากมีโอกาสไปบ้านบาหยัน อย่าลืมสังเกตเส้นทางเดินที่ร่มรื่นและบ่อน้ำชำระทรายบ่อใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าตัวเรือนโบราณนะครับ สิ่งนี้นับเป็นจารีตของสังคมหัวหินในอดีตเลยทีเดียว

ของสำคัญอีกอย่างอยู่บริเวณใต้ถุนบ้าน นั่นคือถังเก็บน้ำที่ฝังลึกลงไปใต้ดิน ในสมัยก่อนหัวหินยังไม่มีน้ำประปา จึงจำเป็นต้องซื้อน้ำหาบมาสำรองไว้ในถังที่ใต้ถุนบ้านดังกล่าว

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“บริเวณถังเก็บน้ำใต้ดินจะทำเป็นฐานยกสูง เดิมเป็นบ่อคอนกรีต แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าด้านบนจะตีปิดทับด้วยแผ่นไม้ บริเวณนี้มักเป็นมุมโปรดของคุณย่าคุณยายสำหรับใช้บัญชาการ เพราะมีพื้นที่กว้าง นั่งสบาย เหมือนตั่งขนาดใหญ่ยักษ์ เป็นที่ควบคุมคนครัวให้ทำกับข้าวให้หลานๆ หรือแสดงฝีมือปอกลูกตาลปอกมะม่วงของคุณย่าคุณยายอย่างที่คุณปุรณีเล่าให้ฟัง เป็นบริเวณที่เย็นสบายเพราะอยู่ในร่มและมีลมพัดผ่าน จะนอนกลางวันก็ได้ คิดว่าสมัยนั้นเราน่าจะเจอคุณย่าคุณยายของทุกบ้านนั่งประแป้งร่ำ แป้งเย็น ใส่เสื้อคอกระเช้าอยู่ที่นี่ นอกจากบริเวณวงไพ่ตองบนเฉลียง (หัวเราะ) ทั้งตัวคุณย่าคุณยายและมุมโปรดของท่านเป็นของคู่หัวหิน และเป็นตำนานที่มีคู่กับบ้านแทบทุกหลัง” 

ดร.ยุวรัตน์บรรยายและชวนให้ผมหวนรำลึกถึงชีวิตฤดูร้อนที่หัวหินของตนเอง หนึ่งในภาพจำของผมคือ ภาพคุณยายนั่งเจียวไข่ ดาวไข่ ทำข้าวต้ม ปิ้งขนมปังแผ่นทาน้ำพริกเผาเพื่อเป็นอาหารเช้า ตามเมนูโปรดของหลานแต่ละคนอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านเช่นกัน

“แล้วเราก็เจอบ่อน้ำเก่า ซึ่งเป็นบ่อน้ำบาดาล อันนี้เราก็เก็บไว้เพื่อให้แขกได้ชมและรับรู้ว่าเป็นสิ่งที่เคยมีที่หัวหิน เพียงแต่ว่าเราปรับให้บ่อบาดาลตื้นขึ้นเพื่อสามารถทำความสะอาดได้ง่าย” ดร.ยุวรัตน์ชวนไปชมบ่อสำคัญที่มีกันทุกบ้าน

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

นอกจากบ่อน้ำบาดาลแล้ว ก็ยังมีตุ่มแดงขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วบ้านบาหยัน 

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“ตุ่มแดงมีอยู่ทั้งสิ้นสิบสามใบ ซึ่งเป็นตุ่มโบราณของแท้และดั้งเดิมที่ใช้สำรับสำรองน้ำฝน เราตั้งใจรักษาเอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดจุดตั้งตุ่มแดงไว้ให้เป็นจุดที่แขกสามารถสังเกตเห็น ถ้าใครมาที่บ้านบาหยัน ก็อยากเชิญชวนให้เดินไล่ชมตุ่มให้ครบทั้งสิบสามใบ เหมือนการเก็บ RC ในการแข่งขันแรลลี่นะคะ (หัวเราะ)

“จะเห็นได้ว่าการจัดการเรื่องน้ำจืดเป็นสิ่งที่คนยุคนั้นให้ความสำคัญมากๆ เพราะมีทั้งถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน บ่อบาดาล และตุ่มขนาดใหญ่อีกมากมาย เพื่อให้แน่ใจว่าได้สำรองน้ำจืดไว้ใช้ตลอดหน้าร้อนระหว่างพำนักอยู่ที่หัวหิน” ดร.ยุวรัตน์บรรยายพร้อมพาผมเดินชมตุ่มจนครบทั้ง 13 ใบ

การเดินสำรวจบริเวณบ้านบาหยันทำให้ผมรู้สึกเหมือนกลับไปสู่อดีตที่งดงามจริงๆ

ห้องพัก… แม้สร้างใหม่แต่ก็ต้องได้บรรยากาศของวันวาน

ส่วนห้องพักอีก 18 ห้องที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2547 ทางสถาปนิกพยายามสร้างขึ้นโดยไม่รบกวนทัศนียภาพของบ้านโบราณ และยังอิงกับบรรยากาศและเรื่องราวของหัวหินในอดีต

“อาคารใหม่ที่สร้างขึ้นเลือกใช้หินเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างส่วนฐานของอาคาร ทั้งนี้เพราะในอดีตเราจะพบเขื่อนที่ก่อด้วยหินลักษณะเดียวกันนี้ตั้งยาวขนานไปกับหาดเพื่อกันคลื่น ส่วนด้านบนของอาคารอันเป็นห้องพักนั้น ก็พยายามยึดตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านตากอากาศให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับ” ดร.ยุวรัตน์กล่าวพร้อมชี้ชวนให้ชมอาคารสวยตรงหน้า

ส่วนที่เป็นห้องพักนั้น แต่ละห้องจะมีทางเดินเข้าแยกต่างหาก มีเฉลียงให้นั่งเล่น มีลูกกรงไม้ให้ได้ใช้มือสัมผัส ที่สำคัญคือ ให้ได้รับคุณภาพของลม แสง และเงา เฉกเช่นวันวาน

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

“ทุกห้องจะมีทางเดินแยกเข้าเป็นสัดเป็นส่วน เวลากลับเข้าห้อง แขกก็จะรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าบ้านตัวเอง มีเฉลียงหรือระเบียงไว้นั่งเล่น เพราะเฉลียงรับลมเป็นของสำคัญคู่หัวหิน มองออกไปก็จะเห็นต้นไม้ที่ปลูกคู่บ้านบาหยัน แสงแดดที่ส่องผ่านลงมาก่อให้เกิดแสงและเงา ลักษณะเดียวกันกับเงาที่ลอดผ่านหมู่ไม้และไม้ฉลุลายในบรรยากาศแบบเดิมๆ”

หัวหินไม่สิ้นมนต์รัก

หัวหิน วันเสาร์ตอนย่ำรุ่ง

ปริศนาที่รัก

เวลาที่เธออ่านจดหมายฉบับนี้ ฉันกำลังอยู่บนรถไฟบ่ายหน้ากลับกรุงเทพฯ ฉันจะคิดเธอและหัวหินเสมอตลอดเวลาที่เราจากกัน และอีกไม่นานเราก็จะพบกันอีกที่กรุงเทพฯ เธอยังจำอะไรๆ ที่เราพูดกันในเรือเมื่อวานนี้ได้หรือไม่? เรายังพูดไม่จบไม่ใช่หรือ? อีกหน่อยเราคงจะได้พูดต่อเมื่อเราพบกันอีก ฉันไม่เคยสนุกและเพลิดเพลินอะไรเท่าเมื่อวานนี้เลย

เราจะพบกันอีกในไม่ช้า

พจน์

เมื่อวานฝนตกหนักขณะที่ท่านชายพจนปรีชาเสด็จออกไปล่องเรือเล่นกับปริศนาเพียงลำพัง ทำให้ทั้งสองได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน และตระหนักว่าความสนิทสนมได้เปลี่ยนเป็นความรัก และเป็นความรักที่มิได้มีต่อกันเท่านั้น แต่ยังเป็นความรักต่อสถานที่ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความรักอย่างหัวหินด้วย…

“คิดว่าเพราะคุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ คุณอา พาพวกเราไปอยู่ที่บ้านบาหยันมาตั้งแต่เด็กจนโต ทำให้เรามีความสุขและความทรงจำดีๆ ต่อบ้านบาหยันและหัวหิน เป็นความรักที่ฝังแน่นในใจ ความรักนี้ส่งผ่านมาที่รุ่นเราและรุ่นลูกของเราด้วย และเราอยากแบ่งปันให้แขกได้รับความรู้สึกเช่นเดียวกัน”

ตลอด 17 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมสามารถนำรายได้มาช่วยอนุรักษ์ตัวบ้านตลอดจนพื้นที่ รวมทั้งรักษาความทรงจำของหัวหินในอดีตเอาไว้ได้ โดยมีทุนสำรองสำหรับนำมาใช้ซ่อมบำรุงทุกๆ 5 ปีตามแผนที่วางไว้ แต่บางครั้งงบประมาณก็สูงเกินกว่าที่คาดคิด เพราะเมื่ออาคารเก่าโดนแดด ฝน ความชื้น และความเค็ม ก็พร้อมจะเกิดสนิม เชื้อรา ที่ทำให้ต้องบำรุงรักษา

“มีเครือโรงแรมที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ติดต่อเรามาเสมอ บอกว่าถ้าติดแบรนด์ของเขาแล้ว เราจะขยับราคาขึ้นได้อีก แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรเองทั้งสิ้น เพราะจะมีคนของเขาเข้ามาช่วยบริหารให้ แต่เราก็ปฏิเสธไป เราอยากทำด้วยตัวเองเพราะเรารักที่นี่

“สิ่งที่เลือกทำคือพยายามสร้างอะไรที่ยั่งยืน เราไม่ได้ต้องการกำไรสูงสุด เราไม่ได้เก็บค่าห้องแพง เพราะเราอยากให้แขกได้กลับมาพักที่บ้านบาหยันบ่อยๆ และหวังว่าจะได้รับแรงบันดาลใจที่จะกลับไปดูแลรักษาของเก่าๆ ที่มีคุณค่าให้อยู่ต่อไปเช่นกัน” คุณปุรณีกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

“สำหรับรุ่นเรา เราคิดว่าสิ่งที่คุณทวดคุณพ่อคุณแม่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราว่าจะต้องทำยังไงก็ได้ เพื่อให้บ้านหลังนี้คงอยู่ต่อไป” คุณสการ คุณปุณิกา และคุณอแมนด้า ซึ่งร่วมการสัมภาษณ์มาโดยตลอดกล่าวสั้นๆ แต่ชัดเจน

บ้านบาหยันเป็นกรณีศึกษาเรื่อง Heritage Management ที่น่าเรียนรู้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจะเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย และยังต้องเตรียมงบประมาณสำรองไว้ทุกๆ 5 ปีเพื่อสานต่อความตั้งใจให้คงอยู่ แต่สมาชิกครอบครัวทุกคนไม่เคยท้อ

บ้านบาหยัน บ้านไม้ตากอากาศอายุเกือบร้อยปี ที่กลายเป็นบูติกโฮเต็ลแห่งแรกๆ ของหัวหิน

คำว่า ‘บาหยัน’ เป็นภาษาชวา โดยรากศัพท์แล้วหมายถึง ‘ผู้ดูแล’

“ชื่อของบ้านก็บอกเป็นนัยแล้วว่าเราต้องมาเป็นผู้ดูแลต่อไป” คุณปุรณีสรุป

ผมขอเอาใจช่วยครอบครัวจัยวัฒน์ รวมทั้ง ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ให้ประสบความสำเร็จในการ ‘ดูแล’ และอนุรักษ์บ้านบาหยันให้คงอยู่ต่อไป เพื่อที่เราทุกคนจะยังสามารถกลับมาตามหาบรรยากาศสงบงามของหัวหินในวันวานได้อยู่เสมอ

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์ทุกท่าน

คุณปุรณี จัยวัฒน์, พลอากาศโทหญิงเสริมพัฒน์ จัยวัฒน์, คุณสการ จัยวัฒน์, คุณปุณิกา จัยวัฒน์ และคุณอแมนด้า เอลลิส รวมทั้ง ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ผู้รับผิดชอบโครงการซ่อมบำรุงบ้านบาหยัน

เอกสารอ้างอิง

พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวโรกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระชันษาครบ 90 ปี วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2524

ปริศนา โดย ว. ณ ประมวญมารค (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดี)

พ่อค้าไทยยุค 2480 โดยอเนก นาวิกมูล

ราตรีประดับดาวที่หัวหิน โดยศรศัลย์ แพ่งสภา

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

เปมิกา เลาหสินณรงค์

Full time เภสัชกร Part time ถ่ายภาพ ชอบหาคาเฟ่สงบจิบกาแฟ และทาสแมว