เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทยเชื้อสายจีนคือคำเรียกญาติ ถ้อยคำซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามถิ่นฐานบ้านเกิดของคนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ นั่งสำเภาลำใหญ่ย้ายมาอาศัยยังแดนสยาม คนจากไหหลำมีคำเป็นของตัวเอง ชาวแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน หรือจีนแคะก็มีไม่ต่างกัน 

ทุกวันนี้ คนภูเก็ตเชื้อสายฮกเกี้ยนอย่างผมเรียกพ่อว่าป่าป๊า เรียกป้าว่าอากิ่ม และเรียกปู่ว่าอากง เหล่านี้นับเป็นคำเรียกญาติที่คนไทยแท้ยังพอคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ถ้าพูดคำว่า ‘อาจ้อ’ คนทั่วไปคงไม่คุ้นเคยนัก 

อธิบายตรงตัวตามภาษาไทย ‘อาจ้อ’ หมายถึง ทวด ญาติผู้ใหญ่ที่มีสถานะเป็นพ่อหรือแม่ของปู่ย่าตายาย แปลกดีเหมือนกันที่มันถูกใช้เป็นชื่อของจุดหมายปลายทางของเราในวันนี้

สุดขอบจังหวัดภูเก็ต อีกไม่ถึง 10 กิโลเมตรจะถึงสะพานท้าวศรีสุนทรที่ใช้ข้ามไปจังหวัดพังงา ผมเลี้ยวซ้ายจากถนนเทพกษัตรี ตรงไปเรื่อย ๆ จนได้พบกับบ้านเดี่ยวสีขาว ทรงอั้งม้อหลาว ดูสะดุดตา นี่คือสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โคโลเนียล 3 ชั้น ที่บากบั่น สู้ฝน ทนแดด และท้าทายลมทะเลอันดามันมากว่า 80 ปี

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต

อาคารที่ตั้งอยู่บทสนามหญ้าสีเขียวชอุ่มพื้นที่ 2 ไร่ ไม่ไกลจากขุมน้ำคือ ‘บ้านอาจ้อ’ อาคารโอ่อ่าซึ่งกาลเวลาแต่งแต้มความทรงจำทั้งเจ็บช้ำและหวานชื่น ตั้งแต่วันแรกที่เจ้าของใช้เป็นบ้านพักส่วนตัวเพื่อดูแลคนงานในสวนมะพร้าว เป็นศูนย์กลางช่วยเหลือผู้คนอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 วันที่บ้านกลายเป็นเรือนหอของคุณปู่ วันที่บ้านไม่มีคนอยู่และถูกทิ้งร้างนานถึง 37 ปี และปัจจุบันที่ทายาทรุ่น 4 กลับมาแปลงโฉมใหม่ให้บ้านหลังเก่า โดยคงไว้ซึ่งเรื่องเล่าและเอกลักษณ์ของวันวานอย่างครบถ้วน

ผมขับรถจากตัวเมืองมาไกล แต่ก็มั่นใจเหลือเกินว่าบ้านหลังใหญ่ตรงหน้าจะคุ้มค่าน้ำมันทุกสตางค์

บ้านของอาจ้อ

ย้อนเวลากับไปยัง ค.ศ. 1936 ก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียง 4 ปี หลวงอนุภาษภูเก็ตการ หรือ จิ้นหงวน หงษ์หยก อาจ้อของสามพี่น้อง อ๊อด-สัจจ, โอ๊ค-บรรลุ และ เอก-สติ หงษ์หยก คัดลอกแปลนบ้านทั้งหลังจากปีนังมาสร้างไว้กลางสวนมะพร้าวในจังหวัดภูเก็ต ด้วยอิทธิพลของศิลปะยุคอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่มีจุดเด่นคือลักษณะโค้งมนปนเหลี่ยม สถาปนิกจึงออกแบบบ้านโดยใช้ปูนขึ้นโครงสร้างหลัก นำไม้มาเสริมทำพื้นชั้นบนและหน้าต่างแบบบานเปิดคู่ที่ลู่โค้งตามแนวอาคาร ก่อนมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีแดงอ่อนจากฝรั่งเศส ปูพื้นด้วยกระเบื้องอิตาเลียนสีขาวสลับเขียว ตบท้ายด้วยกระเบื้องห้องน้ำที่สลักข้อความ ‘เมดอินอิงแลนด์’

คนภูเก็ตเรียกบ้านรูปแบบนี้ว่า ‘อั้งม้อหลาว’

สัจจ พี่คนโตที่วันนี้ชวนน้องคนกลางอย่างบรรลุมาด้วย เล่าให้ฟังว่า ‘อั้งม้อ’ แปลว่าคนผมแดง ‘หลาว’ แปลว่าบ้าน จึงตีความตามตัวได้ว่า อาคารลักษณะนี้คือบ้านของคนผมแดงหรือชาวต่างชาติในอดีต เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โคโลเนียล ที่คนภูเก็ตมักเรียกติดปากว่าชิโน-โปรตุกีส ทั้งที่จริง ๆ ต้องเป็นชิโน-โคโลเนียล หรือ ชิโน-ยูโรเปียน จึงจะถูกต้อง

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต
โอ๊ค-บรรลุ หงษ์หยก (น้องคนกลาง) และ อ๊อด-สัจจ หงษ์หยก (พี่คนโต)

“บ้านนี้ห่างจากตัวเมือง 50 กิโล คนภูเก็ตเรียกว่า ‘สั่วเต้ง (บ้านนอก)’ แถวนี้แต่ก่อนเป็นสวนมะพร้าว อาจ้อย้ายมาสร้างบ้านที่นี่ จะได้ดูสวนมะพร้าว ดูแลคนงาน เพราะคนงานอยู่นี่หมด เมื่อก่อนแถวนี้มีทั้งชินเนนป๋าง (ออฟฟิศ) โรงหนัง โรงฝิ่น และโจ๊งเก๊ก (โรงน้ำชา)” วิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้ย้ายกลับมารีโนเวตบ้านของอาจ้อเล่าประวัติศาสตร์ 8 ทศวรรษของบ้านหลังใหญ่ให้เราฟัง

หลังจากจิ้นหงวน หงษ์หยก ปลูกบ้านได้ 9 ปี สงครามโลกครั้งแรกก็ยุติลง บ้านที่ใช้ดูแลคนงานสวนมะพร้าวเปลี่ยนมาปลูกหัวมัน เพื่อแบ่งปันให้ชาวบ้านในช่วงข้าวยากหมากแพงจากพิษสงคราม อาจ้อยกที่ดินบางส่วนให้คนในละแวกใช้เป็นโรงพยาบาลชุมชน ทั้งยังมีการสร้างโรงเรียนที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนหงษ์หยกบำรุง เพื่อรำลึกถึงความอนุเคราะห์ของคุณหลวงที่ย้ายกลับไปอยู่บ้านในตัวเมืองภูเก็ตช่วงบั้นปลายชีวิต

“อาจ้อถามลูก ๆ ว่า ใครจะมาเฝ้าบ้านหลังนี้ให้แก แกมีลูก 9 คน ลูกชาย 6 ลูกสาว 3 ก็ไม่มีใครอยากมาอยู่ เพราะไกล สุดท้ายลูกชายคนที่ 5 คุณณรงค์ หงษ์หยก อากงของพี่บอกเดี๋ยวแกมาอยู่เอง อากงกับอาม่าเลยได้ย้ายมาอยู่ด้วยกันเหมือนที่นี่เป็นเรือนหอ กงมาเฝ้าที่นี่ได้ 27 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 – 2522 แล้วก็ย้ายกลับเข้าเมือง เพราะลูกหลานเรียนในเมืองกันหมด บ้านนี้ก็เลยปิดไป 37 ปี เท่าอายุพี่พอดี”

ผมดีใจปนตกใจเมื่อได้ฟังสัจจพูดถึงคุณปู่ จะเรียกว่าบังเอิญก็คงไม่เกินจริง เพราะ สงวน บุญประสิทธิการ อากงของผมเคยร่วมงานกับ ณรงค์ หงษ์หยก หลายต่อหลายครั้ง อากงเป็นหนึ่งในนักร้องของ ญาติมิตรสมาคมภูเก็ตสามัคคี (ญาติมิตร ส.ภ.ส.) วงดนตรีที่มีคุณปู่ของสองพี่น้องเป็นผู้ก่อตั้งและบริหารจัดการ นี่จึงเป็นการพูดคุยของสามหลานที่มาเจอกันโดยมิได้นัดหมาย

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต
สงวน บุญประสิทธิการ (ร้องเพลง) และ ณรงค์ หงษ์หยก (เล่นหีบเพลงชัก)

อาจ้อสร้าง อากงอาศัย หลานชายแปลงโฉม

“พอเรากลับมาอยู่ภูเก็ตได้ 2 ปี อากงก็เริ่มไม่สบาย หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง เราเลยตั้งใจจะซ่อมบ้านนี้ให้เป็นของขวัญอากง แกมีความทรงจำกับที่นี่เยอะ อยากให้แกดีใจที่บ้านนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ปรากฏว่าทำไปได้ 2 ปีครึ่ง มะเร็งแกหาย นี่คือปาฏิหาริย์ของบ้านนี้”

หลานชายเล่าความตั้งใจในการแปลงโฉมบ้านนี้ใหม่หลังอากงทิ้งร้างไว้จนทรุดโทรม แม้ผลลัพธ์ของการซ่อมเรือนหอจะวิเศษราวกับมีเวทมนตร์ แต่เบื้องหลังกว่าตัวอาคารจะกลับมาแข็งแรงขึ้นเงานั้นหนักหนาเอาเรื่อง สัจจกับบรรลุไม่ได้มีแนวคิดเฉพาะเจาะจงว่าจะปรับปรุงบ้านไปในทิศทางไหน ทั้งสองคิดเพียงว่าหากซ่อมแซมจนบ้านกลับมาใช้การได้ก็น่าดีใจแล้ว ระยะเวลา 37 ปีทำให้ที่นี่หลังคารั่ว สีในตัวบ้านลอก กระจกหลายบานแตกร้าว เท่านั้นยังไม่สาหัสพอ สองพี่น้องยังต้องขบคิดต่ออีกว่า ถ้าแปลงโฉมสถาปัตยกรรม 3 ชั้นจนสำเร็จได้จริง พวกเขาจะใช้บ้านหลังนี้ทำอะไรต่อไป

“เริ่มซ่อม พ.ศ. 2559 เรากับน้องชายคิดแค่ว่าบ้านหลังนี้ต้องรอด อยากให้มันอยู่ได้โดยรบกวนเงินของครอบครัวน้อยที่สุด ทำยังไงให้คนเข้ามาดูเยอะ ๆ เลยทำเป็นร้านอาหารกับโรงแรม 8 ห้อง แต่ไป ๆ มา ๆ ตอนนี้เหลือห้องเดียว ลูกค้าไม่นอนชั้นล่างเลย ทั้งที่เราเชียร์ให้ลูกค้าที่มาเป็นคู่นอนชั้นล่างนะ เพราะชั้นบนเป็นพื้นไม้ กลัวว่าคนที่มาเป็นคู่จะทำพื้นเอี๊ยดอ๊าด” พี่ชายเล่าไปหัวเราะไป

ด้วยบุคลิกช่างคุยและความมุ่งมั่นที่อยากให้บ้านอาจ้อเป็นธุรกิจที่เดินได้ด้วยตัวเอง สัจจจึงใส่ใจพูดคุยกับแขกทุกคนที่มาเข้าพักและกินอาหาร พูดมาคุยไปก็อดไม่ได้ที่จะเล่าประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของภูเก็ตในอดีต จนลูกค้าหลายคนเสนอให้สัจจเปลี่ยนบ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอดีตวิศวกรก็เห็นด้วยตามนั้นไม่มีลังเล

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต

ปัจจุบันบ้านอาจ้อเปลี่ยนห้องพักส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ถ่ายทอดเรื่องราวของภูเก็ตในยุคที่แร่ดีบุกยังรุ่งเรือง เหลือห้องพักเอ็กซ์คลูซีฟที่ชั้น 2 เพียงห้องเดียว ขณะที่ห้องครัวและห้องกินข้าวของบ้านก็กลายสภาพเป็นร้านอาหารที่คนทั้งในและนอกจังหวัดอยากลิ้มลอง

เนื่องจากไม่ได้มีไอเดียที่ครอบคลุมชัดเจน รายละเอียดในการรีโนเวตบ้านอาจ้อจึงมากเกินกว่าจะบอกเล่าบนเก้าอี้ เจ้าของบ้านอารมณ์ดีจึงอาสาพาเดินชมเพื่อเล่าเบื้องหลังกว่าจะเป็นแต่ละห้องให้เราฟัง

ใส่ใจตั้งแต่ป้ายหน้าประตู

เมื่อถอดรองเท้าเตรียมเยื้องย่างเข้าตัวบ้าน ผมเหลือบเห็นป้ายเหนือประตูที่สลักอักษรจีน 2 ตัว เป็นอักษรเดียวกันกับที่อยู่บนเสื้อของสัจจและบรรลุ ทั้งสองบอกว่าคำนี้อ่านว่า ‘กวนซาน’ เป็นชื่อบ้านเกิดของบรรพบุรุษที่ประเทศจีน

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต

“ป้ายเล็กนิดเดียวแต่ทำโคตรยาก ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่าหน้าบ้านต้องเขียนคำว่าอะไร ถามอากง อากงบอกมาหลายคำ เราก็ไม่รู้ว่าต้องใช้คำไหน สุดท้ายไปเจอคำนี้หน้าสุสานอาจ้อ พอได้คำเสร็จก็ต้องไปหาไม้มงคล ต้องวัดด้วยตลับเมตรจีนให้ได้ความกว้างความยาวตามที่กำหนด วันลงขวาน ลงทอง จนลงยันต์ก็ต้องเป็นวันมงคล ยังไม่หมดนะ วันที่จะเปิด บริวารทั้งหมดของบ้านก็ต้องไม่ช้อง (ไม่ใช่วันชง) กว่าจะเสร็จ แค่ป้ายก็ 3 เดือน ตัวบ้านปาเข้าไป 3 ปี” 

จากแผ่นป้ายคงสรุปได้กลาย ๆ ว่า ความเชื่อแบบจีนมีอิทธิพลสำคัญต่อการซ่อมแซมบ้านในครั้งนี้ นอกจากตัวอักษรกวนซาน ก่อนที่ทายาทรุ่น 4 จะเริ่มซ่อมบ้านก็ต้องเรียกซินแสมาช่วยตรวจสอบ โชคดีที่ขั้นตอนนี้ราบรื่นกว่าที่คิด เพราะซินแสบอกสองพี่น้องว่า บ้านนี้ถูกสร้างตามหลักฮวงจุ้ยทุกกระบวนความ และหากพินิจจากดวงชะตา บ้านนี้ก็กำลังรอให้สัจจและครอบครัวกลับมาปรับปรุง

“เราโชคดีหลายอย่าง มีคนช่วยตลอด ซินแสก็เป็นอาจารย์ที่รู้จัก งานไม้ก็มีคนแนะนำช่างไม้ให้ พอได้คุยกันปรากฏว่าช่างไม้คนนี้เคยทำเฟอร์นิเจอร์ให้ออฟฟิศอาจ้อที่อยู่ในเมือง เขาดีใจมากที่รู้ว่าบ้านนี้เป็นบ้านคุณหลวง ก็ยกทีมมาทำไม้ให้เลย แถมคุมค่าใช้จ่ายให้ด้วย ขุมน้ำด้านหน้าก็ได้พ่อของเพื่อนช่วยแนะนำให้ขุด แปลนที่นี่ทั้งหมดก็มีอาอีกคนเขียนให้ แกแบ่งพื้นที่เป็นโซน ๆ โซนมรดก โซนในน้ำมีปลาในนามีข้าว เขียนแปลนให้ฟรีเลยนะ แกบอกถ้าคิดตังค์เดี๋ยวเจ๊ง” พี่ชายเล่า น้องชายอมยิ้ม

ชำเลืองชั้นล่าง

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต
‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต

เมื่อตัดสินใจทำบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ บริเวณทั้งหมดจึงต้องตบแต่งให้สวยงามและเล่าเรื่อง สองพี่น้องได้คุณน้าอย่าง จุ๋ม-อรสา โตสว่าง มาเป็นดีไซเนอร์สร้างความโดดเด่นภายในตั้งแต่ผนัง สายไฟ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์แต่งห้อง

ผมสังเกตเห็นความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ก้าวแรก โถงรับรองของบ้านอาจ้อแบ่งออกเป็นโถงกลาง โถงปีกซ้าย และโถงปีกขวา หากพิจารณากระเบื้องปูพื้นลายตารางหมากรุกสีขาวสลับเขียว จะสังเกตเห็นกรอบสี่เหลี่ยมตีเป็นแนวราวกับต้องการแบ่งขอบเขตให้กับอะไรบางอย่าง สัจจอธิบายว่า กระเบื้องนี้อยู่มาตั้งแต่เริ่มปลูกบ้าน สี่เหลี่ยมของโถงกลางคือพื้นที่หลักในการรับแขก ต่อเมื่อเริ่มสนิทกันจึงจะขยับขยายไปยังโถงอื่น ๆ ได้

“ผนังเดิมของบ้านเป็นสีครีม แต่ตอนมาครั้งแรก ผนังร่อนเป็นแผงเลย เราต้องให้คนมาขูดออก ต้องขูดมือด้วยนะ เพราะถ้าใช้เครื่องขูดจะกินเนื้อปูนออกมาด้วย โครงสร้างของบ้านยังแข็งแรงก็จริง แต่เนื้อปูนเริ่มหมดอายุแล้ว ก็เลยต้องขูดมือเท่าที่ขูดได้”

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต

ผนังของบ้านที่มีทั้งความโบราณและทันสมัยทับซ้อนกันอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากขูดสีครีมออก เจ้าของพบว่าภายในคือคราม สีที่คนสมัยก่อนเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยป้องกันแมลงและเชื้อรา เมื่อรู้ดังนั้น สัจจจึงเลือกไม่ทาสีใหม่ลงไปทับ ทาเพียงสีเคลือบเงากันคราบและไรฝุ่น สรุปง่าย ๆ ว่า ผนังส่วนไหนที่ขูดได้ก็จะเห็นเป็นสีเทาคราม ตรงไหนที่ขูดไม่ออกก็จะยังมีสีครีมแห่งวันวานพาดอยู่ ดูแปลกตาแต่ลงตัว

ขณะชื่นชมความสง่าของฝาผนัง สิ่งที่ประณีตโดดเด่นจนผมไม่อาจละสายตา คือภาพวาดฝาผนังรูปดอกโบตั๋นขนาดกว่า 2 เมตร หากเป็นบ้านอั้งม้อหลาวทั่วไป ที่ตั้งอยู่ใจกลางจะเป็นตู้กระจกที่ใช้สะท้อนสิ่งเลวร้ายออกจากบ้าน แต่เนื่องจากอาม่าของสัจจและบรรลุต้องใช้ตู้นี้แต่งตัว เครื่องเรือนชิ้นเอกที่เคยอยู่กลางบ้านจึงถูกย้ายไปไว้ด้านหลัง สองพี่น้องปรึกษากับอรสาว่าจะย้ายตู้เดิมกลับมาหรือหาอะไรมาทดแทน ตอนนั้นเองที่น้าของสองหลานบอกว่าผนังตรงนี้ต้องมีภาพวาด

“จี้จุ๋มย้ำเลยว่าตรงนี้ต้องวาดรูป แกรู้จักศิลปินหลายคน ก็ติดต่อจนได้ศิลปินที่วาดสตรีทอาร์ตในภูเก็ตมาวาดให้ พอได้เห็นภาพบ้านหลังนี้เขาร้องไห้ออกมาเลย เขาเคยผ่านบ้านนี้ตอนมาภูเก็ตครั้งแรก ตอนนั้นบ้านยังไม่ซ่อม เขาพยายามจะเข้ามาแต่เข้าไม่ได้ เลยทำได้แค่เอากล้องโทรศัพท์ถ่ายรูปตามช่องหน้าต่าง แล้วก็อธิษฐานในใจว่าขอให้ได้กลับมาบ้านนี้อีก สุดท้ายได้กลับมาจริง ๆ เขาดีใจมาก คิดดู เขามาวาดรูปให้ นั่งระบายสีอยู่คนเดียว ตอนนั้นบ้านยังไม่มีไฟฟ้า มีแค่ไฟดวงเดียวกับห้องน้ำห้องเดียว”

ลุดมิลา เล็ทนิโควา หรือนามปากกา LUDALET คือศิลปินหญิงชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เธอเต็มใจแต่งแต้มลวดลายโบตั๋น พันธุ์ไม้สีเขียว ตลอดจนหมู่แมลงจนบ้านอาจ้อมีสีสันยิ่งขึ้น โดยดอกโบตั๋นที่ต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ของบ้านหลังนี้สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความสุข มีผู้หญิงอย่างภรรยาของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ (จ้อหญิง) เป็นศูนย์กลางความรักของบ้าน เป็นความสุขวันวานจาก ค.ศ. 1936 ที่พรรณนาผ่านโบตั๋น 9 กลีบ แทนความรักและห่วงใยจากลูกชายและลูกสาวทั้ง 9 คนของอาจ้อ

ถัดจากภาพวาดฝาผนัง ผมสนใจสายไฟของบ้านหลังนี้เป็นพิเศษ

‘สีขาว เส้นใหญ่ แถมมีกิ๊ปรวบสายไฟอยู่เป็นระยะ’ คือคำจำกัดความสิ่งที่ผมเห็นตรงหน้า

‘บ้านอาจ้อ’ แปลงโฉมบ้านอั้งม้อหลาว 86 ปี เป็นที่พัก ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต

“เราเจอสายไฟโบราณที่ชั้นสอง ต้องไปโตหรอง (ขอร้อง) คนทำกิ๊ปสายไฟที่ลำปางผลิตให้ ทำอยู่ปีนึงกว่าจะเสร็จ เราอยากทำบ้านให้เหมือนสมัยก่อนให้ได้มากที่สุด” เป็นครั้งแรกที่บรรลุเอ่ยปากหลังจากให้พี่ชายอธิบายเป็นส่วนใหญ่ น้องชายเล่าเรื่องสายไฟด้วยสำเนียงภูเก็ตแท้ ๆ ก่อนพี่ชายจะเสริมว่าบ้านนี้ไม่มีทางซ่อมสำเร็จถ้าไม่ได้น้องชายช่วยเหลือ บรรลุหลงใหลในงานเกษตร เคยทำงานสนามกอล์ฟ ที่ซึ่งเขาใช้วิธีครูพักลักจำจนได้ทักษะงานช่างและงานสวนติดตัว

เหลนอาจ้อทั้งสองพาผมเลี้ยวเข้าไปยังโถงฝั่งซ้าย ห้องขนาด 15 ตารางเมตร มีหน้าต่างบานเปิดคู่ 3 บาน ถูกจัดแจงใหม่ด้วยความตั้งใจจะบอกเล่าวิถีชีวิตของผู้หญิงในอดีต ใครก็ตามที่มาเยี่ยมเยือนจะได้รู้จักกิจวัตรประจำวันของแม่บ้านอย่างการเย็บปักถักร้อย ชื่นชมความวิจิตรบรรจงของผ้าลูกไม้ต่อดอกที่ตั้งโอดโฉมคู่ผ้าปาเต๊ะสีชมพู และเมื่อหันดูฝั่งตรงข้ามจะได้เจอกิจกรรมยามว่างอย่างการเล่นไพ่ ที่มีทั้งไพ่จอดและไพ่ส่ามกอก (ไพ่นกแดง) วางเรียงเป็นระเบียบ

ด้านโถงปีกขวาประดับประดาถ่ายทอดวิถีชีวิตของเพศชายสมัยก่อน ทายาทตระกูลหงษ์หยกรวบรวมข้าวของเครื่องใช้สมัยเก่าจากสมาชิกในครอบครัวมาสาธิต เริ่มตั้งแต่แผนที่ภูเก็ตจาก ค.ศ. 1945 ยุคที่ไข่มุกแห่งอันดามันยังไม่มีสะพานข้ามฟาก ชั้นวางรองตะเกียง แผ่นเสียงสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่เจรจาธุรกิจ ไปจนถึงการจำลองโต๊ะทำงาน ที่มีทั้งตำรา ลูกคิด และโทรเลขตั้งอยู่

หลังเยี่ยมชมโถงรับรองครบสาม ผมแวะเข้าห้องขนาดย่อมที่เหมือนกันสองฝั่ง ก่อนการปรับปรุง ห้องฝั่งซ้ายเคยเป็นห้องนอนของอาจ้อ ห้องขวาเป็นห้องรับรองแขก ตามฮวงจุ้ยจีน ทิศที่เย็นที่สุดของบ้านคือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห้องอาจ้อจึงตั้งอยู่ตรงนั้น ส่วนห้องนอนของอากงอาม่าก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันที่ชั้น 2

เมื่อไม่ได้ทำบ้านให้เป็นโรงแรมขนาด 8 ห้องอีกต่อไป อรสาจึงเนรมิตรห้องนอนอาจ้อให้เป็นร้านขายของที่ระลึก จำหน่ายงานฝีมือของเด็กในชุมชนและคนในทัณฑสถาน ด้านห้องพักของแขกก็แปลงสภาพเป็นห้องทำงานที่ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม 

ผมสูดหายใจ ซึมซาบกลิ่นอายจากวันเก่าที่ถูกเล่าใหม่อีกครั้งอย่างพิถีพิถัน ก่อนเดินตามสัจจและบรรลุสู่ชั้นสอง

สำรวจตรวจชั้นบน 

สิ่งที่แตกต่างจากชั้นล่างอย่างชัดเจน คือพื้นไม้ขนาดหน้ากว้างราว 9 เซนติเมตรที่มันวาวราวกับได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มีโซฟาทรงคลาสสิกสีฟ้าตั้งหันหน้าออกจากกันอยู่กลางห้อง ตัวหนึ่งหันสู่ห้องพักของนักท่องเที่ยว อีกตัวหันเข้านิทรรศการห้องหอของชาวไทยเชื้อสายจีน

สัจจพาผมเดินชมห้องปีกซ้ายที่เดิมทีเป็นห้องของอากงและอาม่า อาณาเขตที่ยังอบอวลด้วยมวลรักแห่งความทรงจำได้รับการตบแต่งเป็นห้องหอให้คนที่มาเยี่ยมชมได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก 

“เตียงนี้เรายกมาจากบ้านในเมือง อายุน่าจะเกิน 50 ปีแล้ว เป็นเตียงที่อากงและอาม่าใช้ส่งตัวเข้าหอ จะเห็นเลยว่าเตียงสูงมาก สมัยก่อนต้องมีอังกู๋ (เก้าอี้ตัวเล็ก) เหยียบขึ้น” สัจจย้อนความหลัง

ออกห้องซ้าย ต่อห้องขวา ห้องนอนแม่บ้านในยุคอากงแปรสภาพเป็นห้องพักของนักท่องเที่ยวเพียงหนึ่งเดียวของบ้านในชื่อ Happy Family โดยมี 1 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น และระเบียงเชื่อมต่อสองห้องสำหรับส่องทิวทัศน์โดยรอบ

              ภายใน Happy Family ถูกตบแต่งแบบเรียบง่ายสบายตา สีขาวของผ้าปูที่นอน ดอกไม้ และโคมไฟ แซมด้วยศิลปะฝีมือ LUDALET ริมบานหน้าต่างไม้ ส่งกลิ่นอายเสมือนแขกผู้เข้าพักได้ย้อนเวลากลับไปอยู่ใน ค.ศ. 1936 จริง ๆ

ส่วนสุดท้ายของชั้น 2 ที่สองพี่น้องต้องลงแรงซ่อมแซมเป็นพิเศษคือระเบียงและหลังคา กาลเวลาและคนในท้องถิ่นที่แอบมายิงนกทำให้กระจกสีเขียวหลายบานชำรุดเสียหาย แต่สัจจและบรรลุก็ยังอุตส่าห์เสาะหาจนซื้อกระจกลวดลายเดิมมาได้ในที่สุด แม้สีสันจะแตกต่างจากบานเดิมไปบ้าง แต่นี่ก็ดีที่สุดเท่าที่เจ้าบ้านจะหาได้ แต่กับกระเบื้องหลังคาที่เริ่มรั่วแก้ไม่ง่ายอย่างที่คิด บรรลุพยายามตามหากระเบื้องแบบเดียวกันในท้องตลาด แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ แต่ก็เหมือนอาจ้อบนสวรรค์ดลใจ ทั้งสองบังเอิญเจอกระเบื้องหลังคาสำรองในขณะสำรวจตัวบ้าน เมื่อนำมาลองประกอบกับโครงหลังคา ปรากฏว่าใส่ได้พอดิบพอดี

“ตรงนี้จะเห็นขุมน้ำและบริเวณบ้านทั้งหมด เมื่อก่อนอาจ้อจะสั่งการคนงานสวนมะพร้าวจากบนนี้ สถาปัตยกรรมตรงนี้เนี้ยบมากนะ อาคารเราโค้ง สมัยนั้นก็ต้องหาวงกบหน้าต่างที่โค้งตามตัวอาคาร งานละเอียดมาก”

ชาวภูเก็ตที่อายุ 40 ปีขึ้นไป คงไม่มีใครไม่รู้จัก ณรงค์ หงษ์หยก อากงของสัจจและบรรลุ ด้วยตำแหน่งอดีตคหบดี การทำหน้าที่เพื่อสังคมหลากหลายด้าน ตลอดจนการเป็นนักดนตรีสมัครเล่นของ The Shark วงดนตรีแจ๊สวงแรก ๆ ของจังหวัด ทำให้ณรงค์เป็นที่รู้จักของผู้คนมากหน้าหลายตา หลานชายทั้งสองจึงนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตของคุณปู่มาจัดแสดงไว้ที่ชั้น 3 

“แต่ก่อนตรงนี้เป็นห้องพระ ตั้งใจจะรีโนเวตเป็นห้องจำลองพิธีแต่งงาน แต่พออากงเสียไป เราก็อยากจัดให้เป็นนิทรรศการของแก อากงเป็นทั้งนักมวย นักเพาะกาย นักดนตรี ในห้องนี้ก็เลยมีเครื่องดนตรีทั้งหมดที่อากงเล่น มีไม้เท้าที่อากงใช้ตอนยังมีชีวิตอยู่”

ร้านอาหารโต๊ะแดง

สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทันสังเกตคือบ้านอาจ้อเป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปร่างไม่สมมาตร เมื่อเดินลงจากชั้นบน ทุกคนจะได้เจอกับห้องนั่งเล่นและห้องกินข้าวที่ยื่นออกไปทางฝั่งซ้ายของอาคารหลัก ห้องนั่งเล่นยังคงใช้เครื่องเรือนเดิมบางส่วน ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา อยู่มาตั้งแต่สมัยที่อากงยังอาศัย คุณน้าอย่างอรสาเพียงตกแต่งเพิ่มเล็กน้อย โดยการนำภาพเก่าจากทุกบริเวณของบ้าน รวมทั้งภาพจากบ้านในเมืองภูเก็ตมาจัดไว้บนผนัง เรียงผังจากบนลงล่าง ตั้งแต่รุ่นจอจ้อ (แม่ของอาจ้อ) อาจ้อ ลงมาถึงรุ่นอากง

“ระหว่างห้องนั่งเล่นกับห้องกินข้าว เมื่อก่อนจะเป็นประตูลูกฟัก เราถอดออกแล้วเอาประตูกระจกใส่เข้าไปแทน เพราะอยากให้คนที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มองเห็นร้านอาหาร”

สัจจบรรยายถึงบริเวณสุดท้ายในการรีโนเวตอย่างร้านอาหารโต๊ะแดง ที่อยู่ติดกับห้องนั่งเล่นเคยเป็นห้องกินข้าวและห้องครัว แหล่งเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในบ้านหลังใหญ่ สองพี่น้องตัดสินใจทุบกำแพงเพื่อรวมห้องกินข้าวกับห้องครัวเป็นห้องเดียว เหลืออิฐเปลือยบนกำแพงเพิ่มความวินเทจ ถอดฝ้าเพดานให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น แต่ยังคงกระเบื้องพื้นดั้งเดิมไว้ ก่อนเลือกใช้คู่สีแดงตัดกับเขียวในการตกแต่ง สุดท้ายจึงตั้งชื่อให้เป็นมงคลว่าร้านอาหารโต๊ะแดง

“โต๊ะแดงทำเมนูอาหารพื้นถิ่นกับเมนูที่เราอยากกิน เราเดินถามคนแถวนี้ด้วยว่าเขาชอบกินอะไร เจอฝรั่งบอกว่าชอบกินไก่ผัดเม็ดมะม่วง ข้าวผัดสับปะรด ผัดไทย ช่วงแรกร้านก็เลยทำเมนูพวกนี้”

โต๊ะแดงปรับปรุงสูตรอาหารเรื่อยมา ตอบสนองความต้องการทั้งของลูกค้าและเจ้าของ เกิดเป็นเมนูขึ้นชื่อจานใหม่มากมาย อาทิ เกี้ยนทอด อ๋วนภูเก็ต (ลูกชิ้นปลาภูเก็ต) ยำยานัด (ยำสับปะรด) หมูฮ้องเสิร์ฟคู่กับโรตี และที่ใครเห็นเป็นต้องลองคือหมี่กรอบบ้านอาจ้อ

ผมคงไม่ต้องการันตีความอร่อยของอาหารร้านนี้ด้วยตนเอง เพราะโต๊ะแดงได้รับการแนะนำโดยมิชลินไกด์ภูเก็ตในปี 2021 และ 2022 เป็นที่เรียบร้อย

ส่งต่อความตั้งใจ

“เราหาซื้อผักลิ้นห่าน จั๊กจั่นทะเล กุ้งมังกรจากคนแถวนี้ อะไรที่หาได้ในท้องถิ่น เราก็ใช้ของท้องถิ่นทั้งหมด อุดหนุนชุมชน แต่สำคัญคือต้องอร่อย ถ้าไม่อร่อยไม่เอา” 

จากเคยเป็นที่พักพิงของชาวบ้านในช่วงสงครามโลก สัจจและบรรลุต้องการให้บ้านสานต่อจุดมุ่งหมายแบบเดิม ทำร้านอาหารโดยคัดสรรวัตถุดิบจากท้องถิ่น กำไรจากก้นครัวไว้สำหรับซ่อมแซมอาคาร แต่เงินจากพิพิธภัณฑ์นำไปบริจาคเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กในชุมชนไม้ขาว สิ่งที่ทั้งสองคนทำแทบไม่ต่างจากคราวที่หลวงอนุภาษภูเก็ตการบริจาคที่ดินส่วนตัวเพื่อสร้างเป็นโรงเรียนชุมชน

“เราอยากทำเหมือนที่อาจ้ออากงเราทำ” สัจจและบรรลุทิ้งท้ายสั้น ๆ

ไม่เพียงตัวอาคารชิโน-โคโลเนียล ที่ถูกแปลงโฉมให้กลับมามีชีวิต แต่จิตวิญญาณที่ดีงามของบ้านอาจ้อก็ถูกชุบชีวิตขึ้นมาเช่นเดียวกัน ความตั้งใจในอดีตถูกร้อยเรียงผ่านกาลเวลา จากรุ่นทวดสู่รุ่นเหลน จากวันวานสู่วันนี้ ผมจึงดีใจเหลือเกินที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อเรื่องราวการแปลงโฉมบ้านอาจ้อถึงผู้อ่าน The Cloud ทุกคน

บ้านเลขที่ 102 ถนนเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 

เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น.

โทรศัพท์ : 062 459 8889

Facebook : Baan Ar-Jor บ้านอาจ้อ

Writer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ

Photographer

Avatar

ทยาวีร์ สุพันธ์

ช่างภาพอิสระ บ้านอยู่ภูเก็ต หลงรักการดื่มกาแฟ ขับรถเที่ยว ชมธรรมชาติ การถ่ายรูปทะเลและผู้คน ชอบดนตรี ตีกลองเป็นงานอดิเรก