แฟนเธอประหลาดมาก บ่นเรื่องประเทศไทยประเทศญี่ปุ่นอย่างโน้นอย่างนี้ ทำไมไม่เขียนเรื่องของแฟนเธอล่ะ” 

คำพูดติดตลกของเพื่อนเป็นจุดเปิดสวิตช์ให้ อายากะ สาวญี่ปุ่นผู้ชื่นชอบการเขียนการ์ตูน คว้าปากกามาวาดการ์ตูนร่วมกับแฟนหนุ่มชาวไทยอย่าง ซัน-ประเสริฐ ประเสริฐวิทยาการ บนเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ อายากะซังกับซันคุง《タイ人パクチー食べないから》จนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่นักอ่านญี่ปุ่นและนักอ่านไทย

อายากะซังกับซันคุง 《タイ人パクチー食べないから》เพจเฟซบุ๊กเล่าเรื่องราววัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ฉบับภาษาไทยที่หาไม่ได้ในหนังสือเดินทาง จากสองคู่รักผู้มอบเสียงหัวเราะผ่านตัวละคร ‘อายากะซัง’ สาวญี่ปุ่นผู้ชื่นชอบภูติญี่ปุ่นกับการวาดภาพแมว และ ‘ซันคุง’ แฟนหนุ่มชาวไทยนักออกแบบเกมที่ได้แต่งงานใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นมาสิบกว่าปี 

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สร้างข้อขัดข้องใจไปพร้อมกับบทสนทนาชวนหัวเราะ เต็มไปด้วยเกร็ดความรู้แฝงอยู่ในการ์ตูนทุกตอน เรายกหูต่อสายข้ามน้ำข้ามทะเลถึงแดนอาทิตย์อุทัย เพื่อพูดคุยกับนักวาดมังงะ ผู้อยากถ่ายทอดเรื่องราวความไทย ๆ และความเป็นนิฮงจิน (คนญี่ปุ่น) ให้ทุกคนได้ลองมาสัมผัสความสนุกไปด้วยกัน

อายากะซังกับซันคุง สาวญี่ปุ่นวาดการ์ตูนแก๊กเล่าชีวิตคู่กับหนุ่มไทย ถูกใจคนอ่าน 2 ชาติ

ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นที่แปลก

“เราเจอกันเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผมมาเรียนต่อโทที่ญี่ปุ่นและได้เข้าชมรมร้องประสานเสียง ผมเข้ามาเป็นรุ่นพี่เขา 1 ปี เราเจอกันและร้องเพลงด้วยกันในวงคอรัสตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการวาดรูปเลย”

ซันหัวเราะก่อนจะหันไปคุยกับแฟนสาวที่นั่งข้างกันด้วยภาษาญี่ปุ่นแล้วเล่าต่อ

“สมัยก่อนอายากะทำงานประจำ แต่เขาอยากเขียนการ์ตูน เลยตัดสินใจลาออกจากงานแล้วมาเขียนการ์ตูนเป็นหลัก ตอนแรกรับวาดภาพเหมือนก่อน แล้วก็วาดการ์ตูนเกี่ยวกับแมวเพราะเขาชอบแมวมาก แต่ตลาดการแข่งขันของแมวที่ญี่ปุ่นสูงมาก”

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยแมวและคนรักแมว เป็นที่รู้กันดีว่าญี่ปุ่นแมวเยอะเสียจนมีเกาะแมวอยู่หลายแห่งอย่างเกาะทาชิโระจิมะ เกาะอาโอชิมะหรือเกาะเอโนะชิมะ ความนิยมแมวของคนที่นี่มีสูงมาก การวาดภาพให้แมวมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครจึงเป็นเรื่องยาก

แต่เพราะพลังของเพื่อนที่ช่วยจุดประกายจากสิ่งใกล้ตัว ทำให้เกิดการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นจนได้

“ทำไมไม่เขียนเรื่องของแฟนเธอล่ะ แฟนเธอประหลาดพอแล้ว ไม่ซ้ำกับคนอื่นด้วย” 

แม้จะเป็นคำพูดชวนขำของเพื่อน แต่ทั้งคู่ก็มานั่งไตร่ตรองกันจริงจัง ซันเป็นคนชอบเล่าและบ่นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่แล้ว ชอบพูดถึงเกร็ดความรู้ออกมาโดยธรรมชาติ ถ้านำสิ่งที่ซันเล่ามาเขียนเป็นการ์ตูนคงเล่าได้เยอะ แถมยังยูนีกไม่ซ้ำใคร จุดเริ่มต้นแสนประหลาดที่อยากแชร์ความแปลกใหม่จึงเริ่มจากตรงนี้

อายากะซังกับซันคุง สาวญี่ปุ่นวาดการ์ตูนแก๊กเล่าชีวิตคู่กับหนุ่มไทย ถูกใจคนอ่าน 2 ชาติ

ตอนที่ 2 ยากแท้จริงหนอการวาดมังงะ

การเริ่มต้นตรงนั้น อายากะเปิดเพจบนทวิตเตอร์เพื่อเล่าเรื่องราวของเธอและซันเป็นภาษาญี่ปุ่นก่อน ในชื่อ アヤカシ (@ayakashidesuyo) ล่าสุดเขียนได้ถึงตอนที่ 50 แล้ว ส่วนภาคภาษาไทย เป็นการทำงานร่วมกันกับซัน แฟนหนุ่มที่คอยเป็นนักแปลเรื่องราวที่อายากะเขียนให้คนไทยได้อ่านกันอย่างออกรสบนเพจเฟซบุ๊ก อายากะซังกับซันคุง 《タイ人パクチー食べないから》ตอนนี้มีถึงตอนที่ 47 แล้ว ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นแต่ละตอนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ 

“บางตอนใช้เวลาทั้งคิดทั้งเขียน 10 นาทีเสร็จก็มี บางเรื่องที่ต่อกันยาวและข้อมูลเยอะ ต้องใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ เราคิดว่าข้อมูลนั้นจะนำมาเรียงลำดับยังไง การคิดว่าต้องเริ่มยังไงและจบยังไง ต้องวางช่องวางแบบไหน กี่หน้า เป็นสิ่งที่ใช้เวลานานและยากที่สุด ส่วนเรื่องการลงเส้น ไม่นานเดี๋ยวก็เสร็จแล้ว”

อายากะเล่าถึงเทคนิคต่อว่า การแบ่งช่องเป็นตัวช่วยและเป็นเทคนิคสำคัญที่ทำให้นักอ่านเข้าถึงอารมณ์ รวมถึงเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีขึ้น ถ้าการแบ่งช่องทำออกมาดี คนอ่านก็จะสนุกและอินไปกับเรื่องได้ดีขึ้น ซันเล่าให้เราฟังต่อ

“ไม่รู้ว่าเมืองไทยมีพวกศาสตร์การเขียนมังงะไหมนะ เพราะที่ญี่ปุ่นเขามีศาสตร์แบบนี้อยู่ มีเทคนิคที่เปิดเพจออกมายังไงให้มันเจออะไรใหญ่ ๆ สร้างความอิมแพค หรือจะเก็บความอิมแพคใส่ให้จบทีละหน้า อายากะต้องคิดเรื่องพวกนี้เยอะ มันเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยาก เขาพยายามทำเรื่องพวกนี้อยู่ครับ

“ผมได้ช่วยเขาดูตรงนี้ด้วย เพราะผมทำงานเกี่ยวกับด้านนี้มา เราพยายามบอกให้เขาลดตัวหนังสือลง ทำให้คนอ่านเข้าใจง่ายที่สุด เราพยายามคุยกันแล้วแก้ บางทีเขาก็จะมาปรึกษาว่าอ่านรู้เรื่องไหม สนุกไหม เราก็จะบอกว่าตรงนี้อ่านเข้าใจยากนะ เราแก้ส่งกันกลับไปกลับมา รู้ตัวอีกทีผ่านมา 2 – 3 สัปดาห์ก็มี”

อายากะคิดและเขียน ส่วนซันเป็นคนแปลไทยพร้อมกับรอคอมเมนต์งาน ทำงานร่วมด้วยช่วยกันดีแบบนี้ เราเลยสงสัยว่าเวลาเลือกเรื่องที่จะวาด ทั้งสองคนช่วยกันเลือกยังไง

“ออกตัวก่อนการ์ตูนเรื่องนี้ ผมจะไม่ยุ่งเรื่องวิธีการคิด การเขียน และการจัดมุกของอายากะ เพราะผมอยากให้มันเป็นผลงานของเขาเอง ฉะนั้นผมแค่บ่นไปทุกวัน เขาจะจับเรื่องไหนมาเขียนก็แล้วแต่เลย” 

ส่วนเนื้อหาที่ออกมาให้เราได้อ่านกันในภาคภาษาไทย คนไทยอาจจะดูไม่ออกว่าอายากะเลือกเรื่องนำมาเขียนยังไง แต่เธอเฉลยกับเราว่า เธอเสนอเรื่องราวตามแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นใน 4 ฤดูกาลของญี่ปุ่น (ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว) 

อย่างหน้าร้อนในญี่ปุ่น อายากะเขียนเรื่องฤดูร้อน พอถึงหน้าหนาวเขียนเรื่องเทศกาลปีใหม่ เมืองไทยไม่ได้มีฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วง ก็อาจจะมองกันไม่ออก แต่ถ้ามองมุมมองของคนญี่ปุ่น การ์ตูนของอายากะเต็มไปด้วยบรรยากาศของทุกฤดูกาลเลยทีเดียว

แม้ว่าโทนการเล่าเรื่องจะมีความญี่ปุ่น แต่เนื้อหาเรื่องวัฒนธรรมไทยก็แน่นไม่แพ้กัน ทุกตอนของการ์ตูนมักมีเกร็ดความรู้แลกเปลี่ยนกันระหว่างวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่นอยู่ท้ายตอนเสมอ

อายากะซังกับซันคุง สาวญี่ปุ่นวาดการ์ตูนแก๊กเล่าชีวิตคู่กับหนุ่มไทย ถูกใจคนอ่าน 2 ชาติ

“ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยก็ฟังมาจากซันบ้าง ฟังแล้วก็ค่อยไปหาข้อมูลเพิ่ม เพราะว่าซันมีความรู้ที่ค่อนข้างไม่สมดุลและไม่สมบูรณ์ บางทีซันเข้าใจผิด เพราะงั้นก็จะไปหาถามเพื่อนคนไทยคนอื่น เช็กจากหลาย ๆ ที่ว่า เรื่องที่ซันคุงพูดมาจริงหรือไม่จริงยังไง”

ซันเริ่มยกตัวอย่างความรู้ที่ไม่สมดุลบางอย่างของตัวเอง

“เรื่อง Valcano Milo Lava ตอนผมอยู่เมืองไทยมันไม่มี ผมไม่ได้อยู่ไทยมานานแล้ว ผมไม่รู้เรื่องนี้ อายากะก็จะไปถามน้องนักเรียนไทย เด็ก ๆ ที่อยู่เมืองไทยตอนนี้ ผมก็อ้าว เอ๊ะ อ๋อ จริง ๆ มันมีเหรอตอนนี้ ผมก็เอ๊ะ เห โซนันดะ ?” 

อีกสิ่งที่ทำให้มังงะข้ามวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น เรื่องนี้มีเสน่ห์ คงไม่พ้นคาแรกเตอร์ของอายากะซังและซันคุงที่มีนิสัยต่างกันสุดขั้ว แต่กลับสร้างเสียงหัวเราะและสีสันให้กับเรื่องได้ดีมาก

“ตามความเป็นจริง ซันก็จะเป็นแบบนี้ ยิ้มไปบ่นไป พูดจาทำลายล้างแต่ยังยิ้มอยู่ ตัวซันคุงที่เขาเขียน คือตัวผมที่เขาอยากให้คนอื่นเห็น ส่วนอายากะต่างนิดหน่อยคือ อายากะตัวจริงยิ้มมากกว่าในการ์ตูน ในการ์ตูนเขาหน้าเฉยมาก ไม่หือไม่อือ แต่เรื่องที่คุยเป็นเรื่องที่เราคุยกันจริง ๆ”

ไม่ใช่แค่อายากะและซันคุงที่คาแรกเตอร์ตรงกับตัวจริง แมวสอง 2 ตัวอย่างโกมะคิจิและคิบิสุเกะ ก็มีหน้าตาและนิสัยตรงปกไม่แพ้กัน

อายากะซังกับซันคุง สาวญี่ปุ่นวาดการ์ตูนแก๊กเล่าชีวิตคู่กับหนุ่มไทย ถูกใจคนอ่าน 2 ชาติ
อายากะซังกับซันคุง สาวญี่ปุ่นวาดการ์ตูนแก๊กเล่าชีวิตคู่กับหนุ่มไทย ถูกใจคนอ่าน 2 ชาติ

ตอนที่ 3 ไทจิน vs นิฮงจิน

หลังเปลี่ยนเป้าหมายจากการวาดการ์ตูนแมวมาเป็นการวาดเรื่องราว 2 วัฒนธรรม เป้าหมายที่เคยตั้งไว้เปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่เป้าหมายใหม่เป็นสิ่งที่อายากะและซันหวังอยากทำให้ดีขึ้นในอนาคต

“สิ่งหนึ่งที่อยากสื่อตลอด คือเรื่องราวไทย-ญี่ปุ่น ที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือนำเที่ยว เช่น คนไทยไม่ได้กินผักชีขนาดนั้น หรือคนไทยนามสกุลยาวจนใช้ชีวิตในญี่ปุ่นลำบาก ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่รู้จะไปหาจากไหน เป็นสิ่งที่มีแค่คนที่อยู่ด้วยกันอย่างเรารู้ เราพยายามหาข้อมูลที่น่าสนใจมาเล่าให้คนอื่นฟัง

“อีกเรื่องที่พยายามทำคือ อยากให้คนที่อ่านการ์ตูนของฉัน อ่านแล้วรู้สึกดี จึงพยายามเขียนโทน Positive ให้คนอ่านแล้วเขามีความสุข เรานำด้านบวกมาเสียดสีและพูดถึงบ้านเมืองให้เป็นบวก แต่ต้องไม่ทำให้ใครรู้สึกแย่ เพราะคนที่จะซวยในการ์ตูนเรื่องนี้มีแค่ซันคุงคนเดียว” 

อายากะเล่าต่อพร้อมกับรอยยิ้มถึงอีกเป้าหมายในการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ “ฉันชอบเวลาที่ซันคุงพล่าม ทั้งน่ารักและน่ารำคาญ อยากจะแสดงความน่ารักและน่ารำคาญไปให้คนทั้งโลกได้เห็นค่ะ”

ความน่ารักและน่ารำคาญของซันคุง ในรูปชายหนุ่มสวมเชิ้ตกางเกงยีนส์ใส่ต่างหูเท่ ๆ ให้คนไทยและคนญี่ปุ่นอ่านได้เดินทางครบ 1 ปีเต็มในปีนี้ มังงะอายากะซังกับซันคุงได้เพิ่มชุมชนนักอ่านที่ชื่นชอบเรื่องราวระหว่างประเทศมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมไทย และคนไทยเองก็ได้ย้อนมองวัฒนธรรมบ้านเกิดพร้อม ๆ กับเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย

“คนญี่ปุ่นชอบเรื่องที่มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยค่ะ ชอบสาระความรู้ แต่คนไทยเจอเกร็ดสาระเยอะ ๆ จะไม่ค่อยชอบ ส่วนใหญ่ชอบดูตัวละครมากกว่า ชอบดูซันคุงบ่น แล้วถ้าซันคุงโดนซัดหงอ คนก็จะสะใจ คนไทยและคนญี่ปุ่นต่างกันชัดมาก”

อายากะอธิบายต่อว่า จริง ๆ แล้วคนญี่ปุ่นชอบคนไทย ปกติคนญี่ปุ่นไม่ได้ชอบชาติไหนเป็นพิเศษนัก แต่สำหรับคนไทย ในสายตาคนญี่ปุ่นมีแต่ความน่ารัก สดใส และตลก ความเป็นมิตรไม่เป็นภัย ทำให้นิฮงจินชอบไทจินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

รายละเอียดที่เราเขียน ทำให้คนญี่ปุ่นนึกถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมาได้ อย่างเรื่องพริกขี้หนู เขาก็คอมเมนต์มาว่า ‘เฮ้ย จริงด้วย มันโคตรเผ็ดเลย’ คนญี่ปุ่นเขาชอบเมืองไทยมาก เขาอาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปจากการอ่านการ์ตูนของเรา เพราะเขาก็รักคนไทยอยู่แล้ว”

คนไทยเองก็คงไม่ต่างกันมากนัก ทั้งมังงะและอนิเมะญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในประเทศไทยมานาน คนไทยเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านสื่อมากมาย แต่ยังคงมีบางเรื่องที่คนไทยไม่รู้ หากไม่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นด้วยตัวเอง ซันจึงอยากให้คนไทยรู้เรื่องราวแปลกใหม่ที่น่าสนใจของญี่ปุ่นมากขึ้น พร้อม ๆ กับให้คนไทยได้ทบทวนถึงวัฒนธรรมไทยไปในตัวด้วย

“เราพยายามจะเลือกเรื่องที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ หลายอย่างคนเขารู้กันทั่วไป แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ถ้าไม่ได้มาอยู่จริงเขาก็จะมองไม่เห็น ผมว่าญี่ปุ่นยังมีอีกหลายเมืองที่คนไทยยังมองไม่เห็นเหมือนกัน”

เพราะคนไทยรู้จักญี่ปุ่นและอ่านมังงะกันเยอะ เราเลยสงสัยว่านั่นเป็นเหตุผลที่ซันตั้งใจให้คนไทยได้อ่านการ์ตูนจากขวาไปซ้าย แบบการ์ตูนญี่ปุ่นแท้ ๆ เลยหรือเปล่า

“ตอนแรกอายากะอยากเขียนให้คนญี่ปุ่นอ่าน ผมเลยเป็นคนบอกเขาว่า ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว แปลไทยเถอะ แล้วเดี๋ยวนี้การ์ตูนญี่ปุ่นที่ไทยเขาก็อ่านจากขวาไปซ้ายกันเยอะแล้ว มันมีความเป็นญี่ปุ่น ผมก็เลยให้อ่านขวาไปซ้ายเลย

“ผมว่าการ์ตูนญี่ปุ่นมีดีอย่างหนึ่งนะ มันไม่เหมือนการ์ตูนที่คนไทยเขียน มีความญี่ปุ๊นญี่ปุ่นอยู่ในเรื่อง เช่น วิธีใส่คำพูด การ์ตูนญี่ปุ่นมีบอลลูนคำพูด แต่ก็จะมีประโยคเพิ่มเติมโผล่ออกมานอกบอลลูนด้วย สิ่งนี้ไม่เจอในการ์ตูนภาษาไทย ผมว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ สำคัญมาก ถ้าเราปรับมากเกินไป เสน่ห์จะหาย เราพยายามเหลือไว้เท่าที่ทำได้ครับ”

นักวาดสาวญี่ปุ่นที่พบรักกับหนุ่มไทย จนได้เขียนเรื่องราวสนุก ๆ ระหว่าง 2 วัฒนธรรมผ่านมังงะ
นักวาดสาวญี่ปุ่นที่พบรักกับหนุ่มไทย จนได้เขียนเรื่องราวสนุก ๆ ระหว่าง 2 วัฒนธรรมผ่านมังงะ

ตอนที่ 4 เรื่องระหว่างเรา…

วัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ที่ออกมาแล้วถึง 50 ตอนถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย และไม่ง่ายเลยกับการเขียนถึงวัฒนธรรมนอกกระแส แต่ก่อนจะมาเป็นเรื่องราวให้พวกเราได้อ่าน การได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของทั้งคู่ คงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความสัมพันธ์ไม่น้อย

“เยอะเลยครับ เหมือนเรามารีวิววัฒนธรรมของเราสองคนใหม่อีกรอบ ต่อให้เราคบกันมานาน 15 ปีแล้ว มันก็ยังมีวัฒนธรรมใหม่ ๆ ซึ่งเราไม่เคยรู้ ไม่เคยสนใจมาก่อน

“อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราไปวัดด้วยกัน ก็คุยกันว่าศาสนาพุทธไทยกับศาสนาพุทธญี่ปุ่นมันคนละอย่างกันเลย คนไทยเวลาไหว้พระขอพรก็มักขอให้มีเงินมีทอง แล้วอายากะก็ถามว่า ขอพระพุทธเจ้าเนี่ยนะ พระพุทธเจ้าสอนให้สละทรัพย์ แล้วทำไมไปขอเงินพระพุทธเจ้า ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเวลาสวดมนต์ขอพรไปเราขอจากใคร เราไม่เคยมองศาสนาตัวเองแบบนี้ มันเป็นมุมมองใหม่ที่เราได้จากการพูดคุยกัน”

อายากะเสริมต่อ

“พวกเราเป็นคู่ที่คุยกันมากกว่าคู่อื่นตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว การเขียนมังงะเรื่องนี้ทำให้เราได้คุยกันมากขึ้นไปอีก เพราะไม่ใช่แค่ซันคุงพล่ามฝั่งเดียว และฉันก็ไม่ได้แค่ฟังอย่างเดียวแล้ว”

ซันยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ ว่าด้วยเรื่องการไปเดตกันของทั้งคู่

“เวลาไปเดตกัน พอผมเล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย เขาก็จะบอกให้หยุดเดิน ขอจดให้เสร็จก่อน ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ไม่ดีก็มีบ้าง บางทีทะเลาะกันเพราะเขาวาดรูปช้า ผมบ่นว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ เขาก็จะตอบกลับมาว่าอย่าบ่น ผมบอกให้แก้ตรงนั้น แต่เขาก็ไม่แก้ มันเล็กน้อยแต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ผมว่าสนุกดีที่ได้คุยกันเรื่องวัฒนธรรม พอไปเที่ยวกัน เราก็ได้หามุกใหม่ ๆ นั่งคุยกันแลกเปลี่ยน”

เพราะเป็นคู่ที่พูดคุยกันทุกเรื่องอยู่แล้ว ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงไม่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันของอายากะและซัน 

คิดว่ามันจะมีปัญหามากกว่านี้ค่ะ แต่ก็ไม่มีปัญหาเลยนะที่แต่งงานกัน อยู่ด้วยกัน อาจมีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น คนไทยไม่ค่อยซีเรียสว่าจะต้องถอดรองเท้าตรงไหน ไม่มีเส้นชัดเจน แต่คนญี่ปุ่นจะมีเส้นชัดเจน ซึ่งสำหรับฉันมันไม่ใช่ปัญหา ขำมากกว่า”

อีกเหตุผลคือ ซันปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้เยอะอยู่แล้วด้วย

นักวาดสาวญี่ปุ่นที่พบรักกับหนุ่มไทย จนได้เขียนเรื่องราวสนุก ๆ ระหว่าง 2 วัฒนธรรมผ่านมังงะ

“อีกอย่างคือ ผมว่าเพราะอายากะเป็นผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยนะ ถ้ากลับกัน เป็นสาวไทยแต่งงานชายญี่ปุ่น แล้วแม่คนไทยเรียกสินสอด คนญี่ปุ่นก็จะงง สินสอดคืออะไร ทำไมฉันต้องจ่ายเงินให้พ่อแม่เธอ แต่คู่เรามันกลับกัน เราบอกอายากะว่าที่เมืองไทยผู้ชายต้องจ่ายเงินให้พ่อแม่ผู้หญิง แต่เธอเป็นคนญี่ปุ่น เพราะงั้นฉันไม่ให้นะ”

ซันหัวเราะก่อนที่เราจะคุยกันต่อเรื่องภาพวาดฝันถึงมังงะของทั้งคู่ในอนาคต ที่แม้ว่าตอนนี้ทั้งคู่ยังไม่ได้วางแผนว่าจะเขียนสิ้นสุดไว้ที่กี่ตอน คาดว่าคงเขียนด้วยกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดมุกให้มาเล่นกับนักอ่านทั้งไทจินและนิฮงจิน

มีแพลนนิดหน่อยว่าตอนนี้อาจจะเป็นภาคแรก เราก็จะยังอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้วคุยกันเรื่องเมืองไทยไปก่อน พอจบภาคนี้แล้ว อาจจะได้ต่อภาคที่อายากะได้ไปผจญเมืองไทย เพราะเราแต่งงานกันที่เมืองไทยด้วยครับ งานแต่งงานเมืองไทยเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก คนญี่ปุ่นไม่รู้จัก และตอนนี้เราก็มีตัวน้อยแล้ว คงเขียนเรื่องตัวน้อยด้วยในอนาคต

“อีกเรื่องคือเป้าหมายของหนังสือ อายากะอยากจะมีสักวันที่ได้พิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่ม ๆ ที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ในเว็บไซต์ เราก็ต้องเขียนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พยายามสู้เพื่อให้ได้พิมพ์หนังสือในสักวัน”

ซันเล่าให้เราฟังจบก็หันหน้ากลับไปคุยอายากะเบา ๆ อย่างอบอุ่น “สักวันถ้าทำออกมาเป็นแบบมังงะได้ก็คงรู้สึกดีเลยเนอะ”

ก่อนบอกเล่ากันไป เราขอให้อายากะลองพูดไทยให้เราฟังสักประโยค 

“อายากะพูดภาษาไทยไม่ได้ค่ะ”

เธอตอบกลับมาอย่างน่ารัก พร้อมกับสัญญาว่าจะตั้งใจเรียนภาษาไทย ไปพร้อม ๆ กับความตั้งใจที่อยากสร้างการ์ตูนให้คนไทยและคนญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเสมอ

นักวาดสาวญี่ปุ่นที่พบรักกับหนุ่มไทย จนได้เขียนเรื่องราวสนุก ๆ ระหว่าง 2 วัฒนธรรมผ่านมังงะ

Facebook : อายากะซังกับซันคุง 《タイ人パクチー食べないから》 

Twitter : twitter.com/ayakashidesuyo

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์