ผู้เฒ่าเคยเล่าผ่านบทเพลงให้เราได้ยิน

“แต่ก่อนยังไม่มีอะไร
มีเพียงสายลม กับสายฟ้า
กำเนิดเกิดน้ำหมุนวน
บ่มเพาะหนทาง สู่การไหลไปสู่ทาง
ทางของธรรมชาติ
ถ้าทางได้รับการดูแล
จะมีทางให้เราเดินต่อ”

เมื่อโลกหมุนจนมาบรรจบครบรอบอีกขวบปี มนุษย์อย่างเราๆ ก็จะเฉลิมฉลองที่ได้รับการขยายวีซ่าชีวิตอีกปี ไม่มีของขวัญชิ้นไหนดีกว่านี้อีกแล้วในการอยู่เรียนรู้บนโลกใบนี้  ในฐานะที่โลกโอบอุ้มเลี้ยงดูเรา เราน่าจะหาของขวัญสักชิ้นให้กับโลกของเรา อย่างน้อยๆ เพื่อระลึกถึงความความรักและเมตตาที่เราได้รับอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ บางทีการกล่าวขอบคุณโลกของเราทุกๆ เช้าน่าจะดีไม่น้อยสำหรับการเริ่มต้นวันธรรมดาให้มีความหมายในวันที่ฝุ่นคลุ้งเคล้าในอากาศรบกวนระบบหายใจให้ไม่สบาย แต่คงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนเช่นกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง

เดือนธันวาคมที่ผ่านไปเราได้ต้อนรับคนรุ่นใหม่จากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น มองโกเลีย ยุโรป บราซิล และ แคนาดา มาร่วมเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศวิทยา พวกเขาออกเดินทางค้นหาความหมายบางอย่างของการมีชีวิตในดวงดาวสีน้ำเงินดวงนี้ พวกเขาหลายคนยอมละทิ้งการงาน บางคนตัดสินใจกลับบ้านเกิดหลังจากออกไปเรียนและทำงานในต่างประเทศมาหลายปี บางคนมาจากองค์กรที่ทำงานกับชุมชนมานาน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ จิตใจที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้อีกครั้ง และเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตใจที่อยากทำอะไรเพื่อโลกของเราแม้จะยากเพียงใดก็ตาม

ป่า, Deep Ecology

 

เก่อ ลา : ขวัญ

ผู้เฒ่าเชื่อว่าเวลาที่เราเจ็บป่วยมีสาเหตุหนึ่งมาจากขวัญหนีจากเราไป เราต้องเรียกขวัญกลับมา ขวัญคือ ธรรมชาติรอบตัวเราที่มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมอยู่ด้วย การที่เราสูญเสียคุณภาพอากาศที่ดี นั่นกำลังบ่งบอกว่าเราได้สูญเสียขวัญซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเรียกขวัญแบบเบื้องต้นอาจจะรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนมาทั้งในระดับบุคคลไปถึงระดับใหญ่

และอาจจะใช้มนตราช่วยประคับประคองให้ขวัญของเรามีพื้นที่ที่ยั่งยืน มนตราที่ว่าอาจจะมาในรูปแบบการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ในการออกแบบผังเมืองที่อนุญาตให้น้ำได้เดินทางไปหามหาสมุทรอย่างราบรื่น ให้ต้นไม้ยืนคู่กับตึกได้ ให้สัตว์มีทางสัญจรเช่นเดียวกับมนุษย์ มนตราอีกอันน่าจะเป็นการศึกษาในยุคใหม่ที่ควรมีเป้าหมายแตกต่างไปจากเดิม ที่ไม่ใช่ความสำเร็จของมนุษย์ แต่เป็นความสำเร็จในการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้

พี่อ้อม-สุนิสา จำวิเศษ ผู้ก่อตั้ง ‘Gaia Ashram’ ที่หนองคาย รับหน้าที่เปิดห้องเรียนด้วยวิชา Deep Ecology ชวนพวกเรากลับไป ‘รู้สึก’ ถึงความงามของธรรมชาติในป่าบ้านหนองเต่า และเดินทางไป ‘โอบกอด’ ความเจ็บปวดที่เกิดกับธรรมชาติ เช่นเหมืองแร่ที่เราเห็นการบดขยี้ผืนดินเป็นผุยผง การพาไปดูภาพสองภาพที่ชัดเจนช่วยให้เราได้เปรียบเทียบและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและเราจะทำอะไรได้บ้าง มันอาจจะเคอะเขินสำหรับเราหลายๆ คน จนกว่าเราจะให้โอกาสตัวเองไปเอาฝ่าเท้าย่ำลงบนผืนดิน เราคงรู้สึกได้ดีกว่าการเดินบนแผ่นดินคอนกรีต

ผมคิดถึงบทกวีเก่าแก่บทหนึ่งที่ว่า

นานา เม นานา เมยา เธอคือเธอ คือเธอ คือฉัน
เคอ ลอ เก่อ วี เคอ ลอ เก่อลา ขวัญของเธอและฉัน คือขวัญของกันและกัน

ทำให้นึกถึงคำของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ขึ้นมาทันที

“Because I am in you and you are in me.”

ป่า, Deep Ecology

จะดีแค่ไหนถ้าเราสร้างพื้นที่ที่เชิญชวนการมาระลึกและขอบคุณธรรมชาติให้เป็นกิจกรรมปกติของทุกๆ วัน โดยไม่ต้องมีพิธีบูชาอะไรมากมาย นั่งกับพื้นเป็นวงกลมที่บ้าน ที่ทำงาน ในร้านอาหาร ขอบคุณเพื่อนร่วมงาน แม่บ้านที่ทำอาหาร คนปลูกผัก มีอะไรมากมายเหลือเกินที่เราต้องขอบคุณ รวมถึงขอบคุณตัวเองที่ยังมีชีวิตอย่างที่มีความหมายต่อไป เผื่อวันหนึ่งเราจะเชื่อจริงๆ ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจริงๆ

ปิแอร์ ชาวบริแทนเนีย ชนพื้นเมืองในฝรั่งเศสที่ทำงานรณรงค์กับ Greenpeace เล่าว่า ตอนนี้เกิดวิกฤตมากมาย และมีโครงการใหญ่อย่างเหมืองใต้ท้องทะเลน้ำลึกบริเวณปาปัวนิวกีนีที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ มลพิษทางทะเลที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิอาจจะกระโดดไปมากกว่า 2 องศา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไร สิ่งที่เขาทำได้คือรณรงค์ต่อไป สร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนต่อไป แม้อาจจะยากลำบากและใช้พลังเยอะก็ตาม ปิแอร์ยังอยากจะกลับไปเรียนรู้ทอดภาษาของที่กำลังจะหายไป

“ตอนนี้ภาษาบริแทนเนียกำลังหายไป เริ่มมีการเรียนการสอนภาษาบริแทนเนียในโรงเรียนแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันดีที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เชื่อมโยงตัวเองกับภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเพื่อจะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น”

แนวคิดของนิเวศแนวลึกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีความจำเป็นต้องลดความสำคัญของมนุษย์ออกจากศูนย์กลางของระบบนิเวศ ทั้งทางด้านวิธีคิดและวิธีการของมนุษย์มนุษย์ที่เป็นใหญ่เกินไป เราจะเห็นสิ่งมีชีวิตอื่นปรากฏชัดเจนเด่นขึ้นเมื่อเราเชื้อเชิญขวัญกลับมาอยู่กับเรา

เก่อ ลา แฮ เก : ขอให้ขวัญจงกลับมา วิทยาศาสตร์ที่ถ่อมตน

“เส้นดินสอที่จรดและลากลงบนกระดาษแผ่นบางๆ ของมนุษย์เมื่อวาน
กลายเป็นแผนภาพสวยงาม มีตึกสูงใหญ่ ศิวิไลซ์
และเป็นจุดเริ่มต้นของการพังครืนของภูเขาลูกใหญ่ในวันต่อมา”

ป่า, Deep Ecology ป่า, Deep Ecology

สัปดาห์ที่ 2  ดร.แมนดี้ นักนิเวศวิทยา พาเรามาดูระบบนิเวศผ่านมุมมองของวิทยาศาสตร์ โดยการพาไปทำปุ๋ย สังเกตความเปลี่ยนแปลงและการทำงานของจุลินทรีย์ การไปดูราและไลเคนที่เกาะตามต้นไม้ ดร.แมนดี้ บอกว่า บางทีวิทยาศาสตร์จดจ่อแต่กับอะไรอย่างเดียวจนละเลยความหลากหลาย และที่มากไปกว่านั้นคือ ความอยากรู้อยากเห็นเข้าไปรบกวนระบบ นักวิทยาศาสตร์ควรอนุญาตให้ตัวเองเลิกสงสัย เลิกหาเหตุผลบ้าง เลิกรบกวน ปล่อยให้ธรรมชาติมันอยู่ด้วยตัวของมันเองบ้าง

ดร.แมนดี้ เคยสอนที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา 6 ปี แล้วตัดสินใจลาออก เขาพูดถึงระบบการศึกษาที่มีอัตราเร่งการเรียนรู้ที่สูง การสร้างการแข่งขัน การพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์มากมาย และมายาคติเรื่องความสำเร็จ ทำให้เราไม่มีเวลาสังเกตการณ์ทำงานของระบบนิเวศอย่างเพียงพอ หรือการสังเกตเฉยๆ โดยที่ไม่ต้องพยายามทำความเข้าใจ ปลดปล่อยความความอยากรู้เห็นบ้าง แล้ววันหนึ่งเราจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างเอง อย่างน้อยๆ ก็สังเกตเห็นตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของของระบบนิเวศนั้นได้รับการดูแลทุกๆ วัน

“ฉันไม่ได้มีความสุขมากกับการสอนในระบบที่ต้องแข่งขันอย่างบ้าคลั่ง และได้เรียนรู้ว่าการใช้วิทยาศาสตร์ที่สุดขั้วก็สร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศมากมายได้เช่นกัน วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ดีก็ได้ต่อเมื่อเราใช้หัวใจ”

เราเดินเข้าป่าใกล้ๆ หมู่บ้านเพื่อสังเกตลักษณะทางกายภาพของพืชตั้งแต่เล็กที่เรามองไม่เห็น ไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ สีสัน ขณะที่แมนดี้กำลังเล่าอะไรให้พวกเราฟัง มีโชคก็เห่าเสียงดัง ผมเดินไปดูใกล้ๆ มันกำลังเผชิญหน้ากับงูเห่าตัวหนึ่ง ยาวประมาณ 1 เมตรกว่าๆ มันแผ่แม่เบี้ยที่เมื่อโดนแสงแดดส่องทะลุก็เห็นลวดลายซึ่งดูน่าเกรงขาม มีโชคเผชิญหน้ากับมันครู่ใหญ่ มันไล่ล่าจนงูเห่าล่าถอยหายไป ผมกังวลว่าหมา 2 ขวบของผมจะถูกงูเห่าฉกตาย แต่สักพักมันก็กลับมาพร้อมกับรอยเลือดบนตัวของมัน ผมตรวจดูจนแน่ใจว่ามันไม่ได้โดนกัด แต่มันอาจจะกัดงูเห่าบาดเจ็บหรือตายไปแล้วก็ได้

ป่าบริเวณนี้เป็นป่าใช้สอยที่ผู้คนจะเข้ามาหาฟืน ตัดไม้ไปสร้างบ้าน แต่ก็ยังมีไก่ป่า หนูเหยี่ยว นก อยู่พอสมควร การเจองูเห่าก็ยิ่งทำให้เราได้มั่นใจว่าห่วงโซ่อาหารตรงนี้ยังทำงานต่อไปได้

แมนดี้ชี้เมล็ดของมอสให้เราดู มันมีขนาดเล็กมากจนเราอาจจะคิดว่ามันคือฝุ่น เมล็ดพวกนี้ซุกตัวอยู่กับต้นแม่และรอเวลาเติบโต ถ้ามันไม่มีต้นไม้ให้เกาะมันก็จะต้องอยู่บนดิน ถ้าไม้มีต้นไม้ ไม่มีดิน เราก็จะไม่ได้เห็นมันอีกเลย ชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาระบบนิเวศ การปกป้อง รักษา วิถีชีวิตของชุมชนหรือแบบแผนอะไรหลายอย่างควรได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างที่ใหญ่กว่าการสนับสนุนที่ง่ายและทำได้เลย อาจจะต้องกลับไปฟังสิ่งที่แมนดี้เล่าให้เราฟังคือ สังเกตและอนุญาตให้ชุมชนมีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดทิศทางในการจัดการทรัพยากร ควบคู่กับการจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ผู้ใหญ่ ที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนที่สุด

ป่า, Deep Ecology ป่า, Deep Ecology

 

Vision Quest แสวงหาปัญญาธรรมชาติ

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น คนหนุ่มสาวอินเดียนแดงจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตในป่า ซึ่งเป็นโอกาสในการบ่มเพาะให้ตัวเองให้มีทักษะในการดำรงชีวิตในป่า การเข้าใจจังหวะและภาษาของธรรมชาติ อีกทั้งเป็นการบ่มเพาะความมั่นคงภายในก่อนกลับออกมาใช้ชีวิตตามปกติ

ก่อนเข้าป่า พี่นัฐ-ณัฐรส วังวิญญู ชวนพวกเรานึกถึงเป้าหมายในชีวิตที่เราอยากเห็น อยากให้มันเกิดขึ้น ก่อนเราจะเดินทางเข้าป่าที่สูงระดับ 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล เราเข้าป่าและแยกย้ายตามจุดที่เรารู้สึกพอใจ

ทันทีที่เต็นท์ถูกกาง เพียงคืนแรกลมเริ่มพัดและฝนก็ตั้งเค้า ก่อนจะกระหน่ำหนักในคืนที่ 2 การก่อไฟเป็นไปอย่างยากลำบากสำหรับพวกเราหลายคน มิหนำซ้ำความหิวก็เข้ามาทักทายคุยกับเราเป็นระยะๆ ให้ขำเล่นๆ ว่าเรามาทำอะไรที่นี่

แต่มีอะไรดีๆ มากมายให้เห็นและชื่นชม เช่นตอนกลางคืนถ้าเราลองปิดไฟฉายแล้วจ้องบนพื้น สักพักหนึ่งเราจะเริ่มเห็นแสงจากใบไม้บนพื้นที่เรืองแสงกระจายตามพื้น ซึ่งตอนเช้าเราจะพบว่าใบไม้เหล่านี้มีราเกาะและกำลังผุพังกลายเป็นปุ๋ย ผมแอบคิดในใจว่าการตายเป็นแสงสว่างชนิดหนึ่งรึเปล่า

ป่า, Deep Ecology

ต้นไม้ใหญ่สูงตระหง่านมีเถาวัลย์ไต่ขึ้นไปหาดอกกล้วยไม้สีขาวที่กำลังบานเพลินตา ถ้าโชคดีมากก็จะได้เห็นนกยูง หรือไก่ป่า นกเล็กบินโฉบไปมา ลมพัดใบไม้บนยอดสูง โล้ไปมาทักทายกันและมีเมฆขาวสะอาดรูปร่างแปลกๆ บนฟ้าให้เราได้จินตนาการเล่น บางทีนี่คือโอกาสที่เราจะอนุญาตให้เราได้กลับไปเป็นเด็กตัวน้อยๆ ที่ปล่อยวางพันธนาการของผู้ใหญ่ลงชั่วคราว ก็ไม่เลวนะ

ท้องร้องจิกๆ เหลือบไปเห็นกล้วยป่าและบอแคฆ่อก็กระตุ้นต่อมน้ำลายให้ทำงาน ความหิวทำให้เราจินตนาการถึงอาหารจานต่างๆ อย่างเอร็ดอร่อย เผลอๆ เราอาจมีเมนูใหม่ให้เราได้ลองทำหลังจากกลับออกมา

ป่า, Deep Ecology ป่า, Deep Ecology

ตอนเย็นของวันที่ 3 ฝนเริ่มซา เสียงนกมากมายชวนเข้าบ้านหลังกลับมาจากการออกไปหาอาหาร ไก่ป่าร้องเรียกหากัน นกโพระดกเจาะไม้เสียงดังก้องป่า มีแสงดาวลอดผ่านใบไม้ลงมาทักทายให้เราคลายใจ วางใจ ลมฝนที่มาทดสอบทักษะและสมรรถภาพของเต็นท์

การพาตัวเองเข้าไปอดอาหาร 3 วัน 3 คืนในป่า เข้าไปเผชิญหน้ากับความเงียบหรือเสียงที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้เราหวั่น เส้นทางแปลกๆ การอยู่คนเดียวลำพังและพูดคุยกับความหิว เป็นขั้นตอนในการเจียระไนตัวเอง

เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่เราสามารถมอบให้ตัวเอง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เพิ่มพลังชีวิตให้เราอย่างดี เป็นพลังซื่อๆ ที่ไม่ต้องการได้รับการอธิบาย แต่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เราจึงควรโค้งคำนับงามๆ ให้กับธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงๆ

กลับออกมาจากป่า อาหารที่เราโหยหาก็อยู่ตรงหน้า จะรออะไรล่ะครับ ชื่นชม รู้สึกกับมันให้เต็มที่ ก่อนกลับมาอยู่ในโลกความเป็นจริงใบเดิมที่เราต้องเรียนรู้การมีความรู้สึกต่อธรรมชาติต่อไป จนกว่าขวัญจะกลับมาอยู่กับเราทุกๆ คน

ป่า, Deep Ecology

“ฟังเสียงผู้เฒ่าอีกครั้ง
แต่ก่อนยังไม่มีอะไร
มีเพียงสายลม กับสายฟ้า
กำเนิดเกิดน้ำหมุนวน
บ่มเพาะหนทาง สู่การไหลไปสู่ทาง
ทางของธรรมชาติ
ถ้าทางได้รับการดู
จะมีทางให้เราเดินต่อ”

ต่าบลึ๊ โดะมะ-ขอบคุณมากมาย

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้กับ Awakening Leadership Training ALT ภายใต้สถาบัน INEB ดูรายละเอียดได้ที่นี่

ป่า, Deep Ecology

ภาพ : โอชิ จ่อวาลู

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง