3 กุมภาพันธ์ 2020
3 K

สาเหตุ

“คุณลองดูดินที่นี่สิ มันไม่มีความชื้นใดๆ เลย” เดวิด สติมสัน (David Stimson) เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงซึ่งทำงานนี้มาหลายสิบปีบอกกับพวกเรา พลางเอามือกอบไปที่ดินแห้งๆ บนพื้น 

“รัฐนิวเซาท์เวลส์ผจญกับภาวะแล้งรุนแรงมานานกว่าสามปี หลายพื้นที่ฝนไม่ตกเลยมาเป็นปีแล้ว ทีนี้พอเจอภาวะอากาศที่แห้ง ต้นไม้แห้ง ใบไม้แห้งร่วงเต็มพื้น และลมพัดแรง ทำให้แค่มีประกายไฟเพียงนิดเดียว มันก็กลายเป็นทะเลเพลิงในทันที” 

ไฟป่า, ออสเตรเลีย
ไฟป่า, ออสเตรเลีย

สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้น คือไฟป่าสร้างสภาวะแวดล้อมที่ทำให้เกิดไฟป่าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อควันจากไฟป่า ลอยตัวสูงขึ้นปะทะอากาศเย็น จะก่อตัวเมฆฟ้าคะนอง (Pyrocumulonimbus) ซึ่งทำให้เกิดฟ้าฝ่าที่รุนแรง ก่อกองไฟใหม่และขยายตัวอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ฟ้าคะนองจึงมิใช่ข่าวดีสำหรับนักผจญเพลิงเสมอไป เพราะต้นเหตุของไฟป่าส่วนใหญ่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์คือฟ้าผ่า 

(2 ปีที่ผ่านมารัฐนิวเซาท์เวลส์มีปริมาณฝนตกเฉลี่ย 125 มม. ต่อปี ขณะที่ไทยมีปริมาณมาณฝนเฉลี่ยปีละ 1,572. มม. อุณหภูมิในออสเตรเลียบางพื้นที่สูงถึง 49 องศาเซลเซียส)

หนักหนาแค่ไหน

  1 แสนตารางกิโลเมตร คือพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้โดยไฟป่า เทียบได้กับ 1 ใน 5 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด โดยเผาไหม้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดเป็นเวลากว่า 130 วัน หรือมากกว่า 4 เดือน มีจุดที่เกิดไฟไหม้มากกว่า 10,500 จุด บ้านเรือนเสียหายกว่า 2,000 หลัง มีผู้เสียชีวิต 27 คน หลายคนในนั้นเป็นนักผจญเพลิง จากการขับรถไปยังพื้นที่ต่างๆ หลายพันกิโลเมตรในช่วงไม่กี่เดือน ตลอดเส้นทางเราพบความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนไม่เฉพาะในพื้นที่ป่า แม้แต่ต้นไม้ข้างทางยังมอดไหม้ บางที่มีไฟลุก และเจ้าหน้าที่กำลังควบคุมอยู่

ไฟป่า, ออสเตรเลีย
ไฟป่า, ออสเตรเลีย

อาสาสมัครนักผจญเพลิง

การดับไฟป่าที่มีความรุนแรงระดับสูงสุด (ที่ออสเตรเลียเรียกว่า ‘ระดับหายนะ’ หรือ Catastrophic) เป็นงานที่หนักหนาสาหัส นักผจญเพลิงของออสเตรเลีย 99 เปอร์เซ็นต์เป็น ‘อาสาสมัคร’ ซึ่งมีอยู่ราว 74,000 คน นับเป็นอาสาสมัครผจญเพลิงที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก รวมถึง เชน ฟิตซ์ซิมมอนส์ (Shane Fitzsimmons) ผู้บัญชาการของสำนักป้องกันไฟของรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นอาสาสมัครที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากต่างรัฐ และต่างประเทศมากที่สุด อย่างสหรัฐอเมริกา มีนักบินเสียชีวิต 3 คน นิวซีแลนด์และแคนาดา อาสาสมัครผจญเพลิงได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีออสเตรเลียจึงประกาศจ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้จากปกติ 

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย
ไฟป่า, ออสเตรเลีย

จากที่เราเดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัยไฟป่าต่างๆ เราได้พบกับอาสาสมัครในวัยที่ต่างกัน ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงระดับคุณตา แม้งานหนัก แต่ทุกคนกำลังใจดีมากๆ พูดคุยกับพวกเราอย่างยิ้มแย้ม เวลาถูกถ่ายภาพก็ล้อกันเองว่า “ดังแล้วๆ เดี๋ยวรูปพวกเราจะไปถึงเมืองไทย” แต่สังเกตได้ว่าสิ่งที่แฝงอยู่ในการหัวเราะเฮฮานั่นคือ ‘ความจริงจังและภาคภูมิใจ’ ฉายในแววตาทุกคนที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย และความเป็นอาสาสมัครจากในพื้นที่ ทำให้รู้จักมักคุ้นกับคนในพื้นที่อย่างดี การทำงานจึงเป็นเหมือนการช่วยเพื่อนบ้าน พี่ ป้า น้าลุง ที่เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เมื่อขับรถไปตามถนน จะเห็นชาวบ้านทำป้ายขอบคุณนักผจญเพลิงติดตามรั้วบ้าน ข้างทาง แม้กระทั่งที่โรงโอเปร่าเฮาส์ก็มีการฉายภาพ ‘Thank you, Firies’ ซึ่งแปลว่า ขอบคุณนักผจญเพลิง (ไม่ได้แปลว่าขอบคุณไฟนะครับ)

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

คนไทยกับไฟป่า

พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากไฟป่าส่วนใหญ่อยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีคนไทยอยู่อาศัยมากที่สุดในออสเตรเลีย คาดว่า ราว 50,000 คน ซึ่งคนไทยไม่ได้อยู่เฉพาะในนครซิดนีย์ แต่กระจายตัวอยู่หลายเมือง หลายคนมีครอบครัวอยู่ในพื้นที่ป่าที่ห่างไกล ซึ่งมีความเสี่ยงต่อไฟป่าสูงมาก

ในเมืองลิสมอร์ ซึ่งห่างจากซิดนีย์ไปทางเหนือราว 700 กม. เป็นพื้นที่แรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าและเป็นคนไทยกลุ่มแรกๆ ที่เราได้ยินชื่อเกี่ยวกับไฟป่าตั้งแต่พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 คุณเหมียวกับเพื่อนๆ ช่วยกันทำอาหารเพื่อนำไปให้จุดรับบริจาคและศูนย์ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่ละคนดูดีใจมากที่ได้ทานอาหารไทย

วัดพุทธธรรม เป็นวัดป่านานาชาติ (ห่างจากซิดนีย์ 75 กม.) มีพระไทย 2 รูป พระต่างชาติอีก 3 รูป วัดตั้งอยู่บนเนินเขา ในเขตอุทยานในเมือง Wiseman Ferry (ตั้งก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยาน) พระท่านเล่าว่า หลังจากที่เฝ้าดูไฟใกล้เข้ามาทุกวัน กลางดึกคืนหนึ่งในเดือนธันวาคม มีเฮลิคอปเตอร์มาลงและเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทุกคนรีบออกจากวัด พระและคนไทยในวัดจึงขับรถฝ่าไฟออกมา

หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น พระได้กลับเข้าวัด และพวกเราเดินทางไปในวันรุ่งขึ้น โดยออกรถตั้งแต่เช้า เอารถขึ้นเรือข้ามแม่น้ำ ขับขึ้นเขาไป เรารู้สึกเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ต้นไม้ตามทางไหม้เป็นสีดำเหมือนถ่านที่เราเผาในเตา มีขี้เถ้าสีเทาคลุมพื้นไปทั่ว บางแห่งมีต้นไม้ล้มขวางทาง และยังมีต้นไม้ที่ไฟคุกกรุ่นอยู่ข้างใน ซึ่งอาจโค่นลงได้ตลอด

เราเดินสำรวจบริเวณวัดกับพระ มีกุฎิพระสงฆ์เสียหาย 3 หลัง แต่อาคารที่เหลือทั้งหมดยังอยู่ดี รวมทั้งต้นโพธิ์จากศรีลังกา แม้ป่ารอบบริเวณจะไหม้เกือบหมด พระอาจารย์เขมวโร เจ้าอาวาสชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม ท่านพูดถึงเรื่องนี้ว่า “มันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันก็เป็นของมันอย่างนี้แหละ อะไรพังลงก็สร้างใหม่ การปฏิบัติธรรมนั้น ถึงแม้จะไม่มีอาคารเหล่านี้ เราก็ปฏิบัติธรรมต่อไปได้ เรื่องนี้หาเป็นอุปสรรคไม่”

เราเดินทางไปวัดป่าสุญญตาราม เมืองบันดานูน (ห่างจากซิดนีย์ 150 กม.) 2 ครั้ง ครั้งแรกวัดยังไม่ได้ถูกไฟไหม้ แต่พระสงฆ์อพยพมาอยู่กับคุณคิม พุทธศาสนิกชนชาวออสเตรเลีย เราได้ไปเยี่ยมเยียนหน่วยดับเพลิงในเมือง พอเราเสนอว่าจะนำหมอนวดอาสามานวดให้อาสาสมัครผจญเพลิง เขาตื่นเต้นกันมาก บอกว่า “เพิ่งจะพูดกันเมื่อกี้เลย เหมือนสวรรค์ตอบคำขอเขา”

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

ต่อมาพระมานะ ท่านเจ้าอาวาส ก็จัดให้หมอนวดในพื้นที่นวดให้นักผจญเพลิง เขาดีใจสุดๆ แต่ไม่กี่วันถัดมา บางส่วนของวัดได้ถูกไฟไหม้จนได้ และในระหว่างที่พวกเราไปเยี่ยมครั้งที่สอง ขณะที่คุยกับเจ้าอาวาส พระท่านหนึ่งรีบมาบอกว่า เพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ชายป่าหลังวัด เจ้าอาวาสและพระลูกวัดรวมทั้งเราก็ใส่หมวก สวมถุงมือ วิ่งขึ้นรถฉีดน้ำ ซึ่งวัดเตรียมไว้พร้อม ฝ่าต้นไม้ไปที่ชายป่า พวกเราช่วยกันฉีดน้ำสกัดไฟ ซึ่งตอนนั้นรู้สึกได้ถึงความร้อนทั้งจากไฟที่ลุกไหม้อยู่ข้างหน้า ควันไฟที่เข้าตาจนแสบ และรองเท้าที่กำลังละลายจากความร้อนบนพื้น จนกระทั่งหน่วยดับเพลิงมาถึงและสกัดไฟได้ในที่สุด นักดับเพลิงกลุ่มนี้แหละที่พวกเราไปนวดให้ “เขาทำหน้าที่ เราก็มีน้ำใจต่อเขา เราช่วยกัน” ท่านมานะว่า 

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

วัดยังเป็นที่พักพิงของสัตว์ต่างๆ ในบริเวณนั้น ทั้งจิงโจ้น้อย และ ‘เจ้าบุญมี’ วอมแบตตัวอ้วนที่มาหลบภัยอาศัยกินแครอตในวัด
เราเดินทาง 330 กม. ไปที่เมือง Nelligen ได้พูดคุยกับ คุณปู-รัชนีวดี เซน หญิงไทยตัวเล็ก ใจแกร่ง ต่อสู้ปกป้องบ้านในป่า คุณปูเล่าให้ฟังว่า เมื่อไฟใกล้เข้ามา มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า ถ้าไม่หนีเจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาช่วยไม่ได้แล้ว เพราะไฟจะปิดทาง แต่ครอบครัวคุณปูก็ขออยู่สู้ไฟ ไม่หนีไปไหน

คืนหนึ่งไฟป่ามาใกล้มากๆ จนได้ยินเสียงไฟโหมกระพือ คุณปูฟังไปร้องไห้ไป นอนไม่หลับ โชคดีที่สามีชาวออสเตรเลียเป็นช่างวางท่อประปาและตอนเด็กๆ เคยมีประสบการณ์สู้ไฟป่า จึงดูสบายใจกว่ามาก บ้านคุณปูมีห้องหลบภัยไฟป่า มีเครื่องปั่นไฟ มีเครื่องสูบน้ำที่วางท่อในห้องกันไฟ

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

คุณปูเล่าว่า ตอนไฟมารู้สึกร้อนเหมือนยืนหน้าเตาอบ แต่ก็เดินฉีดน้ำไปรอบๆ บ้าน ขณะที่คุณสามีก็ไปช่วยเพื่อนบ้านดับไฟ จนกระทั่งไฟรอบๆ บ้านมอดลงในที่สุด คุณปูเดินพาไปดูรอบๆ บ้าน ชี้ให้ดูแปลงผักสวนครัวด้านหลังที่ยังเขียวสมบูรณ์ คุณปูบอกว่า “รักที่นี่มาก” ตอนมาใหม่ๆ ชอบที่มีพื้นที่เขียวสมบูรณ์ น่าอยู่ จึงต้องต่อสู้ปกป้องเต็มที่ และต่อไปธรรมชาติคงจะกลับมาเหมือนเดิม

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

คุณปูไม่ได้ห่วงเฉพาะตัวเอง ยังไปทำงานช่วยเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าของร้านคาเฟ่ใกล้บ้าน เปิดศูนย์รับบริจาคและกระจายสิ่งของจำเป็นให้คนในเมือง เจ้าของคาเฟ่บอกว่า การรับของจากศูนย์ใหญ่บางครั้งมาถึงช้า ก็ต้องช่วยกันไปก่อน และขอบคุณของที่พวกเราและผู้คนที่เอาไปช่วยเขาตามรายการที่แจ้งไว้ และทิ้งท้ายว่า “เมืองนี้สวยนะ อยู่ใกล้แม่น้ำ ไว้สถานการณ์ดีขึ้นชวนให้มาเที่ยว จะได้ช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย”

คุณหนึ่ง นักธุรกิจไทยในซิดนีย์ เห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากต้องการบริจาคของให้ผู้ประสบภัย จึงเสนอนำรถบรรทุกของตัวเองมาจอดรอรับบริจาคที่ไทยทาวน์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนไทยรู้จักดี เราได้พูดคุยกับคุณหนึ่ง บอกว่าคนมารับบริจาคเยอะมาก จนต้องเพิ่มรถเป็น 2 คัน แถมยังบอกว่าจะขับไปเองตามศูนย์ต่างเมืองซึ่งได้ติดต่อไว้แล้ว รวมๆ คงเป็น 10 ชั่วโมง ผมเห็นเขาจอดตรงที่มีกำหนดเวลา เลยถามว่าแล้วค่าจอดจะยังไงนี่ คุณหนึ่งบอกว่า “ผมก็จ่ายไปเรื่อยๆ ทั้งวันแหละครับ เพราะตรงนี้คนรู้จัก ผมว่าจะขออัตราเหมา” ขอบอกว่าแพงมากๆ ครับ

นอกจากนั้น เรายังได้พบกับคุณแจง ซึ่งทำงานอาสาสมัครของชุมชนมาเป็นเวลานานที่เมือง Batemans Bay (ห่างจากซิดนีย์ 280 กม.) พบคนไทยที่เมือง Bulga Forest ซึ่งต่อสู้ไฟป่าร่วมกับเพื่อนบ้านและชาวไทยทั่วทั้งนิวเซาท์เวลส์ และเมืองอื่นๆ ในออสเตรเลีย รวมทั้งจากเมืองไทย ร่วมกันจัดผ้าป่าสามัคคีกันที่วัดพุทธรังษี เมืองลูเมียห์ เพื่อไปช่วยวัดพุทธธรรมด้วย พระเทพสีลาภรณ์ ท่านเจ้าอาวาส บอกว่า เป็นยอดผ้าป่าที่มากที่สุดที่เคยจัดมา ยังมีเด็กๆ โรงเรียนรุ่งอรุณจากเมืองไทยที่ได้จัดกิจกรรมหาเงินช่วยโรงพยาบาลโคอาล่า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Port Macquarie (ห่างจากซิดนีย์ 385 กม.)

ยังมีคนอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง ที่ช่วยในรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง ส่งกำลังใจมาช่วยด้วย

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

 การบริจาคและความช่วยเหลือ

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย
บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

  ไฟป่าครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ความช่วยเหลือจากทั้งคนในออสเตรเลียและทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามา การบริหารจัดการความช่วยเหลือจึงมีความสำคัญมาก จากการได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รับบริจาคสิ่งของส่วนใหญ่ เห็นว่า จำเป็นที่ต้องให้ผู้บริจาครับทราบถึงสิ่งของที่ต้องการอย่างชัดเจน มิฉะนั้นสิ่งของเหล่านั้นจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ และยังต้องใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีจำกัดในการคัดแยกสิ่งของอีกด้วย จึงต้องมีการติดต่อกับศูนย์รับบริจาคล่วงหน้าและให้บริจาคตามรายการเท่านั้น

ทั้งนี้มีองค์กรต่างๆ เช่น Food Bank ที่มีศูนย์กระจายของถาวรอย่างเป็นระบบขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มิใช่แต่เฉพาะกรณีไฟป่านี้ แต่ปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบภัยพิบัติ มีรายชื่อสิ่งของที่ต้องการในแต่ละครั้งอย่างชัดเจน และหากไม่มีภัยพิบัติใดก็จะนำไปช่วยเหลือคนยากจนหรือคนไร้บ้านด้วย โดยรายการสิ่งของต้องผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ แม้แต่อาหารสัตว์เลี้ยงก็ยังบอกไว้ด้วย ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้นึกถึง

เจ้าหน้าที่ในเมือง Batemans Bay บอกว่า การให้ความช่วยเหลือในออสเตรเลียมีความพิเศษที่เจ้าหน้าที่ต้องใส่ใจ คือความถือเกียรติของคนออสเตรเลีย โดยเฉพาะพวกผู้ชายและคนในต่างจังหวัดที่ทำงานไร่สวน ต้องต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการเพื่อสร้างไร่ขนาดใหญ่ๆ ของตัวเอง ยิ่งไม่คุ้นเคยกับการเดินทางมารับของช่วยเหลือ หรืออายที่จะยื่นมือขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่จึงต้องออกเดินทางไปแจกจ่ายของถึงบ้านและโน้มน้าวให้รับของ 

ธรรมชาติฟื้นคืน ชีวิตใหม่เกิดทดแทน

  รายงานวิจัยและการทดลองจำนวนมากชี้ตรงกันว่า ไฟป่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรแห่งธรรมชาติ เมื่อพืชพรรณถูกเผาจะคืนแร่ธาตุสู่ดิน เมื่อหมดต้นไม้ใหญ่ที่บังแสงแดด แสงแดดก็จะส่องไปยังพื้นดิน เปิดโอกาสให้พืชเติบโตขึ้นอีก ทั้งยังเป็นการกำจัดวัชพืชที่อาจมีมากจนเกินไป นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้พืชพรรณใหม่ๆ เติบโต เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะหากบริเวณเดิมมีแต่พรรณไม้เพียงไม่กี่อย่าง

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

บทสรุป

  ท่ามกลางภัยพิบัติในแต่ละครั้ง ท่ามกลางความเศร้าเสียใจ เราจะได้เห็นความกล้าหาญของมนุษย์ บางคนเป็นแค่คนเล็กๆ ที่มีพลังกล้าแกร่ง เราเห็นความเสียสละโดยไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของตน ไม่ต้องการชื่อเสียง ทำไปตามที่ธรรมชาติในจิตใจบอกกล่าว เห็นความสามัคคีของมวลมุนษย์ให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ 

กว่า 6 ล้านปีมาแล้วที่มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ เราผ่านภัยพิบัติทั้งภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว นับไม่ถ้วน เผ่าพันธ์ุมนุษย์เราอยู่รอดมาได้ ไม่ใช่เพราะสติปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะหลายสิ่งในจิตใจที่ประกอบกัน

บันทึกเรื่องเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและอาสาสมัครดับไฟป่าระดับหายนะที่ออสเตรเลีย

Writer & Photographer

Avatar

จักรกฤดิ กระจายวงศ์

เป็นนักการทูต ลูกครู (ที่เชื่อว่า) งานการทูตไม่ได้เหมือนในละคร แต่เป็นงานที่ต้องออกไปร่วมทุกสุขกับคน เข้าถึงใจคน จึงจะเข้าใจเขา เข้าใจความต้องการเขา จึงทำงานได้ถูกต้อง ผมชอบการเดินทาง และถ่ายภาพ