19 ตุลาคม 2024
1 K

Aura Cherrybag ศิลปินคนนี้ชื่อแปลกดีจัง ขายกระเป๋ารึเปล่า – เราเคยคิดแบบนั้นเมื่อได้ยินชื่อเธอครั้งแรก

ไม่ถูกเสียทีเดียว เธอเคยคิดจะขายกระเป๋าสมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร หากสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ขายแต่อย่างใด 

แต่ถึงอย่างนั้น อะไรบางอย่างก็ทำให้ ออร่า-ศศิพรรณ ศิริพร ใช้ชื่อนี้ทำงานในฐานะศิลปินสื่อผสม หรือ Mixed Media ซึ่งรวมเอาการคอลลาจ การเพนต์ด้วยสีอะคริลิก สีออยล์พาสเทล การสาน และการปักไว้ด้วยกัน

แล้วหลังจากนั้น อะไรบางอย่าง (คราวนี้มาในรูปแบบของแฟนหนุ่มชาวออสซี่) ก็พาให้เธอไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า ณ แทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ต้นปี 2022 ใช้ชีวิตช้า ๆ ปลูกพืชกินเอง ท่ามกลางเพื่อนบ้านเป็นมิตรวัยคุณลุงคุณป้าที่ต่างก็ทำการเกษตรกันเป็นนิสัย

นิทรรศการเดี่ยวของออร่าในครั้งนี้ จัดที่ Xspace Art Gallery ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม – 28 ธันวาคม พ.ศ. 2567 และใช้ชื่อว่า ‘Harvest of Harmony’ โดยเกิดจากการตกผลึกของออร่าหลังจากได้ไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติอยู่พักใหญ่

เธอจะเล่าให้เราฟังว่า นอกจากร่างกายที่แข็งแรง ผักผลไม้ส่งผลอะไรกับตัวตนของเธอในวัยนี้บ้าง

ก่อนมาสู่ชีวิตที่สมใจ

เรามาเยี่ยมออร่าในวันที่นิทรรศการกำลังติดตั้ง หญิงสาวตรงหน้ายิ้มสดใสในเสื้อผ้ามือสองลายน่ารัก ดูเข้ากันได้ดีกับงานสื่อผสมที่แขวนอยู่บนผนัง

“จำความได้ก็ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ถ้าไปดูที่บ้านเก่าจะมีแต่รอยขีดเขียน ออร่าเขียนทุกอย่างในบ้าน เขียนผนัง เขียนตู้รองเท้า” ศิลปินเกริ่นถึงตัวเองในอดีต เธอเริ่มต้นด้วยการใช้สีไม้ จากนั้นแม่ก็เริ่มสนับสนุนโดยส่งไปเรียนศิลปะเด็ก

ถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัย เธอก็เข้าเรียนในสาขาวิชาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการเพนต์โดยเฉพาะ ออร่าเล่าว่า จริง ๆ แล้วเธออยากเรียนออกแบบภายใน ซึ่งอยู่ในคณะเดียวกัน แต่ด้วยสาขานั้นต้องใช้คะแนนด้านวิชาการที่ค่อนข้างสูง เธอจึงมาอยู่สาขาประยุกตศิลปศึกษาแทน 

แต่ถึงอย่างไรความชอบนี้ก็ยังไม่หายไปไหน เพราะเธอเลือกที่จะฝึกงานในตำแหน่งสไตลิสต์ ในนิตยสาร my home และทำงานต่อเมื่อเรียนจบ

เธอชอบตกแต่งบ้านและชอบของจุกจิก งานของเธอก็คือการไปซื้อของ ซื้อดอกไม้ เตรียมพร็อปต่าง ๆ มาเนรมิตให้มุมที่จะถ่ายออกมาสวยที่สุด แต่ทำได้ 2 ปีก็ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านกราฟิกดีไซน์ที่เมลเบิร์น

“เราหนีตัวเองมาตลอด” ออร่าสารภาพ

“ประยุกตศิลปศึกษา เรียนจบมาควรจะเป็นศิลปิน แต่เราคิดว่าเราคงทำไม่ได้หรอก คงเป็นไปไม่ได้ เพื่อนส่วนใหญ่ก็ไปเป็นกราฟิกดีไซเนอร์กันบ้าง เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์บ้าง เราก็เลยเลือกเรียนกราฟิกดีไซน์เพราะคิดว่าจะมีงานทำ แต่ก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น”

แต่โชคชะตาก็ดูจะรักเธออยู่ เพราะในคอร์สมี ‘วิชาคอลลาจ’ อยู่ในนั้นด้วย เมื่อออร่าได้ลองคอลลาจครั้งแรกก็หลงรักทันที และลองทำคอลลาจให้เป็นที่ระลึกกับเพื่อนฝรั่งหลังจากนั้นไม่นาน

“จริง ๆ คอลลาจคือการตัดแปะอย่างเดียว แต่ตอนนั้นออร่าทำงานคอลลาจเป็นพอร์เทรตเพื่อน มันก็ยากเหมือนกันที่จะหาสิ่งที่เราคิดในหัวแล้วคอลลาจออกมา ออร่าเลยเพนต์ผสมไปด้วย เลยจัดอยู่ในงานสื่อผสม” และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์หวานชื่นระหว่างเธอกับงานประเภทนี้

สิ่งที่เรารัก จะค่อย ๆ ตามหาเราเจอเสมอ

ออร่ามาเริ่มต้นชีวิตศิลปินจริง ๆ ก็เมื่อกลับบ้าน

เธอมาถึงประเทศไทยพร้อมกับเซตภาพเมลเบิร์นที่ถ่ายเก็บไว้ และเริ่มลงมือทำงานจากภาพพวกนั้นออกมาเป็นผลงานเล็ก ๆ ขนาด A4 แล้วโพสต์ให้เพื่อน ๆ ดูในอินสตาแกรม ซึ่งงานกุ๊กกิ๊กตามแบบฉบับของออร่าก็ถูกใจเพื่อน จนโดนยุให้เปิดเพจ Aura Cherrybag ไว้อวดงานสื่อผสมอย่างจริงจัง

P. Library ที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นผู้ที่เห็นแววในงานของออร่าคนแรก และชักชวนให้ทำหนังสือภาพ

หลังจากนั้นออร่าจึงมีหนังสือภาพที่ชื่อว่า good days เปิดตัวในงาน Bangkok Art Book Fair 2019 ต่อด้วยจัดแสดงนิทรรศการที่ YELO House 

แล้วเธอก็กลายเป็นศิลปินสายนี้เต็มตัว

ยากไหมกว่าจะหาแนวทางของตัวเองเจอ – เราถามเธอ

“อืม” เธอนิ่งคิด “ออร่าว่ามันค่อย ๆ มานะ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องเป็นสไตล์นี้หรือต้องบังคับทิศทาง แต่มันออกมาเอง ไม่เคยคิดเลยว่าจะมาเป็นศิลปินหรือนักวาดภาพประกอบ เราไม่กล้ายืนหยัดในสิ่งที่อยากทำด้วยซ้ำ”

คิดไหมว่าจะต้องทำแนวที่ขายได้ – เราถามต่อ

“ไม่ได้มองเรื่องขายได้ขนาดนั้น อย่างช่วงหลังกระแส Art Toy มาแรงในบ้านเรา เราก็คิดว่าถ้าให้เป็นในสิ่งที่ไม่ใช่เรา ออร่าก็ทำออกมาได้ไม่เต็มความรู้สึกเหมือนกันค่ะ

“เราเป็นตัวของเราในปัจจุบัน แล้วโตไปในแบบของเราดีกว่า”

ในเรื่องเทคนิคการทำงานศิลปะ เธอก็ปล่อยให้สิ่งรอบตัวค่อย ๆ มาเช่นเดียวกัน

อย่างการสาน เธอได้มาจากตอนที่ไป ‘ปาร์ตี้สวนแพร์’ ที่แทสเมเนีย แล้วดึงพืชชนิดหนึ่งที่แข็ง ๆ ยาว ๆ ออกให้พ้นทาง เพื่อจะได้นั่งได้ ผลสุดท้ายก็ลงเอยที่เธอลองนำพืชชนิดนั้นมาสานอย่างเมามัน 3 ชั่วโมงเต็ม กลายเป็นโมเมนต์ที่สนุกมาก ๆ ของออร่า และนำมาใช้ในงานจนถึงตอนนี้

การปักก็เป็นอีกอย่างที่เธอทดลอง เธอมองว่าการปักขึ้นลงเป็นแพตเทิร์นเดิม ๆ ทำให้เธอช้าลง และ Appreciate กับสิ่งตรงหน้ามากขึ้น เวลาปักไส้เดือนอย่างเชื่องช้าก็ทำให้ได้นึกถึงความน่าทึ่งของไส้เดือนที่ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์และช่วยให้พืชงอกงามไปด้วย

แน่นอนว่าดีเทลเล็ก ๆ แบบนี้ ดูไกล ๆ ไม่มีทางมองเห็น แม้แต่โพสต์ลงออนไลน์ก็จากจะสังเกต แต่เธอสนใจอยากให้ผู้คนมาชมงานจริงมากกว่า และเธอก็ทำไปเพื่อความสนุกในการทำงานของตัวเองด้วย

“สิ่งสำคัญคือเราที่คอนเนกต์กับงาน ณ ตอนนั้น มันทำให้เรายังมีแรงบันดาลใจและทำงานได้อยู่”

ชิ้นงานจากจิตวิญญาณของแทสเมเนีย

พี่โจ แฟนของออร่าเป็นคนแทสเมเนียโดยกำเนิด บ้านเกิดของเขาอยู่ในเมือง แต่เมือง Hobart ที่คู่รักไปอยู่ด้วยกันมีลักษณะเป็นป่า

เริ่มจากที่ออร่าเคยไป House Sitting ให้บ้านคุณลุงคนหนึ่ง (หมายถึงเราไปเฝ้าบ้านให้คนที่จะไม่อยู่หลายเดือน) พอถึงคราวจะหาบ้านอยู่เองบ้าง บ้านข้าง ๆ ของลุงก็ว่างพอดี พวกเขาจึงมาเป็นเพื่อนบ้านกันนับจากนั้น

แม้ว่าจะชอบธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เธอก็ต้องปรับตัวไม่น้อยที่จะอยู่ที่นั่นได้ นอกจากทำงานศิลปะ เธอต้องใช้เวลาไปกับการรองน้ำฝนใช้ ตัดฟืน ปลูกผัก โชคดีที่มีคุณลุงและผู้คนในละแวกบ้านคอยสอน

“ปลูกเยอะมากค่ะ ซูกินี แคร์รอต พาร์สนิป กะหล่ำปลี บ๊อกฉ่อย มะเขือเทศ มันฝรั่ง ถั่วต่าง ๆ พืชหัวต่าง ๆ ทุกวันพุธคนในชุมชนก็จะมาตั้งแผงขายผักกัน ออร่าก็ไปจอยลุง ๆ ป้า ๆ ไปช่วยเขาแพ็กบ้าง แล้วทำอาหารกินด้วยกันตอนเที่ยง” เธอเล่าบรรยากาศ พร้อมบอกว่าตัวเองเด็กที่สุดในชุมชนนั้นแล้ว

ทุกวันนี้อาหารการกินของออร่าเปลี่ยนไป พอได้ปลูกผักก็ได้กินผักทุกวัน กินเนื้อสัตว์น้อยลง เหลือแต่ปลา-กุ้งเป็นครั้งคราว ได้เริ่มเล่นโยคะจริงจัง และได้อยู่กับตัวเองจนตกตะกอนหลายอย่างในชีวิต

นิทรรศการ Harvest of Harmony นี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผักผลไม้และชีวิตในแทสเมเนีย

ในสีสันสดใสของชิ้นงาน สิ่งที่ออร่าซ่อนไว้ก็คือเรื่องราวของการยอมรับตัวเอง ความรู้สึกเชื่องช้าลง และการเห็นความสำคัญของสิ่งที่มองไม่เห็น 

“ส่วนชื่อนิทรรศการ หมายถึงการที่ทุกอย่างต้องใช้ความสมดุล ไม่ใช่ว่ารดน้ำทุกวันหรือจะต้องปลูกผักบนแปลงถึงจะเจริญงอกงาม มันอยู่ที่บาลานซ์และการรู้จักสภาพแวดล้อม”

01 Snow pe(a)sana และ Pe(a)sana

Snow pe(a)sana

ภาพแรกที่ออร่าเล่าถึง คือภาพของ Snow Pea และผู้หญิงที่กำลังเล่นโยคะ

หลายคนมักมองว่าโยคะเจ๋งที่ท่าโพสสวย ๆ ไม่ว่าจะท่าฉีกขา หรือการทำ Head Stand แต่สำหรับเธอ แก่นที่แท้จริงของโยคะนั้นอยู่ข้างในของผู้เล่นโยคะที่ได้อยู่กับตัวเองในปัจจุบันและฟังเสียงร่างกายของตัวเองมากกว่า

เหมือนกันกับ Snow Pea แม้ถั่วจะมีรูปทรงน่าสนใจ แต่แก่นจริง ๆ ของถั่วคือเมล็ดด้านในที่มีความหวานอยู่ในนั้น และหากรอให้แห้งก็นำส่วนนี้ไปปลูกต่อได้

ตั้งแต่ย้ายมาอยู่แทสเมเนีย เธอก็ใช้เวลาไปกับโยคะและ Snow Pea อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และพบจุดร่วมของ 2 อย่างที่ดูแยกขาดจากกันนี้

Pe(a)sana

02 Carrots flourish in underground conditions และ Growing peaceful pink eyes

Carrots flourish in underground conditions

พืชหัวทั้งหลายต่างมีความแข็งแรงโดยธรรมชาติ เมื่อสุกแล้วก็อยู่ได้นานกว่าพืชผักทั่วไป ออร่าคิดว่าน่าจะมี ‘พลังที่มองไม่เห็น’ บางอย่างที่ซ่อนอยู่ระหว่างที่พืชหัวเหล่านี้เติบโต

ทำไมถึงมีแคร์รอตนอนขวางอยู่ในดินด้วย – เราถาม

“เหมือนว่าเราไม่รู้ว่าข้างในเติบโตยังไง แค่รู้สึกว่าบางทีอาจจะขวางก็ได้ ซึ่งมันไม่ได้ขวางหรอก” ออร่าตอบด้วยรอยยิ้ม “แต่อาจจะขวางก็ได้ ถูกมั้ย”

มองไปทางขวาของภาพก็จะพบงานสานและงานปัก มีทั้งส่วนต่าง ๆ ของแคร์รอต อย่างดอกแคร์รอต และองค์ประกอบที่ทำให้แคร์รอตเติบโตขึ้นมา เช่น ดิน ไส้เดือน สีสันของธรรมชาติ สีของแสง สีของท้องฟ้า

สำหรับเรา เมื่อเธอทำให้ทั้งหมดดู Abstract มากกว่า Realistic ก็ทำให้รู้สึกถึงพลังที่มองไม่เห็นที่ว่าอย่างง่ายดาย

Growing peaceful pink eyes

นี่ก็เป็นอีกภาพที่ออร่าเลือก เพราะอยากเล่าให้ฟังว่าที่แทสเมเนียมีมันฝรั่งมากมายหลายชนิด เธอมองว่าที่นั่นมีการเพาะปลูกที่แปลกประหลาด ด้วยความเป็นพื้นที่ที่อากาศแปรปรวนมาก จึงเห็นได้ทั้งพืชเขตร้อนและพืชเขตฝนตกชุก แม้จะขับรถออกไปแค่ 5 กิโลเมตร

ส่วนที่บ้านของออร่าปลูก Pink Eye Potato กัน

03 Working bees in a tomato hot house, Pollen Collection และชุดภาพ Seen throught the eyes of bees and me

Working bees in a tomato hot house

ออร่ากับ Hothouse ของเธอ

ออร่าปลูกมะเขือเทศใน Hothouse ซึ่งแม้จะช่วยเรื่องการเก็บอุณหภูมิ ไม่ต้องให้มะเขือเทศเผชิญกับความเย็นของแทสเมเนีย แต่ข้อเสียคือผึ้งมาผสมเกสรไม่ได้

เมื่อการใช้แปรงปัดให้เกสรผสมกันไม่ได้เวิร์กเหมือนอย่างผึ้งทำ ออร่าจึงตัดสินใจร่วมกับคุณลุงข้างบ้านว่าจะปล่อยผึ้งที่คุณลุงเลี้ยงเข้าไปใน Hothouse

จากภาพจะเห็นรูปทรงของ Hothouse และสีสัน เส้นสายต่าง ๆ ที่ศิลปินบอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวของผึ้งที่ปาร์ตี้กันอย่างเมามันโดยที่เธอมองเห็นแค่ภาพเบลอ ๆ ผ่านพลาสติกที่คลุมไว้ ผึ้งก็เป็นอีกหนึ่งพลังที่มองไม่เห็นที่ทำให้พืชผลเติบโต หลังจากฟังเธอเล่าจบ เราก็พบกับภาพโปรดในนิทรรศการทันที

นี่เป็นภาพแรกในนิทรรศการที่ออร่าวาดขึ้นมา นั่นหมายความว่าเธอนึกถึงความอัศจรรย์ของผึ้งก่อนสิ่งอื่นใด

Pollen Collection

ส่วนนี่คือรังผึ้ง โดยปกติแล้วผึ้งจะมีละอองเกสรติดไม้ติดมือกลับรังไปโดยไม่ตั้งใจ ศิลปินจึงตั้งใจสร้างองค์ประกอบของสีสันดอกไม้ขึ้นมาในงานนี้

ชุดภาพ Seen throught the eyes of bees and me

ด้วยความที่สนใจความพิเศษของผึ้งมาก ๆ เธอจึงไปค้นคว้าต่อ พบว่าผึ้งเป็นแมลงที่จำทางเก่งมาก แต่มองไม่เห็นหลาย ๆ สีและเห็นเป็นภาพเบลอ

เธอจึงทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากสายตาของผึ้งผสมสายตาของเธอเอง

03 The weight of abundance

The weight of abundance

ออร่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผัก และฟักทองก็เป็นอีกอย่างที่เธอปลูกไม่สำเร็จ

ทว่ามีอยู่พุธหนึ่งที่คนในพื้นที่นำฟักทองมาขาย มันเป็นฟักทองที่มีรูปทรงน่าสนใจราวกับจะเป็นผีเสื้อ

เธอจำไม่ได้ว่าฟักทองวันนั้นหนักเท่าไหร่ แต่สำหรับเธอ ความหนักของฟักทองไม่ได้หมายถึงตัวเลขบนตราชั่ง แต่เธอนึกถึงน้ำหนักของความอุดุมสมบูรณ์ กว่าฟักทองลูกหนึ่งจะออกมาเป็นแบบนี้ต้องผ่านการดูแล ผ่านลำน้ำ ผ่านสมดุลในการปลูก จนสะสมสารอาหารได้ขนาดนี้

ภาพนี้เกิดขึ้นมาจากการวาดตามแบบ หลังจากที่ผ่าครึ่งฟักทองผสมกับจินตนาการของเธอที่แต่งแต้มลงไป ซึ่งทำให้เห็นถึงพลังที่ซ่อนอยู่และความพิศวงภายใน

แต้มที่อยู่เหนือกึ่งกลางของฟักทอง เราบอกออร่าว่าทำให้นึกถึงจุดกึ่งกลางของลำตัวเวลานั่งสมาธิ ซึ่งอยู่เหนือสะดือ 2 นิ้ว ศิลปินไม่ได้คิดถึงสิ่งนี้ตอนที่วาด แต่เธอก็พบว่ามันประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ชมได้ตีความเองและสนุกสนานไปกับศิลปะของเธอ

เติบโตอย่างเงียบเชียบ แต่มีพลัง

“อยู่ที่นู่นเติบโตในตัวเองเยอะมาก” เธอลากเสียง

ออร่าบอกว่าเธออยู่กับตัวเองเยอะมาก เพราะแฟนต้องออกไปทำงานข้างนอก พร้อมกับชี้ไปที่ชิ้นงาน You always have yourself ที่มีผู้หญิง 2 คนที่แทนตัวเองอยู่ในนั้น

You always have yourself

“ออร่าตัดหลายสิ่งในชีวิตออกไปเยอะมาก อยู่ที่นู่นไม่ได้มีใครเล่นโซเชียลมีเดียขนาดนั้น เมื่อก่อนเป็นคนช้อปปิ้งเยอะก็ซื้อน้อยลงมาก ๆ และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นด้วย อยู่ที่นู่นเราต้องรีไซเคิลอย่างจริงจัง และต้องล้างทุกอย่างให้หมดจดกว่าจะไปทิ้งได้

“งานเราก็ตัดทอนลองไปเยอะเหมือนกัน ตอนนี้ดีเทลในงานเราไม่ได้เยอะยุบยับ หรือปล่อยสเปซไม่เป็นเหมือนแต่ก่อน แต่เรากลับชอบที่เป็นแบบนี้ เราเติบโตขึ้นในอีกแบบหนึ่งแล้ว”

ปัจจุบัน Aura Cherrybag รับงานสารพัด ทำปฏิทินก็มี ทำนิตยสารเด็กก็มี ทำโปสเตอร์ก็มี สลับกันทั้งงานไทยและงานต่างประเทศ แถมยังมีขาที่รับงานกราฟิกดีไซน์ด้วย แต่สิ่งที่เธออยากมุ่งเน้นในช่วงชีวิตนี้มากที่สุด แต่เมื่อก่อนไม่เคยกล้าที่จะทำ ก็คือการเป็นศิลปิน ซึ่งนิทรรศการเดี่ยวในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในเส้นทางของเธอ

“ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันว่ามาถึงตรงนี้ได้ แต่ Behind the Scene เรามีคนซัพพอร์ตเยอะเหมือนกัน คุณพ่อ คุณแม่ แฟน น้องชาย เพื่อน ๆ ก็เป็นกำลังใจที่สำคัญ มีกังวลบ้างแต่ก็ปล่อยมัน เรารู้ว่าเป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน”

ออร่าบอกว่า หลังจากนี้เธอตั้งใจจะพัฒนาในสิ่งที่ทำอยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่หรือเทคนิคที่ไม่เคยทำ และถ้าพูดถึงเนื้อหาของงาน ก็ยังคงอยากเล่าเรื่องราวของธรรมชาติเหมือนเดิม เพิ่มเติมก็คือ ‘สัตว์ป่า’ มากมายที่ป้วนเปี้ยนอยู่ในละแวกบ้าน

บทสนทนาวันนั้นเต็มอิ่มเหมือนกินผักไปหลายกระบุง จากที่ไม่เคยชอบงานประเภทนี้เป็นพิเศษ เราก็กลับบ้านไปอย่างติดใจกับวิธีการเล่าเรื่องด้วยสื่อผสมของเธอที่ใส่ความเป็นนามธรรมลงไปได้ทุกอณู

สิ่งที่ชอบที่สุดในงานคือเมสเซจ ‘พลังที่มองไม่เห็น’ ที่ศิลปินใส่ไว้ในหลาย ๆ งาน

ถ้าถามเราที่นั่งฟังเธอเล่ามาร่วม 1 ชั่วโมง การที่เธอเดินทางมาถึงจุดนี้ของชีวิตได้ เราคิดว่าเธอเองก็มีพลังนั้นไหลเวียนอยู่ในกายเช่นเดียวกัน

Website : auracherrybag.net

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล