อีกเพียง 3 ปี สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ (American University Alumni Association under the royal​ patronage หรือ AUAA) จะก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 100 นับตั้งแต่ที่ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้ทรงริเริ่มไว้ เมื่อครั้งเสด็จเป็นองค์ประธานในงานชุมนุมเลี้ยงอาหารค่ำครั้งแรกของกลุ่มนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2467

ก่อนถึงวันครบรอบสำคัญของสมาคมด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งดำรงอยู่มายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ช่วงต้น พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาฯ เพิ่งต้อนรับอาคารหลังใหม่ของสมาคมบนที่ดินเดิม อาคารอิฐสูง 7 ชั้นริมถนนราชดำริโดดเด่นแม้ตั้งอยู่ท่ามกลางตึกสูง เป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์การเชื่อมโยงวัฒนธรรมของ 2 ประเทศในต่างทวีป

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

ด้วยอายุที่ใกล้ครบศตวรรษ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาฯ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาและวัฒนธรรมสำคัญๆ มาโดยตลอด หลายคนอาจคุ้นเคยกับสมาคมฯ ในฐานะการก่อตั้งสถาบันสอนภาษาอังกฤษเก่าแก่ชื่อเอยูเอ (AUA Language Center) ซึ่งกลายเป็นชื่อเรียกอาคารติดปากกันมายาวนานว่า ‘ตึกเอยูเอ’ แต่สำหรับอีกหลายคน ที่นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่สถานที่ที่สนับสนุนให้คนในประเทศได้สัมผัสกิจกรรมด้านศิลปะวัฒนธรรมแปลกใหม่ โดยหลายครั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการฉายภาพยนตร์หายาก คอนเสิร์ตและกิจกรรมดนตรีหลายแขนง เป็นโรงละครสำหรับทั้งมืออาชีพและนักศึกษา รวมไปถึงเป็นห้องสมุดที่ได้รวบรวมหนังสือสำคัญๆ จากต่างประเทศ ซึ่งให้ประโยชน์กับผู้ต้องการค้นคว้าข้อมูลเชิงลึก

ความตั้งใจของ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี นายกสมาคมคนปัจจุบัน และคณะกรรมการสมาคมทั้งหมด ต้องการให้อาคารอิฐหลังใหม่นี้ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งและคณะทำงานในอดีต นอกจากการย้ายสถาบันสอนภาษากลับมาจากพื้นที่ชั่วคราวบนจามจุรีแสควร์ ที่นี่ยังเปิดให้เช่าพื้นที่สำนักงาน มีพื้นที่ต้อนรับสาธารณชนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมเหมือนสถานที่เดิมเคยเป็นมา และกำลังจะพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน หรือ ‘American University Alumni Cultural Center’

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

อิฐเชื่อมสองวัฒนธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิรัส พัชรเศวต ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สยาณี วิโรจน์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สองสถาปนิกในนาม EAST Architects เป็นผู้ออกแบบอาคารสมาคมฯ หลังใหม่แห่งนี้ และมี องอาจ สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำ พ.ศ. 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเป็นที่ปรึกษา

ภาพ : รศ.ดร.มล. จิตตวดี จิตรพงศ์

อาจารย์พิรัส ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการของสมาคมฯ เช่นกัน เล่าที่มาที่ไปของอาคารว่า ที่ตั้งของตึกเอยูเอบนถนนราชดำริในปัจจุบันนี้ เป็นการเช่าที่ดินจากสำนักงานพระคลังข้างที่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เมื่อสัญญาเช่าใกล้หมดลง ประกอบกับมูลค่าที่ดินในย่านใจกลางเมืองที่สูงขึ้นมาก จึงได้โอกาสที่สมาคมฯ จะปรับการใช้งานที่ดินให้เหมาะสมขึ้นในด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้สมาคมยังตั้งอยู่ได้ในที่ดินเดิมได้ เพื่อสานต่อกิจกรรมด้านการศึกษาและวัฒนธรรมต่อเนื่องจากในอดีต

ผืนดิน 5 ไร่นี้จึงถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งด้านหลังได้ร่วมคู่สัญญากับบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) พัฒนาที่ดินเป็นคอนโดมิเนียมและโรงแรมขนาดใหญ่ อีกส่วนด้านหน้าติดถนน เป็นที่ตั้งอาคารหน้าแคบแต่ลึก กว้าง 10 เมตร ยาว 88 เมตร สำหรับการดำเนินงานต่อเนื่องของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาฯ

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

“เมื่อตอนเริ่มต้นเราก็คิดกันหลากหลายรูปแบบ สุดท้ายมาจบที่อิฐ เรานำเสนอความคิดว่า อิฐเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมในเชิงการก่อสร้าง ที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมการก่อสร้างตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกันได้ 

“บรรดาอาคารในเชิงวัฒนธรรมหรืออาคารในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอเมริกา มักมีอาคารอิฐไม่มากก็น้อย รวมถึงประเทศเราด้วย ไม่ว่าโรงเรียนหรืออาคารโบราณสถานยุคต่างๆ อิฐจึงเป็นสัญลักษณ์เชื่อมวัฒนธรรมได้ดี แล้วก็โชคดีที่กรรมการเขาก็เห็นด้วย” สถาปนิกเล่าเบื้องหลังคอนเซปต์ให้ฟัง

ก่ออิฐสร้างตึก

ภาพที่คนทั่วไปได้เห็นจากริมถนนราชดำริ จึงเป็นอาคารอิฐสูงชะลูดดูสงบท่ามกลางความพลุกพล่านของผู้คนและยวดยานบนท้องถนน สิ่งที่ทำให้อาคารนี้สะดุดตา ไม่ได้มาจากการใช้บรรดาวัสดุสีส้มที่โดดเด่นจากบริบทเพียงอย่างเดียว แต่ช่องเปิดทั้งหลายโดยรอบอาคารนั้นก็ช่วยสร้างความน่าสนใจ และแน่นอนว่ามีนัยสำคัญมากไปกว่าการตกแต่ง

อาจารย์พิรัสอธิบายว่า ช่องเปิดบนอาคารแต่ละตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นวงกลมใหญ่ด้านหน้าอาคารก็ดี หรือช่องสี่เหลี่ยมที่เรียงเป็นระเบียบไปตามด้านข้างอาคารก็ดี ล้วนมีหน้าที่ใช้สอยที่เฉพาะเจาะจงในตัวเอง เช่น วงกลมใหญ่ด้านหน้านั้นจะอยู่ในตำแหน่งชั้นสำนักงานให้เช่าและโรงเรียนสอนภาษา มีหน้าที่นำแสงสว่างเข้าสู่ภายใน รวมถึงบอกกลายๆ ว่าเป็นพื้นที่ใช้สอยที่ต่างจากชั้นล่างๆ 

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

ช่องเปิดด้านล่างบริเวณทางเข้าอาคาร เป็นช่องเปิดทรงโค้ง (Arch) ขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนที่เดินในระดับถนนเข้าสู่โถงโล่งภายในอาคาร

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม
ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม
ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

ส่วนช่องเปิดที่เหลือโดยรวมนั้น สัมพันธ์กับแนวคิดการออกแบบเพื่อสร้างสภาวะโปร่งสบาย เอื้อให้อากาศไหลทะลุผ่านในอาคารได้ หรือที่เรียกว่าเทคนิค ‘Natural Ventilation’ ช่วยให้อาคารสูงใหญ่นี้ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ ซึ่งการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเช่นนี้ เป็นแนวคิดที่อาจารย์พิรัสเชี่ยวชาญและใช้ในการออกแบบอยู่เสมอ

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

อิฐในอาคาร นอกจากตอบโจทย์ทั้งเรื่องการเป็นภาพตัวแทน และเรื่องหน้าที่ใช้สอย ยังช่วยควบคุมการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ แม้จะมีจำนวนก้อนมหาศาลนับ 1.7 ล้านก้อน แต่ย่นระยะเวลาก่อสร้างได้ในเวลาอันจำกัดด้วยการออกแบบวิธีก่อให้เป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ กัน และค่อยนำไปบรรจุใช้ในตำแหน่งต่างๆ ตามความเหมาะสมคล้ายระบบโมดูลาร์ ทำให้อาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยมากถึงราว 7,000 ตารางเมตร

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม
ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

เมื่อแล้วเสร็จ อาคารจึงประกอบไปด้วยฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย ทั้งโรงเรียนสอนภาษาที่ย้ายกลับมา พื้นที่สำนักงานให้เช่า รวมถึงพื้นที่ห้องสมุด ออดิทอเรียม และโถงโล่งสำหรับกิจกรรมสาธารณะ ในฐานะพื้นที่ของศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน

ตึก AUA ใหม่ในร่างอิฐ 1.7 ล้านก้อน ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษา แต่เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน

อาคารนี้มีพื้นที่ใช้สอย 7 ชั้น ชั้น 1 และ 2 เป็นโถงโล่งและห้องจัดนิทรรศการตามลำดับ ชั้น 3 และ 4 รวมกันเป็นห้องสมุดและออดิทอเรียม ชั้น 5 เป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่า ชั้น 6 และ 7 เป็นพื้นที่ของสถาบันสอนภาษาเอยูเอ

พื้นที่ 4 ชั้นแรกเรียกรวมกันว่าเป็นพื้นที่ของสำนักงานสมาคมฯ และเป็นที่ตั้งใหม่ของศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเวลาอันใกล้นี้

“สมาคมฯ ยุคก่อนนั้น ก็เป็นกึ่งศูนย์วัฒนธรรมที่แรกๆ ของกรุงเทพฯ เพราะว่ามีห้องสมุด มีออดิทอเรียมอยู่ แล้วก็มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการแสดงดนตรี ละคร มีการแสดงงานศิลปะ” อาจารย์พิรัสเกริ่นถึงอดีตของสถานที่แห่งนี้

“ผมคิดว่า กรรมการหลายท่านก็ยังมีความทรงจำเกี่ยวเนื่องกับสมัยที่เขายังเป็นหนุ่มเป็นสาวและเคยใช้อาคารตั้งแต่ก่อนนั้น แล้วก็ยังได้ดูแลสมาคมมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ความคิดนี้จริงๆ ก็ต้องมาจากสมัย 40 – 50 ปีที่แล้ว

“กรรมการคิดว่า เวลานี้มันก็คงเป็นเวลาเหมาะที่เราจะได้ทำอะไรให้กับสังคมอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่สนใจเรื่องราวหลากหลายมาก แล้วเขาก็ต้องการพื้นที่ที่จะได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์ความรู้ ไปจนถึงพัฒนาประเทศ 

“เราก็เลยมีความคิดตรงกันว่า จะทำอาคารนี้เปิดสู่สาธารณะให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”

การเปิดพื้นที่สู่สาธารณะดังที่สถาปนิกและหนึ่งในกรรมการสมาคมเอ่ย เห็นได้ตั้งแต่บนชั้น 1 ที่เป็นโถงโปร่งเพดานสูง ซึ่งออกแบบไว้ให้เป็นพื้นที่โล่งให้มากที่สุด เพื่อรองรับการใช้งานอเนกประสงค์และผู้คนจำนวนมากๆ ได้ การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่จำกัดประเภท ไม่ว่าจะเป็นการทำเวิร์กช็อปศิลปะ เสื้อผ้า อาหาร การเกษตร และอื่นๆ หรือการแสดงดนตรีเล็กๆ แม้แต่การออกร้านขายอาหารและเครื่องดื่มในวาระเทศกาลต่างๆ ก็ทำได้

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน

ถัดจากนั้น ชั้น 2 ตั้งใจให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์เช่นกัน แต่ปิดทึบมากขึ้น มีห้องปรับอากาศ เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมที่อาจถาวร หรือต้องการพื้นที่เป็นกิจจะลักษณะ เช่น การจัดนิทรรศการศิลปะ ซึ่งอาจกินเวลานานหลายเดือน

ชั้น 3 และ 4 เป็นห้องสมุด ควบกับออดิทอเรียมขนาดรองรับได้ 220 คน ไว้ใช้ฉายภาพยนตร์ จัดคอนเสิร์ตขนาดย่อมๆ รวมถึงการแสดงละครเวที 

ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจของศูนย์วัฒนธรรมที่สานต่อแนวคิดมาจากอาคารเดิม ซึ่งเคยให้ประโยชน์ด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม และเมื่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ที่นี่ก็จะเป็นดั่งทูตสนับสนุนกิจกรรมด้านวัฒนธรรมได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

ส่วนบริเวณชั้น 5 ถึง 7 นั้น ในเชิงการบริหาร กำหนดให้เป็นพื้นที่เช่า โดยชั้น 6 และ 7 ให้สถาบันสอนภาษาเอยูเอได้กลับมาเช่าดังเดิม ส่วนชั้น 5 เป็นชั้นสำนักงานที่มีเพียง 12 ห้อง ผู้ออกแบบและหนึ่งในกรรมการสมาคมกล่าวว่า ตั้งใจให้เป็นพื้นที่สนับสนุนกิจการของคนรุ่นใหม่ หรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรม เช่น สำนักงานของร้านหนังสือ สำนักงานของผู้ผลิตคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย หรือสำนักงานอื่นๆ ในเชิงธุรกิจสร้างสรรค์ ด้วยตั้งใจให้ทุกพื้นที่ในอาคารเติมเต็มและสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน

“แม้อาคารแห่งนี้มีหน้าที่สนับสนุนศิลปะวัฒนธรรมของที่เกี่ยวเนื่องกับไทยและอเมริกัน แต่ในโลกปัจจุบันก็คงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่ประเทศอเมริกา ย่อมมีวัฒนธรรมอื่นเกี่ยวเนื่อง และเราไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า เป็นอาคารของเราเอง เราจึงมีหน้าที่ค่อนข้างชัดเจนในเชิงวัฒนธรรม ไม่ได้มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างอื่น เพราะฉะนั้น เรามุ่งประเด็นไปที่การส่งเสริมความคิดกับความรู้โดยตรง โดยยินดีเป็นศูนย์กลางให้กับทุกๆ ความคิดที่เป็นประโยชน์ และอยากให้เป็นศูนย์ที่เยาวชน นิสิตนักศึกษา หรือว่าคนรุ่นใหม่ ได้เดินทางมาหาความรู้ แล้วก็ได้ประโยชน์เพื่อมาพัฒนาสังคม ประเทศ บ้านเมืองต่อไป” อาจารย์พิรัสว่า

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน
ศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน

จากความตั้งใจนี้ ศูนย์วัฒนธรรมไทย-อเมริกัน กำลังอยู่ในขั้นเตรียมการ และคาดว่าพร้อมจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการไม่เกินช่วงต้น พ.ศ. 2565

ในระหว่างนี้ อาคารได้เริ่มทำหน้าที่ที่คณะกรรมการได้ตั้งใจไว้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงและเวิร์กช็อปในเทศกาลงานออกแบบ Bangkok Design Week 2021 ที่จะจัดไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และมีการวางแผนจัดงานคอนเสิร์ต สัปดาห์ภาพยนตร์ และนิทรรศการศิลปะ ที่จะทยอยประชาสัมพันธ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

คงไม่นานเกินรอ ผู้คนจะได้ใช้ ‘ตึกเอยูเอ’ ในฐานะพื้นที่เชิงศิลปะวัฒนธรรมอย่างเต็มศักยภาพ ให้สมกับปณิธานของกลุ่มนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ต่างรุ่นก็ล้วนตั้งใจสืบสานการคืนประโยชน์ให้กับสังคม ดังที่เป็นมาอย่างยาวนาน

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล