4 กุมภาพันธ์ 2021
6 K

ไม่กี่อึดใจจากปากซอยเจริญกรุง 30 หรือ ‘ตรอกกัปตันบุช’ มีแกลเลอรี่สองแห่งในเครือเดียวกันซ่อนอยู่ แห่งแรกตั้งสง่าอยู่ติดถนนคือ Lek Gallery มองจากด้านนอกเป็นห้องโชว์ทรงเหลี่ยม ในกระจกโชว์งานศิลปะและของเก่าในรูปแบบที่คุ้นตา 

ส่วนอีกที่นั้นต้องเดินลัดเลาะเข้าไปในตรอกที่ติดๆ กันอีกนิด เราถึงจ๊ะเอ๋กับ บ้านเลขที่ 19 หรือ ATT 19 ซึ่งตรงนี้เคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน อาทรศึกษา (新中华中学) มาก่อน ตัวอาคารอายุกว่า 120 ปี ปัจจุบันบูรณะเป็นแกลเลอรี่ร่วมสมัยที่งดงามอย่างน่าทึ่ง

หากคุณไม่รีบเกินไปนัก เราขอชวนเข้าไปเดินเล่นหลบแดดยามบ่ายกับ มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ Creative Director ผู้ดูแลแกลเลอรี่ ATT 19 แห่งนี้ด้วยกันสักพัก เพราะหลังประตูลายเทพจีนโบราณบานยักษ์ มีเรื่องราวความรักและการมองเห็นคุณค่าความเป็นคน ในทุกๆ วัตถุที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างน่าสนใจ 

 มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ Creative Director ผู้ดูแลแกลเลอรี่ ATT 19

โตมาในกลิ่นร้านของเก่า

“ร้านแรกของเราอยู่ตรงประตูโรงเรียนอัสสัมชัญ เห็นซุ้มประตูไหมคะ เมื่อก่อนคือตั้งตรงนั้นเลย แล้วพอเขาขยายเราก็ย้ายไปฝั่งตรงข้าม”

คุณมุกเล่าว่า คุณพ่อคุณแม่ของเธอ (คุณพรเทพ และ คุณจรรยา อรรถการวงศ์) เปิดร้านขายงานศิลปวัตถุในย่านบางรักมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ทำให้ลูกสาวทั้งสี่คนโตมากับธุรกิจนี้ ตั้งแต่เธอจำความได้ ภาพของย่านนี้เต็มไปด้วยร้านรวงและโรงแรม 5 ดาว

“นักธุรกิจชาวต่างชาติที่ต้องมาปิดจ็อบที่เมืองไทยจะถูกส่งมาพักที่นี่ แล้วเขาพาภรรยามาด้วย พอเขาทำธุรกิจเสร็จก็จะเลือกของเข้าบ้าน ส่วนมากเป็นวัตถุโบราณ ร้านของเก่าดังๆ รวมไปถึงร้านตัดเสื้อบูติกอยู่ละแวกที่นี่ทั้งนั้น” คุณมุกนึกย้อน “อย่างแม่ของมุกเอง ถ้าเขาปิดดีลใหญ่ๆ ได้ เขาจะไปสั่งทำเครื่องประดับให้ตัวเองหนึ่งชิ้น เป็นสิ่งที่อยู่ความทรงจำของมุกตลอดมา”

คุณมุกบอกว่าเธอคุ้นชินกับเสียงการแพ็กของตั้งแต่เด็ก พอเลิกเรียน เธอและพี่สาวต้องมานั่งเฝ้าร้าน บางครั้งก็ไปนั่งกินข้าวกับลูกค้าของพ่อ เพราะต้องรอกลับพร้อมกันทั้งครอบครัว อีกความทรงจำที่พิเศษมากๆ สำหรับเธอ คือในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่ร้านปิดรับลูกค้า คุณพ่อจะพาเด็กหญิงมุกตัวจิ๋วมานั่งเล่นอยู่ในร้านด้วยขณะที่เขาเคลียร์งานเอกสารหลังบ้าน โดยเขาจะให้เธอเลือกวัตถุที่ชอบ 1 ชิ้นในร้าน แล้วให้เวลาเธอวาดรูปมัน พอเสร็จ 2 ชั่วโมงปุ๊บ คุณพ่อจะเข้ามาดูผลงาน พลางเล่าเรื่องราวของวัตถุชิ้นนั้นๆ ให้ลูกสาวตัวจิ๋วฟัง 

 มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ Creative Director ผู้ดูแลแกลเลอรี่ ATT 19

“ชิ้นที่มุกชอบมากเป็นพระแบบมัณฑะเลย์ มีเทคนิคการใส่กระจกสีซึ่งเราชอบมาก ด้วยสีสันและลายดอกไม้เยอะๆ แทนที่เขาจะเล่าเรื่องยุคสมัย คุณพ่อเล่าเรื่องการฝังแก้ว ชี้ให้ดูว่าคนสมัยก่อนมีเครื่องมือไม่ได้มาก แต่เขาทำลวดลายให้มันโค้งมนได้ยังไง ลองเอามือจับดูนะว่ามันมีมุมแหลมไหม อันนี้คือตอนแปดเก้าขวบ สมัยนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่เปลี่ยนมาดูของญี่ปุ่นซะมาก อย่างพวกกล่องแลกเกอร์ มีกล่องที่ทำจากไม้จริงๆ และมีกล่องที่ทำจากพลาสติก ซึ่งบางทีเราดูไม่ออก คุณพ่อก็จะให้จับหาปุ่มข้างใต้ ถ้าเกิดว่าเป็นพลาสติกจะต้องมีเป้าแบบ สิ่งบ่งบอกว่ามีเบ้าต้องมีปุ่ม หรือบางอย่างที่ทำให้หลุดออกจากบล็อกได้ เขาให้ดูอะไรแบบนั้น”

ในแต่ละห้อง คุณมุกเล่าเรื่องสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ให้เราฟังได้อย่างสนุกสนาน ในห้องแรก เธอชี้ให้เราดูลายละเอียดบนปักผ้าโบราณที่ใช้เวลาผลิต 4 – 7ปี ติดกับบันได เธอชี้ให้ดูเทคนิคการทำเมฆไหลของขาโต๊ะสมัยราชวงศ์ชิง ในโซนเซรามิก เธอชี้ให้ดูลายเขียนมือบนถ้วยชาจากญี่ปุ่น ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าเธอคงได้รับสายตาเฉียบแหลมและความรักรายละเอียดจากคุณพ่อมาเต็มๆ

ร่องรอยของคุณพ่อในพื้นที่

เมื่อเปรียบเทียบบรรยากาศของร้านเดิมที่เธอโตมากับบรรยากาศของแกลเลอรี่ในตอนนี้ คุณมุกบอกว่า ทั้งหมดทั้งปวงไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะพ่อของเธอเป็นคนออกแบบทุกร้านของครอบครัวด้วยตนเอง 

“เอกลักษณ์ของดีไซน์คุณพ่อคือการใช้ไม้และตัดด้วยผนังเรียบสีขาว เราเป็นร้านของเก่าร้านแรกๆ ในกรุงเทพฯ ที่เอาของมาจัดแสดงบนแท่นสีขาวค่ะ” คุณมุกกล่าวอย่างภูมิใจ “คุณพ่อได้แรงบันดาลใจมาจากพิพิธภัณฑ์ที่เขาไปเห็นที่เมืองนอก เมื่อก่อนร้านของเก่าจะวางของเรียงกันเยอะๆ แต่บ้านเราแตกต่าง คุณพ่อเอามาจัดวางตัดกับสีขาว 

มันเป็นซิกเนเจอร์ของธุรกิจ เป็นกลิ่นอายของอรรถการวงศ์ไปแล้ว” 

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ของ ATT 19 นั้นพิเศษกว่าที่อื่นๆ ด้วยความที่เคยเป็นโรงเรียนเก่า มีความผูกพันกับชุมชนแถวนี้มานานนม คุณมุกเล่าให้เราฟังว่า วันหนึ่งใน ค.ศ. 2017 เหล่าซือของโรงเรียนก็เดินมาหาป๊าของเธอ บอกว่าโรงเรียนจะปิดแล้ว “เขาขอให้คุณพ่อซื้อที่ไปจัดการต่อ อั๊วว่าลื้อทำได้ เขาว่าอย่างนั้น คุณพ่อก็ตัดสินใจบูรณะอาคารนี้

ตรงนี้เลยกลายเป็นร้านเวอร์ชันที่สี่ของบ้านเรา” 

ระหว่างที่เราเดินอยู่นั้น คุณมุกค่อยๆ ชี้ให้เห็นร่องรอยจากการบูรณะที่พวกเขาตั้งใจคงไว้ในตึก ไม่ว่าจะเป็นรอยบันไดเดิมที่ถูกเลาะออกจากกลางบ้าน ไปติดตั้งในโซนด้านข้างแทน นำมาสู่การสร้างกำแพงที่แบ่งโซนอาคารใหม่อย่างสิ้นเชิง 

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ
ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

“การบูรณะของคุณพ่อต่างจากคนอื่น เขาไม่ได้วาดแพลน แต่เข้ามาหน้างานทุกวัน บางผนังด้านล่างยังเห็นรอยปากกาเมจิกเขียนไว้บนผนัง จะสร้างชั้นวางของตรงนี้ๆ สัดส่วนเท่าไร ยังไง ซึ่งอันนี้เราก็ไม่ทาสีทับ หรือเรื่องที่คุณพ่อเข้ามาทุกวันเพื่อสังเกตการเคลื่อนที่ของแสงในเสปซ เขาเลยรู้ว่าผนังควรจะขึ้นตรงไหน ตรงไหนควรเป็นกระจก เป็นเหตุผลว่าทำไมแสงในอาคารนี้ถึงดูสวยทุกเวลา

“พื้นที่เก่ามันอำนวยให้สวยอยู่แล้วแหละ แต่สำหรับมุก เสน่ห์ไม่น้อยมาจากความคิดของคุณพ่อ เช่น การเลือกเก็บโครงคานเพดานดั้งเดิม มองขึ้นไปเห็นกระเบื้องมุงหลังคาที่ยังเป็นของเดิม ทั้งหมดนี้ขับเน้นด้วยความขาวของผนังใหม่ เป็นต้น”

พอพูดถึงเพดาน คุณมุกชวนเราเดินมาดูห้องหนึ่งด้านล่างที่เพดานไม้ยังเป็นสีฟ้า ซึ่งหลงเหลืออยู่จากสมัยเป็นห้องเรียนเด็กเล็ก ปัจจุบันในห้องนี้มีชิ้นงานศิลปะที่ทำจากไม้สีเดียวกันตั้งอยู่หลายชิ้น 

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

“มันคือไม้จากเพดานที่เราเลาะออก เนื่องจากเราจัดสรรพื้นที่ใหม่นี่แหละค่ะ ด้วยความที่เราเก็บไม้ไว้ต่อเติมบางจุดด้วย แล้วมันเป็นไม้สักที่หาไม่ได้แล้ว ที่บ้านเลยเลือกว่าจะไม่ทิ้ง มันคือวิญญาณของบ้านมุกอยู่แล้วนะ ความรักของเก่าเนี่ย เราพยายามจะเซฟทุกอย่าง” เธอบอกว่าในช่วงหน้าฝนที่ไม่สามารถทำงานก่อสร้างประมาณ 3 เดือน คุณพ่อของเธอเกิดไอเดีย ให้ช่างไม้แต่ละคนเอาเศษวัสดุที่รื้อถอนออกมานำไปประดิษฐ์เป็นงานศิลปะ 

“ด้วยความที่เราต้องเลี้ยงคน เพราะทุกคนอยู่กับเรามายี่สิบกว่าปีขึ้น คุณพ่อเลยบอกทุกคนว่าอยากทำอะไรก็ทำ แล้วเขาทำออกมาเท่มาก อย่างของหัวหน้าช่าง (ช่างนง) เป็นบ้านริมน้ำที่เขาเห็นสมัยเด็ก เราพยายามจะถ่ายรูปช่างนงกับงาน แต่เขาไม่ยอม วิ่งหนีเลย เขิน”

แน่นอนว่านอกจากพนักงานฝ่ายช่างที่ต้องมารับโจทย์ใหม่ในโปรเจกต์นี้แล้ว ตัวคุณมุกเองก็ได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากคุณพ่อ ขณะที่ตัวเองทำงานสายแฟชั่นอยู่ที่นิวยอร์กเช่นกัน

การรับช่วงต่อของความรัก

“จริงๆ ตอนนั้น ATT 19 เริ่มสร้างไปแล้วส่วนหนึ่ง คุณพ่อก็โทรมา หนูต้องกลับมานะ แค่นี้สั้นๆ ในความคิดของเขา ที่ตรงนี้เป็นโอกาสให้พี่สาว คือ พี่เชอ (พันธ์ทิพย์ อรรถการวงศ์) กับมุกจะได้ทำธุกิจร่วมกัน สำหรับพี่เฌอก็มีโซนร้านอาหาร แล้วคุณพ่อสร้างสตูดิโอเย็บผ้าไว้ให้มุกอยู่ข้างหลังด้วยค่ะ มีโต๊ะตัดผ้าที่ตรงกับส่วนสูงของเราด้วย ซึ่งตอนนี้กลายเป็นที่เก็บของไปแล้ว” คุณมุกหัวเราะร่า “เขาเตรียมไว้เพื่อให้เรากลับมาทำตามความฝัน แต่สุดท้ายเรามาเจอความรับผิดชอบและความหมายของชีวิตในการทำแกลเลอรี่มากกว่า”

เราถามคุณมุกว่า ก่อนหน้านี้เคยคิดไม่อยากกลับมาทำธุรกิจที่บ้านบ้างไหม เธอตอบทันควันว่า “มีสิ มีหลายครั้งเลยที่คิดว่าฉันจะไม่กลับมา สมัยก่อนมีแฟนที่โน่น เรารู้สึกว่าเรามีชีวิตของเราอยู่ตรงโน้น อีกอย่างคือรู้สึกว่าคนไทยอาจจะไม่เข้าใจเรา

“แต่สักพักหนึ่งพ่อแม่เริ่มแก่ แล้วมุกไม่อยู่เมืองไทยมาสิบเจ็ดปี เราว่าเราพลาดอะไรหลายอย่าง ดังนั้น ธุรกิจเราก็รู้แหละว่าต้องมาดู แต่หลักๆ คือป๊ากับแม่ สำหรับมุกมันคือความรับผิดชอบของลูก อันที่จริงเราเตรียมใจมานานแล้ว เพราะว่าพี่สาวแต่ละคนก็ทำงานในทางของเขา สุดท้ายแล้วของเก่าและงานศิลปะคือต้องมาตกที่เราแน่นอน จากการที่เราเป็นลูกสาวคนเดียวที่ได้อยู่กับพ่อทุกๆ วันอาทิตย์” 

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ
ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

นอกจากนี้ คุณมุกบอกว่าประสบการณ์ในปีท้ายๆ ที่นิวยอร์กของเธอนั้นเหนื่อยมาก เธอเป็น Collection Coordinator ที่ JASON WU มีชีวิตวนเวียนอยู่กับการเอาเสื้อขึ้นไปบนรันเวย์ให้ทัน นั่นทำให้เธอเหนื่อยมากตลอดเวลาทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตี 2 ไม่มีแม้กระทั่งเวลา FaceTime กับคุณแม่ 

“นาทีที่นางแบบได้ใส่ชุดลงรันเวย์ เราก็ต้องเตรียมคอลเลกชันต่อไปไม่ได้หยุดเลย เราคิดเลยว่าทำไปเพื่ออะไร เราตอบโจทย์ตลาด แต่ไม่ได้มีความสุขที่มาจากการสร้างคนหรือการทำอะไรสร้างสรรค์ เพราะมันไม่ใช่แบรนด์ของเรา ผ้าที่ใช้เราก็เลือกไม่ได้ มันเป็นจุดที่เราคิดได้ว่า จริงๆ แล้วรากเหง้าของเราอยู่ที่ไหน”

ในที่สุดคุณมุกจึงผันตัวเองจากสาวนิวยอร์กกลับมาเป็นสาวบางรัก 3 เดือน ก่อนที่ ATT 19 จะสร้างเสร็จ ในตอนนั้นเธอเริ่มโปรเจกต์แรกของตัวเองทันที นั่นคือการเอาพื้นที่ตรงนี้เข้าร่วม Bangkok Design Week 2019

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

The Show Must Go On

“ตอนนั้นมันก็ไม่มีเวลาจะคิด I just ran with it.” 

คุณมุกเล่าถึงงานแรกของเธอว่าเป็นการเข้าร่วมแบบนาทีสุดท้าย ด้วยความตั้งใจส่วนตัวที่อยากเปิดให้นักออกแบบได้มีพื้นที่แสดงผลงาน “เราก็เคยเป็นนักออกแบบจบใหม่ เรารู้ว่ามันยากมากที่จะหาที่โชว์ วันแรกๆ คือไม่มีราคาแปะ ไม่มีเวลาทำสต็อก ไม่รู้เลยว่าจะต้องทำยังไง เราไม่ได้มีวิสัยทัศน์ว่ามันจะต้องเป็นอะไรอย่างไร คือเราว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราอยากทำ” 

หลังจากนั้นทุกๆ งานที่จัดขึ้นในพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตรนี้ก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับตัวตนของเธอ 

“นิทรรศการแรกของเราคือโชว์ของศิลปิน Douglas Diaz 

“เพราะเราคิดว่างาน Abstract ลักษณะนั้นยังไม่ค่อยได้โชว์ที่เมืองไทย แต่หลังจากนั้น เราเริ่มเห็นศิลปินคนไทยมากขึ้น มุกได้สัมผัสกับคนที่มามากขึ้น ว่าเขาชอบอะไรแบบไหน วันแรกๆ ที่เราเปิด ATT 19 มีสถาปนิกมาคุยกับคุณพ่อใหญ่เลยเรื่องการบูรณะ เราเลยเห็นช่องทางของการให้ความรู้คนที่ทำได้หลายแบบ ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแกลเลอรี่แบบที่แค่โชว์และขายเท่านั้น 

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

“เราเคยโชว์นิทรรศการเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์จีน ชื่อ Luxury in the Detail เกี่ยวกับการแกะไม้ มุกก็เอาของจากร้านคุณพ่อ จากโกดัง มาจัดแสดงในมุมมองที่ให้คนได้เรียนรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์สมัยก่อนมันทำยังไง เป็นเรื่องราวเหมือนที่คุณพ่อเคยเล่าให้มุกฟัง อย่างเช่นเก้าอี้แบบจีน ที่ตอนนี้เป็นต้นแบบให้กับนักออกแบบผลิตภัณฑ์เยอะแยะ สมัยก่อนที่ไม่มีเทคโนโลยี เขาต้องชุบน้ำแล้วบิดซ้ำๆ จนมันโค้งได้ นั่นเป็นความรู้ที่มีประโยชน์และเป็นการต่อยอดมรดกของป๊ากับแม่ด้วย”

กลุ่มคนที่คุณมุกให้ความสำคัญมากในงานของเธอคือเยาวชน เธอเทียบให้ฟังว่า ที่เมืองนอก เธอเดินเข้าพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้เสมอ พอกลับมาเมืองไทย เธอจึงมาคิดว่าตนจะทำอะไรในขอบเขตของแกลเลอรี่เอกชนเล็กๆ ได้บ้าง

“อย่างนิทรรศการของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ IWANNABANGKOK© กว่าทุกคนจะติดตั้งงานเสร็จ เราต้องทะเลาะกับเด็กทุกคน (หัวเราะ) คือศิลปินจะบอกว่ามันแพงไป เขากลัวขายไม่ได้ เพราะทุกคนไม่เคยทำนิทรรศการในรูปแบบนี้ กอล์ฟ (ศุภกร บัวเรือน) เคยเอาชุดเดินบนรันเวย์ นลิน (กัญญ์นลิน เสถียรุจิกานนท์) ไม่เคยพิมพ์งานลงผ้าใบ ฯลฯ ทุกคนประสบการณ์น้อย รวมถึงตัวมุกเองด้วย แต่เรารู้ว่ามูลค่า อาจจะด้วยความที่เรามาจากแฟชั่น เราก็บวกลบคูณหาร หลักๆ คือเราอยากให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองแหละ” คุณมุกยิ้ม 

 “ถึงแม้ว่าเขาจะขายที่ ATT 19 ไม่ได้ แต่โอกาสครั้งนี้อาจทำให้เขาไปขายที่อื่นก็ได้ สำหรับมุกพอแล้ว”

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

อีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนจนเป็นสไตล์ของนิทรรศการที่ ATT 19 ไปแล้ว นั่นคือการร้อยเรียงเรื่องราวในนิทรรศการที่ไม่เหมือนใคร 

“หลายคนบอกว่า You run the gallery with Empathy. มันเลยทำให้ที่นี่ต่างจากที่อื่น” คุณมุกอธิบาย 

“เราไม่ได้รู้ทุกอย่างในโลกศิลปะนะ เราแค่คลำทางไป แล้วเราก็มีความเชื่อมั่นเรื่องคนที่เราอยากจะสนับสนุน นั่นคือวิธีที่เราทำงาน อย่างนิทรรศการ A Room Full of Women ก็เกิดขึ้นเพราะความโกรธ เพราะเรารู้สึกว่าที่ยืนของผู้หญิงในเมืองไทยมันน้อย ซึ่งอันที่จริงมุมมองของผู้หญิงในหลายๆ เรื่องมันลึกซึ้งกว่าที่สังคมเห็น” 

ในนิทรรศการนั้น คุณมุกเลือกศิลปินจากหลากหลายวงการ ทั้งจิตรกรรม อุตสาหกรรมสิ่งทอ ภาพถ่าย ไปจนถึง Digital Coding ทั้งหมดมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อสร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับประสบการณ์ความเป็นผู้หญิงในมิติต่างๆ มีงานวิดีโอของ กวิตา วัฒนะชยังกูร ที่วิพากษ์การใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย งานที่พูดถึงการตั้งครรภ์ของ เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ชุดภาพถ่ายของ พันเลิศ ศรีพรหม และ John Tods เล่าเรื่องการพยายามบวชของผู้หญิงข้ามเพศ และที่เราประทับใจมาก คือชุดภาพความผูกพันของแม่บ้านกับครอบครัวที่เธอทำงานด้วย โดย ดวงตะวัน ศิริคูณ ซึ่งในชุดภาพถ่ายนี้ก็มีรูปคุณมุกกับพี่เลี้ยงเธออยู่ด้วย 

อีกโชว์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คืองานฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง It’s always a changing stream of water before we meet the big blue sea ผลงานแรกของ ปริม-วิภาวีร์ พัทธ์ศิริ ในฐานะศิลปิน พูดถึงสุขภาวะของจิตใจ ประกอบกับการทำเวิร์กช็อปเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาทดลองการบำบัดแบบกลุ่มด้วย 

ไล่มาถึงโชว์ล่าสุดที่ชื่อว่า Suckcessors (ทำงานที่บ้าน) นิทรรศการว่าด้วยความในใจของเหล่าผู้สืบทอดธุรกิจของครอบครัว ที่เล่าถึงเบื้องหลังการรับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน 

“ตอนแรกจะทำกับแค่ดอกไม้ (Permaflora) เพราะได้อ่านเรื่องใน The Cloud นี่แหละค่ะ สิ่งที่มุกทำคือส่งไลน์ไปหาแอคเคาต์ของบริษัท ปรากฏว่าคุณจีนเป็นคนตอบไลน์เอง ตอนนั้นก็รู้สึกว่า เออ เหมือนเราเลยเนอะ (หัวเราะ) ก็เลยโทรคุยกัน แล้วต่อมาก็ชวน โม จิรชัยสกุล และ ease studio มาร่วมด้วย ซึ่งพอมาประชุมกัน ปรากฏว่าทุกคนเป็นทายาทรุ่นที่สอง การมาประชุมมันเหมือนได้บำบัด เรื่องการแบกรับภาระและความคาดหวังของคนในครอบครัว โดยเฉพาะความยากในช่วง COVID-19” 

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ
ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

สำหรับงานนี้ แทนที่คุณมุกจะเอาของมาตั้งบนแท่นแล้วแปะคำอธิบายเฉยๆ เธอกลับเลือกทำ Installation ที่เล่าเรื่องชีวิตของดีไซน์เนอร์แต่ละคน รวมถึงตัวเธอเองด้วย ผ่านทั้งภาพถ่ายครอบครัว ข้าวของเครื่องใช้ การผสมผสานสื่อกับการจัดวางให้คนดูมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ออกมาเป็นโชว์นี้ ซึ่งไม่สามารถทำที่อื่นได้ พื้นที่และเรื่องราวแกลเลอรี่แห่งนี้จึงถูกนำเสนอในฐานะงานศิลปะไปด้วย

ทั้งเก่า ทั้งเก๋ ที่สำคัญคือต้องเข้าถึงได้

การได้มาเดิน ATT 19 ทำให้ภาพจำของแกลเลอรี่ที่ขายของเก่านั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากพื้นที่อับๆ ต้อนรับเฉพาะลูกค้าคนรวย กลายเป็นได้เห็นความเป็นได้ของพื้นที่แบบ Mix-used ที่เปิดโล่ง เปิดรับคนหลากหลาย มีเด็กวัยรุ่นที่ไม่ได้มาแค่ถ่ายรูป แต่มีบทสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องใจพวกเขา ทั้ง Mental Heath, Gender, Generation Gap ฯลฯ

“ลูกค้ากลุ่มเดิมจากร้านคุณพ่อก็ยังมานะคะ แต่ด้วยความที่ตรงนี้เปิดให้คนเข้ามาแบบสบายๆ เด็กๆ ก็จะชอบมา ตอนแรกเป็นเด็กที่เรียนศิลปะหรือดีไซน์ ตอนนี้หลากหลายมาก ที่น่ารักไปกว่านั้นคือ ครั้งแรกอาจจะมาคนเดียว มาแบบกลัวๆ มีค่าเข้าไหม ต้องทำตัวอย่างไร แต่ครั้งต่อมาจะกลับมาอีกพร้อมพ่วงคุณแม่มาด้วย บางทีพาแฟนมาแนะนำให้เรารู้จักก็มี มันเป็นสิ่งที่ทำให้มุกชอบมาอยู่เฝ้าที่นี่ ได้พูดคุยกับคน เขาถามได้แบบไม่อาย เราไม่มีป้ายติด แต่ใช้วิธีการเตือนเหมือนอยู่ที่บ้าน” คุณมุกเล่าขณะพาเราเดินมาในส่วนร้านกาแฟ กลิ่นกาแฟหอมเตะจมูกยิ่งให้ความรู้สึกอบอุ่นขึ้นไปอีก 

สุดท้ายเราถามถึงคุณพ่อของเธออีกครั้งว่า เขารู้สึกอย่างไรกับการต่อยอด ATT 19 จาก Lek Gallery ของเขา “คุณพ่อดีใจนะ ที่จริงมันเป็นไอเดียแรกเริ่มของเขาที่อยากมีพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์ เพราะเขาเห็นว่าที่เมืองนอกมี แต่เมืองไทยยังมีน้อย ในตอนนี้ แม้ว่าโลกโซเซียลหรือการถ่ายรูปมันจะไม่ใช่สิ่งที่เขาเข้าใจทั้งหมด แต่เขาก็ดีใจว่าเด็กรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของสิ่งนี้ เขาเห็นแล้วเขายิ้มนะ”

ATT 19 : จากตึกโรงเรียนเก่าอายุ 120 ปี สู่แกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ให้คุณค่าทั้งคนและของ

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ