เมื่อนึกถึงล้านนา เรานึกถึงเชียงใหม่

เมื่อนึกถึงเชียงราย เรานึกถึงสามเหลี่ยมทองคำ 

น่าแปลกที่ ‘เชียงแสน’ เคยเป็นเมืองหลวงของล้านนาเช่นเดียวกับเชียงใหม่ แต่เรากลับไม่เคยรู้จักหรือเข้าใจจริง ๆ ว่าเชียงแสนนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อได้เห็นโรงแรมขนาดย่อมในเวียงเชียงแสนนาม ‘อทิตา’ ซึ่งก่อขึ้นจากอิฐมวลทำมือ อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเก่าเชียงแสน และแทบจะเป็นโรงแรมแรก ๆ ที่สร้างขึ้นจากไม้สักแท้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเชียงแสนนั้นรุ่มรวยไม้สักขนาดไหน ทั้งยังเป็นโรงแรมที่ตั้งใจทำทางเข้าวัดเก่ารกร้างอย่าง ‘อาทิต้นแก้ว’ ให้คนเชียงแสนและแขกไปใครมาเข้ามาสักการะบูชากันได้โดยง่ายแบบไม่คิดสตางค์สักแดงเดียว เราก็ชักอยากรู้ว่าใครกันหนอที่สร้างโรงแรมแห่งนี้ขึ้นมา

แอน-นันทกาญจ์ ลิ้มเจริญ คือสาวเชียงแสนเจ้าของโรงแรมที่ว่า ผู้เริ่มคิดอยากมีโรงแรมในเวียงเชียงแสนเป็นของตนเอง หลังจากมีโอกาสได้กลับบ้านเกิดบ่อยขึ้น และได้เห็นว่าเชียงแสนเป็นเมืองสงบ สวยงาม และควรได้รับการพูดถึงมากขนาดไหน 

‘อทิตา’ บูติกโฮเทลหน้าวัดเก่าอายุกว่า 500 ปี แห่งนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อทำให้คนรู้จักเชียงแสนมากกว่านี้ ขอบอกเลยว่าทั้งกระบวนการคิดสร้างโรงแรมและการบริหารนั้น น่ารักและเต็มไปด้วยกลิ่นอายเชียงแสนทุกอณู

Athita : โรงแรมจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือของคนเชียงแสน ที่อยากให้เชียงแสนเป็นที่รู้จัก

เป๋นคนเชียงแสน

แอนเป็นสาวเหนือ เป็นสาวเชียงราย และเป็นสาวเชียงแสน

แต่เพราะหน้าที่การงาน เธอย้ายถิ่นฐานมาปักหลักที่กรุงเทพฯ เพื่อทำธุรกิจร้านอาหารอิตาเลียนเกือบ 20 สาขาในกรุงเทพฯ และต่างประเทศมากว่า 7 ปี หลังเปลี่ยนมาเป็นที่ปรึกษาทางด้านบัญชีและภาษี รวมถึงเปิดแบรนด์มะพร้าวพร้อมทาน Coco Easy เมื่อไม่กี่ปีก่อน ก่อนจะหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมด้วยตนเองอย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่เชียงแสนอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน 

ช่วงนี้เองที่สาวเชียงแสนได้หวนคืนบ้านเกิดบ่อยขึ้น ความงดงามและความสงบเงียบของเมืองที่เธอห่างหายจึงค่อย ๆ ปรากฏชัดในใจ

Athita : โรงแรมจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือของคนเชียงแสน ที่อยากให้เชียงแสนเป็นที่รู้จัก

“ระหว่างที่รอคุณแม่ไปซื้อของในเวียง เราก็นั่งพักตรงหน้าวัดเจดีย์หลวง สิ่งที่เราสัมผัสได้คือ เชียงแสนเป็นเมืองที่สงบมาก เป็นเมืองที่ยังมีวิถีชุมชนที่คุณลุงเอาจอบเสียบจักรยานแล้วปั่นผ่านหน้าเราไป ขณะเดียวกันก็มีความทันสมัยผสมผสานด้วย และที่สำคัญ เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์” แอนเริ่มย้อนเล่าความทรงจำก่อนคิดฝันอยากสร้างโรงแรมเล็ก ๆ ในเวียงขึ้น

“เวลาพูดถึงอาณาจักรล้านนา คนมักจะคิดถึงเชียงใหม่ แต่รู้มั้ยว่าเชียงแสนเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาในสมัยพญาแสนภูด้วยนะ และที่นี่ยังเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีตเพราะติดกับแม่น้ำโขง เลยติดต่อค้าขายกับจีนและพม่าได้” เธอเสริมให้ผู้ที่มีบ้านอีกหลังอยู่ในตัวเมืองเชียงราย และไปสามเหลี่ยมทองคำบ่อยครั้ง แต่กลับไม่รู้จักเชียงแสนแม้แต่น้อยอย่างเราฟัง

เพราะคำถามที่แอนสงสัยอย่างทำไมเชียงแสนจึงไม่เป็นที่รู้จักนั้นหาคำตอบได้ยากยิ่ง แทนที่จะคิดหาคำถามที่ไม่มีคำตอบต่อไป เธอจึงคิดสร้างให้เชียงแสนเป็นที่รู้จักด้วยตัวเอง โดยการสร้างที่พักที่แสดงเอกลักษณ์ของเชียงแสนได้ดี แต่ก็ยังคงความสงบโดยไม่รบกวนชุมชน

“พอเริ่มอยากทำที่พักจริง ๆ จัง ๆ เลยไปถามคุณป้าของเราที่อาศัยในเชียงแสนว่า มีพื้นที่ไหนบ้างมั้ยที่คนไม่พลุกพล่าน เราเลยเจอพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งครั้งแรกที่เห็นก็ตกใจมาก เพราะมันเป็นพื้นที่ตาบอด ไม่มีทางเข้า และอยู่ข้างหน้าวัดเก่าโบราณอายุห้าร้อยกว่าปี ชื่ออาทิต้นแก้ว เราเลยคิดว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะที่สุด”

‘อทิตา’ บูติกโฮเทลสไตล์โมเดิร์นล้านนาที่ตั้งเด่นเป็นสง่าเคียงวัดอาทิต้นแก้วจึงค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่าง

Athita : โรงแรมจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือของคนเชียงแสน ที่อยากให้เชียงแสนเป็นที่รู้จัก

สร้างอย่างเชียงแสน

“ถ้าเข้ามาในเวียงเชียงแสน สิ่งแรกที่เห็นคือกำแพงอิฐ เป็นคูเมืองที่สร้างไว้เพื่อป้องกันข้าศึกในสมัยก่อน และเพื่อจัดการด้านชลประทาน เพราะเชียงแสนอยู่ติดแม่น้ำโขง พอผ่านกำแพงเมืองไป สิ่งที่เราจะเห็นเป็นอันดับต่อมาคือต้นสักที่ยืนต้นเต็มเมืองไปหมด เพราะในสมัยพญาแสนภูได้ปลูกไม้สักไว้จำนวนมาก เราก็เลยโอเค เข้าใจแล้ว”

‘เข้าใจแล้ว’ ในความหมายของแอนนั้นหมายความว่า ‘เข้าใจแล้ว’ ว่าหากจะทำโรงแรมที่สะท้อนถึงความเป็นเชียงแสนได้มากที่สุด เธอจะต้องสร้างโรงแรมโดยเน้นการใช้อิฐมอญและไม้สักเป็นหลัก จากโจทย์ที่ว่าแอนจึงเสาะหาสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญในวัสดุทั้งสองและเข้าใจวัฒนธรรมล้านนามาออกแบบโรงแรมในฝัน

กำแพงกั้นและตัวอาคารของอทิตาจึงก่อขึ้นจากอิฐมอญหลายแสนก้อน ซึ่งทำขึ้นด้วยมือแบบโบราณโดยช่างอิฐในท้องถิ่น แล้วนำมาก่อด้วยรูปแบบที่ทันสมัย ซึ่งใน 1 วันช่างจะก่ออิฐได้เพียง 1 ตารางเมตรกว่า ๆ เท่านั้น จึงไม่แปลกใจหากโรงแรมขนาดเล็กแห่งนี้จะใช้เวลาก่อสร้างนานนับปี

Athita : โรงแรมจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือของคนเชียงแสน ที่อยากให้เชียงแสนเป็นที่รู้จัก
Athita : โรงแรมจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือของคนเชียงแสน ที่อยากให้เชียงแสนเป็นที่รู้จัก

“ไม่ใช่ช่างอิฐทุกคนจะทำได้ด้วยนะ ต้องเป็นช่างที่มีฝีมือประณีตจริง ๆ ประณีตมากขนาดที่เราขอถ่ายรูปช่างเก็บไว้ เราจะได้จำได้ว่าพวกเขาคือคนที่ทำงานเหล่านี้ขึ้นมา” แอนเล่าถึงกระบวนการก่อสร้างให้ฟังพลางหัวเราะ

เมื่อเดินชมความงามของอิฐที่ตั้งเรียงรายเรียบร้อย หากเดินเข้ามายังอาคาร เราจะได้ยลความงามของการต่อและใช้ไม้สักแบบล้านนาตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘เติ๋น’ หรือพื้นที่ใช้ยกระดับภายในห้องพัก หรือจะเป็นฝาไหลในห้อง Pagoda View ที่เป็นงานสถาปัตย์ร่วมของฝั่งโลกตะวันออก ซึ่งเลื่อนเปิด-ปิดให้แสงเข้าได้ ทั้งบริเวณคานของห้องยังมีการต่อไม้แบบดั้งเดิมปรากฏให้เห็น ไม่ต้องกลัวว่าจะอันตรายแต่อย่างใด เพราะสถาปนิกแอบซ่อนเหล็กไว้ข้างในเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

Athita : โรงแรมจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือของคนเชียงแสน ที่อยากให้เชียงแสนเป็นที่รู้จัก

นอกจากเอกลักษณ์ทั้งสองนี้แล้ว แอนยังใส่ความเป็นล้านนาตามจุดต่าง ๆ ผ่านซิ่นสีครามลายเจียงแสนประยุกต์ที่มีเรื่องราวความเป็นมาช้านาน

“เชียงแสนเคยเป็นเมืองหลวง จึงมีช่างศิลป์จำนวนมากจนมีศิลปะแบบเชียงแสนเลยนะ แต่ด้วยเกิดศึกสงครามบ่อยครั้ง ผู้คนจึงอพยพย้ายถิ่นออกไปตั้งรกรากที่อื่น ศิลปะเชียงแสนในเชียงแสนจริง ๆ จึงแทบไม่เหลือ แต่กลับไปพบได้ที่เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ราชบุรี ฯลฯ 

“เราไปเจอว่ามีอาจารย์คนหนึ่งเขานำลายผ้าต่าง ๆ ของเชียงแสนกลับมาพัฒนา เราเลยให้ช่างผ้าท้องถิ่นทอซิ่นลาย ‘เจียงแสน’ แบบประยุกต์ขึ้นมา เพื่อนำมาตกแต่งตามจุดต่าง ๆ ของโรงแรม เพราะอยากนำเสนอภูมิปัญญาของเชียงแสนให้มากที่สุด” แอนเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

เชื่ออย่างเชียงแสน

เพราะที่ตั้งของโรงแรมในฝันแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดโบราณของเชียงแสนนาม ‘อาทิต้นแก้ว’ เป็นวัดเก่าอายุ 500 ปีที่เคยเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก บวชกุลบุตร-กุลธิดาเกือบพันรูป วัดอาทิต้นแก้วจึงสำคัญมากในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นวัดร้างที่ไม่มีแม้กระทั่งทางเข้าให้ผู้คนได้สักการะบูชา เมื่อมีโอกาสชุบชีวิตพื้นที่หน้าวัดเก่าแห่งนี้ แอนจึงตั้งใจสร้างกิมมิกเล็ก ๆ ขึ้น แต่ยังคงความเป็นโรงแรมที่ตั้งข้างโบราณสถานอย่างเคารพนบนอบ

กิมมิกแรกคือการสร้างโรงแรมให้ตรงตามความเชื่อของคนทางเหนือที่ว่า เมื่อสายตาของพระพุทธรูปหันไปทางไหน บริเวณนั้น ๆ ไม่ควรสร้างอะไรต่อมิอะไรขึ้น โรงแรมแห่งนี้จึงเน้นความโปร่ง โล่ง สบาย ตัวอาคารออกแบบให้มีลมเข้า-ออกได้ง่าย ๆ ส่วนบนหลังคาก็มีกระจกเพื่อให้แสงส่องถึง ทั้งยังมีโถงรวมที่เปิดให้คนได้นั่งกับพื้น เพื่อแสดงความเคารพเจดีย์และเสพบรรยากาศธรรมชาติไปพร้อมกัน จนอทิตาได้รับรางวัล Green Hotel เชียวนะ

Athita : โรงแรมจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือของคนเชียงแสน ที่อยากให้เชียงแสนเป็นที่รู้จัก

ส่วนกิมมิกที่สองนั้นเป็นกิมมิกที่เราว่าน่ารักสุด ๆ 

“ถ้าฉันจะทำโรงแรม ฉันจะต้องทำพื้นที่สาธารณะให้คนเข้ามาไหว้พระ และมาชื่นชมความงามของเจดีย์นี้จากด้านหน้าให้ได้” โรงแรมแห่งนี้จึงมีกำแพงกั้นจากโลกภายนอก 2 ชั้น ชั้นหนึ่งมีไว้เพื่อให้ผู้เข้าพักในโรงแรมได้ใช้ อีกชั้นหนึ่งมีไว้เพื่อเป็นถนนนำเข้าไปยังวัดอาทิต้นแก้ว ซึ่งมีห้องน้ำสาธารณะอำนวยความสะดวกด้วย 

กิมมิกสุกท้ายเกิดขึ้นจากความศรัทธาในพุทธศาสนาของแอน และความเชี่ยวชาญในวัฒนธรรมของสถาปนิก นั่นคือเมื่อเข้ามายังอทิตา สิ่งที่สะดุดตาเป็นอย่างแรกอาจไม่ใช่อาคารที่พัก แต่คือพื้นที่โล่งขนาดกว้างหรือ ‘ข่วง’ ที่ออกแบบตามลานวัด เพื่อให้คล้องกับการเป็นโรงแรมหน้าวัดอาทิต้นแก้ว

“สมัยก่อนหน้าวัดก็คือลานวัดที่เรียกว่า ‘ข่วง’ เหมือนเวลาเราไปงานวัดแล้วจะเห็นคนขายของ มีม้าหมุน ฉายหนังกัน และเวที เรากับสถาปนิกก็คิดเหมือนกันเลยว่า อยากคงความเป็นข่วงไว้ ด้านหน้าโรงแรมจึงมีข่วงโล่ง ๆ ในห้อง Deluxe และ Lotus รวมถึงโถงต่าง ๆ ก็จะมีข่วงเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ด้วย 

“เลยเป็นที่มาของประโยคที่ว่า ‘Athita The Hidden Court Chiang Saen’ ซึ่งคำว่า ‘อทิตา’ ก็มาจากวัดอาทิต้นแก้วนี่แหละ และชื่อนี้นั้นหมายถึงมรดกที่จะสืบต่อไปในอนาคต เพราะวัดอายุห้าร้อยปีก็ยังยืนตั้งอยู่ได้ โรงแรมของเราก็อยากจะอยู่นาน ๆ เป็นมรดกตกทอดที่แม้วันหนึ่งเราจะจากไป อทิตาก็ยังคงอยู่” เธอเล่าความตั้งใจ

สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน
สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

นอนอย่างเชียงแสน

หลังเดินชมบรรยากาศความเป็นเชียงแสนภายนอกสักพัก แอนพาเราไปแวะชมห้องพักตั้งแต่ชั้นหนึ่งยันชั้นสอง เริ่มจากชั้นแรกประกอบด้วยห้อง Deluxe และห้อง Lotus อย่างละ 2 ห้อง รวมเป็น 4 ห้อง 

จุดร่วมของ 2 ห้องนี้คือความเป็นห้องพักไม้สุดไพรเวต มีข่วงเล็ก ๆ และอ่างอาบน้ำแบบกลาซเฮาส์ให้นอนหลับพักผ่อน ความต่างคือห้อง Deluxe นั้นประดับประดาด้วยกำแพงไม้ไผ่ ชวนให้เรานึกถึงธรรมชาติกลางป่าเขาอย่างไรอย่างนั้น ส่วนห้อง Lotus คือห้องที่นอกจากมีข่วงเล็ก ๆ ส่วนตัวแล้ว ยังมีสระบัวน้อย ๆ ให้เราได้สงบจิตใจ
เมื่อออกจากห้อง Deluxe และห้อง Lotus ขึ้นไปยังชั้น 2 เราจะพบกับห้อง Pagoda View 5 ห้องซึ่งเป็นห้องที่เราต้องเอ่ยชมว่าน่ารักไปเรื่อย ๆ เพราะนอกจากให้ความรู้สึกถึงบ้านไม้แล้ว ยังได้เห็นการต่อไม้แบบโบราณที่คานและบริเวณต่าง ๆ ของห้อง ทั้งยังเป็นห้องที่แม้ไม่มีข่วงเป็นของตัวเอง แต่เราจะเห็นข่วงขนาดโล่งกว้างด้านหน้าโรงแรม เห็นเจดีย์ของวัดอาทิต้นแก้ว ชุมชนชาวเชียงแสน และต้นไม้ใบหญ้าชวนสบายตา

ขอบอกว่าห้องไหน ๆ ก็เย็นสบาย และสัมผัสความเป็นเชียงแสนได้ลงลึกถึงแก่นจริง ๆ 

สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

กิ๋นอย่างเชียงแสน

หลังเอนกายในห้องพักหลากสไตล์สุดน่ารักและใส่ใจรายละเอียดทั้ง 3 ห้องเรียบร้อย แอนพาเรามาชิมอาหารเลื่องชื่อของเชียงแสนที่เตรียมไว้ต้อนรับแขก ทั้งข้าวซอยเนื้อสูตรโบราณ เมี่ยงอทิตา และข้าวอบหมูเมินสุดหอม

“อทิตาตั้งอยู่ในเวียงซึ่งก็คือวัง เชียงแสนจึงมีสูตรอาหารเฉพาะ แต่เราไม่เคยรู้ที่มาที่ไปมาก่อน อาหารต่าง ๆ ที่เราคัดสรรมาจึงมีเรื่องราวซ่อนอยู่ อย่างข้าวซอยเนื้อที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก ก็มีคำถามว่าทำไมมันต้องเป็นเนื้อ ทำไมไม่เป็นหมูหรือไก่แบบขนมจีนน้ำเงี้ยวล่ะ ก็เพราะคนไทยสมัยก่อนรับข้าวซอยมาจากจีนฮ่อ ซึ่งเป็นอิสลามนั่นเอง 

“สมัยก่อนหน้าวัดอาทิต้นแก้วจะมีสระบัว เราหยิบเรื่องตรงนี้มาให้เชฟออกแบบเป็นเมี่ยงอทิตา เป็นเมี่ยงกลีบบัวที่จะมีความฝาดของกลีบบัวน้อย ๆ ผสมกับความจัดของเครื่องปรุง หรือเมนูข้าวอบหมูเมิน ซึ่งมีกลิ่นเครื่องเทศจีนผสมเพราะเชียงแสนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะคำว่า ‘เมิน’ นั้นแปลว่าน้านนาน”

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบออร์แกนิกทั้งสิ้น เพราะแอนทานและใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว ทั้งกาแฟที่เสิร์ฟในคาเฟ่เล็ก ๆ ของโรงแรมก็ยังใช้กาแฟออร์แกนิกของชาวเขาเช่นกัน 

อ้อ ความน่ารักอีกข้อของอทิตาคือวันไหนที่ต้นไม้ออกผล เราจะได้ทานกันสด ๆ จากต้น หากใครเป็นสายมะพร้าวน้ำหอม แอนก็เก็บมะพร้าวจากสวนมะพร้าวของเธอที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมมาให้ชิมเพลิน ๆ ด้วย

สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน
สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

อยู่อย่างเชียงเสน

“ระหว่างที่อทิตายังสร้างไม่เสร็จ สิ่งที่เราคิดอยู่เสมอคือ เราต้องใช้ถนนร่วมกับชาวบ้าน บางครั้งเราอาจสร้างเสียงดังรบกวนคนแถวนี้ เราจึงคิดต่อว่าแล้วเรามีอะไรที่จะแบ่งปันและทำร่วมกับชุมชน ทำให้คนในชุมชนได้ทำสิ่งที่ถนัดอย่างสุขใจ และได้เงินดำรงชีวิต ซึ่งจริง ๆ มันมีคุณค่ามากกว่านั้นบ้างมั้ย” แอนบอกถึงความตั้งใจที่สำคัญไม่แพ้กระบวนการก่อสร้างอย่างเชียงแสน

นอกจากได้สัมผัสความเป็นเชียงแสนแบบดั้งเดิม ผ่านการพักพิงอิงแอบที่ห้องหับน้อย ๆ และโถงโปร่งสบาย ณ อทิตาแล้ว เราจะได้เข้าใจความเป็นเชียงแสนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองที่เจริญแต่ยังคงรักษาวิถีชุมชนไว้ได้อย่างดี ผ่านกิจกรรมปั่นจักรยานชมเมือง ที่แขกไปใครมาก็มีจักรยานให้ยืมปั่นฟรี ๆ แต่หากใครไม่อยากปั่นให้เหนื่อย แอนก็ติดต่อคุณลุงตุ๊กตุ๊กไว้พาเที่ยวไปจนถึงสามเหลี่ยมทองคำบ้าง ถึงวัดพระธาตุผาเงาบ้าง นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมล่องเรือแม่น้ำโขงที่คุณลุงจะพาไปชมอาทิตย์อัสดง 3 ชาติ เราจะเห็นตะวันค่อย ๆ ลับฟ้า ณ ดินแดนของทั้ง ไทย ลาว และพม่า เลยนะ

สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

ไม่พอ เพราะเชียงแสนเป็นเมืองที่รุ่มรวยวัฒนธรรม นอกจากกิจกรรมท่องเที่ยว แอนยังพาแขกไปนวดย่ำขาง เป็นการนวดไฟโบราณที่ผู้นวดจะเอาเท้าตัวเองไปเหยียบไฟให้ร้อนแล้วมานวดให้เรา แต่หากใครเป็นสายมู แอนก็อยากแนะนำให้รู้จักการดูดวงแบบล้านนา ส่วนใครเป็นสายคราฟต์ ก็เตรียมมามัดย้อมผ้าด้วยใบสักและทำตุงด้วยกัน

“เราอยากให้ผู้เข้าพักได้รู้สึกถึงความเป็นเชียงแสน และรู้สึกว่าที่นี่เหมือนที่พักใจ ทุกวันนี้เราอยู่กรุงเทพฯ และทำงานหนัก เจอเรื่องมากมาย ถามว่าหลับมั้ย มันก็หลับ แต่ไม่สงบ แต่การได้มาพักที่อทิตา เหมือนเราได้หลีกหนีความวุ่นวายในชีวิตประจำวันมาพักในพื้นที่สงบปลอดภัย มีอาหารอร่อย และอยู่ท่ามกลางชุมชนที่เป็นมิตร

“เราอยากให้คนได้มารู้จักที่นี่จริง ๆ แต่ก็อยากให้มาเที่ยวอย่างอนุรักษ์ตามความตั้งใจของเราเช่นกัน เพื่อให้เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้อยู่อย่างสงบและสวยงามไปนาน ๆ” แอนทิ้งท้ายความตั้งใจของการทำอทิตากับเรา

เราหวังว่าเมื่อโอกาสหน้าฟ้าใหม่ จะได้ไปพักใจท่ามกลางความเป็นเชียงแสนของเธออีกครั้ง

สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน
สัมผัสเชียงแสนในอดีตและปัจจุบันผ่านโรงแรมขนาด 9 ห้องของคนเชียงแสน ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

ATHITA Hotel

ที่ตั้ง : 984 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

โทรศัพท์ : 06 3426 9464

เว็บไซต์ : athitahotel.com

Facebook : Athita The Hidden Court Chiang Saen

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

จารุเกียรติ หน่อสุวรรณ

งานประจำก็ทำ ช่างภาพก็อยากเป็น