วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันศุกร์ธรรมดาวันหนึ่ง แต่เป็นวันที่มีความหมายอย่างมากของบรรดาช่างภาพและคนรักการถ่ายภาพในไทย 

เพราะวันนั้นเป็นวันประกาศรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) รางวัลที่ถือว่าเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งของโลก มอบแก่คนทำงานในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย และวรรณกรรม ซึ่งมีการมอบรางวัลนี้มายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว เรียกว่าเป็นเหมือนรางวัลออสการ์ของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ก็ว่าได้ แต่ที่มันพิเศษจนเราต้องหยิบมาเล่าให้ฟัง คือมีช่างภาพชาวไทยคนหนึ่งได้รับรางวัลนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยในสาขา Breaking News ประจำปี 2020

ชุม-อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา คือช่างภาพคนนั้น แต่ก่อนอื่นผมขอออกตัวก่อนว่า ชุมไม่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์แต่เพียงผู้เดียว เพราะรางวัลนี้มอบให้กับทีมช่างภาพจากสำนักข่าว รอยเตอร์ ที่ถ่ายภาพบันทึกการชุมนุมของชาวฮ่องกงตลอดหลายเดือนที่นั่น ซึ่งการมอบรางวัลให้กับทั้งทีมแทบเป็นเรื่องปกติของวงการภาพข่าว ด้วยสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและใหญ่โตมากขึ้น การส่งทีมงานหลายคนไปช่วยกันถ่ายทอดเรื่องราวจึงเป็นสิ่งจำเป็น และแทบทุกสำนักข่าวก็ทำแบบนั้นกันหมด ยังไงการที่ช่างภาพชาวไทยได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ระดับโลกนี้เป็นครั้งแรก ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดีอย่างมากอยู่ดี เพราะสิ่งนี้น่าจะเป็นเหมือนเชื้อไฟส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในยุคเดียวกันหรือยุคต่อไปได้มองเห็นและยึดเอาไว้ให้เดินตาม ในอนาคตเราอาจจะมีช่างภาพไทยได้รางวัลพูลิตเซอร์อีกหลายต่อหลายคนก็ได้ ใครจะรู้

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes

ผมติดต่อขอนัดเจอกับชุมที่ร้านกาแฟแถวบ้านเขาเพื่อพูดคุยกัน หลังบทสนทนาเคล้าเสียงหัวเราะผสมกลิ่นกาแฟ ผมก็ได้พบว่า ชีวิตของช่างภาพคนนี้เป็นเหมือนภาพยนตร์สักเรื่องที่เต็มไปด้วยบทและฉากที่น่าตื่นเต้น ไม่แพ้รางวัลใหญ่ที่เขาพึ่งได้มาหมาดๆ เลย เขาเป็นเด็กผู้ชายที่ไม่แม้แต่เคยจับกล้องหรือสนใจการถ่ายรูปมาก่อน บังเอิญมาจับกล้องถ่ายรูปเพียงเพราะแค่ต้องการหาอุปกรณ์ฆ่าเวลายามไปเดินป่าพักผ่อน 

ด้วยความรักและหลงใหลในการบันทึกภาพ จึงพาให้เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำงานถ่ายภาพอันเป็นความฝัน ก่อนจะพบกับความล้มเหลว แต่เขาก็ไม่ย่อท้อและยอมทิ้งงานประจำเงินเดือนดีอีกรอบ เพื่อมาทำงานเป็นช่างภาพนิตยสารท่องเที่ยว ก่อนจะเจอว่าบริษัทที่เขาเอาชีวิตไปเสี่ยงทำนั้นต้องปิดตัวลง เขาจึงต้องย้ายงานมาถ่ายสิ่งอื่นๆ แต่ด้วยการชอบเรียนรู้ เขาฝึกหัดพัฒนาตัวเองอย่างหนักจนสามารถยืนระยะถ่ายภาพได้หลากหลาย ก่อนจะย้ายมาหาความท้าทายใหม่กับการถ่ายข่าวในหนังสือพิมพ์ และเจอกับการปิดตัวของบริษัทอีกรอบ

เขากลายมาเป็นช่างภาพข่าวอิสระที่ไปถ่ายทั้งการชุมนุมประท้วง เหตุการณ์ความไม่สงบ และภัยพิบัติ มาตลอด จนได้รับรางวัลในวงการภาพข่าวมาแล้วมากมาย ก่อนที่จะกลับมาเป็นช่างภาพประจำอีกครั้งกับสำนักข่าวรอยเตอร์ 

จากวันแรกที่เขาลาออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นช่างภาพจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 20 ปี รางวัลที่ได้มาล่าสุดน่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตสู่การเป็นช่างภาพของเขานั้นเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว ไม่แปลกใจที่ผมได้ยินคำพูดติดปากที่เขาพูดอยู่บ่อยๆว่า “ไม่ทำเสียดายกว่า”

และนี่คือชีวิตอันแสนสนุก ตื่นเต้น และท้าทายของ อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา 

ขอเชิญรับชมไปพร้อมกัน

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes

ฉากที่ 1 : ช่างภาพฆ่าเวลา

“ผมไม่เคยสนใจการถ่ายรูปมาก่อน และกล้องถ่ายรูปสำหรับผมในวัยเด็กนั้นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย” ชุมเล่าย้อนถึงความเป็นอยู่ในวัยเด็ก เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะไม่สู้ดีนัก พ่อแม่แยกทางกัน ชุมอาศัยอยู่กับแม่ ยาย และน้าๆ อีกหลายคน ภาพจำวัยเด็กของเขาคือชีวิตปากกัดตีนถีบ ทำงานหารายได้อยู่ตลอดเวลา เงินก้อนอันเป็นของที่ได้มาด้วยความยากลำบากของครอบครัวถูกใช้เพื่อส่งให้เขาได้เรียนต่อสายอาชีพ ก่อนจะใช้วุฒิสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์ในคณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากเรียนจบ ชุมก็มุ่งเป้าทำงานในสายงานด้านเครือข่ายเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ตามที่ได้เรียนมา

“อาชีพตอนนั้นคือดูแลพวกเครือข่ายต่อพ่วงตามบริษัทและโรงงานต่างๆ งานแรกที่ทำก็อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความเบื่อรถติด ผมเลยย้ายไปทำงานในโรงงานที่อยุธยาแทน ซึ่งงานอย่าง Network Engineer มันเหมือน รปภ. คนหนึ่งในโรงงานเลยนะ อาชีพหลักๆ คือสแตนด์บายรอเผื่อว่าจะมีปัญหาด้านเครือข่ายเกิดขึ้น แล้วก็แก้ไขซ่อมแซมเท่านั้นเอง 

“ช่วงแรกที่เข้าไปทำก็สนุกดี เพราะมันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์การเชื่อมต่อ ผมถูกส่งไปเทรนนิ่งที่เมืองนอก กลับมาก็มาติดตั้งระบบต่างๆ ของทั้งโรงงาน ตอนนั้นเราทำงานเนี้ยบมากเลย ตอนติดตั้งก็ทำไว้อย่างเป็นระบบ มีการจดบันทึก ทำเป็นคู่มือไว้ด้วย ทำไปสองปี พอระบบเสร็จทุกจุดก็จบเลย ไม่มีอะไรทำ (หัวเราะ) ในทุกวันการมาทำงานคือมานั่งมอนิเตอร์ดูว่ามีตรงไหนเสียหรือติดขัดก็ส่งช่างไปตรวจแค่นั้นเอง”

ผมถามว่า แล้วชีวิตของวิศวกรระบบเครือข่ายมาพบเจอกับกล้องถ่ายรูปกันตอนไหน

“ด้วยฐานะทางบ้าน ตั้งแต่เด็กโตมาจนเรียนจบ ผมไม่เคยมีงานอดิเรกหรือเดินทางไปท่องเที่ยวเลย พอเรามาทำงาน ตอนนั้นเริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้แล้ว ผมเข้าไปเล่นเว็บบอร์ด Pantip ตอนนั้นยังไม่มีห้องกล้องเลย มีแต่ห้องท่องเที่ยว เจอคนโพสต์หาคนมาร่วมทริป เป็นการหาคนมาช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายกัน ซึ่งเป็นทริปสามวันสองคืน ราคามันไม่ได้แพงมาก ก็เลยลองไปร่วมทริปกับเขา สมัยนั้นผมไปเที่ยวเข้าป่าแบบแบกเป้ไปกับกีตาร์ กลางคืนก็ร้องเพลงกันป่าลั่นซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย มันรบกวนป่า รบกวนคนอื่น ก็เลยมามองหากิจกรรมอย่างอื่นที่มันสงบกว่านั้น 

“ก็ได้เห็นคนอื่นๆ เขาถ่ายรูปกัน ตอนนั้นที่ชอบเพราะรู้สึกว่าเราได้บันทึกอะไรบางอย่าง กับอีกอย่างหนึ่งคือมันเป็นกิจกรรมฆ่าเวลาที่ดี เวลาเราเดินป่าขึ้นเขา ตอนเดินตอนคลานขึ้นไปบนยอดเขาก็สนุกดี แต่พอไปถึงยอดเขาแล้วมันไม่มีอะไรให้ทำ ได้แต่ชื่นชมบรรยากาศไปเรื่อยๆ แต่การถ่ายรูปตอบโจทย์ตรงนี้ ผมเลยลองยืมกล้องเพื่อนมาใช้ถ่ายดู แล้วก็เริ่มฝึกฝนด้วยตัวเอง” ชุมเล่าถึงก้าวแรกสู่การถ่ายภาพ

ด้วยความสนใจใฝ่รู้และเป็นคนที่ทำอะไรแล้วก็อยากทำให้มันออกมาดี ชุมที่อาศัยการมาต่อรถที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ในตอนนั้นแวะเข้าร้านหนังสือ เพื่อเข้าไปอ่านหนังสือสอนถ่ายภาพในร้าน ก่อนจะกลับบ้านก็เอาตั๋วรถเมล์เสียบคั่นหน้าที่อ่านค้างไว้ ครั้งหน้าจะได้มาอ่านต่อ และชุมยังเข้าไปอ่านเว็บบอร์ดต่างๆ ที่พูดถึงการถ่ายภาพทั้งหมด 

ชุมเคยได้ยินคนบอกว่า ถ้าอยากถ่ายภาพให้เก่งเร็วต้องใช้ฟิล์มสไลด์ เพราะด้วยช่วงการรับแสงที่แคบกว่าฟิล์มเนกาทีฟปกติ ภาพจึงออกมาใกล้เคียงตามที่ถ่ายออกมามากกว่า และจะได้รู้ข้อผิดพลาดในการถ่ายภาพแต่ละใบได้ทันที แม้ฟิล์มสไลด์จะมีราคาสูงมากและ 2 ม้วนแรกที่ถ่ายออกมาจะมืดสนิท แต่ชุมก็ยินดีซื้อมาใช้ต่อไป 

ในช่วงนั้นชุมก็เริ่มออกไปเที่ยวบ่อยขึ้น และในจังหวะนั้น ในเว็บไซต์ Pantip มีการตั้งห้องกล้องแยกออกมาพอดี ชุมจึงได้มีโอกาสพบเจอสมาชิกในห้องกล้อง ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นบรรดาช่างภาพมืออาชีพทั้งนั้น และทุกคนก็เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่สอนและมอบความรู้ให้กับชุมมาโดยตลอด 

สถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นเป็นยุคฟองสบู่แตก เศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ ทางโรงงานเลยเริ่มปลดพนักงานออก และด้วยงานของชุมที่ค่อนข้างอยู่ตัว ระบบเน็ตเวิร์กที่ทำไว้ถ้าไม่มีอะไรเสียเขาก็จะไม่มีงานอะไรต้องทำ ประกอบกับทางบริษัทมีการเปิดให้สมัครใจลาออก ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ชุมเลยได้ตัดสินใจสมัครใจลาออกจากงานประจำและตัดสินใจซื้อกล้อง เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัว

“ตอนนั้นผมซื้อกล้องตัวแรกในชีวิตด้วยเงินตัวเอง เพราะมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ราคากล้องมันกระโดดไปเท่าตัวเลย ถ้าไม่ซื้อไว้ตอนนั้นก็คงไม่มีโอกาสได้ซื้ออีกต่อไป ก็เลยรีบไปซื้อจากร้านที่ยังเป็นสต็อกเก่าอยู่ ตอนนั้นถ่ายรูปมาเยอะแล้ว เอารูปให้ใครดูก็มีแต่คนบอกว่าถ่ายสวย เราเลยคิดเอาเองว่าเราก็ถ่ายรูปเก่งพอตัวอยู่นะ ตอนนั้นลำพองมากๆ เลย” (หัวเราะ)

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes

ฉากที่ 2 : การกระโดดหน้าผาแบบไม่มีร่มชูชีพ

การที่ชุมตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อหวังจะมาประกอบอาชีพเป็นช่างภาพโดยไม่ได้มีงานรองรับนั้น เจ้าตัวเรียกการทำสิ่งนี้ว่า ‘การกระโดดตึกแบบไม่มีร่มชูชีพ’ และที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว แต่ทำอยู่ถึง 2 ครั้ง

“ตอนที่ออกมาจากทางโรงงานก็ได้เงินชดเชยมาก้อนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร เราคิดว่าน่าจะพอเอาตัวรอดได้ ผมฝันอยากเป็นช่างภาพแลนด์สเคปถ่ายภาพวิวธรรมชาติ ในยุคนั้นยังไม่มีเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กแบบในตอนนี้ ผมก็เดินเข้าร้านหนังสือเลย หยิบนิตยสารท่องเที่ยวมาครบทุกหัว เปิดดูหน้าทีมผู้จัดทำแล้วก็โทรไปสมัครเป็นช่างภาพ ก่อนเอาฟิล์มสไลด์ที่เราถ่ายเก็บไว้มารวมเป็นพอร์ตแล้วไปวางไว้ให้กองบรรณาธิการดู ทำเวียนแบบนี้ไปเรื่อยอยู่สามสี่เดือนก็ไม่ได้งานเลย ที่ใกล้เคียงที่สุดคือมีนิตยสาร Young Traveller ซึ่งเป็นนิตยสารในเครือของ อ.ส.ท. ติดต่อมาให้มาเป็นนายแบบในทริป เหมือนกับฝึกงานนั่นแหละ คือไม่มีเงินให้ แต่มาอยู่กินกันในออฟฟิศและลองถ่ายรูปดู ถ้าถ่ายดีก็อาจจะมีงานต่อไปอะไรแบบนั้น 

“ทริปแรกก็ไปเป็นแบบให้เขาถ่าย เราฝึกถ่ายมาก็เอางานมาให้ บ.ก. ดู เขาบอกว่าคุณน่ะถ่ายโอเค แต่รูปคุณมีแต่รูปที่หมายอย่างเดียว ไม่มีบรรยากาศระหว่างทางเลย นึกออกมั้ย ถ้าขึ้นภูกระดึง คือผมเดินจนถึงยอดแล้วค่อยหยิบกล้องออกมาถ่ายที่ยอดอย่างเดียว ทีนี้เราเลยเริ่มได้เรียนรู้มากขึ้นแล้ว หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ตามช่างภาพของนิตยสารออกไปถ่ายอีกหลายๆ งาน ได้เงินบ้าง ไม่ได้เงินบ้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไปอีกหลายเดือน เงินชดเชยที่ได้มาก็เริ่มจะหมดแล้ว เพราะผมไม่เคยบอกเรื่องลาออกมาหางานเป็นช่างภาพกับที่บ้านเลย ไม่กล้าบอก คนที่บ้านก็ไม่รู้จักอาชีพช่างภาพ ผมเลยยังส่งเงินให้ที่บ้านทุกเดือน ค่าเช่าคอนโดฯ ก็ต้องจ่ายเพราะย้ายออกมาอยู่เองแล้ว จนสุดท้ายเราคิดว่าการจะมาเป็นช่างภาพอาชีพเนี่ยมันไม่น่าจะรอด ก็เลยร่อนใบสมัครกลับไปเป็นวิศวกรอีกครั้งหนึ่ง” ชุมเล่าถึงการกระโดดตึกแบบไม่มีร่มชูชีพครั้งแรก

สุดท้ายชุมได้กลับมาเป็นวิศวกรระบบประจำโรงงานอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ทิ้งความคิดและความฝันเรื่องการเป็นช่างภาพไปแล้ว การกลับมาทำงานคราวนี้ได้เงินเดือนที่ดีขึ้น และมีงานที่ท้าทายกว่างานเก่าอยู่เยอะมาก แต่โชคชะตาก็มักเล่นตลกอยู่เสมอ หลังจากทำงานในบริษัทใหม่พ้นช่วงทดลองงานมาได้สัก 4 เดือน ชุมก็ได้รับโทรศัพท์จากทางนิตยสาร Young Traveller ที่โทรมาชวนให้มาเป็นช่างภาพประจำ โดยได้เงินเดือนเริ่มต้น 9,000 บาท น้อยกว่างานที่ทำในตอนนั้นอยู่หลายเท่า

“ผมลืมความรู้สึกว่าอยากเป็นช่างภาพไปแล้ว รับโทรศัพท์แล้วรู้สึกเหมือนโดนค้อนมาทุบหัว ผมนั่งคิดสักพักแล้วก็เดินไปขอลาออกเลย ผมเป็นคนที่กระโดดหน้าผาแบบไม่ใส่ร่มชูชีพสองครั้ง ตอนแรกตายไปแล้ว แต่ฟื้นขึ้นมาที่โรงงานแล้วก็มาโดดอีกรอบ (หัวเราะ) คราวนี้ไม่มีเงินติดตัวแล้วด้วยนะ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ไร้เหตุผลมากๆ เลย แต่ในใจก็พยายามคิดว่ากูรอดแหละๆ 

“เราคิดเอาเองว่างานวิศวกรเราเคยทำมาแล้ว เรารู้ว่ามันจะไปจบที่ไหนยังไงบ้าง ขอลองไปทำอย่างอื่นที่ยังไม่เคยทำดีกว่า แล้วผมเคยไปลองใช้ชีวิตหวานอมขมกลืนของการเป็นช่างภาพมาแล้ว ถึงเกือบไม่มีจะกิน แต่เรามั่นใจแน่ๆ แล้วว่าเราชอบการถ่ายรูป ขอลองได้ทำเป็นอาชีพในในวงการถ่ายรูปเถอะ” ชุมเล่าถึงการหันกลับมาสู่เส้นทางการเป็นช่างภาพอีกครั้ง

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes

ฉากที่ 3 : เข้าแก๊งไหนหัวหน้าตายหมด

ทุกอย่างเหมือนจะเข้ามาอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง แต่โชคชะตานั้นชอบเล่นตลกกับชีวิตของคนเดิมๆ อยู่หลายครั้ง เพราะหลังจากที่ชุมเข้ามาเป็นช่างภาพประจำอยู่ที่นิตยสารนี้ได้เพียง 6 เดือน นิตยสารเล่มดังกล่าวก็ปิดตัวลง

“ตอนที่ได้เข้ามาทำที่นี่มันสนุกมากเลย ผมชอบบรรยากาศในกองบรรณาธิการมาก มันเป็นออฟฟิศเล็กๆ ในบ้าน ไม่ได้เข้างานเป็นเวลา บรรยากาศการทำงานก็ดี ทุกๆ เดือนก็มานั่งคุยกัน แพลนว่าเล่มอีกสองเดือนข้างหน้าจะเป็นอะไร เดือนนั้นเป็นหน้าฝนจะไปเที่ยวป่าฝนที่ไหนดี แวะไปที่ไหนบ้าง 

“และนอกจากการเป็นช่างภาพแล้ว ผมยังได้รับหน้าที่อีกอย่างหนึ่งก็คือการคัดสไลด์ คือเมื่อก่อนเวลาช่างภาพส่งงานมาจะส่งเป็นฟิล์มสไลด์ทั้งม้วน แล้วก็มาดูกันว่าจะใช้รูปอะไรในหน้าไหนบ้าง แล้วก็วงไว้ทีนี้เฟรมพวกนั้นก็จะถูกส่งไปสแกนเพื่อมาวางเลย์เอาต์หน้าหนังสือแล้วก็จะไม่มีใครไปยุ่งกับมันอีก ผมก็เลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เอาฟิล์มทั้งหมดมาคัดเลือก เอาเฉพาะรูปที่ใช้ลงหนังสือมารวมกันในแฟ้มเดียว ซึ่งสิ่งนี้มันช่วยผมมากเลย เพราะผมได้รู้หมดเลยว่าช่างภาพแต่ละคนเขาถ่ายอะไรมาบ้างในหนึ่งม้วน ถ่ายคร่อมกี่สตอป ใช้เลนส์อะไรบ้าง องค์ประกอบยังไง ช่างภาพแลนด์สเคปสมัยก่อนนี่คือเนี้ยบมากเลยนะ ไม่มีการครอปรูปเลย ถ้าภาพปกคือตั้งใจถ่ายมาลงเป็นปก เว้นที่เผื่อวางตัวหนังสือทุกอย่างมาเป็นอย่างดี 

“เวลาออกกองแต่ละครั้งเราก็ลองเอาเทคนิคที่เห็นมาลองใช้บ้าง มันทำให้เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วเลยนะ จนกระทั่งหนังสือปิดตัวลง เจ้านายก็ช่วยคุยกับเพื่อนในวงการนิตยสารให้เราลองเอางานไปเสนอดู” ชุมเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ได้รับฉายาว่าเข้าแก๊งไหนหัวหน้าตายหมดของเขา

หลังจากที่เอางานไปเสนอ ชุมก็ได้งานใหม่เป็นช่างภาพของบริษัทรับผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ให้กับบริษัทองค์กรต่างๆ อย่างนิตยสารแจกฟรีให้กับสมาชิกของบัตรเครดิตต่างๆ ซึ่งทำให้เขาได้ถ่ายงานที่หลากหลายทุกรูปแบบ ทั้งงานตีกอล์ฟ ร้านอาหาร ถ่ายสัมภาษณ์ผู้บริหาร ไปจนถึงงานอีเวนต์

“ตอนที่ย้ายเข้าไป ผมเป็นเหมือนช่างภาพส่วนกลางของแผนก มันจะมีตารางปฏิทินงานติดอยู่ในออฟฟิศ นักเขียนก็จะมาลงตารางงานไว้ ตอนเช้าผมเข้าออฟฟิศมาล้างฟิล์มแล้วก็มาดูตารางว่ามีงานวันไหนบ้าง คือผมได้ถ่ายงานที่หลากหลายขึ้นมาก ไม่ได้ถ่ายแค่แลนด์สเคปอย่างเดียว แต่ตอนนั้นผมรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งอยู่ที่พวกงานถ่ายกลางแจ้ง เพราะว่าช่างภาพคนอื่นๆ ในบริษัทไม่อยากไปถ่ายข้างนอก อยากถ่ายห้องอาหาร ถ่ายเซ็ตสตูดิโอมากกว่า ซึ่งมันมีนิตยสารกอล์ฟอยู่เล่มหนึ่งที่ผมเป็นคนไปถ่าย หกเดือนแรกผมถ่ายแต่งานเอาต์ดอร์หมดเลย แต่งานอย่างอื่นเราก็อยากพัฒนาให้มันดีขึ้นด้วย

“ตอนที่ไม่มีงานผมก็ไปดูคิวคนอื่นว่าเขาถ่ายอะไรกันบ้าง ไปช่วยงานเขาตอนที่ถ่าย ช่วยเขาจัดไฟ เปลี่ยนฟิล์ม ดูเขาถ่ายแฟชั่นกัน ก็ช่วยให้เรารู้จักและเข้าใจวิธีการถ่ายงานแบบอื่นๆ มากขึ้น ทีนี้พอเราเริ่มถ่ายได้ดีขึ้น ก็เริ่มได้ไปถ่ายงานทั้งสัมภาษณ์ อีเวนต์ ส่วนหนึ่งเพราะผมเป็นคนใช้งานง่าย ใครเรียกเราไปหมด เพราะเราชอบและสนุกกับเรื่องใหม่ที่ได้เรียนรู้”

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes

ฉากที่ 4 : ก้าวแรกสู่สังเวียน (ข่าว)

เพื่อนนักเขียนในบริษัทคนหนึ่งของชุมได้ยินเรื่องการเตรียมเปิดหัวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับใหม่ในเครือผู้จัดการขึ้น (The International Herald Tribune) เลยบอกชุมให้ไปลองยื่นผลงานดู ด้วยความที่มองหางานที่มันท้าทายขึ้น เขาเลยได้ไปสมัครเป็นช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์ที่กำลังจะเปิดใหม่นี้ และเขาก็ได้รับเลือกเป็นช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

“ช่วงที่ทำอยู่กับนิตยสารก่อนหน้าก็มี บ.ก. บางคนในเครือชอบงานผมและบรีฟให้ไปถ่ายงานสารคดี คือมีโจทย์หลวมๆ ให้ อย่างสิบสิ่งในกรุงเทพฯ ที่คุณไม่เคยเห็น มันได้เริ่มทำงานกับนักเขียนในการตีโจทย์ให้เป็นภาพ ผมก็เริ่มชอบและสนใจในการถ่ายงานแบบนี้ ประกอบกับเริ่มอิ่มตัวในงานนิตยสาร เลยลองยื่นผลงานไปให้กับทางหนังสือพิมพ์ จนได้มาสัมภาษณ์และได้งาน จับพลัดจับผลูมาเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ตอนนั้น” ชุมเล่าถึงการได้ขยับมาเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ครั้งแรก

ชุมให้เราฟังถึงระบบหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น ที่ก่อนเปิดตัววางแผงขายจริงจะมีการทดลองระบบให้ทุกคนทำงานเหมือนจริงแต่ไม่มีการพิมพ์และวางจำหน่ายดู ทั้งการถ่ายการ การเขียน และการวางหน้าเลย์เอาต์ เหมือนเป็นสนามทดลองให้ชุมได้ปรับตัวกับบทบาทใหม่ นอกจากนี้ด้วยความที่ทางผู้จัดการเคยทำหนังสือภาษาอังกฤษมาแล้วรอบหนึ่งคือ ASIA TIMES ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่จ้างทีมงานต่างชาติมาทำงานแทบจะทั้งหมด จนมีรูปเล่มการจัดวางและรูปถ่ายที่คนให้การยอมรับอย่างมาก ชุมก็อาศัยเวลาว่างมานั่งเปิดอ่าน ดูรูป ศึกษาวิธีการทำงาน ซึ่งเป็นเหมือนคัมภีร์ในการทำงาน ก่อนที่จะได้เริ่มออกไปถ่ายภาพข่าวจริงๆ

ตัวผมเองในฐานะที่เป็นช่างภาพนิตยสารเช่นเดียวกัน เรานึกไม่ออกว่าการต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปถ่ายภาพข่าว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้ชุมต้องปรับตัวยังไงบ้าง หรือการเป็นช่างภาพนิตยสารมาก่อน มันมีข้อดีอะไรบ้างมั้ยในสายงานที่เปลี่ยนแปลงไป

“ปรับเยอะครับ สมัยนั้นผมนี่เป็นผู้ชายแถวสาม (หัวเราะ) คืออ่านสถานการณ์ข่าวไม่เป็นเลยเข้าไปไม่ถึงตัวแบบ อย่างเวลานายกฯ เดินออกมาจากทำเนียบก็ยืนอยู่ตรงด้านหลัง แล้วยกกล้องถ่ายเอาทุกครั้งเลย ไม่เคยถ่ายนายกฯ ที่ยืนอยู่ตรงหน้าได้เลย หรือบางงานเวลาถ่ายก็ออกมาไม่ตรงกับประเด็นของชิ้นข่าว เราพยายามแก้ไข ใครบอกเทคนิคหรือวิธียังไงเราก็ลองทำทั้งหมด การที่เป็นช่างภาพนิตยสารมาก่อนมันมีข้อดี คือ เขามองกันว่าคนถ่ายนิตยสารมาก่อนจะมองสภาพแสงหรือองค์ประกอบได้ดีกว่า เนี้ยบกว่า แต่มันก็มีข้อด้อย เพราะสมัยที่ถ่ายนิตยสาร เราเรียกตัวแบบให้หยุดให้เดินได้ สั่งให้ทำอะไรได้หมด แต่พอเป็นงานข่าวมันทำไม่ได้ ก็ต้องมาพัฒนาทักษะหน้างานนี่แหละ

“ตอนนั้นมันจะมีคำในหมู่ช่างภาพว่า ‘เจอกันบนแผง’ คือช่างภาพแต่ละคนถ่ายเสร็จเขาก็กลับออฟฟิศ จะได้เห็นงานของแต่ละคนที่ถ่ายมาก็ตอนที่มันวางแผงแล้ว ผมหยิบทุกหัวมาดูว่าแต่ละคนถ่ายยังไงกันบ้าง ทำให้เราค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ จากประสบการณ์หน้างาน ซึ่งก็ผิดอยู่เกือบทุกวันเป็นปีนะกว่าจะเริ่มเป็นช่างภาพที่คิดไวทำไว แก้ปัญหาตรงหน้าได้เร็วทันสถานการณ์” ชุมเล่าถึงการปรับตัวด้านการทำงานของตัวเอง

เราถามชุมว่าภาพข่าวที่ดีของเขาในยุคนั้นเป็นยังไง ชุมอธิบายว่า มันก็เป็นภาพที่บอกว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แค่นั้นเลย เพราะด้วยวิธีการวางรูปเล่มของหนังสือพิมพ์จึงใช้รูปภาพเดี่ยวเป็นหลัก ไม่ค่อยนิยมใช้ภาพชุด ภาพเดี่ยวๆ นั้นจึงต้องชัดเจนและอธิบายเหตุการณ์ข่าวได้ทั้งหมด การได้มาซึ่งภาพข่าวที่สมบูรณ์ครบจบในภาพเดียวจึงเป็นเรื่องท้าทายมากๆ รวมไปถึงงานถ่ายที่ค่อนข้างหลากหลายและเปลี่ยนไปในทุกวัน ทำให้ชุมหลงรักและสนุกกับอาชีพช่างภาพข่าวนี้มาก

ในตอนนั้นคุณถ่ายภาพข่าวออกมาเป็นรูปแบบ Photo Journalist รึยัง เราถามต่อ

“ผมถ่ายภาพเหมือนหุ่นยนต์นะ กดปุ่มปุ๊บก็ออกไปถ่ายได้ภาพข่าวกลับมา แต่ยังอ่อนในเรื่องการหาประเด็น อ่อนเรื่องการเข้าถึงตัวแบบ ไปจนถึงการถ่ายภาพสารคดี ซึ่งสิ่งที่ผมถ่ายนั้นยังอยู่ห่างไกลจากรูปภาพข่าวแบบ Photo Journalist มาก แม้แต่ตอนนี้ที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์มา ก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะยังเรียกตัวเองว่าเป็นคนถ่ายภาพแบบ Photo Journalist ได้รึเปล่า” คือคำตอบของชุม

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์, Pulitzer Prizes

ฉากที่ 5 : อิสระ-ภาพ

เส้นทางการเป็นช่างภาพข่าวของชุมดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้ว่า ในช่วงสิบกว่าปีก่อนผู้นำของเครือบริษัทผู้จัดการได้เดินเข้าไปสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัว และตัดสินใจปิดธุรกิจหลายๆ ส่วนของตัวเองไป หนังสือพิมพ์ The International Herald Tribune ที่ชุมทำงานอยู่ก็ไม่อยู่ในจุดที่รอดพ้นไปได้ ชุมได้กลับมาอยู่ในสถานการณ์ตกงานอีกครั้ง แต่สิ่งที่แตกต่างไป คือในช่วงเวลาที่ได้ทำงานเป็นช่างภาพข่าวอยู่นั้น ชุมได้ลงภาคสนามและพบเจอกับบรรดาช่างภาพต่างชาติที่มาถ่ายงานในบ้านเรา รวมถึงเคยช่วยแปลหรืออธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้บรรดาช่างภาพเหล่านั้นจากเอเจนซี่ต่างชาติอยู่หลายครั้ง เมื่อพ้นสภาพจากการเป็นช่างภาพประจำ ชุมเลยลองนำผลงานส่งไปเสนอให้กับทางช่างภาพอิสระและเอเจนซี่เหล่านั้น ก่อนที่จะได้งานใหม่เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ให้กับเอเจนซี่รูปภาพรายหนึ่ง

ชุมเล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องมาเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ สิ่งที่จะทำให้ฟรีแลนซ์คนนั้นอยู่รอดไปได้ คือต้องมองหาสิ่งที่เป็นความถนัดหลักๆ หรือจุดเด่นของฟรีแลนซ์คนนั้น เพื่อเป็นจุดยืนให้ได้งานมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นเขามองหาว่าช่างภาพอิสระในประเทศไทยมีใครบ้าง และไปไล่ดูว่าแต่ละคนมีจุดยืนอย่างไรกัน บางคนเด่นเรื่องดำน้ำ บางคนเด่นเรื่องภาพสัตว์ป่า แต่ภาพข่าวยังไม่มีใครที่มีจุดเด่นชัดเจนในตอนนั้น เขาเลยคิดว่าต้องมีจุดยืนชัดเจนในด้านนี้ให้ได้

“ผมเริ่มทำงานเป็นฟรีแลนซ์ครั้งแรกคือตอนที่เกิดการปฏิวัติครั้งแรก ซึ่งวิธีการทำงานก็จะไม่เหมือนตอนอยู่หนังสือพิมพ์แล้ว สมมติพรุ่งนี้มีการชุมนุม ผมก็ต้องอีเมลไปเสนอกับทางเอเจนซี่ว่าสนใจไหม ถ้าผ่านก็จะมีการระบุมาเลยว่าไปกี่วันและได้เงินค่าจ้างเท่าไหร่สำหรับการไปถ่าย ถ้าไม่ผ่านก็จะไม่มีการจ่ายเงิน เหมือนเราได้เริ่มเป็นคนเสนอประเด็นขึ้นมาบ้าง ข่าวที่ขายได้และมีคนสนใจมากที่สุดก็คือพวกข่าวการเมือง การประท้วง ทั้งที่ผมไม่ได้ชอบหรือสนใจการเมืองมากนัก แต่ก็เสนอไปและได้ออกไปถ่ายอยู่ตลอด 

“นอกจากการรับถ่ายให้เอเจนซี่แล้ว ผมยังมองหาโอกาสการสร้างจุดยืนในฐานะช่างภาพข่าวและสารคดีให้มากขึ้น ด้วยการเข้าไปนำเสนอผลงานและขอโอกาสถ่ายงานสารคดีกับ พี่โจ้-ยุทธนา อัจฉริยวิญญู ซึ่งขณะนั้นเป็นบรรณาธิการนิยสาร National Geographic Thailand ซึ่งพี่โจ้มอบหมายให้ผมถ่ายงานในฐานะช่างภาพฟรีแลนซ์ของ National Geographic Thailand ด้วย คนที่เคยถ่ายให้ที่นี่ทุกคนจะบอกเหมือนกันหมดแหละว่า งานภาพสารคดีของที่นี่คือสุดยอด ใครที่เคยถ่ายภาพลงที่นี่คือได้รับการยอมรับมาก 

“หัวข้อแรกที่พี่โจ้ให้ผมมาคือการละเล่นของเด็กไทย ก็ได้ลงเป็นสกู๊ปสั้นๆ ในเล่ม ซึ่งกว่าจะผ่านมาลงได้มีขั้นตอนการตรวจและพิจารณาเยอะมากๆ มันทำให้เราได้เริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพชุดขึ้น เพราะนิตยสารมันจะมีภาพเปิด มีภาพเสริม มีภาพต่อเนื่อง วิธีคิดในการถ่ายภาพมันต้องเปลี่ยนไป ผมจะนั่งกับนักเขียนช่วยกันตีโจทย์เลยว่าเรื่องนี้จะต้องมีภาพอะไรบ้าง แต่ละประเด็นจะตีเป็นภาพยังไง ไม่ใช่แค่ภาพเดียวจบแบบภาพข่าวปกติแล้ว

“และในช่วงที่เป็นฟรีแลนซ์ ด้วยการที่มีอยู่ตัวคนเดียวและต้องถ่ายทุกอย่างให้ครบในทุกสถานการณ์โดยไม่มีทีมงานใดๆ ผมรู้สึกว่าในตอนนั้นผมเป็นคนที่นิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ในแง่ของการถ่ายรูป แต่ผมไม่เคยทำผิดจรรยาบรรณของการถ่ายข่าวนะ มันเป็นเหมือนตราบาปของผมในช่วงนั้นเลย 

“เพราะผมก็หวงทั้งแหล่งข่าว การนัดหมาย ทำตัวเจ้าเล่ห์ ไปจนถึงคอนเนกชันต่างๆ เพราะกลัวจะไม่ได้งานในครั้งต่อไป ผมมุ่งมั่นในการทำงานมากๆ ผมทุ่มเกินร้อยในทุกงาน เพื่อขอให้ได้งานชิ้นต่อๆ ไปมาอีก ถ้าใครไปไล่ดูภาพช่วงนั้นของผมนี่คือมันโคตรโชว์เลย เหมือนเอาความรู้เรื่องการถ่ายภาพทั้งชีวิตมาใช้ในงาน ทั้งองค์ประกอบภาพ แสงเงา หรือความชัดตื้น มันเป็นรูปที่มีความยโสโอหังและความทะเยอทะยานในภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพข่าวอย่างเดียวนะ ตอนนั้นถ่ายงานกีฬาอะไรทุกอย่างก็คิดแบบนี้ ถ้าใครมาอ่านบทสัมภาษณ์นี้ถึงตรงนี้ ถ้าผมล่วงเกินใครไปผมก็ขอโทษจริงๆ” ชุมเล่าถึงชีวิตและตราบาปการเป็นช่างภาพข่าวฟรีแลนซ์ของเขา

ถ้าใครเคยเห็นภาพการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อสิบปีก่อน จะเห็นได้เลยว่าชุมอยู่และบันทึกภาพจากในหลายๆ จุดที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และยังมีงานที่ชุมไปถ่ายทั้งพื้นที่เกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีเจือปน จนทำให้เราสงสัยว่าคนที่จะมาเป็นช่างภาพข่าวอาจจะต้องมีนิสัยที่ไม่กลัวตายรึเปล่า

“กลัวสิ ตอนถ่ายการชุมนุมนั้นผมก็มีทั้งหมวกและเสื้อเกราะเลยนะ ตอนการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อสิบปีก่อนมันไปจนถึงจุดที่มีการใช้กระสุนจริง เรามีคำถามแล้วว่าช็อตนี้ควรไปมั้ย บางทีผมก็ไม่ไป ผมก็กลัวเหมือนกัน คือมันไม่มีภาพไหนที่คุ้มค่าจนต้องเอาชีวิตเข้าแลก ผมเคยเจอมาแบบใกล้เคียงที่สุดครั้งหนึ่งในการชุมนุมนั้นแหละ แถวๆ พระรามสี่ ตอนเย็นๆ เริ่มจะมืดแล้ว ผมเจอช่างภาพฟรีแลนซ์อีกคนชวนกันคลานลอดรั้วเข้าไปถ่ายภาพด้านในพร้อมกับผู้ประท้วง อีกสิบนาทีต่อมาผู้ชุมนุมที่ลอดรั้วมาพร้อมๆ กันโดนยิงเข้าที่หัว ผมก็เลยมีลิมิตของตัวเอง คือใกล้ที่สุดเท่าที่จะใกล้ได้ โดยที่ยังมีอะไรบังๆ ให้บ้าง แต่ในจุดความเป็นความตาย คุณจะรู้ด้วยตัวเองแหละว่ามันควรจะวิ่งออกไปหรือไม่ควร” ชุมอธิบายถึงความเสี่ยงในอาชีพนี้

ผมสงสัยว่า ทัศนคติที่เขามีต่อการเมืองมันส่งผลต่อการถ่ายภาพด้วยมั้ย หรือภาพข่าวที่เป็นกลางมันมีอยู่จริงมั้ย

“มีผลนะ (ตอบทันที) ช่วงหลังๆ ผมชอบที่ไปถ่ายการประท้วงที่ต่างประเทศ เพราะผมฟังไม่รู้เรื่อง และทำให้การปฏิบัติของผมจะเป็นกลาง ผมเห็นอะไรก็ถ่ายทอดไปแบบนั้น แต่ในการชุมนุมของบ้านเรา ผมฟังออกหมด และบางครั้งเราก็ไม่ชอบสิ่งที่ปราศัยในการชุมนุมของทั้งสองฝั่ง เพราะมันเต็มไปด้วย Hate Speech ที่โจมตีอีกฝั่งด้วยข้อมูลผิดๆ ฝ่ายเดียว ผมก็เลยต้องก้าวข้ามความคิดในหัวของเราไปให้ได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ฝั่งไหนก็ตาม ส่วนภาพข่าวที่เป็นกลางของผม คือผมเห็นอะไรก็ถ่ายทอดแบบนั้น ทหารยิงคนผมก็ถ่าย คนตีทหารผมก็ถ่าย ผมจะไม่บิดเบือนภาพ ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นต่อหน้าผม ผมก็จะบันทึกเหตุการณ์นั้นอย่างเสมอภาคกัน” ช่างภาพที่ถ่ายการชุมนุมยืนยันถึงวิธีทำงานของเขา

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์

ฉากที่ 6 : รางวัลแรกในชีวิต

ภายหลังจากที่ภาพการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเผยแพร่ออกไป ในปีนั้นชุมได้รับรางวัล Picture of The Year จากภาพผู้ชุมนุมโยนยางรถยนต์ และอีกหลายรางวัลจากหลากหลายองค์กร และภาพอีกหลายภาพก็ถูกผู้คนจากทั่วทั้งโลกมองเห็น ซึ่งเหมือนเป็นหมุดหมายในการประสบความสำเร็จบางอย่าง ผมถามชุมว่ามันทำให้ตัวเองหรืองานของเขาเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างไหม 

“ความรู้สึกตอนได้รางวัล Picture of The Year เมื่อปี 2010 กับตอนนี้มันต่างกันโดยสิ้นเชิง ตอนนั้นที่เป็นฟรีแลนซ์คุณต้องมีรางวัลอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นเหมือนเครื่องการันตีฝีมือของคุณ มันมีความหมายมากสำหรับการเป็นฟรีแลนซ์ของผม ซึ่งการได้รางวัลมาก็เหมือนการสร้าง Branding ให้กับตัวเอง ทำให้เริ่มมีคนรู้จักในวงกว้างขึ้น มีงานเข้ามาเยอะขึ้น แต่มันไม่ใช่ว่าได้รางวัลมาเหมือนในเกม แล้วจากนั้นผมจะถ่ายเก่งไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่เลย วันนี้ผมได้รางวัล พรุ่งนี้ผมก็ไปเริ่มถ่ายงานใหม่ โดยที่มีสถานะเท่ากันกับทุกคนรอบๆ นั่นแหละ” ชุมเล่าย้อนถึงตอนได้รางวัลเมื่อ 10 ปีก่อน

ในปีถัดมา ชุมทุ่มเทการทำงานถ่ายภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีทั้งสถานการณ์น้ำท่วมในไทยและเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น ซึ่งงานที่ญี่ปุ่นนั้นเขาทุ่มเททุกอย่าง แม้แต่การออกทุนไปถ่ายด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางเอเจนซี่ต้นสังกัดแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะญี่ปุ่นในตอนนั้นยังไม่ได้ฟรีวีซ่าให้กับไทย และค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็มีราคาสูงมาก โดยเฉพาะการเดินทางไปยังย่านที่ประสบภัยพิบัติ แต่สิ่งที่เขาได้กลับมาจากการทุ่มเทก็ผลิดอกออกผลให้เขาในเวลาต่อมา

“การไปญี่ปุ่นนี่มันไม่ต้องไปก็ได้ แต่ถ้าผมไม่ทำแล้วจะเสียใจ” ชุมเปิดประโยคถึงสิ่งที่ทำก่อนอธิบายต่อ

“ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกที่ต้องมีในการทำงานแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำงานนี้เราจะเสียใจ เราอยากทำ ถ้าไม่ทำจะตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดว่าทำไมไม่ทำ ทำไมไม่ลอง ส่วนหนึ่งคือในตอนปี 2004 ที่บ้านเราเกิดสึนามิ ผมยังทำงานนิตยสารอยู่ แล้วไม่ได้ไปถ่ายภาพเหตุการณ์เลย พอเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่นผมก็เกิดความอยากจะไปถ่ายภาพเหตุการณ์เอาไว้ ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นยังไม่ได้ไปง่ายขนาดนี้นะ ต้องทำวีซ่าและตั๋วเครื่องบินก็ยังราคาแพงมากอยู่ เอเจนซี่ที่ผมทำงานด้วยเขาก็ส่งช่างภาพไปเต็มโควต้าสามคนแล้ว ถ้าไปคือจะไม่มีการให้งบค่าเดินทางและค่าใช้จ่าย ผมจะได้เงินจากการขายรูปที่ถ่ายมาเป็นหลัก ซึ่งในตอนนั้น จากข่าวที่มันเกิดขึ้น ไปแล้วก็อาจจะขายได้เงินมายากเหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ทำได้และถ้าไม่ทำจะเสียใจ ถ้ามันไม่เกิดขึ้นหรือเจอทางตัน ผมก็โอเคนะที่อย่างน้อยเราก็ได้ลองแล้ว เราได้พยายามจะทำมันแล้ว”

และในการเดินทางไปไปญี่ปุ่นครั้งนั้น เขาได้พบกับ ดาเมียร์ (Damir Sagolj) ช่างภาพประจำสำนักข่าว รอยเตอร์ ที่เคยเจอกันตั้งแต่ตอนถ่ายภาพการชุมนุมนั่นเอง ชุมย้อนถึงตอนที่เดินทางไปญี่ปุ่นของเขาว่า ตอนนั้นเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง หมดสิ้นหนทาง เพราะด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ และการเดินทางเข้าไปยังฟุกุชิมะที่ยากลำบาก ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ด้วยตัวคนเดียว เมื่อได้มาเจอดาเมียร์ ชุมเลยขอเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งการที่เขาอาสาขอมาถ่ายงานนี้เองโดยไม่มีรายได้มารองรับ จึงทำให้ดาเมียร์ยอมให้เดินทางไปด้วยกันได้ 

“การอยู่ด้วยกันกับเขาตลอดเจ็ดวันนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ไม่ใช่ในเรื่องของการถ่ายภาพอย่างเดียวนะ แต่ประสบการณ์ในการพูดคุย การเลือกภาพ การอีดิตภาพที่ดี เป็นต้นแบบในการทำงานและใช้ชีวิตของผมจนถึงปัจจุบัน เขาเป็น Photo Journalist แท้ๆ ที่เก่งมาก มีจริยธรรมในการทำงานสูงมาก และมีหลายสิ่งที่เขาสอนผม มีอยู่ทีหนึ่งที่เราขับรถผ่านเมืองหนึ่งที่ผู้คนอพยพกันออกไปหมดแล้ว ฝนก็ตกลงมาหนักเลย เป็นซีนที่สวยมาก แต่ไม่มีใครเดินผ่านเลย ดาเมียร์เขาจอดรถรออยู่สองชั่วโมง รอไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีคนเดินผ่านมาแล้วถ่ายภาพสามใบ เสร็จปั๊บก็ออกเดินทางต่อ

“มีอีกเคสหนึ่งที่กินใจผมมาก คือมีเมืองเมืองหนึ่งที่โดนสึนามิจนกลายเป็นซากปรักหักพังหมดแล้ว ทีนี้ตรงกลางซากนั้นมีเสาธงญี่ปุ่นตั้งอยู่ แต่ตัวธงมันม้วนพันอยู่กับเสาเลยไม่ปลิว ถ้าตอนนั้นไม่ได้อยู่กับเขาผมก็คงจะไปแกะธงออกมาให้มันปลิวแล้วถ่ายรูป ผมถามดาเมียร์ไปว่า เราแกะธงที่ม้วนอยู่ให้ออกมาได้ไหม เขาตอบว่าถ้าคุณทำแบบนั้น ก็ไม่ต้องมาเดินทางหรือเป็นเพื่อนกันอีกเลยตลอดชีวิต เพราะมันเป็นเรื่องต้องห้าม ในตอนนั้นผมก็ตั้งคำถามกับเรื่องของจริยธรรมในการถ่ายภาพ แล้วก็ได้คุยกันเรื่องนี้กันอีกหลายทีตลอดในช่วงเจ็ดวันนั้น” ชุมเล่าถึงการได้ทำงานกับมืออาชีพในสายงานนี้เป็นครั้งแรกๆ

ฉากที่ 7 : ช่างภาพที่ต้องทำงานเป็นทีม

หลังจากเป็นฟรีแลนซ์อยู่ได้ไม่นาน ชุมตัดสินใจกลับไปทำงานประจำอีกครั้งกับสำนักข่าว รอยเตอร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เขาเล่าว่าได้เห็นถึงเทรนด์การเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ที่เริ่มพบกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะด้วยการเดินทางที่ค่าใช้จ่ายถูกลง กับอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วขึ้น ทำให้ทุกคนจากทุกที่ในโลกเป็นช่างภาพข่าวฟรีแลนซ์ที่เดินทางไปทั่วโลกได้ทั้งนั้น 

และในจังหวะนั้นก็มีคนเสนองานประจำกลับมาให้เขาถึง 2 ราย รายแรกคือเอเจนซี่ที่ชุมทำงานให้อยู่แล้วมาเสนอให้เป็นช่างภาพประจำ ส่วนอีกงานหนึ่งก็คือสำนักข่าว รอยเตอร์ โดยคนที่ติดต่อมาก็คือดาเมียร์นั่นเอง ชุมจึงตัดสินใจมาทำงานที่ รอยเตอร์ เพราะด้วยชื่อเสียงด้านการทำข่าวที่แข็งแรง และการนำเสนอข่าวในมุมที่สร้างสรรค์อยู่ตลอด อีกทั้งมีการทำงานร่วมกันทั้งทีมโทรทัศน์และนักข่าว 

ผมถามชุมต่อว่าการเป็นช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์ไทยและฟรีแลนซ์มานาน เมื่อเข้ามาที่ รอยเตอร์ แล้ว เขาต้องปรับตัวในการทำงานอย่างไรบ้าง

“การเป็นช่างภาพของที่นี่จะมีกฎ เป็นเหมือนกับจริยธรรมในการถ่ายภาพซึ่งห้ามฝ่าฝืนเด็ดขาด นั่นคือเรื่องของความซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์ต่อภาพและซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่อยู่ต่อหน้า ต้องถ่ายรูปเป็น JPG เท่านั้น และช่วงแรกๆ ก็ห้ามใช้โฟโต้ชอปในการตกแต่งรูป เพิ่งมาได้ใช้ในช่วงหลังๆ นี้เอง และทำได้สูงสุดแค่ Level กับ Curve เท่านั้น

“เราห้ามตกแต่งภาพหรือสีให้ความจริงตรงหน้ามันเปลี่ยนไป มีเคสหนึ่งของอดีตช่างภาพ รอยเตอร์ ในตะวันออกกลาง ซึ่งไปใช้โฟโต้ชอปในการเพิ่มควันในการยิงจรวด อันนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย รวมไปถึงห้ามติดสินบนเพื่อให้ได้ถ่ายภาพ” ชุมอธิบายถึงการปรับตัวในการทำงาน

สิ่งที่ชุมได้เรียนรู้และปรับตัวอย่างมากจากการกลับมาทำงานประจำที่สำนักข่าวแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่วิธีถ่าย แต่กลับกลายเป็นวิธีทำงานอีกด้วย นั่นคือเรื่องของการทำงานเป็นทีม จากที่เคยทำงานอยู่คนเดียวในฐานะฟรีแลนซ์ที่ต้องถ่ายเก็บให้ครบทุกอย่าง ก็กลายเป็นต้องเรียนรู้ที่จะทำงานและเชื่อใจกันแบบทีม

“พอผมเข้าไปเริ่มทำงาน ปีนั้นมีการชุมนุมของ กปปส. รอยเตอร์ ส่งช่างภาพไปถ่ายทั้งหมดสี่คน ถ้าเป็นตอนที่ทำฟรีแลนซ์ ผมจะไปที่ที่มันมีการปะทะอยู่เสมอเพื่อให้ได้ภาพแรงๆ แต่พอเป็นทีมแบบนี้ บางวันเราก็ถูกมอบหมายให้ไปอยู่ในจุดที่ไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย เพื่อถ่ายในกรณีที่อาจมีบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ข่าวสมบูรณ์ขึ้น 

“คือวิธีคิดในการทำงานมันต้องคิดอีกแบบหนึ่ง แรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่มารู้ซึ้งก็ตอนงานโอลิมปิกปี 2016 ที่บราซิล ผมเป็นหนึ่งในทีมช่างภาพทั้งหมดหกสิบคนที่ถูกส่งไปถ่ายงานที่นั่น หน้าที่ของผมคือเป็นคนเซ็ตอัประบบกล้องที่ถ่ายด้วยระบบรีโมตในจุดที่ช่างภาพไปถ่ายไม่ได้ ซึ่งก็อาจจะเพราะความถนัดในสมัยยังเป็นวิศวกรระบบ โอลิมปิกสัปดาห์แรกผมไม่ได้จับกล้องเลย เพราะต้องอยู่ควบคุมระบบถ่ายด้วยรีโมตอย่างเดียว เป็นช่วงเวลาที่ขมขื่นและเครียดมาก เพราะผมคิดว่าตัวเองถ่ายดีไม่แพ้ทุกคน แต่ทำไมไม่ได้ไปอยู่ยังจุดที่ได้จับกล้องแล้วลงไปถ่ายภาพ จุดที่มีโอกาสสร้างผลงานได้มากกว่านี้ ผมว่ามันคงเป็นความทะเยอทะยานและต้องการการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน

“พอมาอาทิตย์ที่สองผมก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ตำแหน่งหน้าที่ของผมมันถูกมอบหมายมาแล้ว มันแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ต้องอยู่ถ่ายแบบนี้ไปจนจบโอลิมปิก การถ่ายด้วยรีโมตมันเป็นสิ่งจำเป็นและต้องมีคนทำ แล้วผมก็เพิ่งเคยไปถ่ายโอลิมปิกเป็นครั้งแรกด้วย แทนที่จะตัดพ้อเรื่องไม่ได้รับการยอมรับ สู้มาทุ่มเทให้เต็มที่ดีกว่า หลังจากนั้นผมก็ตั้งใจถ่ายให้เต็มที่ ถ้าใครมาให้ช่วย เราก็พกกล้องไปยังจุดที่เราอยู่อีกด้วย มือก็ถ่ายจากกล้อง เท้าก็กดรีโมตสั่งถ่ายให้กล้องที่ตั้งวางไว้ มุมจากกล้องที่ผมควบคุมมันให้ภาพที่แตกต่างจากคนอื่นจริงๆ ตอนนั้นผมรู้เลยว่า ถ้าเราได้รับโอกาสนี้มาแล้วทำไม่เต็มที่ ก็คงจะไม่ได้โอกาสใหม่มาอีก คือเราก็ต้องก้าวข้ามความรู้สึกนั้นให้ได้ และมันเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีทำงานของเราไปอย่างมากเลย

“ตั้งแต่กลับจากโอลิมปิกมา วิธีคิดในการทำงานเราเปลี่ยนหมดเลย ถ้าเราถูกส่งให้ไปถ่ายภาพโดยเป็นสมาชิกในทีมแล้วหัวหน้าทีมสั่งมาให้เราไปถ่ายในจุดนั้นๆ เราจะทำโดยไม่ตั้งคำถามและไม่ก้าวล่วงในสิ่งที่หัวหน้าทีมสั่งด้วย ซึ่งพอผมได้มาเป็นหัวหน้าทีมบ้าง ผมก็สร้างกฎให้กับตัวเองเลยว่าผมจะอยู่ในจุดที่แย่ที่สุด แล้วให้สมาชิกในทีมคนอื่นได้อยู่ถ่ายในจุดที่ดีที่สุดในการสร้างงานออกมา และคอยดูแลหาอุปกรณ์การทำงานให้คนในทีมได้ใช้ตามที่ต้องการ อย่างงานพระราชพิธีในหลวงรัชกาลที่ 9 หรืองานราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็เป็นแบบนั้น ผมไม่อยากให้คนอื่นรู้สึกขมขื่นแบบเดียวกับที่ตัวเองเคยเจอ แม้ตัวเองจะได้ผลงานที่ไม่ดีก็ไม่เป็นไร เพราะงานที่ออกไปก็จะออกไปในชื่อของ รอยเตอร์ อยู่แล้ว หลังจบงานก็ชวนทีมไปกินข้าวสังสรรค์กัน ทุกคนก็มีความสุข ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงเอาจุดที่ดีที่สุดในการถ่ายรูปให้ตัวเองไปแล้ว (ยิ้ม)” ชุมย้อนถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการทำงานเป็นทีมที่ได้เจอมา

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์

ฉากที่ 8 : ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์คนแรกของไทย

ผมชวนชุมคุยต่อถึงรางวัลพูลิตเซอร์ที่เขาเพิ่งได้มาหมาดๆ ก่อนที่เขาจะอธิบายให้เราฟังว่า งานประกาศรางวัลพูลิตเวอร์ในปัจจุบันมันแทบจะไม่มีทางเป็นภาพเดี่ยวเหมือนในสมัยก่อนได้เลย เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าสมัยก่อนอย่างมาก และรางวัลพูลิตเซอร์ก็เป็นรางวัลที่ให้คุณค่ากับภาพ Photo Journalist ไม่ใช่แค่ภาพข่าวทั่วไป และทางสำนักข่าวก็มักจะพอใจในการได้รับรางวัลนี้มากกว่ารางวัลภาพข่าวอันอื่นๆ ผมเลยถามต่อว่า ความแตกต่างระหว่างภาพข่าวกับภาพแบบ Photo Journalist คืออะไร

“ในความคิดผมนะ Photo Journalist มันไม่ใช่แค่คิดว่าจะถ่ายภาพสวยๆ หรือแค่ดูรูปสถานการณ์แล้วคิดว่า เออน่าจะดี งั้นเดี๋ยวไปถ่ายบ้าง แต่มันคือการค้นคว้าอ่านข่าวทั้งหมด สรุปเรื่องราวเหตุการณ์แล้วมาตีให้เป็นภาพในทุกๆ ประเด็น เหมือนเป็นการเล่าเรื่องในทุกๆ ประเด็น อย่างภาพการชุมนุมที่ฮ่องกง จะต้องบ่งบอกถึงปัญหาของคนฮ่องกงว่าทำไมต้องออกมาประท้วง มีอะไรเป็นตัวร่วมของการชุมนุม ซึ่งมันอาจจะไม่ต้องมีภาพผู้ชุมนุมเลยก็ได้นะ แต่ที่ผมไปถ่ายการชุมนุมแทบทุกวันแบบนั้นมันคือภาพข่าวเฉยๆ เพราะไม่มีประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น คงคล้ายกับการเป็นนักเขียนที่มีการทำงานบนพื้นฐานการค้นคว้า เอาองค์ความรู้ต่างๆมาเขียนให้ออกมาเป็นหนังสือ แต่ Photo Journalist เลือกถ่ายทอดด้วยภาพถ่ายแทนที่จะเป็นตัวหนังสือ” ชุมอธิบายถึงความสำคัญในแง่ของการเป็น Photo Journalist ที่ได้รับความยอมรับมากกว่าแค่การเป็นภาพข่าวทั่วไป

ชุมเล่าให้ฟังต่อว่า การประท้วงที่ฮ่องกงกินระยะเวลายาวนาน และทาง รอยเตอร์ ได้ส่งช่างภาพไปถ่ายการประท้วงทั้งหมด 28 คนจากหลากหลายประเทศ แต่ละคนก็อยู่ถ่ายภาพกันระยะเวลาที่แตกต่างกันบางคนอยู่ 2 อาทิตย์ บางคนอยู่ทั้งเดือน ช่างภาพทุกคนที่ถูกส่งไปถ่ายภาพกันมาไม่ต่ำกว่าคนละพันภาพ ซึ่งการที่ภาพเป็นหมื่นๆ ถูกอีดิตและคัดเหลือเพียงแค่ 20 รูป และมีรูปของเขาอยู่ในชุดนั้นถึง 2 รูปจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย

“การไปทำงานถ่ายภาพที่ต่างประเทศ เวลาคนที่มองมาก็อาจจะนึกว่า ดีจัง ได้ไปทำงานแล้วก็ได้ไปเที่ยวด้วย จริงๆ มันไม่ใช่เลย ทุกวันจะมีกำหนดการออกมาเลยว่าต้องไปถ่ายอะไรบ้าง ในระหว่างวันมีอีเมลจากเจ้านายมาให้เราไปถ่ายแก้ใหม่ เมื่อวานถ่ายสู้อีกเจ้าไม่ได้ วันนี้ต้องไปแก้มือมาให้ดีกว่าคนอื่นๆ ให้ได้ มันเป็นงานที่มีแรงกดดันและความเครียดอยู่เยอะมาก และบางอย่างมันเป็นปัจจัยที่เราเองทำอะไรไม่ได้เลย 

“มีอยู่ทีหนึ่งผมไปฮ่องกงเนี่ยแหละ แล้วถูกมอบหมายงานให้ไปอยู่ในจุดที่ไม่มีการปะทะกัน คนอื่นๆในทีมเขาก็ถ่ายการปะทะกันฝุ่นตลบเลย แต่ผมไม่มีอะไรถ่าย ก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยวรอไป พอเหมือนจะมีผู้ชุมนุมมารวมกัน พอตำรวจมา ผู้ชุมนุมก็วิ่งหนีไป เป็นแมวจับหนูแบบนี้ทั้งวัน ผมก็รออยู่ทั้งวันแต่ก็ไม่มีอะไรให้ถ่าย” ชุมเล่าถึงวันที่โชคไม่ดีในการทำงาน

ด้วยปัจจัยที่จะได้รูปที่ดีหรือไม่ดีนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ที่ปัจจัยภายในทั้งนั้น ผมเลยสงสัยว่าช่างภาพแต่ละคนจะบริหารจัดการความโชคดีโชคร้ายในการถ่ายภาพอย่างไร

“ถ้าฝนตก แสงไม่สวย ก็ต้องถ่ายไปแบบนั้นแหละ ได้รับมอบหมายมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องถ่าย ถ้ามันมีอะไรเกิดขึ้นตรงหน้าแล้วบังเอิญแสงสวยพอดีถือว่าเป็นโบนัสและเป็นวันที่ดีวันหนึ่ง วันที่ไม่ดีมันก็มีบ่อยๆ อย่างมารอถ่ายเหตุการณ์แต่ดันไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ทำอะไรไม่ได้ ไปเฝ้าหรือแก้มือใหม่วันหลัง ฝนตกหนัก คนตีกัน อุปกรณ์พังก็เยอะ มันมีหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราก็ต้องหาทางถ่ายทอดงานออกไป และต้องพยายามเอาตัวรอด ถ้าแสงไม่ดีเหรอ งั้นเล่นกับองค์ประกอบเอา หรือหาเทคนิคใหม่ๆ มาเล่นให้ภาพมันมีอะไรขึ้นมา เราต้องประยุกต์จากสิ่งที่เรามีในหน้างานนั้น ไม่ใช่จากสิ่งที่เราไม่มี” ชุมตอบ

ผมเลยชวนเขาคุยถึงภาพทั้งสองภาพที่อยู่ในเซ็ตประกาศรางวัลพูลิตเซอร์ว่าแต่ละภาพมีที่มาเบื้องหลังยังไง

“ภาพแรก ผมต้องเดินหาตึกอพาร์ตเมนต์ที่จะขึ้นไปถ่ายภาพผู้ชุมนุมจากมุมสูง เพราะเราต้องการรูปที่แตกต่างและเล่าเรื่องได้ครบ ต้องเดินเข้าไปคุยกับเจ้าของตึกเองว่าขออนุญาตขึ้นตึก ตึกไหนให้ก็ขึ้นไปหมด บางทีขึ้นไปถึงมุมที่จะถ่ายแต่มันโดนอย่างอื่นบังก็ถ่ายไม่ได้ ต้องย้ายไปดูตึกอื่น ที่บอกว่าเราทำงานเต็มร้อยบางทีมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องว่าถ่ายรูปทั้งวันทั้งคืนนะ แต่เรื่องการหาโลเคชันด้วยตัวเองก็นับเป็นงานของช่างภาพด้วยเหมือนกัน และบางครั้งรูปมันก็ต่างกันเพราะจุดนี้

“ส่วนอีกภาพหนึ่งที่เป็นรูปคนชูป้าย Free Hongkong คือตอนนั้นรู้ว่าทางผู้ชุมนุมจะเดินขึ้นไปบน Lion Rock Hill ซึ่งภูเขานี้เป็นมุมที่เห็นภาพตึกกว้างๆ ในฮ่องกงได้หมดเลย ผมได้รับมอบหมายให้ขึ้นไปถ่ายเพราะว่าในกลุ่มช่างภาพที่ประจำอยู่ในฮ่องกงช่วงนั้นทั้งหมดให้ผมไป บอกว่าผมขี่จักรยานก็เลยฟิตที่สุด ตอนนั้นคนอื่นๆ ก็เป็นคนตัวใหญ่ๆ กันหมดเลย พอได้ขึ้นไปจริงๆ มันเดินยากมากเพราะผู้ชุมนุมเยอะและเส้นทางมันโหด เดินยังไงก็ขึ้นไปไม่ถึงยอดสักที ปกติผมจะสะพายกล้องสองตัว เลนส์คนละชุด แต่วันนั้นเอาไปแค่ตัวเดียวก็แทบจะเดินขึ้นไปไม่ไหวแล้ว 

“โชคดีที่เดินขึ้นไปถึงยอดปุ๊บผู้ชุมนุมเขาก็ชูป้ายขึ้นพอดีเป๊ะ ผมหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายเลย แล้วก็ไม่รู้เลยว่าสำนักข่าวอื่นๆ เขาถ่ายอะไรกันไปบ้าง ภาพที่ได้ต่างกับเรามั้ยก็ไม่รู้ พอถ่ายเสร็จจะเดินลง เดินยังไงก็ไม่ถึงพื้นสักที ยิ่งเดินก็ยิ่งขาสั่น พอลงมาถึงก็กลับโรงแรมนอนจนข้ามไปอีกวันหนึ่งเลยนะ” (หัวเราะ) ชุมเล่าถึงเบื้องหลังของภาพทั้งสองภาพที่ได้รับคัดเลือก

ในวงการภาพข่าวที่ข่าวร้ายและข่าวเศร้าขายได้มากกว่า ทำให้ช่างภาพมักจะถูกส่งไปทำงานบันทึกภาพแต่ในพื้นที่แบบนั้นกันอยู่ตลอด ชุมเล่าให้เราฟังว่า ในบางครั้งช่างภาพที่ไปทำงานในพื้นที่แบบนี้นานๆ ก็มีปัญหาบอบช้ำทางจิตใจเหมือนกัน

“ภาพที่ดีและดังของสำนักข่าวจะมีอยู่เฉพาะการชุมนุม ภัยพิบัติ การก่อการร้าย มีแต่คนตายเต็มไปหมด แรกๆ ผมก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไรหรอก ทีนี้ในออฟฟิศทุกสองสามปีจะมีแบบสอบถามมาให้ทำ เพื่อจะมาดูว่าใครมีบาดแผลในจิตใจกันบ้าง เราคิดว่าคนไทยรักสนุกเฮฮา ก็ไม่น่าจะมีอะไรในจิตใจกันหรอก แต่พอทำออกมา พบว่าหลายๆ คนก็เจอปัญหานี้กันเยอะ โดยเฉพาะพวกนักข่าวหรือทีมทีวีที่ต้องลงไปอยู่ที่หน้างานกันบ่อยๆ ผมก็เคยเป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ไปถ่ายข่าวการวางระเบิดโบสถ์ที่ศรีลังกา เพราะต้องไปถ่ายศพและงานศพเยอะมากๆ ในงานเดียว แล้วสภาพของคนทุกคนก็รันทดมาก ได้ภาพออกมาดีมากๆ 

“แม้ผมจะยึดถือว่าด้วยอาชีพของผมต้องถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้คนอื่นๆ ทั้งโลกได้รับรู้ว่ามันมีสิ่งนี้อยู่และต้องแก้ไขมัน แต่ก็มาถึงจุดหนึ่งที่เรามานั่งคิดว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันถูกต้องแล้วเหรอวะ ผมร้องไห้ไปพร้อมกับถ่ายภาพ พอมันเครียดมากๆ ก็วิ่งไปอ้วกแล้วมาถ่ายต่อ พอจบงานถูกส่งกลับมาก็มาคุยกับทางหัวหน้าว่าสภาพจิตใจแย่มาก ช่วงหลังๆ เวลาที่กลับมาการถ่ายที่ต้องเจอศพเจอความทุกข์แบบนี้มากๆ ผมก็มักจะไปบริจาคเลือดและไปทำบุญขอขมาเสมอๆ เพราะตอนที่อยู่หน้างาน เราอาจจะมุ่งมั่นทำอาชีพจนเผลอทำอะไรไม่ควรลงไป”

ในวันยืนระยะอยู่ในวงการถ่ายภาพมากว่า 20 ปีจนได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว หลังจากนี้คุณยังเหลือความท้าทายอะไรอีกมั้ย

“ผมไม่ได้มองรางวัลอะไรแล้ว ที่บอกว่าความรู้สึกที่ได้รางวัลก่อนหน้านี้ตอนปี 2010 กับปีนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย ปีนี้ผมก็รู้สึกว่าก็เป็นเรื่องที่ดี มันทำให้เราได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานมากขึ้น แต่สิ่งที่ผมสนใจ คืออยากให้โอกาสกับช่างภาพรุ่นใหม่ๆ ผมมาถึงจุดนี้ได้เพราะผู้ใหญ่หลายคนที่สอนและให้โอกาสผมมาโดยตลอด ผมอยากคอยช่วยและสนับสนุนคนอื่นๆ บ้าง ผมมีความสุขทุกครั้งเลยเวลาที่บอกเพื่อนร่วมงานให้ไปถ่ายยังจุดนั้นแล้วเขาได้รูปที่ดีกลับมา 

“อีกอย่างคือมีสองเป้าหมายที่ผมยังไม่เคยทำและอยากไป หนึ่งก็คือสงครามจริงๆ อย่างพวกซีเรีย อิรัก กับสองคือเกาหลีเหนือ สองงานนี้คือที่ที่ผมอยากพิสูจน์ตัวเองว่าผมทำได้ ผมอยากรู้ว่าตัวเองจะกล้ามั้ยจะวิ่งออกไปถ่ายมั้ย เหมือนตั้งแต่เราลาออกมาเป็นช่างภาพ เราก็มีเป้าหมายในทุกๆ ปี ผมอยากเป็นช่างภาพอาชีพ อยากถ่ายข่าวก็ได้ถ่าย อยากได้ในนิตยสารเล่มนั้นก็ได้ลง อยากได้รางวัลก็ได้มาแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแค่สองเป้าหมายนี้แหละ

“สมัยยังทำงานอยู่โรงงาน ผมเคยนั่งรถเมล์กลับจากรังสิตทีหนึ่ง ปีนั้นเป็นปีที่กรุงเทพฯ หนาวมาก หนาวจนวินมอเตอร์ไซค์ต้องก่อกองไฟกันข้างถนนเพื่อให้อุ่น ตอนนั้นผมคิดว่าจะลงจากรถเมล์ไปแล้วถ่ายเก็บไว้ แต่มานั่งคิดถ้าลงรถตอนนี้แล้วกว่าอีกคันจะมาจะเมื่อไหร่ แล้วกี่โมงจะถึงบ้าน สุดท้ายก็ไม่ได้ลงจากรถเมล์ไปถ่าย คืนนั้นถึงบ้านก็นอนคิดเรื่องนี้ทั้งคืน เป็นความรู้สึกผิดมาจนตอนนี้เลยที่ไม่ได้ลงไปถ่าย จากนั้นมาก็ตั้งใจกับตัวเองไว้เลยว่า เวลาเจออะไรแบบนี้ ต้องทำ ถ้าไม่ทำเสียใจกว่า” ชุมเล่าถึงสิ่งที่เขาอยากทำหลังจากนี้

อาชีพช่างภาพมีวันหมดอายุมั้ย เราถามคำถามสุดท้ายออกไป

“ไม่มี อายุมากขึ้นมีแต่จะเก๋าขึ้น แรงอาจจะน้อยลง แต่ประสบการณ์มันมากขึ้น แล้วก็ยิ่งเก่ง เราไม่ค่อยเห็นช่างภาพประสบความสำเร็จในตอนหนุ่มๆ นะ ส่วนมากมักจะมาดังเอาตอนมีอายุหน่อย แต่มันก็มีจังหวะที่เดินไม่ไหวเหมือนกัน” (หัวเราะ)

อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพไทยคนแรกผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan