ไม่มีความสำเร็จใดที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญอย่างแน่นอน

วันแรกของการทำงานที่องค์กรแห่งนี้ เขาเริ่มต้นด้วยบทบาทของบอร์ดบริหาร รับผิดชอบการทำงานพัฒนาธุรกิจของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคระดับตำนานที่มีอายุกว่าหนึ่งร้อยปี ต่อยอดธุรกิจหลักพันล้านบาทให้เติบโตได้ถึง 6 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ก่อนจะเข้าซื้อธุรกิจของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ใน พ.ศ. 2559 และกลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่บริหารอาณาจักรธุรกิจแสนล้านที่น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

อาณาจักรธุรกิจของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2425 โดยตระกูลเบอร์ลี่และตระกูลยุคเกอร์ เริ่มต้นจากกิจการโรงสีข้าว เหมืองแร่ และการค้าอื่นๆ จนพัฒนาไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรม เชี่ยวชาญด้านการนำเข้าส่งออก ปัจจุบันดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน โลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีกไปจนถึงเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่นนำโดย เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ BJC เมื่อ พ.ศ. 2544 ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์มากถึงกว่า 3 แสนล้านบาท รายได้ราว 1.7 แสนล้านบาทใน พ.ศ. 2562 และขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนทั้งเวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล CEO ของ BJC อาณาจักรธุรกิจ 3 แสนล้านผู้พร้อมแข่งขันตลอดชีวิต

ปัจจุบัน อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ยังชอบการแข่งขันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา แม้ผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่นำไปสู่การปิดเมืองและข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศจะส่งผลกับธุรกิจของบีเจซีเหมือนกับทุกอุตสาหกรรมที่เผชิญอยู่ในตอนนี้ เขากลับมองว่านี่คือจังหวะที่ต้องเร่งปรับตัว เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวันที่สภาพเศรษฐกิจและการค้าจะกลับมาเป็นปกติในอนาคต ใครที่เตรียมตัว เตรียมสรรพกำลังได้พร้อมกว่าก็จะได้เปรียบในทันทีเมื่อเริ่มออกสตาร์ท

นั่นคือต้องวิ่งตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกตัว

ต้องยอมรับว่า พ.ศ. 2563 เป็นฝันร้ายของธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัวลงอย่างชัดเจนจากปัญหาด้านรายได้ (Income Shock) โดยเฉพาะในภาคบริการ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาที่ประเทศไทยเกือบ 40 ล้านในปีที่ผ่านมากลายเป็นหนังคนละม้วนกับความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ปริมาณเงินหมุนเวียนหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจนับล้านล้านบาท ซึ่งหมายถึงการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภค ที่หายไป ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจต่างประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับไปได้ในระดับใกล้เคียงกับยุคก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

สิ่งที่ยังเป็นจุดแข็งของบีเจซี คือเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างไรเสียผู้คนก็ต้องกินต้องใช้ ห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจนี้จึงเกี่ยวพันกับผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจระหว่างองค์กรหรือ B2B ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผนวกกับช่องทางค้าปลีกทุกขนาดตั้งแต่ไฮเปอร์มาร์เก็ต ตลาดและร้านสะดวกซื้อของบิ๊กซี ถือเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่โครงสร้างแข็งแรงทีเดียว โจทย์ที่สำคัญคือ บีเจซีไม่ใช่ ‘ผู้เล่นรายใหญ่’ ที่เก๋าเกมเพียงรายเดียวในประเทศนี้ ทุกก้าวจึงหมายถึงการเติบโตที่สำคัญหรือความเพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่ได้

อัศวินมองว่าเกมธุรกิจคือสนามรบ ต้องมีแม่ทัพที่เก่ง กระบวนยุทธ์ที่ดีและพร้อมอยู่เสมอ

สิ่งที่ The Cloud สนใจ คือกัปตันทีมวัย 44 ปี ซึ่งถือว่าอายุน้อยที่สุดในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศคนนี้คิดอะไร คิดอย่างไร โจทย์ที่เขาได้รับนั้นยากขนาดไหน ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล CEO ของ BJC อาณาจักรธุรกิจ 3 แสนล้านผู้พร้อมแข่งขันตลอดชีวิต

ถามได้ทุกคำถามนะครับ

ได้เลยครับ ผมชอบคำถามหนักๆ นะ ทั้งชีวิตถูกสอนเรื่องนี้ อย่างตอนไปทำงานที่ฮ่องกง หัวหน้าผมสอนว่าคนที่ตอบคำถามเก่ง ถือเป็นคนฉลาดระดับหนึ่ง แต่คนที่ถามเก่งนี่ดีกว่า ถ้าใครที่ฟังทั้งหมดที่เขาพูดจนจบแล้วตั้งคำถามที่ตัวคนพูดต้องกลับมาใช้ความคิดเพื่อจะตอบได้ แสดงว่าเขาฟังเราจริงจึงตั้งคำถามได้ดี ผมมักจะชอบถามคนรอบตัวว่ามีคำถามยากๆ หรือไม่ การถามคำถามที่ดีถือเป็นการให้ความเคารพกับผู้บรรยายด้วย เพราะเราแสดงให้เห็นการสังเคราะห์ที่ดีจากตัวเรา

พ.ศ. 2563 ธุรกิจของบีเจซีเป็นอย่างไรบ้าง

ผมไม่คิดว่าที่ผ่านมาเป็นช่วงที่โหดที่สุด จากนี้อีกหกเดือนน่าจะโหดขึ้นเรื่อยๆ มีของยากรอเราอยู่เสมอ ถ้าคิดว่าวันนี้ท้าทายที่สุดแล้วเดี๋ยวมันก็จะมีโจทย์ที่ยากกว่าตามมาอยู่ดี ตอนนี้กำลังใจของผู้คนเริ่มกลับมาแล้ว เราเองก็พร้อมจะสู้ต่อ วิกกฤตรอบนี้กระทบกับทุกคนจริงๆ ไม่เหมือนกับตอนวิกฤตต้มยำกุ้งหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มันกระทบกว้างกว่า 

ถ้ามองในภาพรวมตอนนี้สภาพคล่องเยอะมาก กลายเป็นคนลำบากก็จริง แต่คนทำธุรกิจยังพออยู่ได้โดยเฉพาะรายกลางและใหญ่ แต่ที่น่าห่วงคือ ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้เข้าถึงสินเชื่อต่างหาก ผมว่าธุรกิจของเรายังอยู่ในระดับที่พอดูได้อยู่ อย่างไตรมาสสามที่ผ่านมาก็ถือว่ายอดขายเริ่มมีผลกระทบ คงต้องรอดูปลายปีนี้อีกทีว่าจะเป็นอย่างไร แต่โดยรวมก็ถือว่าประคับประคองไปได้

จากผลงานที่ผ่านมา คุณให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่

หกถึงเจ็ดคะแนนครับ ผมไม่เคยให้คะแนนตัวเองสูงแบบแปดเก้าคะแนนอยู่แล้ว เพราะยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ พ.ศ. 2562 เราทำผลงานได้ดี (รายได้ 1.74 แสนล้านบาทและกำไร 7.2 พันล้านบาท) พ.ศ. 2563 ไตรมาสที่หนึ่งผลงานก็ยังดีอยู่ พอช่วงปิดเมืองตอนปลายเดือนมีนาคมเราเห็นแล้วว่ามีผลกระทบ ต้องเช็กข่าวเพื่อคอยเตรียมการ ทำธุรกิจก็เหมือนออกรบ เรื่องการข่าวนี่สำคัญมาก โชคดีที่สินค้าของเราเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันทั้งขวด บรรจุภัณฑ์ แก้ว กระดาษทิชชู แอลกอฮอล์ อาหารสด ของแห้งต่างๆ ไปจนถึงเครื่องมือแพทย์เราก็ผลิต สิ่งที่น่ากังวลคือ ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของภาคค้าปลีกที่เป็นนักท่องเที่ยวหายไปจากระบบ ยอดขายหายไปเยอะ โรค COVID-19 นี่เหมือนนาฬิกาที่มาเตือนเราว่าเวลาสำหรับการทำสิ่งต่างๆ นั้นมันเหลือสั้นลงแล้ว

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล CEO ของ BJC อาณาจักรธุรกิจ 3 แสนล้านผู้พร้อมแข่งขันตลอดชีวิต

ปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตในรอบนี้อย่างไร

สิ่งที่ต้องทำคือ การปรับโครงสร้างองค์กรให้แข็งแรงหลังจากวิกฤตครั้งนี้ จริงๆ เราก็ปรับกันมาอย่างต่อเนื่องแต่เป็นภารกิจที่ทำยังไม่จบ เรื่ององค์กรทั้งหมดเป็นเรื่องของคน ทำอย่างไรจะบริหารคนให้ทำเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กร นั่นคือทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี เพื่อให้คนนึกถึงสินค้าและบริการของเราเป็นที่แรก

เรื่องปรับโครงสร้างเราทำในกรอบเกณฑ์ของกฎหมาย หมุนเวียนคนกันไป นอกจากนี้ต้องพัฒนาทักษะของพนักงานให้สูงขึ้น ตำแหน่งไหนมีความสำคัญน้อยลงเราก็ต้องเปลี่ยน ต้องกลับมาดูว่าแต่ละจุดมีคนเยอะไปหรือน้อยไป ทุกวันนี้เรามีฟังก์ชันงานใหม่อย่างอีคอมเมิร์ซก็เติบโตขึ้นมาก ตอนนี้กลับมาเปิดเมืองแล้ว ยอดส่งออนไลน์อาจจะลดลงไปบ้างแต่ก็สูงกว่าฐานเดิมที่เคยเป็น ผู้เล่นรายใหญ่ๆ ก็ต้องทำแบบนี้ทั้งสองส่วน นักธุรกิจก็ฉลาดเหมือนกันหมดล่ะครับ แต่ที่สำคัญคือใครจะวิ่งไปได้ครบก่อน ธุุรกิจของบีเจซีเริ่มจากออฟไลน์ ตอนนี้เราต้องทำออฟไลน์ให้แข็งแรงด้วย

เชื่อเรื่อง Omni Channel จริงหรือ

เรื่องนี้ผมเคยคุยกับทางทีมครับ ทุกวันนี้เรากำลังเดินไปในอนาคตผ่านเลนส์ที่มองและคิดว่ามันจะเกิดขึ้น จริงๆ แล้ว Omni Channel อาจจะไม่เกิดอย่างที่คิดก็ได้ สิ่งที่เราพูดถึงตอนนี้ทั้งฟินเทคหรือว่าไอโอที (อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง) ก็เหมือนกัน ทั้งหมดที่เรามองอยู่อาจจะไม่เกิดก็ได้ แต่เราต้องลองทำหลายๆ ทาง ต้องล้มเร็วและลุกเร็ว ผมเป็นคนทำอะไรเร็วอยู่แล้ว ถ้าพลาดตรงไหนก็จะได้รีบกลับมาแก้ไขครับ

สื่อสารกับคนในองค์กรอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน

การสื่อสารเป็นเรื่องของคนทุกคน ช่วงที่ปรับโครงสร้างองค์กรและมีผลกระทบ ผมก็คุยกับทีมงานอย่างตรงไปตรงมา เป็นเรื่องการขอความร่วมมือและร่วมใจกัน พนักงานเขาจะร่วมใจกับเราได้อย่างไรถ้าเขาไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ดังนั้นต้องสื่อสารให้ดี บอกสถานการณ์ของบริษัทเลยว่าตอนนี้เป็นอย่างไร สภาพคล่องเป็นอย่างไร เราต้องจัดการเงินสดอย่างไรให้เพียงพอ อะไรที่พอช่วยกันได้บ้าง อะไรที่ทำได้อีกเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท การสื่อสารที่ชัดเจน จริงใจ จะทำให้เขาเห็นภาพและมีส่วนร่วมเพื่อจะผ่านไปด้วยกันได้

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล CEO ของ BJC อาณาจักรธุรกิจ 3 แสนล้านผู้พร้อมแข่งขันตลอดชีวิต

ตอนที่เข้ามาบริหารบีเจซีเมื่อสิบกว่าปีก่อน คุณเจริญสอนเรื่องการทำงานอย่างไรบ้าง

ท่านประธาน (คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี) สอนเสมอว่า การทำงานนั้นเราต้องเน้นลงรายละเอียด ลงมือทำ เหมือนเราเตรียมการเอาไว้ก่อน มีของเก็บรอไว้ในลิ้นชักอยู่แล้ว พอเช้าตื่นขึ้นมาก็เอามาใช้ได้ หรือถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ ถ้าเราลงรายละเอียดมากที่สุดก็จะดีต่อการตัดสินใจ นอกจากนี้การถามรายละเอียดจากลูกน้อง เขาก็ต้องเตรียมตัวและทำงานได้มากขึ้น การทำงานต้องเป็นได้ทั้งเหยี่ยวและหนอน ตอนไหนเป็นเหยี่ยวก็จะเห็นภาพใหญ่ เห็นคู่แข่งทั้งหมด แต่พอเป็นหนอน เราต้องคลานอยู่ที่พื้น คอยดูรายละเอียดทั้งหมด ที่สำคัญคือเราต้องรู้ว่าตอนไหนเราต้องเป็นเหยี่ยว ตอนไหนเราต้องเป็นหนอน ในช่วงไหน ด้วยจังหวะไหน มันคือบทบาทที่เราต้องทำ

ผมเริ่มมาทำงานเป็นผู้บริหารที่นี่ตั้งแต่อายุสามสิบสองปี ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบจากอเมริกาแล้วได้โอกาสเข้ามาทำงาน การทำให้องค์กรที่อายุร้อยกว่าปีกลับมามีชีวิตชีวา สดชื่น มีกำลังในการขยายธุรกิจถือว่าท้าทายทีเดียว อาจารย์สอนผมมาว่า ถ้าเราเข้าไปทำงานในองค์กรไหนก็ตาม ช่วงเก้าสิบวันแรกจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของเราในองค์กรนั้นตลอดไป วันแรกที่เข้าไปจึงขอให้คิดเลยว่า วันที่จะจากไปเราจะทิ้งอะไรเอาไว้ ผมเองก็อยากให้บีเจซีเป็นองค์กรที่แข็งแรง ได้รับการยอมรับ มีฐานการค้าที่ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้คนภูมิใจในองค์กรนี้ให้ได้

ทุกวันนี้โจทย์หลักที่ได้มาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่จะมีโจทย์ใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราทำได้หนึ่งก็จะขอสอง เมื่อได้สองก็จะขอสามเป็นเรื่องปกติ ท่านประธานเน้นเรื่องผลงาน ผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ตัวท่านมีความผูกพันกับบีเจซี เป็นบริษัทมหาชนที่แรกที่ท่านเป็นประธานกรรมการตั้งแต่ พ.ศ. 2544 มาจนถึงวันนี้ ท่านให้เกียรติผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุม บอกเสมอว่าทุกคนที่ตั้งคำถามกับทางกรรมการ คือผู้ที่เข้ามาช่วยสำรวจตรวจสอบเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน

องค์กรที่ทำธุรกิจมานานมักมีปัญหาเรื่องความแตกต่างของคนระหว่างรุ่น คุณจัดการอย่างไร

เรื่องการจัดการกับคนใหม่และคนเก่า ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำทุกองค์กร เราต้องทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างของคนแต่ละวัยก่อน สิ่งที่ทำต่อคือให้พวกเขาได้ทำงานร่วมกัน การมอบหมายงานเป็นโปรเจกต์ที่ดีมาก ตั้งทีมทำงานขึ้นมาให้ทุกคนได้เจอกับความท้าทายด้วยกัน เราเชื่อเรื่องความหลากหลายทั้งมิติของอายุและวัฒนธรรม ธุรกิจของเราทำตั้งแต่ยา เครื่องมือแพทย์ กระดาษทิชชู ทีมเภสัชฯ เราก็มี ไปจนถึงนักการตลาด นักการบัญชี พนักงานโรงงานและทีมช่าง การสั่งงานรูปแบบโปรเจกต์จะทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม เดี๋ยวนี้การดูและจัดการคนไม่ใช่เรื่องของแผนกบุคคลเพียงอย่างเดียว หัวหน้าทีมทุกคนต้องประคับประคองและพาทีมไปข้างหน้าได้ มันเป็นหน้าที่ของผมที่จะทำให้ลูกน้องต่างระดับชั้นทำงานร่วมกันได้อย่างดี เราต้องไปช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก เชื่อมโยงพวกเขาเขาด้วยกัน

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล CEO ของ BJC อาณาจักรธุรกิจ 3 แสนล้านผู้พร้อมแข่งขันตลอดชีวิต

แผนธุรกิจในปีหน้าเป็นอย่างไร

เรากำลังวางแผนของปีหน้าอยู่ ซึ่งทำต่อเนื่องจากแผนปีนี้ สิ่งที่ยากคือยอดขายปีนี้จะแปลกๆ หน่อยเพราะว่าช่วงที่ปิดเมือง ลุกค้าจะซื้อของด้วยความตื่นตระหนก (Panic Buy) อยู่ช่วงหนึ่ง คนพากันไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ทิชชู หรือแอลกอฮอล์เจลกัน ยอดขายมันพุ่งสูงผิดปกติ เราก็ต้องปรับปัจจัยตรงนี้ออกไปก่อนจะได้มองปีหน้าได้อย่างถูกต้อง เอาจริงๆ ตอนนี้เรามองข้ามช็อตไปถึงอีกสองปีข้างหน้าแล้ว ต้องเตรียมพร้อมในวันที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตด้วย ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาระหว่างการดำเนินธุรกิจระยะสั้นและระยะยาวอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งจัดการบุคคลากรและระบบต่างๆ ด้วย ทักษะไหนที่ไม่เคยมีเวลามาฝึกอบรมก็ต้องเตรียมพร้อมให้ทันในตอนนี้เลย

คาดหวังกับธุรกิจในอาเซียนโดยเฉพาะที่เวียดนามอย่างไร

ตลาดเวียดนามมีศักยภาพมาก ผู้บริโภคยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เดิมสัดส่วนรายได้จากเวียดนามของบีเจซีเป็นยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่พอเราเข้าซื้อบิ๊กซี ฐานใหญ่ขึ้นเยอะ ตอนนี้สัดส่วนจึงลดลงเหลือสิบเปอร์เซ็นต์ ผมคงจะขยายตลาดนี้ต่อไป และเวียดนามจะกลายเป็นฐานการทำธุรกิจสำหรับตลาด สปป.ลาว และกัมพูชาด้วย เป็นไปได้ทีเดียวที่สัดส่วนรายได้หลักของบีเจซีในอนาคตจะมาจากธุรกิจที่เวียดนาม

ส่วนการบริหารงาน เราต้องอาศัยทีมงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกำลังใจ ต้องนำด้วยผลงาน เพราะคนเวียดนามเป็นคนขยัน ภูมิใจในชาติของตัวเองมาก เราต้องสื่อสารอย่างชัดเจน พอเข้าไปก็ต้องทำงานหนัก ใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าอยู่กับเราแล้วชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างไร ผมเองก็ต้องไปขลุกอยู่กับคนเวียดนาม มีผู้ช่วยเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ก็จะผ่านการทำงานกับบริษัทต่างชาติที่เป็นมืออาชีพมาแล้ว

ดูเหมือนคุณจะชอบการแข่งขัน

ผมชอบการแข่งขันตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนที่เซนต์คาเบรียลก็เป็นตัวแทนแข่งขันตอบปัญหา ผมแข่งทุกอย่าง ชอบพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ ตอนมัธยมต้นผมเริ่มอ่านหนังสือของพี่ๆ มัธยมปลายแล้วเพราะมันดูเท่ดี เวลาไปคุยกับคนอื่น มันสนุก ตอนอยู่เรียนอยู่เตรียมอุดมศึกษา พอว่างก็จะเอาโจทย์เลขยากๆ มาทำ การแข่งขันช่วยฝึกเราเรื่องล้มแล้วลุกได้ดีมาก เวลาแข่งก็แพ้ได้เป็นธรรมดา พอแพ้ก็เสียใจแต่ต้องเติมใจกลับมาให้แข็งแรงโดยเร็ว

ตอนเรียนที่จุฬาฯ ก็เป็นหัวหน้าทีมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปแข่งโต้วาทีตั้งแต่ปีหนึ่ง ตอนนั้นแข่งแพ้คณะนิเทศศาสตร์ ก็เสียใจเพราะเราแบกความหวังของทีมไป ผมแข่งขันอยู่ตลอด พอไปเรียนต่อที่อเมริกาก็แข่งขันสอบเป็นผู้ช่วยสอน หางานทำช่วงซัมเมอร์ ไปทำงานกับโกลด์แมน แซคส์ ก็ต้องแข่งขันกับคนเก่งๆ จากทั่วโลก เป็นผู้บริหารบีเจซีก็ต้องแข่งกับยักษ์ใหญ่ของโลกที่มาทำตลาดในประเทศไทย อย่างธุรกิจแก้วเราแข่งกับเบอร์หนึ่งของโลก และเราเองก็เป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียนได้แล้ว ธุรกิจขนมเราก็แข่งกับเบอร์หนึ่งของโลกอยู่ ตอนนี้เราเป็นที่สองที่อยู่ห่างพอสมควร และต้องเติบโตต่อไป

เรียนรู้อะไรจากโลกธุรกิจบ้าง

การเรียนรู้ของผมมาจากครอบครัวครับ ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้จากลูกๆ ด้วย ผมเชื่อเรื่องโอกาสที่ดีในชีวิตที่ได้รับ ทั้งการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ดี มีคู่ชีวิตที่ดี หรือกระทั่งจากสถาบันการศึกษาและการทำงานเองก็ตาม ทุกคนมีโอกาสอยู่ตรงหน้าเสมอ สิ่งที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ต่างหาก ต้องเป็นคนที่อ่อนน้อม คนเห็นแล้วอยากให้โอกาส ถ้าโอกาสมาถึงมือแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด ผมเชื่อเรื่องการทำงานหนัก คนเราจะสำเร็จได้ ต้องเชื่อมั่น ทุ่มเท และทำงานหนัก

คุณพ่อของผมก็ทำการค้า มักจะพาผมไปประชุมด้วย พ่อพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ พูดแต่จีนแต้จิ๋ว ก็ต้องหาที่ปรึกษามาช่วยเจรจา ต้องใช้คนให้เป็น ไม่ว่าพื้นฐานของเราจะเป็นยังไง ถ้าตั้งใจเสียอย่าง เมื่อโอกาสมาแล้วก็จะประสบความสำเร็จได้ ขอให้เป็นคนเก่งที่น่ารัก เป็นคนทุ่มเทที่น่ารัก จะตั้งคำถามหรือเห็นต่างก็ทำอย่างน่ารักได้

ความภูมิใจในการทำงานทุกวันนี้คืออะไร

สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจคือทีมงานของเราเติบโตไปด้วยกัน ถ้าองค์กรดูแลคุณดี คุณก็ช่วยดูแลองค์กรต่อไปด้วยดี อย่างทุนการศึกษาที่ให้กับบุตรหลานพนักงาน เราก็จะบอกกับน้องๆ ว่า ให้ไปกราบคุณพ่อคุณแม่ของเขาที่เป็นพนักงานที่ดีให้กับบีเจซี เราให้ความสำคัญเรื่องพวกนี้ เวลาจัดงานเกษียณอายุของพนักงาน ผมก็จะไปมอบของและกล่าวกับทุกคนเองทุกปี ไปทุกครั้งก็ใจหาย เพราะเหมือนกับขุนพลของเราต้องหายไป แต่ผมก็เชื่อเราว่ามีทีมที่จะขึ้นมาแทนที่กันได้ เป็นคนเก่งที่พร้อมจะก้าวขึ้นมาทำแทนและเป็นผู้นำรุ่นต่อไป

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล CEO ของ BJC อาณาจักรธุรกิจ 3 แสนล้านผู้พร้อมแข่งขันตลอดชีวิต

**********************

Questions answered by Chief Executive Officer of BJC

1. เดินไปซื้อของที่บิ๊กซีบ้างไหม ซื้ออะไรบ่อยที่สุด

ไปเป็นประจำครับ ผมชอบซื้ออาหารตัดแต่ง ผลไม้ตัดแต่ง เพราะชอบกินพวกข้าวโพดหรือธัญพืชอยู่แล้ว

2. ดื่มกาแฟวันละกี่แก้ว

ผมจะพยายามดื่มกาแฟวันละไม่เกินสองแก้ว ไม่ให้เกินสามช็อตต่อวัน เช้าสองช็อต บ่ายหนึ่งช็อต ดื่มเอสเปรสโซ่ครับ

3. การเป็น CEO ที่หนุ่มที่สุดถือเป็นข้อได้เปรียบหรือไม่

เรื่องอายุมันไม่จีรังครับ ตอนเข้ามาเราใช้ความเป็นเด็กให้เป็นประโยชน์ เราไหว้ได้ทุกคน แต่มันใช้ได้ไม่นานหรอก อายุไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบ สุดท้ายก็ต้องวัดที่ผลงาน ผลประกอบการออกมาทุกไตรมาส ฝีมือมันก็จะโชว์ออกมาที่ผลงานเอง

4. เล่น Tiktok หรือไม่ และติดตามใคร

ผมมีบัญชีนะครับ แต่เอาไว้ติดตามลูกสาวครับ เขาจะแชร์การใช้งานไอแพดที่เป็นประโยชน์ แต่เดี๋ยวนี้เขาจะบล็อกไม่ให้ผมเห็นความเคลื่อนไหว เพราะเขาไม่อยากให้ผมรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่บ้าง (หัวเราะ)

5. ได้ยินมาว่าสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ เป็นหนุ่มฮอตและเป็นลีดจุฬาฯ ด้วย

ไม่หรอกครับ ผมทำกิจกรรมเยอะครับ เล่นบาสเก็ตบอล โต้วาที งานเชียร์ฟุตบอลประเพณีผมก็ไปช่วยเขา ส่วนการทำงานนี่หน้าตาไม่ค่อยเกี่ยวหรอกครับมันอยู่ที่ผลงาน ความจริงคนที่เป็นซีอีโอนี่เขาก็เท่กันทุกคนนะครับเท่าที่เห็นมา เพราะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว

6. เมนูอาหารที่กินบ่อยที่สุดคืออะไร

ผมเป็นคนโชคดีที่ไม่ค่อยอยากเรื่องอาหารเท่าไหร่ กินอย่างเดียวซ้ำๆ ได้ เมนูที่กินบ่อยคือข้าวต้มปลาใส่ผักลวก ใส่หมูหยอง ไข่ลวกหน่อยก็กินซ้ำได้ทั้งปีเลย

7. ไม่พอใจตัวเองในวัยเด็กเรื่องอะไรบ้าง

ผมออกกำลังกายน้อยไปครับ ถ้าช่วงประถมศึกษาและมัธยมต้นได้ออกกำลังเสียหน่อย ร่างกายคงแข็งแรงมากกว่านี้

8. สิ่งที่มักจะทำก่อนนอน

ช่วงนี้ฟังเพลงบรรเลงครับ เพื่อผ่อนคลายจากกิจกรรมที่ทำมาทั้งวัน บางช่วงก็ฟังดนตรีดิสนีย์ตามลูกกับภรรยา ตอนนี่ก็ฟังเสียงระนาดบ้าง ขิมบ้าง ก่อนนอน ลึกๆ แล้วผมเป็นคนอินโทรเวิร์ตครับ เจอคนเยอะๆ แล้วพลังจะหมด เพราะเวลาออกจากบ้านมาทำงานคือทำหน้าที่ทุกอย่างต้องเต็มที่ กลับบ้านไปก็จะพักผ่อนอยู่ในมุมคนเดียว สวดมนต์ไหว้พระ ช่วงนี้กำลังฟังดนตรีไทย ในบ้านก็เปิดเพลงบรรเลงดนตรีไทยนะครับ ผมมีลูกสามคน คนกลางตอนนี้เขาเล่นระนาดเอก คนเล็กเล่นขิม คนโตเขาก็เล่นดนตรีสากล กำลังปลูกฝังเรื่องดนตรีไทยเพราะภรรยาผมนี่เขาก็เล่นดนตรีไทยนะครับ ผมเป็นคนมีเวลาน้อย เวลาอยู่กับครอบครัวเป็นเหมือนช่วงสำคัญที่ต้องใส่ใจเต็มร้อย เมื่อคืนก็เพิ่งเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกฟังครับ

9. จัดการเวลาในการทำงานอย่างไร

วันหนึ่งๆ ผมเข้าประชุมเยอะมาก ผมจะแบ่งตารางเวลาเป็นครั้งละหนึ่งชั่วโมง นี่ก็ยังไม่ถี่นะครับ ผมเพิ่งอ่านหนังสือแล้วพบว่า อีลอน มัสก์ (นักธุรกิจระดับโลกและผู้บริหารเทสล่า) เขาแบ่งเวลาประชุมเป็นครั้งละสิบห้านาทีเท่านั้น นั่นคือต้องเคาะทุกอย่างในเรื่องนั้นให้จบในสิบห้านาทีแล้วประชุมเรื่องอื่นต่อเลย ช่วงปิดเมืองจาก COVID-19 ที่เป็นช่วงที่มีประสิทธิภาพนะครับ ประชุมติดกันจนถึงดึกเลย

10. เชื่อเรื่องโหราศาสตร์หรือไม่

ผมเป็นคนศึกษาโหราศาสตร์ไทยครับ โชคดีที่ได้คุณพ่อของภรรยา (เจริญ สิริวัฒนภักดี) ช่วยสอน เวลาคุยกันผมจะดูตาคน ดูแค่ตาไม่พอ ต้องดูจมูก ดูปากด้วย เรื่องโหราศาสตร์นี่เอาไว้ดูว่าอะไรมันเหมาะกันหรือไม่ เป็นเรื่องสถิติ อย่างการวางดาวต่างๆ ทางโหราศาสตร์เขาก็บันทึกมาเป็นร้อยปีแล้ว บอกได้เลยว่าคนที่เกิดแบบนี้ ตกฟากแบบนี้ เขาเป็นคนแบบนี้ เราก็แค่เอาสถิติที่มีมาหลายร้อยปีเอากลับมาดูครับ

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)