โรงเรียนนี้ ‘ปั้น’ คนสำคัญประดับวงการต่างๆ ได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ศิษย์เก่าที่นี่โดดเด่นทั้งในวงการการเมือง ธุรกิจ สื่อสารมวลชน กีฬา และศิลปะหลายแขนง ยังไม่นับอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เป็นบุคลากรคุณภาพในวิชาชีพต่างๆ

อายุของโรงเรียนที่ตั้งมานานถึง 134 ปี อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง เมื่อมีนักเรียนมาก จำนวนเด็กที่โตไปแล้ว ‘ได้ดี’ ย่อมมากตามไปด้วย แต่อีกเหตุผลก็คือ เพราะที่นี่คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ

อัสสัมชัญ

คำถามก็คือ โรงเรียนแบบไหน ครูบาอาจารย์แบบใด จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้บรรดาพ่อแม่ในยุคนั้นส่งลูกไปเรียนที่นี่ คำตอบส่วนหนึ่งพบได้ในข้าวของเก่าแก่ของโรงเรียน อัสสัมชัญมีข้าวของหลายชิ้นที่เป็นเครื่องรับประกันว่าโรงเรียนนี้และกลุ่มคนที่ดูแลที่นี่สำคัญไม่ใช่เล่นในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีสิ่งของต่างๆ ที่เป็นสื่อการสอน อันบรรจุวิธีคิด วิธีอบรมนักเรียนแบบอัสสัมชัญไว้เต็มเปี่ยม

วัฒภูมิ ทวีกุล หรือ อาร์ต อัสสัมชนิก (อัสสัมชนิก หมายถึงศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ) วัย 26 ปี บัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับรุ่นพี่อัสสัมชัญอีก 3 คน คือคุณปณต อุดม, รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี และคุณทวารัตน์ หงษ์นคร ค่อยๆ รวบรวมหลักฐานชั้นต้นเหล่านั้นที่กระจัดกระจายอยู่ตามกล่อง ตามลังเก็บของ ตามห้องเรียน หรือที่ได้จากศิษย์เก่ามอบให้ มาจัดแสดงใน ‘พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ’ ชั้น 11 อาคารอัสสัมชัญ 2003 โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนที่ทุกตารางนิ้วมีเรื่องราว ข้าวของทุกชิ้นมีเรื่องเล่า อายุอานามแต่ละชิ้นก็มีตั้งแต่หลายสิบจนถึงหลายร้อยปี

อัสสัมชัญ

คำถามที่ไม่ค่อยเป็นสาระ แต่พวกเราอยากรู้ก่อนถามเรื่องอื่นคือ เจอใครมาทวงคืนไหม

“ก็มีบ้างครับ เจอเด็ก เจอเงาดำๆ เรียกชื่อ ผิวปากเรียก จะผีแท้ผีเทียมผมก็ไม่รู้ แต่โชคดีที่ไม่กลัว เห็นเงานั่งอยู่ข้างพิณพม่า ก็เห็น หันไปมอง ถ้าอยู่ก็อยู่ ถ้าไม่อยู่เขาก็หายไป อารมณ์นั้นก็ทำงานคนเดียวได้ อยู่กับของเก่าๆ คนเดียวได้” อาร์ตเล่านิ่งๆ

“ตอนแงะตึกกอลมเบต์ แต่ก่อนเป็นที่นอนของนักเรียนประจำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราขนเตียงขึ้นมาหลังหนึ่ง วันดีคืนดีผมเข้ามา เอ้า เตียงหาย ไปสืบมาก็ได้ความว่า มีบราเดอร์มาเข้าฝันบราเดอร์หลุยส์ (ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม อดีตอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ) บอกว่า ไม่มีที่นอน ช่วยเอาไปคืนที่เดิมด้วย บราเดอร์หลุยส์ก็เลยสั่งคนงานให้ขนกลับไปที่เดิม”

กลับมาที่คำถามมีสาระอย่าง ทำไมพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนอย่างอัสสัมชัญจึงสำคัญ อาร์ตและทีมงานทำงานอย่างไรกว่าจะเปลี่ยนห้องเปล่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างทุกวันนี้ และชาวเราที่ไม่ใช่อัสสัมชนิกจะเข้าใจประวัติศาสตร์โรงเรียนนี้ไปเพื่ออะไร

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

ให้ที่นี่ถาวรมั่นคงสืบไป” เหตุผลที่ต้องเรียนอัสสัมชัญ

“ย้ายลูกออกจากโรงเรียนฝรั่งไปเข้าโรงเรียนหลวงซะ ค่าเล่าเรียนจะได้ถูกลง” เป็นคำแนะนำของญาติที่บอก นางเซาะเช็ง แซ่เตียว เพราะนางเสียสามีไป ต้องเลี้ยงดู 13 ชีวิต ในครอบครัวด้วยตัวเอง

นางเซาะเช็งปฏิเสธ นางอุตส่าห์ให้เพื่อนบ้านที่เป็นครูสอนภาษาไทยที่อัสสัมชัญ ‘ฝาก’ ลูกชายเข้าเรียนได้สำเร็จแล้ว

ค่าเล่าเรียนที่อัสสัมชัญเดือนละ 7 บาท ถือว่าแพงที่สุดในยุคนั้น ลูกชาย 2 คนต้องค้างชำระค่าเล่าเรียนเป็นประจำ แต่นางเซาะเช็งก็ยังดิ้นรนหาเงินมาให้ลูกชายได้เรียน

ศ. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ลูกชายคนที่ 4 ของนางเติบโตเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหวคนสำคัญ คือ ศ. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

“บุคลากรแต่ละคนที่อัสสัมชัญผลิตออกไปไม่ค่อยธรรมดา โอ้โห ก็สำคัญกับประเทศชาติพอสมควร” อาร์ตเริ่มบทสนทนา

อาร์ตพาพวกเราเดินชมทั่วพิพิธภัณฑ์ที่เขาคลุกคลีกับมันอยู่กว่า 3 ปี จากเดิมที่เป็นห้องโล่งๆ อาร์ตและทีมงานจัดแจงจนที่นี่ ‘เล่า’ เกียรติภูมิ 134 ปีของโรงเรียนผ่านสิ่งของได้

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

ข้าวของในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการเรียนของเด็กอัสสัมชัญยุคก่อน ศิษย์เก่าเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย (และนายกรัฐมนตรีอีก 3 คนในยุคหลัง) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 ประธานองคมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก สมาชิกคณะราษฎร ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการแทบทุกกระทรวงของไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 คน และนักวิชาการอีกจำนวนนับไม่ถ้วน รวมทั้ง ‘นักปราชญ์สามัญชน’ ที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก คือ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ)

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

ในภาคเอกชน ศิษย์เก่าโรงเรียนนี้มีนามสกุลอย่างโสภณพนิช เจียรวนนท์ จิราธิวัฒน์ อัมพุช มาลีนนท์ สิริวัฒนภักดี บุลสุข อัศวโภคิน เตชะไพบูลย์ ล่ำซำ โชควัฒนา หวั่งหลี ฯลฯ และเรียนกันเป็นรุ่นๆ จากปู่ พ่อ จนถึงลูก

อาร์ตเดินนำเข้าไปในห้องจัดแสดงห้องแรก มีรูปนักเรียนอัสสัมชัญคนแรก เด็กชายเซียวเม่งเต็ก (อสช. 1)

“สวนกุหลาบฯ เลขประจำตัวแรกคือใคร กรุงเทพคริสเตียนฯ เลขประจำตัวแรกคือใคร โรงเรียนอื่นไม่เห็นมีเลย ทำไมอัสสัมชัญถึงเชิดชูนักเรียนเลขประจำตัวแรกนัก” อาร์ตแซวโรงเรียนตัวเอง ก่อนจะวิเคราะห์ให้ฟัง

“ผมคิดว่าเป็นเพราะเขามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของโรงเรียนนี้ นายเซียวเม่งเต็กเป็นลูกกำพร้าอยู่ในย่านตลาดน้อย คุณพ่อกอลมเบต์รับไปเข้ารีต เรียนจบอัสสัมชัญแล้วไปทำงานกับบริษัทต่างชาติ ไปเป็นล่าม อยู่ห้างบอร์เนียว อยู่สถานทูต ความสำเร็จของเขาเป็นแบบอย่างให้ชุมชนในย่านตลาดน้อย ทำให้เห็นว่าโรงเรียนที่เพิ่งก่อตั้งอย่างอัสสัมชัญทำให้คุณมีอนาคตที่ดีได้ ทำงานบริษัทข้ามชาติได้”

‘คุณพ่อกอลมเบต์’ ที่อาร์ตพูดถึง คือ บาทหลวงเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ (Emile August Colombet) นักบวชชาวฝรั่งเศสผู้เดินทางถึงกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2415

บาทหลวงกอลมเบต์ เจ้าอาวาสวัดสวนท่าน (วัดอัสสัมชัญ) เมตตาเด็กกำพร้าในละแวกวัดอัสสัมชัญจนท่านเปิดโรงเรียนสอนใน พ.ศ. 2420 เด็กที่เรียนมีทั้งเด็กกำพร้า เด็กคริสตัง และลูกหลานชาวยุโรป สอนเป็นภาษาฝรั่งเศสและไทย พ.ศ. 2422 จึงเพิ่มแผนกภาษาอังกฤษ

ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 บาทหลวงกอลมเบต์ได้เปิดสอนนักเรียนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา ถือเป็นวันสถาปนาโรงเรียนอัสสัมชัญ หลังจากนั้นก็มีจำนวนนักเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ จนท่านทำงานคนเดียวไม่ไหว จึงกลับไปฝรั่งเศสเพื่อเสาะหาคณะนักบวชมารับช่วงดำเนินการโรงเรียนอัสสัมชัญต่อ จนใน พ.ศ. 2444 นักบวชคณะเซนต์คาเบรียลที่รับหน้าที่ต่อจึงเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ หัวหน้าคณะคือ เจษฎาธิการมาร์ติน เดอ ตูร์ส (Martin de Tours) (เจษฎาธิการ หมายถึง ภราดาที่เป็นอธิการ)

ฟรองซัวส์ ตูเวอเนต์ ฮีแลร์ (François Touvenet Hilaire)

นักบวชที่อายุน้อยที่สุดคือเพิ่งย่าง 20 ปี ชื่อ ฟรองซัวส์ ตูเวอเนต์ ฮีแลร์ (François Touvenet Hilaire) ยังพูดไม่คล่องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่บุคคลผู้นี้อยู่เมืองไทยต่อมาอีกเกือบ 67 ปี จนกลายเป็นบุคลากรสำคัญท่านหนึ่งของอัสสัมชัญ

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

แม้ไม่ใช่นักเรียนอัสสัมชัญ ก็คงเคยได้ยินว่า ฟ.ฮีแลร์ เป็นผู้แต่งแบบเรียน ดรุณศึกษา อันเลื่องชื่อ เป็นแบบเรียนที่บูรณาการความรู้หลายด้านมาไว้ในเล่มเดียว ทั้งหลักภาษาไทย ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เหตุการณ์ร่วมสมัย (เช่น เรือไททานิกจม) และสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับทั้งศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธด้วย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในสมัยนั้นช่วยกันตรวจแก้ต้นฉบับให้ ฟ.ฮีแลร์ พระองค์หนึ่งก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

ต้นฉบับแบบเรียน ดรุณศึกษา ที่มีลายมือ ฟ.ฮีแลร์ แก้ไข เป็นเพียงของชิ้นหนึ่งในหลายพันชิ้นที่นี่ แล้วสิ่งของอื่นๆ มีอะไรบ้าง อาร์ตจะพาไปดู

มีอะไรในพิพิธภัณฑ์

“อยากรู้ไหมว่าอาจารย์ป๋วยเก่งหรือไม่เก่งวิชาไหน” อาร์ตถามยิ้มๆ ในมือมีสมุดทะเบียนเล่มหนา กระดาษสีซีดจางบ่งบอกอายุ

อาร์ตมองว่า ข้อมูลอย่างทะเบียนนักเรียนถือเป็นเรื่องส่วนตัว เขาจึงไม่สแกนสมุดเล่มนี้เก็บไว้เพราะไม่ได้คิดจะเผยแผ่ แต่หนังสืออื่นๆ ทุกเล่มจะถูกสแกนเก็บไว้เป็นไฟล์ดิจิทัลเพื่อเตรียมเผยแผ่บนเว็บไซต์เป็นความรู้สาธารณะ เช่น วารสารโรงเรียนและหนังสือที่จัดทำในวาระสำคัญต่างๆ หนังสือรุ่น จดหมายโต้ตอบระหว่างบราเดอร์กับบุคคลสำคัญของชาติ ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

เราขอเปิดดูทะเบียนนักเรียนบางหน้าโดยไม่ต้องเห็นชื่อนักเรียน ข้อมูลในนั้นเขียนด้วยลายมือตั้งแต่ ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) มีทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส มีรายละเอียดความประพฤตินักเรียน เช่น อุตส่าห์ทำงาน หรือไม่ชอบใช้สมอง นอกจากนั้น ยังมีประวัติการขาด ลา มาสาย และผลการเรียนรายวิชา

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“ผมคิดว่าข้อมูลเหล่านี้เป็น Primary Source ที่สำคัญมาก เพราะมันบอกได้ว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงโตมาเป็นแบบนั้น ทำไมถึงมีความคิดแบบนั้น ทำไมเขาเก่งเรื่องนี้ แต่ไม่เก่งเรื่องนั้น” อาร์ตกล่าว

เราเห็นทะเบียนนักเรียนที่เป็นข้อมูลชั้นต้นที่ว่านี้เต็มตู้ขนาดตู้เสื้อผ้าใบใหญ่ 4 ใบ แต่ละเล่มดูเก่า และชำรุดไปตามกาลเวลา แต่บรรจุข้อมูลวัยเรียนของศิษย์เก่านับหมื่นคน

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

อาร์ตบอกว่า สิ่งที่เขาอยากทำคือ นำหนังสือทุกเล่มในนี้ไปอนุรักษ์ ซ่อมแซม เพราะเขาอยากให้ประวัติของเด็กอัสสัมชัญทุกคน รวมถึงคุณพ่อและอากงของอาร์ต ที่เคยได้รับการบันทึก ดูแลเอาใจใส่จากทางโรงเรียน ถูกจัดเก็บไว้ให้นานที่สุด เท่าที่เนื้อกระดาษจะฝืนการย่อยสลายตัวมันเองได้ แม้จะยังติดขัดเรื่องงบประมาณ แต่ก็อยู่ในแผนงานที่จะจัดทำต่อไป

ข้าวของทั้งหมดที่จัดแสดงอยู่ในห้องพิพิธภัณฑ์ชั้น 11 นั้นบ่งบอกอะไร

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“เวลาดูข้าวของเหล่านี้ ผมจะนึกถึงประเด็นที่ว่า โรงเรียนนี้ สถาบันนี้ สำคัญยังไงในสายตาของผู้ปกครองประเทศ นอกจาก ศิลาฤกษ์ ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์ให้ตอนที่สร้างอาคารเรียนหลังแรก พ.ศ. 2430

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“แล้วเราก็ยังมี นาฬิกา ที่ยอดโดมมีแกะสลัก จปร. ซึ่ง รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5 ชิ้นนี้เป็นเครื่องสังเค็ดที่มอบให้แก่หน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติ โรงพยาบาลศิริราช โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนราชินี สภากาชาดไทย ก็มีนาฬิกาที่ว่านี้” อาร์ตอธิบาย

“มันเป็นเครื่องยืนยันว่าที่เรามีของชิ้นนี้เพราะเราอยู่ในสายตาของราชสำนัก เราได้รับการเกื้อกูลจากทางราชสำนักมาโดยตลอด”

อีกชิ้นที่บ่งบอกความสำคัญของอัสสัมชัญ คือ พระธาตุไม้กางเขน

“ชิ้นนี้มีตลับทองเหลืองอยู่ ตรงกลางก็มีเว้าเป็นกระจก ดูหรูหรากว่าตัวอื่น เราก็หมุนตลับข้างหลังเปิดออกดู เจอตราประทับครั่ง ตอนแรกผมไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แค่คิดว่าตรามันคงบ่งบอกอะไรได้เยอะ เพราะตราย่อมมีความหมาย ผมเลยส่งไปถามหัวหน้าหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“เขาบอกว่า ชิ้นนี้คือพระธาตุไม้กางเขน ตราที่เห็นเป็น ตราของพระคาร์ดินัล (Cardinal – ตำแหน่งรองจากพระสันตะปาปา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา) แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นคาร์ดินัลองค์ไหน เมื่อไหร่ เพราะตราบอกแค่ตำแหน่ง ไม่ได้บอกชื่อคน ไม่ได้บอกช่วงปี

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“ส่วนข้างหน้าที่เห็นเป็นเสี้ยวชิ้นไม้เล็กๆ ตามความเชื่อคือพระธาตุไม้กางเขน คือชิ้นส่วนของไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซูแห่งนาซาเร็ธจริงๆ พอเรารู้ก็ โอ้ แล้วของแบบนี้มานอนอยู่ในลังเฉยๆ ได้ยังไง”

นอกจากของสำคัญที่แสดง ‘พาวเวอร์’ ระดับชาติแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังเต็มไปด้วย อุปกรณ์การเรียนการสอน ที่แสดงพัฒนาการของโรงเรียนฝรั่งแห่งบางรัก

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“บางชิ้นก็พบในลังในโรงเรียน บางชิ้นก็มีคนบริจาค เช่น เป็นสมุดเลกเชอร์ มีลายมือภาษาอังกฤษเขียนตัว Cursive เราก็ตรวจสอบจากชื่อและเลขประจำตัวหน้าปกได้ว่าเขาเป็นใคร เพราะเรามีสมุดทะเบียนอยู่แล้ว” อาร์ตยืนอยู่หน้าตู้กระจก ในนั้นมีสมุดบันทึกและหนังสือเรียน

หลายสิบปีที่แล้ว (บางเล่มอาจถึงร้อยปี) สมุดหนังสือเหล่านี้ล้วนมีเจ้าของ เรานึกภาพนักเรียนอัสสัมชัญยุคคุณปู่นั่งบรรจงจดสิ่งที่บราเดอร์ฝรั่งบรรยายหน้าชั้น

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

แม้วิชาชีววิทยาก็ยังจดเป็นภาษาอังกฤษ ที่รู้เพราะว่ามีภาพลายเส้นรูปกล้ามเนื้อหัวใจ และเนื้อหาที่แปลเป็นไทยได้ว่า เลือดมีหน้าที่อะไร การหมุนเวียนของเลือดหมายถึงอะไร พร้อมคำตอบ สมแล้วที่ชาวบ้านเรียกว่า โรงเรียนฝรั่ง

พระยาอนุมานราชธน อัสสัมชนิกคนสำคัญ เขียนเล่าไว้ในหนังสือชุด ฟื้นความหลัง ว่า “เนื่องจากครูส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสและสเปน สำเนียงพูดของนักเรียนจึงเป็นเสียงอย่างฝรั่งเศส ติดมาจนกระทั่งโต ซึ่งเป็นที่ทราบได้ว่า เป็นสำเนียงอังกฤษสำนักโรงเรียนอัสสัมชัญ”

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

พระยาอนุมานราชธนยังระบุด้วยว่า เพื่อเป็นการฝึกหัดให้นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ครูจึงแจกบทสนทนาโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษให้นักเรียนไปท่องจำล่วงหน้า 15 วัน จึงให้มาท่องโต้ตอบกันต่อหน้าครูสักครั้งหนึ่ง ต้องออกสำเนียงให้สูงต่ำหนักเบาถูกต้องแบบอังกฤษ และยังมีการบังคับให้พูดภาษาอังกฤษกันขณะอยู่ในโรงเรียนด้วย ไม่เว้นแม้ช่วงพัก หากได้ยินว่ามีใครพูดภาษาไทยจะถูกทำโทษ

อย่างไรก็ตาม พระยาอนุมานราชธนมิได้กล่าวว่าการบังคับให้ท่องภาษาอังกฤษนี้ ‘ไม่ดี’ เพราะท่านบันทึกไว้ว่า อัสสัมชัญนี่เองที่ทำให้รักการอ่าน ได้อ่านหนังสือมาก และได้รับความช่วยเหลือจากบุคลากรอัสสัมชัญในเรื่องต่างๆ ด้วยดีแม้อยู่ในวัยทำงาน

แม้โรงเรียนจะบังคับให้นักเรียนพูดแต่ภาษาอังกฤษ แต่เมื่อถึงชั่วโมงภาษาไทย นักเรียนท่องกาพย์กลอนกันอย่างไพเราะ คนที่แอบเงี่ยหูฟังอยู่ในห้องถัดไปคือ ฟ.ฮีแลร์ ท่านฟังและอุตส่าห์เล่าเรียนจนแตกฉานภาษาไทยขนาดแต่ง ดรุณศึกษา ได้

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

อาร์ตยกกอง ต้นฉบับ ดรุณศึกษา มาให้เราบันทึกภาพ

“เจอสมุดบันทึกของ ฟ.ฮีแลร์ 3 เล่ม ที่แก้ไขต้นฉบับ ดรุณศึกษา เขียนแล้วลบ ขีดฆ่า ก็คือท่านเขียนรวมเล่มไว้ แล้วก็ส่งไปให้คนโน้นคนนี้ช่วยแก้ไข ช่วยกันตรวจ ก็เห็นการแก้ไข เห็นวิธีคิด คำคำนี้มันเหมาะกับเด็กไหม หรือเด็กอ่านแล้วเข้าใจไหม เช่น ท่านเขียนคำว่า ‘ตีนเขา’ แล้วก็ขีดฆ่า เขียนเป็น ‘เชิงเขา’ แทน” อาร์ตเล่า

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

ภาพประกอบที่เราเห็นในต้นฉบับยังเป็นภาพที่ตัดจากที่อื่นมาแปะ มีลายมือ ฟ.ฮีแลร์ เขียนคำบรรยายภาพและตรวจแก้ต้นฉบับ ทั้งแก้สำนวนและเตือนความจำ (เช่นเขียนไว้ว่า ‘เรื่องนี้จะมีต่อไป’)

ยังมีสื่อการสอนที่ ‘เหมือนจริง’ จนสะดุ้ง

“น้องๆ มาเห็นตะกวดก็ตกใจ เราก็อธิบายว่า เป็นสัตว์สตัฟฟ์ เมื่อก่อนจะเรียนชีวะฯ เรายังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีรูปถ่าย ไม่มีขึ้นจอสไลด์ เครื่องปิ้งแผ่นใสก็ยังไม่มี แล้วจะสอนกันยังไง เอาของจริงมาให้เด็กดูเลย มีบราเดอร์ท่านหนึ่งชื่อบราเดอร์ฮูแบร์โต (Huberto) เห็นเรื่องสัตว์เขตร้อนเป็นเรื่องน่าสนใจ ก็สตัฟฟ์หมดเลย มีนกเงือก นกกระจอกเทศ เต่า แมลงทับ ผีเสื้อ เป็นสิบๆ กล่อง แต่ชำรุดเสียหายไปบ้าง” อาร์ตยกเต่านามาวางคู่กับพี่ตะกวดตัวยาวปรี๊ดให้ช่างภาพของเราถ่ายรูปชัดๆ

ภราดาฮูแบร์โตคือนักบวชที่สวมชุดขาวท่านที่ 2 จากขวา
พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

ยังมีเครื่องสำหรับ ‘ชั่งน้ำหนักจดหมาย’ อุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ เครื่องบันทึกเทป เครื่องเล่นเสียงที่เป็นงานแฮนด์เมดของจริง เพราะเป็นกระเป๋าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (กระเป๋าเจมส์บอนด์) เอามาเจาะแล้วติดตั้งเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้อัดและเล่นเสียงได้

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“ลองนึกสภาพว่าครูสมัยก่อนหิ้วไปสอนตามห้อง เครื่องใหญ่มาก เราก็ได้แต่สันนิษฐานว่าเป็นสื่อการเรียนการสอน แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของ” อาร์ตกล่าว

กลางห้องมี โต๊ะเก้าอี้แบบเก่า อยู่ 2 – 3 ชุด อาร์ตนั่งลง มือไล่ไปตามรางสำหรับวางเครื่องเขียนที่ด้านบนสุด

“โต๊ะรูปทรงนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยพ่อผมเรียน เขามาขัดสีทำสีใหม่ หน้าโต๊ะลาดลง มีรางใส่ดินสอ ข้างล่างมีเก๊ะ รูปทรงเดิมเลย ผมว่ามันเป็นโต๊ะเรียนที่ดีมาก มันลาด กว้าง เอียงรับกับตา มีรางเครื่องเขียน คือเหมาะมาก Functional มาก ทุกวันนี้บางห้องที่ตึก ฟ.ฮีแลร์ ก็ยังใช้อย่างนี้อยู่”

ของบางชิ้น อาร์ตเล่าขำๆ ว่า “ตอนพวกผมเปิดดูว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ก็มองหน้ากัน อืม แล้วปิด” อาร์ตหัวเราะเพราะคิดไม่ออกว่าบราเดอร์ฝรั่งจะใช้ ใบลาน ที่จารภาษาที่อ่านไม่ออก ปริมาณมากเต็ม 1 หีบใหญ่ สำหรับทำอะไร

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“ทำไมของแบบนี้ถึงอยู่ในโรงเรียนคริสต์ ก็ได้แต่สันนิษฐานว่า ฟ.ฮีแลร์ คงชอบอะไรพวกนี้ ใบลานมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทศน์มหาชาติ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าชำระกันจริงๆ ก็เรื่องใหญ่เลย เราเลยวางไว้อย่างนี้ก่อน สันนิษฐานว่าอาจไปขอใครมา หรือใครเอามาให้ เพราะท่าน ฟ.ฮีแลร์ ชอบเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว คือศิลาจารึก การมีใบลานเกี่ยวกับชาดกในโรงเรียนคริสต์เนี่ย ก็อธิบายตัวเขาได้พอสมควรว่าเขามีแนวคิดยังไงเรื่องศาสนา”

ของอีกชิ้นที่บอกเล่ายุคสมัยได้ดี คือ เครื่องพิมพ์ดีด

“ทักษะพิมพ์ดีดเป็นงานพาณิชย์ ไม่ว่าจะราชการเอกชน ห้างร้านที่ไหน จะต้องมีคนที่ทำงานด้านธุรการเอกสาร คือเสมียน ตอนนั้นเป็นอาชีพที่ดูเท่ เสมียนต้องพิมพ์ดีดเป็น เขียนหนังสือเป็น ร่างเอกสารได้ ทำบัญชีได้ โรงเรียนยุค พ.ศ. 2470 กว่าๆ ก็เริ่มสอนพิมพ์ดีด ผมไม่รู้ว่าอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนแรกไหมที่สอนพิมพ์ดีด แต่ก็เป็นหนึ่งในโรงเรียนแรกๆ แน่ มีห้องสอนพิมพ์ดีดโดยเฉพาะเลย มีพิมพ์ดีดวางเรียงกัน 30 – 40 ตัว”

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

เบื้องหน้าเราคือพิมพ์ดีดอายุหลายสิบปีวางเรียงกันเป็นตับ บางเครื่องหน้าตา ‘โบราณ’ มาก ใครใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ปัจจุบันคล่องแคล่ว อย่าหวังว่าจะพิมพ์ดีดด้วยเครื่องเหล่านี้ได้ ต้องหัด ต้องฝึก

คุณพ่อของอาร์ตเรียนอัสสัมชัญเช่นกัน ปัจจุบันอายุ 68 ปี ทันเรียนยุคที่การสอนพิมพ์ดีดกำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูพอดี

“พ่อเล่าให้ฟังว่า เขาจะอ่านต้นฉบับ ใช้ผ้าผูกตาไว้ แล้วพิมพ์ไปตามต้นฉบับ นี่คือวิธีฝึกพิมพ์ดีด ถ้าพิมพ์ผิด หรือไม่สนใจ มาสเตอร์ (Master – คำเรียกคุณครูผู้ชายของอัสสัมชัญ) ก็จะเดินมาพร้อมแปรงลบกระดานแล้วก็เคาะ ตีหลังนิ้ว

“จะมีการสอนว่าปุ่มนี้ใช้นิ้วนางกดเท่านั้น นิ้วก้อยกดเท่านั้น ไม่มีการเอื้อมมือไขว้นิ้วกัน คือมือไม่เคลื่อน มีแค่นิ้วที่เคลื่อนไหว” อาร์ตเล่าสิ่งที่ฟังมาจากพ่อ

ตามอัสสัมชนิกเข้ามิวเซียมของโรงเรียนฝรั่งแห่งบางรัก ดูชิ้นส่วนไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซู ต้นฉบับดรุณศึกษาลายมือ ฟ.ฮีแลร์ และสมุดทะเบียนนักเรียน อ.ป๋วย

“เวลามีจัดแข่งพิมพ์ดีดชิงแชมป์ประเทศไทย คนชนะเนี่ยไม่เด็กก็ครูที่นี่ทั้งนั้น พ่อบอกว่าเคยไปดูเขาแข่งพิมพ์ดีด โคตรสนุกเลย พอหมดบรรทัด ก็ต้อง ‘ตบแคร่’ พ่อผมเรียกอย่างนั้น คือตัวราง ตบดังเก๊ง ก็จะชนะกันที่จังหวะตบ ตบก่อนแปลว่าเสร็จก่อน ตอนพิมพ์รัวๆๆๆ เนี่ยไม่รู้หรอกว่าพิมพ์ไปถึงไหน แต่ใครตบแคร่ก่อนแปลว่าเสร็จบรรทัดนั้นแล้ว ลุ้นมาก

“ยุคนั้นก็มีโรงเรียนพระนครพาณิชย์ที่เป็นที่หนึ่งด้านพิมพ์ดีด เราก็เลยตั้งแผนกพาณิชย์ขึ้นมา แต่กระทรวงไม่ยอม บอกให้ไปตั้งโรงเรียนใหม่ ก็กลายเป็นอัสสัมชัญพาณิชย์ ACC Commerce

“พ่อจบ ม.ศ.3 ที่นี่ แล้วไปต่ออัสสัมชัญพาณิชย์ สมัยนั้นเขาเรียกว่า ‘ไปต่อคอมเมิร์ซ’ เด็กที่จบ ม.ศ.3 ที่นี่จะมี 3 ทางเลือก คือเรียนมัธยมปลายต่อ พวกนี้จบแล้วต่อมหาวิทยาลัย หรือจบ ม.ศ.3 แล้วไปเรียนคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่มีใครต่อมหาวิทยาลัย เพราะโดนบริษัทจองตัวไปทำงานกันหมด”

จากห้องโล่งๆ สู่ห้องจัดแสดง

มีคนถามอาร์ตเสมอว่า ทำงานพิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญนี่ทำอะไร

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

ถ้าเล่าอย่างสั้นที่สุด อาร์ตกับทีมงานช่วยกันคัดข้าวของชิ้นสำคัญๆ มาจัดแสดง นั่งคัดแยกข้าวของเก่าแก่ที่เคยนอนนิ่งอยู่ในลัง กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ นำมาทำทะเบียนวัตถุ ถ่ายภาพ สแกนเก็บไว้เป็นไฟล์ ทำข้อมูลประกอบแต่ละชิ้น และทำงานกระจุกกระจิกจิปาถะ รวมแล้วใช้เวลากว่า 3 ปี

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“ถ้าข้อมูลพวกนี้เผยแผ่ออกไปก็จะพลิกความเข้าใจบางอย่างที่เคยมี มันเป็นขุมทรัพย์ความรู้ในความรู้สึกเรา” อาร์ตตอบสั้นๆ เมื่อเราถามว่า อะไรเป็นแรงจูงใจให้ลงแรงลงเวลาหนักขนาดนี้

อาร์ตอธิบายเพิ่มเติมว่า งานทั้งหมดที่เขาและพี่ๆ อีก 3 คนช่วยกันทำ แบ่งได้เป็น 3 อย่าง คือ งานจดหมายเหตุ คือสำรวจตรวจสอบเอกสารสำคัญ เช่น หนังสือและวารสารที่จัดทำในวาระพิเศษ สแกนเก็บไว้เป็นไฟล์ดิจิทัล รวมแล้วหลายแสนหน้า และทำทะเบียนข้าวของทั้งหมด ข้าวของเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในโรงเรียนบ้าง มีศิษย์เก่าเอามามอบให้บ้าง ติดตัวคณะภราดามาจากฝรั่งเศสบ้าง โดยของทั้งหมดที่ทำทะเบียนแล้วมีเกือบ 3,000 ชิ้น และยังมีที่ไม่ได้ทำทะเบียนอีกหลายพันชิ้น

ขั้นถัดไปคือ งาน e-museum คือทำเว็บไซต์ไว้เก็บข้อมูลทั้งหมด ทั้งไฟล์หนังสือที่สแกนไว้ และข้อมูลของวัตถุต่างๆ เพื่อให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาอ่านได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือ Log in อะไรทั้งสิ้น เว็บไซต์ที่ว่านี้คือ www.assumptionmuseum.com ที่ทางโรงเรียนกำลังดำเนินการนำเนื้อหาขึ้นเว็บ เพื่อเผยแผ่ข้อมูลเหล่านี้

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

งานส่วนที่สามคือ งานพิพิธภัณฑ์ คือการนำข้าวของมาจัดแสดงประวัติศาสตร์ของโรงเรียน และหา ‘วิธีเล่าเรื่อง’ ที่ดีที่สุด

วิธีเล่าเรื่องของที่นี่คือ เล่าผ่านข้าวของ โดย โยงประวัติศาสตร์โรงเรียนกับประวัติศาสตร์ชาติในยุคเดียวกัน

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

อาร์ตอธิบายว่า “เช่นตอนคณะราษฎรปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ก็จะมีโปสเตอร์ที่ออกมาในยุคนั้นเพื่อบอกประชาชนว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร จัดแสดงไว้ด้วย แล้วก็จะมีข่าวของโรงเรียนในช่วงเวลานั้นว่าเกิดอะไรขึ้น หรือมีข่าวลงหนังสือพิมพ์ว่าอัสสัมชัญจับมือกับเซนต์คาเบรียลเพราะว่าบราเดอร์ไม่ให้หยุดในวันสำคัญทางพุทธศาสนา แบบนี้เป็นต้น ก็ยังถกกันอยู่เลยว่าตอนนั้นเป็นการชุมนุมสไตรก์ในระดับนักเรียนเป็นครั้งแรกของประเทศหรือเปล่า”

ในอนาคตอันใกล้ ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สนใจวัตถุชิ้นไหน จะใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code เพื่ออ่านรายละเอียดจากเว็บไซต์ได้ทันที รายละเอียดคำอธิบายของวัตถุแต่ละชิ้น อาร์ตและทีมงานเป็นคนทำ โดยเน้นให้เข้าใจง่าย ไม่ได้มีแต่ข้อมูลประวัติศาสตร์หนักๆ แต่แน่นพอจะนำไปใช้อ้างอิง

ตามอัสสัมชนิกเข้ามิวเซียมของโรงเรียนฝรั่งแห่งบางรัก ดูชิ้นส่วนไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซู ต้นฉบับดรุณศึกษาลายมือ ฟ.ฮีแลร์ และสมุดทะเบียนนักเรียน อ.ป๋วย

“พอเปิดลังมา สมมติเจอถ้วยรางวัลอะไรก็ไม่รู้ แต่มีปีระบุอยู่ เราก็เอามาสืบเทียบกับเอกสารของโรงเรียนที่เรามี ปีนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ถ้วยนี้มาได้ยังไง แข่งกับใคร รางวัลอะไร ก็พล็อตข้อมูลออกมา จากเดิมที่เป็นถ้วยรางวัลตั้งอยู่ในตู้กระจก ก็จะรู้ข้อมูล” อาร์ตเล่า เป็นการแก้ปัญหาคลาสสิกของพิพิธภัณฑ์ ที่หากไม่มีคนเล่าให้ฟังก็จะไม่รู้เรื่อง

หากสนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ ชั้น 11 อาคารอัสสัมชัญ 2003 ก็เพียงติดต่อทางโรงเรียนอัสสัมชัญก่อนล่วงหน้าเพื่อขอเข้าชม เพราะพิพิธภัณฑ์ที่นี่ไม่ได้เปิดทุกวันเหมือนพิพิธภัณฑ์สาธารณะทั่วไป

จงตื่นเถิด เปิดตา หาความรู้

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

อาร์ตกล่าวว่า สมัยเขาเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโรงเรียนเลย เพื่อนๆ เองก็รู้แค่ว่า “คุณพ่อกอลมเบต์เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน บราเดอร์ฮีแลร์เป็นผู้แต่ง ดรุณศึกษา” แค่นี้ เพราะไม่ได้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โรงเรียนหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสักเท่าไร

พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ เปลี่ยนห้องเปล่าให้เล่าเกียรติภูมิ 134 ปี AC ผ่านสิ่งของอายุร้อยปีนับพันชิ้น

“มีแต่ตอนผมเรียน ม.1 มาสเตอร์ท่านหนึ่งเป็นครูสอนสังคมศึกษา ชื่อ มาสเตอร์อุทัย ธารีจิตร ท่านพาเดินรอบบางรัก คาบนี้ไปโบสถ์ คาบนี้ไปมัสยิดฮารูณ ท่านก็บรรยายให้ฟังว่าชุมชนบางรักสมัยก่อนเป็นยังไง มีเรือมาจอดเพราะอะไร ไปสถานทูตฝรั่งเศส พาเด็กเดินดู

ผมประทับใจมาก แต่พอท่านเกษียณไปก็ไม่ได้มีใครทำอีก ก็น่าเสียดายว่าเราไม่ค่อยมองตัวเองผูกพันกับท้องถิ่นบางรัก ทั้งที่เราเป็นภาพสะท้อนที่ดีมากๆ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความเป็นเอกชน มีพ่อค้าคหบดี นี่เป็นบางรักชัดๆ ปฏิเสธไม่ได้เลย”

อาร์ตเปิดเผยว่า เขาหวังอยากให้งานที่ทำช่วยสร้าง ‘ความเข้าใจ’

“ถามว่าพิพิธภัณฑ์ควรทำหน้าที่อะไร ผมมองว่าเป็นเรื่องความเข้าใจ คนหนึ่งคนเข้ามาพิพิธภัณฑ์แล้วอยากเข้าใจอะไร พอเข้าใจแล้วเขาเห็นความเชื่อมโยงไหม สุดท้ายแล้วมันควรช่วยทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข” อาร์ตกล่าว “เราจะเข้าใจว่าเพราะอะไรบางอย่างถึงเกิดขึ้น เพราะมันมีที่มาอย่างนี้ ของชิ้นนี้เป็นของพุทธ มีพระไตรปิฎก มีใบลานจารเทศน์มหาชาติ ทำไมของแบบนี้ถึงอยู่ในโรงเรียนคริสต์ มันก็จะเห็นภาพ เพราะของทุกชิ้นมีที่มา ถ้าเราเข้าใจเรื่องต่างๆ เราก็จะไม่ก่นด่า ไม่แขวะกัน”

คนพูดอมยิ้มจนพวกเราหัวเราะ การ ‘ไม่แขวะกัน’ และเคารพความเห็นต่าง ช่างหาได้ยากยิ่งในยุคนี้ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความเห็นต่างทางการเมือง

ตามอัสสัมชนิกเข้ามิวเซียมของโรงเรียนฝรั่งแห่งบางรัก ดูชิ้นส่วนไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซู ต้นฉบับดรุณศึกษาลายมือ ฟ.ฮีแลร์ และสมุดทะเบียนนักเรียน อ.ป๋วย

ได้เวลาเลิกเรียนพอดีพร้อมกับที่ชมพิพิธภัณฑ์จนหมดทุกห้อง อาร์ตมองข้าวของที่วางเป็นระเบียบในห้องขนาดยาว ยืนเป็นแบบให้ช่างภาพอย่างอดทน ทั้งที่บรรยายเรื่องราวและตอบคำถามต่างๆ ของเรามานานสองชั่วโมงเต็ม

เขาไล่ปิดไฟปิดแอร์ทีละห้อง ก่อนพาเราเดินชมทั้งโรงเรียนเป็นการอำลา

ตามอัสสัมชนิกเข้ามิวเซียมของโรงเรียนฝรั่งแห่งบางรัก ดูชิ้นส่วนไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซู ต้นฉบับดรุณศึกษาลายมือ ฟ.ฮีแลร์ และสมุดทะเบียนนักเรียน อ.ป๋วย

ตึกเก่าแก่ที่สุด คือตึกกอลมเบต์ นาฬิกาหน้าตาเรียบง่ายของตึกนี้ออกแบบโดยลูกศิษย์ของ กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างหอไอเฟลที่มหานครปารีส นาฬิกาเรือนนี้พ่วงสายกับระฆัง 7 โมงนาฬิกาตี 7 ครั้ง 8 โมงตี 8 ครั้ง อย่างนี้เรื่อยไปทุกชั่วโมง ระฆังใบนี้หล่อโดยบริษัทที่ผลิตระฆังให้โบสถ์ใหญ่ทุกโบสถ์ในฝรั่งเศส

“เนี่ย พอเจอนาฬิกาขนาดนี้ ตึกขนาดนี้ ระฆังขนาดนี้ เราก็แบบ…ว้าว โรงเรียนเรามีของขนาดนี้เลยเหรอวะ” อาร์ตยังแถมท้ายด้วยการเล่าประวัตินาฬิกาและตึกกอลมเบต์ให้เราฟังต่อโดยไม่เหนื่อยหน่าย

สนามบาสเกตบอลและลานกว้างที่คั่นระหว่าง ‘ตึก ก.’ (กอลมเบต์) กับ ‘ตึก ฟ.’ (ฟ.ฮีแลร์) เต็มไปด้วยเด็กนักเรียนอัสสัมชัญทั้งชั้นเล็กและชั้นโตมาเล่นกีฬา ซ้อมดนตรี ฝึกกิจกรรมลูกเสือ ใต้ตึก ฟ.ฮีแลร์ กลายเป็นสนามบอลในร่มและที่นั่งแกะคอร์ดกีตาร์ในเวลาเดียวกัน ได้บรรยากาศโรงเรียนชายล้วน

เด็กหนุ่มเหล่านี้คือปัจจุบันและอนาคตของอัสสัมชัญ สิ่งที่อาร์ตทำคือ เก็บรวบรวมอดีต โดยหวังเพียงว่ามันจะ ‘มีประโยชน์’ เพราะอดีตมิใช่หรือ ที่บ่งบอกปัจจุบันและอนาคต

“ทั้งโรงเรียนคือพิพิธภัณฑ์ ทุกตึก ทุกอนุสาวรีย์ มีเรื่องราวทั้งหมด อยากให้สิ่งที่พวกผมทำได้เผยแผ่ไปไกลกว่ารั้วโรงเรียน มันไม่ควรจบแค่ภายในห้องนั้น…”

อาร์ตคงไม่ได้ทำงานทั้งหมดนี้เพียงเพราะว่าเป็นนักเรียนเก่าที่นี่-ใช่ไหม

“ผมทนเห็นของพวกนี้นอนอยู่ในลังในกล่องเฉยๆ ไม่ได้” อาร์ตบอก

“เราเรียนประวัติศาสตร์มา เรารู้ว่าหนังสือเล่มนี้ ของชิ้นนี้ มีความสำคัญยังไงบ้างกับสังคม มีคนตามหาอยู่แน่ๆ แต่เขาไม่รู้ว่ามีของที่จะให้คำตอบได้อยู่ที่นี่ ถ้าข้อมูลเหล่านี้ได้เผยแพร่ออกไป มันจะเป็น Primary Source ที่จะเอาไปต่อยอด ไปทำความเข้าใจกับเรื่องอะไรต่างๆ ได้อีกเยอะ กับตัวเขาเอง กับชุมชนท้องถิ่น กับประวัติศาสตร์ไทย หรือเมืองนอกมาศึกษาเรื่องฝรั่งเศสในเมืองไทย ก็มาใช้ได้ ในอนาคตเราจะทำข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ข้อมูลพวกนี้ควรถูกเผยแพร่อย่างยิ่ง และทุกคนควรได้ใช้”

อยากให้งานพิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญต่อยอดไปถึงจุดใดในอนาคต

“สิ่งที่ฝันไว้ก็คือ อยากให้โรงเรียนที่มีพิพิธภัณฑ์ อาจเริ่มต้นจากโรงเรียนในเครือจตุรมิตรก็ได้ เทพศิรินทร์ กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สวนกุหลาบวิทยาลัย อัสสัมชัญ เอาประสบการณ์การทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียนมาแชร์กัน มาปรึกษาหารือกัน ว่าจะทำอย่างให้นักเรียน ครู ผู้บริหาร หรือคนทั่วไป เข้าใจ เข้าถึงวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ จะสอนนักเรียนอย่างไร จะจัดนิทรรศการอย่างไร

“เพราะแต่ละสถานที่ก็มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ หากเราได้เอามาแชร์กัน ปะติดปะต่อด้วยกัน มันก็กลายเป็นความรู้ที่ส่งต่อได้ ไม่ใช่แค่สอนนักเรียนของตนเอง แต่ขยายไปยังชุมชนรอบข้างด้วย

“หรือเราอาจจะจัดนิทรรศการร่วมกันในที่สาธารณะ มีนิทรรศการหมุนเวียนไปตามโรงเรียนต่างๆ เอาเรื่องของเทพศิรินทร์ อัสสัมชัญ กรุงเทพคริสเตียนฯ ที่เกี่ยวข้องกับสวนกุหลาบฯ มาจัดแสดงชั่วคราวที่สวนกุหลาบฯ เปิดโอกาสให้นักเรียน ให้ครูสวนกุหลาบฯ ได้พบ ได้เห็นเรื่องราวของตัวเองที่ไปมีตัวตนอยู่ ในโรงเรียนอื่น

“ถ้าทำได้ ผมคิดว่ามันจะยิ่งทำให้เราได้เห็นภาพว่า คนอื่นเขาเข้าใจเราว่าอย่างไร เราเข้าใจเขาว่าอย่างไร ท้ายที่สุดในหมู่มิตรสหายเราจะได้เข้าใจกันและกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้ชีวิตคนในสังคมดำเนินไปอย่างเข้าใจและไม่ทำร้ายกันครับ”

ตามอัสสัมชนิกเข้ามิวเซียมของโรงเรียนฝรั่งแห่งบางรัก ดูชิ้นส่วนไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซู ต้นฉบับดรุณศึกษาลายมือ ฟ.ฮีแลร์ และสมุดทะเบียนนักเรียน อ.ป๋วย

หนังสืออ้างอิง

ไตรสุริยธรรมา, ภิญโญ. คนเก่าเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊คส์, 2556

ศิริ, ยุวดี. ตึกเก่า – โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557

ศิวรักษ์, สุลักษณ์. หกชีวประวัติ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2527

แสงกระจ่าง, ชมัยภร. ดอกหญ้าเหนือผืนดิน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559

อนุมานราชธน, พระยา. ฟื้นความหลัง. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2547

ขอขอบคุณ

โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก

มาสเตอร์โสภณ สกุลเรือง หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนอัสสัมชัญ

คุณปกรณ์ เลิศเสถียรชัย (อสช. 34865)

ร้าน About White Café & Bistro (เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ)

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ