อัสสัมชัญได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1885 โดย บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Pere Emile Colombet) ชาวฝรั่งเศส โดยตั้งชื่อว่า College de L’ Assomption ด้วยจำนวนนักเรียน 33 คน มาจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนสำเร็จการศึกษามา 50,000 กว่าคน จากเลขประจำตัวนักเรียนล่าสุด 58484 

บาทหลวงกอลมเบต์ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแผ่นดินแม่มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ บริเวณที่เรียกว่าบางรัก อันมีชุมชนชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกตั้งถิ่นอาศัยมาช้านาน และมีโบสถ์อัสสัมชัญเป็นศูนย์กลางในสมัยนั้น และต่อมาได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนอบรมสั่งสอนให้กับนักเรียนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ฐานันดร ศาสนา รวมถึงเด็กกำพร้าที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาโรงเรียนอัสสัมชัญ 

จากนักเรียนที่มาเรียนไม่กี่สิบคน เพียงไม่นานมีเด็กมาเรียนมากขึ้นตามลำดับ จากชื่อเสียงของโรงเรียนที่ผลิตเด็กนักเรียนมีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมและความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสจากครูต่างชาติ ในขณะเดียวกันทางโรงเรียนก็ขาดแคลนทุนทรัพย์และครูสอน บาทหลวงกอลมเบต์จึงเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด และติดต่อคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ให้มาสืบทอดกิจการของโรงเรียนต่อไป และทางคณะเซนต์คาเบรียลได้ส่งภราดาชุดแรกห้าท่านลงเรือมากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เพื่อมาดูแลการบริหารโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป 

หนึ่งในนั้นคือ ฟ.ฮีแลร์ (F. Hilaire) ภราดาผู้เป็นเสาหลักและสร้างความเจริญรุ่งโรจน์ให้แก่โรงเรียนมาตลอดระยะเวลา 60 กว่าปีที่ท่านอยู่ที่โรงเรียนตราบจนวาระสุดท้าย และเป็นผู้แต่งหนังสือ ดรุณศึกษา ตำราเรียนชั้นประถมศึกษา แบบเรียนภาษาไทยเก่าแก่ชื่อดังที่ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลายมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาคณะเซนต์คาเบรียลที่บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญเล็งเห็นว่า โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักคงไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ปกครองที่อยากส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ จึงได้ขยายโรงเรียนในเครือออกไปอีกนับ 10 แห่งทั่วประเทศ อาทิ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โรงเรียนมงฟอร์ต โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฯลฯ

ตลอดระยะเวลา 100 กว่าปี โรงเรียนอัสสัมชัญได้อบรมนักเรียนจนสำเร็จการศึกษาหลายหมื่นคน และหลายคนทำชื่อเสียงให้แก่สังคม อาทิ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก, นายควง อภัยวงศ์, นายสัญญา ธรรมศักดิ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ,พระยาอนุมานราชธน บุคคลสำคัญของโลก โดย UNESCO , นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ พระไพศาล วิสาโล, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์, นายวัลลภ เจียรวนนท์, นายชาติศิริ โสภณพานิช, นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายปิยบุตร แสงกนกกุล ฯลฯ

เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสมาคมอัสสัมชัญได้ผลิตหนังสือสมุดภาพเล่มใหญ่ชื่อ ‘Unseen Assumption บันทึกไว้ในแผ่นดิน’ ในวาระครบรอบ 135 ปีแห่งการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ภายในหนังสือเล่มนี้มีภาพเก่าหายากอายุนับร้อยปี ทางทีมกองบรรณาธิการได้สืบหาข้อมูลจากหลายแหล่ง และไม่เคยเปิดเผยมาก่อน และทางผู้เขียนได้ขออนุญาตทางสมาคม เพื่อคัดภาพบางส่วนมาตีพิมพ์เผยแพร่

 ภาพเหล่านี้สามารถสะท้อนเรื่องราวของสังคม และชวนให้รำลึกอดีตของสยามนับร้อยปีก่อนว่า มีสภาพเป็นอย่างไร

เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
ภาพถ่ายนักเรียนอัสสัมชัญทางเข้าหน้าประตูใหญ่ ประมาณ ค.ศ. 1900
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
 ผู้แทนสันตะปาปาจากวาติกันมาเยี่ยมโรงเรียนใน ค.ศ. 1938 
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
รูปหมู่นักเรียนอัสสัมชัญ ค.ศ. 1888 หลังจากเปิดการสอนได้ 3 ปี ถ่ายพร้อมกับ ม.ปาวี กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
ภาพถ่ายภราดา ครู และนักเรียนชั้นมูล ราว ค.ศ. 1912 สังเกตเห็นมีทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติมาเรียนรวมกัน
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
ภาพถ่ายนักเรียนใน ค.ศ. 1917 พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย) เสด็จเยี่ยมโรงเรียนอัสสัมชัญ 
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
 นักเรียนอัสสัมชัญที่ท้องสนามหลวง ในงานฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1911 สังเกตธงช้าง ธงชาติในสมัยนั้น และป้าย Christian High School
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
บาทหลวงเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ (ค.ศ. 1849 – 1933) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญและสมุดบันทึกของท่าน
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
สมณทูตเล กรอ อาร์ต (คนกลาง) มาเยี่ยมโรงเรียนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1923 ท่านได้อบรมนักเรียนที่มีจำนวนประมาณ 1,600 คน
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
ทีมฟุตบอลสมาคมอัสสัมชัญ ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลชิงเครื่องบินจำลองของกรมอากาศยานเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 ได้รับรางวัลเครื่องบินจำลองรุ่นนิเออปอร์ต
เปิดหนังสือ Unseen Assumption ชมภาพถ่ายเก่าหายากของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
วงเครื่องเป่า AC Band เป็นวงดุริยางค์เก่าแก่ที่สุดวงหนึ่งของประเทศ ภาพถ่ายก่อน ค.ศ. 1913

หมายเหตุ : สนใจหนังสือที่ระลึก Unseen Assumption ติดต่อสมาคมอัสสัมชัญ โทรศัพท์ 08 6990 1488

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว