“หนูมีความสุขทุกครั้ง เมื่อได้เข้าป่าไปหาเพื่อน ใช่แล้ว เพื่อนของหนูคือลิง”จุรีรัตน์ แหวนอาจ ผู้ช่วยนักวิจัยลิงวอกภูเขา

ความสุขแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ช่วยนักวิจัยสัตว์ป่าบางคนมีความสุขกับการได้เข้าป่าลึก ใช้เวลาทั้งวันติดตาม เก็บข้อมูลสังเกตพฤติกรรม ได้เรียนรู้นิสัยของ ‘ลิงอ้ายเงียะหรือลิงวอกภูเขา’

แม้ระหว่างทางจะต้องบุกป่าฝ่าดง เดินทางด้วยความยากลำบาก เจอทั้งทาก เห็บ งูพิษ หรือโชคร้ายต้องหนีกระทิง ช้าง เสือ แต่พวกเขายังดั้นด้นที่จะไปหาลิงเหล่านี้ด้วยความสุข เพราะมีลิงเป็นเพื่อน

สามีภรรยาผู้ทำวิจัยลิงวอกภูเขา 14 ปีจนพบว่าชีวิตในสังคมลิงมีสีสันดราม่าไม่ต่างจากคน

พวกเขาใช้ชีวิตแบบนี้เกือบทุกวันเป็นเวลา 10 กว่าปี

กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผมมีโอกาสเดินเข้าป่าลึกติดตามการทำงานของผู้ช่วยนักวิจัยเหล่านี้

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว แหล่งต้นน้ำแม่น้ำชี ระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร มีพื้นที่เกือบ 1 ล้านไร่ เป็นแหล่งป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ไม่มากในภาคอีสาน ประกอบด้วย ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ป่าเต็งรังผสมสน ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง ยังมีทุ่งหญ้าหลายแห่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือทุ่งกะมัง และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ เลียงผา ช้างป่า กระทิง เสือโคร่ง เสือดาว กวาง เก้ง กระจง หมี ชะนี ลิง ค่าง หมูป่า และนกต่าง ๆ ที่หายาก เช่นไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกยูง นกเงือกชนิดต่าง ๆ นกกางเขนดง นกหัวขวานหลายชนิด ฯลฯ และที่สำคัญ เคยมีร่องรอยของสัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้วคือ กระซู่

ผู้ช่วยนักวิจัย วัช-นานธวัช วิเศษ กับ จุ๊-จุรีรัตน์ แหวนอาจ สองสามีภรรยาวัย 30 กว่าปี เป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการวิจัย ‘ผลทางสรีรวิทยาและพฤติกรรมของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมของลิงวอกภูเขาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว’ หัวหน้าโครงการ Oliver Schuelke แห่ง University of Gottingen ประเทศเยอรมนี ทำวิจัยชีวิตลิงวอกภูเขาอย่างต่อเนื่อง 14 ปี จนน่าจะเป็นโครงการวิจัยสัตว์ป่ายาวนานที่สุดโครงการหนึ่งในประเทศนี้

สามีภรรยาผู้ทำวิจัยลิงวอกภูเขา 14 ปีจนพบว่าชีวิตในสังคมลิงมีสีสันดราม่าไม่ต่างจากคน
วัช-นานธวัช วิเศษ กับ จุ๊-จุรีรัตน์ แหวนอาจ

ตั้งแต่เช้ามืด เราเดินเข้าป่าลึก สายตาคอยสอดส่องหาฝูงลิงวอกบนต้นไม้ สักพักหนึ่งเสียงดังของลิงวอกภูเขาฝูงหนึ่งก็ดังขึ้นในราวป่า พวกเค้าโหนตัวไปตามกิ่งไม้ บ้างกระโดดข้ามต้นไม้ด้วยความคล่องแคล่ว

เราเห็นผู้ช่วยนักวิจัยส่องกล้อง บันทึกตำแหน่งจีพีเอส ใช้อุปกรณ์อีกหลายชนิด เพื่อเก็บข้อมูล การเดินทาง อาหาร พฤติกรรมทุกอย่างของลิงฝูงนี้ พวกเขาตั้งชื่อลิงทุกตัวและจำแนกลักษณะของลิง

“หากได้มาคลุกคลีแล้วจะรู้ว่า พวกเขาหน้าตาไม่เหมือนกัน นิสัยก็ต่างกัน” วัชเล่าให้ฟังต่อ

“ลิงมีการสื่อสารกัน เราจดจำเขาได้ เขาก็จดจำเราได้ แต่ละตัวมีบุคลิกต่างกัน อารมณ์โกรธก็ไม่เหมือนกัน”

ลิงอ้ายเงียะเป็นลิงร่างใหญ่ บึกบึน รูปร่างอ้วนสั้น ขนปุย ขนตามตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง หัวโต หางค่อนข้างสั้น ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้สูง ชอบหากินเป็นฝูงใหญ่ 40 – 60 ตัว

พอพวกเราติดตามฝูงลิงไปได้ระยะหนึ่ง ลิงบางตัวเริ่มลงมาเดินกับพื้น หลายตัวเดินผ่านเราไปอย่างปกติ ราวกับว่ามนุษย์อย่างเราเป็นสมาชิกในฝูง ทั้ง ๆ ที่ลิงวอกภูเขาขึ้นชื่อว่าเป็นลิงค่อนข้างดุร้าย

“หลายปีที่ผ่านมาจากการติดตามศึกษาพฤติกรรมลิง ทำให้พวกเราใกล้ชิดกับลิงมาก การที่ลิงมาคลุกคลีกับนักวิจัยจนเราเดินอยู่ในฝูงได้ เพราะเราทำให้เขารู้ว่า เราไม่ได้เป็นอันตรายกับเขาเหมือนสัตว์กินพืชอย่างกระทิง หมูป่า เก้ง กวาง ไม่ได้เหมือนเป็นสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ เขาถึงให้เราอยู่ใกล้ ๆ กับเขา แต่เพื่อความปลอดภัย อย่ามองหน้า เพราะลิงมักคิดว่าเราอยู่อันดับต่ำกว่า” จุ๊ส่องกล้องขึ้นดูลิงบนกิ่งไม้สูง เริ่มส่งเสียงร้องดังขึ้น

“ลิงส่งเสียงแตกต่างกัน เป็นภาษาที่พวกเค้าสื่อสารกันเอง อาทิ ถ้าเจองูจะส่งเสียงดังมาก และหลายตัวจะร้องตาม ร้องเตือนกัน ลิงมีภาษากายด้วย อาทิ ถ้ามีการพองขน แสดงว่าอาจจะเห็นสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ ลิงจะมีภาษากายเยอะมาก เช่น การยิงฟันกัน ยักคิ้วขึ้น หูจะลู่ และทำฟันกระทบกัน แสดงว่าอารมณ์ดี มาเล่นกันเถอะ แต่หากทำตัวแข็งทื่อ หันตามองไปตรง ๆ นั่นคือกำลังแสดงความก้าวร้าว”

สามีภรรยาผู้ทำวิจัยลิงวอกภูเขา 14 ปีจนพบว่าชีวิตในสังคมลิงมีสีสันดราม่าไม่ต่างจากคน

คนเหล่านี้อยู่ป่ากับลิงนาน ๆ พอจะเรียนรู้ว่า เสียงร้องกลัว เสียงร้องขึ้นต้นไม้นอน เสียงร้องเห็นอาหาร เสียงหิวนม เสียงบอกอันตราย ลักษณะเสียงไม่เหมือนกัน

เราได้ยินเสียงร้องเจี๊ยวจ๊าวของลิงตัวหนึ่งดังขึ้น จุ๊บอกว่า เป็นเสียงเชื้อชวนให้ลิงตัวอื่นมาเด็ดกินดอกสะบ้าลิง อาหารของโปรดของพวกเขา

“ตอนเข้าป่าถ้าได้ยินเสียงแบบนี้ เราจะรู้ทันทีว่าเขาได้เห็นผลไม้อร่อยก็ชวนกันมากิน ลิงกินดอกไม้ ไข่ แมลง แมงมุม กระรอก กบ เขียด ตั๊กแตน กิ้งก่า บางทีก็เอาตัวอีเห็นมาเล่น มารุมทึ้ง รุมเล่นจนตาย”

ขณะพักกินข้าวกันกลางป่า สองสามีภรรยาเล่าให้ฟังว่า ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่เฝ้าดูนิสัยของเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้ พวกเขาพบว่า ลิงวอกภูเขาเป็นสัตว์สังคมที่ดูแลและช่วยเหลือกันในกลุ่มตลอด ลิงก็มีเพื่อน เหมือนมนุษย์เรามีเพื่อน เกิดเรื่องอะไรก็ช่วยเหลือกัน และเล่าเรื่องที่เตือนใจพวกเขาไปตลอดชีวิตให้ฟังว่า

“ครั้งหนึ่งประมาณ 5 ปีก่อน เราพบลิงตัวหนึ่งชื่อโรม กำลังโดนเสือลายเมฆกัดที่คอ โรมส่งเสียงร้องเรียกให้เพื่อนมาช่วย เพื่อนตัวหนึ่งชื่อนาย กระโดดจากต้นไม้ลงมาช่วยโรม สู้กับเสือสักพัก นายโดนเสือกัดตายคาที่ ส่วนโรมรอดแต่ได้รับบาดเจ็บและหายไปจากฝูง เย็นวันนั้นลิงทั้งฝูงหลายสิบตัวกลับมารวมฝูงใหม่ พวกเค้าเดินเป็นวงรอบ ๆ ตรงจุดที่เกิดเหตุ และส่งเสียงร้องเสียงแปลก ๆ ผมรู้สึกได้ว่าเราไม่เคยได้ยินเสียงแบบนี้มาก่อน เหมือนกับว่าพวกเค้าสูญเสียอะไรบางอย่างไปแล้ว…

“ผ่านไป 2 วัน เราก็รู้ว่านายจากไปแล้ว แต่โรมยังไม่เห็น เรายังมีความคิดว่าน่าจะรอด สักพักเราก็เห็นโรมจริง ๆ ยังไม่ตาย เห็นรอยกัดตรงคอเป็นแผลใหญ่ ทำให้โรมร้องไม่ได้ คือธรรมชาติของลิงเวลาหลงฝูง เขาจะส่งเสียงเรียกโต้ตอบกันไปมาจนตามไปหาฝูงได้ แต่โรมส่งเสียงไม่ได้แล้ว จึงพลัดจากฝูงไปหลายวัน

“วันนั้นเราเห็นโรมอยู่ข้างถนน พวกลิงก็ดีใจนึกว่าโรมกลับเข้าฝูงได้แล้ว แต่โรมโทรมมาก ทั้งบาดเจ็บ ทั้งไม่ได้กินอาหาร ลิงในฝูงก็เดินข้ามถนนไปหมด ยกเว้นจ่าฝูงชื่อธาริน นั่งรอโรมให้ข้ามไปด้วยกัน จนโรมเดินทุลักทุเลข้ามถนนไปได้ แต่หลังจากนั้นอีก 2 – 3 วันโรมก็ตายจากบาดแผล ทุกวันนี้ผมยังคิดถึงความกล้าหาญของนาย เจ้าโรม และอีกหลาย ๆ ตัวครับ พวกเขาไม่ได้เป็นแค่สัตว์ แต่มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์แบบเรา” วัชยอมรับว่าตอนแรกทำวิจัยลิงก็ไม่รู้สึกอะไร แต่เหตุการณ์นั้นทำให้รู้สึกได้ว่า ลิงมีการช่วยเหลือกันจริง ๆ ขณะที่จุ๊พูดเสริมขึ้นมาว่า

“มันเป็นภาพติดตาเลย ธารินนั่งรออยู่ตรงนั้น รอให้โรมที่เจ็บหนักค่อย ๆ เดินข้ามถนน แต่ละก้าว ใจแทบขาด หนูเห็นแล้วน้ำตาซึม ช่วงนั้นฝูงลิงก็จะหงอย เศร้า ๆ ไม่ร่าเริง และไม่ค่อยเคลื่อนตัวไปไหน ราวกับรออะไรบางอย่าง สังเกตว่าในฝูงลิง หากลิงตัวใดตายไปไม่ค่อยดี หรือหายไปเฉย ๆ ลิงที่เหลือจะหงอย ๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไปไหน ราวกับว่ารออะไรบางอย่าง หนูเสียใจมากตอนโรมตาย เพราะตอนมันมีชีวิต ชอบช่วยเหลือเพื่อน ๆ ช่วยปกป้องหนู เวลาหนูเจอลิงวัยรุ่นทำร้าย เขาจะมาตบสั่งสอน”

สามีภรรยาผู้ทำวิจัยลิงวอกภูเขา 14 ปีจนพบว่าชีวิตในสังคมลิงมีสีสันดราม่าไม่ต่างจากคน

วันนั้นทั้งวัน เราบุกป่าเดินไปตามทิศทางการเคลื่อนย้ายของลิงฝูงนี้ประมาณ 60 – 70 ตัว โหนตัวไปตามต้นไม้ บางครั้งก็เดินปะปนกับมนุษย์ผู้เฝ้าเก็บข้อมูล ระหว่างทางก็เก็บกินดอกไม้ตุนเป็นอาหาร โดยเฉพาะดอกสะบ้าที่โปรดปรานเป็นพิเศษ จนกระทั่งเย็นนั้น พวกเขามาถึงต้นไทรใหญ่ กระจายไปเกาะตามกิ่งไม้เป็นที่พักผ่อน

“เราเข้าป่าไม่ใช่แค่ทำวิจัย มันมีความรู้สึกผูกพันกันมากกว่า เราเจอกลุ่มของลิง ให้ความรู้สึกได้ผ่อนคลาย มีชีวิตชีวา เหมือนเรามีเพื่อน เขาเห็นเราก็ส่งเสียงร้อง ก็บ่งบอกเหมือนกับคิดถึงนะ เราเองก็คิดถึงเขา

“ครั้งหนึ่งหนูจะไปเหยียบงู ลิงชื่อไอโอน่าเขาเตือนแบบมองหน้าแล้วร้องแอ้ ๆ พอหนูก้าวเดิน เขาก็ร้องเตือนอีก จนเห็นงูเหลือมตัวใหญ่มาก แต่จะทดสอบว่าเขาจะเป็นห่วงเราไหม เลยเดินไปอีกก้าว คราวนี้ไอโอน่ากระโดดลงมา มองหน้างู มองหน้าหนู แล้วร้องเตือนอีก เขาเป็นห่วงเราจริง ๆ” จุ๊เล่าประสบการณ์ความผูกพันกับลิงให้ฟัง

“เคยมีลูกลิงตัวหนึ่งชื่อพาย เห็นตั้งแต่เกิดเลยครับ ลิงแต่ละตัวนิสัยไม่เหมือนกันเลย บางตัวขี้เล่น ซน แต่พายไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่พอวันหนึ่งแม่เขาตกจากต้นไม้ได้รับบาดเจ็บ ที่หัวมีแผลใหญ่ สุดท้ายก็ตายไป และเราก็ไม่ได้เห็นน้องพายอีกเลย เพราะหากแม่ตาย ลูกจะรอดยาก พายอายุไม่ถึงขวบ เราก็รู้สึกใจหาย เพราะตามเขาอยู่ตลอด เห็นพัฒนาการของพายตลอด เหมือนเราตามดูชีวิตเด็กคนหนึ่ง น่าเศร้าสำหรับคนติดตามที่ทำอะไรไม่ได้เลย ได้แค่มองและเก็บพฤติกรรม เข้าไปยุ่งย่ามในสังคมลิงไม่ได้” วัชเล่าความรู้สึกผูกพันให้ฟัง

ตามหลักของการวิจัยสัตว์ป่า มีกฎว่าพวกเขาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวธรรมชาติของสัตว์ ได้แค่เฝ้าสังเกตการณ์อย่างเดียว

ใกล้เลือกตั้งแล้ว พอออกจากป่า เราถามคำถามสุดท้ายว่า ฝูงลิงมีเล่นการเมืองไหม

วัชยิ้ม ๆ ไม่ตอบตรง ๆ แต่เล่าเรื่องชีวิตของจ่าฝูงให้ฟังว่า

เข้าป่ากับสามีภรรยานักวิจัยลิงวอกภูเขาที่คลุกคลีกับลิง 14 ปี จนเห็นชีวิตของลิงมากมายที่ดราม่าไม่ต่างจากคน

“ลิงฝูงหนึ่งจะมีจ่าฝูงตัวผู้ตัวเดียวอยู่อันดับ 1 เรียกว่า Alpha และมีลิงตัวผู้เป็นอันดับรอง ๆ ลงมาเรียกว่า Beta เหมือนกับมือซ้ายมือขวา เป็นผู้สนับสนุนหรือเพื่อน อันดับจะลดหลั่นไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าลิงตัวนั้นจะเป็นจ่าฝูงไปจนตาย เพราะถ้าพลาดก็อาจจะโดนโค่นได้

“เราเคยตามจ่าฝูงตัวหนึ่ง ชื่อแว่นตา เป็นจ่าฝูงมานาน แต่วันหนึ่งพลาดท่าตอนช่วงผสมพันธุ์ คือมัวแต่ตามตัวเมียจนไม่ทันระวัง ช่วงนั้นในฝูงมีตัวผู้อายุวัยรุ่น 7 – 9 ปี ชื่อร็อกกี้ ถ้าในแง่อันดับพวกนี้อยู่อันดับ 7 ห่างไกลมาก แต่มาท้าสู้กับแว่นตา เพื่อต้องการขึ้นมาเป็นจ่าฝูงแทน พวกเขาสู้กันดุเดือดจนตาย แว่นตาพ่ายแพ้ เราพบซากของแว่นตาตาย ร็อกกี้ขึ้นเป็นจ่าฝูงแทน 

“ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนจ่าฝูงไม่ใช่ว่าอันดับ1 ถูกอันดับ 2 ท้าชิง แต่อาจจะถูกอันดับ 7 โค่นลง หากจ่าฝูงมีเพื่อนคืออันดับ 2 – 6 เป็นพวกเดียวกันแล้ว และเมื่อลิงอันดับ 7 อย่างร็อกกี้ขึ้นเป็นจ่าฝูงแทน ลิงอันดับ 1 – 6 ก็ต้องไปทั้งยวง คือโดนไล่ออกจากฝูงเลย

“การเมืองของลิงก็ไม่ต่างจากการการเมืองของมนุษย์ ใครขึ้นมามีอำนาจก็จะถูกท้าชิงเสมอ และพอเปลี่ยนรัฐบาล เวลาออกก็ออกทั้งยวงเหมือนกัน” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมาในวงสนทนา

เข้าป่ากับสามีภรรยานักวิจัยลิงวอกภูเขาที่คลุกคลีกับลิง 14 ปี จนเห็นชีวิตของลิงมากมายที่ดราม่าไม่ต่างจากคน

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว