อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ไม่ได้เป็นเพียงนักแสดงมืออาชีพเท่านั้น

ที่ผ่านมา เขาเคยเป็นนายแบบ พิธีกร ดีเจ และนักวาดภาพ

หน้าที่การงานหลักในปัจจุบัน คือผู้จัดและผู้กำกับละคร ที่ทำมากว่า 9 ปี โดยเปิดบริษัทผลิตสื่อบันเทิงชื่อว่า ‘ดูมันดี’ และ ‘เพ็ญพุธ’ มีงานละครมาแล้วมากกว่า 16 เรื่อง พร้อมสตูดิโอที่ชื่อสอดคล้องกันว่า ‘สตูดิโอดี’

ที่ผ่านมา เขาสร้างสรรค์และกำกับละครสะท้อนสังคมมาหลายเรื่อง เช่น ข้ามสีทันดร และ ก่อนอรุณจะรุ่ง เพราะเขาเชื่อเสมอว่า ละครที่ดีมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ผลงานการสร้างสรรค์ละครเรื่องล่าสุดคือ น้ำผึ้งขม ทางช่อง 3 HD ที่นำมารีเมกอีกครั้งในสไตล์อัษฎาวุธ โดยมีคุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นพี่เลี้ยง

อย่างไรก็ตาม 28 ปีของชีวิตที่ผูกพันและสร้างสรรค์ผลงานในวงการบันเทิง เขาบอกว่า ชอบบทบาทการเป็นนักแสดงมากที่สุด

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

เขานิยามว่าตัวเองเป็น ‘นักแสดงเรื่องเยอะ’ ที่เก็บรายละเอียดทุกเม็ดของตัวละคร ด้วยการตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจ ไปจนถึงการดีไซน์ทรงผม และดูแลรอยยับของเสื้อผ้า!

ความละเอียดถี่ถ้วนนี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่การทำงาน แต่รวมไปถึงการใช้ชีวิตและการเลี้ยงดูลูกสาวคนเดียว ให้เติบโตมาพร้อมแบบฝึกหัดนอกห้องเรียนที่พ่อแม่ (ซึ่งจบครูทั้งคู่) คิดมาอย่างถี่ถ้วน

48 ปีของเขามีเรื่องราวมากมาย แต่คงหยิบยกมาเล่าได้เพียงหยิบมือ

ดังนั้น การสนทนาครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการดูละครชีวิตในบางช่วงบางตอนของผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีชื่อของอัษฎาวุธ เหลืองสุนทร เป็นทั้งผู้จัด นักแสดง และผู้กำกับการแสดงทั้งหมด

EP. 1 เด็กชายผู้หลงใหลศิลปะ

การเป็นนักแสดงเป็นเป้าหมายชีวิตมาตั้งแต่เด็กไหม

นักแสดงไม่ใช่เป้าหมายของเราเลย เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่ที่พัทลุง และเป็นเด็กขี้อาย เป้าหมายแท้จริงในตอนนั้นคืออยากมาเรียนกรุงเทพฯ เพราะชอบศิลปะ ต่างจังหวัดไม่มีแหล่งความรู้ด้านนี้ แต่ที่กรุงเทพฯ มีแกลเลอรี่เยอะ มีหนังสือ มี Reference เยอะมาก พอขึ้นมอสี่จึงเข้ามาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ โปรแกรมสถาปัตย์ แต่สอบไม่ติด เพราะอ่อนภาษาอังกฤษ สุดท้ายได้เรียนที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ ได้อยู่ใกล้แหล่งความรู้ด้านศิลปะอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร พอรู้ว่ามีงานนิทรรศการศิลปะที่ศิลปากรเมื่อไหร่ก็นั่งรถเมล์มาดูตลอด เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้นิดเดียว

ชอบศิลปะขนาดนี้ ทำไมถึงอยากเรียนสถาปัตยกรรมแทนที่จะเป็นจิตรกรรม

เราชอบงานของศิลปินยุคนั้นหลายคน โดยเฉพาะ ชาติชาย ปุยเปีย งานเท่มาก ไปดูบ่อยมาก แต่ฝีมือเราก็ไม่ได้ไปถึงจิตรกรรมอยู่ดี เราอยากเป็นสถาปนิกมากกว่า อาจเป็นเพราะงานสถาปัตย์คือศิลปะที่ใช้งานได้จริง แล้วยิ่งตอนนั้นมีแก๊งซูโม่สำอางกับทีมเสนา (รายการ ยุทธการขยับเหงือก) ของ JSL ที่เขาเป็นเด็กสถาปัตย์ เขาเก่งกันมาก จึงยกให้เป็นไอดอลในใจที่เราอยากเป็น

สุดท้ายกลับมาลงตัวที่ครุศาสตร์

ตอนที่เอนทรานซ์เลือกได้ห้าอันดับ สามอันดับแรกเป็นคณะสถาปัตยกรรมทั้งหมด เหลืออีกสองอันดับก็มานั่งคิดว่าอาชีพที่อยากทำรองจากสถาปนิกคืออะไร คำตอบคือครู ก็มาลงตัวที่ครุอาร์ต เพราะได้เรียนศิลปะด้วยและเป็นครูด้วย มีทั้งสองอย่างในคณะเดียวกัน และอันดับสุดท้ายเลือกครุศาสตร์ ปฐมวัย เพราะอยากเป็นครูอนุบาลที่ได้อยู่กับความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ของเด็กที่ไม่ได้ปรุงแต่ง

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้
อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

EP. 2 ทางแยก

การเป็นครูกับหนุ่มแพรวช่างห่างไกลกันมาก ทำไมเด็กขี้อายคนนั้นจึงตัดสินใจประกวด

ต้องเล่าย้อนก่อนว่า ปีที่สอบเอนทรานซ์เป็นปีแรกของการฝนข้อสอบด้วยดินสอ 2B โดยใช้คอมพิวเตอร์ตรวจ เราเตรียมตัวมาอย่างดี สอบวันแรกผ่านไปทำข้อสอบได้ดี แต่กลายเป็นมารู้ตัววันที่สองว่าวันแรกฝนรหัสข้อสอบผิด เราก็วิ่งไปแจ้งที่ทบวงมหาวิทยาลัย เขาบอกว่าแก้อะไรไม่ได้ กลายเป็นว่าวิชานั้นก็ศูนย์คะแนนไป เรากลับมานอนเครียดมาก จะทำยังไงดี แต่ก็บอกตัวเองว่าลองดูสักตั้ง วิชาที่เหลืออาจจะได้เต็มก็ได้ (หัวเราะ) 

สุดท้ายก็เป็นแบบที่เราคิด คือสอบไม่ติด ทำให้เรามีช่วงว่างหนึ่งปีเพื่ออ่านหนังสือรอสอบใหม่ ระหว่างนั้นพี่ที่อยู่ข้างบ้านเขากำลังหาคนส่งเข้าประกวดหนุ่มสาวแพรว หาผู้หญิงได้แล้ว เหลือแต่ผู้ชาย เขาเห็นเราเดินผ่านไปผ่านมาก็เลยมาชวน ตอนนั้นยังแต่งตัวเฉิ่มๆ แบบเด็กต่างจังหวัดเข้ากรุงอยู่เลย ชุดที่ใส่ประจำคือกางเกงกับเสื้อยืด รด. รูปที่ส่งเข้าประกวดก็ใช้รูปถ่ายติดบัตรขาวดำสำหรับสมัครสอบ เพราะไม่ค่อยได้ถ่ายรูป แต่ก็ผ่านเข้ารอบไปได้เรื่อยๆ จนถึงรอบสิบคนสุดท้าย ต้องเข้าไปทำกิจกรรมกับกองประกวด

พอต้องเข้าไปทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยแล้วเป็นอย่างไร

ตอนที่ไปเวิร์กช็อป มีพี่คนหนึ่งเดินมาบอกว่า “น้องกลับไปเรียนต่อเถอะ แข็งขนาดนี้ ไม่มีทางได้เป็นหรอก พี่ว่าไม่เกิด” เราไม่โกรธเขาเลยนะ แต่กลับมาคิดว่า “แข็งคืออะไรวะ” เราเอาข้อมูลตรงนั้นกลับมาสำรวจตัวเอง ดูตัวเอง ว่าอะไรคือปัญหา แล้วกลับมาแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือตัวเรา

ตอนซ้อมเดินแบบ เราเดินไม่เป็น เดินสะดุดขาตัวเอง และเดินไม่เป็นธรรมชาติเลย วิธีแก้ไขคือไปหาซื้อเพลงที่เขาจะใช้เปิดบนเวทีมาซ้อมเองที่บ้าน เรารู้อยู่แล้วว่าเดินรอบไหนจะใช้เพลงอะไร ส่วนรอบแสดงความสามารถไม่มีปัญหา เพราะเราคิดไว้แล้วว่าจะนั่งดีดกีตาร์ร้องเพลงเพื่อชีวิตที่เราชอบ แล้วรอบสัมภาษณ์ล่ะ ต้องตอบคำถาม ทำไงดี เราก็นั่งลิสต์คำถามที่ฮิตๆ ออกมาเลย เช่น ถ้าได้เป็นหนุ่มแพรวคุณจะทำอะไร คุณคิดว่าอะไรในตัวคุณที่ทำให้ได้ตำแหน่ง บลาๆ เขียนคำถามคำตอบลิสต์ไว้เยอะมาก เหมือนทำการบ้าน แล้วก็ซ้อมตอบคำถามไปเรื่อยๆ จนคิดว่าคล่อง

ปรากฏว่ากรรมการไม่ถามที่เตรียมมาเลย (หัวเราะ) แต่เขาถามเรื่องเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งเราอินอยู่แล้ว ก็ตอบในแบบเรา พอประกาศผลคือได้เป็นหนุ่มแพรว ได้เงินรางวัล เริ่มมีงานถ่ายแบบ เดินแบบ แต่ก็ยังไม่ลืมว่าฉันยังต้องกลับไปเอนทรานซ์นะ พอสอบครั้งที่สองก็ติดครุอาร์ตที่จุฬาฯ ระหว่างนั้นก็ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย

เมื่อได้ทำงานในวงการบันเทิงแล้ว เป้าหมายการเป็นครูเปลี่ยนแปลงไปไหม

จุดเปลี่ยนอยู่ที่ตอนเรียนจบ ซึ่งต้องตัดสินใจแล้วว่าตกลงเราจะทำอาชีพอะไร จะไปเป็นครูตามโรงเรียนจริงๆ หรือเป็นนักแสดงเหมือนเดิม ชั่งใจอยู่นาน เพราะเป็นนักแสดงถึงจะได้เงินเยอะ แต่ก็ต้องแลกกับอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นส่วนตัว ส่วนอาชีพครูคือสิ่งที่เราอยากทำ โดยเฉพาะครูสอนศิลปะ เพราะตอนเด็กๆ เราหาครูศิลปะที่เข้าใจและพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ได้น้อยมาก

ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเป็นนักแสดง เพราะคิดว่าถ้าเราเป็นครูสอนในระบบโรงเรียน เทอมหนึ่งเราอาจจะสอนได้แค่ห้าสิบคน หรือถ้าสอนหลายห้อง มากสุดก็อาจจะแค่สามร้อยคน แต่ไม่มีทางสอนเป็นพันคนได้ ถ้าเราเป็นนักแสดง สร้างสรรค์ผลงานดีๆ พูดสาระดีๆ เหมือนที่สอนเด็กๆ ในห้องเรียน ซึ่งเมื่อผ่านทีวี เราก็จะสอนคนได้ทีละเยอะๆ จะมีนักเรียนดูสื่อของเราได้ทีละเป็นล้านคน

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

EP. 3 นักแสดงเรื่องเยอะ

เมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้ว คุณเป็นนักแสดงแบบไหน

เป็นนักแสดงที่พร้อมรับทุกบทบาท สำหรับเราบทไหนก็ได้ ไม่ได้ยึดติดตามธรรมเนียมว่าต้องเป็นพระเอกที่คู่กับนางเอกเท่านั้น เราคิดว่าทุกตัวละครมีโลกของตัวเอง แต่เผอิญเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เล่าโลกตัวละครของเรา แต่เล่าเรื่องของคนอื่นมากกว่า ในชีวิตจริงเราไม่ได้เล่นเป็นตัวประกอบใคร เราต่างเป็นตัวเอกในโลกของเราเอง ซึ่งรายล้อมด้วยตัวประกอบอื่นๆ อีกมากมาย พอคิดแบบนี้ เราจึงสนุกกับการแสดงทุกบท ภูมิใจในบทที่ได้รับเสมอ จะได้บทไหนมาก็อยากเล่น

อย่างตอนที่เล่นเรื่อง รัตนโกสินทร์ เป็นละครพีเรียด ได้รับบทเป็นคุณสน เป็นตัวเกเร เราก็ไปตัดผมแบบย้อนยุคเพื่อสะกดจิตตัวเองให้เป็นคุณสนที่สุด และดีไซน์คาแรกเตอร์ตัวละครนี้ไว้เรียบร้อย สักพักทางช่องโทรมามีข้อเสนอว่า อยากให้เราเปลี่ยนไปเล่นเป็นบทพระเอก เพราะพระเอกเป็นลูกคนจีน ต้องตัวขาวๆ เหมาะกับเรา แต่เราก็ตอบไปว่า ไม่เอา ขอเล่นบทเดิมนี่แหละ เพราะสนุกกับการเป็นคุณสนไปแล้ว เขาก็งงๆ หาว่าไอ้นี่บ้า ให้เล่นบทพระเอกก็ไม่เอา ประหลาดคน (หัวเราะ)

ครั้งหนึ่งคุณเคยรับบทที่แรงมากในสมัยนั้น คือการเป็น ‘คุณชายใหญ่’ ในละครเรื่อง มงกุฎดอกส้ม

ใช่ มันเป็นอีกบทที่คนอื่นไม่เล่น จึงตกมาถึงมือเรา บทคุณชายใหญ่ในเรื่องนี้เป็นเกย์ คนติดต่อมาเขาบอกว่า ติดต่อมาหลายคนแล้ว แต่ไม่มีใครรับเล่นเลย ทั้งที่ละครถ่ายฉากอื่นกันไปหลายคิวแล้ว แต่ก็ยังหาพระเอกไม่ได้ สุดท้ายคุณแดงเลยให้กองลองติดต่อมา บอกว่าเราต้องเล่นแน่นอน… เอ๊ะ รู้ได้ยังไงว่าเราจะเล่น (หัวเราะ)

ในนิยาย คุณชายใหญ่ถูกพูดถึงไม่เยอะ แต่บทละครของพี่แดง ศัลยา (ศัลยา สุขะนิวัตติ์) ขยายใส่เหตุผลเพิ่มเข้าไป จนคนดูเข้าใจและรักคุณชายใหญ่ ในเรื่องนี้จึงมีพระเอกสองรุ่น รุ่นใหญ่คือ อารุจน์ รณภพ กับรุ่นเรา แต่บทนี้ก็เป็นบทที่แรง เราจึงต้องตีความหาเหตุผลว่าทำไมคุณชายใหญ่ถึงมีรสนิยมเป็นแบบนั้น แล้วทำไมคำแก้ว (นางเอก) ถึงชอบชายใหญ่ เขาต้องเป็นคนแบบไหนถึงทำให้คำแก้วชอบได้ แล้วเขาชอบคำแก้วด้วยหรือเปล่า

คือติดนิสัยจากการเรียนจิตวิทยาครูมา เวลาทำอะไรจึงต้องมีเหตุมีผล พอมาเล่นละครเลยเยอะ ได้บทมาแล้ว เราจะยังไม่เชื่อทันที ต้องตั้งคำถาม แล้วตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไมเขาต้องทำแบบนั้น ต้องพูดแบบนี้ จัดว่าเป็นนักแสดงประเภทเรื่องเยอะ (หัวเราะ) ถ้าไม่เข้าใจจะเล่นไม่ได้ บางทีต้องเข้าใจสามร้อยหกสิบองศาของตัวละครก่อนจะเล่นด้วยซ้ำ

นักแสดงคนอื่นเป็นแบบนี้ไหม

ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราสนุกกับการเป็นนักแสดงมาก เวลาอ่านบทแล้วอยากไปถ่ายฉากนั้นฉากนี้ เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะถึงวันได้ถ่าย หรือบางทีอ่านบทแล้วจะคิดต่อไปว่า เอ๊ะ ตัวละครตัวนี้รวย เขาจะใส่นาฬิกาแบบไหน เราก็ไปหามา คนแบบนี้ต้องใช้ปากกาแบบไหน ใส่ถุงเท้าเรียบหรือลาย ใส่รองเท้ายังไง ทั้งที่ฝ่ายคอสตูมเขาก็มีให้นะ บางอย่างซื้อมาเราก็ไม่ได้ใช้ในละครหรอก ซื้อมาเก็บไว้เป็นการสะกดจิตตัวเองให้เป็นตัวละคร

แม้แต่การเป็นพระเอกก็ต้องคิด เรื่องที่แล้วเล่นเป็นพระเอกแสนดี เรื่องใหม่ก็แสนดีอีก ก็จะมานั่งคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นแสนดีแบบไหน อยากให้การแสดงออกมาแตกต่าง คนดูจะได้ไม่เบื่อ ทรงผมเราก็จะเปลี่ยนทุกเรื่อง ช่างผมบางคนจะเบื่อมาก กำลังจะชินกับทรงเก่าอยู่แล้ว พอเรื่องใหม่เราดันเปลี่ยนทรง ต้องเริ่มใหม่กันอีก น่าจะเป็นพระเอกคนแรกๆ ที่ทำสีผมแปลกๆ เข้าฉากละคร เพราะพระเอกส่วนใหญ่เขาจะทำผมเรียบร้อยกัน

ดูคุณเป็นนักแสดงที่เก็บทุกรายละเอียดของตัวละคร

มันเป็นความชอบส่วนตัวของเรา อย่างตอนที่เล่นบทคุณสนในเรื่อง รัตนโกสินทร์ ฉากที่ท่านตาตาย คุณสนต้องโกนผมในงานศพ พี่แดง ศัลยา รู้ทัน เขียนกำกับมาในบทเลยว่า “ฉากนี้วุธไม่ต้องโกนผมจริงนะ เพราะตอนท้ายเรื่องจะมีฉากที่ต้องมีผมอีก ให้ใส่แคปหัวล้านเอา” ถ้าไม่เขียนบอกมา เราคงโกนหัวเข้าฉากไปแล้ว (หัวเราะ)

เรามีความสุข สนุกกับการแสดงมาก แต่หลายคนอาจมองว่าเรื่องเยอะ เพราะพอเราละเอียด ทีมงานก็จะต้องมีภาระเพิ่มเพราะเรา บางเรื่องเราบอกฝ่ายเสื้อผ้าว่าเรื่องนี้เสื้อห้ามยับเลยนะ เขาก็ถามว่าทำไม เราก็บอกว่าเพราะในบทระบุว่าตัวละครตัวนี้เนี้ยบมาก พออีกเรื่องเจอฝ่ายเสื้อผ้าคนเดิม เราบอกว่าเรื่องนี้ห้ามรีดเสื้อ เพราะเล่นเป็นคนจน ที่บ้านไม่มีแม้แต่เตารีด เขาคงรำคาญ แต่พอฟังเหตุผลเรา เขาก็คิดตาม แล้วก็ยอมรับในที่สุด สรุปคือเราคิดมาก เรื่องมาก จนเขาชิน รู้ว่าถ้าทำงานกับอัษฎาวุธต้องประมาณนี้ (หัวเราะ)

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้
อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

EP. 4 ผู้กำกับละครน้ำดี

ความละเอียดในการทำงานขนาดนี้ทำให้กลายมาเป็นผู้กำกับด้วยไหม

มีส่วน เราฝึกตัวเองมาแบบนั้น พอมาเจองานกำกับที่ต้องละเอียดกว่าการเป็นนักแสดงหลายเท่า เราเลยมีพื้นฐาน แต่จริงๆ แล้วความละเอียดในงานเป็นส่วนสำคัญของทุกอาชีพ ไม่ใช่เฉพาะนักแสดงหรือผู้กำกับเท่านั้น เราชื่นชมคนที่ทำร้านกาแฟแล้วจำชื่อ จำเมนูประจำ ของลูกค้าได้ว่าคนนี้ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ความใส่ใจในอาชีพถือเป็นวินัย เป็นจรรยาบรรณที่ดี ถ้าคนทำอาหารขาย แต่ใช้วัตถุดิบที่ตัวเองยังไม่กล้ากิน แล้วมาเสิร์ฟให้คนอื่นกิน นั่นคือคุณไม่มีจรรยาบรรณ คุณต้องใช้ของดีแบบที่คุณกล้ากินมาทำ แล้วตั้งราคาขายสมเหตุสมผล นั่นคือ Win-Win คนขายอยู่ได้ คนกินก็ได้กินของดีและสัมผัสได้ถึงความใส่ใจของคุณ

ทำไมผู้กำกับชื่อว่า ‘อัษฎาวุธ’ ต้องผูกติดกับงานละครน้ำดี

มีคำว่า ‘ดี’ เป็นตัวตั้ง เลยไม่กล้าทำอะไรไม่ดีออกมา กลัวสถาบันต่างๆ ที่เราเคยเรียนมาเขาจะมายึดวุฒิการศึกษา กลัวจุฬาฯ เขายึดใบปริญญาคืน (หัวเราะ) นางงามที่ทำเรื่องเสื่อมเสียยังโดนยึดมงกุฎคืนได้เลย เดี๋ยวนี้ใครทำอะไรไม่ดี เขาสืบประวัติได้หมด ตั้งแต่อนุบาลเลยนะว่าจบจากที่ไหน ครูสอนมายังไง หรืออาจจะไล่ไปถึงพ่อแม่ด้วยว่าไม่สั่งสอน เวลาคนด่า เขาด่าไปหมดทั้งตระกูล เราเลยยิ่งต้องระวัง หนังสือมีคนตรวจพิสูจน์อักษรก่อนตีพิมพ์ ช่องทีวีต้องมีแผนกเซ็นเซอร์คัดกรองก่อนเผยแพร่ เราจึงต้องมีระบบคัดกรองตัวเราเองด้วย อันไหนดีเก็บไว้ ไม่ดีก็แก้ไข มันจะเพิ่มภาระในงานขึ้นอีก แต่เรายอม ถ้ามันจะทำให้งานของเราออกมาดี ไม่มีพิษภัยต่อสังคม

เราไม่อยากต้องมาหลบซ่อนตัว เพราะสิ่งที่ทำไว้น่าอายจนไม่กล้าเจอหน้าใคร เราต้องสามารถยืดอกภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ ทำให้ดีที่สุด ณ วันนั้น อีกห้าสิบปี ร้อยปีลูกหลานมาย้อนดู แล้วบอกได้อย่างภูมิใจว่านี่ฝีมือปู่ของฉันหรือทวดของฉัน เรารู้สึกว่านี่คือรอยเท้าที่เราต้องภูมิใจ ไม่ใช่ไม่กล้าหันไปมองมัน

แต่ละครน้ำดี คนดูมักจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ มีปัญหาบ้างไหม

มีเยอะ เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น ทั้งที่รู้ว่าอาหารบางชนิดไม่มีประโยชน์ แต่ทำไมเรายังชอบกิน เพราะมันอร่อย แต่กับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทำไมเราไม่ค่อยกิน ก็เพราะมันไม่อร่อยไง (หัวเราะ) เหมือนละครน้ำดีที่คนมักคิดว่าไม่สนุก เครียด โจทย์ที่เราต้องแก้คือจะทำยังไงให้ละครน้ำดีออกมาสนุก ดูอร่อยและมีประโยชน์ด้วย จะมาคิดว่าฉันอยากทำของฉันอย่างนี้ ใครไม่อยากดูก็ไม่ต้องดูไม่ได้ ช่องลงทุนให้ ถ้าเขาไม่ได้กำไร ต่อไปเขาก็ไม่จ้างเรา หน้าที่ของเราคือทำละครที่คนดูสนุกได้ข้อคิด ขณะเดียวกันนายทุนก็ต้องประสบความสำเร็จไม่ขาดทุนด้วย

เราทำงานสื่อสาร ถ้าวาดรูปก็ต้องสื่อสารให้คนดูแล้วเข้าใจ ไม่ใช่งาน Abstract ที่เป็นนามธรรม ดูเข้าใจยาก ละครคือสื่อและนับเป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างหนึ่ง ถ้าทำออกมาแล้ว คนดูเสียเวลานั่งดูสองชั่วโมงโดยที่ไม่ได้อะไรกลับไปเลย เราไม่โอเค อย่างน้อยๆ เขาต้องยิ้มได้ หัวเราะหรือร้องไห้ไปกับละครของเราได้ ส่วนใครจะเก็บประเด็นอะไรจากละครไปใช้ ไปเป็นข้อคิดในการใช้ชีวิตหรือเปล่า เป็นเรื่องของเขา เพราะพื้นฐานการรับรู้ของคนเราไม่เท่ากัน แต่หน้าที่ของคนทำสื่อคือต้องทำให้คนเข้าใจ ถ้าทำละครไปแล้วคนไม่เก็ต สำหรับเราคือสอบตก

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

EP. 5 ละครสะท้อนสังคม

ละครไทยมักมีเส้นเรื่องกระจุกอยู่ที่ความรักของพระเอกนางเอก หรือเป็นแนวเรื่องที่ซ้ำๆ ทำไมไม่ค่อยมีละครแนวที่หลากหลายเหมือนประเทศอื่นบ้าง

มันเป็นวัฒนธรรม นี่คือจุดแข็งของประเทศไทยนะ ที่เห็นว่าครอบครัวสำคัญที่สุด เรื่องในครอบครัวและความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ถูกเล่าซ้ำๆ มีความพยายามเล่าอย่างอื่น แต่ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง คนไทยชอบความเฮฮา ละครตลกสนุกจึงยังอยู่ ขายได้ตลอด คนไทยเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความลี้ลับเหนือจริงในละครก็ยังมีอยู่

แต่ละครทั้งเรื่องจะเล่าแต่สาระที่เป็นประโยชน์ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะมันจะกลายเป็นสารคดี มันต้องมีสิ่งที่คนดูอยากดูด้วย คนดูอยากดูเรื่องครอบครัว เราก็เล่าเรื่องครอบครัว แต่แทรกสาระข้อคิด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเข้าไประหว่างทาง ทำให้ละครมีคุณค่าน่าติดตามมากขึ้น

ละครสะท้อนสังคมเรื่อง ก่อนอรุณจะรุ่ง ที่คุณผลิตและกำกับ เล่าเรื่องครอบครัวในประเด็นที่ถือว่าแรงในสังคมไทย

ที่เล่ามาเป็นแค่กระผีกหนึ่งของชีวิตจริงด้วยซ้ำ เรื่องพ่อข่มขืนลูก ถ้าเทียบกับเคสการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวอื่นๆ เคสนี้ถือว่ายังเบามาก แต่ที่คนรู้สึกว่าแรง ก็เพราะในสังคมไทยคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรพูดกัน น่าอาย ห้ามพูด ทั้งๆ ที่มันมีอยู่จริง ต้องรีบแก้ไข เราได้แต่แสร้งว่ามันไม่มีอยู่ ทำเป็นมองไม่เห็น การตีแผ่นำเสนอออกมาในรูปแบบของละคร ก็เพื่อถามสังคมว่า คุณจะยอมรับได้หรือยังว่ามันมีอยู่ แล้วจะแก้ไขมันยังไง

คนชอบบอกว่าละครเว่อร์ แต่ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครมากนัก ละครบางเรื่องยังเล่าละเอียดอย่างชีวิตจริงไม่ได้เลย เพราะมันโหดร้าย สะเทือนใจ

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

EP. 6 เมื่อเป็นคุณพ่อของลูกสาว

คุณเป็นคนที่ใส่ใจทุกรายละเอียดในงานและมีความเป็นครู อยากรู้ว่าคุณเป็นคุณพ่อที่เลี้ยงลูกแบบไหน

ด้วยความที่พ่อแม่จบครูทั้งคู่ พอเลี้ยงลูกก็เลยปล่อย ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยนะ แต่เปิดโอกาสให้ลูกรู้ว่าโลกนี้มีมากกว่าที่คิด และสอนให้เขาเข้มแข็ง เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อเลย คนถามบ่อยมากว่าเป็นเด็กผู้หญิงทำไมชื่อ ‘สิงห์’ เหตุผลง่ายๆ คือเขาเกิดเดือนสิงหาคม เหตุผลอีกอย่างคือตอนท้องไม่ได้เช็กว่าเขาเป็นเพศอะไร ชื่อที่เตรียมไว้คือสิงห์ เพราะเราเคยเล่นละครเป็นตัวละครชื่อสิงห์อยู่บ่อยครั้ง หรือชื่อละครที่เล่นก็ยังชื่อ สิงห์มอเตอร์ไซค์กับยายตัวแสบ ฟังคำนี้แล้วดูแข็งแรง เราอยากให้ลูกเป็นคนเข้มแข็ง เพื่อใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันให้ได้

ถ้าลูกอยากทำอะไร เราจะมีคำแนะนำให้เสมอ คุยกับเขาว่าถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไง ทำอีกอย่างจะเป็นแบบไหน แล้วให้เขาเลือกเองว่าอยากจะทำแบบไหน บางทีทั้งที่รู้ว่าทำแบบนี้แล้วเขาต้องล้ม แต่ถ้ามันไม่ร้ายแรงถึงตาย เราก็ให้ทำไป คนเราต้องรู้จักพลาด รู้จักเจ็บ กว่าจะมาถึงวันนี้เจ็บกันมาตั้งเท่าไหร่ หรือเวลาที่เจอปัญหา ต้องสอนให้เขารู้จักหาวิธีจัดการ ไม่ใช่เจอปัญหาแล้วเดินหนี ปัญหามันก็ยังอยู่ที่เดิม หรือไม่ใช่รอให้พ่อแม่มาแก้ปัญหาให้ตลอด เพราะพ่อแม่ตายเป็นนะ ไม่ได้อยู่กับลูกไปทั้งชีวิต ลูกก็ต้องอยู่เองให้ได้

นี่คือที่มาของการสอนลูกให้รู้จักค่าของเงิน ด้วยการจำลองเหตุการณ์ว่าพ่อแม่มีเงินไม่พอจ่ายค่าเทอมใช่ไหม

แบบฝึกหัดชีวิตมีอยู่รอบตัว อยู่ที่เราจะหยิบสถานการณ์ไหนมาสร้างเป็นบทเรียนให้เขา ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดที่ต่างจากที่เขาเรียนในห้องเรียน เพราะนี่คือแบบฝึกหัดในชีวิตจริง ที่ไม่ได้มาตอนใส่ชุดนักเรียนหรือนั่งเรียนอยู่ในห้อง เขาจะไม่รู้สึกว่าสอนอีกแล้ว มีแต่ทฤษฎี น่าเบื่อ พอมันเป็นเรื่องจริง เกิดจริง เขาจะต้องคิดหาวิธีแก้โจทย์เพื่อให้ผ่านไปให้ได้

หรือเวลาเขาอยากได้ของ เราถามว่ามีตังค์รึเปล่า ถ้าไม่มีก็ต้องทำงาน มาเข้าฉากให้ป๋าหน่อย แล้วก็รับเงินค่าแรงไป ถ้าไม่พอก็มาเข้าฉากอีก คิดคำนวณบวกลบดูว่าทำงานกี่ครั้งถึงจะได้เงินจำนวนที่ต้องการ ได้ฝึกคิดเลขด้วย ต้องสอนกันตั้งแต่เด็ก เพราะไม่อยากให้คิดว่าเป็นลูก พ่อแม่รัก อยากได้อะไรก็ต้องได้ ต้องให้เห็นว่ากว่าจะได้อะไรมาต้องทำงาน ป๋าเองก็ทำงานกว่าจะได้เงินมาเลี้ยงหนู ต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ นานา กว่าจะได้เงินสักบาท อย่าไปทรีตว่าเขาเป็นเด็ก ยังทำไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา เพราะชีวิตไม่แน่นอน เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดในวันพรุ่งนี้ ถ้าลูกไม่ได้ถูกฝึกไว้ แล้วเขาจะเป็นอย่างไร

คิดว่าการเลี้ยงลูกในยุคนี้ยากไหม

มันไม่มีแพตเทิร์น มันมีความหลากหลาย และมีโจทย์ใหม่ๆ มาให้แก้จากทุกทิศทุกทาง เมื่อก่อนเรายังป้องกันคัดกรองได้ แต่เดี๋ยวนี้จะห้ามดูโซเชียลก็ได้นะ แต่บางทีก็ทำให้เขาเสียโอกาสอะไรไปหลายอย่าง การดูของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตัวเด็กเองก็ไม่เหมือนกัน ใช่ว่าเราส่งปืนไปให้เขา แล้วเขาจะไปฆ่าคนเสมอไป บางคนอาจเอาไปซ้อมยิง แม่นยำจนกลายเป็นแชมป์ไปเลยก็ได้ ไอแพดหรือโทรศัพท์ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราทำได้คือชี้แนะ ไม่ใช่ปิดบังหรือกีดกัน ง่ายๆ คือดูด้วยกันกับเขา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หรืออีกวิธีคือจำกัดเวลาในการดู

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

To be continued…

จากที่คุยกันมา ดูคุณหลงใหลในการแสดงมากกว่าการกำกับละคร

เราสนุกกับการเป็นนักแสดงมากกว่า เพราะไม่ต้องสั่งใคร พอมาเป็นผู้กำกับต้องคอยสั่ง คัต!!! โอเค!!! ไม่โอเค!! ดี!!! ไม่ดี!!! (ทำเสียงดุ) มันดูจุกจิกจู้จี้น่ารำคาญ บางทียังรำคาญตัวเองเลย แต่ถ้าเห็นจุดบกพร่องแล้วไม่แก้ก็จะมีผลเสียกับละคร เคยมีนักแสดงประกอบมาเข้าฉาก พอเราสั่งเทกเพราะเขาเล่นไม่ตรงกับที่เรากำกับ เขาโวยเลยว่าเล่นละครมาเป็นร้อยเรื่อง ไม่เคยมีใครมาเทกเขา เราก็งง ตกลงใครเป็นผู้กำกับกันแน่ คิดตลอดว่าเรื่องกำกับอยากจะพอละ อยากรับเล่นละครอย่างเดียว แต่มันก็เลิกไม่ได้ เพราะยังหาคนที่จะมาทำแทนเราไม่ได้

ถ้ามีคนถามว่าอยากเป็นนักแสดงควรเริ่มจากตรงไหนดี คุณจะตอบว่า…

ไปเรียนหนังสือให้เก่ง (หัวเราะ) จริงๆ นะ การเป็นนักแสดง คุณต้องอ่านบท ต้องตีความ ต้องรอบรู้ บางคนอ่านบทแล้วถามว่า “พี่คะ อาสนะแปลว่าอะไรคะ หนูแปลไม่ออก” การไม่รู้ไม่ผิด แต่วิธีค้นหาคำตอบของแต่ละคนสะท้อนตัวตนของเขา บางคนไม่ต้องรอถาม ถ้าสงสัยอะไรก็จะมีวิธีหาข้อมูล คุณจะเป็นลูกนกที่รอพ่อแม่เอาอาหารมาป้อนอย่างเดียวไม่ได้ และนักแสดงที่ดีไม่ใช่คนที่จำทฤษฎีการแสดงได้อย่างแม่นยำ แต่คุณควรมีทักษะอื่นๆ ติดตัวมาด้วย เช่น ดนตรี กีฬา ร้องเพลง เต้นรำ ทำกับข้าว องค์ประกอบศิลป์ ทฤษฎีสี และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเหล่านี้คือขุมทรัพย์ที่คุณจะหยิบมาใช้ในการแสดงได้

ถ้าเรียนเก่ง มีทั้งพรสวรรค์ พรแสวง แต่หน้าตาไม่ดี จะมีโอกาสเป็นนักแสดงได้ไหม

ปัจจุบันรสนิยมความสวยความหล่อเปลี่ยนไปนะ ถึงคุณไม่สวยไม่หล่อ แต่ข้างในคุณได้ ก็เป็นนักแสดงได้ บางคนเปิดมาฉากแรก ทำไมไม่สวย ไม่หล่อ แต่ดูต่อไปอีกสักพัก ทำไมมันหล่อจังวะ เพราะข้างใน จิตวิญญาณมันได้

ตอนนี้นอกจากผลงานกำกับละครแล้ว เราจะเห็นผลงานอื่นๆ ของคุณด้วยไหม

ช่วงที่ผ่านมาได้ทำละครสั้นที่ชื่อ ดึงสติ ที่หยิบจับเรื่องรอบๆ ตัวมาเป็นประเด็นในการเล่าเรื่อง ที่มีให้ชมเฉพาะทางเพจเฟซบุ๊กและช่อง YouTube ของบริษัท ที่ชื่อว่า ดูมันดี Doomundee กับ Studiodee Channel ที่ใช้ทีมงานเราเองมาแสดง บางทีเราก็เล่นเองด้วย แต่ช่วงหลังมีดาราที่เคยเล่นละครกับเราเห็นละครสั้นชุดนี้ ก็ไลน์มาบอกว่าอยากเล่นด้วยเยอะเลย ทั้งที่เราก็ยังไม่มีงบค่าแสดงให้นะ เพราะทำเอง ออกตังค์เองทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังทำออฟฟิศสตูดิโอที่ชื่อว่า Studio Dee ที่ออกแบบมาจากความรู้ทางศิลปะและประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้โดยตรง เป็นทั้งสตูดิโอถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายรายการ ละคร ภาพยนตร์ โฆษณา หรือจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการในราคาย่อมเยา

สุดท้ายแล้วเป้าหมายในชีวิตและการทำงานของคุณคืออะไร

ยังคงเป็นเป้าหมายเดิมตั้งแต่เริ่มต้น คืออยากทำงานที่เรารักให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนและสังคม อาจไม่ได้มีกำลังขนาดไปมีส่วนในการบริหารประเทศ แต่เราอยู่ในส่วนของการให้มุมมองความคิดแก่คนในสังคม เพราะเราเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ไม่มีใครอยากเป็นโจร ทำร้าย หรือฆ่าใคร ทำอย่างไรเราจึงจะให้สติ ให้ความรู้ ให้ตัวอย่าง หรือให้มุมมองในรูปแบบละครว่า ถ้าคุณทำแบบนี้ จุดจบอาจจะเป็นแบบในละครได้นะ แล้วคุณจะทำไหม เราไม่ได้บอกว่า ผลจากกระทำจะออกมาแบบในละครร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่อยากให้คนนำไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในชีวิต เป็นเดจาวู เป็นภาพคุ้นๆ ว่าเหมือนเคยเจอ ให้ได้ลองหยุดคิดพิจารณาก่อนจะทำอะไรลงไป

สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ในงานละครของบริษัทดูมันดี และเป็นเหมือนลายเซ็นของอัษฎาวุธ ที่ไม่ว่าจะเล่าในรูปแบบใด ก็ต้องมีความรู้หรือสาระแฝงอยู่ภายใต้ความสุขและความบันเทิงเสมอ

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร 28 ปีในวงการของนักแสดงและผู้กำกับที่เชื่อว่าละครเปลี่ยนสังคมได้

ติดต่อ Studio Dee ได้ที่

Facebook : Studio Dee

Line ID : @studiodee

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล