3 พฤษภาคม 2024
3 K

Take Me Out ในวันนี้ เราอยากชวนผู้อ่านก้าวขาออกจากบ้าน มุ่งหน้าสู่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อ ‘สัมผัส สถาปัตย์’ ในงานสถาปนิก 2024 : ASA EXPO ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) สมาคมสถาปนิกที่อยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 90 ปี 

งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ผ่านแนวคิด ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ เชื่อมโยงผู้คนทั่วทุกมุมโลกเข้าหากันผ่านสถาปัตยกรรมที่เสมือนเป็นอีกหนึ่งภาษากลางของโลก

เนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ครบ 90 ปี ปีนี้ทางสมาคมจึงจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ นำเสนอทั้งเรื่องราวของสมาคม รวบรวมเหล่าสถาปนิกทั่วโลก ผลงานการออกแบบของเหล่าสถาปนิกมารวมกันภายในงานครั้งนี้ และยังมีร้านค้าชั้นนำในวงการการก่อสร้างกับการออกแบบนับร้อย ๆ ร้านมาตั้งให้คุณเลือกซื้อเลือกหา

ความยิ่งใหญ่ของงานนี้ได้รับการยืนยันจาก กุลธิดา ทรงกิตติภักดี หนึ่งในประธานการจัดงานที่ได้คุยกับเรา

“งานสถาปนิกขยายไปสุดโต่ง ปีนี้เป็นปีที่บูทในงานเยอะที่สุด คนลงทะเบียนเข้าร่วมเยอะที่สุด คนมาจากหลายประเทศมากที่สุด ขยายไปจนทุกวันนี้เราคิดว่างานสถาปนิกไม่ใช่งานเฉพาะในประเทศไทยแล้ว แต่เป็นงานระดับเอเชีย”

พร้อมกับปณิธานที่ ดร.พร้อม อุดมเดช ประธานหนุ่มอีกคนที่กล่าวเอาไว้ว่า “เราอยากส่งเสริมสถาปนิกไทยให้ไปในเวทีโลกมากที่สุด”

ในงานสถาปนิก’67 ยังมีพื้นที่กิจกรรมจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทอล์กผ่านประสบการณ์ของเหล่านักออกแบบจากทั่วโลกมารวมกัน ณ ที่แห่งนี้

หากพร้อมแล้ว เราขออาสาพาไปชมมหกรรมสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ระดับประเทศ ผ่านสิ่งที่เรานำมาเล่าในวันนี้

เมื่อสองเท้าก้าวเข้ามาในงาน สิ่งที่ผู้ชมห้ามพลาดคือนิทรรศการหลัก จัดขึ้นตรงตามธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ นำเสนอในพื้นที่ม่านผ้าสีขาววางตัวเป็นกรอบสี่เหลี่ยม พร้อมไฟสลับสีโดดเด่นอยู่หน้างาน ชวนให้คุณเดินเข้าไปสัมผัส

เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และ นาดา อินทพันธ์ คือภัณฑารักษ์หลักของนิทรรศการนี้ 

พวกเขามองว่าสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในภาษาสากล และเชื่อมโยงคนทั้งโลกให้สื่อสารกันได้ ผ่านการนำเสนอผลงานของ 12 สถาปนิกจากเอเชียที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ร่วมทางภาษาสถาปัตยกรรมของเอเชียที่มีความหลากหลาย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มภาษา

กลุ่มแรก Shading กลุ่มภาษาสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงเรื่องสภาพเศรษฐกิจ บริบทเมือง สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน สถาปัตยกรรมจึงเข้ามามีส่วนช่วยให้ผู้ใช้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

กลุ่มต่อมา Humanity กลุ่มภาษาสถาปัตยกรรมที่สะท้อนแนวคิดภาพรวมและคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานพื้นที่สถาปัตยกรรมผ่านความคิดของผู้ออกแบบ

Ritual กลุ่มภาษาสุดท้าย เป็นกลุ่มที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ และศูนย์รวมจิตใจของกลุ่มคน

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมพันธมิตร 21 ประเทศในสภาสถาปนิกเอเชียหรือ The Architects Regional Council Asia (ARCASIA) ที่ถอดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมรวมเป็นอีกหนึ่งภาษา เพื่อสื่อสารทิศทางของภูมิภาคในอนาคต

เราพาเดินต่อเพื่อนำไป ‘สัมผัส วิชาชีพ’ ทางสถาปัตยกรรมที่อยู่ภายใต้กระโจมสีขาวห้อยตกลงมาอย่างสวยงาม พร้อมนานาเรื่องราวที่ถ่ายทอดอยู่ด้านล่าง

อย่างที่บอกไปว่าในปีนี้เป็นปีที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ก่อตั้งครบรอบ 90 ปี นิทรรศการนี้จึงนำเสนอเรื่องราวที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสมาคมฯ ผลงานตลอด 90 ปี ความมุ่งหวังของสมาคมในอนาคต เรื่องราวการจัดงาน ASA ตั้งแต่อดีตจนวันนี้ และชีวิตการทำงานของเหล่าสถาปนิก

อีกหนึ่งไฮไลต์ของโซนเป็นการนำเสนอผลงานของสมาชิกสมาคมผ่านโมเดลอาคารกว่า 50 ชิ้นงาน ตั้งโอบล้อมพื้นที่ส่วนกลางซึ่งจัดเป็นพื้นที่เล่าที่มาของงานออกแบบแต่ละชิ้นของเหล่านักออกแบบ ให้คุณได้นั่งชมตามอัธยาศัย

ชวนสัมผัสสถาปัตยกรรมและความรู้สึกที่เกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันของเรา ผ่านผลงานของเหล่านักออกแบบที่ส่งผลงานกันเข้ามาร่วมประกวดตามธีม ‘สัมผัส สถาปัตย์’

ทางสมาคมฯ ให้โจทย์นักออกแบบผู้เข้าร่วมประกวดผลงานไปตีความการสัมผัสกับชีวิตประจำวันของเราที่อยู่กับสังคมดิจิทัลมากขึ้น โดยให้คิดต่อว่าหากสัมผัสเปลี่ยน การออกแบบงานสถาปัตยกรรมจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยใช้กรุงเทพฯ เมืองแห่งผู้คนและวิถีชีวิต เป็นเมืองต้นแบบในการออกแบบตามโจทย์ที่สมาคมวางไว้

ในนิทรรศการจึงจัดเป็นภาพผลงานของเหล่านักออกแบบหลายชีวิตที่ตีความการสัมผัสกับกรุงเทพฯ ออกมาได้น่าสนใจมาก ๆ หากคุณได้มาเดินชม จะได้ไอเดียสำหรับทำงานออกแบบกลับไปแน่นอน

ข้างกันกับนิทรรศการหลัก มีพื้นที่นิทรรศการ VERNADOC (Documenting Vernacular Architecture) เรียนรู้เรื่องราวของหนึ่งในแนวทางการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่า ผ่านนิทรรศการภาพเขียนปากกาดำ 

ณ นิทรรศการนี้ ผู้ชมจะได้ร่วมพูดคุยและเปลี่ยนบทสนทนากับ อาจารย์ตุ๊ก-สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าแม่แห่งวงการ VERNADOC พร้อมกับน้อง ๆ นักศึกษาที่จะพาเดินชมอย่างเป็นกันเอง

ในวาระที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ครบรอบ 90 ปี ผู้จัดงานสถาปนิก’67 คัดเลือกเหล่าสมาชิกอาวุโส ผู้เป็นตัวอย่างที่ดีของวงการวิชาชีพ วิชาการ และสร้างคุณูปการให้กับวงการสถาปัตยกรรม เพื่อเชิดชูความสามารถพวกของเขา

เราจะได้เห็นหน้าค่าตาของเหล่าสถาปนิกรุ่นเดอะที่จะมาแสดงผ่านภาพในนิทรรศการ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับนิทรรศการ VERNADOC

พักการเดินชมนิทรรศการมานั่งร่วมวงสนทนาร่วม ‘สัมผัสประสบการณ์’ กับเหล่านักออกแบบร่วม 20 ท่านที่ผลัดเปลี่ยนกันมาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาให้ฟังอย่างเป็นกันเอง ผ่านกิจกรรม Collective Experience จัดขึ้นในส่วนของเวทีกลาง

เราขอยกตัวอย่างหัวข้อที่จะเกิดขึ้นในกิจกรรม Collective Experience สักเล็กน้อย 

เริ่มต้นกันกับหญิงเหล็กในตำนานอย่าง รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตสภาสถาปนิกหญิงคนแรกของไทย ผู้ร่วมก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอจะเล่าประสบการณ์การทำงานตลอดช่วงชีวิตให้ฟัง 

หรือกิจกรรม ‘แคมป์ปิ้ง…ดวงจันทร์’ หัวข้อการสนทนาร่วมของ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์ผู้ก่อตั้ง Walllasia และเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ประเภทสถาปัตยกรรม ประจำ พ.ศ. 2557 ร่วมกับ ซัลมาน มูเก็ม ผู้ก่อตั้งกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน เล่าเรื่องราวการสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อและความศรัทธาผ่านแนวคิดทางศาสนา ในวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 – 18.00 น.

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ประธานจัดงานงานสถาปนิก’67 แนะนำให้เพิ่มเติม อย่าง อาจารย์สุภชัย วิวัฒนะประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยอันดับต้น ๆ ของไทย จะมาพูดเกี่ยวกับการสัมผัสทางจิตซึ่งเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมในหัวข้อ ‘ว่าด้วยฮวงจุ้ยและงานออกแบบ’ ในวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 15.00 – 16.00 น.

อีกคน คือ เชฟแบรด ชื่นสมทรง สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท Design QI และผู้เข้าแข่งขัน MasterChef Thailand Season 5 เขาจะมาทำอาหารให้เราสัมผัสรส โดยดึงองค์ประกอบของอาหารออกมาแล้วให้ผู้สนทนาลองดูว่าสัมผัสอะไรได้บ้าง ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 12.30 – 13.30 น.

ยังมีหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายให้ไปร่วมรับฟัง ถ้าสนใจเดินตรงมาเลย

อีกวงสนทนาเพิ่มความจริงจังขึ้นมา คือการสัมมนาวิชาการสถาปัตยกรรมผ่านภูมิภาคนิยมที่จะทำให้มุมมองด้านสถาปัตยกรรมเป็นสากลและกว้างไกลมากขึ้น โดยมีวิทยากรระดับโลกเป็นผู้ให้ความรู้งานออกแบบ ข้อมูล และเทคนิคในการประกอบวิชาชีพ ปีนี้จัดในธีม Collective Language : Critical Regionalism in Architecture

มีทั้งสิ้น 6 ส่วน จัดแสดงวันที่ 4 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 

เริ่มคนแรกด้วย Antoine Chaaya พาร์ตเนอร์ของ Renzo Piano เขาจะมาชวนคุยเรื่องสถาปัตยกรรมและบริบท (Architecture and Context) เพื่อทำให้เราเข้าใจเหตุผลของการออกแบบซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดและปัจจัยรอบตัว อย่างสภาพภูมิอากาศและสภาพพื้นที่ ในวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 14.00 – 15.00 น.

คนต่อมา Marina Tabassum สถาปนิกชาวบังกลาเทศผู้ก่อตั้ง Marina Tabassum Architects และมีผลงานเด่นด้านภาษาทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น การให้ความสำคัญกับพื้นที่ แสง และสร้างออกมาโดยละสัญลักษณ์ทางภาษาสถาปัตยกรรมตามความเชื่อแบบดั้งเดิม เธอจะมาพูดในหัวข้อ Marina Tabassum Architects, in Bangladesh ในวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 11.00 – 12.00 น.

ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 จะได้พบกับ หม่าเหยียนซง (Ma Yansong) สถาปนิกชื่อดังจากประเทศจีน ผู้ก่อตั้ง MAD Architects พูดคุยกันในหัวข้อ Landscape in Motion เชื่อมความสัมพันธ์ของธรรมชาติกับผู้คน ผ่านสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตด้วยเส้นสายที่ล้ำยุคบนผลงาน ผ่านแนวคิด ‘ศิลปะแห่งวิถีชีวิตตะวันออก’ ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 16.00 – 17.00 น.

อีกหนึ่งกิจกรรมสัมมนาที่อยากชวนผู้อ่านเดินตรงเข้าไปร่วมฟัง คือ ASA Professional Seminar 2024 กิจกรรมสัมมนาวิชาชีพที่นำเสนอองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในวงการสถาปัตยกรรมให้แก่บุคคลในแวดวงทั้งสถาปนิก นักออกแบบ นักศึกษา และคนทั่วไปอย่างเรา ๆ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและสร้างประโยชน์กับงานออกแบบ โดยปีนี้ทางสมาคมแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ

วันที่ 2 พฤษภาคม ในหัวข้อ ‘จุดเริ่มต้น ความเป็นไป และอนาคตของการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น’ ‘จากยูเนสโกถึงอาษา เคล็ดลับทำอย่างไรถึงจะได้รางวัล?’ และ ‘เรื่องควรรีบรู้ อุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้างไทย’ ที่น่าสนใจ

วันที่ 3 พฤษภาคม หัวข้อ ‘สัมผัสสถาปัตย์ มุมมองของนักออกแบบรุ่นใหม่’ และ ‘การขออนุญาตก่อสร้างวิถีใหม่: กรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์’

แค่ฟังชื่อหัวข้อก็ไม่ควรพลาดแล้ว

งานสถาปนิก’67 จัดตั้งแต่วันนี้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 อย่าลังเลที่จะมาเข้าร่วม เพราะงานพิเศษ ๆ แบบนี้ 1 ปีมีครั้งเดียว รีบแต่งตัว ก้าวท้าวออกจากบ้าน แล้วตามมารับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากงานนี้ได้เลย

ภาพ : งานสถาปนิก : ASA EXPO

ASA EXPO 2024 
  • 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 
  • ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1 – 3 และเอ็กซิบิชั่นฮอลล์ 8 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (แผนที่)
  • ติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.asaexpo.org/about-2024
  • งานสถาปนิก : ASA EXPO

Writer

นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา

นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา

เกิดและโตที่ประจวบฯ ชอบเดินตลาด ชอบสัมภาษณ์ผู้คน ชอบค้นเอกสารเก่า ชอบเข้าวัดวา ตามหาพระและแมวที่จริงใจ

Photographer

อัครชัย อังศุโภไคย

อัครชัย อังศุโภไคย

ช่างภาพอิสระที่ใช้เวลาว่างไปกับการเดินตลาดของเก่า สะสมหนังสือภาพถ่ายเก่า ซอกแซก สำรวจเมือง และหากาแฟอร่อย ๆ กิน