เรื่องน่าตื่นเต้นในวันนี้ คือเราได้โอกาสคุยกับเจ้าของผลงานอันเป็นที่รู้จักในวงกว้างหลายประเทศในโลก อย่าง ‘Warbie Yama’

จริงอยู่ที่ชื่อของ Warbie Yama อาจจะยังไม่ได้ติดหูคนไทยทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เชื่อสิว่าหากได้เห็นหน้าตานกเหลืองตัวอ้วนนามว่าวอร์บี้แล้ว คุณจะต้องร้องอ๋อ อย่างน้อยเพื่อนสักคนของคุณต้องเคยส่งสติกเกอร์เจ้าตัวนี้มาทักทายบ้างแหละ

Fun Fact : Warbie Yama ไม่ได้เป็นแค่สติกเกอร์ไลน์อย่างเดียว 

ทุกอย่างเริ่มจากแอนิเมชันสั้น ๆ ที่เป็นธีสิสปริญญาโทของ นอร์ธ-อรุษ ตันตสิรินทร์ แล้วค่อย ๆ ใช้เวลาเป็น 10 ปี ต่อยอดไปเป็นหลายสิ่ง คอมิกก็มี สินค้าก็มี แม้มู้ดโดยรวมจะดูออกไปทางประเทศเอเชียตะวันออกหน่อย แต่คนวาดเป็นคนไทย เกิดและโตในไทย ซึ่งมีแพสชันและความสามารถล้นเหลือจนไปเฉิดฉายไกลถึงต่างประเทศ

Warbie Yama เป็นงานส่วนตัวของนอร์ธ จริง ๆ แล้วเขาทำงานประจำที่ Nickelodeon ช่องทีวีสำหรับเด็กสัญชาติอเมริกัน โดยทำหน้าที่เป็น Lead Animator ของเรื่อง Ninja Turtles, Avatar: The Legend of Korra, Monsters vs Aliens, Wallykazam รวมทั้งเป็น Animation Director บางส่วนของเรื่อง Santiago of the Sea และ SpongeBob

ตอนนี้ที่ River City Bangkok มีนกวอร์บี้ครอบครองอยู่เต็มพื้นที่ เนื่องในโอกาสที่นิทรรศการ Warbie Yama ครั้งแรกในไทยกำลังจัดขึ้นที่ชั้น 2 คอลัมน์ In Design คราวนี้จะพาผู้อ่านบุกไปหานอร์ธถึงนิทรรศการ คุยกับเขาเรื่องชีวิตการเป็นแอนิเมเตอร์ ผลงานส่วนตัว และที่มาที่ไปของงานครั้งนี้ (โอกาสดี ๆ แบบนี้คงไม่ได้มีบ่อย ๆ!)

อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก

เล่าชีวิตนอร์ธ ดิ แอนิเมเตอร์ ผ่านงานส่วนตัว

Chapter 0 : Flipbook

หน้าที่ของนอร์ธในการทำแอนิเมชันที่ Nickelodeon คือคิดการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูน เช่น คิดรายละเอียดของ Motion การหยิบอาวุธของนินจาเต่า โดยทำให้สอดคล้องกับคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละตัวละคร ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำให้ออกมาเป็นธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย

“Raphael ดุ Donatello ก็นักวิทยาศาสตร์ เนิร์ดหน่อย Michelangelo ก็ขี้เล่น” เขาพยายามอธิบายให้เราที่ไม่เคยดูนินจาเต่าฟัง

นอร์ธพาเรานั่งลงหน้ากระท่อมในนิทรรศการที่มี Warbie นอนหลับอุตุอยู่ด้านใน นอกจากพวกเราแล้ว ก็มีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาในโลกของเจ้านกเหลืองอย่างไม่ขาดช่วง

อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก

“ผมโตในเมืองไทยครับ แล้วก็ย้ายไปอเมริกาช่วงเรียนปริญญาโท” นอร์ธเล่าอย่างกระตือรือร้น หลังจากที่เขาออกตัวว่าชอบอ่าน The Cloud ก็พาให้เราตื่นเต้นในการคุยกับเขามากขึ้นไปอีก

“จริง ๆ วาดรูปตั้งแต่เด็กแล้ว เรียนวิชาอื่นก็ยังนั่งวาดบนพวกสมุดเรียน ชอบวาดตรงมุมของหนังสือแล้วก็กรีดดู เป็น Flipbook แล้วก็เป็นประเภทที่พอไปเล่นเกมหรือดูการ์ตูนช่อง 9 อะไรมาก็จะเอามาวาดเป็นของตัวเอง จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เคยทำหนังสือการ์ตูนเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ เอาเข็มกับด้ายมาเย็บสัน แล้วก็ให้เพื่อนที่โรงเรียนดู”

เด็กชายอรุษชอบวาดรูปเป็นพิเศษ ยิ่งวาดแล้วมีคนให้ชมก็ยิ่งวาดใหญ่ เมื่อมีการประกวดวาระต่าง ๆ ก็เป็นเขาทั้งนั้นที่เป็นนักล่ารางวัล นำอุปกรณ์วาดรูปที่ได้มาใช้ต่อ แต่ถามว่าอยากเป็นนักวาดการ์ตูนรึเปล่า เขาบอกว่าตอนเด็ก ๆ ยังไม่ได้คิดไกลถึงขนาดนั้น

อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก

พอเติบโตขึ้น เขาเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในสาขาวิชา Visual Communication Arts ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Graphic Design เป็นหลัก

“ตอนนั้นยังไม่ได้เรียนแอนิเมชัน แต่ว่ามันจะมีวิชาอย่าง Motion Graphic มีวิชาสอนเกี่ยวกับการทำกราฟิกเคลื่อนไหวที่ได้เรียนตอนปี 3 เป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดหลังจากตอนทำ Flipbook ที่เราเริ่มสนุกกับการทำภาพเคลื่อนไหว พอช่วงที่มี Jurassic, Star War มีหนังฮอลลีวูดที่เป็น CG Animation เราว่ามันเป็นอะไรที่จับต้องได้และดูอะเมซิ่งมาก อยากลองทำ เลยไปหาเรียนข้างนอก ซึ่งเหนื่อยมาก ต้องเรียนจนถึง 4 ทุ่ม แต่ก็สนุก”

รู้สึกถึงพลังวัยรุ่นขึ้นมาเลย!

Chapter 1 : Rocket Boy

“หลังจากที่เรียนข้างนอกจนเริ่มทำได้ ก็ได้เสนอแอนิเมชันสั้นเป็นธีสิสจบปริญญาตรี ผมเอาความผสมผสานจากการได้เรียนที่มหาวิทยาลัยสอน Motion Graphic เข้ามาผสมด้วย อาจารย์ก็เลยให้ทำ” นอร์ธเล่า

ในที่สุดก็ได้เวลา ‘ลองของ’ สักที แม้จะมีความยาวเพียงแค่ 30 วินาที แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นไม่นานอย่างเขาถือว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก และ Chapter แรกของการเป็นแอนิเมเตอร์ก็เริ่มต้นขึ้น

Rocket Boy เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเล่นซนของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนจากตัวนอร์ธเอง ตอนเด็ก ๆ เขาชอบเล่นจุดจรวด จุดประทัด นำประทัดกับธูปผูกติดกันไว้เป็นการตั้งเวลา เมื่อธูปไหลลงมาถึงจุดหนึ่งแล้วเขาก็จะคอยฟังเสียง ‘ปั้ง’ นอร์ธชอบไอเดียนั้น จึงทำแอนิเมชันที่มีตัวละครเด็กชายหยิบจับเอาของที่อยู่ทั่วไปอย่างถังน้ำ หม้อ มาใส่เป็นชุดเกราะ แล้วก็ไปเล่นซน โดยมีสุนัขพันธุ์แจ็ครัสเซลล์เป็นผู้รับเคราะห์ ซวยไปพร้อมกับเด็กชาย

“ท้าทายมาก เราตั้งโจทย์โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่คิดว่าตั้งที่อยากได้ไว้ก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยไปหาหนทางของมันเอง เลยเป็น Learning Curve ที่กระโดดมาก ๆ” เขาพูดถึงการทำ ‘ควัน’ เป็นครั้งแรก ตอนเริ่มต้นเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะไปหาความรู้จากไหน แต่พอไปถามอาจารย์และได้โอกาสใส่ชุดนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้วิธีการที่บริษัท CG ของอาจารย์ เขาก็เริ่มทำได้

“พอไปถึงผมก็ไปนั่งกับพี่ที่ออฟฟิศ บอกว่า ‘พี่ช่วยสอนผมทำควันหน่อย’ ถึงงานเขาจะก็ยุ่งอยู่แล้วเขาก็ทำให้ดู ผมก็จด ๆ แล้วรีบกลับมาฝึกต่อที่บ้าน สิ่งที่ลัดที่สุดไม่ใช่หนังสือ เพราะผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า ผมวิ่งไปหาคนที่เป็น Professional ด้านนั้น ขอให้เขาสอนเรา

Rocket Boy เป็นเรื่องแรกที่จุดประกายว่า เราทำหนังแอนิเมชันเล่าในสิ่งที่อยากเล่าได้แล้ว เป็นตัวที่สำคัญมาก ๆ เลย” เขาพูดด้วยแววตาเป็นประกาย ความรู้สึกคงเหมือนการปั่นจักรยานได้ครั้งแรกแล้วลิงโลดในใจ ต่อไปนี้จะเป็นทางที่คดเคี้ยวแค่ไหนก็พร้อมจะลอง

และความภูมิใจของเขาตอนที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ก็คือการที่แอนิเมชันสำเร็จสมใจ การนำธีสิสไปจัดแสดงที่สยามดิสคัฟเวอรี่แล้วมีคนจาก a day ของานของเขาไปลงหน้าหนึ่งของนิตยสารปก เรย์ แมคโดนัลด์ และการที่นำ Rocket Boy ส่งประกวดแล้วได้รางวัลที่ 1 งาน TAM: Thailand Animation and Multimedia มาครอบครอง

Chapter 2 : Cheez…z

“จบปุ๊บก็ทำงานเป็นแอนิเมเตอร์อยู่ที่บริษัทในเมืองไทยนี่แหละครับ” นอร์ธเล่าต่อถึง Chapter ถัด  ไปของชีวิต “อาจารย์ที่สอน Motion Graphic ผมเขาเรียกไปทำงานด้วย ดีใจมาก ได้งานเลย ทำอยู่สัก 2 ปี ถึงตัดสินใจบอกแกว่า อยากไปเรียนต่อที่อเมริกา เพราะแอนิเมชันมันเติบโตที่นั่น”

ในที่สุดนอร์ธก็ได้ไปเรียนต่อที่ Academy of Arts, San Francisco สาขา Animation and Visual Effect และได้ทำแอนิเมชันเรื่อง Cheez…z เป็นธีสิสจบ

Cheez…z คือการบอกให้คนหน้ากล้องฉีกยิ้ม เพื่อที่คนหลังกล้องจะกดชัตเตอร์ ซึ่งเรื่องราวของแอนิเมชันนี้ก็ไม่ได้ซับซ้อนนัก เป็นเพียงบ่ายวันหนึ่งที่คุณลุงใจดีอยากถ่ายรูปสวย ๆ ของนกตัวหนึ่งรูปเดียวเท่านั้น

อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก

“จริง ๆ มันเริ่มจากบ่ายวันอาทิตย์ แสงอุ่น ๆ ตอนที่อยู่ซานฟรานซิสโก ผมไปเดินงาน Japan Town เห็นลุงญี่ปุ่นแต่งตัวดี ๆ ถือกล้องเก่า ๆ ตัวหนึ่ง แล้วแกก็ยืนยิ้ม น่ารักมาก ตอนนั้นไปกับเพื่อนแต่เพื่อนเดินไปหมดแล้ว ผมยังหยุดดูคุณลุงอยู่ไกล ๆ  เหตุการณ์วันนั้นเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำคาแรกเตอร์ตัวนี้ สำหรับผมมันดึงดูดมาก ๆ” นอร์ธพูดถึงตัวละครยามะ ที่มาก่อนเจ้าวอร์บี้เสียอีก 

เขารู้สึกเหมือนว่าลุงที่เขาผ่านไปเจอ น่าจะผ่านเรื่องราวในชีวิตมามาก คงจะตกผลึกอะไรหลายอย่าง แต่ยิ้มของลุงก็ทำให้คนอย่างเขามีความสุขตาม

“ส่วนนกเนี่ย มันมีเหตุการณ์ตอนเด็ก ๆ ที่มีนกบินชนกระจกบ้านแล้วบาดเจ็บ ก็เลยช่วยมันไว้ พอหายก็ปล่อยมันไป” เขาเล่าต่อ “เราว่าคาแรกเตอร์นกมีเสน่ห์ตรงที่เราจับต้องมันได้ยากมาก เรามักจะได้ความน่ารักของมันมาในรูปแบบของภาพถ่ายหรือไม่ก็อะไรบางอย่าง เพราะนกเป็นสัตว์ปีกที่มีอิสระ บินไปไหนก็ได้ 

“สมมติเราชอบนกตัวนี้ ก็ต้องลุ้นว่าจะได้เจออีกเมื่อไร เพราะมันบินแล้วบินไปไกล ไม่เหมือนกับหมาบางตัวที่ยังอยู่แถวนั้น คาแรกเตอร์นกจึงมีเสน่ห์ มันเป็นสัตว์ตัวหนึ่งที่มีคุณค่านะ ถ้าเราได้สัมผัส ได้จับมัน คุณลุงเลยขอแค่ว่าถ่ายรูปสวย ๆ รูปเดียว ทำไมถ่ายยากจัง” ด้วยเหตุนี้ ตัวละครหลักทั้งสองตัวจึงถือกำเนิดขึ้นมา

อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก

“ในด้านเทคนิค การทำให้ตัวละครเคลื่อนไหว ผมรู้สึกว่ามันดีขึ้นนะ เพราะว่าเราไปเรียนแล้วได้เจอกับอาจารย์ที่เก่ง ๆ จึงได้รู้ว่าเราทำให้ตัวละครมีชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งผมว่าตรงนี้คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเลยที่ทำให้วอร์บี้มีวันนี้ได้ Expression ของวอร์บี้ สายตากวน ๆ ของมัน คนได้เห็นครั้งแรกก็จากเรื่องนี้ แล้วผมก็ชอบความเป็น Artistic Style ของมัน ผมไม่อยากให้มันดู Realistic มาก เพราะแบบนี้ดูแล้วอุ่นดี”

สำหรับดนตรีประกอบ นอร์ธที่ได้เล่นดนตรีแบบ Street Learner ช่วงมัธยม นำทักษะตรงนั้นมาแต่งเมโลดี้สั้น ๆ ในกับแอนิเมชันเรื่องนี้ โดยตอนแต่งก็นึกไปถึงทำนองที่คุณลุงยามะจะฮัมในหัว แล้วลองใส่คีย์บอร์ด ใส่กีตาร์ และเครื่องเคาะที่ฟังดูญี่ปุ่น ๆ เข้าไป จำกัดจำเขี่ยตามกำลังของนักเรียน แต่ก็ออกมามีเสน่ห์และติดหูทีเดียว

แล้วทำไมถึงเลือกจะทำให้แอนิเมชันไม่มีบทพูด – เราถามคำถามสำคัญ คำถามที่ติดอยู่ในใจตั้งแต่แรกได้ดู Cheez…z

“มันเป็นธรรมชาติของการทำ Short Film ทั่วไป เพราะการใส่บทพูดมันยาก เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่เราต้องเขียนสคริปต์ขึ้นมา ต้องหาคนพากย์ ซึ่งจะเพอร์เฟกต์หรือเปล่าก็ไม่รู้ และส่วนตัวรู้สึกว่าการได้มองเห็นเป็นบุคคลที่สามนั่งดูเหตุการณ์ไกล ๆ ไม่ได้ยินว่าเขาพูดอะไร จะได้ความสนุกไปอีกแบบ แค่ภาพก็อาจสื่อพอแล้วโดยไม่ต้องมีคำพูดใด ๆ”

Chapter 3 : Warbie Yama

Chapter ที่ 3 นี้ ไม่ได้เป็นแอนิเมชัน หากแต่เป็นการนำตัวละครจาก Cheez…z มาพัฒนาต่อ ถึงอย่างนั้น Chapter นี้นี่แหละที่พาเขาให้เป็นที่รู้จักไปทั้งโลก

หลังจากเรียนจบเขาก็ได้งานเริ่ด ๆ สมความสามารถที่ Nickelodeon Studio ที่ L.A. ระหว่างนั้นหนังธีสิสอย่าง Cheez…z ได้เริ่มฉายในนิทรรศการและ Film and Animation Festival ทั้งในอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ซึ่งเขาก็กวาดรางวัลมามากมายจากการเดินสายในคราวนั้น

วอร์บี้ยังอยู่ในใจเขาตลอด ว่าง ๆ เขาก็วาดเจ้านกเล่นบ้าง คิดเรื่องต่อจาก Short Film บ้าง แต่ยังไม่ได้ทำอะไรจริงจัง จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ไปงานประมูลภาพเพื่อช่วยเหลือศิลปินแอนิเมเตอร์คนหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็ง โดยส่งภาพวอร์บี้เล็ก ๆ ขนาด 5*7 นิ้วไปเข้าประมูลกับเขาด้วย ท้ายที่สุดเมื่อหมดเวลา ผู้หญิงเกาหลีคนหนึ่งก็ชนะประมูล และเดินยิ้ม ๆ ถือภาพออกไปจากห้อง

“มันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย คาแรกเตอร์นี้อาจจะมีพลังบางอย่างในการสร้างสิ่งดี ๆ ก็ได้นะ ในอนาคตอาจจะทำอะไรได้มากกว่านี้” เขาเล่าถึงโมเมนต์จุดประกาย 

ตั้งแต่นั้นมาเขาก็เริ่มคิดเรื่องราวเพิ่มขึ้น แล้วก็ลองทำ Art ในรูปแบบอื่น ๆ ปั้นดินบ้าง วาดเป็นสีไม้บ้าง สีน้ำบ้าง ไปแจมอีเวนต์ แจมแกลเลอรี่ต่าง ๆ บ้าง ตามใจสนุกสนาน

อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก
อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก

“พอ Line เข้าเมืองไทย ก็มี Line Sticker เกิดขึ้น ที่บ้านก็อยากใช้ลายวอร์บี้ คุณแม่ชอบวอร์บี้มาก เลยลองทำดูนอกเวลาทำงาน” 

ช่วงปี 2014 สติกเกอร์เซ็ตแรกแจ้งเกิดใน Line และเป็นที่รู้จักไปหลายประเทศทั่วโลกในเวลาต่อมา ถึงจะไม่ค่อยมีคำพูดอะไร แต่นอร์ธก็เอ็นจอยกับการทำงานมาก เนื่องจากใน Short Film ที่เคยทำ Expression จะจำกัดโดยเนื้อเรื่อง แต่เมื่อเป็นสติกเกอร์เขาก็เล่นได้หลากหลายขึ้น ได้ลองคิดว่าคนจะใช้ส่งไปเพื่ออะไรบ้าง รวมถึงได้แอบใส่เนื้อเรื่องที่แต่งเพิ่มเข้าไปในเซ็ตถัด ๆ มาด้วย

“อย่างเช่นมีคุณลุงปั่นจักรยานแล้วมีคนซ้อนท้าย ซึ่งเป็นภาพ Silhouette เห็นแต่เงา นั่นเป็นครั้งแรกที่มีตัวละครใหม่ เป็นใครก็ไม่รู้มานั่งซ้อนท้ายอยู่ ก็มีแฟน ๆ ถามมาว่า คนที่ซ้อนท้ายลุงยามะคือใครคะ(หัวเราะชอบใจ) ก็เลยเริ่มสนุกที่มีคนติดตาม จริง ๆ มันคือสตอรี่ของป้ามะลิที่เราคิดมาอยู่แล้ว”

สักพักนอร์ธจึงเริ่มปล่อยคอมมิคลงในโซเชียลมีเดียตามเทศกาล คริสต์มาสบ้าง วาเลนไทน์บ้าง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของวอร์บี้ ลุงยามะ และป้ามะลิ แม้จะต้องทำงานประจำไปด้วย เขาก็แบ่งเวลาว่างเล็ก ๆ น้อย ๆ มาทำงานส่วนนี้ไปด้วยอย่างช้า ๆ

“เราอยากให้คอมมิกพูดเรื่องราวที่ Positive เกิดความอบอุ่นใจ หรือบางเรื่องอาจจะเป็นกิมมิกเล็ก ๆ ที่สะท้อนมาจากสิ่งที่เรากลับไปแก้ไขในอดีตไม่ได้แล้ว เช่น อาจมีบางเหตุการณ์ที่เราไม่น่าแก้ปัญหาด้วยความโผงผาง ควรแก้ปัญหาโดยการใช้ความซอฟต์ก็ได้หรือเปล่า มันก็เลยออกมาในคอมมิกบางส่วน”

อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์คนไทยแห่ง Nickelodeon ผู้พา Warbie Yama บินไกลทั่วโลก

ศาสตร์การเขียนคอมมิกต่างจากแอนิเมชันมากไหม?

“ผมว่าโดยพื้นฐานน่าจะคล้ายกัน คือเรื่องของเมจเสจหลัก เวลาเราจะบอกอะไรในนั้น แต่ว่าความท้าทายต่างกัน ด้วยความที่เป็นเฟรมเป็นภาพนิ่ง เคลื่อนไหวไม่ได้ โดยเฉพาะคอมมิกของวอร์บี้ยามะ ผมไม่ค่อยใช้คำพูดเลย เนื่องจากว่าแฟน ๆ มีหลายประเทศ เราเลยอยากเล่าให้เข้าใจตรงกันได้โดยเอาคำพูดทิ้งไป 

“บางทีอย่างถ้าอ่านการ์ตูนที่คำพูดเยอะ ๆ รูปเดียวเล่าได้ตั้งหลายอย่าง แต่อันนี้รูปเดียวยังไม่พอ ต้องเพิ่มอีกหลาย Panel เพราะฉะนั้นกระบวนการคิดจึงท้าทายขึ้น”

เพราะการทำงานแบบ One Man Show ไม่ได้มีทีมเป็นร้อย ๆ เหมือนการ์ตูนทั่วไป วอร์บี้จึงค่อย ๆ เติบโตและใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะมาถึงวันนี้ที่มีคนชอบทุกเพศ ทุกวัย นอร์ธบอกว่าคนมักชอบวอร์บี้เพราะเชื่อมโยงกับตัวเองหรือคนรู้จัก ซึ่งดูกวน ๆ เหวี่ยง ๆ บ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็น่ารัก

“คนอเมริกันเห็นมันก็พูดว่า Side Eyes Chick อะไรอย่างนี้ พูดมาแต่ไกลเลยโดยที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับมัน มันโดดเด่นมาตั้งแต่หน้าตาแล้ว” แอนิเมเตอร์เล่าอย่างอารมณ์ดี

Chapter 4 : Lucky

เราขอให้เขาเล่างานส่วนตัวอีกสักงานให้ฟัง นอร์ธนิ่งคิดสักพักแล้วเริ่มเล่าถึง ‘Lucky’ ด้วยแววตาที่เปลี่ยนไปชัดเจน

Lucky เป็นแอนิเมชันสั้น ๆ เกี่ยวกับหมาตัวหนึ่งที่เขาเคยเลี้ยงสมัยประถม พอถึงเวลาต้องย้ายบ้านแล้วพาหมาไปด้วยไม่ได้ จึงจำเป็นต้องทิ้งลัคกี้ไว้ หลายปีต่อมา เมื่อนอร์ธกลับไปบ้านเก่าแล้วถามถึงเพื่อนตัวเดิม คนแถวนั้นบอกว่ายังเห็นลัคกี้ไปรอที่ท่าน้ำทุกวันเหมือนที่เคยทำตอนนอร์ธอยู่ แต่ตอนนี้ไม่เห็นอีกแล้ว

“คล้าย ๆ หนังฮาจิที่เคยดูเลย แต่เป็นเรื่องจริงของเรา” นอร์ธเอ่ย 

“ลัคกี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลที่ตลกมากของออสเตรเลีย ชื่อ The Loop ที่ให้ทุกคนทำแอนิเมชันมา จะยาวหรือสั้นแค่ไหนก็ได้ แต่ต้องวนลูปไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสนุก ๆ อาร์ต ๆ

“ตอนนั้น The Loop จะมาจัดที่ Nickelodeon Studio ในธีม Childhood ให้เวลา 4 วัน” เมื่อพูดถึงเทศกาล แววตาของเขาก็สดใสขึ้น “ผมนึกไปถึงเหตุการณ์ของลักกี้ได้ยังไงก็ไม่รู้ กลายเป็นที่มันรอทุกวันเป็น Loop ได้ แต่ Loop ของมันเศร้าเหมือนกัน ตอนเช้าลักกี้ออกมารอที่ท่าเรือ เห็นเรือลำหนึ่งออกมาเทียบท่า คนเดินขึ้นมา ลักกี้มอง ก็ยังไม่ใช่ รอจนเย็นพระอาทิตย์ตก ก็เดินหมาหงอยกลับบ้าน แล้วก็วนมาใหม่ คือตอนเช้าเดินมาที่โป๊ะ”

ท่ามกลางหนังสั้นตลก ๆ Lucky ที่ถูกจัดไว้ลำดับสุดท้ายของคืนนั้น พาให้ทุกคนในคอร์ทยาร์ดเงียบกริบ 

“ปรากฏว่าวันนั้น Lucky ได้รางวัลที่ 1 จากการโหวต” แอนิเมเตอร์เผย แสดงว่าเรื่องเศร้าในวัยเด็กกินใจคนไม่น้อย “จึงเป็นอีกแพลนหนึ่งว่า เดี๋ยวในอนาคตจะทำให้มันสมบูรณ์ เพราะอันนี้เป็นเหมือนโมเมนต์สั้น ๆ แค่นาทีกว่า”

เจาะเส้นทางของ 'นอร์ธ' อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์ชาวไทยแห่ง Nickelodeon ตั้งแต่จุดสตาร์ทมาจนถึงวันที่ Warbie Yama ประสบความสำเร็จ

ทำไมถึงเลือก Lucky มาเล่าชีวิตใน Chapter ถัดไป?

“มันเหมือนคนละโลกกับวอร์บี้เลย แต่ว่ารากเหมือนกัน คือกลับไปวัยเด็กอีกแล้ว เราอยู่ห่างบ้านนาน ๆ บางทีเราก็นึกถึงตอนอยู่ที่อเมริกา เมือง Burbank จะมีร้านแผ่นเสียงเก่า ๆ เราเจอแผ่นเสียงอย่าง Carpenters, DGs ที่พ่อแม่ชอบฟัง เลยทำให้เรานึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ 

“เราอยากเล่าบางเรื่องที่อาจจะไม่ขำ แต่ว่าได้อะไรบางอย่าง”

นัก (ค่อย ๆ) เล่าเรื่อง

ถึงจะประสบความสำเร็จในส่วนของแอนิเมชันสั้น Line Sticker และคอมมิก แต่นอร์ธยังไม่มีแผนจะต่อยอด Warbie Yama เป็นแอนิเมชันเรื่องยาว เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทีมสร้าง ทุน แต่หากทุกอย่างพร้อมเมื่อไหร่ ก็ (อาจจะ) เป็นไปได้

“ตั้งแต่ทำวอร์บี้มา ไม่ได้คิดเลยว่าปลายทางคืออะไร หรือเราจะได้อะไรจากมัน เราไม่ได้จะทำสินค้าเพื่อรวย ทำหนังเพื่อโกยเงิน หรือจะได้เป็นผู้กำกับ คิดแค่ว่า ‘ตอนนี้ฉันอยากเล่าเรื่องแบบนี้’ ก็เลยเล่าออกมา เวลาผ่านไปก็สะสมมาจนกระทั่งออกมาเป็นแบบนี้ ส่วนพาร์ต Business ก็ทำตามสมควร

“พอไม่ได้คาดหวังมาก จิตใจเราก็เลยยังอยู่ ยังทำงานสื่อสารออกมาได้ดี คนดูก็คงจะรู้สึกได้ถึงความจริงใจที่เราสื่อออกไป เลยเป็นรากฐานที่ค่อนข้างแข็งแรง”

ในการสร้างสรรค์งาน ส่วนที่ท้าทายที่สุดสำหรับนอร์ธคือเนื้อเรื่อง เพราะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของคนดู แอนิเมเตอร์ต้องคิดว่าจะเริ่มยังไงให้สวย ไคลแมกซ์ยังไงให้สุด จบยังไงให้ดี ส่วนเมื่อถามถึงสูตรหรือเทคนิคในการคิดงาน เขาตอบทันทีเลยว่า ไม่มี เขาเพียงแต่ทำงานตามความรู้สึก และมุ่งให้คนดู ‘ได้อะไรสักอย่าง’ จากการเสพงาน ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มหรือความรู้สึกอื่น ๆ ก็ตาม

“ศิลปะบาโรกจะมียุคหนึ่งที่มักใช้ศิลปะแนวมืดมน ซึ่งบางทีศิลปะนั้นอาจทำให้คนดูรู้สึก Release อันนี้คือหนึ่งในบทเรียนตอนที่เรียน History of Arts เลยว่า เมื่อ Release อะไรออกมาบางอย่างแล้ว ความสุขจะตามมาทีหลัง

“แต่ว่าของผมมันไม่ได้ Extreme ขนาดนั้น แค่เป็นโมเมนต์หนึ่ง ทำให้คนรู้สึกอย่างหนึ่ง เช่น วอร์บี้นั่งอยู่ในต้นไม้ มองออกไปแล้วฝนตก สักพักหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นแดดออกแล้วนกร้องจิ๊บ ๆ ผมก็เขียนสั้น ๆ ว่า ‘Rain or shine can brings joy’ ต่อให้ฝนตกหรือแดดออก มันก็มีความสุขได้เหมือนกัน” 

เราว่าเขาเป็นนักเล่าเรื่อง เขาไม่เพียงวาดรูปหรือทำแอนิเมชัน แต่มีเรื่องที่อยากเล่า มีความรู้สึกที่อยากส่งต่อ ซึ่งสิ่งที่น่าประทับใจก็คือ แม้บางครั้งจะไม่ได้ใส่คำบรรยายอะไร ผู้คนก็ถอดความหมายสิ่งที่เขาจะสื่อออกมาได้ตรงใจอย่างไม่น่าเชื่อ

เจาะเส้นทางของ 'นอร์ธ' อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์ชาวไทยแห่ง Nickelodeon ตั้งแต่จุดสตาร์ทมาจนถึงวันที่ Warbie Yama ประสบความสำเร็จ

นิทรรศการในครั้งนี้ใช้เวลาเตรียมงานถึง 2 ปี กว่าจะเนรมิตรทุกอย่างออกมาให้เป็นดั่งภาพในจินตนาการของนอร์ธได้ ถ้าคุณได้มาดู ก็จะได้เห็นตั้งแต่สมุดสเก็ตช์ภาพวอร์บี้ เห็นวอร์บี้ขนาดเท่าของจริง วอร์บี้ในจอที่ Interact กับผู้ชมได้ เพลงเพราะ ๆ จากวอร์บี้ออเคสตร้า วอร์บี้ในรูปแบบงานศิลปะต่าง ๆ ไปจนถึงวอร์บี้จากลายเส้นของศิลปินหลายประเทศ นอกจากนี้ยังมีวอร์บี้รับบทเป็นนักแสดง MV เพลงที่ ป๊อด Moderndog ร้องกับ โบ Triumph Kingdom ที่นอร์ธภูมิใจนำเสนอด้วย

“ผมคิดว่านิทรรศการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่วิเศษมาก อาจจะดีก็ได้ถ้ามันได้ไปประเทศอื่นด้วย เช่นประเทศที่มี Fanbase อยู่แล้ว อย่างไต้หวัน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อเมริกา แต่อย่างที่บอก เราไม่ได้มีแพลนอะไรเยอะแยะ เราไปตามที่รู้สึกว่ามันสมควร ณ เวลานี้ แล้วพอโอกาสอะไรมาก็ค่อยว่ากัน

อยากบอกอะไรกับคนที่อยากเป็นแอนิเมเตอร์เหมือนกันไหม?

“งานนี้เป็นงานที่เต็มไปด้วยจินตนาการ อยากเล่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เล่าได้เลย อยากจะส่งเมสเสจที่ดีกับคนก็ได้ เราก็ทำเรื่อย ๆ ทำแบบที่ชอบ ให้คนอื่นดูบ้างแล้วค่อย ๆ ปรับไป ทุกอย่างใช้เวลา แค่ต้องทำไปเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง”

จากที่ไม่ได้รู้จักวอร์บี้มากนัก รู้จักแค่ในฐานะสติกเกอร์ไลน์หน้าตาคุ้น ๆ ที่เพื่อนส่งมา หลังจากที่คุยกันจนจบ ได้ฟังเส้นทางการทำงานด้วยใจรักของนอร์ธ เราก็วิ่งลงไปซื้อภาพวาดวอร์บี้ถือไอติมที่ช็อปด้านล่าง แล้ววิ่งขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้เขาเซ็นก่อนจะกลับ

ขอให้งานสร้างสรรค์และคนทำงานจงเจริญ!

เจาะเส้นทางของ 'นอร์ธ' อรุษ ตันตสิรินทร์ แอนิเมเตอร์ชาวไทยแห่ง Nickelodeon ตั้งแต่จุดสตาร์ทมาจนถึงวันที่ Warbie Yama ประสบความสำเร็จ

นิทรรศการ “It’s me, Warbie! The Inside World of Warbie Yama” จัดแสดงตั้งแต่ 25 พฤศจิกายน 2565 – 25 มกราคม 2566 ที่ RCB Galleria 2 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ซื้อบัตรได้แล้วที่ The Gallery Shop ชั้น 1 River City Bangkok หรือซื้อบัตรออนไลน์ได้ที่ Ticketmelon (https://bit.ly/3MCcryU) และ ZipEvent (https://bit.ly/3MFLsmk) ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมทาง LINE Official : @rivercitybangkok

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์