จุดเปลี่ยนสำคัญของโลกในขณะนี้ คือการเปลี่ยนผ่านจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (Electric Vehicle : EV) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น จากการที่ทุกคนตระหนักถึงพันธกิจสำคัญเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมเพรียงกันทุกเชื้อชาติ ทุกเขตเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของบ้านเรามาหลายทศวรรษ จนเกิดผู้ประกอบการ ช่างชำนาญการ และผู้ที่มีความรู้ความสามารถในวงการนี้จำนวนมาก
‘อรุณ พลัส’ (ARUN PLUS) ธุรกิจใหม่แห่งอนาคตโดยกลุ่ม ปตท. เดินหน้าลุยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านการผลิต จำหน่าย ระบบกักเก็บพลังงาน แพลตฟอร์มเช่ายานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงพลังงานหมุนเวียนและการประหยัดพลังงาน และร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต’ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานต์ยนต์ไฟฟ้าครบวงจร รวมทั้งจับมือพันธมิตรในการสร้างประสบการณ์การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าด้วย

เราได้คุยกับ คุณโทรณ หงศ์ลดารมภ์ Head of EV Charger Business บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ที่งานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างกลุ่ม ปตท. และ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ภายใต้แนวคิด ‘The Future of eMobility Lifestyle’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ผู้นำด้านศูนย์การค้าจับมือกับผู้นำด้านพลังงาน ขยายเครือข่ายให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานต์ยนต์ไฟฟ้าในห้างสรรพสินค้า เพื่อสนับสนุนไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บนโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อและสะดวกสบาย
อรุณ พลัส มุ่งสู่บริการยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร
กลุ่ม ปตท. วางแผนสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์ให้ประเทศไทย ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2065 โดยหมุดหมายแรกคือการตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ขึ้น เพื่อรองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันได้ร่วมลงทุนกับ Foxconn Technology Group บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกจากไต้หวัน ก่อตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ชูจุดเด่นโครงช่วงล่างที่ยืดหยุ่น ปรับแต่งเข้ากับรถได้หลายประเภท ซึ่งถือเป็นการสร้างข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่น่าสนใจ
“ส่วนมากคนจะกังวลเรื่องสถานีชาร์จไฟ กลัวว่าขับอีวีไปข้างนอกแล้วจะไม่มีที่ชาร์จ หรือไฟหมดกลางทาง ปัจจุบันเราตอบโจทย์เรื่องนี้ไปได้เยอะแล้ว ทางกลุ่ม ปตท. ตั้งใจทำทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอีวีตั้งแต่การผลิตรถ แบตเตอรี่ เครื่องชาร์จ สถานีชาร์จ รวมถึงแพลตฟอร์มให้เช่ารถไฟฟ้า ต้องทำครบวงจรเพราะนี่เป็นช่วงเริ่มต้น เพื่อกระตุ้นให้การใช้งานอีวีเกิดขึ้นในวงกว้าง” คุณโทรณกล่าว

นอกจากนี้ อรุณ พลัส ยังมีโซลูชันที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้าอีกหลายแบรนด์ เริ่มที่ ออน-ไอออน (on-ion) สถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เน้นขยายธุรกิจเข้าไปในพื้นที่ศักยภาพ ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร เป็นต้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของพฤติกรรมผู้บริโภคแห่งอนาคต
โดยผู้ใช้อีวีซึ่งใช้บริการชาร์จไฟที่สถานีของ ออน-ไอออน จะมั่นใจได้ว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับเป็นพลังงานสะอาดที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการออกใบรับรองการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificates (RECs) และเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้ผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด จะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ อีกมากมาย และ ออน-ไอออน ยังมีบริการติดตั้งเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามที่พักอาศัยอีกด้วย

อีกบริษัทอย่าง สวอพ แอนด์ โก (Swap and Go) เป็นแพลตฟอร์มให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เปลี่ยนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอชาร์จไฟ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มไรเดอร์ในธุรกิจจัดส่งอาหารและสินค้าที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เองง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชันภายใน 3 นาที ตามจุดให้บริการครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน
เนื่องจากการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย การเปิดประสบการณ์ให้ผู้ขับขี่ได้ทดลองใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม อีวีมี (EVme) จึงช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ได้มาก โดยให้บริการเช่าใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบของการสมัครสมาชิก (Subscription) มีรถหลากหลายแบรนด์ให้เลือก ผู้ใช้งานเพียงเลือกรถ กดจอง ก็รอรับรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้งานได้ที่บ้าน

“อีวีมี เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนมีความรู้และสร้างประสบการณ์การใช้อีวีมากขึ้น เราปล่อยเช่ารถให้ผู้ที่สนใจอยากลองใช้ก่อนตัดสินใจซื้อจริง ทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไปและกลุ่ม B2B เราอยากให้ได้ทดลองใช้งานกัน โดยในแอปพลิเคชัน อีวีมี จะมีข้อมูลสถานีชาร์จไฟจากทุกค่าย ทุกแบรนด์ บริการอยู่ด้วย ผมว่าคุ้มครับ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของอีวีค่อนข้างถูก ต้นทุนการวิ่ง 1 กิโลเมตรประมาณ 50 สตางค์ถึง 1 บาทเท่านั้นเอง”

“ผมใช้อีวีมาปีกว่าแล้ว ส่วนตัวก็ชอบ ประหยัด ไม่ต้องไปเติมน้ำมัน เพราะว่าเรามีเครื่องชาร์จที่บ้าน เหมือนมีปั๊มน้ำมันที่บ้านเราเอง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ของคนใช้งานอีวีชอบเติมไฟที่บ้าน ถ้าขับแค่ในกรุงเทพฯ ชาร์จ 1 ครั้ง ขับได้เป็นอาทิตย์ อย่างรุ่นที่ผมใช้อยู่ ขับได้ระยะทางสูงสุด 400 กิโลเมตร เสียงเงียบมาก ไม่มีไอเสียออกมา เป็นเสน่ห์ของการใช้อีวีและทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นจริง ๆ ครับ”
อีกธุรกิจอย่าง นูออโว พลัส (NUOVO PLUS) บริษัทร่วมลงทุนระหว่าง อรุณ พลัส และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลังงาน เพื่อลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ รองรับทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการกักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้แนวคิดการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นี่เป็นตัวอย่างความตั้งใจที่ตอกย้ำความพร้อมด้านวิสัยทัศน์ เทคโนโลยี และพันธมิตรทางธุรกิจที่จะร่วมกันผลักดันระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทยต่อไป

เชื่อมต่อไม่สะดุดกับบริการชาร์จไฟในทุกจังหวะชีวิต
สถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของ อรุณ พลัส ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน เริ่มขยายตลาดทั้งลูกค้าองค์กรและบุคคล ด้วยเครื่อง AC Charger ที่รองรับการใช้งานรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ควบคุมการใช้งานได้สะดวกผ่าน on-ion Mobile Application ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ใช้งานง่าย สะดวก ปลอดภัย ไม่ยุ่งยาก
เราจะพบบริการของ ออน-ไอออน ได้ที่อาคารจอดรถ EnCo ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง รวมทั้งคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา เดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์ เดอะคริสตัล ชัยพฤกษ์ เพลินนารี่ มอลล์ วัชรพล และสัมมากรเพลส รามคำแหง และในพื้นที่เซ็นทรัล 37 สาขา กว่า 18 จังหวัดทั่วประเทศ

นับเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตาของ อรุณ พลัส ด้วยการร่วมมือกับผู้นำกลุ่มศูนย์การค้าชั้นนำของไทยอย่างเซ็นทรัลพัฒนา ในการขยายจุดบริการเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในเซ็นทรัล 37 สาขา กว่า 18 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประสบการณ์การชาร์จไฟนอกบ้านของลูกค้าง่าย สะดวก และไร้กังวล เป็นไปตามความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศไทยมีจำนวนสถานีและหัวชาร์จให้ได้มากที่สุด ก้าวสู่การบริการที่ครบวงจร ภายใต้การร่วมลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าให้ได้ 400 ช่องจอดในสิ้น พ.ศ. 2565 นี้
“เราได้เจรจากับทางเซ็นทรัลพัฒนามาสักพักแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และต้องขอบคุณทางเซ็นทรัลพัฒนาที่ไว้วางใจบริการ ออน-ไอออน ของ อรุณ พลัส โดยทางเราพร้อมสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีของยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาจะเตรียมสถานที่ที่มีศักยภาพเอาไว้ให้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้สังคมผู้ใช้อีวีเกิดขึ้น ต่อไปเมื่อคนขับไปห้างสรรพสินค้าในต่างจังหวัดหรือใช้บริการโรงแรมก็ชาร์จไฟได้อย่างสบายใจ จุดบริการแรกในห้างสรรพสินค้าของเซ็นทรัลพัฒนาคือศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เริ่มให้บริการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 นี้ และจะทยอยเปิดให้บริการครบทั้ง 37 สาขาช่วงต้น พ.ศ. 2566”
ถือเป็นบริการที่ไร้รอยต่อ ไร้กังวล โดยความร่วมมือของภาคธุรกิจที่ตั้งใจขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง

พัฒนาต่อเนื่อง เพื่อก้าวต่อไปของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม
คุณโทรณเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า อรุณ พลัส อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้เพื่อต่อยอดโอกาสที่จะขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปยังธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด สร้างระบบนิเวศที่ดีของผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง ออน-ไอออน มีแผนที่จะเปิดให้บริการแบบชาร์จเร็วหรือ DC Charger ในปีหน้า เพื่อต่อยอดจากการชาร์จปกติหรือ AC Charger ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สอดรับกับแผนการขยายธุรกิจ และรองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเข้มข้นมากขึ้นนับจากนี้
“สำหรับเครื่องชาร์จไฟ เราจะเน้นที่ความง่าย สะดวกสบายในการใช้งาน ต้องไม่ยุ่งยาก ปลอดภัย เน้นเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เราพยายามเอาเครื่องมือทางการตลาดเข้ามาเสริมให้คนใช้งานรู้สึกสนุกไปด้วย เรื่องที่ดีคือตอนนี้เราสนับสนุนให้คนไทยใช้พลังงานสะอาดด้วยการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งส่วนมากเป็นพลังงานจากแสงแดดที่ประเทศเรามีศักยภาพมาก ลูกค้าที่มาชาร์จไฟที่ ออน-ไอออน ทุกสถานีก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด โดยจะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากเรา และยังช่วยโลกอีกแรงครับ”
ผู้บริหารของ อรุณ พลัส มองว่าตลาดยานยนตไฟฟ้าของประเทศไทยยังมีขนาดเล็กและเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อเทียบกับตลาดขนาดใหญ่และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้างอย่างประเทศแถบยุโรป ซึ่งถือว่ามีโอกาสอีกมากที่จะเติบโตต่อไป ซึ่งเรามีข้อได้เปรียบเรื่องการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนมาหลายทศวรรษ การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบพัฒนาการของธุรกิจนี้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนด้วยกัน ถือว่าประเทศไทยก้าวมาได้ไกลกว่าเพื่อนบ้านพอสมควรแล้ว

Lesson Learned
- กลุ่ม ปตท. มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเรื่องการขยายตัวของพลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงเลือกจับมือกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากสิ่งที่ตนเองถนัด เพื่อสร้างสินค้าและบริการในราคาที่จับต้องได้สำหรับคนไทย
- การใช้พลังงานสะอาดของ ออน-ไอออน เป็นจุดขายที่น่าสนใจ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับ อรุณ พลัส และกลุ่ม ปตท. ช่วยทำให้คนเข้าใจและเข้าถึงพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมต่อไป
- การจับมือกันกับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มศูนย์การค้าของประเทศ จะยิ่งส่งเสริมการรับรู้ของแบรนด์ อรุณ พลัส และ ออน-ไอออน รวมทั้งตอกย้ำความจริงใจของเซ็นทรัลพัฒนาในการสนับสนุนลูกค้าเรื่องพลังงานสะอาด สร้างประสบการณ์ทางบวกให้กับผู้ใช้บริการในศูนย์การค้าได้ดี