12 กุมภาพันธ์ 2020
10 K

Artteller (ɑːt ˈteləʳ)

[N] a person who tells stories about art.

คำศัพท์ข้างบนไม่มีบนดิกชันนารี แต่เห็นครั้งแรกก็เข้าใจความหมายได้เลยโดยไม่ต้องพึ่งพจนานุกรมสำนักใด และยังเป็นชื่อของเพจศิลปะที่มีวิธีการเล่าเรื่องได้น่าสนใจมาก

Artteller เพจของนักศึกษาเภสัชฯ ที่อยากให้ศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจง่าย

เพจนี้แหละที่ทำให้เรารู้เรื่องเหตุการณ์การหายสาบสูญของโมนาลิซ่า ที่ทำให้กลายเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซภายในข้ามคืน

เพจนี้แหละที่ทำให้เรารู้จักช่างภาพเก่งๆ หลายคนผ่านผลงาน ความคิด และเรื่องราวของเขา

เพจนี้แหละที่ทำให้เรารู้ข่าวว่าภาพยนตร์สารคดีของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) นักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษ จะมาฉายที่กรุงเทพฯ โดยไม่ได้บอกแค่วันเวลาสถานที่ แต่เล่าถึงภูมิหลังชีวิตของศิลปิน

และเป็นเพจนี้อีกเช่นกันที่ทำให้เราได้อ่านบทสัมภาษณ์ บงจุนโฮ (Bong Jun Ho) ที่บรรจงแปลทันทีหลังจากประกาศรางวัลออสการ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

Artteller คือเพจเกี่ยวกับศิลปะที่อยากให้คนเข้าใกล้และเข้าใจศิลปะมากขึ้น เนื้อหาส่วนใหญ่เล่าถึงงานวาดและภาพถ่ายทั้งในไทยและต่างประเทศด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย พร้อมเล่าถึงบริบทอื่นๆ ที่ทำให้เกิดงานชิ้นนั้น เพื่อให้คนอ่านเข้าถึงมันได้ง่ายขึ้น 

เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ เจ้าของเพจ Artteller

ถ้าไม่ได้เจอกับ เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ ในวันนั้น เราคงยังคิดว่าเจ้าของ Artteller เป็นคนที่กำลังเรียนหรือทำงานในแวดวงศิลปะ คนที่คลุกคลีกับงานสร้างสรรค์หรือแม้กระทั่งเป็นศิลปินเองด้วยซ้ำ

เราคิดผิดถนัด…

เพราะผู้หญิงที่นั่งตรงหน้า คือนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ปี 5 ที่สะสมแต้มความรู้และความรักในศิลปะตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เธอสร้างเพจจากบันทึกในไดอารี่ที่ตั้งใจไว้อ่านคนเดียว เปลี่ยนบทสนทนาและข้อถกเถียงในชีวิตประจำวันให้เป็นโพสต์เกี่ยวกับศิลปะที่มีคนกดไลก์หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน

เธอยังไปเยี่ยมชมงานแสดงศิลปะมามากมาย เพื่อให้ได้เห็นผลงานที่เธอรักเพียงสักครั้ง และนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าต่อให้คนอื่นๆ ฟัง

“เรียนเภสัชฯ แล้วมาทำเพจศิลปะได้ยังไง”

“นั่นสิ แต่เราเชื่อว่าอะไรที่เราอินเราจะเล่าได้ดี”

เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ เจ้าของเพจ Artteller

Art Introduction

วัยเด็กของเตยแตกต่างจากวัยเด็กของคนอื่นอยู่สักหน่อย เธอเติบโตมาพร้อมความผูกพันกับงานศิลปะจากที่พ่อแม่พาไปชมงานศิลปะและหมั่นซื้อหนังสือรวบรวมภาพอยู่เสมอ เธอสะสมความชอบศิลปะในตัวเองมาเรื่อยๆ ความฝันในวัยเด็กของเตยมี 2 อย่าง ถ้าไม่เป็นนักเขียน ก็ฝันอยากทำงานในพิพิธภัณฑ์

นิสัยการรักเขียนรักอ่านของเธอเริ่มมาจากสมัยประถมหนึ่ง ครั้งแรกที่เธออ่านหนังสือได้ ซึ่งนับว่าช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน พอเริ่มอ่านได้ เธอก็อ่านมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเก็บความอยากนี้ไว้มานาน จากนิทานเด็ก เป็นวรรณกรรม จากวรรณกรรม เป็นประวัติศาสตร์ แล้วก็มาเจอกับประวัติศาสตร์ศิลป์จนได้

“ในตอนเด็กเราศึกษาแต่ภาพถ่าย ภาพวาด เราได้แต่เพียงเห็นแต่ยังไม่เข้าใจความหมายของภาพขนาดนั้น พอโตมา หอสมุดที่โรงเรียนมีหนังสือเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นพวกหนังสือศิลปะ เราจึงได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ศิลป์เยอะขึ้น ทำให้เข้าใจเรื่องศิลปะมากขึ้น 

“เมื่อย้อนกลับไปในสิ่งที่เราเข้าใจและสิ่งที่คิดมาตลอดเราก็รู้สึกท่วมท้นในใจ จึงเริ่มเขียนเกี่ยวกับงานศิลปะภาพถ่ายตอนเรียนมัธยม แต่ก็เป็นงานแบบเด็กๆ เขียนอ่านเล่นอยู่คนเดียว สนุกๆ

“สำหรับเรา การเขียนหนังสือเหมือนดูซีรีส์ เหมือนกระโดดหนังยาง เล่นเกม เพราะมันสนุกมากที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้”

เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ เจ้าของเพจ Artteller

Art Telling

“เราเขียนหนังสือเยอะมากและเก็บไว้เป็นแคตตาล็อก”

เตยมีสมุดโน๊ตหลายเล่มที่เขียนมาตั้งแต่วัยเด็ก รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะผ่านมุมมองของตัวเอง งานส่วนใหญ่เป็นภาพวาด ในขณะเดียวกันบทสนทนาในชีวิตของเธอกับแฟนก็ยังวนเวียนเกี่ยวข้องกับศิลปะ ด้วยความที่มีแฟนเป็นช่างภาพ หัวข้อที่คุยกันระหว่างวันจึงหนีไม่พ้นศิลปะภาพถ่าย เทคนิคการถ่ายภาพ และช่างภาพ

“วันหนึ่งแฟนถามว่าทำไมไม่ทำเพจ สิ่งที่เธอเขียนควรนำไปถ่ายทอดคนอื่นต่อไม่ใช่เก็บไว้คนเดียว ในช่วงแรกๆ ที่ทำเพจมันจึงเป็นเรื่องภาพถ่ายส่วนใหญ่เพราะเราคุยกันเรื่องนี้อยู่แล้ว หลังๆ มาเราจึงค่อยเลือกอะไรที่เป็นภาพวาดมากยิ่งขึ้น”

จุดประสงค์หลักของเพจ Artteller คือต้องการให้คนมองว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน กราฟิกดีไซเนอร์ นักบัญชี นักโบราณคดี สถาปนิก ทนาย หรือนักศึกษาเภสัชฯ เหมือนเตยเองก็ตาม

“มนุษย์มีภาษา แต่พอถึงจุดหนึ่งเราพบว่าภาษามันอธิบายไม่ได้ เช่น ความรู้สึกโกรธ เราโกรธเราจะใช้ภาษากายในการสื่อสารหรือเขียนออกมาว่าเราโกรธแค่ไหน แต่บางคนบอกว่าแค่นี้มันยังไม่พอที่จะอธิบายความโกรธ เขาจึงเอาความโกรธไปลงกับศิลปะ จากการใช้แปรงระบายสี ฉันโกรธภาพนั้นจึงกลายเป็นภาพแบบพอลล็อค (Jackson Pollock) สิ่งนี้คือภาษาใหม่ในการอธิบายสิ่งต่างๆ ที่รู้สึกอยู่ข้างใน ซึ่งบางครั้งอาจจะอธิบายยาก 

“มันยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่รู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจยาก เป็นเรื่องนามธรรม ซึ่งในมุมมองเรา ศิลปะทุกงานก็มีเหตุผล ทุกงานพูดถึงชีวิต พูดถึงวิธีการบางอย่างที่จะแสดงตัวเองออกมา สิ่งหนึ่งเลยที่จะทำให้คนกับศิลปะห่างกันได้ คือภาษา แต่อุปสรรคทางภาษาก็มีมากขึ้น บางทีเราไปพิพิธภัณฑ์เวลาอ่าน Artist Statement แล้วงง ซึ่งจริงๆ มันมีวิธีการเล่าให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย มันเลยต้องมีสื่อกลางที่จะทำให้คนมองศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจได้ สนุกกับมันได้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าเป็นของสูง และเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจวิธีการ วิธีคิดของมัน เราก็จะอินมันมากขึ้น”

เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ เจ้าของเพจ Artteller
เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ เจ้าของเพจ Artteller

Art Appreciation

ถ้าพูดถึงการเดินทางของศิลปะ ในศตวรรษที่ 18 ศิลปะคือความงามหยดย้อย ความสมบูรณ์แบบ ภาพวาดนางในฝันวีนัสกลายเป็นตัวแทนของศิลปะในยุคนั้น ถัดมาในศตวรรษที่ 19 คนเริ่มตั้งคำถามว่า ศิลปะจำเป็นต้องละเอียดละออ ไร้ที่ติอย่างนั้นเลยเหรอ จึงเข้าสู่ช่วง Impressionism กำเนิดโกลด มอแน (Claud Monet) เจ้าของภาพที่ไม่เน้นเรื่องความเหมือน แต่เน้นที่อารมณ์ความรู้สึก ศิลปะเดินทางมาเรื่อยๆ จนถึงยุคที่ชายชื่อ มาร์แซล ดูว์ช็อง(Marcel Duchamp) นำโถส้วมไปวางในพิพิธภัณฑ์แล้วบอกว่า นี่คือศิลปะเหมือนกัน

แม้แต่ตัวศิลปะเองยังมีคอนเซปต์และรูปแบบที่แตกต่างไปตามยุคสมัย จึงไม่แปลกที่มันควรเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจและดื่มด่ำได้ และยิ่งไม่แปลกเข้าไปใหญ่ที่เจ้าของเพจที่ตั้งขึ้นเพื่อลดช่องว่างตรงนั้นจะไม่ใช่นักเรียนศิลปะ แต่เป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่ตั้งใจจะเป็นเภสัชกรในอนาคต

“ศิลปะสำหรับเราเป็นอะไรก็ได้ที่พยายามอธิบายตัวเองออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รูปแบบของมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำคัญคือมันผ่านวิธีคิดมาหรือเปล่าว่าจะแสดงความเป็นตัวตนของศิลปินออกมาอย่างไร”

คอนเทนต์ของ Artteller จึงไม่ได้บอกแค่เทคนิคหรือคอนเซปต์ของงานศิลปะ แต่จะเล่าไปถึงภูมิหลัง แนวคิดของศิลปิน บทสัมภาษณ์เก่าๆ ไปจนถึงบริบทสังคมในยุคนั้นๆ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจผลงานชิ้นนั้นมากขึ้น

Artteller เพจของนักศึกษาเภสัชฯ ที่อยากให้ศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจง่าย

“โพสต์ที่ได้รับเสียงตอบรับดีมากๆ คืองานชื่อ Family In Print ของ แนนซี โบโรวิก (Nancy Borowick) เขาถ่ายภาพพ่อแม่ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แต่มันกลับไม่เศร้า มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตคือสิ่งที่ดี แฟนเราที่ทำงานอยู่ที่นิวยอร์กติดต่อเขาไปเพื่อขอสัมภาษณ์ แล้วเราเอาบทสัมภาษณ์มาเรียบเรียงใหม่เพื่อลงเพจ ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาคือมันทำให้คนอ่านนึกถึงพ่อแม่ ทำให้คิดถึงหลายๆ คน สิ่งนี้ทำให้เราได้รับรู้ถึงความรู้สึกของเขา และดีใจที่เราได้เผยแพร่สิ่งเหล่านี้ออกไป ทั้งในมุมของเราที่เป็นผู้ชม และมุมของช่างภาพเองที่สร้างผลงาน”

Art in the Future

“เราเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าวงการศิลปะจะไปต่อได้ไกล ต้องประกอบด้วยหลายส่วน เราต้องมีศิลปินที่สร้างงาน ผู้ซื้อ ผู้รวบรวม เราต้องมีคนที่มาช่วยสนับสนุน เราต้องมีคนมีนักวิจารณ์ศิลปะ หรือนักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักบอกเล่าทางศิลปะที่จะช่วยให้การสื่อสารศิลปะกว้างขึ้นและเข้าใจได้มากขึ้น เรากำลังทำในส่วนที่พยายามพูดคุยกับคนนอกวงการมากขึ้น และเราเชื่อว่ามันจะขับเคลื่อนวงการศิลปะให้เดินไปข้างหน้าได้ ถ้าเกิดว่าเราทำให้มันดี

“เรารู้สึกว่าเราอยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับศิลปะที่มันไม่ได้มีแค่สิ่งที่ทุกคนเห็นอยู่ทุกวัน เป็นการใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องใหม่ๆ ด้วยการใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้น อยากเห็นงานจากผู้เสพงานศิลปะมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราต้องการจริงๆ คืออยากสร้างกลุ่มที่คนที่รักงานศิลปะได้มานั่งคุยกัน มานั่งถกเถียง เรื่องความเชื่อ เรื่องความคิด เรื่องแนวคิด”

Artteller และเตยไม่ได้ต้องการให้คนเข้าใจศิลปะจากแค่รูปร่างสุดท้ายที่เราเห็น แต่เธออยากให้เราเข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการกดชัตเตอร์ของภาพบางภาพ การลงแปรงพู่กันของศิลปินบางคน อยากให้เราสัมผัสถึงความรู้สึกที่แฝงอยู่ในผลงานที่หลายครั้งเราอาจมองข้ามไป

“เพจนี้เป็นพื้นที่ที่เราได้เล่าเรื่องสิ่งที่เราสนใจในวันนี้ วันหนึ่งในอนาคตมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเรา โตไปตามเราที่เป็นคนทำ เราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตมันจะเป็นอะไรได้บ้าง แต่เราอยากให้มันเป็นเพื่อนกับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนแก่”

“เพราะแค่ทำเพจในทุกวันนี้ก็มีความสุขแล้วถูกไหม” เราถามเตย แม้จะเดาคำตอบในใจเธอจากการพูดคุยตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาได้อยู่แล้ว

“ใช่ เรามีความสุข เพราะเพจนี้เหมือนเป็นการเล่าให้เพื่อนฟังและก็ดีใจที่มีเพื่อนมากขึ้น ถ้าเพจสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้เราก็ดีใจแหละ แต่จะดีใจมากกว่าถ้าเขาได้ไปสนุกกันต่อ ได้เข้าใจสิ่งอื่นๆ มากขึ้นในทุกๆ วัน สิ่งนี้แหละที่สำคัญ เมื่อคุณเข้าใจสิ่งหนึ่งมากขึ้น คุณจะอยู่กับมันได้มากขึ้น ได้เปิดโลกใหม่ๆ มากขึ้น”

เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ เจ้าของเพจ Artteller

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

พิชญาภัค เจริญวัง

ชอบอ่านเรื่องความรัก ชอบคิดเรื่องเพ้อฝัน ชอบเขียนคำคมและบทกลอน วันว่างๆ ชอบวาดรูปธรรมชาติเก็บไว้เป็นไดอารี่ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ