“ความจริงเราตกเพนต์นะ เป็นข้อเสียอย่างหนึ่งที่ดันอยากมาทำสีเพนต์” 

วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี เจ้าของ Artistic แบรนด์สีเขียนรูปของคนไทยเฉลยความลับสวรรค์ด้วยเสียงหัวเราะ

เขาจั่วบทสนทนาเรียกความสนใจและความไม่มั่นใจให้เราในคราเดียว หลังจากได้นั่งลงฟังเรื่องราวและเดินดูรอบแล็บผลิตสีขนาดย่อมบริเวณบ้านของเขา ทำเอาเราตกตะลึงกับชายที่ขลุกอยู่กับสีกว่าสิบปี ทดลองทำสีเองตั้งแต่สูตรหมายเลข 1 จนปัจจุบันเขาสร้างสูตรสีของแบรนด์มากถึง 332 สูตร และมีแววว่าเขาจะไม่หยุดทดลอง

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ทำความรู้จัก Artistic กันสักนิดก่อนจะตะลุยโลกของสี เดิม Artistic เป็นแบรนด์ของฝากที่รังสรรค์ความงามผ่านลายเส้นของวิชชุ จน พ.ศ. 2554 เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ให้เจ้าของแบรนด์ต้องหันหน้ามาหาสี ทำแบรนด์สีเขียนรูปที่ผลิตด้วยมือทุกขั้นตอน มีให้เลือกระบายทั้งสีอะคริลิก สีมัสก์ สีน้ำมัน สีโลหะ และสีน้ำ ความพิเศษอยู่ตรงสีน้ำเฉดไทยโทนกว่า 50 สีที่เขา Collaborate กับ ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี นักวิจัยสีไทยโทน จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ความมุ่งมั่นในการทำสีไทยโทนของเขา ก็เพื่อลดขั้นตอนการผสมสีของช่างเขียนภาพจิตรกรรมไทยที่ต้องผสมให้เหมือนสีโบราณ และเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับคนใช้สีทุกเพศทุกวัย มากไปกว่านั้น อดีตนักเรียนศิลปะคนนี้ยังเข้าใจหัวอกนักเรียน-นักศึกษาหัวใจศิลป์ ที่ต้องควักเงินอุดหนุนสีจากเมืองนอกราคาไม่สบายกระเป๋า ด้วยการผลิตสีราคาประหยัด ทว่าคุณภาพเต็มหลอด เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้สีระดับวัยเยาว์ เขาใส่ใจทุกส่วนจริงๆ

ยังมีเรื่องราวสารพัดสีที่เราแต้มลงบนผืนผ้าใบสีขาว รอคุณมาเสพงานศิลป์ของชายหนุ่มคนทำสี ไม่ว่าจะสีเฉพาะบุคคลที่สั่ง Custom เป็นของตัวเอง การทำการตลาดแบบซื้อใจและขายสีราคาเดิมตลอด 10 ปีไม่เคยลดราคา

ถ้าพร้อมแล้ว สวมผ้ากันเปื้อนและหมวกเบเรต์อย่างศิลปินดัง หยิบพู่กันและวาดเรื่องราวไปพร้อมกัน

สีลปิน

“ตอนเรียนศิลปะ เราเกิดคำถามขึ้นกับตัวเอง จบแล้วจะทำอะไร อย่างศิลปินเขาชัดเจนว่าทำงานศิลปะ ส่วนตัวเรามองว่ามันยังมีอาชีพอะไรอีกบ้าง อาจารย์ ศิลปินอิสระ บางทีเรารู้สึกว่ายังไม่พอ ตัวเราก็ไม่ได้เก่งขนาดที่จะเลี้ยงตัวเองด้วยงานศิลปะ ตอนเรียนก็คิดว่าเรามาถูกทางแล้วหรือเปล่า” วิชชุเล่าความสงสัยอย่างอารมณ์ดี

เขาหาคำตอบของคำถามเจอตอนลงเรียนปริญญาโท วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุมการมอง ‘ศิลปะ’ ของเขาเปลี่ยนไป ศิลปะน่าจะกลายเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ เข้าทาง ศิลป์อยู่ในตัวและหัวใจของเขาอยู่แล้ว 

ก่อนจะเจอะหนทางที่ใช่ ระหว่างทางเขาแวะทำงานที่ชอบ ‘ศิลปะไทย’ 

วิชชุเปิด Artistic ร้านขายภาพเขียนและภาพพิมพ์ลวดลายไทยด้วยฝีไม้ลายเส้นของเขาบริเวณย่านสวนลุม ลูกค้ากลุ่มหลักเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากได้สินค้าแสดงความเป็นไทยกลับบ้านไว้เป็นของขวัญ-ของฝาก

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

จนกระทั่งเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่มาเยือน ปี 54 เขาต้องนั่งแกร่วเพราะกิจการซบเซาจากผลพวงของภัยธรรมชาติ หันมองทางไหน (ในร้าน) ก็เจอแต่สี ทางนั้นก็สี ทางนู้นก็สี เหตุที่มีมากเพราะเขาต้องสร้างงานศิลป์ ประจวบเหมาะกับความอินสมัยเรียนปริญญาโท วิชชุเลือกทำธุรกิจที่อยู่รอดได้โดยที่ยังเป็นตัวเอง เขาปิ๊งไอเดียจากการนั่งมองสี เอาเลย! ถ้าอย่างนั้นทำสีขาย คิดปุ๊บเขาทำปั๊บอย่างไม่รีรอ เขาว่าตรงนี้เป็นข้อดีของการทำธุรกิจ

แบรนด์ Artistic เปลี่ยนจากงานคราฟต์ไทยสำหรับซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน มาเป็นแบรนด์สีเขียนรูปที่ผลิตด้วยมือตั้งแต่ขั้นตอนแรกยันขั้นตอนสุดท้าย ใช่! เขาผสมสีเองทั้งหมด แต่นั่นยังไม่ทึ่งเท่าสิ่งที่เขากำลังทำต่อจากนี้

จากสีหมายเลข 1 ถึงสีหมายเลข 332

ถ้าคุณสงสัยว่าความน่าทึ่งของชายสร้างสีคนนี้คืออะไรกันแน่ เราเฉลยให้ว่า เขาทดลองทำสีด้วยตัวเอง คนตรงหน้าเดินสาละวนตรงเชลฟ์วางสี เขาชี้ชวนและหยิบสีทดลองออกมาให้เราดู พร้อมเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า

“เราทดลองด้วยความรู้เท่ากับศูนย์ ไม่รู้ล่ะเราอยากทำสี ก็เอาสี TOA ผสมกับกาวลาเท็กซ์”

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ยังไม่น่าทึ่งหรอกเหรอ ถ้าอย่างนั้นขอลองอีกสักที

ปีแรก วิชชุทดลองทำสีหมายเลข 1 จากความอยากรู้อยากลอง ด้วยการจับต้นชนปลายว่าคงผสมแค่สีกับกาว จนเริ่มเรียนรู้ด้วยตนเองว่าส่วนประกอบไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ต้องมีกาวยึดเกาะตามประเภทสี มีพิกเมนต์ มีสารกันเชื้อรา บางคืนคึกมาก แพสชันทำให้เขาตื่นกลางดึกมาผสมสี เพิ่มสีดำ หยดสีขาว เข้มบ้าง อ่อนบ้าง จนกว่าจะพึงใจ

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

“อันนี้ทำปี 55 เบอร์สิบสาม เบอร์สิบสี่ ทำแล้วต้องวางทิ้งไว้ ตัวนั้นสูตรที่ห้าสิบสาม สีไม่แข็งตัว ยังใช้ได้

“มันมีสูตรนะ เราต้องจดเอาไว้” วิชชุกางสมุดเล่มใหญ่ที่มีรอยแต้มสีและสัดส่วนการผสมสีอยู่ด้านข้าง เขาต้องเป็นคนแบบไหนกันนะถึงคราฟต์ได้ใจขนาดนี้ “ทำสักพักเราเริ่มค้นคว้ามากขึ้น พออยากจริงจังเราก็เริ่มปรึกษาพี่ชายของแฟนที่เขาทำเกี่ยวกับสีทาอาคาร เหมือนทำกาแฟนะ ต้องมีกาแฟ มีครีม มีน้ำตาล สัดส่วนเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับเรา

“ข้อดีอย่างหนึ่งคือเราอยู่ในวงการศิลปะ มีกลุ่มเพื่อนที่เริ่มกลายเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ เราก็ส่งสีของเราไปให้เขาใช้ เขาก็จะช่วยคอมเมนต์กลับมาว่าสีเราดีหรือไม่ดี ถ้าเกิดมันดี เพื่อนก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์เรา”

วิชชุบอกว่า เขาแบ่งข้อติชมออกเป็น 2 หมวดใหญ่ หนึ่ง คำติเกี่ยวกับคุณภาพ เช่น เนื้อสีเหลว เนื้อสีข้น ความสดของสี บางทีเขาเพิ่ม-ลดสูตรสีให้เหมือนสีต้นแบบ บางทีทดลองแล้ววางทิ้งไว้เพียง 5 เดือน สีแข็งใช้งานไม่ได้ ก็ต้องปรับสูตรจูนหากันยกใหญ่ สอง คำติจากความรู้สึก เช่น ส่งสีเขียวให้ทดลองใช้ ถูกแจ้งกลับว่าเขียวต้องเข้มอีกหน่อย ซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนตัวและสายตาคนเรามองเห็นสีไม่เท่ากัน เขาจึงให้ความสำคัญกับคำติชมประเภทที่หนึ่งมากกว่า 

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ตลอดการทดลอง เขาไม่ได้ทดลองเฉพาะสีอะคริลิกเพียงอย่างเดียว ลามไปถึงสีมัสก์ สีน้ำมัน สีมุก และสีน้ำ แถมสีเฉพาะทางสำหรับงานศิลปะประเภทเทราด เขาก็ทำ ทำสีอะคริลิกให้มีเท็กเจอร์แบบสีน้ำมัน เขาก็ทำ สีพิเศษเฉพาะบุคคล เขาก็ทำ วิชชุบอกไม่เคยหยุดทดลอง มันเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเหยียบเบรก เขาทำ ทำ และทำ

การทดลองตลอดระยะเวลา 10 ปี ทำให้วิชชุสร้างสูตรสีเฉพาะของแบรนด์ได้มากถึง 332 สี 

และ Artistic เป็นแบรนด์เดียวที่มีเฉดสีไทยโทนให้เลือกใช้กว่า 50 สี และอนาคตจะครบ 144 สี

เท่านี้ก็ทึ่ง! จนอยากเหมาทุกสีกลับบ้านมานอนกอดแล้ว

สีไทยพหุรงค์ – สีไทยโทน

ถ้าคุณเป็นคนทำงานศิลปะและมีแบรนด์สีในดวงใจ อะไรเป็นเหตุผลให้คุณแบ่งห้องหัวใจให้แบรนด์สีใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก เขียนคำตอบในใจ ข้อนี้ไม่มีคะแนน 10 คะแนน แต่อยากให้เผื่อพื้นที่ให้แบรนด์สีเขียนรูปแบรนด์นี้สักนิด

“เราเป็นสีใหม่ คนไม่มั่นใจ ซึ่งมันก็เป็นโจทย์ยากที่สุด เราถามตัวเองว่าทำไมคนจะต้องซื้อสีของเรา ทั้งที่เขามียี่ห้อประจำอยู่แล้ว คำตอบของเราคือ ต้องแตกต่างและเราเปลี่ยนให้เขามั่นใจได้ด้วยการสร้างคาแรกเตอร์สี

“เราไม่อยากเป็นแค่คนซื้อสีมาแล้วก็ขาย เราต้องการเป็นตัวจริงให้เขารู้ว่าเราเชี่ยวชาญในเรื่องนี้”

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

วิชชุพา Artistic กระโดดข้ามหลอดสีธรรมดามุ่งสู่จักรวาลสีไทยสมัยโบราณ แน่นอนเขาเป็นเจ้าแรก หลังจากทดลองทำสีอยู่พักใหญ่จนสูตรสีเข้ามือ ก็ขยับขยายเข้ามาทำสีโทนไทย มีชื่อเล่นน่ารักอย่างไทยว่า ‘สีไทยพหุรงค์’ เป็นสีไทยที่ออกมาแก้ปัญหาและลดระยะเวลาการผสมสีให้เหมือนสีดั้งเดิม เพราะสีไทยมักใช้ในงานจิตรกรรมฝาผนัง ช่างเขียนไทยจะต้องผสมสีเองจนกว่าจะเหมือนสีต้นแบบ อย่างชาด เขียวตั้งแช คราม ฯลฯ คงดีมากถ้าจะมีสีสำเร็จออกมาขาย

“ตอนแรกสุดเราปรึกษาเรื่องเฉดสีจาก Thai Tone ยังไม่ได้เอาชื่อมาใช้ ถ้าเราช้า เกิดคนอื่นทำก่อน มันจะไม่ทัน เลยออกสีอะคริลิกเฉดไทยมาก่อน โดยใช้ชื่อสีไทยพหุรงค์ พอทำสักพักก็คุยกับอาจารย์ไพโรจน์ พิทยเมธี เขาก็อนุญาตให้เอาชื่อไทยโทนมาใช้ได้ กลายเป็นพันธมิตรที่แบ่งปันความรู้ด้วยกัน ตอนหลังเราออกสินค้าใหม่เป็นสีน้ำไทยโทน”

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมระบบสีไทยโบราณ เป็นผู้ให้คำปรึกษาวิชชุเรื่องการทำสีไทยโทน ซึ่งช่างศิลป์ยุคเก่าจะสร้างสีจากการบดแร่ อย่างเขียวตั้งแช ขูดจากสนิมสีเขียว เหลืองรง จากยางต้นรง ส่วนสูตรสีไทยของ Artistic เกิดจากการผสมสีมากถึง 6 สี บ้างก็ 3 สี 5 สี สัดส่วนต่างกัน วิชชุเสริมว่า เสน่ห์ของสีไทยโบราณจะไม่ใช่สีที่ผสมจากแม่สีจ๋า แต่เป็นการผสมระหว่างสีที่ผ่านการดร็อปมาแล้ว

“เราเป็นสีสมัยใหม่ ที่มีคาแรกเตอร์แบบโบราณ” เขายิ้ม

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

“ถ้าอีกร้อยปีเราอาจจะเป็นงานโบราณก็ได้นะ เราก็ร่วมสมัย ณ ปัจจุบัน เลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุดในยุคนี้ ซึ่งสมัยร้อยปีก่อนเขาก็เลือกสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นเช่นกัน ตัวตนของแบรนด์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราโบราณขนาดไหน มันเป็นเพียงสไตล์ที่เราหยิบมา สิ่งสำคัญสำหรับเราคือคุณภาพ ถ้าทำ จะต้องดีที่สุด” คำยืนยันว่าเขาอยากเป็นตัวจริง

การเกิดขึ้นของสีไทย ทำให้ Artistic เป็นที่รู้จักและสีของแบรนด์ยังถูกเลือกให้ตกแต่งประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ในงานพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นผลพวงที่ดีที่ศิลปินได้รู้จักและทดลองใช้สีไทยพหุรงค์ของเขา แถมคาแรกเตอร์สีก็ชัดอย่างโบราณ เนื้อด้านเหมือนสีฝุ่นแต่เป็นเนื้อสีอะคริลิกแบบเช็ดล้างได้

สีทำได้

ระหว่างสนทนา วิชชุชวนเราเข้าห้องแล็บขนาดย่อม เขาจะแสดงฝีมือการทำสีให้เราชม ด้านหลังเคาน์เตอร์เต็มไปด้วยหยดสีนับร้อย ที่สะดุดตาคงเป็นเสาปูนป้ายสีเต็มเสาอย่างกับ Pantone ที่เขาทาเพื่อทดสอบความคงทนของสี

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

“สีที่ดีต้องยึดเกาะได้ดีและไม่ซีดจาง” ชายหนุ่มในเครื่องแบบเตรียมพร้อมผสมสีพูดพลางหยิบกระปุกส่วนผสมขึ้นมาวางบนโต๊ะตัวยาว ตามวิชชุว่า หัวใจของการทำสีขึ้นอยู่กับตัวกาวยึดเกาะ ถ้าคุณภาพกาวดี สีก็จะดีตามไปด้วย ซึ่งสีอะคริลิกจะมีกาวยึดเกาะสำหรับสีอะคริลิกโดยเฉพาะ สีน้ำมัน สีน้ำ สีมัสก์ ก็หลักการเช่นเดียวกัน ส่วนพิกเมนต์สีเขานำเข้าจากหลายประเทศ ถ้าอยากเพิ่มลูกเล่นแวววาวตระการตา ก็มีผงมุกสำหรับเพิ่มความระยิบระยับให้สารพัดสี

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ส่วนวิธีการทำไม่ยากเหมือนที่เรานอนฝันมาจากบ้าน มีกระแป๋งเหล็กหนึ่งใบ กาว และพิกเมนต์สี เริ่มจากเติมกาวยึดเกาะตามประเภทสีที่จะใช้งาน หยดพิกเมนต์สีตามสัดส่วนสีที่ต้องการ (จากผงเขาทำให้กลายเป็นน้ำ ลดความฟุ้งกระจาย) เปิดเครื่องมิกซ์สี แล้วปั่น ปั่น ปั่น ปั่นไม่นานจนเนื้อสีเนียนละเอียด เป็นอันเสร็จพร้อมส่งถึงมือลูกค้า

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี
Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

นอกจากผสมสีเองแล้ว เขายังบรรจุสีลงบรรจุภัณฑ์ที่สั่งทำขึ้นมาเฉพาะของแบรนด์ อย่างสีน้ำเขาก็ใช้ระบบอัตโนมือ กรอกสีน้ำไทยโทนลงหลอดสีเงิน หนีบก้นหลอดกันไม่ให้สีเล็ดลอดออกมาด้วยเครื่องขนาดกะทัดรัด รวมสีจนครบจำนวนแล้วบรรจุลงกล่องกระดาษสีน้ำตาล พร้อมส่งให้คนทางบ้านที่ออเดอร์มาไม่ขาดสายจากช่องทางออนไลน์

“มีพนักงานช่วยทั้งหมดกี่คนคะ” เราถามด้วยความสงสัย

“มีทั้งหมดสี่คน เราพยายามลดขั้นตอน เพราะมีความคิดว่าธุรกิจไม่จำเป็นต้องใหญ่ อยากใช้คนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะงานค่อนข้างง่าย เราผสมสีกันเอง แพ็กกันเอง เป็นงานแบบเมดทูออเดอร์เสียส่วนใหญ่”

“แล้วมั่นใจได้ยังไงว่าสีที่ทำเป็นเฉดที่ถูกต้อง” เราถามด้วยความส (อ) งสัย

“หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรก็ได้ให้สีออกมาใกล้เคียงสีต้นแบบมากที่สุด อย่างสีไทยโทน อาจารย์ไพโรจน์เขาจะมีชาร์ตสีอยู่แล้ว เราก็ผสมสีแล้วเอามาเทียบกับชาร์ต บางทีอาจารย์ก็แต้มสีโบราณมาให้เราเลย” นักผสมสีเล่า

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ความยากที่สุดของการทำสีไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพ แต่ต้องทำสีให้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ได้นานที่สุดด้วย

“เราแก้ข้อจำกัดของอายุสีด้วยการไม่สต๊อก เราทำธุรกิจขนาดเล็ก มันคล่องตัวอยู่แล้ว ทำทีหนึ่งลิตร ห้าลิตร และเราจะไม่ทำสีสำเร็จครั้งเดียวแล้วขายตลอดปี ลูกค้าสั่งเราถึงจะผสม เพราะเราอยากให้ลูกค้าใช้ของที่ใหม่ที่สุด

“บางทีเราก็เช็กกับหน้าร้านว่าสีที่เอาไปวางขายมันนานแค่ไหน ถ้านานมากเราก็ขอเปลี่ยนเอาล็อตนั้นกลับมา เราจะบอกให้หน้าร้านสั่งแค่พอขาย เดี๋ยวนี้ขนส่งง่ายแล้ว สั่งตอนเช้า ตอนบ่ายได้รับของ เน้นสั่งบ่อยดีกว่า” 

สีเทรนด์

สำหรับคนทำสี เขามองว่าสีไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นประเภทสีและรูปแบบการใช้งาน

“เรามองเทรนด์ภาพรวมมากกว่า ถ้าย้อนสักสามปีก่อน งานศิลปะไทยแบบอาจารย์เฉลิมชัยได้รับความนิยม อย่างช่วงนี้เป็นเทรนด์สีน้ำ คนอยู่บ้านเยอะก็สั่งมาใช้เองที่บ้าน ทำเป็นงานอดิเรกบ้าง การสอนพิเศษสีน้ำก็เริ่มเป็นเทรนด์ขึ้นมา คนทั่วไปก็ให้ความสนใจสีน้ำมากขึ้นนะ เราเห็นตามทวิตเตอร์และอินสตาแกรม พอยิ่งเป็นสีไทยโทนคนก็ชอบ

“กลุ่มศิลปินจะใช้สีอะคริลิก ถ้าสีเฉดไทยมีกลุ่มจิตรกรรมไทย ช่างสิบหมู่ คนเขียนโบสถ์ กลุ่มเด็กเพาะช่าง กลุ่มเด็กศิลปากร จะว่าไปของเราก็ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม คนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจ” เขายิ้ม พร้อมเสริมว่า“เราอาศัยช่องทางที่คนยังไม่เข้าใจ ไม่ต้องสต๊อกของเยอะ มีออร์เดอร์สั่งเราถึงทำ สั่งปริมาณน้อยก็ทำ”

นี่แหละเป็นข้อดีของการทำกิจการขนาดเล็กที่รู้จักลูกค้าของตัวเอง วิชชุเปรยด้วยเสียงสนุกว่า อนาคตเขาจะลองจับสีทาเฟอร์นิเจอร์ แค่คิดตามหัวใจก็เต้นรัว ฝันรอแล้วว่าจะทาบ้านสีขาบตัดด้วยขาวผ่อง ส่วนเก้าอี้ ประตู แจกัน ยกให้สีควายเผือก ฟ้าแลบ และดินแดง

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

ความสนุกอีกหนึ่งอย่างของคนทำสีและคนใช้สี คือการสั่งผลิตสีแบบ Custom เอง ใช่! คุณจะมีสูตรสีเป็นของตัวเอง ชื่อสีก็เป็นของคุณเอง เฉดสีเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ถ้าชอบสีแดงแต่ขอเข้มกว่านี้อีกนิด เข้มแล้วอยากได้ความวิบวับขอเติมมุกสีทองด้วย วิชชุจัดให้คุณได้เสมอ ความพิเศษทำให้ Artisric ไม่เหมือนธุรกิจสีเขียนรูปที่ไหนในประเทศไทย

“เรามีคาแรกเตอร์สีเฉพาะตัว มันเป็นความงามที่เราสร้างให้ลูกค้าได้” 

เจ้าคาแรกเตอร์ที่เขาบอกไม่ใช่แค่สีสัน แต่หมายรวมถึงประเภทของสีด้วย เขาเล่าโจทย์การผลิตสีสุดท้าทายจากปากลูกค้าให้เราฟังหลายข้อ เช่นลูกค้าอยากได้สีแห้งช้า (มาก) ช้าเหมือนสีน้ำมัน แต่ขอเป็นสีอะคริลิกนะ

บางคนแพ้สีน้ำมัน เขาเลยทำสีมัสก์มาแทน คาแรกเตอร์ความหนาและเห็นทีแปรงตอนเขียนเหมือนสีน้ำมัน แต่เป็นอะคริลิกที่มีส่วนผสมของน้ำ แม้กระทั่งสีโลหะ ทอง สนิม มุก ที่ปกติจะเห็นแค่เฉดทอง เงิน ทองแดง แต่วิชชุมีให้เลือกกว่า 50 เฉด มุกชมพูนีออน มุกสะท้อนแสงเขียวปรี๊ด ส้มพีชแวววิบวับสำหรับสายหวาน บอกเลยว่าถูกใจคนรักสีเข้าอย่างจัง

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

“ปกติสีตามร้านทั่วไปจะเป็นเฉดสีพื้นฐาน ยังไม่มีใครทำสีเฉพาะทาง อะไรที่ตลาดไม่มีเราอยากทำ เรารู้สึกว่าต้องแตกต่าง นั่นเป็นช่องทางที่เรามองเห็น อีกอย่างมันตอบโจทย์คนใช้สีด้วย ประจวบกับเรามีพื้นฐานทำสีเองตั้งแต่ต้น เรารู้ว่าข้อบกพร่องมีอะไรบ้าง ทีนี้มันไม่ยากแล้ว เราแค่ปรับสูตรนิดหน่อย มันเลยชัดว่าเรามาถูกทางแล้ว” 

เอาไปเลย สีเราเอาไปได้เลย

“การทำธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยโซเชียลมีเดีย มันง่ายและถึงกลุ่มเป้าหมาย แทบไม่ต้องลงโฆษณาเลย พอมีคนรู้ว่าเราทำสีขาย ก็มีคนรู้จัก ศิลปินและคนที่สนใจแอดเฟซบุ๊กมา เวลาเขาใช้สีเราก็จะแท็กมาให้ มันช่วยได้เยอะเหมือนกัน”

Artistic ทำการตลาดแบบซื้อความประทับใจแรกใช้ ถ้าอยากลอง ขอเพียงกระซิบบอก เขาส่งให้ถึงบ้าน

“การตลาดของเราคือการส่งให้ใช้ บางทีเราก็แถมไปกับสีน้ำที่เขาออร์เดอร์มา ที่สำคัญ ต้องใส่ใจลูกค้าด้วย ตอบคำถามลูกค้าต้องห้ามใส่อารมณ์” เขาอธิบายพลางหัวเราะ “บางทีเจอสีไม่ถูกใจ คนใช้เขาเซนซิทีฟนะ มีความผูกพันมาตั้งแต่เด็ก พอได้ลองใช้สีใหม่ที่ไม่ดีก็จะยิ่งรู้สึกไม่ดี” คงเหมือนอกหักครั้งแรก “ใช่ แต่ถ้าเขาชอบมันก็ดีเลยนะ”

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

วิชชุเล่าว่า มีคนหลังไมค์มาถามข้อมูลสีน้ำ เนื้อสีเป็นยังไง เกรดแบบไหน เขาไม่เพียงตอบคำถามแต่ส่งตัวอย่างสีให้ทดลองใช้ เจ้าของแบรนด์ว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการที่เขาได้ลองเทสต์ด้วยตัวเอง ดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ ลูกค้าเป็นคนตัดสิน

แม้แต่สีที่เก็บไว้นาน (ส่งขายร้านไม่ได้) สภาพยังใช้งานได้ เขาก็แจกศิลปินอิสระตามตลาดนัด มีหนหนึ่งเขาสนับสนุนสีไทยให้กับเทศกาลเขียนตาลปัตร สนุกมาก! บางครั้งก็บาร์เทอร์เป็นสิ่งของแทนจำนวนเงิน เป็นสปอนเซอร์สีให้เด็กตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่นักธุรกิจมือเปื้อนสีคนนี้ไม่ยอมทำอย่างแน่นอน คือการ ‘ลดราคา’

“ถ้าขายตัดราคาหน้าร้าน เขาจะขายไม่ได้ มันเป็นการตลาดที่อยู่ได้ไม่นาน เราควรมีคุณธรรม ไม่อย่างนั้นระบบจะเสีย เราพยายามพยุงให้ร้านเขาอยู่ได้ แม้กระทั่งเวลาร้านจัดโปรโมชันพิเศษ เราก็สนับสนุนให้ลูกค้าไปซื้อหน้าร้านมากกว่า บางทีลูกค้าถามว่าซื้อออนไลน์ไม่ถูกกว่าเหรอ เราบอกขายเท่ากัน บางทีหน้าร้านมีของแถมมากกว่าอีก 

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

“การทำธุรกิจมันดีอยู่อย่าง เราไม่สู้ด้วยราคา หมายถึงเราไม่ยอมลดราคา แต่เราสู้ด้วยคุณภาพ ราคาอาจจะสูงจนทำให้แบรนด์เราโตช้ากว่าคนอื่นสักหน่อยในตอนแรก แต่พอคนใช้แล้วเห็นผลว่าสีเราดี เขาจะกลับมาเอง”

นอกจากจะส่งสีให้ทดลองใช้ก่อนเสียเงินจริง หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมลดราคา เขายังใส่ใจผู้ใช้งานที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา ผู้ที่จะเติบโตและบอกกล่าวความดีงามของ Artistic ในอนาคต ด้วยประสบการณ์เด็กศิลป์ที่ต้องออมเงินซื้อสีคุณภาพดีราคาแพง เขาเข้าใจจุดนั้นดี จึงทำสีราคาประหยัด หลอดสีย่อมลงมาหน่อย แต่คุณภาพสีดีทะลุหลอด 

“สีเรามีข้อเสียอยู่อย่าง ดันใช้ได้นาน” วิชชุพูดอย่างคนอารมณ์ดี 

กระซิบว่าใช้สี Artistic หมดทีละหลอด จะได้คุณภาพของสีครบถ้วนมากกว่าปล่อยสีไว้นานแล้วซื้อใหม่ เจ้าของแบรนด์แซวเล่นว่า ไม่ต้องซื้อตุน ซื้อขนาดพอใช้จะดีที่สุด เพราะถึงอย่างไรก็ขายราคาเดิม ไม่ขึ้นราคาอยู่แล้ว 

พ่อสี

“สำหรับเรา เฉดสีคือความท้าทาย ยิ่งทำแล้วตอบโจทย์ลูกค้าได้มันยิ่งท้าทาย มีบางคนคอนเมนต์มาว่าถ้าสีมันมีกลิ่นด้วยคงจะดีนะ เท่านี้เราก็เริ่มสนุกแล้ว ตอนนี้ผ่านมาสิบปีคนเชื่อถือเรามากขึ้น เวลาออกสีใหม่คนก็รอ” เขาเล่าด้วยแววตาระยิบระยับ ก่อนจะเสริมเส้นทางสีของ Artistic ว่า “เรากำลังมองภาพไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงค์โปร์มีวิชาศิลปะไทย อาจารย์สอนเป็นลูกครึ่งไทยก็ซื้อสีเรากลับไป เขาอยากให้เราไปขายที่นู่นด้วยซ้ำ” 

วิชชุบอกว่า ผลตอบรับจากการเอาผลิตภัณฑ์สีไปวางขายที่ CWArt ร้านขายอุปกรณ์ศิลปะในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็ดีเกินคาด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ซื้อกลับบ้านกันเยอะ โดยเฉพาะสีน้ำไทยโทน

Artistic แบรนด์สีของคนได้ F วิชาเพนต์ ที่สร้างสีเอง 332 สีและทำสีน้ำไทยโทนเจ้าแรกของไทย, วิชชุ เสริมสวัสดิ์ศรี

“อะไรเป็นเหตุผลให้คนใกล้และคนไกลต่างหอบสี Artistic กลับบ้าน” เราถาม

“เรายืนยันคำเดิมว่าความแตกต่างของเราคือเฉดสี นั่นเป็นสิ่งที่ลูกค้ากำลังมองหา” เขาตอบ

ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกสีหมู่ไทยโทนว่า ความต่างของ Artistic ไม่ได้มีเพียงแค่เฉดสี แต่ลูกบ้าของวิชชุที่มีต่อสีและความตั้งใจส่งต่อสีดีให้ถึงมือคนใช้สี มันเปล่งประกายผ่านดวงตาและทุกถ้อยคำที่เขาพูดออกมา เราเชื่อว่า Artictic จะเป็นแบรนด์ไทยที่ทำให้คนใช้สีทั่วประเทศวางใจ และเข้าไปนั่งอยู่ในหนึ่งห้องดวงใจของคุณ


Lesson Learned 

หนึ่ง

“อยากทำอะไรทำเลย ไม่ต้องคิดว่าเราทำไม่ได้ ทำไปก่อนแล้วค่อยมาตบมันอีกที ถ้าไม่ลองทำก็เท่ากับศูนย์”

สอง

“การทดลองทำให้เรามีความรู้มากขึ้น บางทีข้อเสียจากตรงนั้นกลับกลายเป็นได้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ขึ้นมา”

สาม

“หาคาแรกเตอร์ตัวเองให้เจอและทำในสิ่งที่ตลาดยังไม่มี”

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ