“คุณได้ตามข่าวความเคลื่อนไหวของเยาวชนบ้างไหมครับ”

ชายในลิฟต์พยักหน้า

“คุณคิดยังไง”

อาร์ทตี้-ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ ทักทายเพื่อนบ้านชาวเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

เขาคือนักข่าวจาก Bangkok Post ที่ทำหน้าที่ไลฟ์สดเพื่อรายงานการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ผ่านมา ด้วยวิธีการรายงานข่าวที่มีเอกลักษณ์ ทำให้อาร์ทตี้เป็นที่กล่าวถึงบนโลกออนไลน์ เขากลายเป็นมีมบนอินเทอร์เน็ต 

หลายคนพูดถึงการรายงานข่าวของเขา บ้างก็ชื่นชม บ้างก็ไม่

อาร์ทตี้เรียนจบสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการทำงานมาหลายอาชีพ ตั้งแต่บริษัทประกันจนถึงบริษัทโฆษณา เคยถูกตัดชื่อออกจากนักการทูตและการประกวด True Academy Fantasia 2 ครั้ง ถูกยกเลิกจากการเป็นพิธีกร Forbes ก่อนเริ่มงาน 3 วัน จนสุดท้ายจับพลัดจับผลูได้ทำอาชีพนักข่าว

เขาเริ่มทำงานข่าวอย่างคนมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ และเรียนรู้ด้านสื่อสารมวลชนผ่านประสบการณ์ จนวันนี้ อาร์ทตี้เป็นนักข่าวที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่ง วัดจากยอดผู้ติดตาม ณ ตอนที่เขียนบทสัมภาษณ์นี้ที่ขึ้นถึง 340,000 คนในเวลาไม่กี่วัน 

และนี่คือเรื่องราวของนักข่าวคนนี้

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

สรุปตอนนี้ยังทำงานอยู่ Bangkok Post หรือเปล่า

ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ เราบอกหัวหน้าว่าจะลาออก ไม่อยู่แล้ว หัวหน้าเลยบอกว่าพักก่อน ไปพักก่อน คิดดีๆ ก่อน เพราะการตัดสินใจตอนฉุนเฉียวไม่ค่อยดีเท่าไหร่

สัปดาห์ที่ผ่านมามีคนมากมายชื่นชมการทำข่าวของคุณ เกิดอะไรขึ้น

เมื่อวาน (18 ตุลาคม 2563) โมโห เพราะมีประเด็น อย่างตอนไลฟ์สดมีคนชื่นชมมากมายว่ารายงานตรง ไม่มีบิดเบือน ปรากฏว่าเมื่อวานตอนเช้ามีเรื่องเรื่องหนึ่ง ไม่บอกว่าเรื่องอะไร แต่มีคนมาบอกว่าอาร์ทตี้หลอกลวงประชาชน เป็นความเข้าใจผิดต่อการลงข้อมูลที่เราไม่ได้มีส่วนร่วม เราเลยอยากแสดงออกให้เห็น ไม่งั้นสิ่งที่ทำมาทั้งหมด เหมือนเราเป็นคนโกหก หัวหน้าเขาก็เข้าใจ ไม่มีใครมาปิดกั้นอะไรนะ ถามได้เลย ใครจะมอง Bangkok Post เป็นไง แต่เราไม่เคยโดนห้ามเขียนนู้นนี่นั่น ไม่เคยโดนปิดกั้นจากรัฐบาลหรืออะไรก็ตาม 

คนเราเวลา หนึ่ง ง่วง สอง เหนื่อย สาม ปวดส้นตีน เวลาคนเหนื่อยมันไม่ทันคิดหรอก แล้วในทวิตเตอร์ก็โดนปราม ไม่ใช่รัฐบาลนะ รัฐบ้านปราม ใจเย็นๆ เขาไม่ได้ปิดกั้นอะไรเลย คิดก่อน 

คุณเคยทำงานที่แอปพลิเคชันออนไลน์เจ้าหนึ่ง แต่ลาออกมาเพราะความเห็นไม่ตรงกับบริษัท

อยู่ที่ไหนก็ต้องต่อสู้ เราจะอยู่กับสถานะที่ทำให้ตัวเองไม่มีความสุขทำไม ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เราบอกคนอื่นตลอดว่าคุณไม่ใช่ต้นไม้ มึงไม่ได้มีรากฝังอยู่ที่ทำงาน มึงก็ขุดรากของตัวเองแล้วก็ไปที่อื่น แต่รายละเอียดอื่นๆ ไปถามคนที่ทำงานติ๊กต็อก เราไม่เล่า

อย่างที่เคยทวีต ดูคุณผ่านการถูกปฏิเสธมาเยอะมากเหมือนกันนะ ทั้งตอนสอบเป็นนักการทูต พิธีกร Forbes และ True Academy Fantasia 

และอื่นๆ เพราะชีวิตเหมือนดวงสู้ เป็นดอกหญ้าในป่าปูน 

มีอะไรอีก

เยอะ เขียนไปเลยว่าเยอะ แล้วขีดเส้นใต้ (ยิ้ม)

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

ผ่านความผิดหวังเหล่านั้นมาได้ยังไง

คนอาจจะคิดว่าเราแข็งแรง ไม่หรอก มันไม่มีใครแข็งแรงตลอด มันก็มีช่วงที่ดาวน์เวลาโดนอะไรช้ำๆ แต่มีความหวังอยู่นะ จะมีเพลงที่ชอบฟังคือ I’m Here จาก Color Purple, This is Me ของ Keala Settle, Praying ของ Kesha และอีกเพลงที่ทำให้เราไม่ยอมแพ้คือ Color ของ Mary J. Blige หรือไม่ก็ Angel ของ Sarah Mclachlan กับเพลงที่ร้องว่า ‘เดินมาเดียวดายใจเริ่มแปรปรวน’ (ร้องเพลง) ฟังแล้วร้องไห้ เราเคยท้อมาหมดแล้ว แต่สำคัญคือ เราต้องลุกขึ้นมาแล้วพยายามใหม่ เหมือนรดน้ำให้ตัวเอง แล้วบอกว่ามันยังมีพรุ่งนี้ๆ 

เป็นคนสู้แบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลยไหม

เนื่องจากโดนอะไรที่มีแพตเทิร์นแบบนี้มาตลอด มันเลยทำให้เราสร้างกำแพงป้องกันตัวขึ้นมา แล้วเรียนรู้ที่จะปรับตัว เปลี่ยนไปตามวัย ทั้งมุมมองต่อชีวิต ต่อโลก ต่อสังคม รวมถึงความคิดคน ตัวตน หรืออะไรก็ตาม น้ำก็คือน้ำ มันก็ไหลไปตามทางของมัน จุดหนึ่งเราเลือกทำอย่างนี้ อีกจุดหนึ่งอาจจะไม่ทำอย่างนี้ 

อย่างเราเชื่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการยอมรับความแตกต่าง เราถูกสอนให้ไม่เพียงเคารพ แต่ต้องโอบอุ้มความแตกต่างจากทุกฝ่าย ต้องขอบคุณคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่สอนมาแบบนั้น

อะไรหล่อหลอมให้คุณเป็นคนแบบนี้

คนที่มีอิทธิพลกับชีวิตเรามากที่สุดมีสามคน คือคุณยาย คุณแม่ คุณป้า ทุกคนเป็น Strong Woman เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาลสำหรับเรา คุณยายจะมีความคาทอลิก เชื่อในพระเจ้า เขาบ่มเพาะเราให้เชื่อในพระคัมภีร์หรือหลักคำสอนในศาสนา 

ส่วนป้าจะเป็นแนว Business ผสมการปฏิบัติ ป้าเก่งเรื่องธุรกิจ เรื่องการจัดการ ในขณะที่แม่เป็นแนว Lana Del Rey หมายถึงฉันมีความสุข ฉันยังไงก็ได้ เหมือนฮิปปี้ยุค 70 แนวสาวดอกไม้ อาร์ทตี้คือส่วนผสม เป็น Melting Pot ระดับครัวเรือน เขาให้เราทำ มีเกินบ้าง ปรามบ้าง ด่าบ้าง เหมือนปกติที่พ่อแม่ทุกคนเป็นห่วงลูก 

แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เขาปล่อยให้เราค้นคว้าอะไรก็ได้ อยากอ่านหนังสืออะไร อยากดูทีวีอะไรก็ดู ตอนนั้นเขาติด UBC ที่บ้านให้ เราก็เปิดไล่ไปเรื่อยๆ Cartoon Network, Cinemax, HBO ได้รู้อะไรพวกนี้มาเยอะ มันก็เลยหล่อหลอมไปในตัว มีความแบบศาสนาบ้าง ตะวันออกบ้าง ตะวันตกบ้าง ตัวเราเลยผสมปนเปจากต่างวัฒนธรรม เพราะเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่นในการเข้าถึง UBC นั่นแหละ

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

เรียนจบรัฐศาสตร์ ทำไมถึงเลือกทำอาชีพนักข่าว

ชีวิตจับพลัดจับผลู หลังจากสอบกระทรวงการต่างประเทศ ก็ช่วยป้าเปิดบริษัทนายหน้าประกันอยู่พักหนึ่ง เสร็จแล้วก็ไปทำบริษัทโฆษณาแป๊บหนึ่ง ช่วยวิจัยแป๊บหนึ่ง ไปจัด Asean Korea Youth Seminar ให้ศูนย์อาเซียนศึกษาที่จุฬาฯ อีกแป๊บหนึ่ง เสร็จแล้วเลยไปจบที่ Bangkok Post เป็นนักข่าวต่างประเทศและการเมือง ตอนแรกเราโคตรจะเกลียดเลยนะที่ต้องทำเรื่องการเมือง พอคุณเป็นนักข่าวการเมืองปุ๊บ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนแปะป้าย โดนว่าเป็นฝั่งนู้นฝั่งนี้ 

เราเริ่มจากไปอยู่ฝ่ายโฆษณาก่อน อยู่ดีๆ เขาก็มาบอกว่า จบอันนี้มาและเขียนหนังสือดี ทำไมไม่ไปเป็นนักข่าวเลยล่ะ แต่เราจะเป็นนักข่าวได้เหรอ เราไม่ได้จบนิเทศฯ ก็ได้ไปอยูู่กับ พี่เอม-กรชนก รักษาเสรี (บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์ Bangkok Post) เขาเคี่ยวกับเรามาก มาตรฐานสูงชิบหาย เขาเป็นอาจารย์ที่นิเทศฯ จุฬาฯ ซึ่งเป็นครูทางสื่อมวลชนเพียงคนเดียวของเรา และเขาไม่เคยปล่อยให้มาตรฐานหลุดไปแม้แต่นิดเดียว สักพักทำๆ ไปก็พบว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก เพราะว่าเราได้คุยกับคนจากทุกแวดวง ทุกรูปแบบ ทุกภาคส่วนในสังคม 

บทเรียนจากพี่เอมที่เปลี่ยนมุมมองในการทำงานหรือการใช้ชีวิตของคุณไปเลยคืออะไร

พี่เอมคือคนที่มืออาชีพจริงๆ เพราะไม่ว่าคุณจะมีอุดมการณ์แบบไหน ไม่ว่าคุณจะเชื่อแบบไหน ข่าวคือข่าว ความเห็นคือความเห็น อย่าปนกัน เราก็เลยแบ่งได้ตลอด มันทำให้เราเปิดใจจากที่เปิดใจอยู่แล้วสมัยเรียน 

พี่เอมสอนว่า เวลาไปทำข่าวเราต้องล้างทุกข้อมูลหรือการคาดเดาอะไรก็ตาม เราต้องล้างออกไปจากหัว การทำข่าวต้อง Objective (ไม่เข้าข้างใคร) ที่สุด ไม่มั่นใจอะไรห้ามเขียนเด็ดขาด เคยโดนด่าตอนทำงานแรกๆ ที่เราใช้คำคุณศัพท์แบบที่คิดไปเองว่าน่าจะเป็นแบบนี้ แต่อ่านแล้วมันไม่ตรงกับที่เขาพูด ตอนนั้นเรายังใหม่ ไม่ได้จบสื่อสารมวลชนโดยตรงด้วย แต่เราได้รับการสอนจากพี่เอมนี่แหละ เราก็เลยยึดกับความจริงมาตลอด เห็นอะไรก็ว่าอย่างนั้น 

ต้องเข้าใจก่อนว่า เรื่องหนึ่งเรื่อง ประเด็นหนึ่งประเด็น หรืออีเวนต์หนึ่งอีเวนต์ มองจากคนหนึ่งมันก็เป็น Narrative หนึ่ง แล้วเราจะทำไงให้เรื่องนั้นมันเป็น Fact ที่จะได้รับ Narrative จากทุกฝั่ง สมมติว่าฝั่งนี้พูดมาอย่างนี้ เขาจะบอกว่า เช็กข้อมูลอีกฝั่งค่ะ ถ้าไม่มีก็ไม่ลง

พอมาทำงานเป็นนักข่าวที่ต้องจัดการกับข้อมูลมากมายจากหลายฝ่ายและหลายความเห็น การเรียนรัฐศาสตร์ ได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างมา มันช่วยมากแค่ไหน

ช่วยมาก ไม่ใช่เฉพาะรัฐศาสตร์ ต้องขอบคุณคณะอักษรศาสตร์ด้วย เพราะเราเรียนวรรณคดีที่อักษรฯ หลายตัว ทุกอย่างคือเรื่องเล่า (Narrative) Fact คืออะไรก็เป็นคำถามเชิงปรัชญา มันเลยทำให้เราคงที่กับทุกอย่าง นั่นคือข้อดี แต่ว่าอาจจะเหนื่อยหน่อยในการใช้ชีวิต เพราะเราจะต้องคิดว่าอะไรจริงไม่จริง มันทำให้เราเป็นคนเสือก อยากรู้อยากเห็น 

ธรรมชาติของเด็กรัฐศาสตร์คือช่างสงสัย และต้องหาความจริงด้วย อย่างในไลฟ์ เราไม่ได้ตั้งใจจะสร้างซีนหรืออะไรนะ มันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เพราะก็เราอยากรู้ อย่างเช่นเราอยากรู้ว่าผู้ชุมนุมวิ่งกันทำไม ก็ต้องถามให้รู้ว่าวิ่งทำไม เพราะภาพที่เห็นจะเป็นภาพเด็กวิ่ง แล้วถ้าคนไม่รู้ล่ะ ระเบิดลงหรอ ก็ต้องถามว่า หนูวิ่งทำไม ไม่รู้ค่ะ ยิ่งไม่รู้ยิ่งต้องไปต่อ แล้วคนนี้วิ่งทำไม ไม่รู้ครับ ธรรมชาติของเราเป็นแบบนี้ เป็นสันดานอยู่แล้ว ถามน้องๆ คณะได้ เราไม่อยากให้ข้อมูลเอง ถ้าเราให้ข้อมูลเองมันคือปากเราคนเดียวเป็น Narrative ของเรา 

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”
อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

คิดยังไงที่อยู่ๆ ก็กลายเป็นมีมบนอินเทอร์เน็ต

ตอนแรกตกใจก่อน เราเคยดังตอนปี 2014 แล้วก็หายไปจากเรดาร์ พยายามไม่ดัง เราเลือกที่จะไปเพราะคิดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเป็น ก็เลยหายไปสองสามปี เพราะฉะนั้น ถ้าต้องตอบคำถามว่าอยากดังหรอ ถ้าเราอยากดัง เราอยู่ต่อตั้งแต่ตอนนั้น 

เมื่อก่อนคนที่เป็นมีมอาจจะกลัวว่ามันจะทำลายชีวิตเขา ตอนแรกเราก็กลัว มันตกใจ จะโดนเอาไปเป็นนักข่าวต้านรัฐบาลหรือเปล่า แต่ก็กลัวแค่เสี้ยววิแหละ เพราะเราผ่านมาหมดแล้ว เพลงไฟท์เตอร์ขึ้น เพลงเซอร์ไวเวอร์ขึ้น ไม่มีอะไรต้องกลัวแล้ว ความกลัวเดียวคือความตาย ซึ่งตอนนั้นเราไม่กลัวด้วยซ้ำ 

แต่ก่อนเราเปรี้ยวแตกมากกว่านี้ เปรี้ยวตีน ถามใครก็ได้ โอ้โห ท้าชน เพื่อนคณะคนหนึ่งจะโบกรถ ปอพ. แล้วรถ ปอพ. ไม่ยอมหยุดให้ในสถานีที่ควรจะหยุด มันบอกให้จอด เขาก็ไม่จอด มันก็ตะโกนด่าเขาแล้ววิ่งมาหลบหลังเรา เขาก็ลงมา ‘มึงทำไม’ เราก็บอก ‘พี่จะทำไม’ เป็นคนอย่างนั้นนึกออกไหม ก็เพื่อนเรียกให้หยุด ทำไมไม่หยุดล่ะ มันต้องจอดสถานี ก็ทะเลาะแทนเพื่อน 

เราเป็นคนอย่างนั้น เป็นคนแบบอันธพาลครองเมือง ซึ่งเราก็รู้ว่าสันดานนี้มันไม่ดี เราก็ต้องเย็นลง สามปีที่เราหายไป เราได้กลับไปมองชีวิตอีกครั้ง เพราะฉะนั้น อาร์ทตี้ตอนนี้เลยพยายามหลีกเลี่ยงสปอตไลต์ตลอด ลองไปดูไลฟ์แรกๆ ได้ เราจะไม่ออกหน้าเลย

พอเกิดมีมขึ้นมา คนเลยไม่ได้มองคุณในบทบาทสื่อแล้ว

นั่นเป็นสิ่งที่เรากลัวที่สุด เพราะว่าเราไม่อยากดัง ทั้งๆ ที่เราแต่งเพลงเอาไว้หลายสิบเพลงเลย โดนโปรดิวเซอร์บังคับให้ปล่อยตั้งนาน เรารู้สึกว่าถ้าคุณเป็นสื่อคุณก็ควรเป็นสื่อ ถ้ามีบทบาทอื่นจะเสี่ยงกับบทบาทสื่อของคุณ เลยพยายามไม่ทำตัวให้อยู่ในกระแส พยายาม “Don’t let them in. Don’t let them see.” (ร้องเพลง Let It Go) จนม็อบปลดแอกครั้งแรกคนดูเยอะมาก เพราะโชคดีที่เราเป็นเจ้าเดียวที่มีเน็ตในการไลฟ์ 

การที่นักข่าวกลายมาเป็นข่าวถือว่าโอเคไหม

แล้วแต่คนจะคิด เราเป็นสันดานนักข่าว มันติด บางทีก็เบื่อตัวเองเหมือนกันนะ ไม่ดีเฟนด์ตัวเอง ถ้าย้อนไปดูเฟซบุ๊ก เคยเขียนอยู่ครั้งเดียวเลยตอนที่คนด่าเรา นินทาเรา เราก็บอกว่า ไม่รู้สึกว่าต้องแก้ต่างตัวเองบนโซเชียลมีเดีย วันนี้ก็ยังให้คำตอบแบบนั้น อยากคิดอะไรกับเรา อยากทำอะไรก็ทำ เราตายได้ครั้งเดียว

บทบาทของสื่อที่นำเสนอข่าวม็อบตอนนี้ สำหรับอาร์ทตี้ที่เรียนรัฐศาสตร์และผ่านมาหลายม็อบ มันต่างจากเดิมไหม

ในช่วงเวลาที่เป็นวิกฤต ในช่วงที่คนคิดแปลกแยกกันมากๆ สื่อมีบทบาทสำคัญในการนำข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงให้ประชาชนไม่ว่าจะฝั่งใดได้ใช้ประกอบการตัดสินใจที่รอบคอบรอบด้าน เพราะฉะนั้น ในเรื่องการปิดสื่อ ไม่มีใครมีสิทธิ์ปิดสื่อ เพราะสื่อคือรากฐานของประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความกินดีอยู่ดีของประชาชน 

ไม่มีใครเป็นเจ้าของข้อมูล ยุคนี้เป็นยุคประชาธิปไตยแห่งข้อมูลข่าวสาร เราเคยเขียนแสดงความเห็นไว้ในบางกอกโพสต์เรื่องการระวัง Information Overload (ภาวะข้อมูลท่วมท้น) สื่อที่ดีต้องทำตัวเป็น Gate Keeper ของข้อมูล เพราะคุณจะต้องกรองข้อมูล เป็นประตูเขื่อน ไม่ให้ทะลักออกมาสู่ประชาชน เพราะฉะนั้น รัฐจะปิดไม่ได้ สื่อที่ดีนะ สื่อที่ไม่ดีก็ปิดไปเถอะ 

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

ท่ามกลางความขัดแย้งขนาดนี้ การวางตัวของนักข่าวยากขึ้นไหม

ยากสิ ดูอาร์ทตี้เป็นตัวอย่าง โดนด่าว่านักข่าวเสื้อแดง นู่นนี่นั่น ซึ่งมันเป็น Label ที่มาพร้อมกับอาชีพนี้ คติประจำใจของเราคือ Everything is socially constructed. ทุกอย่างถูกสังคมสร้างหมด เพราะฉะนั้น เราไม่มีสิทธิ์ไปทำให้คุณคิดอย่างนู้นอย่างนี้อยู่แล้ว คุณจะคิดอะไรก็เรื่องของคุณ แต่เรารู้ว่าเราเป็นยังไง แค่นั้นก็พอ สื่อที่ดีต้องเป็นเลนส์ แค่ทำให้คนมองผ่าน เหมือนเป็นกล้องถ่ายให้เขาดู แค่นั้น ไม่ต้องไปใส่ซับไตเติลบรรยาย

ไม่มีใครเป็นกลางทางการเมืองหรอก แต่เราต้องมีความเป็นมืออาชีพ ตอนเป็นนักข่าวใหม่ๆ เราพยายามอ่านศึกษาเรื่องจรรยาบรรณสื่อจากทุกสำนัก แล้วก็ตั้งใจมาเสมอว่าต้อง Seek accurate factual unbiased information that contributes to vibrant national conversation. นี่คือคติของเรา (ปรบมือ) 

ใครว่าเรายังไง เราก็เลยไม่สนใจ เพราะว่าเวลาเป็นนักข่าวบทบาทของเรามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นฝั่งนู้นฝั่งนี้ ก็มึงทำข่าวเรื่องนั้นน่ะ สมมติทำข่าว กปปส. ก็โดนว่าว่าเป็นนักข่าว กปปส. ทำข่าวเสื้อแดง ก็เป็นนักข่าว นปช. ทำม็อบปลดแอก ก็เป็นนักข่าวปลดแอก คนอื่นจะคิดอะไรเป็นเรื่องของคุณ เราเองก็มีความคิดของเรา แต่เราไม่เคยใส่ความเห็นของเราลงไปในการรายงานข่าว ไม่เคยเลย 

พอได้ลงไปทำงานลงพื้นที่เยอะๆ คุณเห็นอะไรจากตรงนั้น

อย่าตัดสินใครไปก่อน Don’t judge a book by its cover. แล้วเดี๋ยวนี้ปกมันถูกห่อด้วยกระดาษ มันยิ่งมองไม่เห็นว่าปกเป็นยังไง ก็เลยจะไม่ตัดสินใครไปก่อน อยากรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง คุยกับเขา อย่าไปตั้งแง่ อย่าตั้งสมมติฐานไปเองก่อน 

ทุกครั้งที่ไปทำข่าว เราไปแบบตีเบลอ เรา Numb เราทำข่าวเราต้องเน้น Fact ตลอด ไม่ค่อยได้เขียน Commentary จนก็ไม่รู้แล้วว่าตัวเองเชื่อแบบไหน Fact ก็คือ Fact วิธีการรับมือก็ตีมึน ไม่คิดไปก่อน อยากรู้อะไรก็ถาม เวลาอยู่กับม็อบ เราจะถามตลอด ถามคำถามยากๆ คำถามที่ถามแล้วคนเกลียด เราถามเลยว่าใครจัดตั้งมารึเปล่า หรือฝั่งที่เขาวิจารณ์คุณ เขาบอกว่าคุณฟังแต่ข่าวทวิตเตอร์ จริงรึเปล่า เราเป็นนักข่าว เราต้องถาม ต้องเสือก แต่เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ 

ความสำเร็จของการเป็นนักข่าวของคุณคืออะไร

รอพูลิตเซอร์ปีนี้ (ยิ้ม) ฝากแฮชแท็กหน่อยว่า #PulitzerforArtie

เอาจริงๆ

คือการได้เป็นทุกอย่างให้ประชาชน บางวันก็เป็นเสื้อแดง บางวันก็เป็น กปปส. บางวันก็เป็นสลิ่ม เป็นทุกอย่าง

ที่ผ่านมาคิดว่าทำได้ดีแล้วหรือยัง

ที่ผ่านมา เราอาจจะทำอย่างอื่นในชีวิตผิดพลาดไปเยอะ แต่ในฐานะนักข่าว เราเอามาตรฐานสื่อมวลชนแขวนคอไว้มาตลอด

สุดท้ายแล้ว อนาคตของอาร์ทตี้หลังจากนี้จะเป็นยังไงต่อ

เหนื่อยชิบหาย ขอนอนก่อน

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

ATTENTION

อาร์ทตี้ฝากตามหาเจ้าของรองเท้า ที่เอารองเท้าแตะคู่นี้มาให้ขณะไลฟ์รายงานข่าวด้วยเท้าเปล่าแถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพราะอยากเลี้ยงขนมเป็นการขอบคุณ

อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ นักข่าวที่ถือคติ “ต้องถาม ต้องเสือก เสือกเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล