เมื่อเรามาถึงสตูดิโอพันทาง อาเธอร์ แวร์ญ ก็นั่งรอท่าอยู่ก่อนแล้ว สตูดิโอออกแบบสถาปัตย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนชั้นสองของ ‘บากะนก’ ร้านหนังสือเด็กอิสระสีสันสดใสภายในเวิ้งเหล็กแดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เขากับภรรยา อิ๋ว-ปุณย์ศิริ สกุลวิโรจน์ แวร์ญ เป็นเจ้าของร้าน ทั้งคู่รักหนังสือ แถมเรื่องบังเอิญก็คือต่างมาจากแผ่นดินทางใต้เหมือนกัน เธอเป็นหญิงสาวอารมณ์ดีชาวนครศรีธรรมราช ส่วนเขาเป็นหนุ่มทรงสุภาพจากตูลูส

ในห้องทำงานที่มองลอดหน้าต่างออกไปเห็นถนนท่าแพยามบ่าย อาเธอร์เล่าให้ฟังว่าเขาเติบโตมาท่ามกลางตึกรามบ้านช่องของเมืองใหญ่สุดในแคว้นอ็อกซีตานี ประเทศฝรั่งเศส ก่อนย้ายมาเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พลันโดนมนตร์เสน่ห์ความคลาสสิกและบรรยากาศชายทะเลแถบบอร์โดซ์ตกนับแต่นั้น ซึ่งดูจะไปกันคนละทางกับเชียงใหม่ที่ตัวเขาและครอบครัวเลือกมาปักหลักพอสมควร

“ก่อนหน้านี้ผมรู้จักเชียงใหม่น้อยมาก รู้แค่ว่ามันเล็กกว่ากรุงเทพฯ และมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่พอได้มาอยู่ก็รู้สึกว่าสภาพแวดล้อมดีกว่าด้วย คุณไม่ต้องทนกับรถติด ใกล้ชิดธรรมชาติ ผู้คนน่ารัก ที่สำคัญเป็นเมืองที่เอื้อต่อการทำงานสร้างสรรค์และเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ขอแค่คุณมีไอเดียหรือรักจะทำสิ่งไหน คุณก็ลงมือทำได้ทันที”

อาเธอร์ แวร์ญ สถาปนิกผู้บอกรักเชียงใหม่ผ่านศิลปะภาพประกอบจากโปรแกรมออกแบบ 3 มิติ

ระหว่าง 9 ปีที่พำนักในเชียงใหม่ อาเธอร์ตกหลุมรักงานสถาปัตยกรรมไทยโดยเฉพาะล้านนา เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบอาคารร่วมสมัยสวยโดดเด่นหลายแห่ง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังต่อยอดความหลงใหลสู่โปรเจกต์งานศิลปะภาพประกอบที่ซุ่มทำนานกว่า 2 ปี ‘A Journey in Chiang Mai’ ซึ่งไม่เพียงถ่ายทอดมุมมองประทับใจในบรรยากาศ สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และหลากรายละเอียดสนุก ๆ จากความช่างสังเกตของสถาปนิกหนุ่มต่างแดน ต่างวัฒนธรรม แต่ยังมีกระบวนการทำงานสุดพิถีพิถัน เพื่อส่งต่อความรักและความสุขแก่ผู้คนที่รักเมืองเชียงใหม่

ก็เพราะรัก

หลังได้รับอีเมลตอบกลับ อาเธอร์ก็โบกมือลาบอร์โดซ์แล้วบินข้ามทวีปมาเริ่มต้นชีวิตยังจังหวัดเชียงใหม่

“ผมย้ายมา พ.ศ. 2556 แต่ก่อนหน้านั้นเคยเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงได้เจออิ๋ว พอเรียนจบเลยลองหางานทำในเมืองไทย ส่งสมัครไปหลายแห่ง ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ สุดท้ายก็ได้ทำกับบริษัท นิวัตร อาร์คิเทค”

ที่บริษัท อาเธอร์นั่งเก้าอี้นักออกแบบ ซึ่งกลายเป็นโอกาสให้เขาเปิดประตูสู่โลกสถาปัตยกรรมไทยโดยเฉพาะรูปแบบล้านนา ก่อนค่อย ๆ สั่งสมองค์ความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ กระทั่งมีโอกาสได้ฝากฝีไม้ลายมือไว้ในผลงานการออกแบบอาคารโคโลเนียลของโรงแรม Sela อำเภอหางดง ที่ผสมผสานลักษณะอาคารเก่าในยุโรปเข้ากับกลิ่นอายความเป็นล้านนาได้อย่างงดงามและมีเสน่ห์ หรือผลงานยุคหลังที่ทำในนามบริษัทตัวเอง ซึ่งหยิบจับภูมิปัญญาบ้านทรงไทยโบราณมาร้อยเรียงใหม่ในโฉมอาคารโมเดิร์นสุดเก๋ของสำนักงานบริษัทดิจิทัลเอเจนซี่ Artisan Digital

“ตอนนี้ผมออกมาเปิดบริษัท ‘สตูดิโอพันทาง (1,000 ways)’ ได้ 2 ปีแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนคือผมต้องรับผิดชอบเยอะขึ้น ตั้งแต่เขียนแบบ ร่างแบบงานโครงสร้าง ดูงบประมาณ เรื่อยไปจนติดตามงานก่อสร้าง ยังไงก็แล้วแต่งานในส่วนที่ผมชอบมากที่สุดยังคงเป็นการออกแบบ 3 มิติ”

เพราะไม่เพียงความสุขในการได้ทำงานที่รัก ทว่าการเติมแต่งจินตนาการสอดแทรกลงไปรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถือเป็นความสนุกสนาน ที่บ่อยครั้งทำให้อาเธอร์มักโดนเพื่อนร่วมงานติงว่าใช้เวลากับการประดิษฐ์ภาพเรนเดอร์นานเกินไป

“ผมรู้ว่าสถาปนิกบางคนเขาทำภาพทิวทัศน์ไวมาก เพราะเท่านั้นมันเพียงพอแล้วที่จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจโปรเจกต์ แต่สำหรับผม ผมลงรายละเอียดเยอะ บางครั้งก็เยอะจนเกินความจำเป็นไปเหมือนกัน ประมาณชั่วโมงกว่ามั้งที่ผมจมอยู่กับมัน ก็เพราะว่าผมรักมันนั่นแหละ”

สถาปนิกหนุ่มส่งเสียงหัวเราะร่วน ส่วนเราและคุณเองก็พอจะเดาได้แล้วล่ะว่า ทำไมเขาจึงหันมาจริงจังกับงานวาดภาพประกอบ

ก้อนเมฆกับความคิด

ย้อนไปก่อนปีที่เราจะได้ยินชื่อไวรัสอู่ฮั่น และคุ้นเคยกับการทำงานแบบไฮบริด เป็นช่วงจังหวะที่อาเธอร์บินกลับไปเยี่ยมครอบครัว ขณะเทียวเสพบรรยากาศวันคืนเก่า ๆ เขาก็สะดุดตากับของบางสิ่งที่แสนปกติธรรมดา ทว่ากลับไม่เคยพบเห็นในเชียงใหม่ทั้งที่น่าจะต้องมี

บนโต๊ะไม้ตัวใหญ่เขาเตรียมสิ่งนั้นวางไว้เรียงราย มันคือโปสการ์ดและโปสเตอร์รูปสถานที่บางแห่งทั้งที่คุ้นและไม่คุ้นตา แต่รายละเอียดบางอย่างบอกให้รู้แน่ชัดว่าเป็นเชียงใหม่

“ที่ฝรั่งเศส ทุกหมู่บ้านและตามสถานที่ท่องเที่ยวมักจะมีโปสเตอร์และโปสการ์ดสวย ๆ จำหน่าย แล้วผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบซื้อโปสการ์ดเก็บสะสมไว้ค่อนข้างเยอะ อีกทั้งเรายังมีธรรมเนียมการให้โปสเตอร์เพื่อแสดงความขอบคุณในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ผมจึงได้ไอเดียทำเวอร์ชันเชียงใหม่ขึ้นมา”

อาเธอร์ แวร์ญ สถาปนิกผู้บอกรักเชียงใหม่ผ่านศิลปะภาพประกอบจากโปรแกรมออกแบบ 3 มิติ
อาเธอร์ แวร์ญ สถาปนิกผู้บอกรักเชียงใหม่ผ่านศิลปะภาพประกอบจากโปรแกรมออกแบบ 3 มิติ

โปสเตอร์และโปสการ์ดที่อาเธอร์ตั้งใจสร้างสรรค์ผสมผสานระหว่างแนวคิดฉบับฝรั่งเศสกับมนตร์เสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ พร้อมนำเสนอผ่านศิลปะภาพประกอบที่มีมู้ดและโทนสดใสเปี่ยมชีวิตชีวา ซึ่งตัวเขาไม่ปฏิเสธว่ามีแอนิเมชันของ Studio Ghibli บันดาลใจ

“ผมหลงรักงานของ Studio Ghibli โดยเฉพาะโทนสีและก้อนเมฆ ในแอนิเมชันทุกเรื่องผมมักจะได้รับความเพลิดเพลินจาก 2 สิ่งนี้ และในชีวิตจริงผมก็ชอบมอง ชอบถ่ายและชอบวาดภาพก้อนเมฆมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมฆก้อนใหญ่ยักษ์ เมฆน้อยที่กระจัดกระจาย หรือกลุ่มปุยเมฆหลากรูปทรงบนท้องฟ้า ทั้งหมดสะท้อนความรู้สึกที่แตกต่างและทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย”

แล้วก็เป็นเมฆนิรนามก้อนหนึ่งที่สะกดอาเธอร์ให้หยุดมองนิ่งงัน พลันความคิดที่ทดเก็บไว้เผยตัวจากลิ้นชักและจุดประกายให้เขาเริ่มสร้างสรรค์ภาพ Old Town ที่ถอดแบบจากถนนมูลเมืองซอย 7 ยามเช้าสายของวันนั้น สู่ผลงานชิ้นประเดิมในคอลเลกชัน ‘A Journey in Chiang Mai’

อาเธอร์ แวร์ญ สถาปนิกผู้บอกรักเชียงใหม่ผ่านศิลปะภาพประกอบจากโปรแกรมออกแบบ 3 มิติ

ถนัดและสนุก

เราค่อนข้างประหลาดใจระคนตื่นเต้น เมื่อได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่วางเรียงตรงหน้า เพราะทุกชิ้นไม่ได้วาดด้วยโปรแกรมสร้างภาพประกอบและกราฟิกเช่นธรรมดาทั่วไป ทว่าเนรมิตขึ้นจากโปรแกรม Archicad ที่ใช้สร้างแบบจำลองอาคาร 3 มิติ โดยอ้างอิงสัดส่วนตามสเกลจริง

“โดยปกติผมเป็นคนวาดภาพไม่ค่อยเก่ง เวลาแนะนำตัวผมมักบอกเสมอว่าเป็นสถาปนิก ไม่ใช่นักวาดภาพประกอบ แต่ในเมื่อผมต้องการจะทำโปสเตอร์ โปสการ์ด เลยพยายามสรรหาวิธีทำให้งานออกมาเหมือนภาพที่จินตนาการไว้ สุดท้ายจึงเลือกใช้โปรแกรมออกแบบ 3 มิติ เพราะเหตุผลง่าย ๆ ว่ามันเป็นเทคนิคที่ผมถนัดและสนุกกับมัน”

อาเธอร์ขยับเม้าส์อย่างคล่องแคล้ว บิด หมุน ซูมเข้า-ออก เพื่อชี้ให้ดูรายละเอียดที่เขาประทับใจและตั้งใจนำมาบอกเล่าลงในภาพ Warorot Market หรือตลาดวโรรส

Arthur Vergne สถาปนิกฝรั่งเศส เจ้าของร้านหนังสือเด็กในเชียงใหม่ และนักวาดโปสการ์ดผู้หลงรักท้องฟ้าของ Studio Gibli

“ผมเลือกถนนย่านตลาดวโรรสเพราะชอบสีสันบรรยากาศความคึกคัก อีกทั้งยังมีตึกเก่ารูปทรงสวยคลาสสิก เมื่อเจอวัตถุดิบแล้วก็จะเริ่มร่างภาพลงบนกระดาษ ก่อนนำมาสร้างเป็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้นด้วยโปรแกรม Archicad ซึ่งปกติผมใช้ออกแบบอาคารให้ลูกค้า แต่อันที่จริงมันนำมาสร้างได้ทั้งเมืองหรือภูเขาได้ทั้งลูก ยิ่งกว่านั้นมันยังจัดการเรื่องแสงเงาได้อย่างยอดเยี่ยมด้วย

“ต่อมาเป็นกระบวนการที่ผมใช้เวลาค่อนข้างเยอะ คือการเติมรายละเอียดสิ่งต่าง ๆ อย่างภาพนี้ผมต้องเดินไปที่ตรอกเล่าโจ๊วอยู่บ่อย ๆ เพื่อถ่ายรูปข้าวของที่สื่อถึงเมืองไทยและเสน่ห์ของย่าน อย่าง ประตูเหล็กยืด กระจกแปดเหลี่ยม พวงเครื่องปรุง เก้าอี้พลาสติกแบบมีพนักพิง หรือขอบทางเท้าสีขาว-แดง”

อาเธอร์บอกว่า หากนับรวมการจัดองค์ประกอบภาพ ผลงานหนึ่งชิ้นอาจกินเวลาในการออกแบบ 3 มิติ เกือบ 2 สัปดาห์ เมื่อจบกระบวนการนี้จึงเข้าสู่โค้งสุดท้ายนั่นคือเสกก้อนเมฆที่เขาแยกออกมาบรรจงวาดในแท็บเล็ต ซึ่งยอมรับตามตรงว่าผลงานทุกชิ้นที่มีก้อนเมฆประดับท้องฟ้า ช่างดูมีชีวิตชีวาและชุ่มชื่นหัวใจ

นี่แหละคือเชียงใหม่

“หลังจากเสร็จภาพแรก ผมก็หาเวลาออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วเชียงใหม่เพื่อหาแรงบันดาลใจสร้างสรรค์งานชิ้นต่อ ๆ มา รวมเป็นคอลเลกชันที่มีทั้งหมด 12 ภาพ ซึ่งใช้ระยะเวลาทำประมาณ 2 ปี”

ฟังดูกินเวลายาวนานกับชุดภาพจำนวนหนึ่งโหล แต่อาเธอร์อธิบายว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของความเข้าใจ ที่เขายกตัวอย่างให้ฟังในภาพ Chiang Dao

“ผมกับอิ๋วไปเที่ยวเชียงดาวกันบ่อย ส่วนหนึ่งเพราะพวกเราชอบบรรยากาศที่นั่น อีกส่วนคือในช่วงที่กำลังเขียนภาพนี้จู่ ๆ ผมต้องหยุดงานค้างไว้ เพราะเกิดไม่มั่นใจว่าตัวเองเข้าใจสถานที่มากพอ เลยกลับไปอีกหนเพื่อออกสำรวจและสังเกตสิ่งแวดล้อม หามุมมองที่เรารู้สึกกับมันจริง ๆ ซึ่งพบว่าไม่ใช่การได้สัมผัสยอดดอยหลวง แต่เป็นการได้มองยอดดอยจากทุ่งนาข้าว ท่ามกลางชาวบ้านดำเนินชีวิตไปตามท่วงทำนองและท้องฟ้าปลอดโปร่งที่ยืนดูกลุ่มเมฆก้อนใหญ่ได้ถนัดตา”

Arthur Vergne สถาปนิกฝรั่งเศส เจ้าของร้านหนังสือเด็กในเชียงใหม่ และนักวาดโปสการ์ดผู้หลงรักท้องฟ้าของ Studio Gibli

‘A Journey in Chiang Mai’ จึงเป็นผลงานที่อาเธอร์ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่ในมุมที่ทำให้เขาหลงรัก ทั้งในแง่บรรยากาศ ความรู้สึก สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และรายละเอียดของสิ่งละอันพันละน้อย ซึ่งบอกกับผู้คนว่านี่แหละคือเชียงใหม่ ไม่ใช่กรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นใด

“ผมรักเชียงใหม่และชอบเมืองนี้มาก ๆ ผมหวังว่าทุกคนที่ได้รับโปสการ์ดและโปสเตอร์ชุดนี้ไปจะสัมผัสได้ถึงความสุข และรักเชียงใหม่เช่นเดียวกันครับ”

ปัจจุบันคอลเลกชัน A Journey in Chiang Mai นอกจากนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์และโปสการ์ดแล้ว ล่าสุดยังมี Magnet และเร็ว ๆ นี้กำลังจะแปลงโฉมเป็นปฏิทินสวย ๆ สมุดบันทึก และเกมตัวต่อจิ๊กซอว์ให้ได้จับจองกัน ใครสนใจสามารถตามลายแทงในบรรทัดล่าง หรือไปพบปะพูดคุยกับอาเธอร์และสนับสนุนผลงานกันได้ในเทศกาล Chiang Mai Design Week 2022 นี้

Arthur Vergne สถาปนิกฝรั่งเศส เจ้าของร้านหนังสือเด็กในเชียงใหม่ และนักวาดโปสการ์ดผู้หลงรักท้องฟ้าของ Studio Gibli

Instagram : arthur.illustration

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ