“เชี่ย มึงกล้าทำไงได้วะ”

“อ๋อ มึงทำเพราะแบบนี้…” 

หลายครั้งที่เราไปดูงานศิลปะที่แกลเลอรี่แล้วยืนงง ไม่เข้าใจในความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อ แต่หากใครเคยไปดูงานของฮ่องเต้ Art of Hongtae แล้วคุณหลุดอุทานประโยคข้างต้นออกมา แปลได้อย่างเดียวว่าคุณเข้าใจสิ่งที่ศิลปินไทยคนนี้สื่อแล้วอย่างแน่นอน 

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

คุณอาจจะรู้จัก กนต์ธร เตโชฬาร หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ ฮ่องเต้ ผ่านการทำงานหลากหลายบทบาท ทั้งงานศิลปะ Fine Art หลายแขนง เช่น งานวาด งานปั้น Charactor Designer, Visual Art หรืองานพากษ์เสียงภาพยนตร์ ละคร พิธีกร Creative Content นักเขียน ครูสอนศิลปะเด็ก รวมถึงรายการต่างๆ ในยูทูปทั้งช่วงก่อนและหลัง COVID-19 และเพราะผลกระทบจาก COVID-19 นี่เองที่ทำให้เขาค้นพบความสุขง่ายๆ จนบอกได้ว่าตัวเองนั้นประสบความสำเร็จแล้ว คือการได้อยู่บ้าน วาดรูป และใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง

งานศิลปะส่วนใหญ่ของฮ่องเต้เกิดจากคำถามต่อสังคม ความเชื่อ แนวคิด สร้างขึ้นเพื่อให้สังคมอีกนั่นแหละที่เป็นผู้หาคำตอบจากผลงานต่างๆ ของเขา

มารู้จักเขาผ่านงานศิลป์ หาคำตอบที่มาของผลงานสุดสร้างสรรค์ที่ทำให้เราต้องว้าวจนต้องอุทานว่า 

“เชี่ย มึงกล้าทำได้ไงวะ”

กว่าจะมาเป็นฮ่องเต้

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae
ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

เรานั่งพูดคุยกันที่ชั้น 3 ของตัวบ้าน ฮ่องเต้แนะนำว่าเป็นที่ทำงานของเขาและเป็นพื้นที่ที่น้องๆ ศิลปิน ที่แวะเวียนมาเยี่ยมสตูดิโอ และส่วนใหญ่ใช้ทำงานด้วยเหมือนกัน เพดานสูงบวกกับหน้าต่างหลายบานที่เรียงรายกันอยู่ฝั่งซ้าย ความปลอดโปร่ง พร้อมด้วยแสงธรรมชาติที่ทอดเข้ามา เป็นเหตุผลว่าทำไมฮ่องเต้ถึงเลือกพื้นที่ตรงนี้ของบ้านไว้ใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ จากหน้าบ้านไปจนถึงชั้น 3 จะพบเจองานศิลป์มากมายวางซ้อนกันอยู่แทบทุกตารางเมตร ยังไม่รวมเหล่าบรรดาต้นไม้น้อยใหญ่ที่อยู่ทั้งหน้าบ้านและระเบียง

หลังจากผ่านการทำงานมาหลายอย่าง ค้นพบความชอบต่างๆ ในชีวิตมากมาย ฮ่องเต้ในปัจจุบันกระโดดลงไปทำทุกงาน คว้าทุกโอกาส เพื่อให้ทุกอย่างเหล่านั้นต่อยอดและเพิ่มพูนประสบการณ์ในการเป็นศิลปินของเขา ต่างกันกับเมื่อ 5 ปีก่อนที่เขาเคยบอกไว้ว่า คำว่าศิลปินสำหรับเขานั้นมันสูงเกินไป

แต่ในตอนนี้ เขากลับเรียกตัวเองว่าศิลปินได้อย่างเต็มปากเต็มคำ 

“เรารู้สึกว่าคำว่าศิลปินมันดูสูงส่งจังเลย แต่ตอนนี้เรานับตัวเองเป็นศิลปินแล้ว สุดท้ายมันก็ไม่ได้พิเศษขนาดนั้นนี่หว่า เรามองเป็นอาชีพหนึ่งที่หากินด้วยการวาดรูป ทำงานศิลปะหลายๆ แขนงออกมา”

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

ฮ่องเต้ให้ความรู้ใหม่กับเราว่า เมื่อก่อนคำว่าอสูรหรืออสุราแปลว่าเทพเจ้า แต่ในปัจจุบันคนให้ความหมายอีกอย่างหนึ่งแทน ทำให้จากบทพระเอกกลายมาเป็นตัวร้ายในวรรณคดีหลายๆ เรื่อง เขาจึงอยากบอกทุกคนว่ามันไม่ใช่ที่ชื่อเรียก แต่เป็นมุมมองที่เรามองสิ่งนั้นต่างหาก 

เหมือนกับวันนี้ที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ในโอกาสหน้า ถ้าเขาวางมือจากงานศิลปะหันไปจับงานด้านอื่นแทน ก็พร้อมจะเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเช่นกัน 

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

“สังคมในโลกขึ้นอยู่กับสองอย่าง คือบทบาทที่เราเป็น คุณเป็นเฟืองตัวไหนในสังคมอยู่ คุณเลื่อนขั้นได้นะ คุณไม่ต้องอยู่ตรงนั้นตลอดนะ คุณเปลี่ยนขนาดตัวเองได้ เปลี่ยนความสำคัญเปลี่ยนตำแหน่งได้ อยู่ที่คุณเลือก แล้วทีนี้ก็มาดูว่าคุณมีศักยภาพพอไหม คุณต้องพัฒนาตัวเองให้ไปอยู่ตรงนั้นได้จริงๆ อีกข้อหนึ่งคือความเป็นมนุษย์ เราว่าคนปัจจุบันที่มีปัญหากันอยู่เพราะเห็นความเป็นมนุษย์ในคนอื่นไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคนดี คนเลว ฆาตรกร โจร นักการเมือง วัยรุ่นชูสามนิ้ว หรือกี่นิ้วก็แล้วแต่ มันคือมูลฐานคือคน เพราะฉะนั้น เขาต้องรู้สิว่าเงื่อนไขชีวิตคนไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันซับซ้อน มันเยอะ มันมีสิ่งที่คุณไม่รู้อยู่เยอะ”

จุดสตาร์ทของทุกอย่าง 

วัยเด็กของเด็กชายฮ่องเต้ถือดินสอและกระดาษมาตั้งแต่จำความได้ แรงบันดาลใจต่างๆ มาจากพ่อที่ชอบเปิดรูปสัตว์จากหลายๆ ที่ให้ดู ฮ่องเต้แสดงความเห็นเกี่ยวกับศิลปะในวัยเด็กไว้ว่า การปิดกั้นจินตนาการเด็กเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกดุเพราะวาดช้างสีชมพู จนกระทั่ง 4 ขวบ พ่อแม่เห็นแววจึงพาเข้าไปฝากตัวกับ ครูสังคม ทองมี ครูผู้วางพื้นฐานการสอนศิลปะเด็กให้กับประเทศไทย และครูสังคมบอกว่าช้างเป็นสีชมพูได้ นั่นคือประโยคที่ทำให้เขาเป็นตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงขนาดบอกว่าถ้าไม่มีวันนั้น เขาอาจจะเป็นได้แค่มนุษย์ที่ไร้ซึ่งจินตนาการก็ได้ 

“แล้วครูก็เอาผลงานเราไปประกวด โดยที่เราไม่รู้ตัวว่าส่งไปด้วยซ้ำ รู้อีกทีคือได้รางวัล แล้วได้รางวัลคือตลกมาก เรากับรางวัลรู้จักกันวันเดียวคือวันถ่ายรูป โมเมนต์คือมายืนตรงบอร์ดศิลปะ ใส่เสื้อบอดี้โกลฟ์สีส้มแรงๆ ครูก็เอาเหรียญมาคล้อง เราก็แฮ่ แล้วก็คล้อง ไปๆ มาๆ แม่งเริ่มเยอะ

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae
ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

“ตอนมัธยม เราก็เป็นตัวแทนไปประกวด อาจารย์เล่าให้ฟังว่าทุกครั้งที่เต้ไปประกวด เต้จะดีใจมาก ไม่ใช่ดีใจที่ไปประกวด แต่ดีใจที่ได้ออกนอกโรงเรียนตอนกลางวัน ได้กินข้าวกล่อง คือดีใจกับประสบการณ์ เราจะรีบวาดของตัวเองให้เร็วที่สุด จะได้ไปเดินดูคนอื่นวาด แล้วเราก็เป็นมาจนโต เราไม่เคยส่งงานไปประกวด เพราะรู้สึกว่าเกณฑ์การตัดสินของไทยมันตลก สังเกตดูว่ารูปที่ชนะจะเป็นแบบ Thai Contemporary Art ไม่ชีวิตที่ทุกข์ทนของชาวบ้าน ชาวนา ก็ช้าง ก็วัด วัดล้านนา วัดแถวอีสาน มีโบสถ์ ซึ่งเราไม่อิน เรารู้สึกคนวาดเยอะแล้ว ไม่ได้กลัวแมส แต่มีแรงก็ทำอย่างอื่นดีกว่า”

อาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มีผลต่อฮ่องเต้คือ อาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา อาจารย์ที่ปรึกษาตอนเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์บุญเสริมเปลี่ยนมุมมองในการทำงานของเขาไปอย่างสิ้นเชิง จากเด็กปี 5 ที่ไม่อยากทำทีสิสเรื่องรีสอร์ต เพราะส่วนตัวคิดว่าง่ายเกินไปที่จะเป็นโปรเจกต์สุดท้ายของชีวิตมหาวิทยาลัย 

“ตอนแรกเราเสนอพิพิธภัณฑ์ช้างแมมมอธและหินล้านปี เงื่อนไขคือต้องเป็นโปรเจกต์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง คือไม่นั่งเทียน ฉันก็ไปดั้นด้นหาจนเจอพิพิธภัณฑ์แต่ไม่มีแปลน ก็ไปหาแปลนที่กรมอุทยาน เขาบอกอยู่เขาใหญ่ พอได้มาทุกอย่างแล้วก็เอาไปนำเสนอเขาด้วยความหวังว่ากูได้ทำแน่ๆ ปรากฏไม่ได้ เหตุผลคืออาจารย์ไม่รู้จักช้างแมมมอธ อาจารย์ไม่มีความรู้พอที่จะตรวจ

“ตอนนั้นโกรธมาก โกรธหน้าแดง โกรธขนาดว่าไปของานรีสอร์ตเพื่อนมาทำทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ กระจอก มันชื่อพร มึงมีโปรเจกต์เหลือปะ มันหามาสองอัน ทิ้งอันหนึ่ง โอเค งั้นกูขอ ไซต์หน้าตาเป็นยังไงไม่รู้ อยู่ที่ไหนไม่รู้ ทำๆ ไปด้วยความทุกข์ระทม แล้วก็เอาไปส่ง อาจารย์บุญเสริมที่เป็นที่ปรึกษาบอกว่า คุณดูไม่มีความสุขเลยนะ ดูหมดอาลัยตายยากมาก ไม่ชอบเหรอ เราก็บอกว่า ครับอาจารย์ ผมไม่ชอบเลย มันไม่ท้าทาย แล้วอาจารย์ก็พูดสิ่งหนึ่งที่พลิกข้างในเราไปเลย โอ๊ย ท้าทายจะตาย ถ้ามันง่ายจริง คุณทำเสร็จออกมาดีไปแล้ว ทำไมไม่ถือว่าสิ่งที่คุณไม่ชอบเป็นความท้าทายหนึ่งล่ะ’”

แล้วมุมมองของฮ่องเต้ต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

อยากรู้ต้องกล้าถาม

ช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยในคณะสถาปัตย์ของฮ่องเต้เป็นเวลาที่สนุกและเต็มไปด้วยประสบการณ์ดีๆ ถึงแม้จะจบมาจากคณะที่ออกแบบบ้านได้ ฮ่องเต้กลับไม่คิดจะทำงานเกี่ยวกับบ้านเลยแม้แต่น้อย ครั้งเดียวที่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา 5 ปีคือการเป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร my home แต่การเรียนสถาปัตย์ก็ไม่ใช่การทิ้งเวลาหลายปีอย่างสูญเปล่า หลายอย่างที่ได้กลับมาเป็นสิ่งที่ทำให้ฮ่องเต้เป็นฮ่องเต้ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae
ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

“คณะสถาปัตย์เป็นคณะที่วิทย์ครึ่งหนึ่ง ความงามครึ่งหนึ่ง มันคิดด้วยหลักการนี้มาตลอดห้าปี”

ในการทำงาน เขาต้องตอบอาจารย์ให้ได้เสมอ ว่าทำไมถึงเลือกออกแบบในรูปแบบนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งความสวยงามของตัวอาคาร 

“ต้องตอบได้ว่า ทำไมทำฟอร์มนี้วะ เพราะออกมาทำงานจริงๆ คนก็ต้องการให้เราตอบ ยิ่งตอบได้เร็ว ก็ยิ่งได้เปรียบ กับตัวเองก็ชัดเจนไปด้วย งานบางงาน เหี้ย สวยว่ะ แต่ทำไมทำแบบนี้ ไม่ Make Sense แล้วเราก็ตั้งคำถามทุกอย่าง อย่าง รามเกียรติ์ เราก็ถามว่า ทำไมยักษ์ดูเลวจังวะ แล้วจริงๆ รามเกียรติ์ เป็นฉบับแรกปะวะ ไม่ใช่ว่ะ มันมี รามายณะ มาก่อน แล้วยักษ์มันต่างไหมนะ อ๋อ ต่างว่ะ ไม่ได้มีเขี้ยว แต่เป็นคนเลย แล้วทำไมไทยประดิษฐ์ยักษ์แบบนี้ล่ะ อ๋อ เรื่องการเมืองการปกครอง เพราะ Logic ไทยเป็นอย่างนั้น ไทยต้องมีตัวไม่ดี ไทยไม่ชอบความดีปนความชั่ว ต้องขาวจั๊วะหรือดำสนิทไปเลย”

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

เขาเป็นคนขี้สงสัย ช่างถาม อยากรู้ อาจเป็นด้วยคณะสถาปัตย์หล่อหลอมหรือเป็นนิสัยโดยแท้ของเขาก็ไม่แน่ หลายครั้งที่เขาถามร้านค้าต่างๆ ว่านี่ใช่เจ้าแรกจริงๆ ไหม แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับมา เขาจึงใช้การทำงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นทุกมุมมองและใกล้เคียงกับสิ่งที่อยากถ่ายทอดออกมาที่สุด จึงมักเกิดคำถามที่ดูเหมือนจะกวน แต่กลับจริงจังทุกครั้งไป 

“คำถามเดิมแต่ย้ำๆ ซ้ำๆ ในหลายๆ มุม แค่เราถามเป็นลูกเต๋า ก็ได้มุมมองอีกเยอะมากแล้ว ก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องตั้งคำถาม มันทำให้งานครีเอทีฟขึ้น” 

จากคำถามง่ายๆ คำถามเดียว นำไปสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ที่เรานึกไม่ถึง 

ศิลปะและความเชื่อ

สิ่งหนึ่งที่ฮ่องเต้พยายามสื่อสารมาโดยตลอดผ่านงานศิลปะ คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ พยายามหาเหตุผลให้กับสิ่งที่ไม่มีเหตุผล เหมือนเป็นการสื่อสารและให้ความรู้กับคนเพิ่มอย่างไม่ยัดเยียด แต่ใช้ศิลปะเป็นแนวทางให้การส่งสารออกไปถึงผู้รับเข้าใจง่ายขึ้น นอกจากองค์ประกอบด้านความสวยงามของงานศิลป์ที่ผู้คนจะได้รับกลับไป ยังมีแนวคิดต่างๆ ที่ต้องการสื่อสารออกไปด้วย

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae
ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

‘Flip the fan กลับตาลปัตร’ เป็นนิทรรศการร่วมกับศิลปินอีกหลายท่านที่เกิดขึ้นจากความสงสัยในความเชื่อ ทั้งความสงสัยว่าจริงๆ แล้วตาลปัตรทำหน้าที่อะไร แต่เดิมมาตาลปัตรเป็นของสูงแค่ไหน งานนิทรรศการนี้จึงหยิบเอาตาลปัตรมาพลิกโฉมกันใหม่หมด หยิบขึ้นมาใส่ลูกเล่นของศิลปะสมัยใหม่ ทำลายข้อจำกัดด้านวัสดุและสีสัน ไม่ใช่แค่เพียงรูปลักษณ์ แต่รวมไปถึงการใช้งานของมัน ที่แต่ก่อนเป็นเพียงแค่พัดธรรมดา ตอนนี้กลับกลายเป็นของสูงที่คนธรรมดาห้ามแตะต้อง ซึ่งปรากฏว่าได้กระแสตอบรับที่ดี ถึงขั้นมีพระบินลงมาจากเชียงใหม่เพื่อชมงานและบอกว่าน่าใช้ด้วย 

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

ส่วนผลงานปั้นตี่จู้เอี๊ยะที่ตั้งตามบ้านของชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งหลาย ฮ่องเต้สร้างคำถามในใจขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วเรากำลังไหว้ใครอยู่ ทำให้เกิดงานศิลปะขึ้นมาอีกชิ้นที่บังคับให้เราต้องก้มลงไปมองว่าภายใต้ศาลเล็กๆ ที่เราตั้งไว้ที่บ้าน คือเทพเจ้าองค์ไหน กลายเป็นอีกหนึ่งงานที่ท้าทายความเชื่อ แต่กลับไม่รู้สึกโดนยัดเยียดความคิดเข้ามาในหัวเลยแม้แต่น้อย กลับสนุกกับการร่วมหาคำตอบด้วยซ้ำไป

หรืออีกงานที่ฮ่องเต้ชอบและสนุกกับมันมาก คือการตัดสินใจทดลองวาดงานชิ้นหนึ่งลงบนเฟรมผ้าใบ ภายใต้กฎว่าจะขีดได้แค่วันละเส้นเท่านั้น จากวันแรกมาจนถึงวันสุดท้าย คล้ายๆ กับหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มหนึ่งตลอดช่วงเวลา 3 เดือนที่หยุดอยู่บ้าน กลายมาเป็น 85 เส้นบนเฟรม วันแรกๆ ก็จะเกรงใจผ้าใบสักหน่อย วันหลังๆ ก็ขีดผ่านๆ ไป หรือเมื่อมีใครมาเยี่ยมบ้านก็ขอให้เขาขีดให้บ้าง ในวันไหนที่ลืมขีดเส้นไปก็รู้สึกผิดกับตัวเองอย่างน่าประหลาด มีหลากหลายอารมณ์และเรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างการทดลองนี้ และแม้สุดท้ายภาพนี้ถูกทาทับสีดำด้วยหมึกจีน แต่สิ่งที่ยังคงเหลือร่องรอยไว้ คือความทรงจำของระยะเวลาที่เดินทางมาด้วยกัน

งานเปลี่ยนคน

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

ผลงานที่เปลี่ยนชีวิตฮ่องเต้คือ BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD งานศิลป์ในลักษณะของ Projection Mapping สุดล้ำลงบนผนังพระอุโบสถของวัดสุทธิวรารามเมื่อกลางปีที่ผ่านมา หน้าที่ของฮ่องเต้ในงานครั้งนี้ คือการออกแบบคาแรกเตอร์ ร้อยเรียงเรื่องราวแปลบทสวดคาถาพาหุงจากภาษาบาลีมาย่อยให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น จัดแจงให้พระประธานเป็นพระเอกของการเล่นละครกลางวัดครั้งนี้ ให้ศาสนาลงมาใกล้ชิดกับคนมากขึ้น 

“มีซีนหนึ่งที่บอกเพื่อนว่า กูอยากให้มียักษ์เดินมาตบพระประธานปลิว แล้วตอนตบ อยากให้มีเสียงป๊อง เพื่อให้รู้ว่านี่เป็นวัตถุ”

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae
ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์, Art of Hongtae

การเชื่อมโยงกับศาสนาสิ่งที่เขาทำมาตลอด แต่ในสเกลที่ใหญ่ขนาดเท่าพระอุโบสถ เป็นใครก็ต้องหมายใจไว้แต่แรกแล้วว่างานนี้ยังไงก็คงโดนด่าแน่ๆ เต็มประตู แต่สิ่งที่ได้รับกลับไม่มีเสียงคำติ มีแต่ความฮือฮาและความชื่นชมของทุกคน ที่สำคัญคือความภูมิใจที่ครั้งหนึ่งเขาทำให้ศาสนาและศิลปะได้จับมือกัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นไปในทางที่ดี และภาพผู้คนพากันมาที่วัดรอซื้อบัตรเข้ามาดูโชว์กันที่วัด ได้เป็นแรงใจในการทำงานของเขาในฐานะศิลปินคนหนึ่ง 

ครู

ในช่วงวัยปัจจุบันที่ฮ่องเต้อิ่มสุขมากแล้ว สิ่งต่อไปที่เขาตั้งใจทำอยู่คือการส่งต่อความรู้ เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่าคุณภาพของการเรียนการสอนศิลปะไทยในวัยเด็กอนุบาลจนถึงประถมต้นจัดอยู่เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ทำไมช่วงประถมปลายจนถึงมัธยมต้นกลับแย่ลง หากต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ก็ต้องเริ่มต้นจากตัวเอง 

“เราเคยไปสอนเป็นวิทยากรอบรมครูศิลปะที่ภาคอีสาน คนมาอบรบเป็นครูศิลปะจริงๆ ร้อยห้าสิบคน เป็นครูพละห้าสิบคน อ้าว แล้วทำไมมาสอน เขาบอกว่า ไม่มีใครสอนน่ะครับ เลยต้องมาสอน แปลว่าอะไร แปลว่า เห้ย มันมีคณะครุศิลป์ฯ นะเว้ย มึงแยกออกจากกันแล้ว มันต้องมีบุคลกรที่เป็นครูศิลปะสิ”

ฮ่องเต้เปรียบเทียบเด็กๆ เป็นเสมือนวัตถุดิบในมือของเชฟหรืออาจารย์สอนศิลปะ ผู้สอนต้องมองและตั้งคำถามว่าเด็กๆ เหล่านั้นเหมาะจะเป็นอะไร และถามเด็กๆ กลับว่า แล้วเด็กอยากจะเป็นอะไร 

“เด็กคนนี้คือไรวะ อ๋อ หมูสามชั้น ทำอะไรอร่อยบ้างวะ คนนี้คือกุ้ง กุ้งทำอะไรได้ แล้วกุ้งตัวนี้อยากไปเป็นอะไร ไม่ใช่สอนศิลปะแล้วเอาเด็กมากองรวมกันเพื่อทำเมนูเดียวกันหมด โห ตายห่า นึ่งหมด ตายนะ สามชั้นนึ่งไม่มีน้ำจิ้ม รสชาติอุบาทว์เลยนะ”

หลายปีที่ผ่านมามีน้องๆ แวะเวียนมานั่งทำงานที่สตูของฮ่องเต้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรม #วาดแลกกันสัตว์ ที่เอาไว้ให้แลกภาพวาดน่ารักๆ หรือจากรายการ Covid Diary ไปจนถึงการพบเจอน้องๆ จากงานประกวดต่างๆ ที่เขาได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการและดึงมาร่วมงานกัน 

“มีน้องหลายคนทักมาในไอจีว่าขอบคุณที่ทำให้กลับมาวาดรูปได้อีกครั้ง หนูเป็นซึมเศร้า หนูวาดรูปไม่ได้ มันไม่ดีพอ แต่พอดูรายการ ได้คุยกัน เห็นการวาดแลกกันแล้วก็มีกำลังใจกลับมาทำงานอีกครั้ง เรารู้สึกว่าเรากำลังสร้างคอมมูนิตี้ที่น่ารักและ Productive นี่เป็นความสุขของเราตอนนี้”

เราเลยถามเขาว่า ก็มีโอกาสใช่มั้ยที่ครั้งหน้ามาถามแล้วอาจจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่ศิลปินแล้ว 

“ถ้าเลิกทำแล้วก็อาจจะไม่เป็นศิลปินแล้ว ไปสอนเด็กก็อาจจะตอบว่าเป็นครู”

ฮ่องเต้ กันต์ธร เตโชฬาร ศิลปินที่ใช้ศิลปะตั้งคำถามกับตาลปัตร ตี่จู้เอี๊ยะ และความเชื่อมนุษย์

Writer

Avatar

ณัฐณิชา โอภาสเสรีผดุง

นิสิตสถาปัตย์ สนใจประวัติศาสตร์ สถาปัตย์ ไลฟ์สไตล์ เวลาว่างหมดไปกับแมวและของกิน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ