5 กุมภาพันธ์ 2021
4 K

โรคมะเร็งคือภัยร้ายภายในร่างกายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นสาเหตุอันดับ 1

ในแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไทยราว 120,000 คน

ด้วยความสลับซับซ้อนของโรค ผู้ป่วยอาจต้องผ่านกระบวนการรักษาที่ยาวนาน ยืดเยื้อ เจ็บปวด ใช้ทุนทรัพย์สูงในการรักษา พลิกชีวิตของทั้งครอบครัวอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม

ข้อเท็จจริงเหล่านี้เพียงได้ยินก็ชวนให้หดหู่ หวั่นใจ มะเร็งจึงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ชีวิตที่ผู้ป่วยต้องอาศัยกำลังใจชุดใหญ่ เพื่อยืนหยัดต่อสู้ อดทนให้ผ่านพ้น

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

ออย-ไอรีล ไตรสารศรี เข้าใจช่วงเวลาเช่นนี้ดี ในวัยเพียง 27 ปี ก่อนเดินทางไปเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศ 1 สัปดาห์ เธอตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 โดยปราศจากอาการใดมาตักเตือนให้ทันเตรียมใจ

แม้เจ็บปวด แต่เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้ออยทบทวนเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ และก่อตั้งโครงการ Art for Cancer หยิบวิชาศิลปะที่เธอชื่นชอบมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อระดมทุนสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งที่ยากลำบาก พร้อมทำกิจกรรมเยียวยาจิตใจให้พวกเขาไม่ต้องทนทุกข์ลำพัง

แม้ศิลปะไม่อาจรักษามะเร็งให้หาย แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

นั่นคือสิ่งที่ออยทุ่มเททำมาตลอด 10 ปี ผ่านโครงการที่อายุพอๆ กับจำนวนวันที่เธอรู้ว่าเป็นมะเร็ง

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

“ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานอีกเท่าไร เลยมีแรงอะไรไม่รู้ที่ท่วมท้นมากที่สุดในชีวิต เพราะก่อนตายก็อยากทำอะไรทิ้งไว้ให้ดีที่สุด” หญิงวัย 37 ปีเกริ่นที่มาของ Art for Cancer ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้วิสาหกิจเพื่อสังคม ‘Art of Life’ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มสดใส ภายในห้องที่มีผลงานศิลปะประดับรายล้อม

ศิลปะมอบพลังให้แก่ชีวิตในช่วงเปราะบางอย่างไร ชีวิตที่พบเจอผู้ป่วยมะเร็งอยู่เสมอมอบวิชาอะไรให้เธอบ้าง

ขอชวนคุณมาสำรวจการเดินทางระยะไกลของศิลปินคนนี้ไปด้วยกัน

ระยะที่ 1 : ศิลปะการระดมทุน

“ตอนแรกคิดแค่ว่าชวนเพื่อนมาทำอะไรที่พอทำได้” ผู้ตรวจพบมะเร็งเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เมื่อ พ.ศ. 2554

ออยเรียนจบด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มีหมู่เพื่อนที่สร้างสรรค์ผลงานเก็บสะสมไว้จำนวนมาก เมื่อเธอเห็นว่ามีผู้ป่วยมะเร็งหลายรายต้องเผชิญกับความยากลำบากด้านทุนทรัพย์ระหว่างกระบวนการรักษาของตัวเอง จึงเปิดเพจเฟซบุ๊ก ชวนเพื่อนมาขายงานศิลปะที่วางไว้เฉยๆ เหล่านั้นให้กลายเป็นเงินบริจาค พร้อมทั้งผลิตของที่ระลึกและอุปกรณ์เครื่องใช้จำหน่าย 

เช่น สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง ที่ออกแบบสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โดยทีมผู้ป่วยมะเร็ง เปิดเข้าไปจะมีข้อมูลความรู้ ข้อความน่ารักๆ พื้นที่ว่างสำหรับจดบันทึกการรักษาและความรู้สึก และกล่องพลังใจ เป็นของขวัญมอบให้ผู้ป่วยมะเร็ง

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ออยได้รับเงินสนับสนุนเกิน 1 ล้านบาท จากผู้ที่เห็นเรื่องราวของออยและยินดียื่นมือช่วยเหลือ

“รู้ตัวอีกทีก็ตกใจ เพราะมันเยอะมากสำหรับเรา ปีแรกทำให้เรามองเห็นว่าศักยภาพที่มีอยู่รอบตัวสามารถสร้างประโยชน์กับสังคม” ศิลปินหญิงกล่าว เธอพบว่าแม้ศิลปะอาจดูเข้าถึงคนทั่วไปยากในบริบทสังคมไทย แต่ความเกื้อกูลกันยังเป็นสิ่งที่มีอยู่ และช่วยผลักดันให้โครงการนี้เป็นไปได้

รายได้จากน้ำใจอันดีงามนี้ ออยนำบริจาคเข้า 3 มูลนิธิ คือ ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยมีการแจกแจงเงินอย่างเปิดเผยเพื่อสร้างความโปร่งใส

ในขณะเดียวกัน ช่วง 5 ปีแรกนั้น ออยดำเนินการรักษาโรคมะเร็ง กลับไปเรียนต่อ Design Management ที่สหราชอาณาจักร จนสำเร็จการศึกษา และทำงานในสายครีเอทีฟ ควบคู่ไปกับการดูแลโครงการด้วยตัวเองเป็นหลัก โดยมีครอบครัวและจิตอาสาแวะเวียนเข้ามาเป็นกำลังเสริม 

ก่อนที่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่จะเข้ามาในชีวิตเธอ

ระยะที่ 2 : Art of Life

พ.ศ. 2560 เมื่อ Art for Cancer เข้าสู่ปีที่ 6 ออยได้รับแจ้งข่าวร้าย

มะเร็งกลับมาลุกลามในชีวิตเธออีกครั้ง คราวนี้เป็นระยะที่ 4

“ก่อนหน้านี้เรายังประมาทบ้าง แต่คราวนี้มันใกล้เข้ามามากๆ เรายิ่งมีแรงผลักดันในการทำให้โครงการอยู่ได้อย่างยั่งยืน มีโมเดลที่ชัดเจน และทีมรับช่วงต่อได้” 

แม้เผชิญความท้าทาย แต่เธอมีสติมากกว่าเคย และตั้งใจจะใช้ชีวิตทุกวันให้เป็นประโยชน์ที่สุด 

เมื่อรู้ว่ารีรอไม่ได้ ออยนำความรู้ด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เรียนและทำวิจัยถึงแนวทางการพัฒนา Art for Cancer ตอนปริญญาโทมาปรับใช้ ประจวบเหมาะกับการเจอคู่คิดอย่าง เบลล์-ศิรินทิพย์ ขัติยกาญจน์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย จึงร่วมกันก่อตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมในชื่อ Art of Life ด้วยความเชื่อว่าศิลปะอยู่ได้ทุกหนแห่งของชีวิต 

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

Art for Cancer มีเป้าหมายหลัก 3 อย่างที่ชัดเจนขึ้นคือ

หนึ่ง สนับสนุนผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ บางรายจำเป็นต้องใช้เงินหลักแสนเพื่อรักษา

สอง ให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง สอดแทรกในผลิตภัณฑ์และกิจกรรม เพราะยังมีคนที่เข้าถึงข้อมูลที่ทำให้รักษาไม่ตรงจุดอยู่

สาม ให้แรงบันดาลใจ การเยียวยาทางจิตใจ เช่น การเข้าไปทำกิจกรรมให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลร่วมกับนักศิลปะบำบัด และการทำโปรเจกต์ร่วมกับกล่องดินสอ ชวนคนตาบอดกับคนทั่วไปมาวาดลวดลายตกแต่งหอผู้ป่วยมะเร็งที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 

ทั้งหมดนี้ใช้ศิลปะและความสร้างสรรค์เป็นสะพานเชื่อมผู้คนเข้าหากัน ต่อมากิจกรรมไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น แต่ยังเริ่มขยายต่อไปยังบุคคลทั่วไปด้วย เช่น พนักงานองค์กร 

“เรามองว่าศิลปะเป็นภาษาสากลที่ทรงพลัง มันอยู่กับตัวเราทุกคนตั้งแต่เด็ก แต่พอโตขึ้นเราอาจถูกจำกัดว่าศิลปะต้องสวย เป็นไปตามสเกล ในเชิงเทคนิคก็ถูกต้องแล้ว แต่ในชีวิตจริง มันไม่ได้มีขอบเขตเลย” 

เมื่อทำต่อเนื่องและชัดเจน บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ให้ความสนใจร่วมมือเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) ด้วย ทำให้ Art for Cancer มีพันธมิตรทั้งศิลปิน ชุมชนขนาดย่อย และองค์กรใหญ่

ล่าสุด พ.ศ. 2562 Art for Cancer เป็นแกนนำจัดงาน Cancel Cancer Festival ที่ได้รับการสนับสนุนจนระดมทุนเข้ามูลนิธิได้มากถึง 11 ล้านบาท

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

ระยะที่ 3 : ศิลปะดูแลใจ

ศิลปะทำให้มนุษย์คุยกันมากขึ้น ทั้งคุยกับภายในตัวเองและคนรอบข้าง

เมื่อ 2 ปีก่อน ออยเริ่มทำกิจกรรมในโรงพยาบาลร่วมกับนักศิลปะบำบัดที่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีพื้นที่สื่อสารเรื่องราวและแต่งแต้มจินตนาการ ภายในบรรยากาศห้องสี่เหลี่ยมที่เต็มไปด้วยเตียงนอนและผู้ป่วย

“ปกติพยาบาลจะพยายามหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำอยู่แล้ว แต่บางทีก็ไม่รู้ว่าจะให้ทำอะไรดี ศิลปะบำบัดเป็นตัวช่วยเข้ามาทำให้คนตระหนักรู้อารมณ์ และมองเห็นบางอย่างในชีวิต” นักศิลปะบำบัดฝึกหัดที่กำลังเรียนอย่างจริงจังด้วยตัวเองเล่าให้ฟัง

กระบวนการมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเลยก็ได้ หนึ่งในวิธีคือการชวนกลุ่มผู้ป่วยมาแบ่งปันเรื่องราว ผ่านอุปกรณ์ง่ายๆ เช่นการ์ดที่มีภาพวัตถุหรือลวดลายนามธรรม ให้เลือกสรรมาแทนความรู้สึกตัวเอง ขั้นตอนนี้ช่วยในการเปิดบทสนทนาได้เป็นอย่างดี 

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง
Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

“บางคนนอนอยู่เตียงข้างกันแต่ไม่เคยคุยกันเลย พอหยิบการ์ดขึ้นมา ก็พูดคุยแบ่งปันกันได้เป็นชั่วโมง เป็นคนที่เผชิญอะไรคล้ายกันมาให้กำลังใจกัน

“มันไม่ได้ทำให้มะเร็งหายไป แต่มีเปเปอร์ต่างๆ ยืนยันว่าศิลปะบำบัดเป็นตัวช่วยเสริมในการรักษา ให้คนได้ระบายปลดปล่อย บางคนไม่เคยกล้าร้องไห้ เพราะกลัวครอบครัวไม่สบายใจเลยอั้นเก็บไว้ แต่ต่อให้เข้มแข็งแค่ไหน ธรรมชาติมนุษย์เราก็ต้องการพื้นที่อ่อนแอเหมือนกัน

“บางคนเห็นเพื่อนที่รักษามาด้วยกันเสียชีวิตไปก่อน บางคนผ่าตัด สูญเสียอวัยวะ เห็นร่างกายตัวเองเต็มไปด้วยร่องรอยก็รู้สึกสะเทือนใจจนเศร้า การมีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ทำงานภายใน และเพื่อนร่วมทางที่ช่วยโอบอุ้มกันจึงสำคัญมาก”

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง
Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

จากประสบการณ์นี้ Art for Cancer จึงต่อยอดร่วมกับพันธมิตรด้านศิลปะบำบัด พัฒนา ‘ชุดศิลปะดูแลใจ’ เป็นกล่องอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยเล่นได้ด้วยตัวเอง (แต่ถ้ามีนักศิลปะบำบัดด้วย จะช่วยให้เกิดกระบวนการเล่นเป็นกลุ่ม) ภายในมีการ์ด สี กล่องโฟม แท่งไม้ และหนังสือเล่มหนาที่ออกแบบให้น่ารักน่าใช้ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 สี รวมทั้งหมด 12 กิจกรรม เหมาะแก่การนั่งเปิดทบทวนชีวิตอย่างลึกซึ้ง (เปิดจำหน่ายเร็วๆ นี้)

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง
Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

ระยะที่ 4 : ศิลปะ ธุรกิจ สังคม

10 ปีที่ผ่านมา Art for Cancer ระดมทุนและบริจาคเข้ามูลนิธิไปแล้วราว 20 ล้านบาท มีการขยายทีมเพิ่มมากขึ้นเพื่อมาทำงานร่วมกันที่โฮมออฟฟิศย่านศาลายา จังหวัดนครปฐม บางคนเลือกลาออกจากบริษัทใหญ่เพื่อมาทำงานนี้ เพราะเห็นตรงกันกับพันธกิจขององค์กรที่มีต่อสังคม

แต่เมื่อเติบโตขึ้น โจทย์ที่ท้าทายตามมาคือการวัดผลลัพธ์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในฐานะ Social Enterprise

“มีคนเคยพูดบั่นทอน เข้าใจผิดว่าเราหากินกับผู้ป่วย ทำไมต้องทำเป็นธุรกิจ แต่เมื่อเติบโตขึ้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน และมันมีความยากอยู่ เพราะต้องมีโมเดลสร้างรายได้ที่ตรงกับเป้าหมายทางสังคมด้วย ต้องวางแผนมากขึ้น เราก็พยายามแปรผล ช่างน้ำหนักให้เกิดความสมดุลและกลับมาทบทวนตัวเองบ่อยๆ

“ไม่ใช่ทุกอย่างที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจกลับมาด้วย แต่ถึงจะมากจะน้อย เราจะทำเท่าที่เราทำได้ เพราะตอนเริ่มก็ไม่ได้คิดว่าต้องใหญ่โตแค่วันหนึ่งช่วยผู้ป่วยมะเร็ง 1 คนให้มีกำลังใจได้ก็มีค่ามาก

“เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป แค่นี้ถือว่าสำเร็จแล้ว แต่ถ้าโตได้ก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยคนอื่นได้มากขึ้นอีก” ออยยิ้มในฐานะผู้ริเริ่มและทุ่มเทให้ Art for Cancer มาตลอดทั้ง 10 ปี พร้อมบอกว่าไม่เคยมีวันใดที่คิดจะเลิกทำสิ่งนี้เลย

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง
Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

ศิลปะการใช้ชีวิต

“เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะที่สี่ที่โชคดีมาก” ออยเล่าถึงสุขภาพตัวเองในช่วงนี้ แม้มีผลข้างเคียงบางประการจากการรักษา แต่เธออยู่ร่วมกับมะเร็งได้เป็นอย่างดีแล้ว

“จะพูดว่าไม่เป็นอะไรเลยก็คงไม่ใช่ แต่ไม่ได้ต่อต้านหรือทุรนทุราย มองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเราที่ต้องยอมรับและเรียนรู้จะอยู่ด้วยกันมากกว่า” 

จากประสบการณ์ต่อสู้และอยู่ร่วมกับมะเร็งมาร่วม 10 ปี ความฝันก้าวต่อไปของออยคือ การต่อยอดศิลปะและการออกแบบที่เธอรักมาตั้งแต่สมัยเด็ก ให้ไปผสมผสานอยู่ในเรื่องอื่นที่ได้ช่วยเหลือสังคมไปด้วย พร้อมกับการเดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งที่เข้มแข็งในประเทศไทย

จากเนื้อร้ายที่เล่นงานชีวิต วันนี้ มะเร็งกลายเป็นโรคที่ทำให้ออยค้นพบเหตุผลของตัวเองในการมีชีวิตอยู่ต่อไป

Art for Cancer : 10 ปีของ SE ที่ใช้ศิลปะระดมทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยมะเร็ง

สนับสนุนผลงานศิลปะเพื่อผู้ป่วยมะเร็งและติดตาม Art for Cancer ได้ที่

Facebook : Art for Cancer

Website : Art for Cancer

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน