“ถึงเวลาที่ Movement ด้านศิลปะร่วมสมัยบนโลก จะต้องพูดเรื่องประเด็นสาธารณะด้วย”

หลายครั้งที่คนมองว่างานศิลปะที่จัดแสดงเรียงรายอยู่ตามนิทรรศการต่างๆ มักสวยงาม ชวนปล่อยใจถ่ายรูปได้ทั้งวัน แต่ Chief Curator ของนิทรรศการศิลปะที่เชียงใหม่นี้อย่าง ชล เจนประภาพันธ์ เน้นว่างานนี้ไม่ใช่แค่สวยดูเพลิน แต่แฝงนัยยะเรื่องสภาพสังคมอากาศไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างแยบยล

 ชล เจนประภาพันธ์

นิทรรศการ ART for AIR โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ในปีนี้ต่อยอดจากงาน ART Auction for AIR เมื่อปีที่แล้ว โดยครั้งนี้มีศิลปินกว่า 90 ชีวิตมาร่วมถ่ายทอดผลงานของพวกเขาผ่านงานศิลป์แขนงต่างๆ กว่า 80 ชิ้น เพื่อแสดงให้เห็นการขับเคลื่อนให้เกิดงาน Art Biennale เล็กๆ ขึ้นของศิลปินในโซนภาคเหนือ และเป็นการบอกเล่าประเด็นทางสังคมที่โยงใยกันอยู่ผ่านมุมมองเชิงสุนทรียศาสตร์ แม้ว่าธีมของงานครั้งนี้จะเป็นเรื่องของ PM 2.5 ฝุ่นควัน และมลภาวะในเชียงใหม่ แต่ล้วนโยงใยอยู่ด้วยประเด็นทางสังคมที่หยั่งลึกกว่านั้น

โจทย์ของงานนี้คือการใช้การสื่อสารผ่านงานศิลปะ เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออกว่า คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็อยากจะบอกเล่า เรียนรู้ และทำให้ประเด็นเรื่อง PM 2.5 ขยายกว้างออกไป ผ่านมุมมอง ความคิดเห็น และสมมติฐานในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการสนทนา ดึงให้คนที่เข้ามาชมได้ร่วมพูดคุยถึงปัญหานี้

เราอยากชวนผู้อ่านตามไปดูงานศิลปะ 10 ชิ้นที่ Curator เลือกมาให้แล้วว่าเจ๋งจนต้องตามไปดู

1

ลมหายใจเดียวกัน

คามิน เลิศชัยประเสริฐ

ศิลปะเพื่อการย้ำเตือนถึงปัญหา

เมื่อกวาดสายตามองจนทั่วลานกว้างสุดลูกหูลูกตาบริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ รูปสลักของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางลาน พร้อมกับป้ายสลักวลี ‘Our house is on fire’ 

ลมหายใจเดียวกัน, คามิน เลิศชัยประเสริฐ

เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) คือความประทับใจที่ทำให้ คามิน เลิศชัยประเสริฐ เลือกเธอมาเป็นสัญลักษณ์หลักในงานศิลปะชิ้นนี้ ด้วยมุมมองที่เธอมีต่อปัญหาโลกร้อน ทำให้คามินอยากสะท้อนพลังของเด็กผู้หญิงคนนี้ออกมา พลังแห่งความต้องการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เมื่อบวกกับวลีที่เธอเคยพูดเอาไว้ ยิ่งเป็นการย้ำเตือนให้เห็นว่า โลกที่เราอาศัยอยู่กำลังเกิดวิกฤต

รูปสลักของเกรตาตั้งอยู่บนงานประติมากรรมจากไม้ขนุนที่ล้มตายตามธรรมชาติ แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจงเป็นภาพโครงกระดูกมนุษย์ ฝูงช้าง และต้นไม้เล็กๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกชีวิตต่างอยู่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ หากธรรมชาติอยู่ต่อไปไม่ได้ มีหรือที่มนุษย์และสัตว์จะดำรงอยู่ต่อไป

ลมหายใจเดียวกัน, คามิน เลิศชัยประเสริฐ

ที่ตั้ง : ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : เปิดทำการทุกวัน

2

THE BEAUTY OF FIRE

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ศิลปะเพื่อการส่งต่อความงามของเปลวไฟและชีวิต

“ไฟคือสิ่งสวยงามและวัฒนธรรม ไม่ใช่อันตราย ปัญหาไม่ใช่ไฟ แต่คือการใช้ไฟ”

THE BEAUTY OF FIRE, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ชลอธิบายถึงงานศิลปะจัดวางที่บอกเล่าความงามของเปลวไฟและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาอยู่ร่วมกับการใช้ไฟเพื่อทำไร่หมุนเวียนมาหลายร้อยปี แต่ในวันนี้วัฒนธรรมของพวกเขาถูกมองว่าเป็นตัวการของปัญหา ทำให้ภูมิสถาปนิกสาวอย่าง บีน-สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ จัดทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อบอกว่าวิถีชีวิตและการเผาของชุมชนบนพื้นที่สูงอาจไม่ใช่ตัวการหลักของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น

“การสั่งห้ามเผาแบบปีที่แล้วยิ่งสร้างปัญหา แทนที่เขาจะได้ทยอยเผาบางอย่าง กลับต้องมาอั้นแล้วเผาทีเดียว” ชลเล่าก่อนจะชื่นชนความเจ๋งของงานศิลป์ชิ้นนี้ว่า โครงเหล็กสีดำ ล้อมด้วยผ้าสีขาวบางๆ ปักเล่นสีของเปลวเพลิง ซ่อนลวดลายของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่ถูกจัดเรียงอย่างละเอียดงดงามด้วยลูกเดือย และเมล็ดพืชเล็กๆ ชวนให้เราลองมองถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นแพตเทิร์นของธรรมชาติ

THE BEAUTY OF FIRE, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ที่ตั้ง : โกดังจริงใจ 45 ถนน อัษฎาธร ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันเสาร์และวันอาทิตย์ 9.00 น. – 16.00 น.

วันจันทร์และวันศุกร์ 10.00 น. – 16.00 น.

ปิดวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี

3

Will we recognize them?

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ศิลปะเพื่อการตระหนักรู้

“บางอย่างอาจจะสายเกินไป จนสุดท้ายเราอาจทำขึ้นมาได้แค่การจำลอง”

Will we recognize them?, เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ทางซ้ายมือของงาน THE BEAUTY OF FIRE มีซากต้นเต็งหนามที่ถูกไฟคลอก ผลงานของ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล จัดวางไว้ ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้ คือการแฝงวิธีคิดไว้อย่างแยบคาย ตั้งแต่การออกตามหาซากไม้ที่ล้มจากการโดนไฟคลอก แล้วใช้ดินบริเวณรอบๆ มาปั้นเป็นต้นเต็งหนามจำลองติดตั้งลงบนซากของต้นจริง แบบเก็บรายละเอียดจากตอนที่ยังมีชีวิตอยู่มาเป๊ะๆ ทุกกระเบียดนิ้ว

เช่นเดียวกับงานที่ผ่านมาของเขา ซึ่งมักใช้แรงบันดาลใจจากโรคภูมิแพ้ที่เป็นอยู่ บอกเล่าปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยงานชิ้นนี้โจ้ต้องการสื่อสารให้เห็นว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นแย่มากจนไม่ควรปล่อยให้สายเกินไป

ลองแวะชมงานศิลป์ชิ้นนี้ดู บางทีเราอาจจะไม่อยากปล่อยให้คำว่าสายเกินไปเกิดขึ้นในชีวิตเราอีกก็ได้

Will we recognize them?, เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ที่ตั้ง : โกดังจริงใจ 45 ถนน อัษฎาธร ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันเสาร์และวันอาทิตย์ 9.00 น. – 16.00 น.

วันจันทร์ และวันศุกร์ 10.00 น. – 16.00 น.

ปิดวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี

4

A Silent Storm พายุเงียบ และ Debris สะเก็ด

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ศิลปะเพื่อการสะท้อนส่วนหนึ่งของชีวิต

ภายในโกดังแห่งนี้ยังมีงานภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่คล้ายเป็นป้ายประชาสัมพันธ์ 2 ชิ้น ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บอกเล่าเรื่องราวของฝุ่นควันในเชียงใหม่ออกมาอย่างง่ายๆ จัดแสดงอยู่

A Silent Storm พายุเงียบ และ Debris สะเก็ด, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

“มันคือภาพที่ทุกคนเห็นแล้วรู้ว่า คนเชียงใหม่ตื่นมาก็ต้องมองไปที่ดอยสุเทพ มองจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มองจนตัวเขากลายเป็นสภาพแวดล้อมไปแล้วส่วนหนึ่ง” ชลพูดถึงภาพ A Silent Storm พายุเงียบ ภาพของชายคนหนึ่งที่มองภูเขาในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆ ในการสังเกตค่าความหนาแน่นของฝุ่นละอองในอากาศด้วยตาเราเอง จากรายละเอียดของต้นไม้และภูเขาที่จะค่อยๆ เลือนหายไปในวันที่ฝุ่นหนาแน่นขึ้น 

Debris สะเก็ด ภาพถ่ายของชายหนุ่มที่ถูกพ่นสีคาดทับด้วยเส้นสายสีดำคล้ายเส้นเลือด ภาพนี้เจ้ยต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางอากาศที่เกิดขึ้น เพื่อส่งแรงกระเพื่อมนี้ในวงกว้าง พร้อมตั้งคำถามว่า เรามีความสุขกับชีวิตที่กลายเป็นส่วนหนึ่งกับฝุ่นไหม

A Silent Storm พายุเงียบ และ Debris สะเก็ด, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ที่ตั้ง : โกดังจริงใจ 45 ถนน อัษฎาธร ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันเสาร์และวันอาทิตย์ 9.00 น. – 16.00 น.

วันจันทร์และวันศุกร์ 10.00 น. – 16.00 น.

ปิดวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี

5

ผลงาน Sound Installation

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

ศิลปะเพื่อการรับฟังปัญหา

บางครั้งการเสพงานศิลป์ก็ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่ตาเห็น

ผลงาน Sound Installation, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

แค่เดินผ่านประตูทางเข้าโกดังจริงใจ ลองมองไปทางขวามือ จะเห็นลำโพง 5 ตัวที่ห้อยโยงลงมาจากเพดาน ลองก้าวเข้าไป แล้วให้เสียงบทกวีที่ถูกบันทึกขึ้นใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะโอบล้อมตัวเรา ผ่านการถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ที่เป็นการอ่านบทกวีบทหนึ่ง ด้วยน้ำเสียงแหบแห้ง จนทำให้ถ้อยคำต่างๆ ฟังออกบ้าง ไม่ออกบ้าง รวมกับการซ้อนทับของเสียงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งบางครั้งเราอาจมองไม่เห็นมันเลย

“น้ำเสียงอารยาจะทำให้เราเห็นว่า นี่คือสิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่ เราแทบจะหายใจไม่ออกเลย” ชลบอกถึงความน่าสนใจของงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นงานที่เข้าใจง่าย แต่กลับแฝงไว้ด้วยความลึกซึ้งในวิธีการสื่อสาร 

ลองหลับตาลงแล้วสัมผัสงานชิ้นนี้ เพราะบางครั้งงานศิลป์ดีๆ อาจไม่ต้องใช้สายตามอง

ผลงาน Sound Installation, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

ที่ตั้ง : โกดังจริงใจ 45 ถนน อัษฎาธร ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันเสาร์ และวันอาทิตย์ 9.00 น. – 16.00 น.

วันจันทร์และวันศุกร์ 10.00 น. – 16.00 น.

ปิดวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี

6

บทสนทนาระหว่างผานกับกระจกรถยนต์

ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

ศิลปะเพื่อการถกเถียงและพูดคุย

สรุปว่ามลพิษที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ใครกันแน่ที่เป็นคนทำ

งาน Kinetic Art ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ทำไร่อย่างผานไถ ถูกติดตั้งให้เคลื่อนที่ลากวนเรื่อยๆ บนลานดินวงกลม กับกระจกรถยนต์ที่ปล่อยควันออร์แกนิกออกมาได้ เหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ต้องการสร้างตัวแทนของบทสนทนาระหว่างคนเมืองกับชาวดอยขึ้นมา

บทสนทนาระหว่างผานกับกระจกรถยนต์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

เพราะทุกคนต่างมีแนวคิดและข้อโต้แย้งของตัวเอง เกี่ยวกับตัวการที่แท้จริงของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ตัวแทนของชาวดอยอย่างผานไถ ถูกใช้เพื่อสะท้อนความคิดที่ว่า ยิ่งคนเมืองขับรถเยอะก็ยิ่งสร้างมลพิษเยอะ เช่นเดียวกับกระจกรถยนต์ที่เป็นตัวแทนของคนเมือง ก็สะท้อนความคิดว่า วัฒนธรรมการเผาของชาวดอยต่างหากที่เป็นตัวการของมลพิษ

นอกจากความสวยงามของงานศิลปะแล้ว การได้พูดคุยถึงสิ่งที่แฝงอยู่ในงานชิ้นนั้นๆ ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเสพงานศิลป์เช่นกัน ลองไปดูงานชิ้นนี้ แล้วคุยกับคนข้างๆ เราอาจจะรู้ว่ากระจกรถยนต์กับผานไถ กำลังคุยอะไรกัน

บทสนทนาระหว่างผานกับกระจกรถยนต์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

ที่ตั้ง : โกดังจริงใจ 45 ถนน อัษฎาธร ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันเสาร์และวันอาทิตย์ 9.00 – 16.00 น.

วันจันทร์และวันศุกร์ 10.00 – 16.00 น.

ปิดวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี

7

คนฝาก

DDMY Studio

ศิลปะเพื่อการเตือนภัย

เคยจินตนาการถึงงานศิลปะที่ผสานเข้ากับเทคโนโลยีบ้างไหม

เสาของโกดัง 5 ต้น ถูกติดตั้งเซ็นเซอร์รับความร้อนของอุปกรณ์ต้นแบบเครื่องตรวจจับไฟ ด้วยแนวคิดว่า หากเรามีอุปกรณ์ที่แจ้งเตือนไฟป่าได้ เราคงจะดับไฟได้ก่อนมันลุกลามเป็นวงกว้าง ร่วมกับการประยุกต์เทคโนโลยี IOT โดยการติดตั้งเครื่องตรวจจับไฟไว้กับต้นไม้ อุปกรณ์นี้จะส่งสัญญาณต่อๆ กันเป็นเครือข่าย เพื่อความสามารถในการส่งสัญญาณจากจุดที่ไร้สัญญาณโทรศัพท์ไปยังจุดแจ้งเตือนในพื้นที่ต่างๆ ว่าเกิดไฟไหม้ที่บริเวณใด เพื่อเข้าไปดูแลและระงับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

คนฝาก, DDMY Studio

เพียงแค่ยกมือขึ้นที่หน้ากล่องไฟจำลองที่ติดตั้งภายในโกดัง อุปกรณ์ต้นแบบจะทำงานขึ้นทันที โดยที่เราสังเกตการแจ้งเตือนจุดที่เกิดไฟได้จากภาพที่ฉายลงบนพื้นบริเวณทางเข้างาน 

ใครไม่อินกับการเดินดูงานศิลป์ไปเรื่อยๆ ลองพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับชิ้นงานแบบนี้บ้าง ก็อาจเปลี่ยนมุมมองการชมงานศิลปะของเราไปได้

คนฝาก, DDMY Studio

ที่ตั้ง : โกดังจริงใจ 45 ถนน อัษฎาธร ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันเสาร์ และวันอาทิตย์ 9.00 – 16.00 น.

วันจันทร์ และวันศุกร์ 10.00 – 16.00 น.

ปิดวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี

8

Fog You

เป็นเอก รัตนเรือง

ศิลปะเพื่อการเมืองที่ทับซ้อนอยู่ในฝุ่นควัน

เมื่อเรื่องของฝุ่นควันทับซ้อนอยู่กับเรื่องการเมือง

Fog You, เป็นเอก รัตนเรือง

ออกจากโกดังจริงใจ ไปต่อกันที่ Gallery Seescape ที่นี่มีการฉายภาพยนตร์สั้น โดย ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ผ่านมุมมองที่ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ใช่แค่เพียงฝุ่นควันที่เป็นมลพิษ แต่การเมืองเองก็เช่นกัน ซึ่งเราเองก็ถูกมลพิษเหล่านั้นปกคลุมอยู่ โดยที่ต้อมผนวกเอากระแสทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน เข้ากับควันสีขาว เพื่อถ่ายทอดปัญหามลพิษในอากาศ และความคลุมเครือที่กำลังเข้าปกคลุมตัวเราโดยไม่ทันสังเกต

ตัวภาพยนตร์ถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย ด้วยภาพผู้หญิงคนหนึ่งนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก่อนจะมีควันค่อยๆ เข้ามาปกคลุม จนตัวเธอหายไป พร้อมกับเสียงของผู้คนที่กำลังประท้วงอยู่

ใช้เวลากับภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้สักหน่อย เราอาจได้เห็นประเด็นที่โยงใยกันอยู่ของปัญหาฝุ่นควัน และสถานการณ์ทางการเมือง

Fog You, เป็นเอก รัตนเรือง

ที่ตั้ง : Gallery Seescape 22/1 ถนนนิมมานเหมินท์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : 11.00 – 20.00 น. ปิดวันจันทร์

9

“มาสร้างฉากโรแมนติกกัน — Let’s Make a Romantic Scene”

สาครินทร์ เครืออ่อน

ศิลปะเพื่อการบอกเล่าผลกระทบของฝุ่นควัน

หากพูดถึงลูกแก้วหิมะ คุณนึกถึงอะไร

บรรยากาศสุดโรแมนติกของบ้านหลังเล็กๆ แสนอบอุ่นในโดมแก้ว ปกคลุมด้วยหิมะ

“มาสร้างฉากโรแมนติกกัน -- Let’s Make a Romantic Scene”, สาครินทร์ เครืออ่อน

แต่งานชิ้นนี้ของ สาครินทร์ เครืออ่อน บรรจุแลนด์มาร์กเด่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ย่อส่วนเอาไว้ในโดมแก้วที่ระลึกที่มีของเหลวผสมฝุ่นจากแผ่นกรองอากาศในบ้านของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับการตั้งกล้องขนาดเล็กฉายไปที่ผนัง เพื่อขยายภาพของบรรยากาศภายในโดมเหล่านั้นให้ออกมาเหมือนจริงที่สุด

โดยสาครินทร์ต้องการบอกเล่าว่า ปัญหาฝุ่นควันนั้นเกิดขึ้นและส่งผลกระทบในแทบจะทุกด้าน ทั้งความเป็นอยู่ของผู้คน แหล่งศิลปวัฒนธรรม สถานที่ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่สื่อถึงผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ไปจนถึงปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของชาวเชียงใหม่อีกด้วย

ถ้าเรามองว่าบ้านหลังน้อยในโดมแก้วที่บรรจุหิมะเทียม เป็นฉากที่สุดจะโรแมนติก แล้วเหล่าแลนด์มาร์กในโดมแก้วของสาครินทร์ล่ะ โรแมนติกหรือเปล่า

“มาสร้างฉากโรแมนติกกัน -- Let’s Make a Romantic Scene”, สาครินทร์ เครืออ่อน

ที่ตั้ง : หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (อาคารส่วนหลัง) ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันพุธ – วันอาทิตย์ 8.30 – 16:00 น.

10

Supporting Structure

สิทธิกร ขาวสะอาด

ศิลปะเพื่อชนชั้นที่ถูกกดทับ

พร้อมหรือยังที่จะเดินทางสู่ดวงจันทร์

งานศิลป์ชิ้นนี้ คือการ Parody ประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ เมื่อ สิทธิกร ขาวสะอาด ใช้ผลิตภัณฑ์ถุงปุ๋ยมาตัดเย็บเป็นชุดสำหรับจับตัวต่อและกระเป๋าเป้ ที่เมื่อเอามาประกอบกันแล้ว มันกลับกลายเป็นชุดนักบินอวกาศ 

Supporting Structure, สิทธิกร ขาวสะอาด

ชุดนักบินอวกาศจากกระสอบปุ๋ยและเมล็ดพืชของชาวบ้าน นำมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วนำเสนอผ่าน Performance Art เป็นวิดีโอประกอบอยู่ในจอเล็กๆ บนพื้น เผยให้เห็นภาพของนักบินอวกาศที่เดินอยู่กลางไร่นา กลางทุ่ง เพื่อล้อเลียนและเล่าออกมาว่า ก่อนการไปอวกาศ เรามองเห็นชาวไร่ ชาวนา อีกมากมายที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก จากการถูกกดทับด้วยระบบเกษตรกรรมหรือไม่

 ใครที่อยากรู้ว่าการไปดวงจันทร์ และการถูกกดทับของชาวไร่ชาวนา มีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ ต้องลองไปสัมผัสงานชิ้นนี้ของสิทธิกรดูสักครั้ง 

Supporting Structure, สิทธิกร ขาวสะอาด

ที่ตั้ง : หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (อาคารส่วนหลัง) ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 (แผนที่)

วันที่จัดแสดง : ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 30 เม.ย. 2564

เวลาทำการ : วันพุธ – วันอาทิตย์ 8.30 – 16:00 น.


นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่าง การแสดงชุด Limbo ของ พิเชษฐ กลั่นชื่น จัดแสดงในระดับนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง แต่ในงานนี้คือครั้งแรกของโชว์นี้ในประเทศไทย ที่จะมีให้ติดตามชมย้อนหลังได้ทาง Facebook : Chiang Mai ART for AIR หรืองานเรื่องกลิ่นของ กมล เผ่าสวัสดิ์ บริเวณคาเฟ่ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ที่จะพาคุณไปตามหากลิ่นของเชียงใหม่ที่หายไป 

ใครอยากจัดแผนการชมนิทรรศการเอง ยังมีผลงานจัดแสดงในอีกหลายๆ สถานที่ อย่างพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (บริเวณพื้นที่รอบนอก), หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (บริเวณพื้นที่รอบนอก), The Meeting Room Art Gallery, Dream Space Gallery, ร้านนายภูมินทร์ กันธาสี, วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม, วัดพระธาตุดอยคำ ไปจนถึงสวนสาธารณะหนองบวกหาด โดยแต่ละพื้นที่มีเวลาเปิดทำการต่างกันออกไป เช็กวัน-เวลาให้ชัวร์แล้วไปชมงานกัน 

ใครไม่สะดวกเดินทางเข้าชมนิทรรศการ ทีมผู้จัดงานกำลังรวบรวมผลงานไว้ให้ติดตาม ผ่านช่องทางต่อไปนี้

เว็บไซต์ : www.artforair.org

Facebook : Chiang Mai ART for AIR

Writer

Avatar

อาสา งามกาละ

มือใหม่หัดเขียน ที่ตกหลุมรักการทิ้งตัวบนโซฟานุ่มๆ ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ และรายล้อมด้วยพลังงานบวก มีงาน (บังเอิญ) ประจำคือ พี่เลี้ยงของลูกแมวกำลังโต