วิชา: Foraging
คำอธิบายรายวิชา:
การออกเดินทางไปตามหาอาหารที่ธรรมชาติมอบให้
ประเภทวิชา:
วิชาเลือก (อย่างสมัครใจและเต็มใจ)
ประเทศ:
อังกฤษ

การทำความรู้จักธรรมชาติในที่ที่ฉันไม่ได้เติบโตขึ้นมา เป็นการก้าวเดินไปพร้อมกับลูกๆ อย่างแท้จริง เมื่อครั้งย้ายมาอยู่ที่เมืองชนบทในประเทศอังกฤษใหม่ๆ ฉันแทบไม่รู้จักต้นไม้สักต้น แต่ความไม่รู้มักเป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามเสมอ

ฉันและเด็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับต้นไม้ในป่าแถวบ้าน เริ่มต้นด้วยการเดินลัดเลาะไปในทุ่งเพื่อตามเก็บลูกเบอร์รี่ชนิดต่างๆ กับบรรดาแม่ของเพื่อนลูก การพาเด็กไปสัมผัสธรรมชาติแบบนี้เรามักได้ยินเสียงหัวเราะแห่งความสุขเวลาที่พวกเขาเก็บลูกเบอร์รี่อร่อยได้ แต่หลายครั้งเด็กๆ ก็ร้องเสียงหลงเมื่อเผลอเดินไปชนใบ Nettle แสบคัน ตามมาด้วยเสียงของแม่ๆ ที่บอกให้รีบเก็บใบต้น Dock มาถูแก้พิษแสบคันของต้นไม้ที่เด็กๆ บอกว่าเป็นต้นไม้ใจร้าย

ในความวุ่นวายสาละวนฉันแอบรู้สึกอุ่นๆ ในหัวใจ เริ่มคิดได้ว่าการมาอยู่ในที่แปลกถิ่นไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่กลับทำให้ฉันนึกถึงภาพตอนตัวเองเป็นเด็ก ในฤดูดอกโสนบาน แม่ชวนพวกเราพี่น้องออกไปเก็บดอกสีเหลืองสวยริมบ่อน้ำมานึ่งขนมไทยแสนธรรมดา แต่รสชาติมิชลินสตาร์สำหรับพวกเรา คิดถึงบ้านอีกแล้ว น้ำตารื้นทุกทีสิ

Foraging

ฉันเริ่มสนุกกับการพาเด็กๆ ออกไปเดินป่า จากป่าแถวบ้านเราก็เริ่มไปไกลขึ้น ไกลขึ้น และได้พบต้นไม้แปลกๆ มากขึ้น มากขึ้น ฉันรู้จักต้นกระเทียมป่า (Wild Garlic) ตอนพากันไปเดินที่ Malham Cove บริเวณรอบๆ ลำธาร Janet’s Foss กลิ่นกระเทียมหอมตลบอบอวล ชวนให้นึกอยากกินหมูทอดกระเทียมขึ้นมา อยากเก็บกลับบ้านแต่ไม่กล้า

เก็บมาปรุงอาหารได้ไหม หรือถ้าเก็บแล้วจะโดนจับโดนปรับไหม เป็นคำถามที่ฉันรีบหาคำตอบในตอนนั้น ทั้งหาข้อมูล ทั้งถามเพื่อน สรุปว่าเราเก็บกระเทียมป่ามากินได้ แล้วทำไมไม่เก็บมานะ ฉันตัดพ้อกับตัวเอง ต้องขับรถอีก 1 ชั่วโมงกลับไปเก็บกระเทียมป่างั้นหรือ แต่เพื่อนคนดีของฉันแอบกระซิบว่า หลังโบสถ์แถวบ้านเธอมีกระเทียมป่าเต็มไปหมด แต่ต้องเดินผ่านสุสานเข้าไปนะ เดินไปเก็บกระเทียมตอนเช้าๆ คงไม่วังเวงนัก ฉันคิด มื้อเที่ยงของวันนั้นคือ ข้าวไข่เจียวกระเทียมป่าแสนอร่อย ที่ไม่ต้องพึ่งซอสพริกเพิ่มความแซ่บ กลิ่นอ่อนๆ ของกระเทียมเรียกน้ำย่อยได้ดีมาก

Foraging Foraging

Foraging ไม่ใช่การออกไปตามหาของป่าอย่างเดียว เราทำสิ่งนี้ในสวนสาธารณะหรือในเมืองก็ได้ แล้วที่เมืองไทยออกไปเก็บอาหารที่ขึ้นเองตามธรรมชาติได้ไหมนะ ทำได้สิ และทำมานานแล้วด้วย ตั้งแต่ฉันจำความได้ ฉันก็ forage มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราเก็บตำลึง เก็บกระถินริมรั้วมาจิ้มน้ำพริกตั้งแต่เด็ก ขุดหน่อไม้ตรงกอไผ่หลังสวนมาต้มกระดูกหมูไว้ซดน้ำแกง คล่องคอดีแท้ และสุดยอดของการ foraging ในวัยเด็ก ก็คือการขุดเห็ดโคนราคาแสนแพง เซียนขุดเห็ดโคนคือน้องสาวคนกลางของบ้าน วันไหนที่เราเจอเห็ดโคนในสวน วันนั้นเราต้องหุงข้าวเพิ่ม

Foraging เริ่มเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ที่นี่ ร้านอาหารชื่อดังประดับดาวมิชลินหลายร้านใช้ผักและเห็ดที่ขึ้นในป่ามาประกอบอาหาร อย่างเจ้า Truffle เห็ดป่าราคาแพงแถมไม่มีขายในห้างสามัญ พรีเมียมจริงๆ นะ

 Foraging

ตามเมืองต่างๆ มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบการ Foraging ชวนกันไปเก็บพืชผัก พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และสูตรอาหารกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ฉันค้นพบคือ เมื่อเริ่มแล้วหยุดไม่ได้ คงเป็นเพราะรู้สึกดีทุกครั้งที่ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ในที่ใหม่ในฤดูกาลต่างๆ ได้พบพืชและดอกไม้หน้าตาแปลกที่ไม่รู้จักและไม่เคยเห็นมาก่อน

กฎเหล็กของการ Foraging คือเก็บแต่พอ และมั่นใจว่ามันจะงอกงามต่อไป ไม่ดึงรากถอนโคนของต้นไม้ดอกไม้ อย่าง Elderflower ที่เราไปเก็บเป็นบ้านของนกน้อยหลายตัว เราเก็บดอกที่พอจะเอื้อมเก็บได้ และปล่อยที่เหลือไว้ให้นกได้ลิ้มรสหอมหวานของ Elderflower ให้สมกับการรอคอยมาตลอดฤดูหนาว เราอาจเริ่ม Foraging ด้วยการเก็บสิ่งที่รู้จัก ยกเว้นพวกตระกูลเห็ด แนะนำว่าควรศึกษาและเรียนรู้จากผู้รู้จริงๆ เพราะเห็ดบางชนิดมีพิษ หรือแม้แต่เบอร์รี่บางชนิดหากนำมาทานสดๆ ก็เป็นพิษได้ ฟังดูน่ากลัวเมื่อใช้คำว่า พิษ แต่จริงๆ แล้วมันคือการที่ร่างกายทำการต่อต้านสิ่งนั้น เช่น อาจทำให้ระบบขับถ่ายแปรปรวน

 Foraging

 Foraging

สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกและหาข้อมูลอย่างจริงจังคือ พืชและดอกไม้ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตหน้าตาเป็นอย่างไร อย่าง Hemlock, Water Dropwort, Cowbane ที่มีหน้าตาคล้ายกัน บางครั้งหลงคิดว่าเป็นต้นที่ชอบไปแนบแก้มถ่ายรูปอย่าง Cow Parsley

เสน่ห์ของการ Foraging คือการได้ออกไปค้นหา และการได้เรียนรู้และพบเจอสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญ มันทำให้เรารู้สึกว่าธรรมชาตินั้นแสนอัศจรรย์นัก

Let’s go and forage

Let’s explore nature!

 Foraging

คุณสมบัติผู้เรียน: ชอบป่าเขา ลำธาร สายน้ำ และทะเล รักอิสระ ช่างสังเกต สนใจเรื่องสุขภาพ และอาหารตามฤดูกาล
เก็งข้อสอบ:
1. กะเพรากับโหระพาต่างกันอย่างไร
2. ตำลึงตัวผู้กับตำลึงตัวเมียต่างกันอย่างไร
3. ทำไมเห็ดโคนถึงขึ้นวันพระ
วิชาต่อเนื่อง: Wild Kitchen สร้างสรรค์อาหารธรรมชาติ

 


 

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่ / บทเรียนจากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue/โรงเรียนนานาชาติ’

ถ้าผลงานของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศิรินภา ริ้วบำรุง

จบครุศาสตร์ และเบนเข็มไปเรียนสื่อสารมวลชนที่ Wisconsin แต่ในที่สุดก็กลับมาเป็นครูอีก จนตัดสินใจครั้งใหญ่ ทิ้งอาชีพที่รักเดินทางไกลอีกครั้งเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนี้ใช้ขีวิตอยู่ในเมืองชนบทเล็กๆ ใน Yorkshire ประเทศอังกฤษ กับลูกสาว ลูกชาย และสามี