The Cloud x Vespa
บรึ้น ๆ ! เสียงขบวนเวสป้าบึ่งเข้ามายังนครขอนแก่นเพื่อร่วมทริป Walk with The Cloud : บึ่งแก่นนคร ชมศิลปะและวัฒนธรรมในแดนอีสาน บ้างมาจากกรุงเทพฯ บ้างมาจากขอนแก่นบ้านเฮานี่แหละ วันนี้เป็นวันที่ฟ้าไร้แดดเหมาะกับการขี่รถตากลมสุด ๆ จากจุดรวมตัว เราจะบึ่งไปที่โฮงสินไซเป็นที่แรก
เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่ในการขี่สกู๊ตเตอร์เที่ยวกับเพื่อนหน้าใหม่ที่เพิ่งทำความรู้จัก
เชื่อว่าทั้งคนในและคนนอกก็คงตื่นเต้นไม่ต่างกัน ไม่พูดพร่ำทำเพลง ขอสตาร์ทรถไปเบิ่งกันแน่จ้า

ที่นี่โฮงสินไซ
จอดสกู๊ตเตอร์ที่ ‘โฮงสินไซ’ บ้านสวนกลางเมืองจังหวัดขอนแก่น โอบล้อมด้วยรั้วไม้ไผ่และมวลแมกไม้นานาพันธุ์ สองมือยังไม่ทันล้วงกระเป๋า พวกเราก็พบกับ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้ก่อตั้งโฮงสินไซ ที่ชวนน้อง ๆ เด็กพิเศษ มาเป็นวิทยากรพิเศษนำชมเรื่องราวของ สินไซ ด้วยกัน ที่นั่นมีเสียงจิ้งโกร่งต้อนรับพวกเราอย่างเนืองแน่น
เจ้าบ้านชวนเรานั่งล้อมวงสบาย ๆ บริเวณหน้าบ้าน แถมแจกจ่ายน้ำสมุนไพรเย็นชื่นใจดับกระหายให้คนละแก้ว (เติมได้ไม่อั้น) พร้อมขนมและผลไม้ตามฤดูกาล ก่อนจะเกริ่นแนะนำตัวและเล่าถึงวรรณคดีแบบกระชับ
สินไซ เป็นวรรณคดีของอุษาคเนย์ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือ สังข์ศิลป์ชัย ท้องเรื่องไม่ได้ต่างจากวรรณคดีไทยส่วนใหญ่มากนัก แน่นอนว่า ‘สินไซ’ คือตัวเอกที่ต้องผ่านหลายเหตุการณ์ ต้องข้ามผ่าน 7 ย่านน้ำ 9 ด่านมหาภัย จนสุดท้ายก็จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง โดยท้าวกุดสะราดสละราชสมบัติให้สินไซปกครองต่ออย่างร่มเย็นเป็นสุข


อาจารย์ทรงวิทย์บอกว่า โฮงสินไซนี้มีที่มาจาก โฮง หมายถึง โรง ที่บรรจุเรื่องราวของวรรณคดีเรื่อง สินไซ เอาไว้ นอกจากฟังประวัติความเป็นมาและความตั้งใจของสถานที่แห่งนี้แล้ว พวกเรายังได้เดินดูของสะสมในตู้กระจกที่เก็บรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องนี้ประมาณ 140 – 150 รายการ ทั้งหมดเกี่ยวกับ สินไซ ในด้านต่าง ๆ ทั้งแง่รัฐศาสตร์-การเมือง งานวิจัยภาษาไทย-ลาว อีกทั้งยังมีผนังห้องประดับภาพเขียนสีน้ำเล่าเรื่อง สินไซ ซึ่งอาจารย์เป็นผู้วาด และมีมุมการต่อยอด-ประยุกต์ให้ร่วมสมัย เป็นหนังตะลุง เสื้อยืด ถ้วยกาแฟ ร่ม และของที่ระลึกต่าง ๆ
“วรรณคดีเป็นที่อยู่ของวัฒนธรรม” มหาสิลา วีระวงส์ นักปราชญ์คนสำคัญของลาวกล่าวไว้ คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีวัฒนธรรมจึงเกิดงานศิลป์หลายอย่าง วรรณคดีก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของวัฒนธรรมนั้น ๆ ให้เห็นว่า วรรณคดีแต่ละยุคสมัย ผู้คนมีความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม พิธี ต่างกันหรือไม่ อย่างไร
โฮงสินไซเซอร์ไพรส์เราด้วยเสียงแคนกับหมอแคนรุ่นใหม่ ที่ผูกโยงกับ สินไซ และวัฒนธรรมอีสาน

“หมอลำจะไม่มีวันตาย เพราะปรับตัวง่าย พร้อมที่จะรับทุกสิ่งที่คิดว่าดีกว่า” เป็นคำกล่าวของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งหมอลำไม่ตายฉันใด หมอแคนก็ไม่ตายฉันนั้น เพราะ 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน
ถ้าหมอลำ-หมอแคน ไม่ตายแล้ว สินไซ และวัฒนธรรมอีสานก็จะไม่มีวันหายไป เพราะเชื่อมโยงกับหมอลำอย่างขาดกันไม่ได้ ยิ่งมีหมอแคนใหม่ ๆ เกิดขึ้น ยิ่งทำให้วัฒนธรรมอีสานแข็งแรงมากขึ้นด้วย
นั่นแปลว่าพวกเราจะมีโอกาสบิดเวสป้ากลับมาม่วนที่นี่อีกแน่นอน!
โมเดิร์นในมอ

บึ่งมาต่อกันที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ออกแบบโดย อมร ศรีวงศ์, สมคิด เพ็ญภาคกุล, เฉลิมชัย ห่อนาค และ สถาพร เกตกินทะ ที่ออกแบบให้เข้ากับบริบทแวดล้อมของมอดินแดง พัฒนาภาพลักษณ์ของอาคารในสมัยนั้นให้มีสไตล์โมเดิร์น ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของการพัฒนา แสดงออกถึงความก้าวหน้าและทันสมัย
เจ้าถิ่นที่พาพวกเราทัวร์มอและชมสถาปัตยกรรม คือ รศ.ดร.นพดล ตั้งสกุล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ศึกษาเกี่ยวกับตึกทั้งหมดร่วมกับอาจารย์หลายท่านในคณะ รวมถึงเปิดวิชาเลือกให้นักศึกษาสถาปัตยกรรมในคณะร่วมเก็บข้อมูลทำโมเดลออกมาเพื่ออนุรักษ์อาคารเหล่านี้ไว้ เกิดเป็นนิทรรศการ ‘อาคารสมัยใหม่ Modern Architecture’ กระซิบเลยว่า อาจารย์นพดลเล่าเรื่องสนุกมาก เพราะท่านเคยเป็นศิษย์เก่าที่นี่
อ้อ ลืมบอกว่าพวกเราเติมพลังให้เต็มพุงกันเรียบร้อยที่ร้านไก่ย่างปรีชา แถมจัดไอติมกะทิหวานมันคนละถ้วยสองถ้วย ไม่นานพวกเราก็ประจำที่ จับเวสป้าคู่ใจออกเดินทางอีกครั้ง ผ่านสะพานขาวด้วย บรรยากาศดีสุด ๆ

แดดร่มลมตก เรามาเริ่มกันที่ ‘ตึกกลม’ อาคารเรียนรวมของนักศึกษาปี 1 ที่เราเปิดประตูห้องไปทดลองนั่งเรียนเป็นนักศึกษา ก่อนเดินสำรวจโครงสร้างภายนอก พบว่าอาคารรุ่นคุณลุงสวยไม่แพ้อาคารฝั่งตะวันตกเลยทีเดียว
ส่วนภาพรวมการออกแบบ อาจารย์นพดลเล่าว่า มันบ่งบอกถึงแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก รองลงมาคือการใช้งานในภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และตอบโจทย์ความงามภายนอกอาคาร จังหวะการออกแบบเปลือกอาคารเมื่อแสงแดดกระทบ ก็จะเกิดเฉดเงาที่แสดงถึงความงามของอาคารนั่นเอง


ขยับออกมาอีกนิด มองเห็น ‘ตึกหลอด’ น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยรูปทรงหลอดทดลองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เดินไปหน่อยเป็น ‘ตึก SC01 ภาควิชาเคมี’ ตัวอาคารเป็นผนังคอนกรีต สะท้อนให้เห็นสัจจะของวัสดุ ที่ช่างฝีมือฉาบคอนกรีตผิวหยาบทิ้งไว้ ถ้าถอยหลังออกมาจะเห็นการเล่นเส้นเล็ก-ใหญ่บนตัวอาคาร เป็นกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบ Le Corbusier ส่วนโถงโล่งใต้อาคารไม่มีเสาคานตรงกลาง แต่ดันอยู่ด้านข้าง ห่างกันถี่ ๆ เพื่อให้นักศึกษามีพื้นที่ทำกิจกรรมมากขึ้น เมื่อแหงนหน้ามองเพดาน จะเห็นโครงสร้างตาข่ายที่ตั้งใจออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ห้องแล็บบนอาคาร

ถัดจากตึกภาควิชาเคมีเพียงไม่กี่ก้าว มีอาคารทรงหลังคาคอนกรีตหล่อโค้งทรงเรขาคณิตครึ่งวงกลม หรือ ‘ห้องปฏิบัติการกลางเป่าแก้ว’ ออกแบบโครงสร้าง Hyperbolic Paraboloid ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ หากแต่เป็นการออกแบบที่คิดค้นโดยสถาปนิกเมื่อ 50 ปีก่อน ที่สำคัญคือโชว์ประสิทธิภาพของคอนกรีตได้ดีเยี่ยม
คณะเกษตรศาสตร์ เป็นคณะเก่าแก่ที่สุดในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ‘ตึก AG 01’ เป็นตึกเรียนรวมตึกแรกของคณะ ออกแบบเพื่อเมืองร้อน สะท้อนความเป็นระบบอุตสาหกรรมเมื่อยุค 50 ปีก่อน แผงสีเขียวที่เด่นชัดนั้น ทำหน้าที่กันฝนและเป็นราวกันตกให้นักศึกษา ซึ่งสถาปนิกออกแบบได้ตรงตามโจทย์ของสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นทรอปิคัล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีตึกที่โดดเด่น 2 หลัง หนึ่ง คือ ‘ตึกโครงเหล็ก CB’ เป็นอาคารเรียนรวมและห้องซ้อมเชียร์ มองจากด้านนอกเป็นห้องสโลปบรรยายพร้อมอัฒจันทร์ โครงสร้างท่อเหล็กสีส้มทำหน้าที่ซัพพอร์ตโครงสร้างด้านใน ตัวอาคารไม่มีคานตรงกลาง แต่คานที่รับน้ำหนักเป็นหลักอยู่ริมนอกแทน และโครงเหล็กสีส้มจี๊ดถือเป็นสัญลักษณ์ของยุคโพสต์โมเดิร์นที่นำเหล็กมาใช้ในงานออกแบบเยอะขึ้น เพื่อเพิ่มลูกเล่น ลดความน่าเบื่อ


สอง คือ ‘ตึกของภาควิชาวิศวกรรมโยธา’ ที่นักศึกษามายืนดูโครงสร้างและเรียนกันจริง ๆ โดดเด่นตรงมีเสาซัพพอร์ตอยู่ริมสองข้าง การหิ้วโครงสร้างที่มีแรงกระทำในแนวดิ่งและแรงกระทำกลับคืนขึ้นไป คล้ายโครงสร้างการหิ้วของสะพาน เดินโฉบด้านในอีกนิด ไปดูบันไดแบบ Freestanding Structure ที่มีจุดบรรจบเพียง 2 จุด บริเวณชานพักไม่มีเสาเลยสักต้น! เป็นความเก๋าของนักออกแบบที่ผสานหลักวิศวกรรมได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ใหม่อีหลี – ม่วนอีหลี – มักอีหลี
น้ำมันลดไปไม่มาก ก็มาจบทริปกันที่ ‘ใหม่อีหลี’ แกลเลอรี่งานศิลปะข้างบึงแก่นนคร สถานที่ที่เราได้พักดื่มชา-กาแฟในคาเฟ่ และเดินชมงานศิลปะตั้งแต่หน้าประตูแกลเลอรี่ จนถึงด้านในที่ชวนเราไปสัมผัสวัฒนธรรมภาคอีสานผ่านงานศิลปะที่ คุณเอริค บุนนาค บูทซ์ ผู้ก่อตั้งที่นี่ขึ้นมา ถัดจากแกลเลอรี่ใหม่เอี่ยมของเชียงใหม่

ตอนนี้กำลังจัดนิทรรศการ ‘A Minor History | ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ให้ได้ชมด้วย พวกเรานั่งลงบนเก้าอี้อย่างเงียบเชียบ ตัวหนังสือวิ่งขึ้นเป็นแนวตั้งคำต่อคำ เป็นการฉายโปรเจกเตอร์แบบสลับด้านให้มาฉายบนผ้าขาว จะอ่านออกได้ด้านเดียว ซึ่งคือด้านที่มีเก้าอี้ให้รับชม
นิทรรศการนี้น่าสนใจตรงที่เป็นการเล่าเรื่องของคนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ฉีกกรอบประวัติศาสตร์แบบเดิม ที่มักเป็นเรื่องเล่าจากมุมมองผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว
พระอาทิตย์เกือบลับขอบฟ้า พวกเราทั้ง 20 คนถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนเอ่ยคำร่ำลาเพื่อเตรียมตัวกลับไปทำงานตามเดิม ขอนแก่นสำหรับใครบางคนในคาราวานเวสป้าวันนี้เป็นเมืองที่เขาเคยไม่รู้จัก แต่หากมีรถคู่ใจสักคัน เพื่อนรู้ใจสักคน รับรองว่าจะท่องเที่ยวเมืองนี้ได้สนุกเหมือนกับทริปนี้แน่ ๆ
ขอนแก่นและอีกหลายสถานที่กำลังรอให้คุณมาค้นพบเช่นเดียวกับเรา ไม่ต้องไปไหนไกล เริ่มจากสตาร์ทรถแล้วบึ่งไปเลาะโลด!

Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ
