ผมเดินทางมาที่ ‘อโรคยศาล’ วัดคำประมง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หลังจากได้ข่าวมานานแล้วว่า วัดแห่งนี้มีพระรักษามะเร็งได้ผล เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ป่วยในฐานะสถานบำบัดทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มุ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวม โดยเฉพาะคนไข้ที่หมดหวังจากวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน 

บรรยากาศของวัดแห่งนี้มีสภาพเป็นวัดป่ามากกว่าวัดทั่วไป จากต้นไม้ สระน้ำ และความร่มรื่น ภายในวัด

ผมมาทราบภายหลังว่าบรรยากาศความร่มรื่นคือส่วนหนึ่งในการรักษาโรคร้ายนี้

หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม วัย 65 ปี เจ้าอาวาสวัดคำประมง เป็นอดีตวิศวกรกรมชลประทานในภาคอีสาน 

หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง

เมื่อ 40 ปีก่อนท่านได้ฟังธรรมจาก หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จึงเกิดศรัทธา ลาออกจากราชการมาบวชเป็นพระวัดสันติสังฆาราม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2539 หลวงตาปพนพัชร์ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดคำประมงแล้ว อาพาธด้วยโรคมะเร็งโพรงจมูก ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสงและทำคีโมอย่างเต็มที่เป็นเวลาร่วมครึ่งปี วันแรกที่กลับมาถึงวัด ท่านเจ็บปวดทรมานมาก อาการหนักขนาดมีเลือดออกทางจมูก หายใจลำบาก ท่านจึงตัดสินใจนั่งสมาธิทั้งคืนจนจิตนิ่ง และศึกษาตำราสมุนไพรโบราณที่มีอยู่เล่มเดียวในวัด จนคิดสูตรยาสมุนไพรขึ้นมารักษาตัวเอง

ท่านรักษาตัวเองด้วยการต้มยาสมุนไพรฉัน ฉันยาแก้วแรกรู้สึกจมูกโล่งขึ้น หายใจสะดวก อาการค่อยๆ ดีขึ้น ภายหลังท่านมาตรวจที่โรงพยาบาล สแกนคอมพิวเตอร์ไม่พบค่ามะเร็ง ก้อนเนื้อในโพรงจมูกก็หายไป

สูตรยาสมุนไพรนี้ประกอบด้วยพืชหลายชนิดที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและมะเร็งหลายชนิด เช่น หัวร้อยรู หญ้าหนวดแมว ฯลฯ โดยเฉพาะหัวร้อยรูหรือว่านหัวร้อยรู พืชที่มีสรรพคุณทางยาสูงมาก ถือเป็นพญาของยาสมุนไพรสำคัญในการรักษาโรคมะเร็ง

อโรคยศาล รพ. แผนไทยที่เยียวยาผู้ป่วยมะเร็งด้วยสมุนไพรคู่กับสมาธิและการสัมผัสธรรมชาติ

หลังท่านหายจากอาการอาพาธ ชาวบ้านที่ป่วยมะเร็งทราบข่าวก็พากันมาหาให้ท่านช่วยเหลือ ท่านมิอาจปฏิเสธผู้คน เกิดความเมตตาเพื่อนมนุษย์ จึงนำสมุนไพรและสมาธิบำบัดมาช่วยรักษา จนทำให้เกิดอโรคยศาลขึ้น 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารักษาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย รอความตายที่บ้าน จึงมุ่งมาหาด้วยความหวังสุดท้าย

ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามแนวทางการแพทย์แบบองค์รวม เน้นการใช้ยาสมุนไพรควบคู่กับสมาธิและธรรมชาติบำบัด ภายใต้แนวคิด ‘อยู่สบาย ตายสงบ งบไม่เสีย’

ท่านบอกว่า “ยิ่งเราอยู่ห่างไกลธรรมชาติมากเท่าใด ก็ป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้น”

วิธีรักษาของท่านไม่ได้เน้นการให้ยาสมุนไพรอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าการรักษาจะได้ผล ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะจิตใจที่เครียด โดยให้ผู้ป่วยสัมผัสธรรมชาติตลอดเวลา สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะท่านเชื่อว่ายิ่งใกล้ชิดธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะช่วยเยียวยา

ท่านบอกว่า เป้าหมายของการรักษาไม่ได้อยู่ที่จะรักษาโรคให้หายหรือทุเลาเบาบางลงไปแต่เพียงอย่างเดียว ท่านรักษาใจผู้ป่วยเป็นหลักก่อน มิใช่ตัวโรค บรรเทาอาการเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานด้วยยาสมุนไพร

ดูแลจิตวิญญาณผู้ป่วยที่ต้องการความเข้าใจชีวิตและมีความสุขในช่วงที่เจ็บป่วย

ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้นจนวาระสุดท้าย

ดูแลถึงผู้ใกล้ชิดในครอบครัวผู้ป่วย

ถ้าหากว่าจะต้องเสียชีวิตก็เสียชีวิตไปอย่างสุขสงบ (ตายแบบยิ้มได้) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามแนวทางศาสนาและวิทยาศาสตร์การแพทย์

ญาติของผู้ป่วยก็จะได้รับประโยชน์จากการช่วยดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีผลต่อการปรับทัศนคติในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้าใจและดูแลตนเองไม่ให้ป่วยเป็นมะเร็งต่อไป

แต่ละคืนผู้ป่วยและญาติจะมารวมตัวกันที่บริเวณระเบียงด้านหน้าอโรคยศาล เพื่อร่วมกันสวดมนต์ ร้องเพลง ออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และนั่งสมาธิ โดยมีหลวงตามาร่วมกิจกรรมด้วย

ท่านทำให้ผู้ป่วยมีเสียงหัวเราะ ได้ปลดปล่อยความรู้สึกเก็บกดที่ค้างคาภายในจิตใจ

ท่านจัดปาร์ตี้ดาวรุ่งพุ่งเมรุ หรือจัดงานแฟนซีให้ผู้ป่วยแต่งตัวเป็นผี ประกวดว่าใครจะสวยกว่ากัน ท่ามกลางบรรยากาศครื้นเครง เสียงหัวเราะ และเป็นการปลงอนิจจังไปในตัว

ตลอดเวลาที่สนทนากับหลวงตา เราได้ยินเสียงหัวเราะดังๆ ของท่านตลอดเวลา และเมื่อติดตามท่านไปเยี่ยมผู้ป่วย ไปดูผู้ป่วยต้มสมุนไพรด้วยตนเอง ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งรอยยิ้ม

ดูเหมือนบรรยากาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เป็นบรรยากาศที่ท่านพยายามสร้างขึ้นตลอดเวลาในวัดแห่งนี้ เพราะเป็นเพชฌฆาตทำลายความเครียดและทำลายศัตรูตัวร้ายอย่างมะเร็งได้เป็นอย่างดี

“มีคนถามหลวงตาอยู่ตลอดเวลาว่า เขาหรือญาติที่เป็นมะเร็งจะหายไหม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งระยะที่ลุกลามไปมาก กระจายไปทั่วแล้ว ถ้าเราบอกว่าหาย มันเหมือนเราหลอกเขาหรือเปล่า แต่หากบอกว่าไม่หาย ไม่ดีขึ้น มันก็เหมือนหลอกเขา เพราะมีผู้ป่วยหลายรายมาที่นี่แล้วอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้าบอกไม่หาย เขาก็หมดกำลังใจ…

“แต่สิ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับจากที่นี่ก็คือ จิตวิญญาณของความเป็นพุทธะ จิตวิญญาณของความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่จะเข้าใจชีวิตมากกว่าที่เคยเป็น”

อโรคยศาล รพ. แผนไทยที่เยียวยาผู้ป่วยมะเร็งด้วยสมุนไพรคู่กับสมาธิและการสัมผัสธรรมชาติ

คนป่วยที่เข้ามาที่วัดจะได้รับการรักษาฟรี แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีญาติมาดูแลเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว คนป่วยจะได้ไม่รู้สึกเดียวดาย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรักษาตัวประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น และกลับไปรักษาที่บ้าน โดยทางโรงพยาบาลจะส่งสมุนไพรไปให้ผู้ป่วยต้มด้วยตนเองเป็นประจำ

อโรคยศาลกลายเป็นโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยที่รักษาผู้ป่วยเฉพาะทางด้านมะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย เปิดทำการตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 15 ปี มีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาทั้งสิ้นจำนวนหกพันกว่าคน และเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นสถิติที่น่าสนใจมาก

หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านเห็นผู้ป่วยหลายคนตายจนเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าคนเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มองเห็นคุณค่าในชีวิตและยอมรับความจริงในชีวิต ได้อยู่พร้อมหน้ากับคนรัก และจากไปอย่างสงบ

ปัจจุบันทางวัดยังต้องจัดส่งสมุนไพรให้คนป่วยนำไปทานเดือนละ 2,000 ชุด นั่นแสดงว่ายังมีคนมีชีวิตรอดอีก 2,000 คน

ท่านมีอาสาสมัครจำนวนมากหลากหลายอาชีพมาช่วยงาน ตั้งแต่หมอ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก แม่บ้าน ฯลฯ มีเครือข่ายทั่วประเทศที่พร้อมช่วยเหลือท่าน

ทุกวันนี้อโรคยศาลเป็นเสมือนโรงเรียนที่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นสถานที่ดูงานของการแพทย์ไทยแผนโบราณทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์หลายสถาบันมาทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง พบว่าตัวยามีผลในการยับยั้งเชื้อมะเร็งและรักษาโรคแทรกซ้อนได้จริง

นอกจากนี้ อโรคยศาลยังนำวิทยาการสมัยใหม่บางอย่าง เช่น Dark-field Microscope มาใช้ตรวจสอบเลือดสดๆ (Live Blood Analysis) ของผู้ป่วย เพื่อเป็นแนวทางวิเคราะห์และติดตามความก้าวหน้าในการรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยการแนะนำของกองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินการถอดบทเรียนองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองด้วยแนวทางของอโรคยศาล วัดคำประมง เพื่อเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแก่โรงพยาบาลอื่นต่อไป

พ.ศ. 2558 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม

ท่านบอกเสมอว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ทรมาน ได้อยู่กับคนรัก หากมีชีวิตได้นานๆ ก็นับเป็นโชคดี เมื่อถึงวาระสุดท้ายก็ได้จากไปอย่างสงบ ไม่ทรมาน และไม่โดดเดี่ยว

สูตรตัวยาสมุนไพรที่ท่านค้นพบ ไม่เคยจดลิขสิทธิ์ ท่านแจกจ่ายให้ทุกคน ไม่เคยหวงวิชา ท่านบอกว่ายิ่งแพร่หลาย ยิ่งช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น

65 ปีของมนุษย์คนหนึ่ง ใช้ชีวิตคุ้มเหลือเกิน

สนใจร่วมบริจาค ติดต่อที่ www.khampramong.org/donate.html

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว