มนุษย์เราต้องผจญกับโรคภัยไข้เจ็บมาตั้งแต่โบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่โรคเรื้อน โรคห่ามาถึงโรคซาร์ส ล่าสุดก็คือโควิด-19 ที่เราอยู่กับมันมามากกว่า 1 ปีแล้ว และสิ่งที่คู่กับโรคภัยก็คือสถานที่รักษาโรคหรือสถานพยาบาล ซึ่งในวัฒนธรรมขอมโบราณได้สร้างอาคารประเภทหนึ่งขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่รักษาทั้งโรคทางกายและโรคทางใจของประชาชนเรียกว่า ‘อโรคยศาล’

อโรคยศาล ศาลาคนไร้โรค สถานพยาบาลด้วยสมุนไพรที่กษัตริย์ขอมโบราณสร้างให้ประชาชน

อโรคยศาล แปลตามตัวอักษรได้ว่า ศาลาไร้โรค หรือก็คือสถานพยาบาลนั่นละครับ สร้างขึ้นตามพระราชดำริของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยบันทึกเอาไว้ในจารึกปราสาทตาพรหมว่า ทรงให้สร้างขึ้นมากถึง 102 แห่งในแต่ละวิษัยหรือเมือง ในจำนวนนั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 30 แห่งด้วยกัน กระจายตัวอยู่ใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ 1 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ปราจีนบุรี รวมทั้งสิ้น 9 จังหวัด

อโรคยศาลบางแห่งยังพบจารึกด้วย ซึ่งจารึกนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอโรคยศาลเอาไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งพระราชปณิธานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในการสร้างอโรยคศาลว่า

“โรคทางร่างกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นทุกข์ของเจ้าเมือง”

ไม่เพียงเท่านั้น ในจารึกยังมีการให้รายละเอียดอื่นๆ ของอโรคยศาลด้วย ทั้งรูปเคารพเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาล ซึ่งแจกแจงทั้งจำนวนและหน้าที่เอาไว้เสร็จสรรพ ทั้งแพทย์ ผู้จดสถิติ ผู้ดูแลทรัพย์ ผู้หาข้าวเปลือก ผู้หาฟืน ผู้ตำข้าว ผู้หุงต้ม ผู้จ่ายยา ผู้โม่ยา โหราจารย์ และผู้ประกอบพิธี โดยจะมีจำนวนบุคลากรตั้งแต่ 50 ไปจนถึง 98 คนต่อหนึ่งสถานพยาบาลเลยครับ และยังให้รายละเอียดของสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคเอาไว้ด้วย เช่น น้ำผึ้ง พริกไทยขาว จันทน์เทศ มหาหิงค์ กระวาน การบูร บุนนาค ขิง เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ก็ยังคงใช้เป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณมาจนถึงปัจจุบัน

อโรคยศาล ศาลาคนไร้โรค สถานพยาบาลด้วยสมุนไพรที่กษัตริย์ขอมโบราณสร้างให้ประชาชน

อโรคยศาลเมื่อครั้งยังสมบูรณ์จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือสถานพยาบาลสร้างด้วยไม้ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยจริงๆ และส่วนที่สองคือเทวาลัยหรือวัดในสถานพยาบาล แต่ก็แน่นอนครับ ด้วยสภาพอากาศแบบร้อนชื้นเช่นประเทศไทยของเรา อาคารไม้ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อกว่า 800 ปีก่อน ย่อมสูญสลายไปตามกาลเวลา คงเหลือเพียงศาสนสถานประจำสถานพยาบาลหรือสุคตาลัยเท่านั้น (สุคตาลัย แปลว่า ที่ประทับของพระสุคต ซึ่งเป็นอีกพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้าครับ) และอาคารนี้แหละครับที่เราเรียกกันว่า ‘อโรคยศาล’

จุดเด่นอย่างหนึ่งของอโรคยศาล (ขออนุญาตเรียกอโรคยศาลแทนสุคตาลัย เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันนะครับ) ซึ่งสร้างขึ้นในศิลปะขอมแบบบายน ก็คือหน้าตาของอโรคยศาลที่เหมือนกันหมด ทั้งแผนผัง ทั้งอาคาร ราวกับว่าสร้างโดยมีพิมพ์เขียวเดียวกันเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นอโรคยศาลที่อยู่ในประเทศกัมพูชา เช่น ปราสาทเลียคเนียง (Prasat Leak Neang) เมืองเสียมเรียบ หรือในประเทศไทย เช่น ปราสาทตาเมือนโต๊ด จังหวัดสุรินทร์ ก็ล้วนแต่หน้าตาเหมือนกัน มีองค์ประกอบเดียวกัน ซึ่งถ้าเราจำได้ เวลาเราไปอโรคยศาลที่เราไม่เคยไป ก็รู้ได้ทันทีเลยว่าเป็นอโรคยศาลครับ

อโรคยศาล ศาลาคนไร้โรค สถานพยาบาลด้วยสมุนไพรที่กษัตริย์ขอมโบราณสร้างให้ประชาชน
ภาพ : โอภาส จริยพฤติ
อโรคยศาล ศาลาคนไร้โรค สถานพยาบาลด้วยสมุนไพรที่กษัตริย์ขอมโบราณสร้างให้ประชาชน

อโรคยศาลจะมีปราสาทประธานองค์เดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบรรณาลัยอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาท หันหน้ามายังปราสาทประธาน และมีกำแพงล้อมรอบอาคารทั้งหมดเอาไว้ โดยที่มีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระอยู่ทางด้านหน้า บางครั้งจะมีประตูเล็กๆ อยู่ข้างโคปุระเป็นเหมือนทางเข้าออกรองด้วยครับ นอกกำแพงมีสระน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 

อโรคยศาล ศาลาคนไร้โรค สถานพยาบาลด้วยสมุนไพรที่กษัตริย์ขอมโบราณสร้างให้ประชาชน
ภาพ : www.gotoknow.org/posts/608722
อโรคยศาล ศาลาคนไร้โรค สถานพยาบาลด้วยสมุนไพรที่กษัตริย์ขอมโบราณสร้างให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม อโรคยศาลในประเทศกัมพูชาและประเทศไทยก็ยังมีความต่างกันอยู่นะครับ แม้ว่าแผนผังจะเหมือนกัน หน้าตาอาคารเหมือนกัน แต่วัสดุที่ใช้สร้างในสองประเทศกลับใช้วัสดุคนละแบบกัน ในกัมพูชา อโรคยศาลสร้างด้วยหินทราย ซึ่งเป็นวัสดุแบบเดียวกับที่ใช้สร้างปราสาทหินแบบอื่นๆ ในศิลปะขอมโบราณแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้งานมีความละเอียดมากกว่า มีรายละเอียดมากกว่า

อโรคยศาล ศาลาคนไร้โรค สถานพยาบาลด้วยสมุนไพรที่กษัตริย์ขอมโบราณสร้างให้ประชาชน
ภาพ : โอภาส จริยพฤติ

แต่อโรคยศาลในไทยมักมีวัสดุหลักเป็นศิลาแลง ยกเว้นแต่ส่วนที่ต้องแกะสลัก เช่น หน้าบันหรือทับหลัง จะใช้หินทรายเพราะแกะสลักง่ายกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะจำเป็นต้องเร่งสร้างให้เสร็จทันกำหนดก็ได้

นอกจากนี้ อโรคยศาลหลายแห่งมักมีชิ้นส่วนหินทรายจากปราสาทหินหลังอื่น ซึ่งอาจจะร้างหรือพังไปแล้วมาใช้ใหม่ด้วย เช่น ปราสาทสระกำแพงน้อย จังหวัดศรีสะเกษ มีการนำเอาทับหลังศิลปะบาปวนจากปราสาทร้างหลังหนึ่งกลับมาใช้ แทนที่จะต้องแกะสลักทับหลังขึ้นใหม่

ศาลาคนไร้โรค หรือสถานพยาบาลแบบขอมโบราณ สถาปัตย์ 102 แห่งที่กษัตริย์ขอมสร้างไว้ในอาณาจักรก่อนล่มสลาย

และเพราะเป็นวัดในสถานพยาบาล พระพุทธรูปประจำศาสนสถานนี้จึงต้องเป็นพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ ซึ่งมาพร้อมกับบริวารทั้งสองคือ พระโพธิสัตว์สุริยไวโรจนจันทโรจิ และพระโพธิสัตว์จันทรไวโรจนโรหิณีษะ ตามความที่ปรากฏในจารึกว่า

“ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระชินะ ผู้เป็นพระราชาแห่งรัศมี คือ พระไภษัชคุรุไวฑูรยะ เพราะพระองค์ จึงเกิดความเกษมและความไม่มีโรคแก่ประชาชน ผู้ฟังอยู่แม้เพียงชื่อ (ของพระองค์)

“พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิและพระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะ ผู้ขจัดความมืดคือโรคของประชาชนขอจงชนะที่เชิงเขา คือ (พระบาทของ) พระพุทธเจ้า”

ศาลาคนไร้โรค หรือสถานพยาบาลแบบขอมโบราณ สถาปัตย์ 102 แห่งที่กษัตริย์ขอมสร้างไว้ในอาณาจักรก่อนล่มสลาย

อย่างไรก็ตาม รูปลักษณะของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุฯ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น กลับนำรูปแบบของพระวัชรธร พระอาทิพุทธเจ้าผู้สร้างพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มาใช้แทนที่รูปของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุฯ ทั่วไป ซึ่งจะแสดงปางสมาธิโดยที่มีหม้อน้ำอยู่ที่พระหัตถ์ที่ประสานกัน แต่รูปเคารพประธานที่พบในอโรคยศาลนั้นจะถือวัชระ (สายฟ้า) ที่พระหัตถ์ขวา และถือกระดิ่งที่พระหัตถ์ซ้าย โดยพระหัตถ์ขวาจะอยู่เหนือพระหัตถ์ซ้าย ยกขึ้นระดับพระอุระ 

แล้วทำไมถึงเชื่อว่ารูปของพระวัชรธรนี้คือพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภากันล่ะ ทั้งที่แทบไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลยสักอย่างเดียว 

เพราะว่าประติมากรรมนี้มักจะพบร่วมกับประติมากรรมอีก 2 องค์ ซึ่งองค์หนึ่งจะถือหม้อน้ำที่มีพวย อีกองค์จะถือหม้อน้ำที่ไม่มีพวยเสมอ โดยหม้อนี้น่าจะเป็นหม้อใส่น้ำอมฤต ซึ่งก็หมายความว่า ประติมากรรมถือหม้อน้ำทั้งสอง ย่อมหมายถึงพระโพธิสัตว์ทั้งสองผู้รักษาโรคภัยของประชาชนด้วยโอสถ (น้ำอมฤต) นั่นเอง ดังนั้น แม้จะหยิบยืมลักษณะของพระวัชรธรมา แต่ประติมากรรมนี้ก็คือพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาในแบบบายนสไตล์นั่นเองครับ

ศาลาคนไร้โรค หรือสถานพยาบาลแบบขอมโบราณ สถาปัตย์ 102 แห่งที่กษัตริย์ขอมสร้างไว้ในอาณาจักรก่อนล่มสลาย
ศาลาคนไร้โรค หรือสถานพยาบาลแบบขอมโบราณ สถาปัตย์ 102 แห่งที่กษัตริย์ขอมสร้างไว้ในอาณาจักรก่อนล่มสลาย

นอกจากนี้ ภายในบรรณาลัย ซึ่งหากแปลตามตัวอักษรจะแปลว่าห้องสมุด เพราะแต่เดิมสันนิษฐานกันว่าเป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา แต่สำหรับบรรณาลัยของอโรคยศาลนั้น หลายแห่งพบว่าเป็นสถานที่ประดิษฐานประติมากรรมเหมือนกัน โดยจะประดิษฐานพระกาลทรงครุฑและพระยมทรงกระบือ ถ้าถามว่าทำไมถึงมีการบูชาพระยมและพระกาล ซึ่งต่างเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับความตาย นั่นก็น่าจะเป็นเพราะผู้ป่วยย่อมหวาดกลัวความตายเป็นธรรมดา การบูชาเทพเจ้าทั้งสององค์นี้อาจเพื่อให้ชีวิตรอดพ้นจากความตายก็เป็นได้

ศาลาคนไร้โรค หรือสถานพยาบาลแบบขอมโบราณ สถาปัตย์ 102 แห่งที่กษัตริย์ขอมสร้างไว้ในอาณาจักรก่อนล่มสลาย

เชื่อกันว่าการที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอโรคยศาลทั่วทั้งพระราชอาณาจักร อาจเป็นเพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ หรืออาจต้องการปฏิบัติพระองค์เป็นดั่งธรรมราชาเช่นเดียวกับ พระเจ้าอโศกมหาราช หรืออาจจะเป็นทั้งสองเหตุผลก็ได้ เพราะนอกจากจะทรงสร้างอโรคยศาลแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังทรงสร้าง ‘บ้านมีไฟ’ หรือ วหนิคฤหะ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘ธรรมศาลา’ จำนวนถึง 121 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางโบราณสู่เมืองพระนคร (ยโสธรปุระ) ที่รู้จักกันในชื่อ ‘ราชมรรคา’ ครับ

แม้ภายหลังจากสิ้นสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว อโรคยศาลก็ยังคงทำหน้าที่ต่อเนื่องไปอีกสักพักหนึ่ง จนกระทั่งขาดการสนับสนุนจากส่วนกลาง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกองทัพของอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1974 การดำเนินการรักษาพยาบาลต่างๆ จึงสิ้นสุดลง คงเหลือเพียงหน้าที่ของศาสนสถานประจำอโรคยศาล ที่บางแห่งยังทำหน้าที่ในฐานะศาสนสถานประจำชุมชนต่อมา กลายเป็นวัดเนื่องในศาสนาพุทธแบบเถรวาท บางแห่งกลายเป็นศาลบรรพบุรุษ อย่างไรก็ตาม อีกหลายแห่งได้พังทลายลง คงเหลือเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น 

ปัจจุบัน อโรคยศาลหลายแห่งก็ยังคงทำหน้าที่เหล่านั้นอยู่เช่นเดิม ในขณะที่อีกหลายแห่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ทำให้เราได้เห็นรูปร่างที่แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นความทรงจำจากอดีตของสถานพยาบาลและวัดประจำสถานพยาบาลนั้นที่ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบันครับ

สุดท้ายนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบัน เราอาจจะต้องอยู่กับโควิด-19 กันอีกนาน ก็ขอให้ผู้อ่านทุกคนรักษาสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างให้ดีนะครับ ขอให้พระไภษัชยคุรุฯ อวยพรให้ทุกท่านปลอดจากโรคภัยใดๆ ครับผม

เกร็ดแถมท้าย

  1. อโรคยศาลในประเทศไทยที่มีกว่า 30 แห่งนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพังทลาย ที่ยังสมบูรณ์และน่าไปชมจริงๆ ยังมีอีกหลายที่นะครับ นอกจากปราสาทตาเมือนโต๊ด จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทสระกำแพงน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ที่ผมได้นำภาพมาให้ชมแล้ว ก็จะมีปรางค์กู่ จังหวัดชัยภูมิ หรือกุฏิฤๅษีบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น
  2. นอกจากอโรคยศาลแล้ว ธรรมศาลาก็เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมในศิลปะบายนที่น่าสนใจและมีพิมพ์เขียวเดียวกันหมดเช่นกัน และหลายครั้งที่ศาสนสถานทั้งสองประเภทมักตั้งอยู่ในระยะไม่ได้ไกลกันนัก เช่น ปราสาทตาเมือนโต๊ดและปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์
  3. จริงๆ แล้วในสมัยหลัง พุทธศาสนายังได้มีการออกแบบพระพุทธเจ้าขึ้นมาอีกปางหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเช่นกัน นั่นก็คือ พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ซึ่งผมได้เคยเขียนถึงไปแล้ว ใครสนใจตามไปอ่านกันได้นะครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ