“พระต้องละซึ่งทางโลก พระต้องไปนั่งวิปัสสนายุบหนอพองหนอ ถามว่าเราจะบรรลุได้ไหมในขณะที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งกำลังหิวโซ กำลังจะหนาวตาย เขากำลังลำบาก เราจะนั่งหลับตาแล้ววิปัสสนาเพื่อให้ตัวเราหลุดพ้นได้เหรอ ไม่ได้ เราทิ้งเขาไว้ข้างหลังแบบนี้ไม่ได้ ใครจะทำก็ทำ แต่อาตมาทำไม่ได้ ทางธรรมของอาตมาคือการให้ ตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ จงเป็นผู้ให้ที่ดี อย่าเป็นผู้ได้ที่ดี อาตมาสบายใจที่เป็นแบบนี้มากกว่า”

ณ มุมหนึ่งในสี่เหลี่ยมคูเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ มีชุมชนเล็ก ๆ ชุมชนหนึ่งกำลังได้รับการกล่าวถึง จากปากของนักท่องเที่ยว ที่แห่งนี้เป็นชุมชนเงียบสงบ ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี อบอุ่น และเป็นชุมชนที่พวกเขาอยากจะกลับมามากที่สุดเมื่อมาเชียงใหม่อีกครั้ง

จากปากของคนเชียงใหม่ ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ยังคงอยู่ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น มีร้านค้าเล็กๆ น่ารักตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ มีผลงานกราฟฟิตี้สวย ๆ ของศิลปินรุ่นใหม่อยู่ตามกำแพงตรอกซอกซอยในชุมชน ทุกวันศุกร์มีตลาดถนนคนเดินเล็ก ๆ ในชุมชน ชื่อ ‘กาดกองเก่าอารยธรรมชุมชนล่ามช้าง’ และยังเป็นชุมชนที่ยังคงมีวัดเป็นจุดศูนย์กลางดั่งเช่นอดีตกาล

จากปากคำของกลุ่มคนทำงานพัฒนาเมือง ผู้คนในชุมชนแห่งนี้มีระบบการจัดการในชุมชนที่ดี มีการปรับตัวรับสิ่งใหม่โดยที่ยังรักษาสิ่งดีงามเก่าก่อน พัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนจากความร่วมมือกันของคนในชุมชน อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือกับชุมชนอื่น ๆ เมื่อมีโอกาส

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

ชุมชนที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่นี่มีชื่อว่า ‘ชุมชนล่ามช้าง’ เป็นชุมชนเก่าแก่เล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือในสี่เหลี่ยมคูเมือง ผู้คนในชุมชนใช้ตรอกเล็กๆ เดินทางไปมาหาสู่กัน และผูกโยงกันด้วยวัดล่ามช้าง วัดที่เป็นศูนย์รวมดวงใจของชุมชน ใครก็ตามที่มีโอกาสได้มาเดินภายในชุมชนล่ามช้าง ย่อมสัมผัสได้ว่าบรรยากาศภายในชุมชนแห่งนี้มีความเป็นกันเอง ผู้คนในชุมชนต่างทักทายกันอย่างอบอุ่น เป็นวิถีแบบดั้งเดิมที่เริ่มหายไปในสังคมเมือง และความมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของผู้คนในชุมชนนี้เอง เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จที่ผู้คนพูดถึงชุมชนล่ามช้าง

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งชุมชนล่ามช้างก็ไม่ได้แตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ ที่เจอกับความเปลี่ยนแปลง เมื่อเชียงใหม่กลายเป็นเมืองมากขึ้น มีผลประโยชน์ต่าง ๆ เข้ามา วิถีถ้อยทีถ้อยอาศัยกันของผู้คนก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปเป็นวิถีแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างทำมาหากินตักตวงผลประโยชน์ของตนเอง วัดล่ามช้างที่เคยมีบทบาทเป็นศูนย์รวมของชุมชนก็ค่อย ๆ ลดทอนบทบาทลง พื้นที่ส่วนกลางอย่างวัดก็เริ่มไม่มีประโยชน์ พระครูปลัดอานนท์ วิสุทโธ พระรูปหนึ่งในวัดล่ามช้างที่มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับชุมชน จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

พระอานนท์เกิดที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ในวัย 12 ปี ท่านตัดสินใจย้ายมาที่เชียงใหม่ใน พ.ศ. 2532 บวชเป็นสามเณรที่วัดล่ามช้าง เพื่อมีโอกาสได้เรียนต่อ โดยมี ครูบาสิงห์คำ กญจโน เจ้าอาวาสวัดล่ามช้างเวลานั้นเป็นผู้ประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทให้ ท่านเรียนจนจบระดับปริญญาตรี และได้บวชเป็นพระอยู่ที่วัดล่ามช้างกระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาสมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่อยู่ในชุมชนล่ามช้างทำให้ท่านเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชน

“ตอนที่อาตมาย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่เมื่อ 34 ปีที่แล้ว ในชุมชนล่ามช้างตอนนั้นมีโรงแรมเพียง 2 ที่ คือ โรงแรมยูลานนา ตอนนั้นเรียกว่าโรงแรมเอสพี และโรงแรมสุมิตตยา เกสต์เฮาส์ จะมีลิบร้ากับล่ามช้างเกสต์เฮาส์ 2 ที่ แค่นี้ ต่อมาพอเกิดนโยบายเปิดประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านโครงการ Amazing Thailand ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามา ช่วงแรก ๆ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาจะเป็นชาวญี่ปุ่น จากนั้นก็เริ่มมีฝรั่ง ทำให้บ้านและหอพักในชุมชนเริ่มปรับมาเป็นเกสต์เฮาส์เยอะขึ้น ตามมาด้วยพวกร้านกาแฟ ร้านอาหาร อะไรต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็น ก็จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ตอนนี้

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

“วัดยังคงเป็นที่พึ่งทางใจของผู้คน เวลาชาวบ้านเป็นทุกข์เขาก็จะมาที่วัด มาขอคำปรึกษา เราไม่จำเป็นต้องออกไปเพื่อหาปัญหา แต่ปัญหาจะเข้ามาหาเราเอง อาตมาเริ่มเห็นถึงปัญหาที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในชุมชนจากคำพูดของผู้คนที่เข้ามาในวัด เริ่มเห็นว่าชาวบ้านขาดการปฏิสัมพันธ์กัน นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมาก คือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างค้าขาย ต่างทำมาหากิน ยกเอาบ้านไปเป็นเกสต์เฮาส์ เอาบ้านไปเป็นร้านอาหาร ร้านนวด ไม่มีเวลาว่างเพื่อส่วนรวม เห็นแก่ตนมากขึ้น ปัญหาความขัดแย้งก็เริ่มตามมา ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างมันเป็นไปแบบนี้ ชุมชนล่ามช้างก็จะไม่ต่างอะไรกับสังคมเมืองที่ไม่เห็นหัวกัน

“มันถึงเวลาที่เราต้องมาทบทวนกันว่า เมื่อความเจริญเข้ามา เราจะต้องทำยังไงให้ยังเก็บสิ่งเก่าไว้ และไม่ทิ้งสิ่งใหม่ ให้ 2 สิ่งนี้อยู่ด้วยกันได้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็นชาวบ้านจริง ๆ และที่เป็นนายทุนต่างถิ่นเข้ามา เราต้องทำยังไงให้คนกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันได้” ท่านเจ้าอาวาสเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านหันมาทำงานเพื่อชุมชน

หลังจากที่พระครูปลัดอานนท์ตัดสินใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชุมชนล่ามช้างที่ท่านอาศัยอยู่ ท่านใช้เวลาครุ่นคิดถึงวิธีการอยู่พักใหญ่ ก่อนจะนึกไปถึงสุภาษิตของล้านนา

“คนเมืองล้านนาโบราณ เขาบอกว่า หมาหลวงก๊านหมาหลาย หมายถึง หมาตัวโต ๆ ยังไงก็สู้หมาหลายตัวไม่ได้ ถ้าเราทำให้ทุกคนในชุมชนร่วมมือกันได้ เราก็จะมีกำลังในการสู้กับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

“อาตมามองว่าล่ามช้างในเวลานั้นยังโชคดีอย่างหนึ่ง คือ ชาวบ้านเดิมที่อยู่ในชุมชนยังมีอยู่เยอะเมื่อเทียบกับคนหรือผู้ประกอบการข้างนอกที่เข้ามา ทีนี้เราในฐานะพระหรือวัด จะต้องทำยังไงถึงดึงคนในชุมชนให้มารวมกันได้ ถ้าบอกว่า เฮ้ย ชาวบ้านต้องมาที่วัดนะ มาทำบุญนะ ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน อาตมาเลยมองว่าจำเป็นต้องมีกิจกรรมเพื่อดึงคนเข้ามารวมเป็นกลุ่ม ทุก ๆ วันสำคัญเราจึงพยายามให้เกิดกิจกรรมในชุมชน อาจจะเป็นกิจกรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชน กิจกรรมช่วยเหลือพัฒนาชุมชนร่วมกัน หรือแม้แต่กิจกรรมไปช่วยเหลือผู้อื่น

“แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องเริ่มทำก่อน ตราบใดที่เราไม่เริ่มทำ ความร่วมไม้ร่วมมือตรงนี้ก็ไม่เกิดขึ้นหรอก แต่สิ่งสำคัญที่สุด เราอย่าไปทำแบบวัตถุนิยมมากไป อย่าเห็นอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด ชาวบ้านจะเห็นแบบนั้น แล้วก็จะเบื่อ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้กระบวนการพวกนี้เพื่อขัดเกลาและดึงชาวบ้านให้มารวมกัน”

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

นับตั้งแต่นั้นทุก ๆ เดือน ทางวัดล่ามช้างจะมีการจัดกิจกรรมอยู่ตลอด โดยจะแจ้งข่าวทางเสียงตามสายในชุมชน และผ่านทางแฟนเพจของวัดล่ามช้าง ทำให้ชาวบ้านกลับมามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เริ่มมองเห็นกันและกัน

เจ้าอาวาสอานนท์ยังพยายามทำให้พื้นที่ของวัดกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเปิดให้มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในวัด และพยายามทำให้พื้นที่วัดรวมถึงพื้นที่ในชุมชนมีความ ‘ร่วมสมัย’ มากที่สุด

“คำว่า ร่วมสมัย ในที่นี้ อาตมาหมายความว่า ต้องมีเด็ก มีเยาวชน คนรุ่นใหม่ คนวัยกลางคน วัยทำงาน คนแก่ อยู่ด้วยกันให้ได้ การที่ทุกเพศ ทุกวัยมาอยู่ร่วมกันได้ นั่นคือ ร่วมสมัย ซึ่งย่อมดีกว่าปล่อยให้เป็นช่องว่างระหว่างกันที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้เห็นงานกราฟฟิตี้สวย ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวชุมชนบนกำแพงของวัดล่ามช้าง รวมถึงตามกำแพงภายในชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางวัดล่ามช้างทำร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC Chiang Mai) นอกจากนั้น ท่านก็ไม่เคยแบ่งแยกเรื่องศาสนา เมื่อครั้งหนึ่งคนในชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์เสียชีวิต แต่มีความต้องการจะมาประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ที่วัดล่ามช้าง ด้วยความที่ผู้เสียชีวิตผูกพันกับที่นี่ ท่านก็อนุญาตโดยไม่ว่าอะไร จนกลายเป็นข่าวออกหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศชื่นชมว่า ที่นี่คือวัดร่วมสมัย

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น หลายครั้งการรวมตัวกันของผู้คนในชุมชนก็เกิดขึ้นจากการร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“มีอยู่ช่วงหนึ่ง จู่ ๆ ทางรัฐบาลประกาศออกมาว่า เกสต์เฮาส์ผิดกฎหมายนะ ถ้าเปิดตำรวจจับนะ ซึ่งถือเป็นกิจการส่วนใหญ่ของชุมชน เขาก็เข้ามาปรึกษากับอาตมาว่าควรทำยังไงดี อาตมาเลยมอบหมายให้เอาผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวทั้งหมดมารวมกันให้มันเป็นพลัง จนเกิดเป็นกลุ่มล่ามช้าง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาจาก พ.ร.บ. จากกฎหมายนี้ ซึ่งปัจจุบันสำเร็จไป 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว

“กฎหมายเนี่ย คนเป็นคนเขียน ยังไงซะมันก็ต้องแก้ด้วยคน เราต้องเข้าใจก่อนว่าคำว่า รัฐ มันอยู่ในยุคใคร สมัยใคร ทำเพื่อใคร อย่าง พ.ร.บ. โรงแรม เรามองชัด ๆ ว่า กฎหมายตัวเดียวแต่เอาไปคุมหมดเลยทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก เกสต์เฮาส์ อันนี้คือความไม่เป็นธรรม ซึ่งพื้นฐานของอาตมาที่เรียนกฎหมายมา ก็เลยมองว่าเราต้องมีอำนาจต่อรอง ต้องรวมกลุ่มกันให้ได้เพื่อไปต่อรองกับกฎหมายนี้”

ผู้ที่ตัดสินใจเรียนวิชากฎหมาย เหตุผลสำคัญนอกจากการประกอบอาชีพเป็นทนาย ก็คือผู้เรียนนั้นรู้ตัวว่าจะต้องได้นำไปใช้ เจ้าอาวาสอานนท์คือหนึ่งในนั้น

“ก็เป็นเรื่องที่แปลกอยู่ตอนนั้น ไม่มีพระไหนเขาเรียนกัน” เจ้าอาวาสหัวเราะสนุก “อาตมาสนใจเพราะตอนนั้นชุมชนเริ่มมีปัญหาแล้ว อาตมาเลยเรียนเพื่อมาช่วยแก้ปัญหา ช่วยพัฒนา มันดีกว่าที่สมองเราไม่มีอะไรเลย การเรียนสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้รู้จักกับเครื่องมือ รู้จักกลไก เป็นฟันเฟือง เป็นองค์ประกอบในการช่วยพัฒนา และช่วยเหลือชาวบ้านได้ส่วนหนึ่ง รู้ว่าข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับรัฐต้องไปฟ้องใคร” ท่านหัวเราะสนุกปิดท้าย

ท่านตั้งใจที่จะเรียนกฎหมายเพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือชุมชน แม้ว่าจะไม่มียศหรือการว่าความพิสูจน์ให้เห็น แต่ความเก่งกาจทางด้านกฎหมายของท่านก็แสดงออกมาผ่านการทำงานเพื่อชุมชนตลอดระยะเวลาหลายปี รวมถึงการที่เด็กสองคนในชุมชนจบนิติศาสตร์ ออกมาเป็นทนายความและตำรวจได้ โดยมีท่านเป็นผู้ช่วยสอน

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

เมื่อชาวบ้านเริ่มกลับมารวมตัวกันได้ ขั้นตอนต่อไปก็คือ การสร้างกลไก กระบวนการ ที่จะเป็นเครื่องมือให้ชุมชนใช้ดูแลกันเองต่อไป

“พอเราทำงานร่วมกับชุมชนมาได้สักระยะหนึ่ง ก็มีการประกาศกำหนดเขตชุมชนขึ้นมาโดยเทศบาล โดยหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เรารู้ถึงอาณาเขตของเราชัดเจนขึ้นว่า ชุมชนของเราครอบคลุมถึงตรงไหนแน่ พอเรารู้อย่างนี้แล้ว การรวมตัวของคนในชุมชนก็จะเริ่มชัดเจนและเห็นความสำคัญขึ้น และเริ่มมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน เลือกประธานชุมชนเพื่อช่วยดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน ปัญหา เช่น น้ำท่วม เราจะทำยังไง ไปขอความช่วยเหลือจากใคร และยังไง ปัญหามลภาวะทางเสียง ทางอากาศ จะแก้ไขยังไงให้อยู่ด้วยกันให้ได้

“สิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดผลที่ดีเลย ถ้าก่อนหน้านี้ชาวบ้านต่างคนต่างอยู่ แต่พอเขามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เห็นอกเห็นใจกันเป็นพื้นฐาน กระบวนการทางชุมชนนี้จะเป็นไปโดยธรรมชาติของมันเองเลย เวลาเกิดปัญหาอะไรระหว่างคนในชุมชนด้วยกัน ความเห็นอกเห็นใจต่อกันจะช่วยคลี่คลายปัญหาให้เบาลงได้

“พอมีคณะกรรมการชุมชนแล้ว การทำงานเพื่อชุมชนต่อจากนี้จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เริ่มมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เริ่มมีกองทุนที่ให้เงินสนับสนุนในการพัฒนาชุมชนเข้ามา เราก็จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนที่ดูแลการใช้กองทุนนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ แยกจากชุดคณะกรรมการชุมชน มีการประชุมหารือกันในพื้นที่วัดว่า ควรนำเงินที่ได้ไปใช้แก้ไขปัญหาอะไร เริ่มมีการจัดตั้งกองทุนชุมชนเพื่อช่วยสนับสนุนชาวบ้านที่จำเป็นในด้านต่าง ๆ บางคนอาจขอกู้ไปเปิดร้านทำธุรกิจ บางคนเจ็บป่วยต้องใช้เงิน โดยเราจะคิดดอกเบี้ยถูก ๆ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนช่วยเหลือชุมชนต่อไปได้เรื่อย ๆ

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

“แน่นอนว่าพอเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงิน มันก็ย่อมมีปัญหา ในส่วนของผู้ถือกองทุนจะต้องเป็นคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ใช่ในนามบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ส่วนเรื่องการคืนเงินที่กู้ไป อย่างที่บอกว่าพอชาวบ้านเริ่มมีความใกล้ชิดกัน เลยทำให้เขาค่อนข้างเกรงใจกัน ก็เลยกลายเป็นกติกาของมันเองโดยอัตโนมัติและไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ ส่วนที่มีจริง ๆ เราจะมีกลไกอยู่ 2 อย่าง กลไกของชุมชนเอง กับ กลไกของภาครัฐ ที่มาควบคุมเงินตัวนี้อยู่ ที่มันสาหัสจริง ๆ เราก็โอนไปให้ภาครัฐเขาดำเนินการ แต่ว่าเราก็จะใช้กติกาชุมชนเรียกมาคุยซะเป็นส่วนใหญ่

“พอเราเริ่มมีกระบวนการจัดการในชุมชน รวมกันได้แล้ว สำหรับบางคนที่เขาอาจจะยังไม่มาร่วม แต่วันนึงเมื่อชุมชนยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แบ่งเบาหรือแก้ไขปัญหาให้กับเขา เขาก็จะเกิดความรู้สึกยินดี เห็นสิ่งที่พวกเราพยายามทำ และมาเข้าร่วมด้วยในที่สุด

“อาตมามองว่าปฏิสัมพันธ์เป็นพื้นฐานความสุขของคนในชุมชน ถ้าเราเอากลุ่มคนต่าง ๆ มารวมกันได้ ความเห็นอกเห็นใจต่อกันนี้จะเป็นมวลรวมที่จะทำให้เกิดความสุข”

การเกิดขึ้นของคณะกรรมการต่าง ๆ ภายในชุมชน แสดงให้เห็นถึงการรวมกันแล้วเป็นพลัง ออกมาเป็นรูปธรรมภายในชุมชนอยู่จำนวนมาก ในแง่ของการบริการนักท่องเที่ยวที่มาพักภายในชุมชนล่ามช้าง การที่ผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยวในชุมชนรวมกันเป็น ‘กลุ่มล่ามช้าง’ ทำให้กลุ่มโรงแรมกับเกสต์เฮาส์มีช่องทางติดต่อช่วยเหลือ แนะนำกัน มีข้อปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวเหมือนกัน มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน

การรวมกันเป็นกลุ่มของพวกเขาก่อเกิดประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เช่น หากที่พักเต็มก็ประสานส่งต่อให้กับที่พักในกลุ่มได้ หรือการที่ชุมชนทุกคนรวมกันเป็นกลุ่ม หากมีเหตุการณ์อะไรเร่งด่วน เช่นนักท่องเที่ยวเกิดหัวใจวาย เป็นลม หรือหลงทาง คนในชุมชนก็จะเข้าไปช่วยเหลือหรือประสานงานช่วยได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้เขาตายเอาดาบหน้า

นี่เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวประทับใจ และทำให้ต่อมาเมื่อสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเก็บข้อมูลกับนักท่องเที่ยวว่า หลังจากมาเที่ยวเชียงใหม่กลับไปแล้ว อยากกลับมาที่ไหนมากที่สุด คำตอบที่ทางสถาบันฯ ได้ก็คือ ชุมชนล่ามช้าง คืออันดับหนึ่ง นี่คือผลหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชุมชน

พระครูปลัดอานนท์ : เจ้าอาวาสผู้ไม่อาจทิ้งทางโลกและลงมือพลิกชุมชนล่ามช้าง จ.เชียงใหม่

ด้วยความที่ท่านเจ้าอาวาสมีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชน หลายครั้งตัวท่านก็ต้องเข้าไปมีข้อพิพาทกับหน่วยงานหรือกลุ่มคนต่าง ๆ ที่มีปัญหากับชุมชน ถึงขั้นครั้งหนึ่งมีคนกลั่นแกล้งกล่าวหาท่านอย่างเสียหาย

“มีอยู่วันหนึ่งตำรวจถือแฟ้มเดินเข้ามาในวัดหาอาตมา ท่านครับ ท่านถูกร้องเรียน ร้องเรียนในข้อหาอะไรอาตมาถามกลับไป ตำรวจก็บอกว่าข้อหาเป็นผู้มีอิทธิพล” เจ้าอาวาสหัวเราะ

“อาตมาก็อึ้งไปแป๊บหนึ่งนะ แต่อาตมาทราบดีว่ามันไม่มีอะไรหรอก ไม่ใช่คนในชุมชน การที่เราทำงานเช่นนี้ บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะไปพิพาทกับคนอื่น ช่วงแรก ๆ ที่อาตมาเริ่มต้นทำงานเพื่อชุมชน หลายคนยังไม่เข้าใจ ด่าอาตมาเสีย ๆ หาย ๆ ก็มี แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว มันเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง พวกทิ้งขยะไม่เป็นที่ จอดรถไม่ถูกที่ อะไรพวกนี้แหละ พอเขาเริ่มเข้าใจสิ่งที่เราตั้งใจ ท้ายที่สุดเขาก็มาร่วมด้วยกับเรา

“บางคนอาจมองว่านี่ไม่ใช่กิจของพระสงฆ์ ทำไมถึงไม่ละทางโลก มายุ่งเรื่องชาวบ้านทำไม อืม… ” ท่านนิ่งคิดไปชั่วครู่ก่อนพูดต่อ

“พระต้องละซึ่งทางโลก พระต้องไปนั่งวิปัสสนายุบหนอพองหนอ ถามว่าเราจะบรรลุได้ไหมในขณะที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งกำลังหิวโซ กำลังจะหนาวตาย เขากำลังลำบาก เราจะนั่งหลับตาแล้ววิปัสสนาเพื่อให้ตัวเราหลุดพ้นได้เหรอ ไม่ได้ เราทิ้งเขาไว้ข้างหลังแบบนี้ไม่ได้ ใครจะทำก็ทำ แต่อาตมาทำไม่ได้ ทางธรรมของอาตมาคือ การให้ ตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ จงเป็นผู้ให้ที่ดี อย่าเป็นผู้ได้ที่ดี อาตมาสบายใจที่เป็นแบบนี้มากกว่า

“ซึ่งแน่นอนว่ามีไม่กี่คนที่ทำแบบนี้ เพราะข้อเสียก็คือ มันไม่ได้อะไร เลยไม่ค่อยมีใครทำ แค่นี้แหละ” ท่านหัวเราะสนุกหลังแซวตัวเอง “มันได้แค่อย่างเดียว คือ ได้ความสุข แค่นั้นเลย นอกจากนั้นเราไม่ได้อะไรเลย ไม่มีหรอกยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ได้เป็นทรัพย์สินหรือวัตถุอะไรทั้งนั้น”

นอกจากการทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนล่ามช้าง เมื่อมีโอกาสท่านก็พยายามจะชวนให้ชุมชนร่วมกันช่วยเหลือผู้คนที่ยากลำบากในสถานที่อื่น ๆ 

สนทนากับ พระครูปลัดอานนท์ เจ้าอาวาส วัดล่ามช้าง ที่พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้าน จ.เชียงใหม่

“เวลามีกิจกรรมเกี่ยวกับทางวัด ที่ชุมชนจะเอาของมาบริจาค บางครั้งอาตมาจะขอ เมื่อก่อนเคยหิ้วสังฆทานมาทำบุญ เราก็ขอเปลี่ยนเป็นแพมเพิร์สได้ไหม ขอเป็นกล่องยาได้ไหม ทุกคนพอรู้เขาก็เอามาให้ เพราะอาตมาตั้งใจจะเอาไปช่วยผู้ป่วยติดเตียง หรืออย่างงานศพ จากพวงหรีด ขอเป็นพัดลมแทนได้ไหม เราจะเอาไปให้ผู้ยากไร้ที่เขาไม่มีจริง ๆ เราขอแบบนี้ทุกคนก็จะเข้าใจตรงกัน เกิดเป็นกระบวนการช่วยเหลือ

“อาตมาจะแนะนำกับเขาว่า ทำแบบนี้จะได้เผื่อแผ่บุญไปให้คนอื่นด้วย พอส่งต่อ เราก็จะแจ้งข่าวกับเขาว่าเราได้เอาไปมอบแล้วนะ คนที่ให้เขาก็จะเกิดกำลังใจ เป็นผลบุญที่เห็นผลได้ทันทีในชาตินี้ อย่าไปหวังเรื่องเก็บสะสมบุญไว้ชาติหน้าเลย ชาติหน้าเราจะได้เกิดเป็นหมู เป็นหมาอะไรยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคาดหวังถึงขั้นนั้น แต่ถ้าการทำบุญโดยการให้ผู้อื่นนี้ มันเห็นผลนะ แล้วเราก็ได้บุญ บุญที่ว่าก็คือ เราสุขใจไง”

ทุก ๆ เดือน บนหน้าเฟซบุ๊กของท่านเจ้าอาวาสรวมถึงแฟนเพจวัดล่ามช้าง เราจะเห็นว่าท่านเดินทางไปตามที่ทุรกันดารเพื่อมอบสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้คนที่ลำบาก ช่วยแบ่งเบาให้กับพวกเขา โดยท่านเป็นเพียงตัวแทนของชุมชนเท่านั้น

‘การให้’ ดูจะเป็นคำสอนที่ท่านเจ้าอาวาสพยายามแสดงให้ผู้คนเห็นมาโดยตลอดผ่านการกระทำตลอดชีวิตว่าให้แล้วอย่างไร ซึ่งคำสอนนี้ท่านก็ได้รับต่อมาจาก ครูบาสิงห์คำ อดีตเจ้าอาวาสผู้เป็นต้นแบบ ‘ผู้ให้’ ของท่าน

สนทนากับ พระครูปลัดอานนท์ เจ้าอาวาส วัดล่ามช้าง ที่พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้าน จ.เชียงใหม่

ตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปีที่พยายามทำงานเพื่อชุมชน เพื่อสังคม มาโดยตลอด หลาย ๆ อย่างก็เริ่มออกดอกผล แต่สำหรับท่าน ภารกิจนี้ยังไม่จบสิ้น

“อาตมาดีใจนะที่เวลาไปไหนก็มีคนชื่นชมชุมชนล่ามช้าง มีหลายหน่วยงานมาดูงานที่ชุมชน ล่ามช้างกลายเป็นตัวอย่าง ลึก ๆ อาตมาภูมิใจว่า อย่างน้อยเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ชุมชน กิจกรรมของชุมชนหลายอย่างที่อดีตไม่เคยได้รับความสนใจ ก็เริ่มมีหน่วยงานราชการลงมาช่วย ลงมาดู ทั้งองค์กรรัฐและเอกชน

“อาตมามองว่าเราน่าจะมากันได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลืออีกครึ่งหนึ่ง” ท่านหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“มันยากนะ ยาก เพราะยุคสมัยเปลี่ยน ความเจริญอะไรต่าง ๆ ก็เปลี่ยน บางอย่างเราก็อยากให้กลับมา บางอย่างก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่มันก็เป็น 50 ที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะชาวบ้านทำองค์กรของตัวเองให้เข้มแข็ง เข้าถึงชุมชน ทำให้ผู้คนในชุมชนเห็นอกเห็นใจกัน ต่อไปเวลามีปัญหาอะไรเราก็จะช่วยเหลือกัน

สนทนากับ พระครูปลัดอานนท์ เจ้าอาวาส วัดล่ามช้าง ที่พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้าน จ.เชียงใหม่

“ในอนาคตอาตมาอยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของชุมชนมากกว่านี้ มีกระบวนการ มีเครื่องมือของภาครัฐ ต้องมาช่วยกันหน่อย อย่างน้อยมาเป็นพี่เลี้ยงเราก็ได้ ทุกวันนี้บางอย่างชุมชนทำกันเองโดยไม่มีใครช่วยเราเลย ถ้ามีหน่วยงานภาครัฐมาช่วยเราเรื่องนั้นนี้ มันก็ไม่มีปัญหาหรอก อย่างล่าสุดตำรวจลงมาช่วยเราเรื่องโครงการ Smart Safety Zone ก็สร้างความอุ่นใจให้กับคนในชุมชนได้ ให้รู้ว่าชุมชนมันปลอดภัยนะ มีการออกกฎร่วมกันว่าทุกที่พักหรือร้านค้าจะต้องมีกล้องวงจรปิดนะ เวลาเกิดเรื่อง ตำรวจเข้าไปเอาข้อมูลตรงนั้นได้อย่างรวดเร็ว และดำเนินการจุบกุมคนร้ายได้ในเวลาไม่นาน คืนนี้ถูกกระชากกระเป๋า พรุ่งนี้ก็จับได้แล้ว

“อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ ชุมชนยังขาดเครื่องมือในการจัดการชุมชนด้วยกันเอง อาตมามองว่ากฎหมายสิทธิชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ เราเห็นคนพูด แต่ไม่มีใครทำ ไม่รู้ตัวบทกฎหมายมีอยู่รึเปล่า แต่อาตมาเดาว่าคงไม่มี ไม่งั้นแต่ละชุมชนคงไม่มีปัญหาแบบนี้”

สนทนากับ พระครูปลัดอานนท์ เจ้าอาวาส วัดล่ามช้าง ที่พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้าน จ.เชียงใหม่

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย