สุขสันต์เทศกาลอีสเตอร์แด่ผู้อ่านทุก ๆ ท่านครับ เดือนนี้ในโบสถ์ต่าง ๆ ยังเป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นรหัสธรรมลึกซึ้งในคริสต์ศาสนา นั่นคือ พระเยซูคริสต์ทรงผ่านการทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนชีพในวันที่ 3 ในโอกาสนี้ก็เลยอยากชวนทุกท่านไปทำความรู้จักกับคติความเชื่อในศาสนาคริสต์รูปแบบหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงนักในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระทรมานของพระเยซู นั่นคือคติความเชื่อเกี่ยวกับ ‘เครื่องทรมานของพระคริสต์’ หรือ ‘Arma Christi’
Arma Christi เป็นภาษาละติน มีที่มาจากชื่อกลอนภาษาอังกฤษบทหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 14 หมายถึง ‘ยุทธภัณฑ์ของพระคริสต์’ ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในพระคัมภีร์ที่กล่าวว่า ให้คริสตชนทุกคนให้สวมใส่ ‘ยุทธภัณฑ์ของพระคริสต์’ เพื่อไม่ให้แพ้การล่อลวงของซาตาน (ดูรายละเอียดในพระธรรมเอเฟซัส 6: 11 ซึ่งในพระคัมภีร์ภาษาละตินตอนนี้ใช้คำว่า Induite vos armaturam Dei แปลว่า “ให้เราสวมใส่ยุทธภัณฑ์ของพระคริสต์ เพื่อจะได้ต่อต้านการล่อลวงของปีศาจได้”)
การพัฒนาคำสอนทางเทววิทยาและหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสต์ขึ้นมาอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังหมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทรมานและประหารชีวิตพระคริสต์ด้วย ซึ่งเราคงคุ้นเคยกันในช่วงวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) วันที่ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซู ก่อนเทศกาลอีสเตอร์เล็กน้อย
บรรดาคริสต์ชนที่ได้รับอิทธิพลจากชาติสเปนและโปรตุเกส อย่างเช่นในประเทศฟิลิปปินส์และศรีลังกา จะจัดแสดงละคร ‘พระมหาทรมาน’ (Passion of the Christ) โดยใช้คนจริง ๆ แสดงแทนบุคคลต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ และเมื่อถึงฉากตรึงกางเขน ก็จะแขวนประติมากรรม ‘รูปพระตาย’ บนไม้กางเขนจำลอง ละครศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ก็มีการแสดงในไทยด้วย โดยเหลือเพียง 2 ชุมชนที่สืบทอดมา คือโบสถ์คอนเซ็ปชัญและโบสถ์ซางตาครู้ส ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนเชื้อสายโปรตุเกสที่สืบเนื่องไปถึงสมัยอยุธยา
จุดเริ่มต้นที่ชาวคริสต์ให้ความสำคัญกับการรับทรมานของพระเยซูคริสต์นี้ มีกำเนิดมาตั้งแต่ยุคกลาง โดยเฉพาะในสมัยของพระสันตะปาปาเกรโกรี มหาสมณะ (Gregory the great ค.ศ. 540 – 604) มีใจความหลักก็คือ พระคริสต์ทรงรับทรมานเพราะบาปของมนุษย์ ดังนั้น คริสตชนที่ดีจึงควรมีส่วนร่วมในความทุกข์ทรมานของพระองค์ โดยการพิจารณาใคร่ครวญและร่วมเป็นทุกข์พร้อมกับพระองค์ มีการประพันธ์บทสวดมากมายเพื่อการไตร่ตรองเหตุการณ์นี้ จากพื้นฐานทางเทววิทยา ทำให้เกิดความนิยมในการแสวงหา ‘พระธาตุ’ (Relic) ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องทรมานของพระคริสต์ โดยรวบรวมมาจากอิสราเอล แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
สิ่งของที่ค้นพบมาได้ก็มีทั้งตะปูที่ตรึงพระหัตถ์และพระบาท ค้อน คีมที่ใช้ตอกและถอนตะปู ไม้กางเขนของแท้ ซึ่งได้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 มงกุฎหนาม แผ่นป้ายบอกข้อหาเหนือกางเขน นำมาประดิษฐานไว้ในมหาวิหารต่าง ๆ ในยุโรปให้ผู้คนเคารพบูชา อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว แทบไม่มีทางที่ของเหล่านี้จะคงเหลือครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งยังชวนให้ตั้งคำถามว่า เวลาผ่านมาหลายร้อยปี จะหลงเหลือของแท้อยู่ได้อย่างไร
เมื่อ Arma Christi ปรากฏในงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ
จากเทววิทยาเรื่องพระมหาทรมานของพระคริสต์ที่นำไปสู่การแสวงหาพระธาตุแล้ว ก็ยังเกิดประเพณีการสร้างสรรค์งานศิลปะในหัวข้อที่เรียกว่า Arma Christi ขึ้นด้วย ในยุคกลาง หัวข้อนี้สร้างสรรค์ขึ้นกันอย่างแพร่หลาย โดยนำเอาสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ มาจัดวางประชุมรวมกันในภาพเดียว โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นภาพวาด ภาพแกะสลักนูนสูง หรือประติมากรรมลอยตัว เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้อ่านสัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพ พิจารณาไตร่ตรองและมีส่วนร่วมไปกับพระทรมานของพระคริสต์ได้ทั้งหมด เป็นเสมือนไอค่อน (Icon) ที่เสริมศรัทธา
ขณะเดียวกันยังมีทฤษฎีที่เสนอแนะว่า Arma Christi นั้น พัฒนามาจากคติความเชื่อเรื่อง ‘กางเขนทรงชัยชนะ’ หรือ Crux Invicta ซึ่งเป็นปฏิทรรศน์ที่ดูขัดแย้งกันที่ชาวคริสต์เชิดชูไม้กางเขน สัญลักษณ์แห่งความตายอันน่าอัปยศของชาวโรมัน ให้กลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เพราะพระคริสต์ทรงชนะบาปและความตายโดยทางไม้กางเขน คริสเตียนในยุคกลางจึงค่อย ๆ พัฒนาแนวคิดในการเชิดชูเครื่องทรมานอื่น ๆ ของพระคริสต์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งชัยชนะขึ้นมาบ้าง โดยอาจได้รับอิทธิพลจากความคิดของชาวโรมันที่มักจะเอาชุดเกราะและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ สวมเข้ากับหุ่นไม้แล้วปักไว้ในสมรภูมิที่เพิ่งพิชิตได้ เป็นเสมือนอนุสาวรีย์การมีชัยชนะเหนือศัตรู คตินี้เรียกว่า Tropaion แปลว่า ชัยชนะ
ลักษณะภาพ Arma Christi โดยทั่วไปมักแสดงออกเป็นภาพพระคริสต์ที่กำลังระทมทุกข์อยู่ตรงกลาง ห้อมล้อมด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ทรมานและประหารชีวิตพระองค์ราว ๆ 20 ชนิด ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวว่ามีอะไรบ้าง เพิ่มหรือลดจำนวนเครื่องทรมานได้โดยอิสระ ขึ้นอยู่กับศิลปินและผู้ว่าจ้าง แต่โดยส่วนมากแล้ว ได้แก่
– ไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์แรก ๆ ที่คริสตชนพยายามค้นหา ‘พระธาตุ’ ของแท้ให้พบ และนำมาเชิดชูเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ
– ค้อนและคีม ที่ใช้ตอกและถอนตะปูตอกตรึงพระหัตถ์และพระบาท
– หอก หมายถึงหอกของลองกินุส ทหารโรมันผู้แทงสีข้างของพระองค์ เพื่อทดสอบว่าพระคริสต์สิ้นพระชนม์หรือไม่
– แส้ ที่ใช้เฆี่ยน ที่เรียกกันว่า แมวเก้าหาง เพราะเป็นแส้เก้าแฉกที่มีตะขอโลหะติดที่ปลาย คอยฉีกเนื้อของผู้ที่โดนเฆี่ยน แส้มักปรากฏคู่กับเสาโรมัน ซึ่งเป็นเสาที่ใช้สำหรับผูกนักโทษเวลาเฆี่ยน
– ฟองน้ำเสียบไม้ มาจากเหตุการณ์ที่พระเยซูตรัสว่ากระหายน้ำ บรรดาผู้คนแถวนั้นจึงเอาฟองน้ำชุบน้ำส้ม (ไวน์ชนิดหนึ่ง มีผลทางการแพทย์ในการลดความเจ็บปวดของนักโทษประหาร นัยว่าเป็นความเมตตาอย่างหนึ่ง) เสียบกิ่งไม้ต้นหุสบให้พระองค์ทรงดื่ม บางครั้งจึงวาดภาพต้นหุสบนี้ไว้บริเวณกางเขนด้วย (ต้นหุสบ (Hyssopus officinalis) เป็นไม้พุ่มในวงศ์กะเพราชนิดหนึ่งในเขตยุโรปใต้และตะวันออกกลาง เป็นสมุนไพรโบราณใช้ระงับเชื้อ)
– บันได ใช้ตอนเชิญพระศพลงจากกางเขน ในศิลปะบางชิ้นสร้างให้พระคริสต์ไต่บันไดขึ้นไปบนกางเขนเอง แสดงว่าพระองค์ทรงเต็มพระทัยรับทรมานเพื่อบาปของมนุษย์
– มือตบ เป็นมือเปล่า ๆ ที่ไม่มีเจ้าของ มาจากเหตุการณ์ตอนที่บรรดาทหารเอาผ้าคลุมพระคริสต์ไว้ แล้วตบพระพักตร์เยาะเย้ยให้พระองค์ทายว่าใครเป็นผู้ตบ บางครั้งมีการวาดภาพเท้าที่ใช้เตะพระคริสต์ด้วย
– ลูกเต๋า มาจากเหตุการณ์ตอนบรรดาทหารโรมันถอดเสื้อของพระองค์ออกตกลงจะแบ่งกัน แต่ผ้าผืนนั้นไร้รอยตะเข็บ จึงฉีกแบ่งกันไม่ได้ เมื่อไม่ลงตัวจึงทอยลูกเต๋ากันเพื่อจะได้ยกให้ผู้ชนะ ผ้าผืนนี้มีนิทานเล่าว่า เมื่อพระองค์ประสูติ พระนางมารีย์เอาผ้าพันพระองค์วางไว้ในรางหญ้า ผ้าผืนนั้นก็เติบโตขึ้นไปพร้อมกับพระองค์ด้วย จึงเป็นผ้าผืนใหญ่ที่ไม่มีรอยตะเข็บการเย็บเข้าด้วยกันเลย
– ไก่ ปรากฏในงานศิลปะเสมอ ๆ หมายถึงไก่ของนักบุญเปโตร เมื่อพระเยซูทำนายว่า เปโตรจะทรยศพระองค์ก่อนไก่ขัน 3 ครั้ง
– เหรียญเงิน 30 เหรียญ มาจากเหตุการณ์ที่ยูดาสทรยศพระเยซู โดยขายพระองค์ให้กับศัตรูในราคา 30 เหรียญ
– ผ้าเช็ดหน้าของนางเวโรนิกา มีที่มาจากเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ ที่มีสตรีผู้หนึ่งเอาผ้ามาเช็ดพระพักตร์ที่เปื้อนโลหิตและเหงื่อให้พระเยซู ไม่ปรากฏชื่อของสตรีนางนั้น แต่มักเรียกนางว่า ‘เวโรนิกา’ (Veronica) อันแปลว่า ผ้าเช็ดหน้า
ตัวอย่างที่หลงเหลือในเมืองไทย : อาร์มา คริสตีของโบสถ์กาลหว่าร์
ดังที่ได้เกริ่นไปแต่ตอนต้นว่า โบสถ์ในเมืองไทยที่ยังคงจัดแสดงละครพระมหาทรมานอยู่จนปัจจุบัน ยังเหลืออยู่ 2 แห่งที่โบสถ์คอนเซ็ปชัญกับโบสถ์ซางตาครู้ส ซึ่งเป็นชุมชนเชื้อสายโปรตุเกส (ซึ่งทั้งสองแห่งไม่พบคติเกี่ยวกับ Arma Christi ที่เก่าแก่) ส่วนโบสถ์กาลหว่าร์หรือวัดแม่พระลูกประคำในชุมชนตลาดน้อยนั้น ในปัจจุบันคงเหลือแต่พิธีแห่รูปพระตายเท่านั้น มิได้มีการแสดงละคร
ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คาทอลิกไทย ประจำหอจดหมายเหตุอัสสัมชัญ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า แต่เดิมชุมชนโบสถ์กาลหว่าร์ก็น่าจะมีการจัดแสดงละครศักดิ์สิทธิ์ตามขนบธรรมเนียมโปรตุเกสเช่นกัน เพราะมีการค้นพบเครื่องทรมานของพระคริสต์ หรือ Arma Christi จากหีบไม้ขนาดใหญ่ที่เก็บรักษาไว้ภายในโบสถ์ ซึ่งแต่เดิมจะมีตระกูลที่รักษากุญแจหีบไว้ พร้อมกับหีบบรรจุรูปพระตายที่อัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุงให้พม่า สิ่งที่อยู่ในหีบนั้นประกอบด้วย ตะปู 3 ดอกขนาดใหญ่ แส้ (ที่เหลือแต่ด้าม) ค้อนและคีม มงกุฎหนามจำลอง และลูกเต๋า 3 ลูก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการพิสูจน์อายุของรูปพระตายด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ชวนให้สงสัยว่า Arma Christi ของโบสถ์กาลหว่าร์อาจจะจัดสร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันด้วย
“แต่ก่อนชุมชนกาลหว่าร์คงจะมีการเล่นละครศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน” อาจารย์พุฒิพงศ์เปิดประเด็น “เพราะชุมชนแห่งนี้เคยเป็นชุมชนชาวโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยามาก่อน พวกเขาเคยอาศัยอยู่ที่กุฎีจีน ที่เดียวกับชุมชนซางตาครู้ส แต่ต่อมามีเรื่องขัดแย้งกัน และกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าเป็นพวกขุนนางเก่า ได้อพยพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่แถวตลาดน้อยแห่งนี้ แล้วเชิญเอารูปพระตายพร้อมกับเครื่องทรมานมาด้วย
“แต่พอนาน ๆ ไป ชาวโปรตุเกสลดจำนวนลง ชาวจีนคริสตังเข้ามาแทนที่ ชาวจีนที่มาอยู่ใหม่คงรักษาประเพณีการเล่นละครศักดิ์สิทธิ์ไว้ไม่ได้ครบถ้วน จึงเหลือแต่การแห่พระตายเท่านั้น เครื่องทรมานอื่น ๆ จึงถูกเก็บใส่หีบปิดตาย แล้วไม่ได้เอามาใช้อีกเลย จากบันทึกของโบสถ์ใน ค.ศ. 1942 ยังพบว่า มีการเชิญรูปแม่พระกับนักบุญยอห์น อัครสาวก ออกมาแห่ในพิธีวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (หรือศุกร์พระตาย) ด้วย น่าสนใจว่ารูปปั้นทั้งสองนั้น มีแต่ศีรษะและมือที่คงเหลืออยู่ เชื่อว่าคงเป็นธรรมเนียมโปรตุเกสโบราณ ที่จะตกแต่งหุ่นรูปพระด้วยเสื้อผ้า มีโผล่ออกมาแต่หัวและมือเท่านั้น เรายังเห็นวิธีการแต่งตัวให้พระรูปแบบนี้ในศิลปะฟิลิปปินส์”
อาจารย์พุฒิพงศ์เอาภาพประติมากรรมศีรษะของแม่พระและนักบุญยอห์นที่แสดงสีหน้าโศกเศร้ามาให้ชม แม่พระนั้นสังเกตได้ว่าเป็นสตรีมีเนินอก ส่วนนักบุญยอห์นนั้นหันหน้าไปทางขวา เพราะในธรรมเนียมโบราณถือว่าท่านยืนอยู่ทางซ้ายมือของพระเยซู และมองขึ้นยังกางเขนที่อยู่ขวามือ เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่มีธรรมเนียมการนำรูปทั้งสองและเครื่องทรมานต่าง ๆ ออกแห่แล้ว
ผมยังจินตนาการถึงวันที่ชุมชนแห่งนี้ยังจัดละครศักดิ์สิทธิ์ระลึกถึงพระมหาทรมาน อาจจะเป็นเวลาเมื่อ 300 ปีก่อนตามธรรมเนียมของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา แล้วอาจจะจัดอีกครั้งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในบางกอก ณ ราชธานีใหม่ แล้วอดคาดหวังต่อไปในอนาคตไม่ได้ว่า มีความเป็นไปได้เพียงไรที่ชุมชนคริสตังแห่งตลาดน้อยนี้ จะฟื้นฟูประเพณีการแสดงละครศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาใหม่ โดยผ่านการวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบพิธีเดิม จัดสร้างยุทธภัณฑ์ของพระคริสต์ที่ขาดหายไปขึ้นมาใหม่ให้ครบถ้วน เพื่อรักษาศรัทธาที่สืบทอดกันมากว่า 300 ปีให้กลับคืนมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง
ท่านที่สนใจพิธีแห่พระตายที่วัดแม่พระลูกประคำ ตลาดน้อย กรุงเทพฯ เข้าร่วมพิธีได้ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของทุกปี (แต่ไม่ตรงกันเพราะใช้ปฏิทินจันทรคติ ติดตามได้ในเฟซบุ๊กของทางวัด)
ขอบคุณอาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี แห่งหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ