กลางป่าคอนกรีตสูงระฟ้าชวนสับสน ดังระงมด้วยเสียงสนทนาสลับแตรรถชวนระคายหู เรายืนอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ก่อนจะออกเดินไปท้ายซอยสุขุมวิท 1 เบื้องหน้าเราเป็นรั้วพฤกษาพนาวันอันสงบร่มรื่น มีอาคารหลังคาสูงแบบไทยผสมตะวันตกเป็นฉากหลัง ด้านหน้าติดป้าย ‘อริยาศรม’ บ้านของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำมาตย์เอก พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) บิดาแห่งวิศวกรรมไทย ซึ่งหลานสาวภูมิสถาปนิกอย่าง แอร์-ปริย เชนะกุล ทายาทรุ่นสามของครอบครัว ผัดแป้งแปลงโฉมให้เป็น Boutique Luxery Hotel การันตีความดีงามด้วยดาวถึง 4 ดวง

แอร์-ปริย เชนะกุล

ราว 10 ปีก่อน การสร้างอาคารชุดในเมืองกรุงกำลังขยายตัว บ้านเก่าทยอยถูกทำลาย ชุมชนเริ่มกลายเป็นห้างสรรพสินค้า จากบ้านเลขที่ 1 ขนาบคลองแสนแสบ กลายเป็นบ้านเลขที่ 67 ห่างไกลจากถนน แทนที่ครอบครัวเชนะกุลจะทุบบ้านสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิ้ง และแปลงพื้นที่ขนาดไร่เศษเป็นคอนโด พวกเขากลับยืนหยัดรักษาอาคารประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นรอยต่อของสถาปัตยกรรมจากไทยสู่เทศ ด้วยการเปิดเป็นโรงแรมขนาดย่อมท่ามกลางความสงบ

ขอบอกว่าเรื่องราวของบ้านใหม่หลังเก่าแห่งนี้สนุกใช่หยอก รอช้าอยู่ไย รีบสาวเท้าเข้าชมความงามทางสถาปัตย์ และพักผ่อนหย่อนใจในบ้านทรงเสน่ห์หลังนี้กัน

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

บ้านของบิดาแห่งวิศวกรรมไทย

ปริยต้อนรับเราด้วยเรื่องราวของพระเจริญวิศวกรรม คุณปู่ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้

ท่านเป็นบุตรชายของวิศวกรไฟฟ้าที่รัฐบาลสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ติดต่อให้รัฐบาลอังกฤษส่งมาช่วยวางระบบไฟฟ้า เมื่อจบการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบ คุณปู่ลูกครึ่งอังกฤษมาดเท่ของเธอก็เดินตามรอยคุณทวด ไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษและอเมริกา ท่านเป็นนักเรียนไทยรุ่นแรกที่ไปเรียนด้านวิชาชีพเพื่อกลับมาวางรากฐานโครงสร้างวิชาเรียนให้ประเทศ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำมาตย์เอก พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) บิดาแห่งวิศวกรรมไทย

ผลงานอันโด่งดังที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่คอกีฬายังรู้จักคือ ‘สนามศุภชลาศัย’ สนามกีฬาแห่งชาติที่ผ่านร้อนผ่านหนาว รับหน้าที่เป็นสนามแข่งขันระดับชาติมานับไม่ถ้วน

“ตรงอัฒจันทร์ คุณปู่ออกแบบโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณตอนกลางมีหลังคาเพิงหมาแหงนยื่นยาว แต่กลับไร้เสาค้ำ ทำให้คนทั้งเมืองโจษจันว่าอาคารต้องพังลงภายในสองปี แต่ก็อยู่มาจนทุกวันนี้”

ปริยเล่าผลงานอันโด่งดังของคุณปู่อย่างภูมิใจพร้อมชี้นิ้วให้เราดูภาพ ‘บิดาแห่งวิศวกรรมไทย’ ด้านหลัง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำมาตย์เอก พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) บิดาแห่งวิศวกรรมไทย

เธอเสริมว่า ปี 2485 ญี่ปุ่นบุกยึดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นกองบัญชาการ ตอนนั้นคุณปู่เป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เลยต้องอพยพ บังเอิญเจอที่ดินติดคลองแสนแสบราคาดีพ่วงความเจริญ ท่านจึงตัดสินใจลงหลักปักฐาน  

รอยต่อบ้านไม้ไทยสู่อาคารคอนกรีต 

เมื่อฟังเรื่องราวของคุณปู่จนรู้จักกันมากขึ้น ปริยพาเราเข้าสู่เส้นทางสถาปัตยกรรมสุดเก๋ของบ้าน ที่กลายมาเป็นบูติกโฮเต็ลสุดแสนภูมิใจ ไม่เพียงสนุก แต่เรายังประทับใจความงามและความสร้างสรรค์ของคนโบราณไปกับเธอด้วย

ด้วยความที่พระเจริญวิศวกรรมและ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ (ผู้ออกแบบบ้าน) เป็นสถาปนิกร่วมสมัยเดียวกัน สองชายหนุ่มต่างเติบโตมาในบริบทบ้านไม้ไทย แต่มีโอกาสดีได้เดินทางไปศึกษาไกลถึงเมืองนอก เลยได้เห็นและสัมผัสบ้านอย่างชาวยุโรปมาบ้าง ท่านทั้งสองเลยคิดอยากผสานการออกแบบของบ้านไทยและบ้านตะวันตกเข้าด้วยกัน 

หลานสาวพาเราแกะรอยสถาปัตยกรรมจากหน้าบ้าน และบอกเล่าการผสมผสานอย่างเรียบง่าย

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

อริยาศรมเป็นบ้านตึกทรงไทยที่มีหลังคาสูงชันและไม้ค้ำยันประกอบ ไม่เพียงสวยงามชดช้อย แต่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้น้ำฝนกระเด็นออก ไม่ไหลลงผิวอาคารอย่างปัจจุบัน แม้แต่ใต้หลังคาอย่างไทยก็สอดแทรกความเป็นตะวันตกด้วยห้องใต้หลังคาที่เปิดแง้มหน้าต่างรับไออุ่นจากแสงแดดได้ ยิ่งมองยิ่งเห็นด้วยว่านี่คือการผสมผสานที่ลงตัวที่สุด

เมื่อเดินกลับเข้าตัวบ้าน เธอไม่วายชี้ชวนเราดูหน้าต่างบานนั้น บ้านนี้ และบานโน้น พร้อมเฉลยความเป็นไทยของหน้าต่างว่า การมีหน้าต่างหลายบานเป็นทางเข้าออกของลมธรรมชาติ เพื่อระบายความร้อนและความอับชื้นโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ หน้าต่างบางส่วนเลยเปิดได้ 2 แบบ ไม่ว่าจะเปิดออกแบบหน้าต่างทั่วไปหรือเปิดแบบบานกระทุ้ง พ่วงข้อดีด้วยการกันน้ำฝนและระบายความอับ แม้วันนี้แดดแรงไร้ลมแต่เรากลับไม่รู้สึกร้อนเลย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!

เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท
อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท
อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

ด้วยการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ของทั้งสองท่าน จึงนำเทคโนโลยีคอนกรีตเสริมเหล็กจากต่างประเทศที่ทันสมัยมากในช่วงนั้น มาผสมกับระบบผนังรับน้ำหนักปราศจากเสาและคาน ทำให้ตัวอาคารดูบางและอ่อนช้อย แต่ก็แอบแทรกสถาปัตยกรรมจีนจากเชื้อสายของคุณย่า ด้วยหลักฮวงจุ้ยสุดคลาสสิก เราจะสังเกตเห็นสัดส่วนบานหน้าต่าง กรอบประตู ตรงบริเวณมุมจะมน ไม่เป็นมุมฉาก เพราะความมนจะทำให้พลังชี่ (Chi) ไหลสะดวกตามศาสตร์จีน

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

“บ้านหลังนี้เท่และสนุกสนานมาก ทั้งการผสมผสานและการแสดงให้เห็นรอยต่อของภาษาทางสถาปัตยกรรมในบริบทบ้านพักอาศัย ถ้าเราไม่เก็บบ้านหลังนี้ไว้ คนไทยจะไม่เข้าใจเลยว่าบ้านไม้ไทยเปลี่ยนมาเป็นบ้านตึกได้อย่างไร” 

ประโยคขนาดสั้นของเธอทำให้เราถึงบางอ้อว่าทำไมบ้านไทยแทบไม่เหลือให้เห็น

และเราเชื่อว่านั่นเป็นประโยคยืนยันการตัดสินใจครั้งสำคัญของเธอ

สร้างใหม่ด้วยใจรัก

หลังจากคุณปู่เสีย บ้านหลังนี้เคยเป็นที่ตั้งของบริษัทอังกฤษและออฟฟิศสถาปนิกของปริย พอความเจริญมาเยือน ก็มีนายทุนมากหน้าหลายตาขอซื้อที่ดินผืนนี้ไปพัฒนาเป็นอาคารชุด ถึงเวลาครอบครัวเชนะกุลต้องประชุมหารือ 

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

“เริ่มมีเครื่องหมายคำถามว่าเราจะทุบบ้านทิ้งเเล้วสร้างเป็นคอนโดดีมั้ย เพราะผลตอบแทนสูงมาก แต่สรุปกับครอบครัวแล้วว่าเราจะอนุรักษ์บ้านคุณปู่ไว้ เพื่อเก็บบ้านและรูปแบบอาคารอันทรงคุณค่าไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา”

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท
อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเจ้าบ้าน ‘อริยาศรม’ จึงเป็นชื่อของบ้านเก่าในรูปโฉมใหม่ แอบซ่อนความหมายเข้าใจง่ายไว้ว่า ‘ที่พักของผู้มีจิตใจเจริญ’ มีชื่อเสียงเรียงนามเรียบร้อย เธอลงมืออนุรักษ์และฟื้นฟูบ้านเก่าด้วยกฎเหล็ก 3 ข้อ หนึ่ง อนุรักษ์อาคารเก่า สอง ห้ามตัดต้นไม้ สาม อาคารใหม่ต้องไม่ล้ำหน้าอาคารเก่า

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

หลักจากคุยกันสักพัก เธอพาเราเดินชมอาคารเก่าและอาคารใหม่ แม้อาคารใหม่สร้างด้วยระบบเสาคาน แต่สัดส่วนอาคาร หลังคา และช่องระบายลม ยังถอดฉบับจากอาคารเดิม คล้ายว่าภาษาทางสถาปัตยกรรมของบ้านเก่ายังอยู่ เจ้าบ้านเพิ่มเพียงระบบกันเสียงและระบบปรับอากาศเท่านั้น เพื่อความสะดวกสบายให้กับแขกผู้มาเยือน

ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่ภูมิสปานิกสาวต้องเอ่ยปากออกมาว่า เป็นงานที่ยากที่สุดในชีวิตสถาปนิกของเธอ

บ้านใหม่หลังเก่า

อาคารเก่า-ใหม่ 4 หลัง เชื่อมกันด้วยทางเดินลอยฟ้า อาคารเก่า 2 หลัง มีห้องพักอาคารละ 3 ห้อง ส่วนอีก 18 ห้อง อยู่ในอาคารหลังใหม่ ทุกห้องตกแต่งด้วยสไตล์ไทยผสมตะวันตก ปะปนกันทั้งเฟอร์นิเจอร์เก่าและใหม่ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ไทยและพม่า ไหนจะสารพัดผ้าตกแต่งที่ล้วนเป็นผ้าไหมและผ้าทอมือของดีจากชุมชน เพื่อให้แขกได้สัมผัสวัฒนธรรมพื้นถิ่น

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

ห้องแรกเป็นห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่สำหรับครอบครัว เราเปิดประตูเข้าไป ทางขวาเป็นห้องน้ำ มีกระจกบานใหญ่เป็นผนังกั้นภายในและภายนอกแทนคอนกรีต เดินมาอีกนิดจะพบห้องนั่งเล่นประดับด้วยเฟอร์นิเจอร์สีอบอุ่น ผ้าทอมือ และของตกแต่งทำจากไม้ นอกหน้าต่างมีระเบียงไว้หย่อนใจ มองออกไปเห็นวิวสระว่ายน้ำที่รายล้อมด้วยแมกไม้ เคียงคู่ไปกับบรรยากาศของคลองแสนแสบนอกรั้วบ้าน สุดทางเดินมีบันไดเชื่อมต่อไปยังเตียงนอนขนาดใหญ่ด้านบน ทำเอาเราร้อง ‘ว้าว’ ในใจ เพราะห้องใต้หลังคาเบื้องหน้าทั้งกว้างและสวยงามกว่าห้องใต้หลังคาในความทรงจำเป็นไหนๆ

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

เช็กเอาต์ออกจากห้องแรก ขอเช็กอินต่อห้องแบบที่สอง บอกเลยว่าปริยภูมิใจนำเสนอมาก

  แม้ห้องนี้จะเป็นห้องขนาดย่อม ดูแล้วเรียบง่ายและใช้เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งเหมือนห้องอื่น แต่กลับเต็มไปด้วยความหลังเพราะเคยเป็นห้องนอนเก่าของคุณพระเจริญวิศวกรรมมาก่อน ด้านหน้าเป็นเตียงไม้สัก 4 เสา เข้าชุดกับเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ด้านขวาเคยเป็นห้องหนังสือของท่าน แต่เพื่อความสะดวกสบายของแขกที่เข้าพัก เธอจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนห้องหนังสือแห่งความทรงจำเป็นห้องน้ำสร้างใหม่ แต่เครื่องสุขภัณฑ์ที่ใช้มีรูปทรงอย่างโบราณ ทำให้เข้ากันได้ดีกับห้องนอน

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

อ้อ ทางขวาของอ่างล้างมือเป็นประตูเปิดไปรับลมนอกระเบียงที่เธอบอกว่าคุณปู่ใช้เป็นที่สูบบุหรี่ยามพักใจ

อาหารใจ-อาหารกาย

จากอดีตห้องนอนคุณปู่ เธอพาเราเดินขึ้นบันไดไม้ไปยังห้องทำสมาธิใต้หลังคา แสงแดดอ่อนพาดลงจากหน้าต่างบานน้อย เผยให้เห็นความงามของหลังคาทรงสูง ยิ่งเพิ่มมวลความสงบให้กับการเทศนาของ หลวงพ่อวิโมกข์ เมธิโน เบื้องหลังของท่านเป็นพระประธาน เบื้องหน้าเป็นเหล่าฆราวาสผู้เลื่อมใส แม้ไม่ได้เข้าพักกับอริยาศรมก็ติดต่อขอเข้าฟังได้

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

นอกจากเชิญชวนเพื่อนพ้องมานั่งสมาธิ ปริยยังจัดกิจกรรมปั้นพระพุทธรูป เธอเล่าว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากสมเด็จย่า ครั้งที่พระองค์ทรงปั้นพระพุทธรูปขนาดย่อมพระราชทานแก่ตำรวจตระเวนชายแดน โดยเป็นกิจกรรมระยะสั้น 2 วัน (มาเช้า-เย็นกลับ) มี อาจารย์อุ่น-ใกล้รุ่ง อัตนโถ ผู้เชี่ยวชาญด้านประติมากรรมมาสอนโดยเฉพาะ เพราะท่านมีความแม่นยำมากด้านการปั้นสรีระร่างกายมนุษย์ ส่วนหน้าตาท่านให้ช่างปั้นมือสมัครเล่นลงมือออกแบบตามอิสระ ไม่เพียงได้สร้างสรรค์ผลงานผ่านความศรัทธา แต่ยังได้เจริญพุทธานุสติหลีกหนีความวุ่นวายขณะออกแรงปั้นด้วย

อาจารย์อุ่น-ใกล้รุ่ง อัตนโถ

หลังจากเดินทัวร์ทั่วอริยาศรม ปริยชวนเราทานอาหารมังสวิรัติที่ ‘ณ อรุณ’ ห้องอาหารในบ้านหลังเก่า กระซิบเลยว่าเมนูมังสวิรัติเลื่องชื่อลือชาจนคนรักสุขภาพต้องเอ่ยชวนกันปากต่อปาก ทั้งคนไทยและเทศต่างกล่าวขวัญว่าเด็ด

เธอเล่าพลางเสิร์ฟเมนูอร่อยให้เราทาน จานแนะนำสำหรับสายสุขภาพและมังสวิรัติมือใหม่ ต้องลองสั่ง Egg Benedict ที่แม่ครัวมือดีเปลี่ยนฟองเต้าหู้และเห็ดให้เป็นเนื้อเทียม แต่ยังให้เนื้อสัมผัสและกลิ่นที่คล้ายเบคอนและไส้กรอก

ห้องอาหาร ณ อรุณ

อริยาศรม

“อริยาศรมมอบอะไรให้แขก”
เราถามคำถามสุดท้ายต่อหลานสาวรุ่นสามที่คิดอนุรักษ์บ้านรุ่นคุณปู่

“แขกหลายคนขอบคุณเราที่เก็บรักษาบ้านและเปิดให้คนอื่นได้เข้ามาพักอาศัย ในฐานะลูกหลาน เราดีใจที่อนุรักษ์บ้านปู่ย่าตายายไว้ได้ เราควรสนับสนุนให้สถานที่เก่าแก่เหล่านี้อยู่ต่อเพื่อจรรโลงให้กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยไม่เหมือนเมืองใดของโลก นี่คือสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาอยู่แล้วเขามีความสุข” ปริยตอบพร้อมรอยยิ้มยืนยันการตัดสินใจเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นโรงแรมสุดอบอุ่น โดยมีอาคารหลังงาม มวลแมกไม้และความหฤหรรษ์ของแขกเป็นพยาน

อริยาศรมวิลล่า เปลี่ยนบ้านไทย-ยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่พักสีเขียวกลางสุขุมวิท

อริยาศรมวิลล่า 

65 ซอยสุขุมวิท 1 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

Facebook : อริยาศรมวิลล่า 

เว็บไซต์ :  www.ariyasom.com

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ