Arincare (อรินแคร์) แคร์ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย พวกเขาเป็นสตาร์ทอัพด้านสาธารณสุข (Health Tech) ที่ทำหน้าที่เสมือนเพื่อนคู่คิดของร้านขายยา และมีฤทธิ์ช่วยคลายอาการปวดหัวให้เภสัชกรเจ้าของร้านทั่วประเทศ

“ร้านขายยาเป็นหน่วยหนึ่งในสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนในชุมชน จากข้อมูลที่เราเก็บ เวลาคนป่วย สิ่งแรกที่คนมักทำคือไปร้านขายยา แต่พอพวกเขาไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ คนที่เข้ามาแก้ปัญหาทางสาธารณสุขก็มักมองข้ามไป” ชายหนุ่มตรงหน้าเริ่มเล่า

“แล้วร้านขายยามีปัญหาอะไร” เราสงสัย เพราะนอกจากเดินเข้าไปซื้อยาเป็นครั้งคราวยามเจ็บป่วย เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเบื้องหลังการสร้างธุรกิจร้านขายยาเลย

Arincare สตาร์ทอัพผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ราคา 0 บาทให้เภสัชกร เพื่อเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย

นั่นเป็นเหตุผลที่เรานัดหมาย เอ็ม-ธีระ กนกกาญจนรัตน์ อดีตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ปัจจุบันผันตัวเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ นำทีม Arincare กว่า 10 ชีวิตเข้าสู่ปีที่ 4 และช่วยเหลือร้านขายยาให้ทำงานได้ดีขึ้นรวมมากกว่า 3,000 ราย ผ่านซอฟต์แวร์ที่พวกเขาพัฒนา

ซอฟต์แวร์ของ Arincare ถือว่าแก้ปัญหาการบริหารร้านขายยาได้อย่างครบเครื่อง เพราะทำให้เภสัชกรดูแลการสั่งซื้อ เก็บข้อมูล จัดการคลังยา และบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยมีราคาค่าใช้จ่ายเพียง 0 บาท 

Arincare สตาร์ทอัพผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ราคา 0 บาทให้เภสัชกร เพื่อเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย

หากคุณเป็นเภสัชกรเจ้าของร้านขายยาที่ยืนยันตัวตนถูกต้องตามกระบวนการ รับซอฟต์แวร์นี้ไปใช้งานได้ฟรีๆ เลย

คุณอาจสงสัยบ้างแล้วว่า Arincare แก้ปัญหาให้ร้านขายยา เภสัชกร และระบบสาธารณสุขของประเทศได้อย่างไรอีกบ้าง แล้วสร้างรายได้ทางไหนเมื่อขายซอฟต์แวร์ราคา 0 บาท รวมถึงอะไรทำให้เอ็มตัดสินใจสร้างธุรกิจด้านสาธารณสุข ทั้งที่ไม่ได้ทำงานสายการแพทย์เหมือนผู้ประกอบการคนอื่นๆ อีกจำนวนมากในวงการนี้

หากสงสัยเหมือนกัน เราขอลองรับบทเภสัชกร จ่ายยาเป็นบทความนี้เพื่อบรรเทาอาการสงสัยให้คุณ

วิธีใช้ : อ่านบนอุปกรณ์สื่อสารที่สะดวก เวลาใดก็ได้

คำเตือน : ควรอ่านให้จบในรวดเดียว

01

จุดเริ่มต้นในวงการสาธารณสุข

แม้ไม่ได้ทำงานสายการแพทย์โดยตรง แต่เอ็มพอรู้ว่าศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่เขามีจะเป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุข เพราะเขาเคยทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้โรงพยาบาลในประเทศแคนาดาอยู่พักใหญ่

“ตอนทำงานที่แคนาดา เราได้พบแพทย์ที่ใช้ระบบของเราจริงๆ ในห้องผ่าตัดรักษาคนไข้ ทำให้รู้สึกว่างานที่ทำด้านนี้มีคุณค่า ช่วยคนหรือแก้ไขปัญหาสังคมได้ ความคิดที่อยากเริ่มทำด้านสาธารณสุขคงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น” เอ็มเล่า เขาเข้าใจดีว่าเทคโนโลยีกับการแพทย์ผสานกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคมได้

หลังเดินทางกลับไทย เอ็มคิดนำรูปแบบซอฟต์แวร์ที่แคนาดามาปรับใช้ แต่เจอความจริงว่าโครงสร้างสาธารณสุขแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทั้งในแง่กฎหมายและสังคม

เอ็มจึงต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขาพอแก้ไขอะไรได้อีก ด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่มี จนเจอปัญหาน่าสนใจที่แทบยังไม่มีธุรกิจไหนเข้ามาทำ อย่างการพัฒนาร้านขายยา

หลังค้นคว้าด้วยการลงพื้นที่พูดคุยกับเภสัชกรตามร้านขายยา และคำนวณตัวเลขทางธุรกิจต่างๆ เอ็มในวัย 32 ปีมองเห็นความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา จนตัดสินใจก่อตั้งสตาร์ทอัพขึ้นมา

เอ็ม-ธีระ กนกกาญจนรัตน์
เอ็ม-ธีระ กนกกาญจนรัตน์

02

ปัญหาจุดจ่ายยา

20,000 คือตัวเลขที่เอ็มค้นพบในช่วงแรก

เป็นตัวเลขจำนวนสาขาของร้านขายยาทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งมากกว่าจำนวนร้านสะดวกซื้อชื่อดังทั้งหมดรวมกันเสียอีก และมีประชาชนเดินเข้าไปจับจ่ายยามากถึงวันละ 2 ล้านคน

ตัวเลขถัดไปคือ 90 เปอร์เซ็นต์ 

หมายถึงจำนวนร้านที่ดำเนินการโดยเภสัชกรรายย่อยในชุมชน ซึ่งถือว่าเยอะมาก ต่างกับประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ส่วนใหญ่ร้านขายยาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรรายใหญ่ รายล้อมด้วยทรัพยากรเพียบพร้อม

ปัญหาที่ร้านรายย่อยเหล่านี้พบ คือขาดระบบจัดการภายในร้านที่มีประสิทธิภาพ

“เราลองเดินเข้าไปสำรวจร้านขายยาเพื่อเข้าใจปัญหาเจ็ดในสิบจะบอกว่าระบบการจัดการทุกอย่างต้องใช้มือมนุษย์หมดเลย ไม่มีการบันทึกข้อมูลซื้อขายที่เป็นระบบ พอไม่มี ก็ต้องจดทุกอย่างลงบนกระดาษ” เอ็มเล่าพร้อมเสริมข้อมูล

เมื่อข้อมูลไม่ถูกจัดเก็บเป็นระเบียบ เภสัชกรจึงคาดการณ์ปริมาณยาที่ต้องมีในคลังหรือสั่งซื้อไม่ถูก เพราะขาดข้อมูลที่เที่ยงตรง เสียเวลานานกับการจัดทำข้อมูลรายงานการขายยาเพื่อส่งให้หน่วยงานต่างๆ ตามกฎหมาย หรือมีความเสี่ยงในการจ่ายยาให้ผู้ป่วยซ้ำซ้อนหรือผิดพลาด เพราะไม่มีบันทึกประวัติการรับยาของผู้ป่วย

นอกจากกระทบการบริหารธุรกิจให้อยู่รอดยั่งยืนแล้ว ยังส่งผลลบกับประสบการณ์การซื้อยาของผู้ป่วย
แต่ให้ทำอย่างไรเล่า ซอฟต์แวร์ดีๆ ทันสมัยที่ช่วยได้ตามท้องตลาดก็มักมีราคาแพง และไม่ค่อยมีฟังก์ชันตอบโจทย์ร้านขายยา
Arincare เห็นช่องว่างตรงนี้ จึงพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มบริหารร้านขายยาโดยเฉพาะ หรือที่เอ็มเรียกว่า ‘Digital Pharmacy Solution’ ให้เภสัชกรนำไปใช้งานได้ฟรีๆ เพื่อยกระดับร้านขายยาให้ทันสมัย

03

ซอฟต์แวร์มากศักยภาพเพื่อเภสัชกร

เมื่อเภสัชกรติดตั้ง Arincare เรียบร้อย นั่นเท่ากับประหยัดเวลาการทำงานในอนาคตไปได้นับหลายร้อยชั่วโมง

เพราะ Arincare มีฐานข้อมูลยาเพียบพร้อมกว่า 10,000 รายการอยู่ในระบบ ทำให้เภสัชกรดูข้อมูลยา ปรับราคาและจำนวนสำหรับการขายแต่ละครั้งได้สะดวก เมื่อลูกค้าชำระเงิน ข้อมูลการซื้อขายก็ถูกเก็บเข้าระบบโดยอัตโนมัติ 

เภสัชกรจะดูข้อมูลการซื้อยาแยกตามวัน เวลา และประเภทยา มองเห็นยอดขายและกำไรทั้งเป็นตัวเลขและกราฟสรุปให้เข้าใจได้ภายในไม่กี่วินาที พร้อมดูยอดจำนวนยาแต่ละประเภทที่มีในคลังได้ สะดวกต่อการสั่งซื้อยาใหม่ ในเวลาและปริมาณที่พอเหมาะ พร้อมสรุปข้อมูลบัญชีไว้เป็นเอกสารส่งหน่วยงานต่างๆ 

นอกจากบันทึกข้อมูลยา ระบบยังบันทึกประวัติคนไข้และการซื้อยา ช่วยให้ร้านขายยาที่มีระบบ Arincare ดูแลลูกค้าได้ดีปลอดภัยหายห่วง รู้ว่าควรจ่ายยาตัวไหนที่เหมาะสม และด้วยข้อมูลที่เชื่อมต่อทางออนไลน์ผ่านระบบคลาวด์ ไม่ต้องกลัวเลยว่าข้อมูลจะหล่นหายไปไหนเหมือนตอนจดบนกระดาษ

ซอฟต์แวร์ตัวเดียว แต่แก้ปัญหาได้หลายจุด
ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร้านขายยา เภสัชกรตัดสินใจทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น และลูกค้าซื้อยาได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย

Arincare สตาร์ทอัพผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ราคา 0 บาทให้เภสัชกร เพื่อเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย
เอ็ม-ธีระ กนกกาญจนรัตน์

04

เข้าใจผู้ใช้งาน จนคนหลงรักและช่วยเสนอวิธีการสร้างรายได้

การพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากไม่แพ้กันสำหรับสตาร์ทอัพน้องใหม่ คือการทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก และว่าที่ลูกค้าไว้วางใจจนตกลงใช้งาน
ช่วงแรก เอ็มตั้งราคาให้ซอฟต์แวร์ของตน แต่ไม่มีใครซื้อ เพราะต่างกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและความน่าเชื่อถือของซอฟต์แวร์ไทย

หลังจากหาคำตอบอยู่สักพัก เอ็มก็เกิดประกายความคิดขึ้นมา

“ตอนแรกเราคิดว่าตัวเองต้องขายซอฟต์แวร์เหมือนบริษัทอื่นๆ แต่พอการขายด้วยราคาที่ถูกกว่าไม่ใช่คำตอบสำหรับวงการนี้ เราลองมองโมเดลแบบเฟซบุ๊กหรือกูเกิลที่ให้คนใช้งานได้ฟรี แต่มีวิธีหารายได้ทางอื่น” เอ็มอธิบาย ในตอนแรกเขายังไม่พบคำตอบว่าจะหารายได้อย่างไร แต่ลองทดสอบด้วยการปรับให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ได้ฟรี อย่างน้อยจะได้เข้าใจตลาดก่อน
เอ็มเชื่อว่า หากมีคนรักผลิตภัณฑ์ของเขาเพราะคุณค่าที่ได้รับ จะมีวิธีการสร้างรายได้ตามมาภายหลัง

ส่วนเรื่องความน่าเชื่อถือ นอกจากประกวดสตาร์ทอัพจนได้รับรางวัลภูมิภาคมาบ้างแล้ว ในช่วงแรกเอ็มและทีมงานใช้การลงพื้นที่ไปพูดคุย สอนวิธีใช้งานซอฟต์แวร์ให้ถึงที่

ความพยายามเหล่านี้ไม่สูญเปล่าแต่อย่างใด เภสัชกรเริ่มตัดสินใจใช้งาน Arincare มากขึ้น บางรายพอได้ลองใช้ ก็หลงรักความครบเครื่องจนอยากให้เก็บเงินค่าซอฟต์แวร์

แล้วรายได้แรกก็เกิดขึ้น จากความต้องการใหม่ของลูกค้าที่เสนอวิธีเข้ามา

“รายได้แรกของ Arincare มาจากการขายคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ฉลากยา เพราะเภสัชกรไม่สะดวกไปซื้อเอง เขาก็ขอให้เราช่วย เราเลยไปตกลงซื้อกับผู้ผลิตและนำมาบริการให้พร้อม” เอ็มอธิบายถึงวิธีสร้างรายได้ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่หลังจากนั้นวิธีอื่นก็ค่อยๆ ตามมา เช่น ลูกค้าต้องการให้ทีมงานสอนวิธีใช้งานและนำข้อมูลสินค้าเข้าระบบให้เรียบร้อย โดยยินดีจ่ายค่าบริการเสริม

เมื่อรับฟังลูกค้าหรือผู้ใช้งานอย่างตั้งใจ จนเกิดความสัมพันธ์อันดีและมีผู้ใช้งานมากขึ้น Arincare ยิ่งได้รับความคิดเห็นที่นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กว่าเดิม

และเอ็มให้ความสำคัญกับความคิดเห็นนี้มาก

“เราพยายามสื่อสารความคิดเห็นต่างๆ ให้คนในทีมรู้ว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลอย่างไรต่อผู้คน เวลาออกไปต่างจังหวัดหาลูกค้า ไม่ว่าคุณจะอยู่ตำแหน่งอะไร เราจะให้สลับกันไปเจอลูกค้า เพื่อเห็นหน้างานว่าเขาทำงานกันอย่างไร มีปัญหาอะไรที่เราช่วยแก้ได้บ้าง ทีมงานจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่เราทำ แม้เล็กน้อยก็สำคัญ 

“ฟังก์ชันหลายอย่างที่เรามีตอนนี้ก็มาจากผู้ใช้งานว่าเขาอยากได้อะไร เรายังเคยส่งแบบร่างไปให้เภสัชกรช่วยดูเลยว่าโอเคหรือเปล่า พอมีเสียงตอบรับกลับมา มันทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้มาผิดทาง” เอ็มเล่า

เขาเชื่อว่าการได้ผลตอบรับทั้งด้านดีและไม่ดีเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ
เพราะแปลว่าอย่างน้อย ยังมีคนแคร์ในสิ่งที่เราทำ

05

ตลาดยาออนไลน์ที่ลอกเลียนได้ยาก

Arincare ยังมีฟังก์ชันอื่นที่คิดค้นขึ้นจากการสังเกตร้านขายยา ซึ่งองค์กรอื่นทำตามได้ยากมากๆ อย่างตลาดยาออนไลน์ 

“บางทีเภสัชกรมีปัญหาการสั่งซื้อยา ติดต่อบริษัทยาลำบาก ต้องรอผู้แทนยาเข้ามาเก็บข้อมูลการสั่งซื้อ จะสั่งออนไลน์ก็ไม่ง่าย เพราะกฎหมายกำกับไว้ ร้านสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ที่เปิดเสรีให้ซื้อขายสินค้าแทบทุกประเภทไม่ได้ เนื่องด้วยเหตุผลทางความปลอดภัย” 

“แต่ Arincare ทำได้ เพราะผู้ใช้งานเราเป็นเภสัชกรและร้านขายยาที่ต้องผ่านการยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทั้งหมด” เอ็มอธิบายข้อได้เปรียบของ Arincare ที่เป็นเหมือนชุมชนเภสัชกร ซึ่งมีขนาดใหญ่พอเป็นตลาดตัวกลางที่ถูกกฎหมาย

ในแพลตฟอร์มนี้ บริษัทยาจะตั้งร้านในระบบ และร้านขายยาเข้าไปกดสั่งซื้อออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอผู้แทนยามาจดการสั่งซื้อยาที่ร้าน ให้ผู้แทนนำเวลาไปใส่ใจกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากขึ้น
ส่วน Arincare ก็มีข้อมูลมหาศาล ดูได้ว่ายาตัวไหนขายดีในพื้นที่ใดบ้าง นำไปวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยทางสาธารณสุขในระดับสังคมต่อได้ กลายเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

Arincare จึงเป็นเหมือนตัวกลางร้านขายยาแห่งใหญ่ที่มีขุมทรัพย์ข้อมูลมากประโยชน์ โดยไม่ต้องมีหน้าร้านเป็นของตัวเองสักแห่ง

เอ็ม-ธีระ กนกกาญจนรัตน์

06

มากกว่าร้านขายยา

อีกหนึ่งบริการใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วในจังหวัดนำร่องอย่างปราจีนบุรี โดยร่วมมือกับ QueQ คือระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Prescription) ที่ขยับขยายไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ตอบรับโครงการรับยาใกล้บ้าน

ผู้ป่วยจะไม่ต้องเสียเวลารอรับยาอีกต่อไป หากรักษากับโรงพยาบาลที่มีระบบ Arincare เพราะระบบนี้ทำให้ข้อมูลใบสั่งยาของคุณอยู่บนระบบออนไลน์ ไม่เป็นกระดาษที่แพทย์เขียนแล้วหายหรือถูกใช้ซ้ำปลอมแปลงได้เหมือนเคย

จากนั้น คุณสามารถตรวจสอบร้านขายยาใกล้บ้านที่มี Arincare และมียาที่คุณต้องการ เดินทางไปรับยาที่นั่นได้เลย รวดเร็วสำหรับคุณ และปลอดภัยสำหรับเภสัชกรที่จ่ายยา แน่ใจได้ว่าเป็นการจ่ายยาที่ถูกต้อง แม้ปัจจุบันยังใช้ได้กับแค่ยาบางประเภทและในบางจังหวัดเท่านั้น แต่ในปีนี้พวกเขาจะพัฒนาให้เข้าถึงคนจำนวนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับธนาคาร เพื่อทำระบบการจ่ายเงินออนไลน์และประกันภัยอีกด้วย

Arincare เริ่มมองภาพไกลกว่าการพัฒนาร้านขายยาเพียงอย่างเดียว แต่มองถึงการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพให้ตอบโจทย์คนมากขึ้น

“เรามองว่าตัวเองเป็นองค์กรด้านสาธารณสุขมากกว่าสตาร์ทอัพที่ทำเฉพาะเรื่อง คือดูว่าระบบสาธารณสุขมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง แล้วเราช่วยตรงไหนได้จากสิ่งที่เราทำ”
หากใครมองเห็นโอกาสในการร่วมงานที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย และช่วยผลักดันวงการสาธารณสุขไปข้างหน้า Arincare กำลังรอร่วมมือกับคุณด้วยความยินดี

เอ็ม-ธีระ กนกกาญจนรัตน์

07

Change is the only constant

“เชื่อว่าไม่มีอะไรมาแทนความอุ่นใจระหว่างมนุษย์ได้” เอ็มตอบอย่างมั่นใจ เมื่อเราถามว่ากังวลกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นกับวงการสาธารณสุขบ้างหรือเปล่า และอนาคตของร้านขายยาจะเป็นอย่างไร

“คนส่วนใหญ่ยังคงต้องการคำแนะนำจากมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เรากินเข้าร่างกายไปมันดีนะ เพราะถ้าไม่ดีหรือเป็นของปลอมขึ้นมา คุณพังเลย และต่อไปมีเรื่องสมุนไพรและสินค้าออร์แกนิกเข้ามาด้วย คนจะตามหามากกว่าแค่ยาทั่วไปที่ร้านขายยา ซึ่งเภสัชกรยังให้ข้อมูลและจัดยาที่ถูกต้องได้” 

เอ็มมองว่าอุตสาหกรรมด้านสุขภาพจะค่อยๆ เติบโตขึ้น แม้ไม่หวือหวา แต่ไม่มีตกลง เพราะคนยังคงต้องการบริการทางสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่ายและคุณภาพดี เพียงแต่ต้องยอมปรับให้เท่าทันยุคสมัยและเครื่องมือที่เปลี่ยนไป

และ Arincare พร้อมเป็นคำตอบสำหรับคนหรือองค์กรที่พร้อมปรับตัว

“โลกเปลี่ยนไปตลอด ไม่มีใครหนีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีพ้น แต่ตอนนี้หลายคนยังพยายามต้านทานการเปลี่ยนแปลงอยู่ บางคนก็ยังไม่คุ้นเคยการทำงานกับสตาร์ทอัพ และกลัวว่าเราจะมาทำให้เสียกระบวนการเดิม เช่นภาครัฐที่ระบบในเชิงปฏิบัติยังตามการเปลี่ยนไม่ค่อยทัน แต่ไม่ช้าก็เร็ว วันหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน และเราเป็นคนที่พร้อมช่วยคุณเปลี่ยน นี่เป็นโอกาสที่เรามองเห็น”

08

สิ่งที่ควรค่าแก่ความเหน็ดเหนื่อยทั้งปวง

คำว่า Arin ที่จริงแล้ว เป็นชื่อของหลานเอ็ม 

“เราเคยคุยกันเล่นๆ ในทีมว่าชื่อนี้จะเป็นสิ่งเตือนใจให้เราทำสิ่งที่ดีที่สุดออกมา เพื่อไม่ให้เสียชื่อหลาน ชื่อนี้จะเตือนให้เราแคร์และทำเพื่อคนที่เรารักและคนรุ่นต่อไป” เอ็มตอบหนึ่งในคำถามที่มีคนถามบ่อยครั้ง พร้อมฝากให้คนที่วาดฝันอยากริเริ่มสตาร์ทอัพ ค้นหาสิ่งสำคัญที่ควรค่าแก่ความเหน็ดเหนื่อยที่จะเกิดขึ้นตลอดทางด้วยเช่นกัน

“ทุกวันนี้ประเทศเรามีปัญหาหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เลือกสักเรื่องที่สำคัญแล้วแก้อย่างจริงจัง ไม่ต้องรีบเริ่มก็ได้ แต่คิดกับประเด็นนั้นให้ลึก ความหลงใหลอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องค้นหาข้อมูล ลงมือทำ เข้าใจว่าปัญหาคืออะไร”

“ถ้าเจอเรื่องนั้นแล้ว นี่คือโอกาสของคุณ” เอ็มกล่าวปิดท้าย ก่อนมุ่งกลับไปทำงานต่อ

เอ็ม-ธีระ กนกกาญจนรัตน์

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ