รู้ไหมว่าย่านอารีย์มีสกุลเงินของตัวเองชื่อ AriCoin (ARIC.) และมีแอปพลิเคชันที่รวมทุกสิ่งเกี่ยวกับอารีย์-ประดิพัทธ์ ไว้อย่างสะดวกโยธิน 

หนึ่งในย่านกลางเมืองเก่าแก่ที่รถไฟฟ้าแล่นผ่าน ยังคงเก็บรักษาบรรยากาศที่พักอาศัยเก่าแก่สงบเงียบ ตามประสาเป็นที่ดินจัดสรรกลุ่มแรกๆ ของกรุงเทพฯ ความเป็นเมืองกับความเป็นย่านชุมชนประสานกันอย่างลงตัว จนกลายเป็นพื้นที่รวมตัวคนรุ่นใหม่และกิจการสร้างสรรค์นานารูปแบบ 

กลางปีที่ผ่านมา ชาวอารีย์รุ่นใหม่เปิดตัวแพลตฟอร์มเฉพาะตัวของย่านอารีย์ในชื่อ AriAround ในบางกอกดีไซน์วีกที่ได้ผลตอบรับดีมาก พวกเขารับเอาขยะพลาสติก กระป๋องต่างๆ ที่ชาวอารีย์และเพื่อนบ้านนำมาฝาก แล้วตอบแทนเป็นเหรียญโทเค็นจำลองที่ใช้แลกสิทธิประโยชน์สารพัดในย่านนี้ นอกจากนี้ยังมีแผนการต่างๆ ที่จะทำให้ย่านอารีย์นี้โอบอ้อมเอื้อเฟื้อสมชื่อ 

วันนี้เราจึงพาไปทำความรู้จักเบื้องหลังแพลตฟอร์มใหม่ของย่านเก่า จากปากคำของตัวแทนชาวอารีย์ 3 คน ได้แก่ อรุ-อรุณี อธิภาพงศ์ เป็นชาวอารีย์มา 12 ปี ชอบขลุกอยู่แถวนี้ตั้งแต่ทำงานออฟฟิศ และเคยเปิดกิจการแถวนี้ นิ่ม-ณัฐนิช ชัยดี อยู่อารีย์มา 13 ปี บังเอิญจับพลัดจับผลูมาอยู่ย่านนี้ และยืนยันว่าไม่มีย่านไหนในกรุงเทพฯ ที่ชอบมากกว่าแถวนี้อีกแล้ว เธอตกหลุมรักย่านนี้ตั้งแต่มาเช่าหอสมัยเป็นนิสิตเรียนที่จุฬาฯ แล้วพบว่าแถวนี้แสนสงบ ไม่พลุกพล่าน มีรถเมล์ รถไฟฟ้า เดินทางสะดวก แถมมีโซนที่อยู่อาศัยไร้ตึกสูงกวนใจ และ ใหม่-นภัทร จาริตรบุตร ชาวอารีย์โดยกำเนิด ซึ่งครอบครัวอยู่ตรงนี้มาตลอด 3 รุ่น

ความอารีอารอบของ AriAround เกิดขึ้นอย่างไร และจะไปทางไหนต่อ ชาวอารีย์จะเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง

AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่

รวมชาวอารีย์

AriAround เกิดขึ้นจากกลุ่มเพื่อนคนรุ่นใหม่ชาวอารีย์ แรกเริ่มเกิดจากนิ่ม อรุ และ ตุ้ย-ธิดารัตน์ ไทยานนท์ (Faiyen Design Studio) คุยกันว่าอยากทำโครงการเพื่อย่านอารีย์ นิ่มอยากทำ Journal บันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของย่านอารีย์ เพื่อให้คนอารีย์รู้จักย่านที่อาศัย ว่าตัวเองกำลังอยู่ในที่แบบไหน และมันกำลังจะเติบโตไปเป็นแบบไหน อรุสนใจมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนตุ้ยรับหน้าที่ดูแลการดีไซน์วิชวลที่ออกมา ทั้งสามรวมตัวกันฟอร์มทีม โดยชักชวนเพื่อนๆ ชาวอารีย์อย่าง ใหม่ที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ พิม ภิรมย์ นักออกแบบ UI/UX ดูแลด้านประสบการณ์ และ เจง-ธารีรัตน์ เลาหะพรสวรรค์ ตัวแทนชาวสาธุประดิษฐ์ที่มองอารีย์ว่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร มารวมตัวกันเป็นชาว AriAround 6 คน ที่ทำผลงานกันเต็มรูปแบบในเวลาเพียงไม่กี่เดือน 

อรุเปรียบการทำงานแบบนี้ว่าเป็นเหมือน ‘ปลาดาว 6 แขน’ ทีมงานชาวอารีย์มีไอเดียและความสามารถเฉพาะตัวต่างกันไป โดยต่างคนต่างงัดทักษะมาแบ่งปันและประกอบเป็นรูปเป็นร่าง ทุกคนต่างมีเสียงของตนเองและรับฟังกัน 

AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่

“เราเคยเปิดร้านกาแฟแถวนี้มาก่อน ประมาณสิบสองปีที่แล้ว เรารู้สึกว่าอารีย์ถึงสะพานควายมีความหลากหลายมากๆ ตั้งแต่คนที่มีฐานะมากๆ จนถึงคนที่ไม่มีแม้แต่บ้าน แถวนี้บรรยากาศดี สบายๆ พื้นที่เดินได้ยาวๆ เราพาหมาเดินเล่นทุกวันจากสะพานควายถึงอารีย์ ตึกอาคารต่างๆ มันมีเสน่ห์ของมัน เราคิดมาตั้งนานแล้วว่าจะทำอะไรดีๆ ให้ที่นี่ ประกอบกับตัวเราเป็นคนแยกขยะ แต่ก็ไม่มีที่ให้ทิ้ง เวลามาเดินเล่น เห็นขยะกองอยู่ที่พื้นเยอะมาก เวลาสองทุ่ม พนักงานมาแยกขยะคือเหม็นมากๆ กลางวันคนมาถ่ายรูปอารีย์นี่สวยมากเลยนะ กลางคืนไม่รู้เลยว่ามันเป็นแบบนี้” อรุอธิบายจุดกำเนิดไอเดีย

“เรามองเห็นไปไกลว่าสถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นหัวลำโพงใหม่ ถ้าหมดโควิดจะเป็นยังไง ขนาดปิดประเทศอยู่ยังเละขนาดนี้ แล้วถ้ามีนักท่องเที่ยวมาเต็มไปหมดจะเป็นยังไง เราเห็นปัญหานี้ก็เลยเดินไปคุยกับตุ้ยที่ทำงานบำบัด เขาทำงานศิลปะและกราฟิกด้วย ก็เริ่มพัฒนาไอเดียไปด้วยกัน นอกเหนือทีมนี้ก็มีคนนอกย่านที่สนับสนุนเยอะมาก ช่วยกันให้ความคิดคำปรึกษา จนได้ไปลิงก์กับ TCDC และเปิดตัวครั้งแรกใน Bangkok Design Week เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา”

AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่
AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่
ภาพ : AriAround

Ari Around

เพราะไม่อยากให้ผลงานที่สู้สร้างเป็นแค่อีเวนต์ชั่วคราว ชาวอารีย์คิดหาทางสร้างแพลตฟอร์มที่ยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยมีจุดยึดโยงคือย่านนี้ ผลลัพธ์รูปธรรมของ AriAround คือแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ไว้ในแอปฯ เดียว 

ทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ไม่ค่อยถูกเล่า เรื่องราวที่คนเก่าแก่ในท้องถิ่นเล่าให้ฟังแบบฉบับ AriTimes ไปจนถึง What’s Happening แผนที่ร้านรวง อีเวนต์ หรือกิจกรรมกินดื่มเที่ยวที่เกิดขึ้นในย่าน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหมวด Ari Now! ชั่วคราว สำหรับรวมโปรโมชั่นร้านค้าที่ร่วมช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งยังมี AR Experiences ตามจุดต่างๆ ในอารีย์ แค่เอาสมาร์ทโฟนไปสแกน ก็จะเจอฟิลเตอร์น่ารักๆ ฝีมือนักวาดประกอบชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่มาร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่บนโลกออนไลน์กับพื้นที่ในชุมชนให้กลายเป็นเรื่องราวเดียวกัน

AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่
AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่
AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่

“คนอารีย์ไม่เที่ยวอารีย์ จะไปที่อื่นที่แตกต่าง ทั้งที่อารีย์มีแต่คนถ่ายรูปสวยๆ กัน แล้วเราก็เห็นคาเฟ่เกิดขึ้นมากมาย แต่แทบไม่เห็นงานออกแบบที่ยึดโยงกับ Context พื้นที่เลย ถ้าเราไปดูที่อื่น จะมีงานออกแบบที่พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ หยิบเอาคอนเทนต์นั้นมาต่อยอดเป็นงานดีไซน์ แต่อารีย์ไม่มี เพราะว่าไม่มีใครหาข้อมูลเรื่องนี้เลย ภาพถ่ายกรุงเทพฯ เก่าๆ เห็นแต่ภาพเจริญกรุง ผ่านฟ้าลีลาศ สุขุมวิท อะไรอย่างนี้ ภาพเก่าอารีย์แทบไม่มี” 

“เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ เพราะว่าอารีย์เป็นย่านเมืองเก่าเมืองใหม่ ความเป็นประวัติศาสตร์คือร้อยปีขึ้นไป มันเลยไม่มีคนเขียน เราพยายามทำคอนเทนต์ที่ไม่เคยถูกบันทึกมาก่อน Feed เนื้อหาใหม่เข้าสู่ระบบ” ใหม่ซึ่งรับหน้าที่ดูแล AriTimes เล่าความตั้งใจของชาวอารีย์แต่กำเนิด 

ความพิเศษสุดอย่างหนึ่งของแอปพลิเคชันคือ AriCoin (ARIC.) เหรียญสกุลเงินจำลองที่ใครๆ ก็มีได้ หากเอาขยะพลาสติก ขวด กระป๋อง มาแลกเปลี่ยนเป็นเหรียญโทเค็น การเล่นแสกน AR การแลกเปลี่ยนหนังสือ ของใช้ระหว่างกัน ไปจนถึงการสอนทักษะต่างๆ ก็ได้เหรียญ ชาวอารีย์ต่างแลกเปลี่ยน ARIC. ได้ตามความพึงพอใจระหว่างผู้ให้และผู้รับ ซึ่งเหรียญนี้เอาไปแลกสิทธิพิเศษต่างๆ ในเครือร้านค้าในย่าน เช่น เป็นส่วนลดค่ากาแฟ แลกต้นไม้ฟรี ฯลฯ 

AriAround แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่
แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่

“เราอยากให้คนเข้าใจเซนส์ของพื้นที่ เพราะเราอยากทำให้พื้นที่ดีขึ้น อย่างแรกคือ เราต้องปลูกฝังให้คนรู้ว่านี่ไม่ใช่พื้นที่ที่เขาจะเข้ามาถ่ายรูป เข้ามา Take อย่างเดียว โดยอาจจะไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของมันเลย การทำให้คนรู้จักพื้นที่มากขึ้น เราก็จะเข้ามาใช้พื้นที่อย่างทะนุถนอมมากขึ้น” นิ่มขยายความเบื้องหลัง 

“ตอนนี้โซนอารีย์โตเร็วมาก เรารู้สึกว่ามันเร็วไป การรวมข้อมูลทุกอย่างทำให้แถวนี้เติบโตเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ไม่ใช่อะไรที่ป๊อปและเร็ว เราอยากจะชะลอสิ่งนั้น อยากให้คนซึมซับและรู้จักย่านมากขึ้น” อรุกล่าวเสริม

โอบอ้อมอารี

การแยกขยะได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งจากชาวอารีย์และชาวเขตอื่น กระทั่งชาวพระรามสองหรือบางนาก็ขนพลาสติกถุงใหญ่มาให้ในช่วงบางกอกดีไซน์วีก และทุกวันนี้การแยกขยะในย่านก็ยังดำเนินต่อไปอย่างแข็งขัน

“สิ่งที่ประทับใจมากๆ คือมีคนเดินเข้ามาแล้วก็บอกว่า จะต้องทำอะไรให้โครงการนี้อยู่ไปนานๆ ครับ เขาต้องทำยังไงมันถึงจะอยู่ได้ต่อไป พูดมาขนาดนี้ โอ้โห เกินความคาดหมายมาก ไม่คิดว่าเขาจะเข้าใจเมสเสจเราและเอาใจช่วยขนาดนี้ มีทั้งคนที่เดินเข้ามาบอกว่า อันนี้ดีได้มากกว่านี้นะ ควรทำแบบนี้ๆ คือมีส่วนร่วมทันที ตอนนี้เริ่มมาพัฒนาไอเดียกันละ คนเริ่มเข้ามาช่วยเติมความคิดเรา ยิ่งเยอะมันก็จะยิ่งแข็งแรง” อรุแชร์ความรู้สึก

“เราว่าจริง ๆ มันไม่ใช่ความบังเอิญ ส่วนหนึ่งคิดว่ามันเป็น Mega Trend ทุกคนอยากทำอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าเป็นความจำเป็น ลักษณะการที่มีผู้นำหนึ่งเดียวใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วบนโลกนี้ ทุกคนต้องลุกขึ้นมานำ ทุกคนต้องออกมาส่งเสียงให้ชุมชนของตัวเอง มันเป็นทิศทางของโลก” 

ปัจจุบันมีร้านค้าและศิลปินสร้างสรรค์ร่วมมือกับ AriAround 23 ราย โดยทั้งหมดตกลงกันว่าจะควักเนื้อให้น้อยที่สุด แต่จะแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองมีให้แก่ผู้อื่น เช่น ต้นกล้าที่เพาะเอง ปุ๋ยหมักเศษอาหารจากร้าน ภาพวาดน่ารักๆ ที่จะวาดให้ในโอกาสพิเศษ โดยทุกกิจการเข้าใจและสนใจ เป็นส่วนหนึ่งของวงจรทรัพยากรหมุนเวียนหรือ Circular Economy 

“ตอนแรกกลัวมากเลย กลัวว่าคิดไปเองรึเปล่าวะที่อยากทำแบบนี้ พวกเรามาจากสายครีเอทีฟ อาจจะคิดได้ไม่เหมือนฝั่งโลจิสติกส์หรือคนหาเงิน แต่พอเปิดตัวแล้วมีหลายคนเข้าใจ มาช่วยเสนอแนะ เราก็เปิดกว้าง เหมือนชวนเพื่อนมาช่วยกันคิด ก็กลายเป็นว่าเราไม่ได้คิดกันไปเองกลุ่มเดียว” นิ่มกล่าวสมทบ

“และเราคิดว่ามันอยู่ในจิตใต้สำนักของคน Gen เรา รู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างแล้วนะ พอดี AriAround ประจวบเหมาะได้เป็นเซ็นเตอร์รวมทุกคนได้ แล้วก็มีกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งพวกนี้มีประโยชน์กลับไปที่ลูกค้า กิจกรรมนี้เลยตอบจุดประสงค์ที่ทุกคนตั้งไว้ในใจ” 

คุยกับผู้ก่อตั้ง AriAround แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชาวชุมชนอารีย์-ประดิพัทธ์ ให้เอื้อเฟื้อกัน และทำให้ย่านน่าอยู่ขึ้น

อนาคตทีมงานวางแผนว่าจะซัพพอร์ตชาวอารีย์ที่ไม่เข้าถึงเทคโนโลยี หรือไม่เล่นโซเชียลมีเดียในอนาคต อรุยกตัวอย่างว่า เธออยากทำคูปองกระดาษ ให้คนไร้บ้านย่านสะพานควายสามารถเก็บกระดาษหรือขวดมาแลกคูปองเพื่อซื้ออาหาร หรือปักหมุดร้านรวงเก่าแก่ในแผนที่ อย่างร้านเย็บจักรซ่อมเสื้อผ้าของคุณยาย ให้ชาวอารีย์หรือคนละแวกใกล้เคียงเข้าไปใช้บริการ และพูดคุยกับผู้สูงวัยคลายเหงา

ต่อไปแอปพลิเคชันอาจมีความสนุกเพิ่มเติม อย่างการสร้างเมืองอารีย์จำลองในแอปฯ ให้เรามีตัวตนในนั้นได้ หรืออารีคอยน์จะช่วยปลดล็อกอีเวนต์พิเศษในย่าน เช่นการเข้าร่วมคอนเสิร์ตหรือเวิร์กชอปในบ้านของชาวอารีย์ 

ย่านอารีย์

“แถวนี้มีคนต่างชาติทำงาน UN อยู่เยอะมาก เพราะบอกกันปากต่อปาก เราเชื่อว่าเขาก็รู้สึกเหมือนกันว่ามันสบาย ใช้คำว่า Neighborhood ได้ คาแรกเตอร์ต่างจากแถวสุขุมวิทที่มีความเป็นเมืองมากกว่า” อรุวิเคราะห์

รูปแบบพื้นที่อารีย์ปัจจุบันเป็นย่านที่อยู่อาศัย ผสานกับย่านธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อ 70 ปีก่อน แถวนี้คือทุ่งนาโล่งๆ จนกระทั่งเมืองเติบโต และคนเริ่มอพยพย้ายมาอยู่ย่านนี้มากขึ้น ข้อได้เปรียบของโซนอารีย์-สะพานควาย คือตรอกซอกซอยที่ทะลุถึงกัน เพราะเจ้าของที่สมัยก่อนมีที่ดินมาก และจัดสรรผังเป็นบล็อกๆ รวมถึงตัดถนนส่วนบุคคลให้เข้าถึงบ้านของตัวเองอย่างเป็นสัดส่วน จึงเป็นย่านที่เดินได้ยาวๆ 

ภาพถ่ายทางอากาศโดย Peter Williams-Hunt บันทึกเมื่อ พ.ศ. 2489
Ariel 2489 ฝั่งขวามือคือฝั่งซอยสายลม

“สมัยก่อนกรุงเทพฯ ขยายตัวออกไปทางตะวันออก มีเจริญกรุง สีลม สุรศักดิ์ อะไรต่างๆ ตอนสะพานควายบูมขึ้นมา ตอนแรกเราคิดว่าเพราะมีสถานีขนส่งหมอชิต จนพึ่งมารู้เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาว่า แถวนี้เคยเป็นฐานทัพทหารจี.ไอ. ทหารสัญญาบัตรอเมริกันมาอยู่เสรีคอร์ทช่วงสงครามเย็น เป็นเหตุให้สุทธิสาร สะพานควาย มีโรงแรม และอีกอย่างหนึ่งคือ มีผู้หญิงขายบริการ” 

ใหม่เล่าและเสริมเกร็ดของย่านต่ออย่างน่าสนใจว่า ฝั่งอารีย์มีแต่บ้านที่อยู่อาศัยเคยเป็นฝั่งที่เจริญมากกว่า และฝั่งซอยสายลมมีแต่ทุ่งนาแปลงใหญ่ๆ ต่อมาเมื่อที่ดินเปลี่ยนมือก็กลายเป็นโซนออฟฟิศ มีธนาคารกสิกรไทย ตึก IBM ตึก AIS สะพานสามเหลี่ยมตรงกลางเลยเป็นความพยายามเชื่อมย่านที่อยู่อาศัยของอารีย์เข้ากับย่านที่เป็น Business เข้าด้วยกัน

คุยกับผู้ก่อตั้ง AriAround แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชาวชุมชนอารีย์-ประดิพัทธ์ ให้เอื้อเฟื้อกัน และทำให้ย่านน่าอยู่ขึ้น

คนอารีย์

“สมัยก่อนชนชั้นกลางมีฐานะในกรุงเทพฯ จะอยู่สองที่ ไปอยู่ทางสุขุมวิท นานา และอีกกลุ่มก็มาอยู่ทางนี้แหละ ซึ่งคนเดิมๆ ที่อยู่มานานไม่ค่อยคุยกัน เราคิดว่าพวกเขาไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเท่าไหร่ วันก่อนไปสัมภาษณ์คนเก่าคนแก่ที่นี่ มีคำหนึ่งที่ชอบมาก เขาบอกว่าคนแถวนี้เจ้ายศเจ้าอย่างมาก” ใหม่อธิบายแกมหัวเราะ

“แถวนี้มีผู้ดีเก่า คนมีฐานะ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง อะไรแบบนี้ ยุคถัดมาเป็นยุครุ่นลูก เป็นคนที่มีการศึกษา อาจจะเป็นอาจารย์ ทนาย คนที่มีความรู้ แล้วรุ่นหลาน Gen ใหม่จะไม่เจ้ายศเจ้าอย่างแบบนั้นแล้ว แต่มีความรู้สึกว่าต้องทำดีให้ย่าน กลับไปคิดถึงการสานสัมพันธ์กัน” อรุวิเคราะห์อย่างเห็นภาพชัดเจน

“เรารู้สึกว่าชุมชนแถวนี้เข้มแข็งนะ มันทำให้เขากล้าที่จะลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง รู้ว่าเสียงของตัวเองมีความหมาย อย่างการสู้เรื่องไม่ให้สร้างคอนโดฯ ตึกสูง ปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สภาพที่ตัวเองเคยอยู่ยังอยู่แบบเดิม เรารู้สึกว่ามันพิเศษมากเลยนะ ถ้าชุมชนแข็งแรง อะไรก็มาทำร้ายยาก” 

แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่
คุยกับผู้ก่อตั้ง AriAround แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชาวชุมชนอารีย์-ประดิพัทธ์ ให้เอื้อเฟื้อกัน และทำให้ย่านน่าอยู่ขึ้น

อนาคตอารีย์

ตอนนี้ NIA หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานพันธมิตรในย่านอารีย์ กำลังผลักดันให้ย่านอารีย์เป็นย่านนวัตกรรมอารีย์ (ARI Innovation District) เนื่องจากเป็นย่านเศรษฐกิจที่มีคนทำงานอยู่เยอะ จึงมีเป้าหมายว่าจะผลักดันให้เป็นสถานที่ที่บ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม ใช้นวัตกรรมเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงความเป็นอยู่ของผู้คน บนพื้นฐานของเทคโนโลยี ARI (AI, Robotics and Immersive Technology) พร้อมกับสนับสนุนให้ก้าวไปสู่การเป็น ‘เมืองฉลาดรู้’ หรือ ‘Cognitive City’ และ AriAround ได้ร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้วย 

“เรามองว่าเป็นเรื่องดี เวลาพัฒนาเมืองไม่ใช่แค่การคิดแบบ Top Down จากผู้ใหญ่ที่มองในเชิงยุทธศาสตร์ แต่เราได้เข้าไปเป็นขาหนึ่งของการพัฒนาเมือง รับผิดชอบเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ คนวงในที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ได้เข้าไปเป็นตัวแทนเสียงประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเมือง เพื่อที่นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นไม่ได้แค่ตอบคนจำนวนมาก แต่ตอบความต้องการหรือตอบชีวิตประจำวันแต่ละคนด้วย” นิ่มเอ่ยอย่างภาคภูมิใจ

เมื่อถามว่าอยากให้อารีย์ที่พวกเขารักเติบโตแบบไหน คำตอบของชาวถนนพหลโยธินแตกต่างกันไป 

“จริงๆ มันก็ย่านเศรษฐกิจที่มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมาครอบไลฟ์สไตล์ ต่อไปคนก็จะเยอะขึ้น เราก็อยากเห็นการจัดการที่ดี” เป็นคำตอบของใหม่

“สิ่งที่พวกเราพยายามทำ คือปกป้องความดีงามของย่าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะหรือการจัดการเมือง เราพยายามดูว่าปัญหาของคนในย่านคืออะไร แล้วจะแก้ปัญหานั้นจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ถ้าเกิดอารีย์กลายเป็นย่านที่วุ่นวายมากๆ เราอาจจะอยากหนีไป แต่เราชอบอยู่ที่นี่ ก็อยากอยู่อย่างแฮปปี้ อยากเห็นความเจริญด้านวัฒนธรรม อยากให้มีแกลเลอรี่ มีห้องสมุด ที่นั่งที่ทำให้เราได้ใช้เวลากับมัน มากกว่าเร็วๆ แล้วก็ไป” อรุออกความเห็น

“การเติบโตเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ แต่รากของย่านนี้คือวัฒนธรรมการใช้ชีวิต ไม่ใช่วัฒนธรรมการประดิดประดอย สิ่งที่เราอยากเห็นคือพื้นที่การใช้ชีวิต แต่เป็นกิจกรรมเอาต์ดอร์ อยากมีสวน แถวนี้ไม่มีสวนเลย กว่าจะเดินจากหอมาที่กรมประชาสัมพันธ์ก็ดมมลพิษเรียบร้อยแล้ว ฟอกปอดไม่ไหว แต่ในกรมประชาสัมพันธ์มีผู้กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเขามีพื้นที่เล่น เขาก็รวมตัวกันแล้วทำสนามเด็กเล่น เราอยากเห็นพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ให้ทุกคนที่นี่จับกลุ่มกันได้อย่างอิสระ กวาดคนประเภทเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน แล้วหากลุ่มที่คลิกกันได้ง่ายๆ” นิ่มเสริม

“AriAround ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนความคิดที่ทุกคนอยากให้เป็นร่วมกัน แพลตฟอร์มนี้เกิดจากความอยากแก้ปัญหาให้ผู้คนและชุมชน เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน แต่ไม่ใช่คนที่จะกำหนดกรอบในทิศทางการเติบโตว่าจะต้องเป็นแบบไหน เพราะสุดท้ายย่านนี้ก็เป็นของทุกคน” 

แล้วในอนาคต ขอบเขตของ AriAround จะขยายออกไปนอกเส้นทางอารีย์-ประดิพัทธ์ ไหม คำตอบของทีมงานทุกคนคือใช่ แต่ในช่วง 3 ปีแรก พวกเขาคงตั้งไข่ย่านนี้ให้แข็งแรงก่อน และหากชาวบ้านย่านอื่นอยากหยิบยืมโมเดลไปใช้ พวกเขาก็ยินดีสุดๆ ที่จะช่วยเหลือเรื่อง Know-how แลกเปลี่ยนแนะนำข้อมูลและประสบการณ์อย่างไม่หวง โดยเชื่อมั่นว่าถ้าไปอยู่ย่านอื่น บริบทและผู้อยู่อาศัยที่แตกต่าง คงทำให้แอปพลิเคชันที่ออกมาไม่ซ้ำกัน และมีเสน่ห์ที่แตกต่างไปจากอารีย์อย่างแน่นอน

แพลตฟอร์มชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่สนับสนุนให้คนเอื้อเฟื้อกันและย่านน่าอยู่

AriAround

Website : www.ariaround.com

Facebook : Ari Around

ขอบคุณสถานที่ : Laliart coffee

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล