ลามก สัปดน น่าจะเป็นคำอธิบายที่สุภาพที่สุดของนวนิยายเรื่อง ร่างของปรารถนา ของอุทิศ เหมะมูล

การเมืองสังคมอันฟอนเฟะป่นปี้ของเมืองไทย ถูกขยี้ขยายด้วยการปี้ เปิดไปไม่กี่หน้าก็ปี้แล้วปี้อีก ฟอนต์ที่อุทิศออกแบบเพื่อใช้ในหนังสือก็ยึกยือเป็นอวัยวะชายหญิง ศีลธรรมถูกย่ำยีทุกหน้ากระดาษ จนนักเขียนซีไรต์บอกว่า เขาเคยไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าหนังสือเล่มนี้จะได้ตีพิมพ์มั้ย

นอกจากได้ตีพิมพ์ ในปี 2017 บัณฑิตศิลปากรคนนี้ยังมีนิทรรศการภาพวาด ‘ร่างของปรารถนา’ ที่ Artist+Run Gallery รวมภาพเปลือย การสำเร็จความใคร่ และการสังวาสดิบซ่านเสียว เขาวาดภาพเหล่านี้ภายใต้คอนเซปต์ว่า ‘เข้าสิง’ ตัวละครหลักของนวนิยายที่เป็นศิลปินจากศิลปากรเป็นผู้วาด

ร่างของ, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

และตอนนี้ ร่างของปรารถนา ก็ได้มีเนื้อหนังมังสาจริงๆ ในรูปแบบละครเวที โดยโทชิกิ โอกาดะ ผู้กำกับละครเวทีชาวญี่ปุ่นจากคณะละคร chelfitsch ร่วมมือกับนักแสดงไทย 11 คนและทีมงานทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ดัดแปลงนวนิยายเรื่องนี้เพื่อเล่นที่กรุงเทพมหานคร กรุงโตเกียว และศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ Centre Georges Pompidou ที่กรุงปารีส

ในฐานะแฟนหนังสืออุทิศ คนที่สร้างโลกแสบแสยงทั้งใบในหนังสือ และผู้ชื่นชอบละครของโอกาดะ งานญี่ปุ่นที่ตลกร้ายและกัดสังคมหน้าตาย นี่คือหนึ่งในการร่วมมือด้านศิลปะที่ฉันตั้งตาคอยที่สุดในรอบปี

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ก่อนการเปิดตัวละครรอบปฐมทัศน์โลกที่มีความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง ฉันตรงดิ่งไปศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยถึงการทำงานศิลปะโครงการใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Japan Foundation แและรวบรวมนักสร้างสรรค์ทั้งชาวไทยและญี่ปุ่นไว้ด้วยกันมากมายที่สุดเรื่องหนึ่ง

เชื่อเถอะ ต่อให้คุณไม่ได้เป็นแฟนหนังสือหรือแฟนละครของคนเหล่านี้ ดูละครเรื่องนี้แล้วก็ยังหน้าชา ก็เรื่องกามรสกับเรือนร่างประเทศที่ถูกปู้ยี้ปู้ยำแบบนี้ เราต่างได้ประสบชะตาเหล่านี้ด้วยตนเอง

อุทิศ เหมะมูล
ผู้เขียนนวนิยาย

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

เรื่องราวทางเพศที่เกิดขึ้นมันเป็นภาพเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหาร 3 ครั้งในไทย ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปี 2557 เป็นงานที่ล่อแหลมทั้งเรื่องเพศ เรื่องภาษา เรื่องการเมือง

เรื่องเพศเป็นการตีความ มันเป็นทั้งแรงดึงดูด เป็นทั้งพื้นที่ พรมแดน เป็นทั้งการเชื่อมโยง การมีปฏิสัมพันธ์กัน การกดขี่ การบงการ มันคือทุกอย่าง ประเทศหรือสภาพสังคมก็เป็นเรือนร่างอีกร่างหนึ่ง พฤติกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในนิยาย เป็นภาพเปรียบให้เห็นสิ่งที่รัฐทำกับประชาชนในสังคม พูดถึงการเมือง และเพศสัมพันธ์ทั้งระหว่างชายหญิง และชายชาย ก็เป็นเรื่องการเมืองเหมือนกัน

เราตั้งใจใส่คำสบถด่า ควย หี เย็ด อะไรอย่างนี้เข้าไปด้วย มันเป็นคำในชีวิตประจำวันมาก ทำไมถึงเป็นคำที่ต่ำทราม และอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมไม่ได้ มันเป็นความท้าทายทางภาษา

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ความตั้งใจแรกเริ่มที่ทำงานชิ้นนี้ คือผมอยากขยายพื้นที่หรือหาความเป็นไปได้ของวรรณกรรม ว่ามันสามารถข้ามไปสู่ศิลปะแขนงอื่นได้มากน้อยแค่ไหน ผมอยากกลับมาวาดรูปด้วย เท่าที่ตัวเองพอทำได้คือทัศนศิลป์ ทั้งฟอนต์และภาพวาด พอเขียนนิยายไปได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้รับการติดต่อมาให้พบกับคุณโอกาดะ จริงๆ ก่อนหน้านี้เราเคยพบกันมาแล้ว ตอนที่ผมไปเสวนาที่โตเกียวในฐานะนักเขียนไทย พอเขาก็มากรุงเทพฯ ก็เลยนัดคุยกันว่าทำงานอะไรอยู่

ผมเอารูปลามกสัปดนแบบ Self-suck ให้โอกาดะดู (หัวเราะ) แทนที่จะหนี เขาก็ น่าสนใจว่ะ อุทิศโตะซัง สนใจให้ผมทำเอาเรื่องนี้เป็นละครมั้ย คิดว่าเราคงพูดกันรู้เรื่อง เพราะเราเป็นคนเจเนอเรชันเดียวกัน ถึงแม้จะอยู่กันคนละประเทศ เราเกิดปีใกล้กัน ผมเกิดปี 75 เขาน่าจะเกิดปี 73 เรามีวิธีมองภาพชีวิต สภาพสังคม หรือประเทศที่เราอยู่คล้ายๆ กัน

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

เขาทำการบ้านด้วยการศึกษาสภาพการเมืองไทยหนักมาก เป็นการทุ่มเทที่มีแต่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำได้ โอกาดะไปๆ มาๆ ระหว่างญี่ปุ่นกับกรุงเทพฯ เป็นระยะ เพราะว่าเขาอยากตามติดเรื่องราวพื้นหลังของตัวนิยาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหตุการณ์ตอนช่วงตุลา 16 หรือ 19 ผมก็พาเขาเข้าไปเดินดูพื้นที่ธรรมศาสตร์ หรือว่าเหตุการณ์ตอนช่วง 53 พาไปเดินดูตามแยกราชประสงค์ เขาทำงานหนักในการเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย สภาพสังคม และความเปลี่ยนแปลง ในช่วงตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาจนถึงปีปัจจุบัน

ผมมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับไวยากรณ์ทางด้านการละคร เพราะฉะนั้น การที่เรามาอยู่ตรงนี้ เราก็ได้เพิ่มความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ พรมแดนใหม่ๆ กับศิลปะแขนงอื่น เราอยากดูวิธีการตีความของเขา ซึ่งเขามีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจอยู่แล้ว มันคือการวางใจของศิลปินทั้งสองคนที่จะมอบผลงานให้กัน

โทชิกิ โอกาดะ
ผู้เขียนบทและผู้กำกับละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ผมเกิดที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนคุณอุทิศเกิดที่ประเทศไทย สถานที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือยุคสมัยและเวลา ในช่วงแรกผมนึกว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทุกอย่างของญี่ปุ่นจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เทคโนโลยีก็มีแต่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น แต่มาถึงจุดจุดหนึ่งผมก็รู้สึกว่าไม่สามารถใช้แนวคิดแบบนี้ได้ ความสุขหรือเรื่องอื่นๆ มันไม่ได้พัฒนาตามมาด้วย

สิ่งที่ผมสนใจในบทละครเรื่องนี้คือการที่คุณอุทิศมองเห็นความผิดพลาดของประเทศ และเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างประเทศและเรื่องทางเพศ ถ้าเราพูดถึงความสัมพันธ์ของเซ็กซ์กับการเมือง มันมีหลายอย่างมาก เซ็กซ์ต่อต้านการเมือง เซ็กซ์เพื่อหนีจากการเมือง

การต่อสู้ของตัวบุคคลกับประเทศมันยากลำบาก และโดยส่วนใหญ่ตัวบุคคลก็ต้องยอมแพ้ไป หรือพอคนบางคนเหนื่อยจากการต่อสู้แล้ว มีอายุมากขึ้น เริ่มแยกตัวออกห่าง กลายเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยมไป ผมคิดว่านวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เขียนในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ความเหนื่อยล้าของคนที่หมดพลังงานในการต่อต้านสังคม แต่เป็นผลงานที่เข้าใจกลุ่มคนกลุ่มนี้

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

งานนี้ผมใช้เวลาในการเขียนบทนานมาก นวนิยายเรื่องนี้ยาว ต้องตัดเนื้อหาออก แต่ว่าพออ่านก็รู้สึกว่าแต่ละส่วนก็สำคัญทั้งนั้นเลย ไม่รู้จะตัดตรงไหนดี และการนำฉากเซ็กซ์มาไว้บนเวทีก็เป็นเรื่องยาก ต่อให้นักแสดงแก้ผ้ามีเซ็กซ์อยู่บนเวทีก็ไม่เหมือนภาพในหัวที่อ่านจากตัวอักษร

ผมตั้งใจทำบทให้ตรงตามนวนิยายร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนเนื้อหาได้ เหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นพื้นฐานสังคมและประวัติศาสตร์ไทยอยู่แล้ว ผมไม่ได้รู้เรื่องของไทยในระดับที่จะสามารถปรับเงื่อนไขเองได้

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการสร้างงานนี้คือการเรียนรู้ความจริงผ่านเรื่องแต่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณอุทิศเขียนขึ้นมา ต่อให้ผมมาอยู่เมืองไทย เจอสถานที่จริงๆ ก็ไม่รู้จะเห็นอะไรได้มากเท่าไร แต่เรื่องแต่งนี้มันมีพลังที่จะเปลี่ยนวิธีการมองโลกความจริงได้ เพราะฉะนั้น ในการได้มาร่วมโปรเจกต์นี้ก็ได้เรียนรู้สภาพสังคมไทยในความเป็นจริงในปัจจุบัน

วิชย อาทมาท
ผู้ช่วยผู้กำกับละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

เราเกิดมาในยุคเดียวกับตัวละคร เจอรัฐประหาร 3 ครั้งเหมือนกัน เนื้อเรื่องมันร่วมสมัยไปกับชีวิตคนไทยจำนวนหนึ่ง หน้าที่ของเราคือทำให้ผู้กำกับเข้าใจบริบทของเรื่อง ช่วยเขาหาข้อมูล และตีความผ่านสายตาคนไทย ถ้าเขามีคำถามกับสิ่งที่ปรากฏในนิยาย เราจะคุยกันว่ามันคืออะไร โยงกับอะไร นัยของแต่ละอย่าง การเกิดซ้ำในรูปแบบที่ต่างกันมันหมายถึงอะไร

เราสนใจสมัครเป็นผู้ช่วยคุณโอกาดะ เพราะสนใจการใช้ร่างกายในละครของเขา เราเคยดูงานเขาคือ God Bless baseball ที่เยอรมนี และ Super Premium Soft Double Vanilla Rich ที่ไทย เราต้องอ่านซับไตเติ้ลไปด้วย เขาพูดภาษาญี่ปุ่น แต่ตาเราจับที่นักแสดงมากเพราะน่าดู ต้องแยกสายตาตลอดเวลา ดูแล้วคิดว่ามันคืออะไรวะ การเคลื่อนไหวนั้นมันคืออะไร เลยสนใจ

คุณโอกาดะสนใจประเด็นสังคมกับมนุษย์ตัวเล็กๆ อยู่แล้ว อย่างเรื่องเบสบอลหรือเรื่องร้านสะดวกซื้อ มันพูดเรื่องที่ใหญ่กว่าอย่างโครงสร้างสังคมเสมอ อย่างเรื่องนี้ก็เชื่อมโยงกัน ร่างของมนุษย์ถูกเปรียบเป็นประเทศ มีการสร้างร่างกายและการสร้างความเป็นชาติ

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

งานนี้บรรยากาศห้องซ้อม บรรยากาศเมืองไทย ถนนหนทาง แผงลอย สายไฟฟ้า อะไรต่อมิอะไรมันบันดาลใจให้เขาเอาขึ้นไปอยู่บนเวทีด้วย ความอิเหละเขละขละสะท้อนบางอย่าง เรานึกถึงเรื่อง Act of Killing ที่ผู้กำกับต่างชาติเข้าไปทำเรื่องอินโดนีเซีย เป็นมุมมองคนนอกที่เล่าเรื่องสังคม ถ้าคนไทยจะลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้คงเป็นเงื่อนไขอีกแบบ เรามองว่ามันก็เป็นข้อดีนะ งานนี้เราได้เรียนรู้ที่จะเห็นสิ่งที่ผู้กำกับเห็น เหมือนได้แว่นใหม่ในการมองการแสดง การเคลื่อนไหวเหล่านี้มันมาจากพื้นที่ สภาวะ คำ มันมาจากจินตนาการ มันเป็นสิ่งที่เขาใช้โค้ชนักแสดง เราเลยต้องมองและพยายามเห็นไปด้วย

ยูยะ ทซึกะฮาระ
ผู้ออกแบบงานศิลป์ (Scenographer)

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ผมไม่ได้มาจากคณะละครเชลฟิตช์ แต่รู้จักพวกเขามานาน ผมทำการแสดงในกลุ่มของตัวเองชื่อ Contact Gonzo แต่ครั้งนี้ผมร่วมงานนี้เพราะถูกเขาเห็นงานผมแล้วชอบ เลยชวนมาออกแบบฉากและของที่ใช้บนเวที

ลักษณะงานของผมมักเป็นการด้นสด และทำลายโครงสร้างเดิมของสิ่งที่มี เรื่องนี้ไม่มีฉาก ไม่มีม่านกั้นข้างหลัง งานแรกของผมคือเอาสิ่งเหล่านั้นออก เปิดให้ดูของที่ซ่อนแล้วเอามาใช้งานให้เกิดประโยชน์ ฉากและอุปกรณ์ที่เห็นมีแค่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ที่เกี่ยวข้องกับตัวบท พร็อพไม่ได้ใช้ของที่มาจากบทหรือนิยาย มีบันได้สูง 6 เมตรที่เราเจอที่โรงละคร ไม่อยู่ในบทเลย แต่เราใช้เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวและให้ผู้ชมจินตนาการถึงบางสิ่ง

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ผมสร้างสถานการณ์และจัดวางสิ่งของ จับของมารวมๆ กันแล้วจัดวาง ผสม แล้วดูว่ามันควรเคลื่อนย้ายอย่างไร ผมไม่เล่าเรื่องตามบท พร็อพทุกอย่างจะถูกโยกย้ายไปเรื่อยๆ โดยนักแสดง ไม่มีจุดแบ่งชัดเจนระหว่างนักแสดงกับทีมงานครับ  

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ร่างของปรารถนา, ละครเวที, อุทิศ เหมาะมูล, เบื้องหลังละครเวที

ก่อน ‘ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง’ จะเดินทางไปแสดงที่ Centre Georges Pompidou เหมือนในตอนจบของเรื่อง ละครเวทีเรื่องนี้ชำแหละระบบอันบิดเบี้ยวที่แฝงตัวอยู่ตั้งแต่ระบบการเมืองของประเทศ ไปจนถึงระบบย่อยลงมาอย่างสถานศึกษา และแม้แต่วงการศิลปะเองก็ไม่ไว้หน้า มันตีแสกหน้าทุกคนอย่างเศร้าสร้อย รุนแรง และเท่าเทียม

ภาพ : ธนนพ กาญจนวุฒิศิษฎ์

‘ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง’ จัดแสดงในวันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2561 ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://pratthana.net/th/top-th

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล