ผมไม่แน่ใจนักว่าก่อนหน้านี้ห้องสมุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นเป็นที่นิยมในหมู่นิสิตมากน้อยแค่ไหน

แต่ในวันนี้ แม้ในอีกไม่กี่นาทีจะหมดเวลาให้บริการ ห้องสมุดก็ยังคงหนาแน่นไปด้วยผู้คนที่เกาะตามโต๊ะและชั้น อีกทั้งยังมีเสียงพูดคุยดังคลอเสียงเพลงในบรรยากาศ จนดูๆ ไปแล้ว หากจะเรียกที่นี่ว่าเป็นร้านกาแฟหรือสตูดิโอออกแบบ ก็ยังดูน่าเชื่อกว่าความเป็นห้องสมุดจากภาพจำเดิมใดๆ

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่ก็ใช่ ก่อนหน้าที่จะมีสภาพอย่างปัจจุบัน ที่นี่เคยเป็นสตูดิโอทำงานของชาวคณะฯ รุ่นบุกเบิก ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นห้องสมุดอย่างจริงจังมายาวนานเกือบ 30 ปี และเพิ่งจะผ่านการปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้ง ตามแผนพัฒนาที่เริ่มต้นเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมใจของศิษย์เก่ามากมายนับไม่ถ้วน เริ่มต้นจากผู้ริเริ่มไอเดียคือ คุณเสริมสิน สมะลาภา, รศ. ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ และ ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ก่อนจะชักชวนสถาปนิกมารวมหัวกันออกแบบ ด้วยทุนทั้งสิ้น 90 ล้านบาท ที่สนับสนุนโดยคุณเสริมสิน

คุณเสริมสิน สมะลาภา, รศ. ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ และ ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข

ในบรรดาผู้คนที่มีส่วนร่วมทั้งหลาย วันนี้เราได้รับเกียรติจากผู้มีบทบาทสำคัญ 4 คน ที่ได้ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ พร้อมกับคำถามที่ว่า ในยุคที่อินเทอร์เน็ตดูจะมีบทบาทต่อผู้คนทั่วไปเหนือกว่าหนังสืออย่างเห็นได้ชัด อะไรคือความสำคัญของหนังสือและวิธีการศึกษาของเหล่าว่าที่สถาปนิก รวมถึงสถานที่ที่เรียกกันว่า ห้องสมุด ที่ที่รู้กันว่าทุกคนจะต้องแต่งกายให้สุภาพ สำรวมกิริยา ไม่พูดคุยเสียงดัง หรือต้องถอดรองเท้าวางที่ชั้น แสดงบัตรสมาชิกทุกครั้งที่เข้าใช้ เก็บหนังสือในตำแหน่งเดิมบนชั้นวาง ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าไปรับประทาน ฯลฯ จะยังคงบทบาทอย่างไร ในยุคที่ภาพบนจอเคลื่อนเร็วยิ่งกว่าชั่วกระดาษพลิก

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปลี่ยนแปลงเพราะพฤติกรรม

“ห้องสมุดเดิมก็อยู่ตรงนี้แหละค่ะ เป็นห้องสมุดสามชั้น เดิมเรามีห้องสมุดไว้สำหรับอ่านหนังสือ แต่ความต้องการของนิสิตเปลี่ยนไป ตอนนี้มันจึงกลายเป็นที่ที่นิสิตจะมานั่งทำงานด้วยกัน”

รศ. ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเล่าที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลง

รศ. ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เดิมก็เป็นห้องสมุดปกติที่จะเงียบๆ นิสิตเขาก็เข้ามานั่งใช้ นั่งทำงานกันอยู่บ้าง แต่ว่าสเปซมันก็เป็นสเปซห้องสมุดน่ะค่ะ มันก็ไม่เอื้อให้นำคอมพิวเตอร์เข้ามาทำแบบหรือออกแบบได้”

“มันคือค่านิยมห้องสมุดแบบเดิมน่ะครับ” ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ กล่าวเสริม

ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์

“ต้องเงียบ ส่งเสียงรบกวนกันหรือเอางานมานั่งทำไม่ได้ ลักษณะโต๊ะก็มีไว้ใช้ค้นคว้าหาความรู้เท่านั้น ก็มีความขัดแย้งของการใช้พื้นที่อยู่”

ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ประกอบกับปัจจัยหลักอย่างการมาถึงของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย วิธีการศึกษาหาความรู้ไปจนถึงการทำงานออกแบบจึงเปลี่ยนแปลงตามโลก พื้นที่ศึกษาหาความรู้ในแบบเก่าอย่างห้องสมุดจึงไม่พ้นต้องประสบความท้าทายด้านการใช้งาน

จากแต่เดิมที่เป็นห้องสมุดมีหนังสือราวสามหมื่นกว่าเล่ม รวมถึงเป็นที่เก็บเอกสารอ้างอิง ตำรา แผนที่เก่า และวิทยานิพนธ์เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับงานวิจัย เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง หลายตำราก็ถูกทำให้เป็นดิจิทัลให้เข้าถึงด้วยคอมพิวเตอร์แทน วิทยานิพนธ์เก่าถูกย้ายออกไปเก็บรักษา และลดจำนวนหนังสือที่อาจไม่เคยถูกยืมเลย จนเหลือหนังสือรวมราว 26,000 เล่มในปัจจุบัน

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุผลที่อาจารย์สรายุทธกล่าวว่า

“เราแทนที่หนังสือด้วยคน เราเอาหนังสือออกไปบางส่วนเพื่อให้คนเข้ามา เพราะเราต้องอุทิศพื้นที่ให้คนมากขึ้น”

เพิ่มมากขึ้นกว่าการอ่าน

สิ่งที่เหมือนเมื่อก่อนคือ ห้องสมุดยังถูกแบ่งเป็น 3 ชั้น โดยชั้นแรกของห้องสมุดจะเริ่มที่ชั้น 2 ของอาคารคณะสถาปัตย์ฯ  แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ พื้นที่ทั้งหมดถูกรื้อออกและให้นิยามใหม่ ภายใต้แนวคิดร่วมกันของ รศ. ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ และ คุณเสริมสิน สมะลาภา ศิษย์เก่าคนสำคัญผู้มอบทุนก้อนใหญ่ให้คณะสำหรับการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดครั้งนี้ รวมถึงทีมสถาปนิก ว่าจะต้องทำห้องสมุดใหม่ให้เป็นพื้นที่พบปะและสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าการเป็นห้องสมุดธรรมดา

“ห้องสมุดในสังคมปัจจุบันและอนาคตมันคงไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว”

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ศิษย์เก่าของคณะฯ ผู้รับหน้าที่เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบในนามบริษัท Department of Architecture เล่าให้ฟังถึงแนวคิด

“โจทย์ก็คือ เราต้องมาค้นหาหรือให้คำนิยามใหม่ว่า ห้องสมุดในปัจจุบันหรืออนาคตมันคืออะไรกันแน่ เพราะเดี๋ยวนี้เราก็จะเข้าใจกันว่าข้อมูลต่างๆ มันก็มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตเยอะแยะ ทีนี้คนจะใช้ห้องสมุดอย่างไร หรือใช้อีกทำไม”

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ Department of Architecture

คุณทวิตีย์ยังเล่าว่า โจทย์ตั้งต้นที่การให้ความรู้ของห้องสมุด หากแต่การส่งต่อความรู้ในโรงเรียนออกแบบ โดยเฉพาะในคณะสถาปัตย์ฯ นั้น อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปแบบของหนังสือที่วางเรียงบนชั้น แต่มีรูปแบบอิสระอย่างสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์หรือแรงบันดาลใจ สถานที่ให้ความรู้ที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้จึงควรเป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะจินตนาการ หรือที่คุณทวิตีย์ใช้คำว่า ‘Creative Incubator’ และเมื่อมองผ่านแว่นนี้ การใช้งานแบบใหม่ในห้องสมุดจึงจะแตกต่างหลากหลาย มีสีสันมากกว่าเดิม เอื้อให้การเรียนรู้พึ่งพาสื่อหลายสื่อมากขึ้น

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนวคิดที่ว่านี้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในทุกๆ ชั้น เริ่มจากชั้นแรกที่ทั่วทั้งชั้นเต็มไปด้วยโต๊ะพร้อมปลั๊กไฟ มีจุดเด่นที่รอบผนังเป็นโครงเหล็กเกาะตลอดผนัง เป็นแนวคิดการทำพื้นที่ให้เป็น ‘Co-working and Thinking Space’ ซึ่งอาศัยธรรมชาติของพื้นที่ชั้นแรกที่ค่อนข้างเป็นสาธารณะ เข้าถึงง่ายที่สุด ผู้คนผ่านไปมามากที่สุด ให้เป็นพื้นที่ทำงานแบบ Co-working จากที่เคยปิดก็จะกลายเป็นพื้นที่เปิดให้คนคุยกันได้ ตรวจงานอย่างไม่เป็นทางการได้ หรือแม้แต่ห้อยแขวนหรือจัดนิทรรศการเล็กๆ โดยอาศัยโครงเหล็กโดยรอบได้อย่างอิสระ

ความยืดหยุ่นและเป็นสาธารณะมากของชั้นนี้ต่างจากอีกชั้นที่สงบเงียบ คือส่วนจัดเก็บหนังสือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด แม้จะมีโต๊ะพร้อมปลั๊กไฟไว้ใช้ขีดเขียนงาน คุยกันได้ตามเหมาะสม แต่พื้นที่ก็สงบพอสำหรับการเรียนรู้เงียบๆ

แม้ว่าจะออกแบบด้วยแนวคิดสมัยใหม่ แต่ทุกคนในที่นี้ล้วนเห็นตรงกันว่าความสำคัญที่แท้จริงของพื้นที่ห้องสมุด ก็ยังคงเป็นหนังสือ ซึ่งยังมีความสำคัญในแง่ที่เป็นแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ เนื่องจากมีการสอบทานมาแล้วในระดับหนึ่ง หรือเป็นความรู้เชิงลึกที่ยังคงมีแต่หนังสือเท่านั้นเป็นสื่อพื้นฐาน ซึ่งไม่ว่าจะนิสิตหรือคนทั่วไปขาดไม่ได้

“ก็กลับมาสู่คำถามตั้งแต่แรกที่ทำครับ ว่าเรามีอินเทอร์เน็ตก็จริง แต่ที่เราอ่านในอินเทอร์เน็ตนั้นเพียงพอแล้วหรือยัง”

ชัยภัฏ มีระเสน อีกหนึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบจาก Department of Architecture ให้ข้อมูล

ชัยภัฏ มีระเสน Department of Architecture

“ในชั้นสาม จากการจัดเก็บหนังสือเป็นชั้นๆ ที่ค่อนข้างเข้าถึงยาก เราอยากให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น โดยการให้นิสิตมานั่งทำงานได้ตรงกลาง แล้วคลี่ชั้นหนังสือทั้งหมดออกรอบห้อง หันปกหนังสือบางเล่มออกมา ดิสเพลย์คล้ายๆ ร้านขายหนังสือ เมื่อนิสิตนั่งทำงาน อาจเห็นหนังสือบางเล่มน่าสนใจ ก็เข้าไปหยิบมาอ่านได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้อยากอ่านหนังสือมากขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง”

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การให้ความสำคัญกับตำราและการอ้างอิงเด่นชัดที่ชั้นบนสุด เพราะมีพื้นที่เอื้อให้ความเงียบโดยเฉพาะในส่วน Quiet Zone สำหรับนิสิตที่ต้องการสมาธิเพื่อค้นคว้าข้อมูลอย่างจริงจัง รวมถึงมีส่วนเก็บแผนที่เก่าและเอกสารอ้างอิงต่างๆ จัดวางให้ค้นคว้าได้โดยง่าย ในขณะเดียวกัน บนชั้น 4 ก็มีส่วนขึ้นบันไดที่นั่งหรือ Auditorium ขนาดย่อม ตามแนวคิดการขยายขอบเขตวิธีเรียนรู้ให้กว้างออกไป นอกเหนือจากวิธีเรียนรู้แบบเดิม ด้วยการเอื้อให้มีการฉายหนัง จัดเสวนา หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านสื่ออื่นอย่างภาพยนตร์หรือการจัดการบรรยายด้วย

และในขณะเดียวกัน เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นโครงการปรับปรุงห้องสมุดเป็นช่วงเดียวกับพระราชพิธีสำคัญเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งมั่นใจว่าทุกคนจำได้ดี การออกแบบฝ้าเพดานในบริเวณนี้จึงมีความพิเศษตรงที่คุณเสริมสินนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในกรุงเทพฯ มาสร้างสรรค์เป็นแผนที่ขนาดใหญ่ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพทางด้านผังเมือง ด้านการคมนาคม ด้านการบริหารจัดการน้ำ และด้านสิ่งแวดล้อม ของพระองค์ท่าน

กล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดนี้ คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่แรกเข้ามาในพื้นที่โถง ตลอดจนแทบทั่วทุกชั้น ด้วยโครงเหล็กสีเงินที่กรุรอบห้องและบันไดที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ร้อยรัดพื้นที่ตั้งแต่ชั้นแรกของห้องสมุดทะลุจนสุดสู่ชั้นบน

“ระบบในพื้นที่ที่เราเห็นซึ่งดูเป็นโครงมันไม่ใช่การตกแต่ง” คุณทวิตีย์อธิบาย

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เราสร้างโครงขึ้นในพื้นที่ เหมือนเป็นระบบพื้นฐานที่คนเอาของมาเสียบ มาเกี่ยว มาผูก มามัด มาทำอะไรได้หลายอย่าง เพื่อให้เกิดบางอย่างขึ้น ซึ่งอาจจะใช้จัดนิทรรศการก็ได้ หรือจะใช้นำเสนองาน เช่นการตรวจแบบในกลุ่มเล็กๆ เหมือนเป็นการกระตุ้นอย่างหนึ่งว่าเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง 

“เพราะการเรียนรู้ของนิสิตสถาปัตย์ฯ ไม่ได้เกิดจากการรับข้อมูลเข้ามาอย่างเดียว มันอาจจะเกิดจากการที่เราได้ทดลองด้วย ก็เลยเริ่มทำให้เราจัดการพื้นที่ให้เป็นเหมือนพื้นที่เชิงทดลองที่นิสิตมาทดลองอะไรกับมันก็ได้ สร้างพื้นที่ใหม่ขึ้นมาจากมันได้ เป็นการที่เขาได้คิดอะไรใหม่ๆ ขณะเดียวกัน เมื่อเขาทำแล้วคนอื่นได้เห็น มันก็เป็นแรงบันดาลใจต่อคนอื่นๆ ที่ได้เห็น

“มันยังไม่จบน่ะ มันรอให้คนมาทำอะไรกับมัน”

แลกเปลี่ยน พบปะ เพื่อเรียนรู้ระหว่างกัน

ไม่แปลกใจแล้วว่าแรงบันดาลใจสำคัญต่ออนาคตนักออกแบบอาชีพ ไม่แพ้ความรู้ในตำรา แต่การพบปะหรือการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นสำคัญแค่ไหนต่อการทำงานออกแบบ

ข้อนี้อาจารย์สรายุทธได้ให้ความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“มันมีข้อสังเกตคือ ที่บ้านเขามีปัจจัยสามอย่าง เช่น แอร์ ปลั๊ก กับไวไฟไหม มี ที่หอพักมีไหม ก็มี แล้วทำไมเขาไม่ไปทำงานแบบตัวใครตัวมัน

“คำตอบก็คือเขาต้องการสังคม เขาไม่ต้องการอยู่คนเดียว เขาอยากทำงานที่เห็นคนอื่น แม้จะนั่งอยู่ในห้องเงียบๆ อย่างในห้องสมุด แต่เขาก็ต้องการมีเพื่อนอยู่ข้างๆ คืออยู่ด้วยกันแล้วสบายใจ”

หากไม่ใช่ในสตูดิโอ ก็อาจเป็นโถงใต้คณะฯ ถ้าอากาศร้อนเกินกว่าจะนั่งทำงาน นิสิตคณะสถาปัตย์ฯ ก็มักจะเลือกร้านกาแฟ จึงเหมือนเป็นธรรมชาติของนิสิตที่คงไม่เพียงแต่คณะสถาปัตย์ แต่อาจเป็นทุกๆ คณะและทุกๆ มหาวิทยาลัย ที่ขอแค่ได้เห็นหน้าค่าตากันในช่วงเวลาเคร่งเครียด ภาระในใจก็อาจจะทุเลาลงได้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อย ชั่วครั้งชั่วคราว

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับห้องสมุดใหม่ ทั้งสี่ท่านก็ให้ความเห็นตรงกันว่า ตอบรับความต้องการของทั้งนิสิตและอาจารย์เป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่จะถูกใช้เป็นที่ทำงาน เป็นที่งีบพักระหว่างรอคาบเรียน แต่มันได้กลายเป็นพื้นที่สร้างความเชื่อมต่อให้ทุกๆ ชั้นของตึกเข้าถึงห้องสมุดได้โดยตรง จากที่แต่เดิมจำเป็นต้องเดินลงมาข้างล่างก่อน รวมถึงเป็นครั้งแรกเสียด้วยซ้ำที่ผู้ใช้รถเข็นจะเข้าถึงห้องสมุดนี้ได้อย่างสะดวกสบาย 

โดยเฉพาะบนชั้น 2 ที่เมื่อถูกเปลี่ยนจากพื้นที่ปิดอย่างห้องสมุดเป็นพื้นที่เชื่อมต่อผู้คนอย่าง Co-working Space พื้นที่พบปะของผู้คนที่ตั้งอยู่ในใจกลางคณะ ซึ่งนานๆ ครั้งเกิดขึ้น ก็นับได้ว่าเป็นอีกความสำเร็จที่งอกงามขึ้นโดยธรรมชาติ

“มันเป็นพื้นที่ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของนิสิตในปัจจุบันและในอนาคตด้วย” อาจารย์ปิ่นรัชฎ์กล่าวเสริม

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“มันเป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตได้ดีมาก แล้วมันก็เหมือนเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งสำหรับของคณะและมหาวิทยาลัยเลย ทุกคนจึงอยากเข้ามาดูหรือมีส่วนร่วม เราก็จะเห็นว่านิสิตใช้ส่วน Co-working Space เยอะ เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราต้องคิดต่อว่าเราจะทำอย่างไรที่จะรองรับความต้องการเหล่านี้เพิ่ม” 

หรือดังที่อาจารย์สรายุทธกล่าวโดยสรุป

“ด้วยพื้นที่ที่อยู่ใจกลางคณะ แต่ก่อนเคยเป็นสตูดิโอ เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของเรา พอถูกเปลี่ยนเป็นห้องสมุด มันก็เลยถูกตัดขาดจากการเป็นพื้นที่สตูดิโอ เป็นเหมือนทางตัน ไม่ลื่นไหลอย่างก่อน ทำให้คนไม่เจอกัน

“ตอนนี้เรากำลังเอาคนกลับเข้ามาเจอกัน เหมือนในอดีตที่มันเคยเป็น”

ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการสำหรับนิสิตคณะสถาปัตย์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 18.00 น. วันเสาร์เปิดบริการเวลา 10.00 – 16.00 น. พื้นที่ชั้น 2 วันธรรมดาเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 – 22.00 น. นิสิตคณะอื่นใช้บริการได้ในวันพุธ ส่วนนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ต่างสถาบันและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสถาปัตยกรรม ใช้บริการได้ในวันเสาร์

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ