“Just what is it that makes y (our) homes so different, so appealing?”

อะไรกันที่ทำให้นิยามของคำว่าบ้านของคุณและของเรา แตกต่างและน่าสนใจ

เมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านกันมากขึ้น มันไม่ง่ายเลยกับการปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ชีวิตวิถีใหม่จากการทำงานที่บ้าน การเว้นระยะห่าง หรือการกักตัว ทำให้ที่อยู่อาศัยหรือ ‘บ้าน’ กลายเป็นสิ่งสำคัญที่เราต่างหันกลับมามอง พร้อมทบทวนถึงบทบาทและนิยามของมันในการดำเนินชีวิต

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

ห้องชุดสี่เหลี่ยมที่เคยตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบไปเช้าเย็นกลับ กลับทำให้รู้สึกคับแคบขึ้นเมื่อต้องอาศัยและทำงานเป็นระยะเวลานาน จากบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นที่เคยรู้สึกว่ากว้างใหญ่เหมือนสนามเด็กเล่นในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นทำไมกลับรู้สึกหงุดหงิดและอึดอัดกับการใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน ความอดทนที่ลดลงกลายเป็นความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง

แต่ในทางกลับกัน บ้านเดี่ยว 3 ชั้นหลังใหญ่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ ทำไมอยู่ๆ ก็ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่สบายใจเหมือนบ้านเล็กๆ หลังเก่าที่เคยอยู่ 

ความรู้สึกเหล่านี้มันคืออะไรกัน และอะไรที่ทำให้คำนิยามของคำว่า ‘บ้าน’ ค่อยๆ เปลี่ยนไป เพื่อไขปริศนาให้กับคำถามง่ายๆ ผมอยากชวนทุกคนเปิดประตูไปที่ไหนก็ได้ไปยังบ้านโนบิ ที่อยู่อาศัยของโนบิตะ แมวหุ่นยนต์ และสมาชิกในครอบครัว จากการ์ตูนอนิเมะสุดคลาสสิกเรื่อง โดราเอมอน บ้านเดี่ยวสองชั้นหลังคาจั่วล้อมรอบด้วยรั้วอิฐบล็อกสีเทา ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมของครอบครัวชนชั้นกลาง และรูปแบบของ ‘บ้านกึ่งสำเร็จรูป’ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างชัดเจน  

นิยามของคำว่า บ้าน และ เมือง

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II
บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

ค.ศ. 1969 คือจุดกำเนิดของ โดราเอมอน ในรูปแบบหนังสือการ์ตูนซีรีส์มังงะญี่ปุ่น วาดและเขียนโดย ฟูจิโกะและฟูจิโอะ (Fujiko F. Fujio) โดยตีพิมพ์เรื่องเต็มครั้งแรกใน ค.ศ. 1970 และพิมพ์ต่อเนื่องไปจนถึง ค.ศ. 1996 รวมทั้งหมด 45 เล่ม การ์ตูน โดราเอมอน ถูกนำมาสร้างเป็นการ์ตูนแอนิเมชันครั้งแรกใน ค.ศ. 1973 ต่อมามีการเพิ่มเติม ปรับเปลี่ยนกราฟิกและลายเส้นของตัวละคร รวมถึงองค์ประกอบของสถานที่ต่างๆ ใน ค.ศ. 1979 และ ค.ศ. 2015 จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการพัฒนาและรีเมกการ์ตูนคลาสสิกเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ 

ตอนที่ผู้เขียนเขียนต้นฉบับนี้เป็นยุคคาบเกี่ยวระหว่างช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูเมืองจากบาดแผลของสงคราม เริ่มพุ่งเป้าไปที่การซ่อมแซมสภาพเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ 1960 และช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1973 ทำให้การพัฒนาเมืองเริ่มชะลอตัวลง สถาปนิกชื่อดังในสมัยนั้นอย่าง เคนโซ ทังเกะ (Kenzo Tange) เรียกการเติบโตของเมืองโตเกียวว่าเป็น ‘การแพร่กระจายของหมู่บ้านชนบท’ ที่ควรต้องมีการจัดระเบียบขึ้น แต่ทว่าสถาปนิกรุ่นน้องอย่าง คาซู ชิโนฮาระ (Kazuo Shinohara) กลับมองว่า ความยุ่งเหยิงและวุ่นวายเป็นเสน่ห์ของมหานครแห่งนี้ และควรใช้มันเป็นเครื่องมือในงานออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเขาเปรียบเปรยการเติบโตของเมืองโตเกียวเป็น ‘หมู่บ้านขนาดใหญ่’

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II
บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

บ้านของโนบิตะและเหล่าผองเพื่อนตั้งอยู่ที่เขตเนริมะ ในชานเมืองของโตเกียว ภาพมุมสูงของเมืองเนริมะสะท้อนให้เห็นถึงผลพวงของการขยายเมือง และการแพร่กระจายความหนาแน่นของประชากรจากตัวเมืองมาสู่ชานเมือง เมื่อผู้คนโหยหาพื้นที่อยู่อาศัยที่มีความเป็นส่วนตัวและไม่ห่างไกลจากสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวจึงตอบโจทย์ของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป บ้านแต่ละหลังมีรั้วอันบ่งออกถึงอาณาความเป็นส่วนตัว ความต้องการที่ปิดตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมภายนอก เมื่อตนเดินกลับมาที่บ้านหลังเลิกงาน บ้านจึงกลายเป็นพื้นส่วนบุคคลที่ไม่ต้องการยุ่งกับใคร

แม้ว่าผู้ใหญ่ต้องการที่อยู่อาศัยที่มีความส่วนตัว หลายๆ ซีนในการ์ตูนเรื่องนี้เรากลับเห็นโนบิตะและเพื่อนๆ ออกไปเล่นนอกบ้านอยู่บ่อยๆ พื้นที่สาธารณะกลายเป็นเหมือนห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ของเมืองนี้ ทั้งสนามเบสบอล ทางเดินริมแม่น้ำ และพื้นที่ว่างที่มีวัสดุก่อสร้างวางเรียงรายอยู่ ท่อเหล็ก 3 ท่อนกลางลานกลายเป็นจุดนัดพบประจำของเด็กๆ ป่าบนภูเขาหลังโรงเรียนกลายสถานที่ผจญภัยที่นำเหล่าเด็กๆ ออกใช้ชีวิตนอกบ้านร่วมกับธรรมชาติ เสน่ห์ของชุมชนถูกถ่ายทอดออกมา

ในขณะที่เมืองโตเกียวกำลังขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน บ้าน ชุมชน และเมือง ยังคงยึดโยงกับธรรมชาติ เป็นวิถีชีวิตที่ผู้คนยังสามารถเดินเท้าจากบ้านไปโรงเรียน เป็นเมืองที่เรายังทักทายเพื่อนบ้านเมื่อเดินผ่าน เมืองที่บ้านยังเป็นส่วนหนึ่งของเมือง

บ้านเดี่ยวกึ่งสำเร็จรูป

เพราะบ้านคือหน่วยย่อยที่สุดในระบบเมือง บ้านหลายๆ หลังรวมกันกลายเป็นหมู่บ้านหรือชุมชน บ้านเป็นผลผลิตของการประนีประนอมและอยู่รวมกันระหว่างธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้าง บ้านคือองค์ประกอบสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับย่านและเมืองนั้นๆ รูปแบบของมันจึงเป็นภาพสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมและบริบทของสังคมในแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน

‘ผนังสี่ด้านและหลังคา’ อาจจะเป็นคำนิยามของบ้านที่ตอบโจทย์ที่สุดกับสภาพสังคมในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 เมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ผันผวนใน ค.ศ. 1973 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่วิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมสากลในยุคโมเดิร์นเข้ามาเบ่งบานในประเทศ เมื่อสถาปัตยกรรมถูกขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจ ใจความสำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ว่าด้วยการลดทอนองค์ประกอบและการตกแต่งที่ไม่จำเป็น ให้เหลือไว้เฉพาะประโยชน์ใช้สอยขั้นพื้นฐาน ในรูปแบบการอยู่อาศัยที่เพียงพอ หรือ Minimum Dwelling บ้านดั้งเดิมแบบญี่ปุ่นถูกแทนที่ด้วยหลักการออกแบบสมัยใหม่ที่ใช้เหตุผล อ้างอิงวิทยาศาสตร์และสัดส่วนมนุษย์ โดยบางครั้งให้ความสำคัญกับความสวยงามรองลงมา

‘บ้านเดี่ยวกึ่งสำเร็จรูป’ สำหรับ 1 ครอบครัวจึงถือกำเนิดขึ้นเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังจากนั้นบ้านหนึ่งหลังที่มีโครงสร้าง แปลนบ้าน และรูปลักษณ์ภายนอกที่เหมือนกันทุกประการ ก็ถูกโคลนออกมาและผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดกระจายอยู่รอบชานเมือง เหมือนบ้านที่เพียงรอการเติมน้ำร้อนและใส่เครื่องปรุงก็ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยได้ทันที

ผมขอนิยามสถาปัตยกรรมในรูปแบบนี้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมมินิมอลลิสม์ (Minimalism) ยุคแรกเริ่ม หลายคนอาจติดภาพของสถาปัตยกรรมมินิมอลเป็นบ้านสีขาวล้วน มีห้องว่างเปล่าทาผนังด้วยสีขาว และเมื่อกวาดตามองไปที่มุมห้องจะพบกับวัตถุที่ถูกจัดองค์ประกอบคอมโพซิชันวางอยู่ แต่โดยหลักการแล้ว มินิมอลลิสม์ไม่ได้หมายถึงสไตล์ในการตกแต่งบ้าน แต่มันคือทัศนคติ (Attitude) ซึ่งต้นตอของแนวคิดนี้เกิดมาจากศิลปะแนว Abstract และแนว Cubism มันคือแนวคิดว่าด้วยการกลับสู้รากฐาน กลับสู่สัจจะของรูปทรงและวัสดุ การลดทอนองค์ประกอบที่ไม่สำคัญออกไป คือเครื่องมือที่ช่วยสังเคราะห์ความซับซ้อนที่สถาปนิก เลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทและแนวคิดของผลงาน

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II
บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

ดังนั้น หากมองด้วยตรรกะเดียวกัน บ้านโนบิในการ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน จึงเป็นบ้านในรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น แนวมินิมอลยุคบุกเบิก ที่หล่อหลอมวิถีการใช้ชีวิตสมัยใหม่ขึ้นมาให้กับผู้อยู่อาศัย  บ้านโนบินั้นเป็นบ้านครอบครัวเดี่ยว 2 ชั้น ไม่มีที่จอดรถ มีที่ดินรอบตัวบ้านพอสำหรับสร้างสวนขนาดเล็ก ชานไม้พักผ่อน พื้นที่ตากผ้า และห้องเก็บของได้ รูปทรงของบ้านเกิดการจัดสรรพื้นที่ใช้สอย วางตำแหน่ง ทางเดิน ทางเข้า ทางออก และห้องต่างๆ ตามความเชื่อมโยงในการใช้งาน หลังคาทรงจั่วช่วยในการกันฝนและเร่งระบายน้ำในวันที่พายุเข้า ปีกของหลังคาที่ยื่นออกห่างออกไปจากตัวบ้านก็เพื่อช่วยกันแดดและสร้างเงาบังแดดนั้นเอง

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II
บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

ชั้นล่างของตัวบ้านประกอบด้วย 1 ห้องรับแขกที่อยู่ติดกับประตูทางเข้าบ้าน เพื่อให้แขกที่มาเยือนไม่ต้องเดินผ่านพื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัว 1 ห้องอเนกประสงค์สำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ใช้เป็นทั้งห้องนั่งเล่นและห้องทานอาหารว่าง 1 ห้องครัวและห้องกินข้าวที่อยู่รวมกัน 1 ห้องอาบน้ำที่แยกห้องสุขา จากแปลนบ้าน เราจะเห็นว่าตำแหน่งของประตูและหน้าต่างถูกจัดวางเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับทิศทางของแสงแดดและทางลม โดยห้องน้ำและห้องครัวจะได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงเช้าจากทิศตะวันออก และพื้นที่อยู่อาศัยที่เหลือจะได้รับแสงอาทิตย์ในตอนบ่ายและตอนเย็นจากทางทิศใต้และทิศตะวันตก 

ในส่วนของพื้นที่ชั้นบนแบ่งออกเป็น 2 ห้องนอน สำหรับพ่อแม่และห้องนอนของโนบิตะและโดราเอมอน ห้องของโนบิตะได้รับแสงอาทิตย์เข้ามาทางทิศใต้เต็มๆ ในช่วงกลางวัน ซึ่งถ้าเป็นวันธรรมดาแล้วโนบิตะนั้นคงจะอยู่ที่โรงเรียน แต่ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด เรามักจะเห็นภาพโนบิตะและโดราเอมอนเหงื่อแตกและพยายามหาวิธีคลายร้อน นี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่พวกเขามักจะออกไปเล่นนอกบ้านในช่วงกลางวันนั้นเอง

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

บ้านโนบิตะยังทำให้เราหวนคิดถึงบ้านในวัยเด็ก ที่บ้าน 1 หลังจะมีทีวี 1 เครื่อง ทำให้เราต้องแย่ง สลับ และแบ่งเวลากับพ่อแม่พี่น้องเพื่อดูรายการโปรด การรอคิวเข้าห้องน้ำเพื่อไปโรงเรียนหรือทำงาน การที่เราต้องเดินลงมาจากชั้นสองเพื่อเข้าห้องน้ำในตอนกลางคืน การเปิดหน้าต่างและพัดลมเพื่อรับลมในวันที่อากาศร้อน เพราะไม่ใช่ทุกห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ รูปแบบทางกายภาพทางสถาปัตยกรรมของตัวบ้านกลายส่วนที่ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวใช้เวลาอยู่ร่วมกัน แบ่งปันพื้นที่ หรือแย่งกันใช้งาน

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ เลือนลางหายไป ในยุคที่เครื่องใช้ไฟฟ้า สุขภัณฑ์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก รวมถึงโน๊ตบุ๊กและอินเตอร์เน็ตมีราคาที่ถูกลงและง่ายต่อการครอบครอง บ้านหลายหลังเริ่มมีทีวีมากกว่า 1 เครื่อง จำนวนห้องน้ำที่เพิ่มขึ้น จนไปถึงการที่เราเลือกดูรายการต่างๆ ผ่านโน๊ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ได้ทุกที่ทุกเวลา บ้านเดี่ยว 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ กลับกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่เป็นความต้องการขั้นต่ำในสังคมปัจจุบัน ในขณะที่พื้นที่ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย เวลาที่สมาชิกในครอบครัวจะแบ่งปันให้กันและกันกลับค่อยลดน้อยลงไป

บ้านคือศิลปะแห่งการใช้ชีวิต

เมื่อวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมแต่ละยุค คำนิยามที่เราสร้างขึ้นให้กับคำว่าบ้าน ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในยุคหนึ่ง เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาแห่งสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นได้กล่าวว่า “บ้านนั้นคือเครื่องจักรสำหรับการอยู่อาศัย” แต่ต่อมาเมื่อบริบทของเมืองเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เมื่อเราไม่ต้องฟื้นฟูเมืองจากช่วงสงคราม คำนิยามเดิมก็เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงไป ดังที่ คาซู ชิโนฮาระ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นในยุคโพสต์โมเดิร์นหรือยุคหลังสมัยใหม่นิยม กล่าวว่า “บ้านคืองานศิลปะ” ซึ่งศิลปะในที่นี้ น่าจะหมายถึงศิลปะแห่งการเลือกใช้ชีวิต 

บ้านโนบิ สถาปัตยกรรมในโดราเอมอนที่บอกเล่าชีวิตและดีไซน์ญี่ปุ่นยุคหลัง WW II

ในการ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน แม้ว่าหลายบ้านจะได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ทำให้มีโครงสร้างภายนอกและรูปทรงที่เหมือนและคล้ายคลึงกัน แต่ทุกๆ บ้านก็พยายามแสดงเอกลักษณ์ของตนเองออกมา สังเกตได้จากการทาสีหลังคาที่แตกต่างกัน การเลือกวัสดุของรั้วที่ไม่เหมือนกันไป การปลูกต้นไม้คนละแบบ รวมไปถึงการตกแต่งภายในตัวบ้านที่แสดงนัยยะให้เห็นถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัย

การตกแต่งภายในบ้านของโนบิตะผสมระหว่างแบบโมเดิร์นและญี่ปุ่นดั้งเดิม โดยใช้เสื่อทาทามิในห้องนั่งเล่น เพื่อแบ่งสัดส่วนของห้องและกำหนดตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์ การใช้โต๊ะนั่งพื้นและเบาะรองแบบญี่ปุ่น รวมถึงการเลือกใช้ประตูบานเลื่อนไม้แบบญี่ปุ่น องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย

ผมเชื่อว่าคำจำกัดความของคำว่า ‘บ้าน’ ที่เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัยกว้างขึ้นแล้วในวันนี้ เพราะกรอบปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอยากจะมีบ้านอยู่นอกเมือง อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ให้มากที่สุด บางคนอยากมีบ้านอยู่บนตึกสูงกลางใจเมือง เพื่อสะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่ก็อาจจะต้องแลกมากับชีวิตที่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศเป็นส่วนใหญ่

วิถีชีวิตของมนุษย์จะยังถูกขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสภาพสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนนิยามของคำว่าบ้านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะในเชิงการจัดสรรพื้นที่เพื่อเว้นระยะห่างหรือการปรับพื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะกับการทำงานจากบ้านก็ตาม

เมื่อนิยามของคำว่า ‘บ้าน’ แปรผกผันตามรูปแบบการใช้ชีวิตและสภาพสังคมในแต่ละยุค เมื่อปัจจัยพื้นฐานของบ้านตามบริบทในอดีตไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในวิถีการดำเนินชีวิตร่วมสมัยของผู้อยู่อาศัย สถาปัตยกรรมแบบเพียงพอ (Minimum Dwelling) กำลังถูกแทนที่ด้วยรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองความปรารถนา (Maximum Desire) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่มีความต้องการแตกต่างและหลากหลาย

ถ้าเราลองตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า นิยามคำว่า ‘บ้าน’ ของคุณคืออะไร อะไรคือคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานในยุคปัจจุบันที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตของคุณ คำตอบที่ได้ อาจจะนำมาซึ่งรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมที่แตกต่างไปจากขนบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง

ขอบคุณรูปภาพจาก 

TV Anime : Doraemon, Fujiko Fujio, TV Asahi (ANN), 2005.“ (Chronology 1979 Anime)

doraemon.fandom.com/th/wiki

doraemon.fandom.com/wiki/Nobis’ Residenceanime

naibann.com/nobita-house-plan/

https://www.dotproperty.co.th/blog/

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ