ณ ยามเช้าวันหนึ่งเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพียงไม่กี่นาทีก่อนที่ผมเองจะเปิดประตูบ้านเพื่อเริ่มผจญภัยไปสู่ออฟฟิศในย่านตัวเมือง ผมได้ไถเลื่อนดูฟีดข่าวในแอพพลิเคชันมือถือ แล้วก็พบว่าผมไม่สามารถเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะลอยฟ้าได้อย่างปกติประจำในเช้าวันนั้น

ทำให้ผมจำเป็นต้องคิดจินตนาการเส้นทางในการเดินทางใหม่ในทันที ซึ่งเผอิญว่าโชคเข้าข้างผมนิดหน่อย เพราะว่าผมสามารถเปลี่ยนการเดินทางจากเดิม เป็นเส้นทาง ‘เรือคลองแสนแสบ’ แทน เพื่อไปยังปลายทางเดิมได้เช่นกัน

หลังจากที่ผมได้ก้าวตัวข้ามกราบเรือและนั่งลงบนแผ่นไม้ที่นั่งบนเรือคลองไปไม่นาน ณ ช่วงเวลานั้น ผมก็สัมผัสได้ถึงออร่าของงานดีไซน์แบบบ้านๆ แต่มีอะไรซ่อนอยู่ อบอวลไปทั้งมวลเรือ ท่ามกลางออร่าของหยดน้ำที่ลอยกระเซ็นมาประทับลงบนผิวหน้าแบบไม่ตั้งใจ จากการกระเพื่อมน้ำขึ้นและลงของลำเรือที่ดูเหมือนตั้งใจ

โดยที่ออร่าของดีไซน์ของเรือนี้นั้น ตัวผมเองเห็นได้ตั้งแต่งานฟังก์ชัน งานออกแบบรูปฟอร์ม งานออกแบบโครงสร้างและวิศวกรรม หรือแม้กระทั่ง UXD (User Experience Design)  ซึ่งแน่นอนว่าในสายตาสถาปนิกของผมเองแล้ว เราสามารถจัดเรือคลองแสนแสบให้อยู่ในกลุ่มหมวดงานสถาปัตยกรรมทำมือแบบไทยๆ ในระดับ A-list ได้เลยทีเดียว

และด้วยเหตุนี้ กลายเป็นว่าผมได้หลวมตัวกลายเป็นติ่งเรือแสนแสบไปโดยไม่เคยคาดคิดมาก่อน และนี่ยังทำให้ผมได้คิดเพลินสนุกไปไกลว่าสถาปัตย์ทำมือที่วิ่งบนผิวน้ำนี้ ค่อนข้างเหมาะสำหรับในการถูกกล่าวและบรรจุเอาไว้ในคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ มากๆ เช่นกัน ซึ่งมันก็คือตอนนี้นี่เอง

เอาล่ะครับทุกท่าน…เรามาลองแล่นความคิดสำรวจงานดีไซน์ที่เหนือจินตนาการของเรือแสนแสบเหล่านี้กันครับ

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

แสนแสบครอง

‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ เป็นวลีอมตะของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่กล่าวทิ้งเอาไว้ให้แก่โลกเมื่อ พ.ศ.2472 ซึ่งไอน์สไตน์เปรียบเทียบง่ายๆ ไว้ว่า ความรู้ก็เหมือนกับปัจจุบัน ส่วนจินตนาการเปรียบได้กับอนาคต จนกระทั่ง พ.ศ. 2533 เมื่อ บริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด ได้ผลิตเรือโดยสารเข้ามาครองพื้นที่ในคลองแสนแสบ อนาคตชีวิตของคนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งในตอนนั้นก็เปลี่ยนไปจากที่เคยจินตนาการไว้

จากอดีตที่คลองแสนแสบเคยเป็นเส้นทางขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์และเสบียงอาหารในสงครามอานามสยามยุทธ (ไทย-ญวน) ทำให้คลองแสนแสบนั้นมีลักษณะยาวเส้นก๋วยเตี๋ยว เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงแม่น้ำบางปะกง และแล้วเส้นก๋วยเตี๋ยวในระยะ 18 กิโลเมตรของคลองแสนแสบในเขตเมืองนั้นก็เปลี่ยนไป เมื่อ นายเชาวลิต เมธยะประภาส ผู้เป็นเจ้าของกิจการเดินเรือแสนแสบ ริเริ่มปรุงแต่งจินตนาการเส้นทางของคลองสายนี้ใหม่ จากคลองที่แสนธรรมดาให้กลายเป็นท่อทางด่วนส่งคน อันได้ไอเดียมาจากเส้นทางอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินในเมืองลอนดอนที่เรียกกันว่า ‘ท่อ’

ซึ่ง 9 ปีต่อมา เอกชนรายอื่นเพิ่งเริ่มทยอยสร้างท่อลอยฟ้าเพื่อให้รถไฟวิ่ง ในขณะที่ท่อคลองแสนแสบได้ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพไปล่วงหน้า โดยไม่ต้องไปลงทุนสร้างอะไรใหม่ แม้ว่าต้องจัดการกับสิ่งสกปรกในน้ำไปควบคู่กัน เนื่องด้วยท่อน้ำนี้เป็นระบบที่เปิดฝาไว้

จากเส้นทางคลองขุด 18 กิโลเมตร 1 ท่อ มีจำนวน 27 ท่าเรือ หากเราหย่อนตัวลงในเรือที่ท่าเรือผ่านฟ้าฯ (ต้นสาย) แล้วลองแล่นเรือไปเรื่อยๆ จนถึงปลายทางวัดศรีบุญเรือง เมื่อลองยกนาฬิกาที่สวมขึ้นมาดู เราจะพบว่าทั้งหมดใช้เวลาไปทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมงถ้วน โดยที่เราเสียเวลาในการขึ้นลงบนท่าเพียงไม่ถึงนาที เท่ากับว่าเราจะเสียเวลาไป 27 นาทีกับการขึ้นลงเรือ ทำให้เรือคลองสายนี้มีความเร็วในการเดินทางจริงๆ เท่ากับ 18 กิโลเมตรภายในครึ่งชั่วโมง

ซึ่งความเร็วระดับนี้สำหรับขนส่งสาธารณะในเมืองที่ยุ่งเหยิงนี้นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คอนเซปต์หลักของบริการเรือแสนแสบคือขายการ ‘เวลา’ ไม่ใช่การขายตั๋วโดยสาร

เพราะว่าถึงแม้เรามีเงินซื้อนาฬิกาดีๆ ใส่ ก็ไม่ได้แปลว่า เรามีเวลามากพอให้กับการเดินทางในเมืองกรุงเทพมหานคร

เรือแสนแซ่บ

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ความหมายของคำว่า ‘เผ็ช’ ‘แซ่บ’ ล้วนเกิดจากจินตนาการที่เวลาเห็นอะไรที่น่าสนใจ มีความเก๋ และสนุกสนาน แต่สำหรับผมแล้ว งานออกแบบสถาปัตย์ของเรือแสนแสบจะดูแสนแซ่บกว่านั้น

เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ทาง บริษัท ครอบครัวขนส่ง ได้ออกแบบและพัฒนาการออกแบบเรือแสนแสบมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีคิดการแก้ปัญหากับสภาพภูมิศาสตร์โดยเฉพาะ และเดินทางพัฒนาเข้ามาสู่เรือเวอร์ชันที่ 4 ตามมาติดๆ กับยุค 4.0 ซึ่งรุ่นที่เรานิยมคุ้นชิน (และที่ผมจะกล่าวถึง) ก็มักจะเป็นตัวเวอร์ชันที่ 3 ที่เราสามารถขึ้นลงจากตัวเรือทีเดียวหลายสิบคนเป็นแถวกระดานจากเพียงทางด้านข้างกราบเรือ

แน่นอนว่าการออกแบบที่สามารถถ่ายโอนผู้โดยสารทางด้านข้างของเรือแบบนี้ สอดคล้องกับคอนเซปต์ของการเน้นขาย ‘เวลา’ เป็นอย่างมาก เพียงเรากะพริบตาแบบไม่ใช่การพักสายตา ผู้คนหลายสิบคนก็สามารถเดินเรียงแถวบนท่าเรืออย่างชิลล์ๆ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการดีไซน์ทางขึ้นลงนี้ค่อนข้างขัดกับหลักสากล แต่ถ้าเราไปเทียบการขึ้นลงพวกระบบขนส่งแบบสากลแบบอื่นๆ ที่เข้าและออกเพียงแค่ประตูหัวท้าย การนอกกรอบแบบนี้ค่อนข้างฉลาดและทำเวลาได้ดีกว่าเห็นๆ โดยที่พนักงานประจำท่าเรือเคยคอนเฟิร์มกับเราไว้ว่า วิธีนี้สามารถลดเวลาจากวิธีแบบสากลได้ถึง 5 เท่า

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

และการดีไซน์ให้คนขึ้นลงเรือด้วยด้านข้างก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ต่อเนื่อง เราก็จะเห็นว่าทางเดินที่สามารถเดินตัดจากหัวเรือไปท้ายเรือจะหายไป แต่จะกลายเป็นแท่นม้านั่งแผ่นไม้หนายาวพาดลำขัดไปกับสองฝั่งเรือ วางเรียงเป็นแถวคล้ายเป็นกระดูกก้างปลา เว้นช่องว่างระยะที่นั่งประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถให้คนเดินตัดไปมาได้ซ้ายขวา โดยที่ไม่ต้องปีนกัน ซึ่งวิธีออกแบบนี้นอกจากทำให้คนขึ้นทางข้างเรือได้อย่างสะดวกแล้ว ยังเป็นการทำให้ที่นั่งมีจำนวน Maximum ถึง 60 ที่นั่ง รวมทั้งแผ่นไม้ที่พาดลำเรือก็กลายเป็นกระดูกเสริมของโครงเรือไปโดยปริยาย

ในขณะเดียวกัน ขนาดตัวเรือรุ่น 3 นี้นั้น จำต้องมีขนาดที่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ความกว้างของคลอง ความกว้างขอบนอกเรือจะอยู่ที่ 3.50 เมตร (รุ่นล่าสุดอยู่ที่ 3.80 เมตร) เพราะเวลาเรือสวนทางกันขนาดความกว้างนี้จะค่อนข้างขับได้แล้วสบายใจ ไม่ชนกัน ส่วนความยาวจากหัวเรือไปท้ายก็จะไม่เกิน 24 เมตร (เรือรุ่นท่องเที่ยวจะเหลือ 18 เมตร) ก็เนื่องด้วยเวลาเรือวิ่งไปถึงสุดสายบริเวณท่าวัดศรีบุญเรืองและท่าผ่านฟ้า ความยาว 24 เมตรจะเป็นระยะที่พอดีที่สามารถขับกลับหัวเรือได้อย่างพอดิบพอดี

อีกทั้งการที่เราต้องเปลี่ยนขบวนเรือที่ท่าเรือประตูน้ำก็เป็นเพราะเรื่องขนาดทางภูมิศาสตร์เช่นกัน เพราะว่าเมื่อเข้าสู่คลองช่วงใน (ท่าเรือประตูน้ำ-ท่าเรือผ่านฟ้าฯ) ขนาดความกว้างคลองจะเล็กลง เรือที่ถูกเปลี่ยนสลับกันก็จะเป็นเรือที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งจะเล็กลงนิดหน่อยจนเราไม่รู้ตัว แต่นี่กลับมีผลต่อการเดินเรือค่อนข้างมากทีเดียว

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

และบนขนาด 24.00 x 3.50 เมตร พื้นที่ประมาณ 40% ถูกแบ่งให้เรื่องของงานวิศวกรรมล้วนๆ นอกจากที่นั่งคนขับที่ประกอบมาจากเบาะรถบัสและสามารถปรับเอนได้บริเวณด้านหน้าของเรือ ส่วนบริเวณท้องเรือ เราจะสามารถเห็นกล่องเหล็กเจาะรูสีส้มขนาดใหญ่ที่ขวางทางเดินช่วงกลางเรือ ซึ่งกล่องเหล็กนี้เป็นที่อยู่ของเครื่องยนต์ที่มีกำลังถึง 400 แรงม้า 6 ลูกสูบ ที่ดัดแปลงมาเครื่องยนต์รถบรรทุก ทำให้บางครั้งเราจะเห็นน้ำที่ไหลออกมาจากท่อกราบเรือ นั่นก็เพราะว่าเครื่องได้สูบน้ำจากคลองมาเพื่อลดความร้อน ทำให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง เป็นการยืมวัตถุดิบจากภูมิศาสตร์มาใช้ได้อีกทาง

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

และบนขนาด 24.00 x 3.50 เมตร (ขออีกรอบ) การออกแบบรูปฟอร์มของตัวเรือเองก็มีลักษณะเพื่อใช้งานในแสนแสบโดยตรง เพราะถ้าเราเคยเห็นตัวเรือแสนแสบทั้งลำ เราจะพบว่าท้องเรือจะมีลักษณะท้องที่แบนราบ ขัดแย้งกับเรือโดยทั่วไปที่จะมีท้องเรือที่โค้งมนเพื่อสร้างบาลานซ์ไปกับคลื่นน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วการที่ท้องเรือแสนแสบนั้นมีลักษณะแบนก็เพราะเพื่อต้านกับแรงที่จะกดลงมหาศาลทางด้านข้างเรือ จากการเหยียบของผู้โดยสารขณะที่ขึ้นลงท่าเรือ

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

และถ้าเราได้เห็นการประกอบโครงสร้างเรือทั้งหมด เราก็จะพบว่าเรือแสนแสบถูกประกอบขึ้นด้วย 3 วัสดุเป็นหลักๆ โดยที่ช่วงล่างของเรือจะประกอบขึ้นด้วยโครงสร้างไม้รัดตัวเป็นกระดูก เชื่อมกันด้วยเทคนิคการตอกหมุดเหล็กและใช้น็อต ปิดหุ้มด้วยแผ่นไม้หนาสภาพดี และช่วงบนของเรือจะถูกประกอบขึ้นด้วยเหล็กท่อกลม 2 นิ้ว ดัดค่อมเป็นโครงหลังคาโค้ง โดยที่โครงเหล็กที่ตั้งจากพื้นเรือไปถึงโครงหลังคาจะมีความเซอร์พิเศษตรงที่เหล็กจะโดนตัดเป็นครึ่ง และเชื่อมกันด้วยข้อพับ กลายเป็นกลไกที่ทำให้หลังคาสามารถพับลดระดับความสูงเรือลงถึง 50% ด้วยการดึงเชือกที่มัดเอาติดเหล็กเอาไว้จากด้านหน้าของเรือ ก็เนื่องด้วยหากน้ำในคลองมีระดับที่สูงขึ้น เรือแสนแสบจำเป็นต้องลดระดับตัวเองเพื่อลอดใต้ท้องสะพานต่างๆ ระหว่างเส้นทางให้ได้ แม้ว่าอาจจะทับหัวผู้โดยสารในบางครั้ง

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

และสิ่งที่เป็นสำคัญสุดท้ายของวัสดุในการออกแบบเรือแสนแสบนี้ก็คือ การใช้ผืนผ้าใบ ที่ใช้ทั้งในการคลุมหลังคา และนำมาติดรอกชักที่สามารถดึงขึ้นได้คล้ายรั้วใส เพื่อป้องกันน้ำในคลองกระเด็นเข้าเรือ กระจายไปตามจุดต่างๆ ในเรือ ซึ่งการที่ต้องนำวัสดุผ้าใบมาใช้ ก็อาจเป็นเพราะคุณสมบัติที่สามารถกันน้ำและมีน้ำหนักเบา เลยทำให้นวัตกรรมของการออกแบบรอกกั้นน้ำนั้น มีมาตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อนในเรือรุ่นแรกๆ ตามคำบอกเล่า ซึ่งแน่นอนว่าน้ำในคลองแสนแสบนั้นมีเลขของคุณภาพน้ำต่ำกว่ามาตรฐานมาก เมื่อเราไม่สามารถพอที่ทำให้กลับมาน้ำสะอาดได้ ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีป้องกันน้ำมากระทบผิวของเราแทน

ครอบครัวขนสัง (คม)

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจและสามารถระบุได้ว่าเรือแสนแสบเป็นตัวอย่างงานออกแบบทำมือไทยๆ ที่ร้อนแรงมากๆ ก็คือ การที่เรือเปิดโอกาสให้เกิด Social Space หรือสเปซทางสังคม ที่สามารถจัดการและดำเนินกิจกรรมภายในเรือขึ้นด้วยผู้โดยสารกันเอง

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

ซึ่งกิจกรรมแบบ Social Space จะมีเริ่มให้เห็นตั้งแต่การที่เราจะโดนคนข้างๆ สะกิดเพื่อให้เราหยิบเงินของเขายืนให้กระเป๋าเรือที่ยืนอยู่ข้างกราบเรือ และกระเป๋าเรือยื่นตั๋วกลับมาให้เราสะกิดคนข้างๆ กลับคืนอีกที หรือกิจกรรมที่โดดเด่นและไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ การดึงรอกผ้าใบกั้นน้ำ

ถ้าถามว่าการดึงรอกมันเป็น Social Space อย่างไร มันสามารถอธิบายง่ายๆ เป็นภาพชัดเจนเลยว่า เมื่อเวลาเราเลือกที่นั่งในเรือ ถ้าบังเอิญได้นั่งเก้าอี้ที่ติดกับที่ชักรอก เราก็จะกลายเป็นความหวังของคนส่วนหนึ่งบนเรือ ที่หวังจะไม่เปียกน้ำในทันที และคุณยังต้องไม่เล่นมือถือเพลินเพื่อที่จะไม่ลืมปล่อยเชือกลงเมื่อถึงท่าเรือ ให้ผ้าใบที่กั้นปล่อยตัวลงให้ผู้โดยสารท่านอื่นๆ สามารถข้ามขึ้นลงได้ อีกทั้งการที่จะใช้งานผ้าใบกันน้ำได้เต็มประสิทธิภาพได้นั้น เราจำเป็นต้องมีคนที่ชักรอกพร้อมๆ กันทั้งเรืออีกด้วย ดึงคนเดียวไม่ช่วยอะไร อีกทั้งการใช้งานรอกกันน้ำนั้นยังมีความฟรีสไตล์มากๆ เนื่องด้วยธรรมชาติของการดึงเชือกเองนั้น ไม่ได้กำหนดแกนดึงซ้ายขวาชัดเจน ทำให้รอกนี้เปิดโอกาสให้กับจินตนาการผู้ใช้งานสุดๆ ไม่ว่าจะดึงจะข้างหน้า ข้างหลัง หรือนำมันไปเกี่ยวกับที่ใดๆ หรือล่าสุดมีคนเล่าว่าเห็นฝรั่งใสๆ ท่านหนึ่งดึงเชือกรอกไปผูกเป็นเงื่อนสวยงามกับราวจับเสียเลย คล้ายๆ ว่า จินตนาการสำคัญพอๆ กับอะไรก็เป็นได้

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

นี่จึงเป็นตัวอย่างของ Social Space ที่ผ่านวิธีคิดออกแบบมาแล้วแบบเซอร์ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารได้จัดการกันเองแบบงงๆ คล้ายต้องกลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกันในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งผมว่ามันเวิร์กบนการใช้งานในระดับที่ค่อนข้างดี และก็ยังสอดคล้องกับคอนเซปต์เริ่มต้นทั้งหมดอีกด้วย

ซึ่งเรื่องของ Social Space ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งในงานวิทยานิพนธ์ของรุ่นน้องคนหนึ่งที่ค้นคว้าความหมายพื้นที่ไทยๆ ที่พูดไว้ว่า “การจะสร้างพื้นที่แบบไทยๆ ก็คือ การที่ปล่อยพื้นที่ให้คนไทยได้แสดงออกกันเอง” ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นภายในเรือแสนแสบก็น่าจะทำให้วิทยานิพนธ์นี้ดูมีเหตุผลจริงๆ

แม้ว่าตอนนี้เรือแสนแสบรุ่นที่ 3 นี้กำลังจะถูกปลดระวาง และปล่อยให้เรือรุ่นที่ 4 ที่มีความสากลและปลอดภัยขึ้นเข้ามาแทนที่แทนในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ ด้านที่สมเหตุสมผล แน่นอนว่าเรือที่เข้ามาแทนที่นั้น ก็ล้วนเกิดจากการเรียนรู้ความผิดพลาดและตั้งใจพัฒนาของบริษัทครอบครัวเดินเรือนี้ ซึ่งนับเป็นทีมงานที่มีการ R&D ที่น่าสนใจมากๆ

และในฐานะสถาปนิกดีไซเนอร์ไทยคนหนึ่ง จึงขอเป็นกำลังใจและขอเป็นติ่งในการเรียนรู้วิธีคิดในการออกแบบที่สุดเหนือจินตนาการจากครอบครัวขนส่งทำมือนี้ต่อๆ ไปในอนาคตนะครับ

ขอให้ชาวเมืองทุกท่านมีเวลาที่มากขึ้น และมีความสุขกับการเดินทางนะครับ

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ เรือ, คลองแสนแสบ, สถาปัตยกรรม, เดินทาง, กรุงเทพฯ

*ขอขอบคุณข้อมูลจากพี่สายชล รองช่างใหญ่ ณ อู่ต่อเรือแสนแสบ
ขอขอบคุณ: สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
บรรณานุกรม
1. หนังสือ Bangkok Handmade Transit : กรุงเทพฯ ขนส่งทำมือ–กลุ่มสายลม และ ยรรยง บุญหลง

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น