เคยอยู่ในสถานการณ์ตกที่นั่งลำบากกันไหมครับ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มักจะตกที่นั่งลำบากอยู่บ่อยครั้ง และจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการยืนแทนเสมอๆ (?) ล่าสุดผมตกที่นั่งลำบากในเหตุการณ์งานบวชของพี่ชายของผม เหตุด้วยการจัดสรรที่นั่งด้วยเก้าอี้เบาะหนังหุ้มโครงเหล็กของทางวัดนั้นไม่เพียงพอต่อจำนวนแขกที่เดินทางมาร่วมงาน ทำให้ตัวผมเองตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการสละที่นั่งแล้วยืนแทน ซึ่งนอกจากผมจะลำบากไม่มีนั่งแล้ว การยืนยินดีกับพี่ชายในขณะที่ต้องสู้กับอากาศร้อนอบอ้าวของประเทศไทย จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีเท่าไหร่

ทันใดนั้นเอง ทางวัดก็แก้ไขสถานการณ์ด้วยการจัดแจงให้เหล่าลูกศิษย์ช่วยนำที่นั่งจำนวนหนึ่งมาเสริม อันเป็นที่นั่งวัสดุเเผ่นบางๆ สีสันสดใส ยกซ้อนกันมาคล้ายเป็นคอนโด แล้วเเจกจ่ายให้กับคนที่ตกที่นั่งลำบากในเวลานั้น ไม่ว่าจะเด็กหรือคนชราก็สามารถหยิบยกที่นั่งเหล่านั้นได้อย่างสะดวก และวางนั่งลงอย่างสบายใจโดยไม่ต้องขอยืมแรงผู้ใด ซึ่งแน่นอนว่าที่นั่งวัสดุบางๆ สีสันสดใสที่ดูช่างคุ้นเคยเหลือเกินนั้น จะเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก ‘เก้าอี้พลาสติก’ นั่นเอง

นอกจากเก้าอี้พลาสติกจะเข้ามาแก้ไขสถานการณ์แล้ว ในตอนนั้นเองผมก็ค้นพบความมหัศจรรย์ของเก้าอี้พลาสติกที่ถูกนำมาใช้ในหลายๆ บริบทได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่เป็นเก้าอี้ที่ไว้นั่งปลงผมของพระภิกษุ ยันเป็นเก้าอี้ที่วางเรียงเอาไว้ให้เหล่าญาติผู้ใหญ่มานั่งรวมถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึก และแน่นอนว่าเก้าอี้พลาสติกที่ถูกนำมาใช้งานในพิธีสำคัญทางศาสนาที่เป็นทางการนี้ เป็นเฟอร์นิเจอร์แบบเดียวกันกับที่ถูกใช้แบบไม่ทางการตามริมถนนและท้องตลาดที่เราเห็นจนชินตา และอาจบังตาจนเราไม่เคยได้ตั้งคำถามกับงานดีไซน์เก้าอี้พลาสติกสีสันสดใสเหล่านี้ว่า ทำไมจึงกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใกล้ตัวและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของพวกเราได้ขนาดนี้

สำหรับ อาคิเต็ก-เจอ ตอนนี้ ผมขออาสาเป็นตัวยืนในการตั้งคำถามเหล่านี้ และชวนทุกท่านนั่งขบคิดบนเก้าอี้พลาสติกแผ่นบางๆ นี้ไปด้วยกันครับ

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

 

ตกที่นั่งไม่ลำบาก

หากพิมพ์คำว่า Chair ลงใน Google translate คำแปลภาษาไทยที่ระบบได้ประมวลออกมาก็คือ ‘เก้าอี้’ แต่ถ้าเราจะหาคำแปลของคำว่า เก้าอี้ อีกที เราก็จะพบว่าจริงๆ แล้วคำว่า ‘เก้าอี้’ นั้นไม่ใช่คำภาษาไทย แต่มาจากการเพี้ยนเสียงของคำว่า ‘เกาอี่’ ในภาษาจีนกลาง ซึ่งคำว่า เกา แปลว่า สูง ส่วนคำว่า อี่ แปลว่า ที่นั่ง และเมื่อพอผสมคำกันแล้วจึงมีความหมายว่า ‘ที่นั่งสูง’ ซึ่งนั่นทำให้ผมพบเจอว่า จริงๆ แล้วเฟอร์นิเจอร์ที่นั่งขาสูงที่เราเรียกว่าเก้าอี้นั้นเป็นเรื่องของอิทธิพลจากจีนที่เข้ามาในประเทศไทยนั่นเอง

ในประเทศแถบเอเชียและเอเชียอาคเนย์นั้น ประเทศจีนเป็นชาติแรกชาติเดียวที่มีเก้าอี้ใช้นั่ง ส่วนประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะกิน นั่ง นอน ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นทั้งหมด ประโยคเรื่องวัฒนธรรมการนั่งของเอเชียที่สถาปนิกรุ่นใหญ่อย่าง อาจารย์ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งยังมีการบันทึกต่อไปว่า

สำหรับคนไทยแล้ว พื้นนับเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่กลืนเป็นเนื้อเดียวไปกับบ้าน ด้วยเหตุนี้ ทำให้เวลาจะเข้าบ้าน เราจำต้องถอดรองเท้าก่อนนั่นเอง ยิ่งถ้าเป็นบ้านไม้ไทยสมัยก่อนแล้ว พื้นบ้านจึงนับเป็นเก้าอี้ตัวยักษ์ที่ออกแบบมาเพื่อไม่ต้องลำบากขนหนีน้ำเวลาท่วมนั่นเอง

ดังนั้น ก่อนที่ชาวจีนจะนำเก้าอี้มาเผยแพร่ใช้งานในโซนฝั่งประเทศบ้านเรา เรามีวัฒนธรรมการนั่งพื้นเป็นหลัก โดยที่ประเทศไทยเราเอง ชาวบ้านทั่วไปก็มีวัฒนธรรมในการปูเสื่อล้อมวงกินข้าว หรือการนั่งพื้นโดยมีหมอนอิงเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น พวกเขาเองก็มีวัฒนธรรมการนั่งเสื่ออย่างชัดเจน ส่วนที่นั่งยกระดับเป็นแท่นขึ้นมานั้นนับเป็นเฟอร์นิเจอร์ของคนชนชั้นนายคนเท่านั้น

แต่แล้วเมื่อถึงยุคที่ชาวจีนได้เข้ามาตั้งรกรากและทำการค้าขายกับไทยในสมัย ร.3  สิ่งที่เรียกว่า ‘เก้าอี้’ ที่มาเป็นตัวๆ จึงเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่น่าจะถูกอิมพอร์ทเข้ามาด้วยกันนั่นเอง ซึ่งร่องรอยของเก้าอี้ในอดีตจากคนจีนที่ตัวผมเองเจอและสังเกตเห็นก็คือ เก้าอี้ไม้หัวกลมลายดอกโบตั๋น หรือว่าเก้าอี้หัวกลมเหล็กสังกะสีที่มีการลงสีลายดอกไม้จีน ที่มักถูกใช้ตามร้านค้าห้องแถวโบราณตามที่ต่างๆ ซึ่งนับวันนี้แล้วก็เริ่มยิ่งพบเจอยากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่าผมได้เห็นเก้าอี้พวกนี้ตามพวกละครย้อนยุคบ่อยกว่าในโลกความเป็นจริงซะเอง

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

จนในเวลาต่อมาเมื่อวิถีการนั่งเก้าอี้จากคนจีนได้เข้ามาทดแทนการนั่งพื้นของเหล่าคนไทยโดยทั่วกัน กระทั่งอายุการใช้งานของเก้าอี้ไม้เดินมาถึงจุดที่เริ่มชำรุดและเกิดความต้องการหาเก้าอี้แบบใหม่เข้ามาทดแทน และขณะเดียวกันที่ไทยเองก็ไม่ได้มีแนวคิดในการพัฒนาการออกแบบเก้าอี้ใช้กันเองตั้งแต่แรกเริ่ม รอยต่อของเหตุเหล่านี้จึงกลายเป็นช่องโหว่ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่คาดว่าทำให้เก้าอี้พลาสติกที่เริ่มถูกผลิตขายในช่วงเวลานั้น ได้เนียนๆ เข้ามาแทนที่เก้าอี้ไม้เดิมๆ อย่างลงตัว

ซึ่งถ้าเราย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ช่วง พ.ศ. 2530 ในตอนนั้น บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (เพนกวินแดง) ได้คิดค้นและเป็นผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์พลาสติกรายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เหล่าผู้อาวุโสหลายคนบอกตรงกันว่า เป็นช่วงที่พวกเขาเริ่มรู้จักเก้าอี้พลาสติกบ้านๆ สีสันแสบๆ และเริ่มเห็นใช้กันอย่างแพร่หลาย ถึงแม้ว่าในฝั่งตะวันตกเอง เหล่าดีไซเนอร์ต่างหมกมุ่นและพยายามออกแบบเก้าอี้ด้วยวัสดุพลาสติกกันอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี  ค.ศ. 1960 (ตรงกับปีพ.ศ. 2503) ซึ่งเก้าอี้พลาสติกชื่อดังอย่าง Panton Chair ก็ถูกพัฒนาในช่วงเวลานั้น

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

อย่างตัวผมเองที่ไม่ได้เกิดทันยุคบุกเบิกของเก้าอี้พลาสติกในไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ทำให้ทันทีที่ผมได้เหยียบมาบนโลก เก้าอี้พลาสติกเหล่านี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยปริยาย ไม่ว่าหันไปทางไหนในชีวิต เดินทางไปร้านข้าวที่ใด เก้าอี้พลาสติกก็เหมือนเป็นเพื่อนสนิทคู่ใจที่พบเจอได้เสมอๆ เช่นเดียวกับเหตุการณ์งานบวชของพี่ชายที่เล่ามาในตอนแรก

แม้ว่าจะผ่านมาถึง 30 กว่าปีแล้ว เป็นที่น่าสงสัยไปอีกว่า เพราะเหตุใดเก้าอี้พลาสติกถึงดูไม่ตกยุคและยังอยู่ในเทรนด์ของการใช้งานในฐานะเฟอร์นิเจอร์สำหรับการนั่งของชาวไทย แม้ว่าร้านเฟอร์นิเจอร์อย่าง IKEA จะเปิดสาขาในไทยไปถึง 2 สาขาแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าความบ้านๆ ของดีไซน์เก้าอี้พลาสติกสีๆ เหล่านี้ดูเหมือนจะถูกจริตกับเราคนไทยเสียมากกว่า

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

 

ผู้รักษา Seat ห้า

ถ้าศีล 5 คือ ข้อปฏิบัติพื้นฐานทางพุทธศาสนาที่หากรักษาและสามารถทำตามได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลทำให้ชีวิตผาสุก มีแต่กัลยาณมิตรที่ดีคอยติดตามและช่วยเหลือกัน ซึ่งมีความคล้ายกับเก้าอี้พลาสติก ที่ผู้คนยังคอยเลือกใช้และยังถูกคำนึงถึงเมื่อยามตกที่นั่งลำบากอยู่เสมอ เพียงว่าเก้าอี้พลาสติกนั้นเขารักษาศีล 5 ไม่ได้ แต่กลับเป็นคุณสมบัติของ Seat 5 ข้อ ที่เก้าอี้พลาสติกยังคงรักษาเอาไว้ จนทำให้เราชาวไทยถูกอกถูกใจกัน อันได้แก่

ข้อ 1 ‘สีสันสดใส หัวใจกระชุ่มกระชวย’ เป็นเหมือนกันไหมครับว่า เวลาเห็น เก้าอี้พลาสติกสีแดง สีน้ำเงิน สีเขียวมะนาว ตามร้านริมทางแล้วรู้สึกสงสัยว่าทำไมเจ้าของร้านเขาจึงกล้าที่จะเล่นสีฉูดฉาดได้ขนาดนี้ หรือมีอะไรดลใจให้เขารู้สึกอยากใช้สีสันพวกนี้เพื่อสร้างความกระชุ่มกระชวยอะไรหรือเปล่า แม้ว่าเจ้าของร้านจะมีหน้าเข้มไว้หนวดไว้เครา

ซึ่งเมื่อลองพยายามทำความเข้าใจแล้ว เราก็พบว่า ด้วยข้อจำกัดของวัสดุในการฉีดขึ้นรูปให้เป็นเก้าอี้ ซึ่งก็คือสีเม็ดพลาสติกที่ส่วนมากเป็นชุดแม่สี RGB (แดง เขียว น้ำเงิน) และเมื่อเกิดผลิตจำนวนมากๆ แล้ว การที่ต้องพยายามผสมสีใหม่ๆ ให้มีมากขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องที่เปลืองทรัพย์และเปลืองเวลา ทำให้ชุดสีพื้นฐานของเก้าอี้เหล่านี้จึงกลายเป็น Pantone เริ่มต้นแก่บุคคลทั่วไปโดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราไม่ซีเรียสมาก ก็ไม่รู้จะคุมโทนไปทำไม

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

ข้อ 2 ‘มีทุกขนาดให้เลือกสรร ทุกระดับทุกสไตล์ แบ่งขายให้ตามต้องการ’ เมื่อดีไซน์ใดๆ ในโลกไม่สามารถตอบโจทย์ได้ด้วยวิธีเดียว เก้าอี้พลาสติกจึงได้ถูกผลิตในรูปแบบหลากหลายเพื่อแก้ปัญหาในทุกท่านั่งอิริยาบถ ตั้งแต่เก้าอี้นั่งยองๆ สำหรับซักผ้า เก้าอี้แบบไม่มีพนักพิงที่เน้นความคล่องตัว หรือมีพนักพิงสำหรับนั่งเอนกาย ยันเก้าอี้พลาสติกที่มีอาร์มแชร์แบบจริงจัง โดยที่รูปแบบสไตล์การใช้งานต่างๆ ทั้งหมดนี้ ยังมีขนาดหลากหลายให้เลือกสรร และสามารถแบ่งซื้อแบ่งขายตามความต้องการอย่างสะดวกสบาย จะซื้อตัวเดียวหรือยกโหลก็มายกไปได้เลย

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

ข้อ 3 ‘เธอเอาพลาสติกมาทับอยู่บนพลาสติก’ จุดแข็งที่หลายๆ คนมักยกนิ้วให้กับคุณสมบัติของเก้าอี้พลาสติกก็คือ ความเบาและความสามารถที่นำมายกซ้อนทับได้ และคาดว่าคุณสมบัตินี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เก้าอี้พลาสติกเกิดความนิยมและแพร่หลายมากๆ ของบุคคลทั่วไป เพราะไม่ว่าคุณประกอบกิจการร้านอาหารหรือร้านค้าใดๆ เมื่อถึงเวลาปิดร้าน การรวบเก้าอี้ทีละเยอะๆ ซ้อนกันแล้วยกไปเก็บทีเดียว ก็ดูจะเป็นเรื่องในอุดมคติเลยทีเดียว

อีกทั้งความสามารถในการซ้อนตัวนั้น ยังเหมาะสมกับบริบทของร้านค้ารถเข็นตามริมทางที่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา ทั้งตอนจัดวางเพื่อเปิดร้านและยกเก็บตอนปิดร้าน ทำให้บ่อยครั้งเราก็มักจะเห็นเก้าอี้ที่อยู่ในสภาพเก็บซ้อนตัวเรียบร้อยบนรถเข็น นับว่าความสามารถของเก้าอี้พลาสติกในข้อนี้มาแรงแซงทุกโค้ง

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

ข้อ 4 ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ นอกจากจะเอาไว้นั่งแล้ว เก้าอี้พลาสติกยังสามารถเป็นอะไรที่มากกว่า ซึ่งก็มักเกิดจากความคิดสร้างสรรค์สไตล์บ้านเรา จนเกิดการดัดแปลงกลายเป็นฟังชันก์แปลกๆ หลายรูปแบบ เช่น การวางเก้าอี้พลิกกลับด้านแล้วเอาถุงดำมาครอบ เราก็จะได้ถังขยะ หรือการใช้เป็นแท่นวางของ หรือเป็นตัวปรับระดับความสูงของพัดลม หรือว่าการยกเก้าอี้มาวางริมถนนแทนกรวยจราจร หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่ง ผมเคยเห็นเก้าอี้พลาสติกที่ถูกตัดส่วนล่างให้มีความโค้งเว้า เพื่อให้สามารถวางสวมลงบนหัวจ่ายน้ำดับเพลิงสีแดงข้างถนนอย่างพอดีๆ เนื่องด้วยว่าหัวจ่ายไปขวางพื้นที่นั่งกินข้าว จึงแก้ปัญหาด้วยการตัดเอาเก้าอี้ลงไปสวมซะเลย

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

ข้อที่ 5 ‘ราคาเป็นมิตร ใกล้ชิดยิ่งกว่าคนในครอบครัว’ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันราคาของเก้าอี้พลาสติกไม่ได้ถูกเหมือนในอดีต แต่แน่นอนว่ามันก็ยังมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเก้าอี้ที่ทำจากวัสดุอื่นๆ ถ้าหากเปิดกิจการหรือทำกิจกรรมที่จำต้องมีเก้าอี้เป็นส่วนหนึ่งในนั้นและเรามีงบที่จำกัด เก้าอี้พลาสติกจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการพิจารณาเลือกใช้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมลองพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 5 ข้อของเก้าอี้พลาสติกอีกครั้งหนึ่งแล้ว ผมก็พบว่าสิ่งที่เก้าอี้พลาสติกสามารถเข้ามานั่งในหัวใจของคนไทยได้ก็คือ ‘ลักษณะที่เข้าใจง่ายและดูมีความอะลุ่มอล่วย’ นั่นเอง เพราะด้วยความหน้าตาง่ายๆ ของมันที่ส่งผลให้เราไม่รู้สึกเคอะเขินในการใช้งาน รวมถึงความเหมาะสมในการนำมาใช้ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งความเบา หรืออะไรต่างๆ อย่างที่ผมกล่าวไว้ ก็ยิ่งทำให้มันดูเข้ากันกับบริบทไทยๆ ได้ลงตัวอย่างบอกไม่ถูก ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เก้าอี้พลาสติกนั้นกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกนิยมใช้บ่อยๆ และกลายเป็นภาพจำของการใช้พื้นที่แบบไทยๆ นั่นเอง

ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมเก้าอี้พลาสติกนั้นไม่ได้ปรากฏแค่เพียงในไทยเราเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ รวมถึงประเทศเกาหลีเองก็ยังมีเก้าอี้พลาสติกให้เห็นบ้าง จึงเป็นไปได้ไหมว่า เก้าอี้พลาสติกนี้สามารถเป็นตัวเชื่อมโยงปรากฏการณ์ของเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยที่ใช้ร่วมกันได้ และยังเป็นสิ่งที่น่านำมาศึกษาต่อจนอาจสามารถนำมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ใดๆ ของเรากันเองได้ ในขณะที่วัฒนธรรมนั่งพื้นปูเสื่อก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่ากลับไปพูดถึงเช่นเดียวกัน เพราะว่านอกจากการรักษา Seat 5 ให้ได้แล้ว เราก็ควรพัฒนา Seat ไปด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการปล่อยตัวนั่งสัมผัสไปกับเก้าอี้ผิวพลาสติกที่มีสีแสบสัน ณ ทุกโอกาสนะครับ

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค เก้าอี้พลาสติก เฟอร์นิเจอร์หลากฟังก์ชันที่เป็นได้มากกว่าที่นั่ง และไม่เคยตกยุค

บรรณานุกรม

  1. หนังสือ Very Thai : Philip Cornwel-Smith
  2. sarakadee.com
  3. baanlaesuan.com
  4. superwarefurniture.com

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น