“โอย….”

เป็นเสียงของกิจวัตรประจำวันยามเช้าของเราชาวเมือง โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์ออฟฟิศทั้งหลาย แน่นอนครับว่านี่ก็คือเสียงจากการบิดเนื้อบิดตัวให้หายเมื่อย ลุกขึ้นมาจากเตียงมายืดเส้นยืดสายสักหน่อย

“เอี๊ยด….”

ส่วนเสียงนี้ก็เป็นเสียงของกิจวัตรประจำวันยามเช้าของเราชาวเมืองเช่นกัน โดยเหล่ามนุษย์ออฟฟิศทั้งหลาย และก็ยังเป็นเสียงของการยืดเส้นยืดสายเหมือนกันด้วย (หา?) ใช่ครับ มันไม่ใช่เสียงจากเนื้อตัว เพียงแต่จะเป็นการยืดเส้นข้อพับและยืดสายของประตูเหล็กยืดซึ่งกำลังถูกเปิดที่หน้าบ้านตึกแถว ในตอนเช้าที่ผู้คนต้องรีบเร่งออกไปทำงานนั่นเอง

เสียงเอี๊ยดจากประตูเหล็กยืดนี้ค่อนข้างที่จะชินหูเกินไป จนทำให้เราได้ยินสำเนียงภาษาของเจ้าประตูเหล็กยืดในทางสถาปัตยกรรมไม่ค่อยชัดเจนนัก (ปูเข้าเรื่องได้สวยงาม) สำหรับคนทั่วๆ ไปแล้ว เสียงประตูเหล็กยืดนี้คงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตมาก เพราะมันเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของบ้านที่ค่อนข้างไม่มีใครสนใจและถูกทิ้งไว้แบบเงียบๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ไอ้เจ้าประตูเหล็กยืดค่อนข้างเป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญในด้านการใช้งานจริงๆ และมีความจำเป็นต่อบ้านตึกแถวมากๆ จนมักกลายเป็นภาพจำของบ้านคนไทยในปัจจุบัน

ในขณะที่หน้าที่ของผมก็คือชวนคุยและตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมรอบตัวแบบง่ายๆ อารมณ์ดีดังชื่อคอลัมน์นี้ แน่นอนว่าเสียงของไอ้เจ้าประตูเหล็กยืดก็เป็นหนึ่งในภาษาของสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่ผมต้องค้นหา

ณ ตอนนี้ สำหรับใครนั่งอ่านคอลัมน์นี้บนหน้าจอใดๆ แล้วเริ่มมีอาการเมื่อย ลองลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายกันสักหน่อย และเตรียมพร้อมไปค้นหาภาษาของเส้นสายที่ยืดได้ของประตูเหล็กยืดหน้าบ้านนี้กันครับ

ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด

 

Door to the City

ถ้าจะอธิบายหน้าตาของประตูเหล็กยืดแล้ว ประตูเหล็กยืดคือประตูเหล็กที่เกิดจากการประกอบของเส้นเหล็กยาวจำนวนหลายๆ ชิ้น วางถี่ๆ ต่อกันด้วยกลไกข้อต่อที่ยืดหดได้ หน้าตาคล้ายขาของกรรไกรไขว้ไปมา โดยที่ชิ้นส่วนทั้งหมดนั้นประกอบขึ้นเป็นแผงคล้ายกรงเหล็กที่ยืดเปิด-ปิดได้ ประตูเลื่อนได้เนื่องด้วยล้อยึดที่ปลายของเส้นเหล็กที่วางหิ้วบนรางเหล็กวงกบบริเวณขอบบนประตู และเรามักจะเห็นการทำประตูเหล็กบังตาที่คล้ายๆ บานพับซ้อนด้านหลังของประตูเหล็กยืดอีกที

ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด

เป็นที่แน่นอนว่าเจ้าประตูเหล็กยืดส่วนมากมักปรากฏตัวบริเวณหน้าบ้านตึกแถว มีให้เห็นตั้งแต่สภาพเก่ามากยันใหม่มาก และเนื่องด้วยข้อมูลบันทึกที่มาที่ไปของประตูเหล็กยืดในไทยค่อนข้างน้อยมากจนทำให้เราไม่รู้ว่ามันเริ่มใช้ในไทยเมื่อใด แต่ก็เชื่อได้ว่าประตูเหล็กยืดเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากยุคปฏิวัตอุตสาหกรรม เพราะว่าประตูเหล็กยืดมีลักษณะการใช้งานรูปแบบถอดประกอบ ตั้งแต่ขั้นตอนผลิตจนวิธีนำมาติดตั้ง

และด้วยตัวผู้เขียนเองก็เติบโตในบ้านตึกแถวที่มีประตูเหล็กยืดแบบนี้มาถึง 27 ปี จึงได้ลองสอบถามทางบิดาตัวเองดูว่า ก่อนหน้าที่แกจะมีบ้านตึกแถวหลังนี้ ในยุคของแกนั้นประตูเหล็กยืดมันเริ่มใช้กันหรือยัง ซึ่งหลังจากการสอบถามแบบกองโจรระหว่างอาหารมื้อเช้า ก็พบว่าประตูยืดนั้นมีมาตั้งแต่ตอนเด็กที่แกมากรุงเทพฯ อยู่แล้ว ซึ่งก็น่าจะเมื่อเกือบๆ 60 ปีก่อน โดยที่ตัวผมเองยังนั่งคิดต่อแล้วคิดต่ออีกว่า จริงๆ มันก็น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่านั้น

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ผมได้ลายแทงตำแหน่งประตูเหล็กยืดเก่าแก่บานหนึ่งริมถนนอาคารตึกแถวราชดำเนิน ซึ่งเป็นประตูเหล็กยืดที่มีแพตเทิร์นหน้าตาประหลาดกว่าประตูทั่วไปเล็กน้อย แต่ก็แลดูมีความคราฟต์มากกว่าบานทั่วไปเช่นกัน ผมพบว่ามันมีอายุค่อนข้างพอๆ กับอายุของอาคารตึกแถวราชดำเนินหลังนี้ ที่สร้างเสร็จมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2483 ซึ่งก็คือเกือบ 80 ปีที่แล้ว สอดคล้องกับที่ผมประมาณจากสิ่งที่พ่อผมเล่าไปอีก 20 ปี ซึ่งเมื่อผมบวกลบด้วยการประมาณการของผมอีกทีแล้ว เป็นไปได้ว่าประตูเหล็กยืดน่าจะถูกนำมาใช้ในไทยตั้งแต่เมื่อ 80 – 90 ปี

ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด

อีกประเด็นของประตูเหล็กยืดที่น่าสนใจก็คือ การปรากฏตัวขึ้นของประตูเหล็กยืดนั้นใช้เพื่อปิดซ้ำบนบานประตูเฟี้ยมไม้ของบ้านตึกแถวพาณิชย์ในยุคแรกเริ่มอีกชั้นหนึ่ง อาจเพราะว่าบานประตูเหล็กยืดค่อนข้างมีการใช้งานที่สอดคล้องกับการใช้ประตูไม้แบบเดิมได้ดี การยืดของประตูให้สุดนั้นจะทำให้หน้าบ้านมีพื้นที่เปิดโล่ง เหมาะสมเป็นพื้นที่หน้าร้านสำหรับทำมาค้าขาย สิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกเป็นนัยได้ว่าเจ้าประตูเหล็กยืดนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่ออาคารตึกแถวในระยะหลังที่ประตูไม้ไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในเมืองได้ และนี่ก็อาจเป็นเหตุที่ทำให้เจ้าประตูเหล็กยืดบุกเข้ายึดบ้านตึกแถวด้วยเส้นสายเหล็กไปทั้งเมืองไทยนั่นเอง

ประตูเหล็กยืด

 

Element Through the City

ตึกแถวมันเหมือนฟองน้ำ มันสามารถซึมซับอะไรเข้าไปก็ได้ มันเลยเป็นประเภทของอาคารที่ปรับปรุงได้ง่าย การจะเอาเหล็กยืดเข้ามาใส่มันก็ดูไม่ได้เขินอะไร

“แต่พอเป็นบ้านใหญ่ๆ การใส่เหล็กยืดมันก็อาจจะดูเคอะเขิน มันก็ส่งผลให้ประตูเหล็กยืดดูเหมาะกับตึกแถว เพราะถ้าเอามันมาอยู่กับบ้านเดี่ยว มันก็ต้องดีไซน์อีกแบบหนึ่งถึงจะดูเข้ากันได้ เพราะภาษามันก็เปลี่ยน ถ้าเราลองเอาเหล็กยืดไปติดกับบ้านไทยเดิมก็ไม่รู้ว่ามันเข้ากันไหม”

นี่คือเสียงความเห็นเกี่ยวกับประตูเหล็กยืดในเมืองไทยโดย พี่น็อต-สิทธนา พงษ์กิจการุณ จากบริษัท A Millimetre บริษัทสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีผลงานด้านการออกแบบตึกแถวที่น่าสนใจในขณะนี้

เหตุที่บทความนี้มีเสียงพี่น็อต นั่นก็เพราะเมื่อปี 2557 ทีมพี่น็อตออกแบบโฮสเทลที่มีชื่อว่า Bed Station Hostel ซึ่งเป็นโฮสเทลที่ใช้ลูกเล่นของประตูเหล็กยืดมาออกแบบ โดยที่ทีมพี่น็อตได้นิยามประตูเหล็กยืดแบบใหม่ด้วยการนำมันมาจัดวางแบบไม่ซ้ำใคร จนเกิดเป็นแผงประตูเหล็กยืดที่สลับจังหวะบนผิวหน้าอาคารได้อย่างน่าสนใจ จนผมต้องมาขอความรู้เกี่ยวกับประตูเหล็กยืดจากทีมสถาปนิกทีมนี้

ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด

“มันเป็นเหมือน City Element ของการใช้ชีวิตสไตล์เมืองๆ มันทำให้เรารู้สึก Industrial เพราะวัสดุเองเป็นผลพวงจากระบบอุตสาหกรรม จริงๆ ประตูเหล็กยืดมันก็ไม่ได้มีแค่ในไทย ที่อื่นก็มีเช่นกัน ญี่ปุ่นก็มี ยุโรปก็มี ที่ไหนก็มีใช้ ซึ่งหน้าตามันก็ใกล้เคียงกันมาก เพราะว่ามันคือการใช้งานในระบบเดียวกัน

“ประตูเหล็กยืดเป็นเทรนด์ที่เข้ามาจากข้างนอก ซึ่งพอเอาเหล็กยืดมาแปะกับบ้านตึกแถวปุ๊บ ปรากฏว่ามันอยู่ได้ นั่นเพราะว่าสิ่งที่เข้ามามันดันเข้ากับการใช้ชีวิตเดิมได้พอดี ประตูเหล็กก็เลยอาจเป็น Urban Vernacular ของอาคารในเมืองได้เช่นกัน เพราะว่ามันคือ Element แบบหนึ่ง ซึ่งถ้าลองปรับตัวมาอยู่บ้านที่ไม่ใช่ตึกแถว ประตูเหล็กยืดเองก็ไม่ได้ถูกเรียกร้องให้นำออกมาใช้เช่นกัน”

แล้วนิยามของความเป็นพื้นถิ่นร่วมสมัย (Urban Vernacular) มันเกี่ยวข้องกับประตูเหล็กยืดนี้อย่างไร ผมโยนประเด็นไปอีกที เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ผมสนใจและพยายามนิยามองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้อยู่

“ความเป็นพื้นถิ่นมันก็คือการอยู่ตรงนั้น เขาใช้อะไรกัน เขาอยู่กันอย่างไร ถ้าเราจะไปเทียบว่า Vernacular ของกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดที่มีพื้นที่โปร่งเยอะ มันไม่เหมือนกัน” พี่น็อตตอบ และกล่าวต่อไปว่า

“ดังนั้น คำว่า Vernacular ที่ร่วมสมัยขึ้นและเป็นอยู่กับปัจจุบันในเมือง มันก็จะเป็นรูปแบบตึกแถว บ้านแถว นี่ก็เป็น Vernacular ในช่วงเวลาหนึ่ง การมีประตูเหล็กยืดก็เช่นกัน Vernacular มันเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา อย่างในกรุงเทพฯ เองถ้าวันหนึ่งการมีศาลาบ้านบนดาดฟ้ามันฮิต มันก็จะกลายเป็นเทรนด์ของมันเองเช่นเดียวกัน”

แล้วในขณะที่เทรนด์การออกแบบในอนาคตกำลังเปลี่ยนไป ประตูเหล็กยืดมีสิทธิ์ที่จะไปต่อได้ไหม

“เหมือนประตูเหล็กยืดมันก็ยังพอไปต่อได้นะ มันอยู่ที่คนลองใช้ อย่างพี่ก็ลองนำมาใช้ใหม่เป็นหน้าอาคาร เพราะว่าองค์ประกอบของเหล็กพวกนี้พอมันถูกย่อยออกมาเป็นชิ้นๆ เราก็สามารถทำให้ประตูเหล็กยืดเป็นผนังโค้งได้ เราจะเห็นว่าบางบ้านประตูมันโค้งปิดขอบข้าง นั่นเพราะมันถูกออกแบบให้เป็นหน่วยย่อยๆ มันคือพื้นฐานของการจัดองค์ประกอบเลย ซึ่งถ้าอีกหน่อยในอนาคตอาคารนี้มันโค้งขึ้น เราก็สามารถใช้ประตูเหล็กยืดในการออกแบบได้อีก มันอยู่ที่เราทดลองใช้มันไปทางไหน”

ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด

“โอย….”

นี่เป็นเสียงจากการบิดตัวยืดเส้นยืดสายของตัวผมเอง หลังจากนั่งพิมพ์เรื่องราวการหาความหมายและภาษาของประตูเหล็กยืดมาสักระยะใหญ่

ผมพบว่าสิ่งของใดๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันแล้ว เราก็จะมักลืมสร้างบทสนทนากับเขาไป เสียงของสิ่งรอบตัวก็อาจเงียบหายไปโดยเราไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับองค์ประกอบสถาปัตยกรรมของประตูเหล็กยืดเหล่านี้ที่ดูเหมือนกำลังหมดเสียงในการใช้งานลง แต่เมื่อผมลองทักทายและพูดคุยกับเขาดู ผมก็พบว่าบนช่วงอายุ 80 – 90 ปีของพวกเขานั้นยังสามารถไปต่อได้ในบริบทสังคมไทย

อีกทั้งผมคิดว่าเราสามารถยืดอายุการใช้งานพวกเขาได้อีกยาวนาน ถ้าเราลองตั้งคำถามและทดลองนำประตูนี้ไปใช้ในบริบทใหม่ๆ ได้ และนั่นอาจทำให้เกิดนิยามของประตูเหล็กยืดใหม่ๆ ในเมืองไทย 4.0 ก็เป็นได้ครับผม

เพียงแค่เราสร้างบทสนทนาใหม่ๆ กับเขา เราอาจจะได้ยินเสียงประตูเหล็กยืดที่มีมากกว่าแค่เสียง

“เอี๊ยด….”

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการยืดเส้นสายประตูเหล็กยืด และออกจากบ้านไปเจอเรื่องที่มีความสุขในชีวิตนะครับ

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด ประตูเหล็กยืด

ขอขอบคุณ

พี่น็อต-สิทธนา พงษ์กิจการุณ จากบริษัท A Millimetre

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_3260
  2. https://dsignsomething.com/2015/12/28/รอยต่อสถาปัตยกรรมบนถนน/

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น