ขอกราบสวัสดีทุกๆ ท่านที่เผอิญพลาดกดลิงก์เข้ามาในบทความนี้

ณ ช่วงเวลาต่อจากย่อหน้านี้ไป (ซาวนด์คาเฟ่สามช่า)

ผมอยากขออนุญาตทุกท่านให้ความร่วมมือในการค่อยๆ อ่าน และจินตนาการตามไปกับสิ่งที่ผมเล่าด้วยความตั้งใจและสัตย์จริง

เอาล่ะ…เริ่มครับ!

ในความมืดและเงียบงัน คุณค่อยๆ ปรือตาเปิดขึ้นและพบว่าตัวเองล้มตัวอยู่บนพื้นโถงทางเดินในสถานที่คล้ายหอพักร้างแห่งหนึ่ง ไม่นานนักคุณก็เอามือทาบลงไปบนพื้นกระเบื้องที่แตกร้าวและเขรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นเพื่อพยุงตัวยืนขึ้นท่ามกลางความมืดสลัว คุณสังเกตเห็นแสงจากหลอดไฟนีออนสีขาวที่ห้อยแกว่งลงมาจากเพดานเน่าๆ ที่ปลายทาง และสิ่งที่ปรากฏขวางกั้นเส้นทางตรงหน้าของคุณในตอนนั้นคือ แผงกรงเหล็กดัดขึ้นสนิมแพตเทิร์นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสลับฟันปลาที่มีบานประตู และดูน่าสะพรึงด้วยเส้นเงาเล็กๆ ที่พาดกระจายลงบนทางเดิน อันเกิดจากแสงไฟที่สาดลอดผ่านซี่กรง ด้วยความไม่มั่นใจว่าต้องทำอย่างไรต่อ คุณจึงค่อยๆ เดินไปยังแผงเหล็กข้างหน้าเพื่อหาทางออก

ขณะที่คุณกำลังเอื้อมมือไปจับลูกบิดที่ประตู ทันใดนั้นเองก็มีเสียงกรีดร้องดังขึ้นจากด้านหลังของคุณ ก้องกังวานสะท้อนไปทั้งโถงทางเดิน และเมื่อคุณกวาดสายตาหันไปหา สิ่งที่คุณเห็นก็คือหญิงสาวในชุดนักศึกษาสีขาวที่เปียกโชกไปด้วยคราบเลือดที่เฟดสีคล้ายกลีบกุหลาบ มือของเธอกำลังกำมีดคัตเตอร์อยู่ คุณตกใจและรีบผลักประตูออกทันที วิ่งผ่านบานเหล็กนั้นแล้วหันไปปิดประตูเข้าที่เดิม

ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมากในความรู้สึกของคุณ แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่หญิงสาวคนนั้นจะได้เข้ามาประชิดตัวคุณ แม้ว่าตัวของเธอจะอยู่อีกฝั่งของแผงเหล็ก แต่คุณก็ขยับตัวไปไหนไม่ได้เพราะมืออันซีดเซียวของเธอลอดผ่านซี่กรงและล็อกคอคุณไว้เสียแล้ว และแล้วเสียงกรีดร้องก็ดังขึ้นอีกครั้ง พร้อมๆ กับเสียงซวบเบาๆ ที่คออย่างเย็นเฉียบ…(ตัดภาพจบ)

เหล็กดัด

โอเคครับ ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าจริงๆ แล้วคอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ที่พูดถึงสถาปัตย์ไทยๆ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องผีแต่อย่างใด (ยิ้มแบบร้ายๆ) แต่บรรยากาศที่ผมเล่าให้ได้เห็นภาพนั้นเป็นหนึ่งในฉากเปิดตัวในเกม ‘Home Sweet Home’ เกมผีไทยที่เป็นกระแสนิยมเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งบรรยากาศทางเดินที่มาพร้อมกับแผงกรงเหล็กดัดนี้ คืออิมเมจแรกของเกมที่ผู้เล่นทุกคนจะได้สัมผัสความน่ากลัวแบบไทยๆ บนหน้าจอเตรียมกดปุ่ม Start

คำถามคือ ทำไมเกมเมอร์คนไทยอย่างเราถึงกับต้องกลัว รู้สึกอิมแพค และมีส่วนร่วมในความเป็นไทยๆ ได้ในทันทีที่ได้เห็นภาพแผงเหล็กนี้ จนผู้พัฒนาเกมต้องเลือกซีนกรงเหล็กเป็นภาพเปิดเกม

คำตอบก็คือ แผงเหล็กดัดนี้แหละคือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ในชีวิตประจำวันที่เราคุ้นชินโดย ไม่รู้ตัว ดังนั้น เวลาเห็นแผงเหล็กพวกนี้ทีไร ก็รู้เลยว่านี่คือบรรยากาศบ้านเรา เรื่องนี้จึงกลายเรื่องที่ผมลองหยิบเอามาชวนคุยกันใน อาคิเต็ก-เจอ ตอนนี้ครับผม (ปูทางมายาวมาก)

ถ้าเงาของวิญญาณจะตามตัวใครสักคน ก็มักจะเกิดจากเรื่องความอาฆาต กลับกันในชีวิตของใครหลายคนนั้นกลับมีเงาเหล็กดัดติดตามตัวตั้งแต่ลืมตา ไม่ว่าเราจะเดินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวที่ปากซอย หรือออกไปเดินเล่นช้อปปิ้งในเมือง ณ สถานที่ใดๆ ก็ตาม เรามักจะพบเห็นกรงเหล็กดัดปรากฏตัวอยู่ตามอาคารและบานหน้าต่างประตู ถ้าหากสังเกตดีๆ แม้กระทั่งตัวผมเอง เพียงแค่ตื่นขึ้นมาแล้วมองออกไปที่หน้าต่างบ้านตัวเอง ผมก็จะพบกับเหล็กพวกนี้ก่อนจะได้เห็นหน้าพ่อแม่ ซึ่งเป็นอะไรที่ตามติดชีวิตยิ่งกว่าวิญญาณอาฆาตเสียอีก

ผมมักได้ยินมาจากเหล่าสถาปนิกรุ่นพี่บ่อยครั้งว่า ครั้งใดที่รีโนเวตบ้านหรือตึกแถวที่ใดที่หนึ่ง Gift Voucher ที่จะเป็นของแถมจากการรื้อบ้านก็คือแผงเหล็กดัดกองหนึ่งที่ไม่รู้จะทำอะไรกับมันดี จนต้องโยนมันทิ้งไปอย่างงงงวย โดยที่ต่อมาก็ซื้อแผงเหล็กดัดมาติดใหม่อีกทีหลังรีโนเวตเสร็จ เป็นที่น่าสนใจว่าองค์ประกอบเหล่านี้เป็นอะไรที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับมันเลยว่ามันมาจากไหน มีขึ้นจากอะไร และทำไมมันจำเป็นต้องมีขนาดนี้

เหล็กดัด

จนไม่นานมานี้ ผมไปที่ห้องสมุดแห่งหนึ่งแถวเจริญกรุงเพื่อแง้มหนังสือที่มีชื่อว่า Very Thai : Everyday Popular Culture ที่เขียนโดย Philip Cornwel-Smith เพราะจำได้ว่าลุงฟิลิฟคยเขียนบันทึกถึงเรื่องเหล็กดัดแบบไทยๆ พวกนี้ไว้แล้ว ก่อนหน้าที่ผมจะสงสัยและค้นหาคำตอบ

ว่ากันว่าการเกิดขึ้นของเหล็กดัดที่ห่อหุ้มทั้งประตูและหน้าต่างในโลกสากลเป็นผลพวงมาจากอิทธิพลของอินดัสเทรียลดีไซน์ในช่วง ค.ศ. 1950 ที่ดีไซเนอร์ของเบาเฮาส์ (Bauhaus) ได้พยายามนำงานเหล็กเส้นในระบบอุตสาหกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบ ผนวกกับเทรนด์การเรียงแพตเทิร์นของกระเบื้องโมเสกและซีเมนต์บล็อก รวมถึงการเรียงแผ่นไม้ ณ ช่วงเวลานั้นจึงเป็นจุดกำเนิดของเหล็กดัดที่มีรูปทรงและฟอร์มต่างๆ ที่กลายเป็นเทรนด์ในการออกแบบเรื่อยมา

โดยเทคนิคการใช้เหล็กดัดพวกนี้ในการดีไซน์ก็คือ การยัดเหล็กดัดพวกนี้ลงไปในช่องว่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ช่องหน้าต่าง ช่องระเบียง ช่องทางเดิน ช่องประตูทางเข้า หรือแม้กระทั่งช่องระบายน้ำ ดังนั้น ถ้าหากเราอยู่ในยุค 1950 และเห็นตรงไหนเป็นช่องว่างๆ แล้วไม่รู้จะทำอะไร การนำเหล็กดัดลงไปอัดช่องตรงนั้นคือคำตอบคูลๆ ของดีไซเนอร์ยุคนั้น

และไม่น่าเชื่ออีกว่าเหล็กดัดลวดลายต่างๆ พวกนี้ก็ยังใช้กันสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ฟอร์มการดัดนั้นไม่ได้จำเป็นต้องม้วนโค้งเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดจากการพับ หัก เชื่อม ต่อ ให้เกิดแพตเทิร์นที่หลากหลายตามเทรนด์ของยุคสมัย ทำให้ถ้าหากเรามีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องยุคของลวดลายงานศิลปะ เราก็จะพอสามารถพิจารณาได้ว่าแผงเหล็กที่เราเห็นนั้นถูกผลิตในยุคใด มีลักษณะสไตล์ใด มีอายุเก่าแค่ไหน และมีคุณค่าอย่างไร

ย้อนกลับมาที่บ้านไทยของเรา เขาก็ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นในการใช้งานเหล็กดัดนั้นเริ่มในพุทธสถานหรือวัดเป็นที่แรกๆ เนื่องด้วยสมัยก่อนสิ่งของสำคัญและวัตถุมีราคาต่างๆ มักถูกเก็บไว้ในโบสถ์และวิหาร อันกลายเป็นเป้าหมายที่ฮอตฮิตของเหล่าหัวขโมยในสมัยนั้น เหล็กดัดลูกกรงจึงถูกนำเข้ามาใช้อุดช่องว่างต่างๆ รวมทั้งประตู เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันโจรขโมย

เหล็กดัด

เหล็กดัด

แต่เมื่อเหล็กดัดเหล่านี้ถูกนำเข้ามาใช้ในสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ลวดลายของเหล็กดัดจึงจำต้องมีการดัดแปลงให้มีความเป็นไทยด้วย โดยการนำลวดลายงานศิลปะไทยในเชิงสองมิติมาใช้ เช่น ลายเทวดานางฟ้า ลายพญานาค ลายดอกบัว หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยข้อจำกัดของวัสดุเส้นบางๆ ของเหล็กดัด จึงทำให้ลวดลายไทยๆ เหล่านี้ถูกลดทอน มีความมินิมอล และมีความเป็นกราฟิกมากขึ้น คล้ายเส้นฟอร์มของหนังตะลุง ซึ่งกลายเป็นว่าลวดลายที่เกิดขึ้นจากเหล็กดัดเหล่านี้มีความร่วมสมัย โมเดิร์น และน่าสนใจมากๆ ในยุคปัจจุบัน

เหล็กดัด

เหล็กดัด

และจากวัดสู่ครัวเรือน พวกบ้านต่างๆ ก็เริ่มมีการนำเหล็กดัดเข้ามาใช้กัน เพื่อตอบสนองเรื่องความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย โดยเส้นและฟอร์มของลวดลายเหล็กดัดของบ้านเหล่านี้ไม่จำต้องมีความเป็นไทยมากเท่ากับในวัด จึงทำให้ลวดลายเหล็กดัดนั้นมีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ลายผืนผ้าสลับฟันปลา (ตามฉากเกมผี) ลายตารางตัดเฉียง หรือว่าลายหลุยส์ดอกเถาวัลย์ และอื่นๆ อีกมากมาย

กระทั่งเหล็กดัดจากบ้านเรือนกระจายสู่ทั่วมุมเมือง และค่านิยมฝังลึกอยู่ในวิถีชีวิตเหล่าคนไทย (รวมทั้งผมเอง) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่อาคารทั้งหมดทั้งมวลที่เราเห็นทั่วไป เหล็กดัดมักมีรูปแบบที่ดูไม่ค่อยกลมกลืนกับอาคารนัก ด้วยเหตุที่ว่าแบบดีไซน์ของอาคารส่วนมากไม่ได้ถูกคิดให้มีการติดเหล็กดัดในตอนแรก ทำให้ต้องนำมาเพิ่มเติมตอนหลัง และการมาทีหลังนี่เองที่ทำให้บางอาคารสถานที่ได้เพิ่มเติมฟังก์ชันเซอร์ๆ ด้วยเหล็กดัดไปในตัว เช่น เพิ่มเป็นแผงกั้นคอมเพรสเซอร์แอร์ เพิ่มขอบเขตของอาคารบริเวณดาดฟ้า หรือว่าที่ผมเคยเห็นแล้วชอบมากๆ ก็คือ ทำเป็นกล่องเหล็กดัดที่มีฟังก์ชันไว้แขวนตากเสื้อผ้ายื่นออกมาจากระเบียง โดยที่มีฝาด้านบนที่สามารถเปิด-ปิดได้ เพียงแต่ต้องยอมรับว่าเหล็กดัดที่เติมเข้าไปส่วนมากมักไม่เข้ากันกับอาคารสักเท่าไหร่ และบางครั้งเหล็กดัดก็ชอบแย่งซีนงานดีไซน์ของบ้านทั้งหลังไปเลย

มันมีประโยคสำคัญในหนังสือ Very Thai กล่าวว่า การให้คุณค่าของความปลอดภัย คือหัวใจในการก่อตัวของฟอร์มและกิมมิกของสเปซในเมืองนั้นๆ จึงเป็นเหตุว่าลักษณะของการเกิดขึ้นของเหล็กดัดลูกกรงติดตามอาคารที่เราเห็นจนชินตาในบ้านเรานั้น มันคือการสะท้อนวิธีการให้คุณค่าของความปลอดภัยของคนไทยนั่นเอง

และก็เป็นตลกร้ายทุกครั้งที่เวลาออกแบบบ้านแล้วมีคนทักว่าถ้าไม่ติดเหล็กดัดแล้วจะอยู่บ้านอย่างมีความสุขได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ข้อเสียของการมีแผงเหล็กดัดที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘เรื่องอัคคีภัย’ เพราะว่าภัยจากการอยู่อาศัยไม่ได้มีเพียงแค่จากภายนอก บางครั้งก็เกิดจากภายใน ดังนั้นเมื่อมีภัยอันตรายจากเพลิงไหม้ เหล็กดัดเหล่านี้ก็มักจะเป็นอุปสรรคในการหาทางออกจากอาคาร เช่นเดียวกับการหาทางเข้า ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราต้องคำนึงถึง (ขีดเส้นใต้ไว้เลยนะ)

แม้ว่าหัวใจหลักของการมีเหล็กดัดจะมาจากความกลัวในเรื่องความปลอดภัยที่น่ากลัวไม่แพ้เรื่องของผีสาง แต่บนความกลัวนั้น ถ้าเราลองตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าความปลอดภัยที่มีความสมดุลกับบริบทบ้านเราอยู่ตรงไหน และเริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในดีไซน์ของเหล็กดัดตั้งแต่แรกเมื่อออกแบบอาคาร นั่นก็อาจทำให้พวกเขามีหน้าตาที่เป็นมิตรมากขึ้น มีความคลี่คลายมากขึ้น จนกลายเป็นคำตอบของคำถามนั้นได้

เหล็กดัด

เหล็กดัด

และเมื่อผมนึกถึงตัวอย่างการออกแบบเหล็กดัดที่ผสานไปกับสถาปัตยกรรมที่ดี ก็ทำให้ผมย้อนไปนึกถึงตอนที่ใจกล้าขอที่บ้านไปฝึกงานออฟฟิศสถาปนิกที่ประเทศอินเดียคนเดียวเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งแน่นอนว่าสภาพแวดล้อมในอินเดียนั้นอันตรายไม่ต่างจากบ้านเรา และเหล็กดัดก็เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน

ตอนที่ผมได้เข้าไปเหยียบบ้านสถาปัตยกรรมคอนกรีตปูนเปลือยสไตล์อินเดียร่วมสมัย ที่ผสมผสานกลิ่นอายอิทธิพลของเลอกอร์บูซีเย สถาปนิกระดับโลก ของอาจารย์ที่ขอไปฝึกงานด้วยครั้งแรก จำได้ว่าขณะที่ผมนั่งรอน้ำชาในห้องรับแขก จู่ๆ ผมก็เอะใจแล้วหันไปมองที่หน้าต่างด้วยความประหลาดใจ เพราะพบว่าเหล็กดัดที่ติดกับหน้าต่างของบ้านแกมันมีความพิเศษอะไรบางอย่าง ทั้งเส้นฟอร์มและรูปทรงที่ดูมีเอกลักษณ์ ไม่นานนักอาจารย์อินเดียก็เดินมาพูดกับผมพร้อมถ้วยน้ำชาในมือว่า

เหล็กดัด

“รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วเหล็กดัดไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไปนะ เราสามารถทำให้ช่องว่างต่างๆ ในสถาปัตยกรรมมีคุณค่าและความหมายขึ้นได้”

และแล้วแกก็อธิบายลวดลายของเหล็กดัดนี้ว่าเกิดจากเส้นฟอร์มในการออกแบบของผังพื้นของบ้านหลังนี้ และนำมาพัฒนาให้ดูเป็นงานดีไซน์สำหรับช่องหน้าต่าง ที่มีความพิเศษและเฉพาะที่มากขึ้น

พร้อมกับย้ำกับผมอีกทีว่าทุกอย่างบนโลกไม่ได้แย่เสมอไป เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ดีไซน์สิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้นมาได้ และตัวอย่างผลงานเหล็กดัดที่ปรากฏอยู่บนหน้าต่างของอาจารย์ก็เป็นเครื่องพิสูจน์เล็กๆ ที่ช่วยยืนยันประโยคบทสนทนาที่มีน้ำเสียงที่นุ่มนวลของแกในอากาศ และอบอวลผสมไปกับไอความร้อนจากถ้วยชา ณ ห้วงเวลานั้น

และนั่นทำให้ผมเชื่อว่า ปัญหาทุกเรื่องบนโลกนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการออกแบบนั่นเอง

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

เหล็กดัด

เหล็กดัด

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น