“สีเป็นการแสดงออกรสนิยมทางวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่ง”

เป็นประโยคหนักแน่นแรกที่ได้ยินจากการตะโกนคุยกับ อาจารย์เต้ย หรือ อริยะ ทรงประไพ สถาปนิกผู้ควบคุมดูแลการซ่อมบูรณะฯ งานอาคารในพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และเพิ่งจัดการทาสีใหม่ลงบนผิวอาคารในพระราชนิเวศน์ไปไม่นาน ณ คืนสุดสัปดาห์หนึ่ง

เหตุและผลที่ทำให้ผมนัดแกมานั่งเจ็บคอใส่กันในค่ำนั้น เพราะผมเพิ่งค้นพบว่า ตึกแถวหน้าปากซอยบ้านเกิดปรากฏการณ์ไม่ธรรมชาติขึ้น นั่นก็คือการทาสีอาคารที่แสบสัน โดยไล่สีเป็นชั้นๆ ไป 3 ชั้น ชั้นแรกสีส้ม ชั้นสองสีเขียว ชั้นสามสีเหลือง โดยทั้งหมดทั้งมวลของ 3 สีที่ไม่เข้ากันนั้นยังมีลูกเล่นในการเบรกสีด้วยการทาสีขาวคาดตามแนวเส้นคาน

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

จากปรากฏการณ์นี้ นอกจากจะทำให้ผมระบุพิกัดการบอกทางกลับบ้านให้พี่แท็กซี่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น มันยังทำให้ผมมีดวงตาเห็นสี และเริ่มตั้งคำถามถึงสีสันที่ดูฉูดฉาดแต่สนุกสนานของสถาปัตยกรรมในบ้านเรา ทั้งในเมืองและตามชนบทต่างๆ คล้ายเป็นนครสีสันจากการทาสีที่หลากหลาย ส่งผลให้ผมต้องการหาคนมาแบ่งปันความรู้เรื่องสีกับสถาปัตยกรรมมากๆ และอาจารย์เต้ยคือคนที่น่าจะช่วยตอบคำถามผมได้

อีกเหตุผลสำคัญหนึ่งซึ่งดูห่างไกลจากเหตุผลแรกก็เพราะผมเพิ่งได้ยินข่าวว่า อาจารย์เต้ยและทีมงานหลายภาคส่วน ทั้งกรมศิลปากร มูลนิธิพระราชนิเวศน์ฯ ตชด. และคณะกรรมการอนุรักษ์ ได้ค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมชิ้นใหม่ล่าสุดว่า สีเดิมของอาคารในพระราชนิเวศน์มฤคทายวันยุคแรกคือสีอะไร เพราะการบูรณะหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา มีการทาสีต่างๆ ลงไปหลายรอบ เมื่อค้นพบสีดั้งเดิม จึงช่วยให้เราถอดบทเรียนเรื่องสีกับสถาปัตยกรรมในอดีตออกมาได้

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

ทามาก่อน

“สีทาอาคารน่าจะเข้ามาในไทยพร้อมๆ กับรูปแบบสถาปัตยกรรมจากตะวันตกประมาณช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งการเข้ามาของสีเป็นสิ่งที่ดีมาก ก่อนหน้านั้นเรามีแต่บ้านไม้ที่ไม่ทาสี อาคารไม้ทำสีเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะถ้าไม่ทำ ไม้ก็เกิดการเร่งปฏิกิริยาเสื่อมสภาพเร็ว สีจึงปกป้องอาคารไปในตัว” อาจารย์เต้ยเริ่มเล่า

“ตอนทำงานบูรณะเราจำต้องทำการศึกษาเรื่องสีในอดีต เราก็เลยไปศึกษาจากหนังสือ Index สีของโลก เขาเล่า Timeline การเกิดขึ้นของสีตามช่วงเวลา มันมีเรื่องส่วนผสมต่างๆ ที่ส่งผลต่อสีด้วย ผมไม่รู้ว่าสมัยก่อน เรานำสีมาจากต่างประเทศหรือทำกันเอง เพราะข้อมูลแบบนี้ในเมืองไทยไม่มี”

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

ในขณะที่เรื่องสีอาคารแต่เดิมไม่มีใครบันทึก ปัจจุบันสีก็ยังถูกจุ่มด้วยแปรงและทาลงบนอาคารในเมืองเรื่อยมา

“การค้นหาและเลือกสีที่ถูกต้องเป็นเรื่องของกระบวนการ เพราะสีมีรายละเอียดของมัน การลงสีคืองานคราฟต์ สีแต่ละแบบมีคุณสมบัติในการดูแลวัสดุแตกต่างกันไป คุณสมบัติในการปกป้องก็เกิดขึ้นในสีเฉพาะสีด้วย เช่นการเอาสีแดงที่ใช้ทาไม้มาทาเหล็กก็ไม่ได้นะ มันมีเคมีของสีบางชนิดที่คุณไม่อาจรู้ว่ามันเหมาะกับอะไรด้วยซ้ำ ดังนั้นเราต้องศึกษาให้ดีก่อน” อาจารย์เต้ยเริ่มเผยวิธีการค้นหาสีอย่างมีที่มาที่ไป

“ผมอยากทำ Index ของสีในสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 มากๆ ตอนนี้กำลังตามศึกษาอยู่ ยากตรงเราต้องไปค้นหากับอาคารจริงเท่านั้น เราใช้ระบบชาร์ตสีของ Munsell เป็นเครื่องมือที่เทียบสีได้อย่างดี ะบบนี้มีตั้งแต่สีของธรรมชาติยันสีของสิ่งประดิษฐ์”

เมื่อคุยกันไปเรื่อยๆ ผมก็พบว่า การใช้ระบบ Munsell Color ยังไม่เฉียบพอสำหรับการค้นหาสีในการบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

“เราทำงานร่วมกับองค์กรทางวิทยาศาสตร์และบริษัทิผู้ผลิตสี ร่วมกันวิเคราะห์หาเฉดสีและองค์ประกอบของสีจากการสำรวจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการ ทางบริษัทผู้ผลิตสีนำเครื่องมือชื่อ X-Rite เข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย

“พอใช้ X-Rite เราจะได้กราฟค่า CMYK ออกมา แต่เราก็ยังไม่สรุป เพราะเราต้องเอาชิ้นส่วนของอาคารไปเข้าแลปเพื่อสร้างเฉดสีจำลองมาเทียบอีกที แล้วก็เอาสีที่เราเทียบได้มาทาลงบนผิวไม้ก่อน แล้วก็เอาสีนั้นมาเทียบกับสีที่เราพบบนอาคารก่อนซ่อมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นเราก็ถ่ายภาพอาคารที่ทาสีแล้ว มาลองเปลี่ยนเป็นขาวดำเพื่อเทียบกับภาพถ่ายขาวดำในอดีตที่เรามีดูอีกรอบ ถึงจะสรุปได้” อาจารย์เต้ยอธิบาย

สีดั้งเดิมที่นำกลับไปใช้กับ ‘หอเสวยฝ่ายหน้า’ เป็นสีที่ได้จากการสำรวจและศึกษาโดยได้รับอนุมัติจากกรมศิลปากรแล้ว คือ

สีเทาเขียว ทาเสาไม้ และกรอบลูกฟัก

สีเขียวไข่กา ทาลูกฟัก ผนัง และช่องลม

สีขาวผ่อง (สีขาวอมเขียว) ทาส่วนใต้หลังคากันสาดไม้ และท้องพื้นไม้ของพื้นชั้น 2 (ฝ้าเพดานของชั้น1)

สีเหลืองมัสตาร์ด ทาเสาคอนกรีต

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

 

ทาทา ไม่ยั้ง

ถ้าสีเป็นตัวในการแสดงออกรสนิยมทางวัฒนธรรม แล้วเจ้าของบ้านสีส้มเขียวเหลืองที่ปากซอยบ้านผม เขาคิดอะไรยังไงแน่

ในความทรงจำของผม ภาพรวมของรสนิยมทางด้านสีสันของบ้านเราค่อนข้างชัดเจนเมื่อเราเคลื่อนตัวออกจากเมือง ไปตามถนนสายเล็กๆ ในชนบท ผมมักจะแสบตาเพราะสีบ้านที่พุ่งเข้ามาเตะ ราวระเบียงสีเขียวตัดกับตัวบ้านสีชมพู ไม่เข้ากันกับราวบันไดสีฟ้า หรือตัวบ้านสีเขียวและเสาสีเหลืองตัดกับคานสีชมพู ทุกหลังที่ผมจำได้นั้นดูเซอร์เรียลเหนือจริงจากสภาพรอบๆ ซึ่งส่วนผสมของชุดสีเหล่านี้ไม่เคยปรากฏอยู่ในตำราเรียนใดๆ

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

ไทยเรามีชื่อเรียกสีเยอะมาก เช่น สีขาว มีสีขาวผ่อง หรือขาวอมเขียว สีขาวควายเผือก หรือขาวเทา สีเหลืองก็มี เหลืองเพียงทอง เหลืองอำพัน ส่วนใหญ่สีพวกนี้ถูกบันทึกไว้ในชุดของกลุ่ม Thaitone” อาจารย์เต้ยอธิบาย

แต่สีที่เราใช้กันอยู่ส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกสีจากช่าง เลยออกมามันโดดๆ อย่างที่เห็น

ผมตั้งคำถามกลับ พร้อมคิดในใจว่า บทสนทนาที่ว่า ‘ช่วงเสาหน้าบ้านพี่ขอใช้สีม่วง Pantone 2018 นะครับ อย่าลืมไล่ Hue ให้ด้วย’ ไม่น่าจะเกิดขึ้นระหว่างเจ้าของบ้านกับช่างสีได้แน่ๆ

คิดว่าใช่” อาจารย์เต้ยพยักหน้า “การเปลี่ยนสีเดิมในเฉดเดียวกัน มีความเปลี่ยนที่มากมาย” อาจารย์เต้ยเห็นด้วย

“สีที่คนไทยชอบน่าจะเกิดจากที่เราเป็นประเทศภูมิภาคเขตร้อน เรามีแดดที่สาดลงบนอาคารและมีอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดความสดของสี วิธีการมองสีแบบคนไทยค่อนข้างจะแสบสัน ไม่เหมือนตะวันตกที่สีจะถูกลดเฉดลงมา เพราะมีเรื่องของวิธีการมองสีผ่านหมอก หรือสภาพอากาศที่หนาวเย็น” ผมตอบด้วยความน่าจะเป็นที่คิดออก

“ผมว่ามีส่วน เหมือนงานศิลปะของ โกลด มอแน (Claude Monet) ที่ดรอปโทนลง เรื่องนี้สนุกมากเลย” อาจารย์เต้ยเห็นด้วยกับผมอีกครั้ง

ในขณะที่อิทธิพลจากแสงแดดยังทำให้ผมเข้าใจวิธีการเลือกสีได้อีกว่า แสงแดดเป็นเหตุที่ทำให้สีบ้านซีดได้ง่าย ดังนั้น การเลือกทาสีให้สดที่สุดก็น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยต่อเวลาในการต้องเตรียมทาสีในครั้งต่อไป

การแสดงออกทางสีของชาวบ้านจากปัจจัยเหล่านี้เป็นพฤติกรรมส่งต่อ จนทำให้เราได้เห็นบ้านเมืองที่เลือกทาสีแสบๆ แบบไม่ยั้งมือนั่นเอง ดังนั้น เราอาจจะไม่ต้องแปลกใจถ้าเผอิญเดินไปร้านของชำสีชมพูสด แล้วเจอเจ้าของร้านเป็นลุงเข้มๆ ไว้หนวดเคราเดินออกมาหยิบของให้

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

“สุดท้าย ผมเชื่อว่าตัวสถาปัตยกรรมเองก็เป็นสิ่งที่สะท้อนรสนิยมเช่นกัน แต่เป็นรสนิยมมีระยะเวลาที่แสดงออกค่อนข้างนานกว่าสี ในขณะที่สีซึ่งทาอยู่บนตัวอาคารเองกลับมีอายุน้อยกว่า รสนิยมนั้นจึงปรับเปลี่ยนตลอดเวลาและเร็วกว่า สีจึงกลายเป็นตัวบ่งชี้รสนิยมในแต่ละยุคได้ชัดเจนกว่าตัวสถาปัตยกรรม เป็นเรื่องของรสนิยมที่ซ้อนบนรสนิยมอีกที” และแล้วผมก็พยายามขมวดปมเรื่องของสีทางสถาปัตยกรรม ขณะที่พยายามกระดกน้ำในแก้วให้หมด

“เห็นด้วย ถ้าเรามองสถาปัตยกรรมแบบดีคอนสตรัคชันแล้ว สีก็ทำหน้าที่เหล่านั้นแบบสถาปัตยกรรมได้ ดังนั้น สีแดงในยุคหนึ่งอาจจะเป็นสีส้มในยุคนี้ก็เป็นได้

อาจารย์เต้ยพูดตบท้ายบทสนทนา แม้ว่าเสียงดนตรีในร้านกำลังเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความดึกค่ำ แต่ก็ไม่ได้ทำลายสีสันในบทสนทนาเรื่องของสีในค่ำวันได้นั้นเลย

ขอให้ทุกท่านสนุกกับการสอดส่องอาคารสีสดรอบตัว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีสีสันนะครับ

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี สีทาบ้าน, สถาปัตยกรรม,อริยะ ทรงประไพ,ความรู้เรื่องสี

*ขอขอบคุณ อาจารย์ อริยะ ทรงประไพ
บรรณานุกรม
  1. www.xrite.com/color-measurement-products
  2. en.wikipedia.org/wiki/Munsell_color_system

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น