เป็นระยะเวลาปีกว่าๆ แล้วที่ผมทำคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่พยายามพาทุกท่าน ย้อนสำรวจความน่าสนใจในการใช้พื้นที่แบบไทยๆ ที่ซ่อนอยู่รอบตัว ไม่นานมานี้ผมเพิ่งค้นพบความเชื่อมโยงในบทความของผมเอง ที่เกิดเป็นแพตเทิร์นซ้ำบ่อยๆ ในการเลือกประเด็นในการเขียน ก็คือเรื่อง ‘งานดีไซน์ทำมือ’ ที่ผมมักเรียกว่าสถาปัตยกรรมทำมือนั่นเอง ซึ่งคืองานออกแบบที่คนทั่วไปคิดและทำกันเอง ตั้งแต่งานดีไซน์เรือแสนแสบ ยันที่นั่งพักรอผู้โดยสารของพี่วินมอเตอร์ไซค์

กล่าวคือสิ่งทำมือเหล่านี้ที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น ผมเองก็เพิ่งได้ศัพท์จากอาจารย์ที่เคารพรักท่านหนึ่ง ท่านให้คำของปรากฏการณ์ทำมือที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไว้ว่า ‘Urban Vernacular’ ซึ่งก็มีความหมายว่า ‘ความเป็นอยู่พื้นถิ่นที่เกิดขึ้นในเมือง’

แน่นอนว่าความพื้นถิ่นในภาพจำของหลายๆ คน ก็คืออะไรใดๆ ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ อยู่กลางป่าไม้ และมีคนใส่เสื้อม่อฮ่อม แต่จริงๆ แล้วหัวใจของความหมายว่าพื้นถิ่นจริงๆ ก็คือ กระบวนการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านกันเอง เช่นประเทศไทยฝนตกหนัก บ้านก็เลยต้องมีหลังคาใหญ่ หรือว่าน้ำท่วมบ่อย บ้านจึงต้องยกใต้ถุนสูง เช่นเดียวกัน เมื่อวิธีคิดแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองที่ปัจจัยที่เยอะขึ้น มีเรื่องทำมาหากินหรือเรื่องการเดินทางเข้ามาผนวก กระบวนการพื้นถิ่นจึงถูกแปรสภาพไปไกลกว่าแค่แก้ปัญหาแดดลมฝน ทำให้ Urban Vernacular เกิดขึ้นด้วยกลไกธรรมชาติจากคนที่อยู่อาศัยในเมือง โดยมักออกมาในรูปแบบผลงานดีไซน์สิ่งของข้างทาง ยานพาหนะ หรือการจัดการพื้นที่ต่างๆ ในลักษณะทำมือ จนผมเองอยากใช้คำของกระบวนการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยคำว่า ‘ศาสตร์ทำมือ’

สำหรับตอนนี้ มันมีศาสตร์ทำมือเล็กๆ ศาสตร์หนึ่งที่มีความน่าสนใจมาก และเป็นอะไรที่น่าลองหยิบยกให้ทุกท่านเห็นถึงภูมิปัญญาแบบ Urban Vernacular ที่ปูมา 3 ย่อหน้าแรกได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งเรื่องเล็กๆ เรื่องนั้นที่ผมอยากภูมิใจนำเสนอก็คือ  ‘ยุทธการลดความลำเค็ญ รถเข็นผักปากคลองตลาด’

ถ้าถามว่าทำไมเรื่องรถเข็นผักที่ปากคลองตลาดจึงน่าสนใจ ก็เนื่องด้วยไม่นานมานี้ ผมเดินผ่านตลาดนี้แล้วก็พบรถเข็นคันหนึ่งที่สามารถแบกลังบรรจุพืชพรรณจำนวนมหาศาลซ้อนกันจนท่วมหัว กำลังถูกลากให้เคลื่อนที่ไปอย่างสบายๆ มันดูค่อนข้างเซอร์เรียล และทำให้ผมประทับใจมาก จนเมื่อผมลองสังเกตมันด้วยมุมมองแบบ Urban Vernacular กับเหล่าอุปกรณ์ทุ่นความลำเค็ญที่กำลังถูกเข็นเหล่านี้ ก็ทำให้ผมพบความศาสตร์ทำมือซ่อนอยู่ และมีความน่าสนใจมากๆ จนน่าหยิบมาเล่าให้ฟังกัน

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

แต่ก็ต้องขอย้อนไปดูที่มาที่ไปของรถเข็นคร่าวๆ เหล่านี้เสียก่อน

กล่าวกันว่าปากคลองตลาดเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจากการเป็นย่านชุมชน เพราะเป็นจุดที่มีคูคลองและแม่น้ำเข้ามาบรรจบกัน ทำให้เป็นจุดนัดพบของผู้คนที่สัญจรทางน้ำ การค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของจึงเกิดขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็นตลาดสินค้าเกษตรกรรมที่เน้นการค้าส่งผัก ผลไม้ และดอกไม้สด ติดอันดับ 4 ของโลก

กว่าที่ปากคลองตลาดจะเป็นแหล่งสินค้าขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพอย่างทุกวันได้ เหตุหนึ่งก็เกิดจากเหล่าลูกผู้ชายเข็นผักรับส่งสินค้าที่เดินขวักไขว่ไปมาภายในตลาด คล้ายเป็นกลไกฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำหน้าที่เป็น Lineman ผู้มีความคล่องตัวรวดเร็ว และเป็นการโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากๆ ในพื้นที่ของตลาดเอง

รถเข็นผักจึงเป็นอุปกรณ์ดำรงชีพสำคัญที่ถูกใช้งานอย่างจริงจังในปากคลองตลาดตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้ จนมีการวิวัฒนาการที่ผนวกศาสตร์ทำมือลงไปในรถเข็น แม้ว่าเจ้ารถเข็นเหล่านี้จะดูหน้าตาธรรมดาๆ และดูคล้ายกันไปหมดทั่วทั้งตลาด แต่ถ้าเรายืนสังเกตดีๆ จะพบว่าจริงๆ แล้วรถเข็นแต่ละคันที่จอดทิ้งไว้ รวมทั้งที่กำลังล้อหมุนนั้น มีหน้าตาไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และแต่ละคันต่างมีดีเทลทำมือที่น่าสนใจ รวมทั้งมีความสัมพันธ์ในแง่งานดีไซน์อีกด้วย ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจังแล้ว ก็ทำให้ผมสามารถจำแนกความทำมือออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. เรื่องขนาดและความสัมพันธ์ของรถเข็น ถ้าเราเอาตลับเมตรวัดรถเข็นผัก เพื่อถอดรหัสที่มาที่ไปของรถเข็นในตลาดทั้งหมด เราจะพบว่าจริงๆ แล้วรถเข็นที่เขาใช้งานกันจะมีอยู่ 2 ไซส์หลักๆ คือ รุ่นสองล้อ และรุ่นสี่ล้อ โดยรุ่นสองล้อจะค่อนข้างมีให้เห็นมากกว่า มีขนาดกว้าง 45 ซม. สูง 120 ซม. และมีลักษณะการวางเป็นตัวแอลตั้งฉาก ซึ่งนอกจากความกว้าง 45 ซม. จะเป็นระยะความกว้างของไหล่ที่เหมาะสมกับการยืนจับแฮนด์รถเข็นแล้ว ระยะความสูง 120 ซม. ยังเป็นระยะของระดับหน้าอกของผู้ชาย จึงสอดคล้องกับสรีระและท่าการดันรถเข็นไปข้างหน้า ในขณะที่สามารถลากจากข้างหลังก็ได้แล้วแต่ถนัด อีกทั้งความสูง 120 ซม. ยังเป็นขนาดมาตรฐานในการซ้อนกล่องลังพลาสติกที่มีความสูง 30 ซม. จำนวน 4 ชั้นแบบสวยๆ ได้อย่างพอดิบพอดี

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

ในขณะที่รุ่นสี่ล้อจะหาดูได้ยากในตลาด มีขนาดยาวกว่าด้วยขนาดกว้าง 45 ซม. และยาว 200 ซม. วางเทินเป็นสามเหลี่ยม คาดว่าวิธีคิดในการผลิตง่ายๆ คือเพื่อพยายามบรรจุให้ได้สองเท่าของแบบสองล้อ วิธีเข็นจะเปลี่ยนมาลากจากข้างหลังแทน เนื่องด้วยของที่หนักกว่า ทำให้ตัวรถเข็นมีระยะแฮนด์จับที่ล็อกความสูงลอยจากพื้นไว้ที่ 80 ซม. ซึ่งคือระยะของความยาวของแขนที่ทิ้งในแนวดิ่ง ทำให้เป็นระยะที่เหมาะสมกับท่าเดินลากของพอดีๆ

2. การโมดิฟายส่วนวางของให้มีพื้นที่มากขึ้น มีให้เห็นได้ตั้งแต่แบบจริงจังจนถึงแบบบ้านๆ ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดข้อพับเหล็กเพิ่ม ให้สามารถพับขยายที่วางของให้กว้างขึ้น หรือแค่นำชิ้นส่วนเศษเหล็กหรือเศษไม้ มามัดรวบขัดไว้ที่ด้านท้ายเพื่อเพิ่มพื้นที่ หรือแม้กระทั่งต่อแผงเหล็กด้านข้างเพิ่ม การโมดิฟายพวกนี้มักจะมาต่อเติมทีหลังจากการใช้งานตอนเริ่มต้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากรอยเชื่อมเหล็กต่างๆ ที่เพิ่มจากเดิม ทำให้หน้าตารถเข็นทุกคันจะดูคราฟต์ๆ หน่อย เพราะมีลักษณะแตกต่างกัน ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

3. เข่ง อุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ทำหน้าที่เป็นตัวรวบสินค้าให้เป็นกระจุกเดียว ซึ่งถ้ามีรถเข็นแล้วแต่ไม่มีเข่งคู่กัน มันก็น่าจะรู้สึกขาดๆ อะไรไปสำหรับการเข็นของ อารมณ์คล้ายๆ ว่า ซื้อมือถือแล้วไม่ซื้อเคสกันกระแทก ในปัจจุบันนี้ เข่งที่มีอยู่ในปากคลองตลาดก็มีให้เราเห็นหลากหลายวัสดุ ตั้งแต่เข่งตะกร้าสานจากไม้ไผ่ เข่งพลาสติกสีเขียวๆ ยันเข่งที่ทำจากเหล็ก กระทั่งล่าสุด มีเข่งที่ทำจากอะลูมิเนียมแล้ว ซึ่งดูมีทีท่าว่าเข่งในปากคลองตลาดน่าจะถูกพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปถึงเข่งที่ทำไฟเบอร์กลาสก็เป็นได้

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

3.1 รู้หรือไม่ว่าไอ้เจ้าเข่งนี่แหละมีดีเทลทำมือที่ซ่อนอยู่เยอะมาก จนต้องแยกออกมาเป็น 3.1 ตอนที่เราไปยืนสำรวจไอ้เจ้าเข่งเหล่านี้ เราพบว่าเข่งส่วนมากที่เจอ บริเวณขอบจะมีซับกันของลื่นด้วยยางรถมอเตอร์ไซค์ และเมื่อไต่สวนกับพี่วินรถเข็นจึงค้นพบว่า ไอ้ซับยางกันลื่นตรงปากเข่งนี้ต้องใช้คู่กับแผ่นไม้กระดาน ซึ่งเราก็จะเห็นว่าเกือบทุกเข่งมีแผ่นไม้ติดมาด้วย วิธีการใช้งานคู่กันก็คือ เมื่อเข่งถูกใส่ของไปเยอะๆ จนเริ่มเต็ม การเอาแผ่นไม้นี้เข้าไปขัดวางลงบนปากเข่ง ไม้จะทำหน้าที่เหมือนคาน และทำให้สามารถซ้อนของขึ้นไปอีกจำนวนหนึ่งได้นั่นเอง

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

3.2 ความน่าสนใจอีกอย่างของการใช้แผ่นไม้คู่กับเข่งคือ สามารถทำเป็นที่นั่งคอยของพี่วินรถเข็น เพียงแค่วางไม้พาดไว้เฉยๆ แล้วก็นั่งเลย เหล่าพี่ๆ วินต่างบอกมาว่า ฟังก์ชันนี้สำคัญมากๆ เพราะว่าในตลาดไม่มีเก้าเอาไว้นั่งสำหรับทุกคน เมื่อต้องคอยรับงานขนของระหว่างวัน การทำเข่งเป็นเก้าอี้นี่แหละเวิร์กที่สุด!

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

4. เส้นยางในรถมอเตอร์ไซค์เก่าที่ถูกดัดแปลงรีไซเคิลให้มีตะขอคล้ายเข็มขัด มักถูกพาดพันคล้องไปมาที่แฮนด์จับรถเข็นตลอดเวลา โดยที่จริงๆ แล้ว ยางในนี้มีหน้าที่ไว้มัดรวมสินค้าที่มีปริมาณมากจนเริ่มพูนไม่ให้หล่นกระจายจากรถเข็น ซึ่งนอกจากจะได้ทั้งความเหนียวและยืดหยุ่นสูงแล้ว ยังสามารถหาซื้อขายได้ง่ายภายในตลาด ในราคาเพียง 25 บาท ทำให้เข็มขัดยางในกลายเป็นอุปกรณ์ยอดนิยมในการขนของไปโดยปริยาย

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

5. การรวบเส้นยางรถมอเตอร์ไซค์แนบลงบนผิวแท่งโครงเหล็กรถเข็น เป็นการทำซับกันลังพลาสติกลื่นขณะเข็นรถ รวมทั้งกันรอยกระแทกในโอกาสต่างๆ ที่แลดูทำได้ง่ายมาก เพียงเอายางมาผ่าครึ่ง แล้วสวมกับเหล็กได้เลย ซึ่งดีเทลทำมือนี้น่าสนใจมากๆ เพราะมันทำให้เรานึกถึงวิธีการออกแบบซับในกันกระแทกของพวกบานประตูหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่มักถูกสอนในวิชาอินทีเรีย ซึ่งการมีดีเทลแบบนี้ให้เห็นได้ ค่อนข้างแสดงออกถึงความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้งานจริงๆ

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

6. การเคลือบผิวปิดทับบนแผงโครงเหล็กรถเข็นด้วยกระดาษลัง เนื่องด้วยสินค้าบางชนิดพันธุ์อาจมีเศษตกหล่นทะลุผ่านโครงไปได้ระหว่างการขนส่ง การมีผิวซ้อนรองรับไว้จะทำให้การขนส่งปลอดภัยขึ้น ซึ่งกล่องกระดาษลังที่เหลือใช้จากการบรรจุสินค้าในตลาดคือตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะสามารถคลี่ออกมาได้กว้างแล้ว ยังสามารถเดินหาเอาได้เลยในพื้นที่ตลาด ซึ่งไอ้วิธีเคลือบผิวรถเข็นแบบนี้ยังกลายเป็นฟังก์ชันเสริม ที่สามารถปูให้กลายเป็นเตียงนอนชั่วคราวของพี่วินระหว่างวันได้อีกด้วย

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

7. ฟอนต์เหล็กดัดและรหัสลับ ความสนุกอย่างหนึ่งในการเดินดูรถเข็นผักในปากคลองก็คือ ตัวรถเข็นมักจะมีตัวหนังสือที่ทำจากเหล็กดัด เชื่อมติดไว้ตรงที่ว่างของแผงโครงเหล็กแทบทุกคัน และไม่ซ้ำกันเลย ตัวอักษรนั้นมักจะเป็นชื่อของใครสักคนและห้อยท้ายด้วยชุดตัวเลข อย่างเช่น ‘สิงห์99’ ‘หนุ่ม888’ ‘เจ้ติ๋ม381’ ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าพวกโค้ดเหล่านี้คือชื่อของเจ้าร้าน ผู้เป็นเจ้าของรถเข็นนั่นเอง ถ้าเกิดรถเข็นไปตกหล่นอยู่ตรงไหน ก็สามารถนำมาคืนได้ถูกร้าน ซึ่งโค้ดชื่อพวกนี้จะรู้แค่วงการคนในตลาดกันเองว่าใครเป็นเจ้าของและอยู่ส่วนไหนในตลาด แต่ถ้าหากรถเข็นคันไหนไม่มีฟอนต์เหล็กพวกนี้ ก็สามารถเดาได้เลยว่าเป็นรถเข็นที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับสังกัดใดๆ เป็นรถเข็นผักปัจเจกชน ซึ่งเจ้าของรถเข็นส่วนมากต่างต้องดูแลรถเข็นกันเองอย่างหวงแหน ด้วยการจอดล็อกล่ามโซ่เอาไว้

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเราก็จะสังเกตเห็นว่าเพียงแค่รถเข็นผักธรรมดาๆ คันเดียว เมื่อผ่านกระบวนการของ Urban Vernacular ที่มีโจทย์ตั้งต้นคือ จะทำยังไงให้ขนของด้วยรถเข็นได้มากที่สุด ในบริบทของปากคลองตลาด เราได้เห็นกระบวนที่คนในพื้นที่นั้นพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ แบบง่ายๆ ด้วยการหยิบจับของรอบตัว หรือดัดเเปลงอะไรนิดๆ หน่อยๆ รวมทั้งพยายามเพิ่มประสิทธิภาพกันเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาจึงทำให้เราได้เห็นรูปแบบศาสตร์ทำมือในดีเทลต่างๆ ตามแต่ละข้อที่ผมไปสำรวจมา

ซึ่งแน่นอนว่า ศาสตร์ทำมือที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการ Urban Vernacular เหล่านี้ไม่ได้มีแค่ในปากคลองตลาด แต่ยังมีอยู่รายล้อมรอบตัวเราอีกเพียบ โดยมีความเฉพาะของรูปแบบอีกมากมายในบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่คอลัมน์นี้กำลังสนใจและพยายามค้นหาต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองแบบสถาปัตยกรรม

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเดินเที่ยวชื่นชมพืชพรรณดอกไม้ในปากคลองตลาด และเดินหลบรถเข็นดัดแปลงทำมือที่สวนไปมาอย่างทันท่วงที

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign รถเข็นผัก, ปากคลองตลาด, Redesign

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น