เมื่อตอนเป็นนักศึกษา ผมเคยได้ยินคำนิยามของคำว่า ‘สถาปัตยกรรม’ จากสถาปนิกรุ่นใหญ่ท่านหนึ่ง แกกล่าวเอาไว้ว่า สถาปัตยกรรมสำหรับแกนั้นเกิดขึ้นด้วย 3 สิ่งประกอบกัน อันได้แก่ หนึ่งคือ ‘งานฝีมือ’ สองคือ ‘เทคนิคงานก่อสร้าง’ และสามก็คือ ‘แนวคิดของปรัชญา’ ที่แฝงเข้าไป ทันใดที่งานนั้นก่อสร้างแล้วเสร็จ ดูเป็นงานศิลปะที่สามารถเข้าไปใช้งานได้ สิ่งนั้นจึงเรียกว่างานสถาปัตยกรรม

นับจากนั้นมา เจ้าสามสิ่งนี้จึงติดหัวผมแล้วกลายเป็นเรดาร์เอาไว้ชี้วัดสิ่งที่อยู่รอบตัวว่า อันไหนใช่หรือไม่ใช่สถาปัตยกรรม จนกระทั่งไม่นานมานี้ ผมเริ่มรู้ตัวว่ากำลังใกล้หมดมุกสำหรับการเขียนคอลัมน์ อาคิเต็ก-เจอ นี้แล้ว จึงทำให้ผมเกิดไอเดียโยนคำถามเล่นๆ ไปในเฟซบุ๊กตัวเองที่รายล้อมไปด้วยเหล่าสถาปนิกว่า “อะไรคือสถาปัตยกรรมไทยๆ (ไม่ใช่วัด) ที่คิดว่าแปลก แต่น่าสนใจสำหรับเขา”

ไม่นานนัก เพื่อนๆ พี่ๆ ก็เริ่มตอบโต้กับผมโดยการโพสต์รูปตอบบ้าง ไม่ก็อินบ็อกซ์มาบ้าง และทำให้ผมค้นพบว่ารูปส่วนมากที่ถูกเสนอขึ้นมานั้นมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีหน้าตาเป็นสัตว์หรือเทพในคติความเชื่อ ตั้งแต่มังกร พญานาค พญาเต่า ฯลฯ ที่มีขนาดมหึมา โดยที่เราสามารถเข้าไปใช้สอยพื้นที่ข้างในตัวเทพเหล่านั้นได้ และมักพบกันอย่างคุ้นชินตามวัดต่างๆ

แม้ว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะดูเหมือนไม่อาจเรียกว่าสถาปัตยกรรมได้เลย แต่เมื่อผมนำเกณฑ์ 3 ข้อเข้ามาใช้ตรวจสอบดู ผมพบว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้สามารถเข้ารอบได้อย่างฉลุยเลยทีเดียว

ตั้งแต่ข้อแรก ‘งานฝีมือ’ ในขณะที่คุณต้องปั้นมังกรให้มีเกล็ดอย่างอ่อนช้อย แน่นอนว่างานฝีมือนั้นต้องเป็นสิ่งจำเป็นอย่างแน่แท้

ข้อที่สอง ‘เทคนิคงานก่อสร้าง’ ต้องยอมรับว่าการที่จะก่อสร้างให้หัวของพญานาค สามารถยื่นลอยออกมาในระยะถึง 2 – 3 เมตรได้ ต้องมีความเข้าใจเชิงวิศวกรรมอยู่ไม่มากก็น้อยเพราะการคำนวณโครงสร้างนั้นเป็นเรื่องจำเป็น

ข้อที่สาม ‘แนวคิดของปรัชญา’ ทั้งพญานาค มังกร รวมถึงเหล่าเทพต่างๆ ล้วนกำเนิดมาจากแนวคิดของปรัชญาบนความเชื่อทางศาสนา อาทิ พญานาคนั้นเกี่ยวข้องกับแนวคิดปรัชญาคติของจักรวาล เป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่อุดมสมบูรณ์ สื่อถึงความศรัทธาในพุทธศาสนา ซึ่งแน่นอนว่าเราจำต้องมีแนวคิดที่แน่วแน่ ถึงจะเลือกก่อสร้างอาคารให้เป็นพญานาคได้

และเมื่อ 3 สิ่งนี้รวมตัวกันจึงเกิดเป็นงานศิลปะรูปทรงพญานาคที่เข้าไปใช้งานได้เฉยเลย และก็เป็นงานที่ผู้คนนิยมชมชอบมากด้วย สังเกตเห็นจากพ่อแม่ผมเองที่มักดูอิ่มเอิบกับสิ่งเหล่านี้ยามที่ได้เดินทางไปทำบุญตามวัดต่างๆ  

นี่เป็นเหตุที่ทำให้ผมต้องมาตั้งชื่อสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ (อีกแล้ว) ว่า ‘สถาปัตยกรรมจำแลงกาย’ เนื่องด้วยงานสถาปัตยกรรมประเภทนี้น่าจะเริ่มจากการออกแบบที่คิดว่าจะนำเทพองค์ใดมาจำแลงกายให้เป็นอาคาร เพื่อเป็นการดึงดูดให้คนนิยมเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดนั่นเอง

ซึ่งเมื่อผมวิเคราะห์ถึงลักษณะของสถาปัตยกรรมประเภทนี้อย่างจริงจัง ก็ทำให้ผมค้นพบอีกว่าการที่จะระบุสถาปัตยกรรมจำแลงกายได้นั้น ยังต้องเพิ่มเกณฑ์จากเจ้า 3 ข้อแรกอีกด้วย อันได้แก่

ราหู

ข้อที่สี่ ‘ฟังก์ชันทำนายดวงชะตาและเสริมความเป็นสิริมงคล’ เพราะในบางสถานที่ที่ผมเจอ การเดินวนขวาลอดอุโมงค์ปากพญานาค 3 รอบจะทำให้มีโชคลาภ หรือในบางสถานที่เชื่อว่าการได้มุดอยู่ใต้แขนของราหูจะทำให้ร่างกายแข็งแรงไร้โรคภัย ซึ่งนี่นับเป็นงานออกแบบที่มีการอินเตอร์แอ็กทีฟชนิดหนึ่งซึ่งไม่ต้องพึ่งดิจิทัลมิเดียใดๆ

ข้อที่ห้า ‘เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มักพบได้ตามวัดทั้งไทยและจีน’ แม้ว่าบางสถาปัตย์จำแลงกายจะพบได้ตามแลนด์มาร์กในหลายๆ จังหวัด แต่ว่า 80 – 90% เราสามารถหาเจอได้ง่ายๆ ตามวัดทั่วๆ ไป ซึ่งในสถานที่ปกติเราจะไม่สามารถพบเจอสถาปัตย์จำแลงกายเหล่านี้ได้เลย

ข้อที่หก ‘มีความโอเวอร์สเกล หรือผิดขนาดตามความเป็นจริง’ อย่างที่กล่าวไว้แต่แรก สถาปัตยกรรมพวกนี้ต้องมีขนาดใหญ่กว่าขนาดของมนุษย์มากๆ คล้ายเป็นประติมากรรมขนาดยักษ์ เพราะว่าถ้าพญานาคไม่มีขนาดที่โอเวอร์เกินจริงหรือเล็กเกินไป ก็จะทำให้เราไม่สามารถพาร่างกายมนุษย์ที่มีขนาดทั่วไปประมาณ 180×60 ซม. เดินเข้าไปข้างในตัวของเขาได้

ถึงอย่างไรก็ตาม การที่ผู้อ่านได้รับความคิดเห็นของผมคนเดียวก็คงไม่สนุกนัก นั่นทำให้ผมเกิดไอเดียในการรวบรวมภาพงานสถาปัตยกรรมที่เข้าข่ายเกณฑ์เหล่านี้แจกจ่ายให้กับเหล่าสถาปนิกรอบตัวของผม เพื่อมาร่วมแชร์มุมมองให้ได้อ่านกัน ลองไปดูสิว่าพวกเขาจะมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

1

อุโมงค์มังกร

บันไดทางขึ้นวัดบ้านถ้ำ จังหวัดกาญจนบุรี
สถาปนิกผู้ให้ความเห็น : บุณณดา ยงวานิชากร

วัดบ้านถ้ำ จังหวัดกาญจนบุรี

fanofchalermchai.com

“สำหรับเรานะ สถาปัตยกรรมคือพื้นที่หรือสถานที่ที่สามารถให้ประสบการณ์ของการใช้พื้นที่แก่ผู้ที่เข้าไปใช้งาน ดังนั้น เราคิดว่าอุโมงค์มังกรนี้ก็คือสถาปัตยกรรม เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ให้ประสบการณ์แก่ผู้ใช้สอย โดยที่ตัดมุมมองความงามภายนอกที่เป็นเรื่องรสนิยมออกไป ซึ่งมันอาจจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีก็ได้นะ แล้วแต่ใครเป็นผู้ให้คำตอบ ถ้าชาวบ้านเห็นแล้วเกิดศรัทธา เกิดความชื่นชอบ แค่นั้นก็อาจจะบอกได้ว่านี่คือสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ได้แล้วจ้ะ”

 

2

อาคารพิพิธภัณฑ์พญานาค

จังหวัดยโสธร
สถาปนิกผู้ให้ความเห็น : ชยางกูร เกตุพยัคฆ์

อาคารพิพิธภัณฑ์พญานาค

sawasdeethai.net

“ผมคิดว่านี่ถือเป็นสถาปัตยกรรมครับ เพราะมีพื้นที่ใช้สอยและมีพื้นที่การใช้งาน ส่วนการที่นำตัวพญานาคมาสื่อสารกับผู้ใช้งานโดยตรงเพื่อบอกว่านี่คือพิพิธภัณฑ์พญานาค ส่วนตัวผมมองว่าก็ทำออกมาได้ดีเลยนะ มีความตรงๆ ไปเลย พญานาคก็คือพญานาค ยิ่งเป็นการเสริมกันด้วยซ้ำ ให้ที่นี่กลายเป็นแลนด์มาร์กที่ผสมกันระหว่างความเป็น sculpture และ architecture เพียงแต่ที่ทำออกมา harmony มันค่อนข้างแยกทางกับเรื่องการออกแบบไปหน่อย ทำให้ขาดสุนทรียะในการรับรู้เรื่องสถาปัตยกรรมไป

“ซึ่งผมว่าข้อดีของมันคือมีความชัดเจน แต่ก็ตอบไม่ได้นะว่ารูปลักษณ์ที่เป็นแบบนี้มันจะส่งผลต่อการใช้งานข้างในได้ดีไหม ซึ่งไม่แน่ว่ามันอาจจะแย่ด้วยซ้ำ เพราะขาดองค์ประกอบของงานสถาปัตย์สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการใช้งาน เพราะสถาปัตยกรรมสำหรับผมมันควรสื่อสารได้ด้วยการใช้งาน มากกว่าการเล่าปากต่อปากครับ”

 

3

อุโมงค์พญานาค

วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จังหวัดสุรินทร์
สถาปนิกผู้ให้ความเห็น : ปริม ตรีสุคนธ์

วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร สุรินทร์

เพจลูกศิษย์พระอาจารย์เยื้อน ขันติพโล วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร

“ในฐานะคนทำงานออกแบบก็คงรู้สึกไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะเรารู้ว่าสามารถออกแบบให้ดูเชิญชวนและอยากเดินเข้าไปในอุโมงค์ได้ในอีกหลายๆ วิธี โดยที่อาจจะไม่ต้องออกแบบให้ตรงไปตรงมาขนาดนี้ (หัวเราะ)

“เพียงแต่งานสถาปัตยกรรมแบบนี้มันมักมาพร้อมกับบริบทและความเชื่อของคนในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสมมติถ้าเราเป็นคนในพื้นที่คนหนึ่ง ก็คงอาจจะชอบอะไรที่มันอิมแพ็กต์กับเราแบบนี้ไปเลย”

 

4

อาคารพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก

จังหวัดยโสธร
สถาปนิกผู้ให้ความเห็น : บูม เดชพงษ์

พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก

“ส่วนตัวเรามองว่าการเสพงานบางอย่างหรือสถาปัตยกรรมบางที่มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ คือต้องอาศัยสภาพแวดล้อมรอบๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่

“ถ้าพูดถึงตัวอาคารคางคก จะเรียกว่าอาคารได้ไหม คือเราไม่แน่ใจว่าข้างในมีพื้นที่ใช้สอยอย่างไร แต่พอเดาใจคนทำได้ว่าคงอยากจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่างให้คนที่มาใช้งาน และก็คงอยากจะเล่าแบบตรงไปตรงมาให้คนในพื้นที่เข้าใจได้อย่างง่ายๆ ถ้ามองว่าการไปที่ใดที่หนึ่งที่มีบรรยากาศและลักษณะเฉพาะส่วนตัว และมีหน้าที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ตึกคางคกนี้ก็ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ถ้ามองแบบใจเปิดนะ (หัวเราะ)  

“ซึ่งเราเดาว่าคนอีสานมีลักษณะเด่นคือสื่อสารกันแบบตรงๆ ชัดเจน แต่มีความสนุก มันเลยทำให้งานออกมาแบบนี้ แต่ถ้าจะให้ออกแบบมาให้คลี่คลายแล้วก็อาจจะเสียอรรถรสไป”

 

 

5

ตึกมังกรตะกายฟ้า

วัดสามพราน จังหวัดนครปฐม
สถาปนิกผู้ให้ความเห็น : กิตติ จูพานิชย์

วัดสามพราน นครปฐม

imgur.com วัดสามพราน นครปฐม
gigazine.net

“สำหรับเราเองยังไม่มีนิยามสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนนะ เลยคิดว่าตึกมังกรนี่ก็เป็นอาคารแหละ ซึ่งเป็นอาคารที่มีจุดประสงค์ของการใช้งานชัดเจน และก็มีแนวคิดของการตกแต่งและไอเดียในการสร้างรูปทรงอาคารที่มาจากแนวคิดทฤษฎีการยืมรูปลักษณ์ ซึ่งถ้านำมาเทียบกับแนวคิดนี้จริงๆ ดูแล้ว มันก็ดูจะเป็นอะไรที่แบบตื้นเขินไปหน่อยนะ เลยคิดว่าบ้านเราอาจยังไม่มีเครื่องมือชี้วัดการให้คุณค่างานสถาปัตยกรรมที่ต้องสื่อความหมายแบบนี้หรือเปล่า

“แต่โดยส่วนตัว เราเป็นคนชอบงานสถาปัตย์ที่ดูสนุกๆ อย่างอุโมงค์มังกรวัดสามพราน มันก็ดูน่าสนุกอยู่นะ ถ้าเป็นตัวมังกรเป็นสไลเดอร์นี่โคตรอยากไปเลย ซึ่งคิดว่านี่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางความรู้สึก ที่ไม่ได้สามารถอิงนิยามจากทฤษฎีสถาปัตยกรรม”

 

ในความเป็นจริงแล้ว รูปแบบสถาปัตยกรรมจำแลงกายนั้นไม่ได้มีแค่ในเมืองไทยเท่านั้น ในฝั่งตะวันตกเขาก็เคยมีประเด็นเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมแนวๆ นี้มาแล้วเช่นกัน เมื่อ ค.ศ. 1972 โรเบิร์ต เวนทูรี และ เดนนิส บราวน์ สองสามีภรรยาสถาปนิกชาวอเมริกัน ได้ร่วมเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า Learning from Las Vegas ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงผลกระทบของโลกสถาปัตยกรรมในยุคโพสต์โมเดิร์น

หนึ่งในเนื้อหาสำคัญในหนังสือก็คือ การเกิดขึ้นของ ‘Duck Architecture’ หรือ ‘สถาปัตยกรรมเป็ด’ ตามเส้นทางถนนของเมืองลาสเวกัส (Las Vegas) ซึ่งในความหมายของไอ้เจ้าสถาปัตยกรรมเป็ดนั้น ลุงโรเบิร์ตได้ให้นิยามเอาไว้ว่าคือสถาปัตยกรรมที่ต้องการจะสื่อสารถึงสัญญะมากเกินไป จนเกิดเป็นประติมากรรมขนาดยักษ์ขึ้น เช่น ร้านขายโดนัท ฝรั่งเขาก็เอาโดนัทยักษ์มาวางเลย เพื่อให้ตำรวจได้ขับรถเวียนเข้าไปแก้หิว ซึ่งขนาดความใหญ่ของโดนัทนั้นก็เกิดจากความสัมพันธ์ของระยะสายตาที่เกิดขึ้นจากการสัญจรด้วยรถยนต์นั่นเอง โดยหนังสือกล่าวไว้ว่าสถาปัตยกรรมประเภทนี้เหมือนเป็นเพียงป้ายโฆษณาที่เกิดจากโลกทุนนิยมในยุคนั้น

นี่อาจเป็นอิทธิพลของการสร้างสถาปัตยกรรมที่เน้นสัญญะจนเป็นประติมากรรมที่ส่งต่อมายังฝั่งเอเชีย จนไหลมาผนวกกับความเชื่อน่ารักๆ ของบ้านเรา ทำให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมจำแลงกายอย่างที่ผมได้ชวนคุยตั้งแต่แรกนั่นเอง

แม้ว่างานสถาปัตยกรรมในหลายๆ ที่บนโลกจะมีความคลี่คลายเรื่องสัญญะในการออกแบบสถาปัตยกรรมไปมากแล้ว เราจะเห็นได้ว่าในหลายประเทศผู้คนสามารถแยกชัดเจน

ในขณะที่บ้านเรายังรักษาการรวมร่างของสองสิ่งนี้อยู่ และผสานกับความเชื่อทางศาสนาได้เป็นอย่างดี นี่ถือว่าเป็นกิมมิกน่ารักๆ ในมุมมองของผมเอง

ซึ่งสุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าเมื่อใดที่สถาปนิกเก่งๆ รุ่นใหม่มีโอกาสเข้าไปหยิบจับโจทย์ที่ต้องออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทนี้แล้ว เราอาจจะพบการคลี่คลายของรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมที่ยังแฝงไปด้วยกิมมิกความเชื่อเหล่านี้อยู่ อันสามารถสร้างเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมไทยในมิติใหม่ นอกเหนือจากวัดวาอารามได้

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการไปเที่ยวชมและสักการะสถาปัตยกรรมจำแลงกายนะครับ

สวัสดีครับ

 

บรรณานุกรม
  1. archdaily.com
  2. wikipedia.org
  3. บทความ การเปลี่ยนรูปของสถาปัตยกรรมเป็ด Metamorphosis of Duck architecture รุ่งเกียรติ แก้วกาหลง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Writer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น