ผมเป็นเด็กกรุงเทพฯ มาตั้งแต่กำเนิด เติบโตมากับย่านคลองถม สำเพ็ง สะพานเหล็ก (ซึ่งได้หายไปแล้วอย่างน่าใจหาย) ทำให้ผมเป็นบุคลากรคนหนึ่งของชาติไทยที่มีความพอใจในการเดินมุดทะลุตรอกซอกซอยแคบๆ รกๆ เพื่อไปยังร้านค้าลึกลับที่ได้ปักหมุดเอาไว้ โดยที่ไอ้เจ้าร้านลึกลับที่เล่นซ่อนแอบเหล่านั้นก็มักจะมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ที่ตอนเด็กๆ ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ นั่นก็คือ ความหนาแน่นของการจัดวางสินค้าจำนวนมหาศาลสีสันฉูดฉาด ในพื้นที่คูหาห้องแถวอันคับแคบได้อย่างพอดิบพอดี

ความพิเศษของงานออกแบบที่มีชื่อยืดยาวนี้ไม่ได้มีแค่ย่านคลองถม สำเพ็ง เท่านั้น แต่ยังปรากฏตัวตามบริเวณปากซอยของบ้านท่านทั้งหลาย โดยมักโผล่มาในรูปแบบของร้านโชห่วยหรือร้านของชำค้าปลีกต่างๆ นั่นเอง

ร้านของชำ

ผมเพิ่งจะค้นพบความมหัศจรรย์ในความพิเศษของงานออกแบบประเภทนี้หลังเรียนจบจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมได้ไม่นาน เนื่องด้วยมีเพื่อนคนหนึ่งมาขอคำปรึกษาเรื่องตกแต่งร้านที่บ้านของมันใหม่ และทางเราที่เป็นสถาปนิกก็จัดการโยนรูปตัวอย่างงานออกแบบร้านค้าที่มีความโมเดิร์นเรียบหรูมินิมอลไปให้ ด้วยความมั่นใจอย่างสูงว่า เพื่อนมันต้องน้ำตาเล็ดด้วยความปลื้มปริ่มแน่ๆ

ซึ่งในความเป็นจริงคนที่น้ำตาปริ่มกลับเป็นข้าพเจ้า เนื่องด้วยเพื่อนทำเซอร์ไพรส์ด้วยการเขวี้ยงโจทย์กลับมา เป็นเรื่องของประเภทและจำนวนสินค้าที่มากมายก่ายกอง อีกทั้งมีหลากหลายเฉดสี ซึ่งต้องจัดการให้ลงในร้านคูหาเล็กๆ ได้ นั่นทำเอาเรานอนก่ายหน้าผากปวดหัวไปเลยคืนหนึ่ง จนต้องยอมแพ้และขอกลายเป็นเพียงที่ปรึกษาด้วยความไม่มั่นใจซะงั้น โดยจุดจบของร้านเพื่อนข้าพเจ้าที่ออกมา ก็ไม่ต่างจากร้านที่กล่าวมาจากตอนแรกๆ สักเท่าไหร่นัก

ร้านค้าปลีก

ร้านค้าปลีก

ผลจากประสบการณ์การก่ายหน้าผากครั้งนั้นทำให้ผมเริ่มสนใจและเชิดชูการดีไซน์พื้นที่จัดวางสินค้าที่เยอะซับซ้อนให้เข้าที่ได้อย่างพอดี จนคล้ายเทกระจาดลงพื้นหน้าร้าน ทั้งซ้อนเป็นชั้นๆ แบบคอนโด ลามจนกลืนกินพื้นที่บนผนัง รวมทั้งการใช้พื้นที่ในอากาศด้วยการแขวนสินค้าให้ลอยแกว่งเอาไว้ โดยไม่แคร์เรื่องจัดการเฉดสีใดๆ จนต้องตั้งชื่องานดีไซน์ประเภทนี้ไว้ว่า พื้นที่ขายของสไตล์ไทยคอลลาจ (คอลลาจคือ งานศิลปะตัดแปะ)

จุดเริ่มต้นของพื้นที่คอลลาจนี้น่าจะเป็นผลพวงจากการสร้างอาคารตึกแถวพาณิชย์ในกรุงเทพฯ ช่วงยุคหลังรัชกาลที่ 4 ที่ตั้งใจสร้างให้คนจีนมาเช่าเพื่อทำการค้า โดยเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารพวกนี้คือ มีพื้นที่หน้าร้านที่สามารถเปิดโล่ง และกว้างพอต่อการทำมาค้าขายได้ดี ซึ่งมักมีจุดเด่นก็คือประตูบานเฟี้ยมไม้นั่นเอง แต่ในปัจจุบันก็อาจโดนเปลี่ยนเป็นประตูบานม้วนกรงเหล็กแทนบ้าง

ประตูบานเฟี้ยมสามารถเปิดกว้างได้เต็มช่วงเสาอาคาร ประมาณเกือบ 4 เมตรมาตรฐาน ทำให้เกิดพื้นที่ที่จัดวางสินค้าได้อย่างอิสระเต็มที่ ประกอบกับความเป็นนักค้าขายสไตล์ชาวจีนแล้ว ทำให้เกิดแนวคิดการวางสินค้าลงบนหน้าร้านที่ตั้งใจใส่สินค้าลงไปให้มากที่สุด มีที่ว่างไม่ได้ ต้องวางให้เต็ม เพื่อแสดงความมั่งคั่งของธุรกิจให้คนทั่วไปได้ประจักษ์ อันเป็นเทรนด์การจัดร้านในอดีตที่ผมเคยได้ยินมาแบบปากต่อปาก คาดว่าวิธีคิดนี้กลายเป็นค่านิยมการจัดร้านของคนไทยสืบมา

ร้านค้า

กระทั่งพื้นที่การขายของเหล่านี้ได้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มีสินค้าจุกจิกหลากหลายประเภทให้จับมาวางให้เลือกซื้อมากขึ้น ตั้งแต่แฮนด์สปินเนอร์ยันแก้วอะลูมิเนียมเก็บความเย็น ที่กำลังฮิตและเลิกฮิตไปแล้ว ส่งผลให้การจัดการวางสินค้ามีความซับซ้อนและยากที่จะควบคุมมากยิ่งขึ้น ทำให้เมื่อใดที่ผู้ประกอบการทั่วไปเริ่มต้นจัดของเพื่อวางขายทีไร อาการของพื้นที่แบบไทยคอลลาจที่มีการจับคู่สีที่มิกซ์แอนด์ไม่แมตช์ก็จะปรากฏขึ้นให้เราได้เห็นกัน และมักเห็นได้ชัดเจนมากๆ บริเวณพื้นที่ประตูหน้าร้านนั่นเอง

ในขณะที่เทรนด์การออกแบบร้านค้าของโลกจะค่อนไปทางมินิมอล และนิยมตกแต่งภายในสไตล์ชีวิตดีแบบฮุกกะ ที่มักเป็นการออกแบบที่ใช้วัสดุไม้จริง และย้อมสีด้วยแสงไฟโคมเหลืองนวลแบบวอร์มไวท์ หรือทั้งวิถีจัดการพื้นที่จากอิทธิพลของ คนโดะ มาริเอะ เจ้าของหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ที่กล่าวว่าหัวใจของการจัดพื้นที่นั้นคือ การไม่สะสมของหรือสินค้าเอามาดองจนเยอะเกิดเหตุ เพราะความสวยงามของบ้านหรือร้านจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพื้นที่เริ่มมีอากาศหายใจ และว่างพอที่ให้แสงธรรมชาติพาดผ่านลงมา แต่พื้นที่ร้านขายของแบบไทยคอลลาจบ้านเรานั้นโนสน โนแคร์ แซงทางโค้งเทรนด์การออกแบบเหล่านี้ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเราจะโฟกัสเพียงว่าจะวางของในพื้นที่แคบๆ ให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้โดยไม่ต้องสนพื้นที่ว่างใดๆ และแน่นอนว่า ปรากฏการณ์พื้นที่คอลลาจแบบนี้ เหล่าสถาปนิกแบบเราๆ จะไม่สามารถดีไซน์พื้นที่แบบนี้ได้เลย เพราะสิ่งที่เราเรียนมา เขาไม่สอนให้ทำกันแบบนี้นั่นเอง (!?)

ร้านของชำ

สำหรับการจัดการพื้นที่ให้แออัด แต่กลับสามารถใช้งานได้จริง นับเป็นเรื่องที่เซอร์เรียลสำหรับการออกแบบมากๆ เพราะว่าตอนที่เรียนอยู่โรงเรียนสถาปัตยกรรม นักเรียนทุกคนจำต้องถูกสอนให้แตกฉานในเรื่องของ Architect Data อันเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน ว่ากันด้วยระยะความกว้างยาวกับการออกแบบนั่นเอง เช่น พื้นที่ขนาด 2×1เมตร นั้นคือขนาดของห้องน้ำ หรือว่าโต๊ะจำเป็นต้องสูงประมาณ 75 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร แต่สำหรับพื้นที่ 1 คูหา ลึกประมาณ 6 – 8 เมตรของร้านค้าเหล่านี้สามารถฉีกตำราแล้วปาทิ้งลงถังแบบไม่เกรงใจเหล่าสถาปนิกเลยทีเดียว

นั่นเป็นเหตุให้หลายครั้ง ผมมักจะตื่นเต้นทุกทีเมื่อได้เห็นร้านขายของที่สามารถจัดการพื้นที่ที่อัดแน่นมากๆ แต่ก็ยังค้าขายกันมาได้อย่างช่ำชอง เช่น ร้านหนึ่งมีของเยอะเกินจนขึ้นไปเอาของที่สต็อกไว้ชั้นบนลำบาก ทำให้เวลาเติมของหน้าร้านต้องเอาเชือกผูกลังแล้วโยนลงมาจากหน้าต่างชั้นสอง โดยมีคนรอรับที่หน้าร้าน และไม่ลืมที่จะชี้แจงลูกค้าบริเวณนั้นด้วยความเคารพว่า ระวังของจากหน้าต่างนะครับ…” หรือว่าร้านขายตุ๊กตาที่วางสินค้ากองกับพื้นเยอะเกินไปจนไม่มีที่ให้คนขายของเองยืน และวิธีการจัดการเอาตัวเข้าไปในร้านนั้นง่ายมากๆ ก็คือปีนขึ้นไปนั่งทับบนของเลย พอมีคนมาเลือกซื้อก็กระโดดลงมาขาย (จบ)

โดยที่จริงๆ แล้ว ความสนใจในเรื่องการจัดร้านแบบไทยคอลลาจของผมเองนั้นเป็นเพียงเรื่องการจัดการพื้นที่แบบไทยๆ ในระดับจุลภาคเท่านั้น ซึ่งในระดับการออกแบบพื้นที่มหภาคก็มีสถาปนิกหลายท่านให้ความสนใจและพยายามลองค้นขว้าและนำมาเล่าในระดับสากลเช่นกัน

เมื่อปี 2013 กลุ่มสถาปนิกไทย all(zone) จัดทำวิดีโอนำเสนอสถานการณ์การออกแบบมหานครกรุงเทพฯ  ในคอนเซปต์ว่า Mixed-Use : Bangkok Collage City เพื่อไปแสดงให้ฝรั่งได้ชื่นชมกัน ในงานที่มีชื่อยืดยาวว่า ‘Participatory City: 100 Urban Trends from the BMW Guggenheim Lab’ ที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ณ มหานครนิวยอร์ก

ในวิดีโอนี้นั้นเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯ ด้วยการนำรูปพื้นที่ที่รกๆ ตามถนน ฟุตปาท มาตัดปะคอลลาจสลับกันไปมาเรื่อยๆ เป็นเวลา 3.23 นาที และบนความคอลลาจของรูปที่ถูกเรียงตัดปะไปเรื่อยๆ นั้นสร้างความสับสนให้ผู้ชมได้ดี จนไม่รู้ว่าภาพไหนคอลลาจขึ้นมาใหม่ หรือภาพไหนเป็นภาพที่แค่ถ่ายตามทางมาปกติ ซึ่งเมื่อเรานั่งเสพวิดีโอไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าภาพพื้นที่รกๆ เหล่านี้นั้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษของเมืองไทยนั่นเอง

ตอนท้ายของวิดีโอได้สรุปไว้ว่า คนไทยทุกๆ คนนั้นมีความเป็นดีไซเนอร์ในการจัดการพื้นที่ด้วยเทคนิคคอลลาจที่ทำตามกันมาโดยไม่รู้ตัว เพียงแค่วางๆ ของไปอย่างไม่คิดมาก เดี๋ยวพื้นที่ก็ลงตัวเอง ถึงแม้จะดูไม่เรียบร้อย แต่ก็มีเสน่ห์ความเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกให้ความสนใจเป็นพิเศษในโลกการออกแบบสากล จนมีสถาปนิกฝรั่งหยิบคอนเทนต์นี้มาใช้ออกแบบให้เราได้เห็นแล้ว ดังเช่นแนวคิดการออกแบบตึกมหานครที่แยกสาทรนั่นเอง

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าความคอลลาจพื้นที่ขายของแบบไทยๆ จะดูรกอีนุงตุงนังไร้ระเบียบ แต่เราก็อยู่กันมาได้อย่างสงบสุข และก็สนุกกับการได้คุ้ยของในพื้นที่อันคับแคบพร้อมกับการหลบรถมอเตอร์ไซค์ไปด้วย คล้ายคติที่ว่า คับที่อยู่ได้ แต่คับใจอยู่ยาก

สุดท้ายแล้วสถาปัตยกรรมนั้นอาจเป็นเพียงพื้นที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการรองรับการเกิดกิจกรรมเท่านั้น ดังนั้น การเกิดขึ้นของพื้นที่รกวุ่นวายจนบดบังงานสถาปัตยกรรมไปนั้น จึงเป็นเรื่องปกติสุดๆ ถ้ากิจกรรมตรงนั้นเกิดจากคนไทย ก็ต้องเป็นพวกเราคนไทยกันเองเช่นกันที่ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาพื้นที่แบบนี้ให้มีความเป็นระเบียบมากขึ้นไปด้วยกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่ยังคงเอกลักษณ์แบบนี้เอาไว้ในอนาคตครับ

ขอให้มีความสุขกับการคุ้ยหาของในพื้นที่แคบๆ ครับผม

ร้านค้าปลีก

ร้านค้า

 

บรรณานุกรม

  1. บทความ คุณค่าทางศิลปะและสุนทรียภาพของตึกแถวเจริญไชยวารสาร ย่อหน้า (2556)

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น