ผมชอบบ้านแนวคินโฟล์ก แต่แม่อยากให้ตั้ง ตี่จู้เอี๊ยะ ครับ”

งั้นแสดงว่า…อยากให้แก้แบบห้องนั่งเล่นใหม่เลยใช่ไหมครับ”

รบกวนด้วยนะครับ…คุณสถาปนิก”

บทสนทนาสั้นๆ แต่ได้ใจความ ณ ห้องประชุมแห่งหนึ่ง ที่ทำให้ทุกคนในออฟฟิศถึงกับกุมขมับ

จากนั้นไม่นาน

พี่ หนูไม่ไหวแล้ว บ้านหลังที่ 5 แล้วนะคะที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ มาขอแก้แบบตอนวินาทีสุดท้าย” อินทีเรียสาวหัวร้อนทักถามหัวหน้าทีม

ใจเย็นๆ ยังมีเวลาอีกอาทิตย์หนึ่ง พี่ติดอยู่อย่างเดียว คือทำยังไงที่พอมีตี่จู้เอี๊ยะอยู่ด้วยแล้ว ห้องนั่งเล่นยังคงคอนเซปต์เหมือนเดิม”

งานของเราครั้งที่แล้วก็ดูไม่จืดเลยนะคะ โดนศาลเจ้าจีนนี่แย่งซีนหมดเลย”

(เงียบไปสักครู่)

“ในเมื่อเราออกแบบกับสิ่งที่ไม่เข้าใจ จุดจบงานดีไซน์ชอบเป็นแบบนี้แหละ”

งั้นผมจะหาทางทำให้พวกพี่เข้าใจ ในการออกแบบกับตี่จู้เอี๊ยะเองครับ!”

สถาปนิกจูเนียร์ลูกครึ่งจีนคนหนึ่งลุกขึ้นยืน แสดงเจตนาในการช่วยแก้ปัญหานี้อย่างกล้าหาญ

ขอเวลาผม 3 วัน เดี๋ยวผมกลับมา ทันก่อนส่งแบบครั้งต่อไปแน่นอนครับ”

เฮ้ย…เอาจริงหรือวะ”

หนุ่มตี๋คนนั้นพยักหน้าตอบ แล้วก็ออกจากออฟฟิศไป ในขณะที่ทุกคนยังนั่งอึ้งอยู่

งั้นเราให้โอกาสมันไปก่อนละกัน ถ้ากลับมาแล้วไม่ได้อะไรค่อยไล่มันออก (หัวเราะ)” คำกล่าวอันใจเย็นจากหัวหน้าทีม ในขณะที่เดดไลน์กำลังใกล้เข้ามาอย่างใจร้อน

ที่มา | Day1

สถาปนิกหนุ่มเริ่มต้นวันลาด้วยการยืนวิเคราะห์พิจารณารูปทรงของ ตี่จู้เอี๊ยะ ในห้องนั่งเล่นที่บ้านตัวเอง แล้วก็พบว่าเป็นบ้านย่อส่วนที่ล้อกับสถาปัตยกรรมจีน ทำด้วยไม้ขนาดเล็กสีแดง มีความสูงประมาณระดับน่อง ประดับไปด้วยมังกรและตัวหนังสือจีน ที่สว่างแสบสันด้วยโคมไฟสีแดงเรืองร้อน คล้ายกับใจของเขาตอนนั้น

ตี่ หมายถึง ‘ดิน’ ส่วน จู้ หมายถึง ‘เจ้า’ ดังนั้น ‘ตี่จู้เอี๊ยะ’ จึงมีความหมายว่า เจ้าที่” เสียงอาม่าของสถาปนิกแว่วมาจากข้างหลัง พร้อมกล่าวต่อว่า

ในทุกสถานที่มีเจ้าของอยู่ ดังนั้นการมีศาลตั้งให้บูชาเป็นสิ่งจำเป็นตามธรรมเนียมความเชื่อโบราณ ไอ้ตี๋น้อย”

อ้าว แบบนี้ก็มีความหมายเหมือนศาลพระภูมิเลยสิครับ”

อาม่าพยักหน้าตอบพร้อมชี้ไปที่ข้างบ้าน “ข้างบ้านเรายังมีทั้งศาลพระภูมิและตั้งตี่จู้เอี๊ยะเลย เพียงตามความเชื่อของจีน ตี่จู้เอี๊ยะ คือเทพที่ทำหน้าที่ดูแลปกปักรักษาผู้อยู่อาศัยในบ้าน และใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด คล้ายเป็นสมาชิกในครอบครัว ทำให้เรามักต้องบูชาท่านภายในบ้าน

มีหลักง่ายๆ ก็คือต้องตั้งศาลท่านติดที่พื้น และหันหน้าประจันกับประตูเข้าบ้าน เพื่อที่ท่านจะคอยสอดส่องดูแลคนในบ้านเราอย่างชัดเจนไงล่ะ”

ตี่จู้เอี๊ยะ

บ้านคนจีน

สถาปนิกหันหลังไปก็พบว่า ตำแหน่งของตี่จู้เอี๊ยะในบ้านตนนั้นหันหน้าตรงกับประตูบ้านจริงๆ คล้ายกับเป็นกุศโลบายการดูแลบ้านทั้งกายภาพและจินตภาพ หากมีโจรบุกเข้ามาก็จะเห็นดวงไฟก่อน อาจทำให้เกรงกลัว หรือว่าลูกหลานเวลาแอบกลับบ้านดึกก็จะเจอศาลท่านเป็นด่านแรก ซึ่งก็อาจทำให้สำนึกผิดได้อย่างทันที

ด้วยแววตาที่พยายามค้นหาอะไรสักอย่างของสถาปนิกหนุ่ม ทำให้ไม่นานนักอาม่าเริ่มเอ่ยถึงตำนานศาลจีนนี้

เล่ากันไว้ว่า ประเทศจีนเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว มีชายรับใช้ท่านคหบดีคนหนึ่งถูกสั่งให้ช่วยนำพาลูกสาวของท่านคหบดีไปพบตนเองด้วยความคิดถึง เนื่องด้วยตัวท่านคหบดีเองถูกส่งไปทำงานที่แดนไกล

แต่ระหว่างการเดินทางดันเกิดพายุหิมะ ทำให้ลูกสาวของท่านคหบดีไม่สามารถต้านอากาศอันหนาวเย็นไหว ชายรับใช้จึงได้สละเสื้อผ้าของตนให้ลูกสาวของท่านคหบดี จนตัวเองเสียชีวิตลง

เมื่อท่านคหบดีทราบถึงความซื่อสัตย์และความเสียสละของชายรับใช้คนนี้ จึงได้สร้างศาลให้ชายรับใช้เป็นการตอบแทนพระคุณ ซึ่งต่อมาชื่อเสียงคุณความดีได้ถูกกล่าวขานในวงกว้าง ทำให้ศาลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเทพปกปักรักษา และถูกเรียกกันภายหลังว่า ‘ตี่จู้เอี๊ยะ’ นั่นเอง ซึ่งมักมีรูปตัวแทนเป็นชายมีอายุ มีหนวดเครา ผมขาว หน้าตาใจดี หรือบางคนเรียกว่า ‘แป๊ะกง’ นั่นเอง

โห…ตำนานนี้เล่นเอาน้ำตาผมตกเลยนะเนี่ย การตั้งศาลตี่จู้ในบ้านนี่มีความหมายและสิริมงคลจริงๆ”

เอาเถอะ…อาม่าช่วยเอ็งได้แค่นี้แหละ ว่าแต่ไอ้ตี๋ ทำไมวันนี้เอ็งไม่ไปทำงาน”

ที่ไป (ดู) | Day2

เพื่อเป็นการไม่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ สถาปนิกหนุ่มเลือกพุ่งตรงออกไปที่ ‘เยาวราช’ สถานที่ที่มีบ้านคนจีนอยู่กันอย่างหนาแน่น และแน่นอนว่าบ้านตึกแถวร้านค้าแทบทุกหลังที่เขาเดินผ่าน จะพบว่ามีศาลเจ้าจีนตั้งติดพื้นอยู่ตรงกับแกนประตูในระยะที่สามารถเห็นได้ง่ายดาย ไม่ว่าบ้านหรือร้านจะรกแค่ไหน ศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะก็สามารถวางแทรกเข้าไปได้อย่างลงตัวไม่น่าเชื่อ

ตี่จู้เอี๊ยะ

ตี่จู้เอี๊ยะ

ไม่นานนักเขาก็เดินมาสะดุดหยุดที่หน้าตึกหนึ่งที่แสบสันด้วยสีแดงของศาลเจ้าตี่จู้เอี๊ยะ ที่มีจำนวนมากจนเป็นกองพะเนิน คล้ายเตรียมจะเทกระจาดไปบนพื้นฟุตปาธ ซึ่งเป็นร้านทำศาลตี่จู้ขายเจ้าแรกของเยาวราช ที่มีนามว่า ‘จิบฮั้ว’

ตี่จู้เอี๊ยะ

70 ปีที่แล้ว ก่อนพ่อผมจะเริ่มทำตี่จู้จริงจังขาย ศาลรุ่นแรกๆ จะเป็นอะไรที่ง่ายมากๆ เขาเอาหีบไม้ใส่กระป๋องนมในยุคนั้นมาจับเปิดฝาพิงกับผนัง แล้วเอากระดาษแดงมาทากาวปะฝาหีบ เสร็จแล้วก็เขียนสีทองด้วยคำว่า ‘ตี่จู้’ ซึ่งแปลว่า เจ้าที่ ลงไป”

คำกล่าวอธิบายรูปลักษณ์ของตี่จู้เอี๊ยะรุ่น 1.0 ที่ค่อนข้าง DIY มากๆ เมื่อ 70 ปีที่แล้วจากลุงใจดีเจ้าของร้านจิบฮั้ว ซึ่งออกมาพูดคุยกับสถาปนิกหนุ่มที่ด้อมๆ มองๆ หน้าร้าน และยืนเนียนๆ เอาตลับเมตรมายืนวัดขนาดตัวศาลตามนิสัย

ตี่จู้เอี๊ยะ

ขนาดของตัวศาลที่เราทำจะวัดจากขอบหน้ากว้างของฐาน มีตั้งแต่สิบสองนิ้ว สิบหกนิ้ว สิบแปดนิ้ว รุ่นใหญ่ก็จะเป็นยี่สิบสี่นิ้ว แต่ก็เคยมีคนสั่งใหญ่สุดขนาดสี่สิบสองนิ้ว ซึ่งขนาดพวกนี้ต้องมีระยะลงเลขมงคลเท่านั้น” ไม่นานนักลุงเจ้าของร้านก็ดึงตลับเมตรจีนที่มีแถบสีแดงสลับสีดำออกมาวัดโชว์คล้ายอวดสถาปนิกหนุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าผลงานทุกหลังลงสีแดงไม่มีพลาด

ความกว้างฐานในเลขมงคลก็เพียงพอสำหรับการวางเครื่องน้ำชาและกระถางธูป ส่วนความสูงจากพื้นถึงยอดก็ต้องลงเลขมงคลสีแดงเหมือนกัน”

โห นี่ลุงแทบไม่ต้องรู้เรื่องระยะของฟังก์ชันสิ่งของเลย แต่ใช้ระยะตัวหนังสือมงคลแทน แบบนี้ก็ได้หรือครับ”

อ้าว ได้สิ สมัยก่อนตอนพ่อแม่เรามาจากจีนแกก็เอาวิชาช่างไม้จีนมาด้วย ทำเป็นไม้บรรทัด ไม้แกะสลักคำจีน พวกนี้แจกจ่ายไปทั่ว ระยะพวกนี้จริงๆ เคยมีตำราอยู่ แต่ตอนนี้เหลือแค่อยู่ในหัวเรา” ลุงเจ้าของร้านทำท่าชี้ที่ขมับคล้ายอวดสถาปนิกหนุ่ม (อีกแล้ว) พร้อมชวนดูตลับเมตรจีนอย่างละเอียดยิ่งขึ้น

ศาสตร์ตลับเมตรจีนแบบนี้เรียกว่า ‘หลู่ปัง’ เป็นมรดกทางปัญญาด้านหนึ่งของวิชาฮวงจุ้ย คิดค้นโดยท่านปรมาจารย์หลู่ปัง ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งช่างของจีน โดยถูกคิดเพื่อใช้ในงานก่อสร้างของคนจีนสมัยก่อน

แถบวัดของหลู่ปังจะแบ่งเป็น 2 สี สีแดงจะมาพร้อมอักษรมงคล 4 ตัว ส่วนสีดำจะมาพร้อมอักษรไม่มงคล 4 ตัว ซึ่งในช่วงความยาวหนึ่งจะมีการสลับสีและคำคละกันไป โดยที่แถบหลู่ปังจะมี 2 ชั้น ชั้นบนใช้กับคนเป็น และชั้นล่างใช้กับคนตาย (สุสาน)

ตี่จู้เอี๊ยะ

ตี่จู้เอี๊ยะ

นอกจากเรื่องระยะเลขมงคล ในตัวศาลก็ยังมีประดับคำกลอนมงคลและมังกรติดเอาไว้ด้วยนะ เพื่อความสิริมงคล ส่วนรูปแป๊ะกงหรือรูปปั้นนั้น จะมีหรือไม่ก็ได้แล้วแต่เจ้าที่ตรงนั้นเป็นใคร เพื่อนผมคนหนึ่งมีตี่จู้เจ้าที่แขกด้วย เพราะบ้านอยู่สี่แยกบ้านแขก เลยทำศาลจีนแบบไม่มีรูป”

แสดงว่าการตั้งตี่จู้เอี๊ยะก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อแต่ละคนเลยสิครับ”

จริงๆ ก็ใช่นะ แต่ละคนเชื่อคนละแบบมันปรับเปลี่ยนได้นะตามยุคสมัย แต่สุดท้ายการตั้งตี่จู้คือการทำให้คนสบายใจ ที่ทำศาลอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนทำบุญเหมือนกันนะ”

“เหมือนผมรู้ขึ้นมาแล้วว่าต้องเอาอะไรกลับไปใช้ทำงานออกแบบแล้ว”

เอาตลับเมตรจีนไหมร้อยห้าสิบบาท ที่นี่มีขาย”

ความเชื่อสิครับ โธ่”

ที่เปลี่ยน | Day3

พวกสิ่งประดับเยอะๆ พวกมังกรและคำกลอน เป็นเพียงเติมเสริมเข้าไปตามยุคสมัย นั่นทำให้หน้าตาตี่จู้เลยค่อยๆ เปลี่ยนไป จนเป็นอย่างที่เราเห็นกัน สมัยก่อนเป็นแค่รูปแบบบ้านไม้จีนปกติไม่ดูเยอะขนาดนี้ จากที่ผมศึกษามา”

คำบอกเล่าจาก พี่เจสันติ โล่พัฒนานนท์ เจ้าของธุรกิจศาลเจ้าโมเดิร์นชื่อว่า ‘ภวน’ ที่สถาปนิกหนุ่มก็โชคดีบังเอิญพบเจอเมื่อไม่นานนัก

เรื่องมีอยู่ว่า ภรรยาของพี่เจที่เป็นสถาปนิกออกแบบภายใน พบว่าเวลาถ่ายรูปพอร์ตฟอลิโองานบ้านลูกค้าของตน แล้วมักโดนศาลเจ้าแย่งซีนเสมอ และด้วยความหงุดหงิดตรงนี้ก็เลยออกแบบศาลเจ้าใหม่แทนเสียเลย

ภรรยาพี่เองที่เป็นสถาปนิก เลยใช้วิธีหลับตาแล้วค่อยๆ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกทีละอย่าง เอาเฉพาะส่วนที่จำเป็น ให้มีความบริสุทธิ์ของความโมเดิร์นไปเลย”

คำว่า ‘Ornament is Crime’ หรือหมายความว่า ‘เครื่องประดับตกแต่งคืออาชญากรรมทางสถาปัตย์’ วาทกรรมในวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ลอยมาในหัวสถาปนิกหนุ่มทันที

อดอล์ฟ ลูส (Adolf Loos) สถาปนิกชาวออสเตรียเจ้าของวาทกรรมนี้ เคยได้เขียนบทวิพากษ์งานสถาปัตยกรรมอันหรูหราอู้ฟู่ในช่วงปี 1903 ว่างานประดับตกแต่งนั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็นและทำลายความบริสุทธิ์ของงานสถาปัตยกรรมไป อันเป็นผลส่งต่อให้เกิดยุคงานออกแบบโมเดิร์นในเวลาต่อมา จะว่าไปก็แอบคล้ายสถานการณ์ของรูปแบบตี่จู้เอี๊ยะในประเทศไทยเราปัจจุบันเช่นกัน (?!)

ศาลเจ้าโมเดิร์น ศาลเจ้าโมเดิร์นร้านภวน

โดยงานออกแบบศาลของพี่เจเน้นความเรียบและความคมของเส้นศาลเจ้าเป็นหลัก เพื่อให้กลมกลืนไปกับงานบิลท์อินตกแต่งภายในบ้านปัจจุบัน ตัวศาลเจ้าตี่จู้ของพี่เจจะเป็น Made to Order ดังนั้นเรื่องการใช้งานจะปรับเปลี่ยนไปตามเจ้าของบ้านได้ด้วย

เช่นถ้าเจ้าของบ้านต้องจุดธูปเทียนบ่อย ฐานวางก็จะทำจากกระจกให้ทำความสะอาดง่าย หรือถ้าต้องไหว้ด้วยน้ำชาบ่อย ก็ทำลิ้นชักเป็นลูกเล่นเติมไว้เก็บอย่างสะดวกด้วย ทั้งวัสดุการทำสีก็สามารถเลือกเงาสะท้อนหรือว่าผิวด้านก็ได้ แล้วแต่ความชอบ รวมถึงพยายามให้ความสว่างด้วยการซ่อนไฟ LED แทนการใช้โคมเทียน

ตั้งปัญหา-วิเคราะห์-ออกแบบใหม่ พวกพี่ทำตามกระบวนการออกแบบพื้นฐานแบบนี้เลย แต่งานออกแบบของพวกพี่ก็ยังอิงเลขมงคลอยู่นะ เพราะมันเป็นระยะที่ถูกต้องจริงๆ

ส่วนใหญ่ขนาดปกติจะอยู่ในช่วงประมาณหกสิบคูณหกสิบเซนติเมตรวัดจากฐาน ถ้าเป็นพวกทาวน์เฮาส์ก็จะเล็กลงมาหน่อยเป็นสี่สิบคูณสี่สิบเซนติเมตร” พี่เจเริ่มอธิบายในรายละเอียดของงานดีไซน์

ตอนนั้นเอง สถาปนิกหนุ่มนึกขึ้นได้อีกว่า ระยะความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตรนั้น คือระยะมาตรฐานของการซอยช่องบิลท์อินของพวกตู้ชั้นวางของทั่วไปในตำราตะวันตก รวมทั้งความสูง 60 เซนติเมตร จะเป็นระดับสายตาของคนทั่วไปเวลานั่งกับพื้น ซึ่งน่าจะพอเหมาะสำหรับการนั่งจุดธูปไหว้แล้วมีสมาธิกับการมองศาลเจ้า ดังนั้นถ้าเราเข้าใจระยะตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการออกแบบพื้นที่รองรับไว้ก่อน

ทำให้เขาคิดต่อได้ว่า ถ้าตี่จู้เอี๊ยะเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบภายในมากขึ้น ความสว่างจากไฟสีแดงของตัวศาลก็ช่วยทำให้เกิดการปรับอารมณ์ของพื้นที่ได้ชัดเจน รวมทั้งการหาตำแหน่งวางที่ดีช่วยทำให้กลายเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญ ที่มีทั้งเรื่องราวและดีไซน์ไปในทางเดียวกัน และชูเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมตะวันออกที่สามารถเพิ่มมูลค่างานดีไซน์อีกด้วย

พวกซินแสเคยมาเห็นงานออกแบบผมนะ แต่ก็ไม่ได้ท้วงติงอะไร แสดงว่าจริงๆ ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่ออกแบบอยู่ มันก็ไม่ได้ผิดธรรมเนียมอะไร แล้วก็ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วย”

แบบนี้ แสดงว่าตี่จู้แบบโบราณนั้นไม่ใช่สิ่งผิดแปลกปลอมในปัจจุบัน เพียงแต่ควรปรับตามยุคสมัยนี่เอง”

ใช่แล้ว ส่วนตัวผมนะ ผมเชื่อว่าปัจจุบันเจ้าที่ท่านก็คงอยากอยู่ในบ้านแบบสมัยใหม่ด้วยแหละ (หัวเราะ)”

…….

กลับมาที่ออฟฟิศแห่งหนึ่ง

“เฮ้ย ไอ้ตี๋มันกลับมาแล้ว เป็นไง ได้เรื่องไหม” เสียงหัวหน้าทีมสถาปนิกกล่าวขึ้น

“ได้มาหลายเรื่องเลยพี่ ผมว่าคราวนี้งานเราต้องเหนือกว่าคินโฟล์กแน่ๆ ครับ” สถาปนิกตี๋กล่าว

“ไหนมีไอเดียอะไรที่ไปเจอ รีบว่ามา งานจะไม่ทันแล้ว!” ทุกคนในออฟฟิศรีบวิ่งกรูเข้ามาเพื่อฟังสถาปนิกตี๋

“ไอเดียการออกแบบพื้นที่ให้เข้ากับตี่จู้เอี๊ยะ ที่แท้จริงมันเป็นแบบนี้ครับ……….”

ตี่จู้เอี๊ยะ

ตี่จู้เอี๊ยะ

หมายเหตุ
*ตัวละครในบทความบางท่านเป็นบุคคลสมมติขึ้น
ขอขอบคุณ
พานิตา ขุนฤทธิ์ และ ร้านภวน
คุณเรืองศักดิ์ สรรค์ธีรภาพ เจ้าของร้านทำศาลเจ้าจีน ‘จิบฮั้ว’
คุณสันติ โล่พัฒนานนท์ เจ้าของธุรกิจศาลเจ้าโมเดิร์น ‘ภวน’ www.pawana.in.th | Facebook : ภวน ภาวนา
ข้อมูลอ้างอิง
www.kapook.com
https://en.wikipedia.org/wiki/Ornament_and_Crime

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น