เนื้อเพลง Home ของธีย์ ไชยเดช บอกว่า “บ้านนี้จะมีความงามได้ถ้ามีเธอ”
แต่ในความเป็นจริง การที่บ้านมี ‘เธอ’ อาจไม่สำคัญเท่ามี ‘ท่าน’
‘ท่าน’ ที่ว่าคือ เทพเทวดาและวิญญาณที่สิงสถิตอยู่บริเวณหน้าบ้านของเรา นอกจากพ่อแม่ พี่น้อง หรือสุนัขเฝ้าบ้านผู้น่ารัก ก็ยังมีท่านเทพเทวดาที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของบ้าน คอยดูแลปกปักรักษาและให้พรแก่สมาชิกในบ้าน
การสร้างบ้านหลังใหญ่ของเราจึงต้องนึกถึงการสร้างบ้านหลังเล็กให้เทพเทวดาอาศัย หรือที่เรียกกันว่า ‘ศาลพระภูมิ’ ควบคู่ไปด้วย
ศาลหน้าบ้านเหล่านี้เป็นงานสถาปัตย์ที่ผนวกความเชื่อแบบไทยๆ ไว้ได้น่าสนใจมาก แต่โรงเรียนสถาปัตย์ไม่ค่อยกล่าวถึงสักเท่าไหร่ เราเลยขอหยิบเรื่องสถาปัตย์ของศาลพระภูมิมาเล่าสู่กันฟังว่า มีอะไรสนุกๆ แอบซ่อนอยู่บ้าง
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่
การออกแบบบ้านให้ใครสักคน สถาปนิกต้องเข้าใจผู้อยู่อาศัยก่อนออกแบบ การตั้งศาลให้เทพเทวดาอยู่อาศัยก็ต้องเข้าใจตัวตนของท่านก่อนเช่นกัน
คนไทยรับการบูชาเทพเทวดามาจากศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ดังนั้นการสร้างวิมานหรือการตั้งศาลให้เทพเทวดามาอาศัยเพื่อกราบไหว้ จึงเป็นการยืมรูปแบบสถาปัตยกรรมหรืองานประดับของวิหารเทวาลัยที่โด่งดังของจังหวัดต่างๆ มาใช้ไฟฉายย่อส่วนให้เล็กลง เช่น พระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี หรือพระราชวังบางปะอินที่อยุธยา (ถ้านึกภาพไม่ออกก็กูเกิลเลยครับ)
เล่ากันว่า การออกแบบศาลในยุคแรกๆ ทางกรมศิลปากรส่งช่างฝีมือกระจายตัวไปตามที่ต่างๆ เพื่อสร้างและกำหนดรูปแบบศาลเทพเทวดาที่ถูกต้องตามขนบประเพณีไว้เป็นตัวอย่างให้ร้านขายศาลทั่วไปทำตาม ก่อให้เกิดรูปแบบสถาปัตย์ทรงมาตรฐาน และตกทอดเป็นมรดกมาถึงทุกวันนี้
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการกำหนดรูปแบบศาลก็คือ ยศถาบรรดาศักดิ์ของเทพเทวดาที่จะมาประทับ เราจึงแบ่งศาลได้เป็น 3 ประเภท
ประเภทแรก ‘ศาลเทพ’ เจ้าของวิมานนี้คือเหล่าเทพชั้นสูงของฝั่งพราหมณ์ ตั้งแต่องค์พระพรหม องค์พระพิฆเนศ องค์จตุคามรามเทพ และองค์พระตรีมูรติ เรามักเรียกศาลเทพเหล่านี้ว่า ‘ศาลพระพรหม’ เนื่องด้วยว่าท่านเป็นเทพยอดนิยมในการเชิญมาบูชา นอกจากจะมีบรรดาศักดิ์สูงสุด ท่านยังใจดีต่อคนมากราบไหว้ ขออะไรก็มักจะได้รับสิ่งนั้น คนทั่วไปจึงนิยมตั้งท่านไว้บูชาหน้าสำนักงานหรืออาคารสำคัญ
สิ่งที่น่าสนใจในการออกแบบศาลพระพรหมคือ ต้องเปิดซุ้มทางเข้าใหญ่ๆ ทั้งสี่ด้านศาล เพราะองค์พระพรหมมีพระพักตร์ 4 พระพักตร์ และหัน 4 ฝั่ง เวลาท่านประทับอยู่ข้างในต้องสอดส่องได้ทั่วบริเวณ และการที่ศาลเปิดซุ้มถึง 4 ด้าน จึงมีลักษณะคล้ายศาลากลางแจ้ง
สิ่งสำคัญในการออกแบบศาลพระพรหมอีกอย่างที่จะผิดไม่ได้เลยคือ ต้องมีเสาค้ำจากพื้นขึ้นมาเสาเดียวเท่านั้น ตามความเชื่อเรื่องการยกวิหารประทับบนยอดเขาพระสุเมรุ และอาจเป็นการถอดรูปแบบฐานหินจากงานสถาปัตย์เทวสถานแบนๆ ในอดีต เอามายืดให้สูงขึ้น
ศาลประเภทที่สองคือ ‘ศาลพระภูมิ’ ศาลนี้จะเป็นของใครไม่ได้นอกจาก องค์พระภูมิ ตามความเชื่อองค์พระภูมิมีฐานะเป็นรุกขเทวดา หรือเทวดาที่สถิตตามต้นไม้ คำว่า ‘ภูมิ’ หมายถึง ‘ดิน’ องค์พระภูมิสำหรับคนไทยก็คือ เทวดาที่ปกปักรักษาที่ดินนั้นๆ
ลักษณะประจำตัวขององค์พระภูมิคือ มือซ้ายถือถุงเงิน มือขวาถือพระขรรค์ ท่านจึงทั้งปกป้องและให้สินทรัพย์กับเรา บ้านคนทั่วไปเลยนิยมตั้งศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิต้องมีเสาเดียวเหมือนศาลพระพรหม แต่ลักษณะไม่ใช่ศาลากลางแจ้ง เพราะไม่จำเป็นต้องเปิด 4 ด้าน เราจึงเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายวิหารเทวาลัยอย่างชัดเจน และตัวศาลต้องเปิดโถงด้านหน้าให้ท่านยืนในวิหารได้อย่างสง่างาม
ศาลประเภทสุดท้ายคือ ‘ศาลเจ้าที่’ หรือ ศาลตายาย ซึ่งก็คือบ้านของดวงวิญญาณที่อยู่ในสถานที่ตรงนั้นมาก่อน หรือ ผีเจ้าที่นั่นเอง (ที่เรียกตายายเพื่อให้ดูเป็นมิตรขึ้น)
การออกแบบศาลเจ้าที่ต้องมี 4 ขา คล้ายโต๊ะ ตามความเชื่อว่าสร้างเลียนแบบบ้านไทยยกใต้ถุนสูง เนื่องจากเจ้าที่ไม่ใช่เทพเทวดา รูปแบบศาลจึงมักมีหน้าตาเหมือนบ้านมนุษย์ จำพวกบ้านไม้เรือนไทยโบราณ ซึ่งคุ้นตากันในหนังผีทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่มีหน้าที่บางอย่างคล้ายกัน บางบ้านก็เลยตั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่เป็นแพ็คเกจคู่กันไปเลย โดยให้ศาลเจ้าที่อยู่ต่ำกว่าศาลพระภูมิเล็กน้อย
ระยะและฟังก์ชันที่แฝงอยู่ในศาล
สถาปนิกที่ฝึกวิชามาระดับหนึ่งแล้วมักสนใจเรื่องขนาดของสิ่งต่างๆ รอบตัว การออกแบบขนาดของศาลเทพเทวดาเหล่านี้จึงน่าสนใจมากๆ เช่นกัน
เรามีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับร้านทำศาลพระภูมิชื่อ ‘อินทรศิลป์’ ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้เราเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นศาลพระพรหม ศาลพระภูมิ หรือศาลตายาย ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ก็ต้องมีความสูงของตัวศาลเท่ากับตำแหน่งระดับสายตาของเจ้าของบ้าน
ระดับแท่นจานของไหว้ก็ต้องอยู่เหนือริมฝีปากของเจ้าของบ้าน ซึ่งเหนือริมฝีปากก็คือระดับสายตานี่แหละ ถ้าวิเคราะห์ในมุมของสถาปนิก ความสูงระดับนี้จะสะดวกเมื่อยืนจุดธูปและเอื้อมมือไปปักในกระถาง เห็นและหยิบจับของเซ่นไหว้ภายในศาลได้อย่างสะดวก รวมถึงได้สบตากับเทพเทวดาที่เราบูชาอย่างเต็มที่เวลาขอพร
ตามคติความเชื่อของการตั้งศาลต้องทำแท่นฐานรองพื้นศาลเสียก่อน การทำแท่นนี้เป็นตัวช่วยในการปรับระดับความสูงศาลให้เข้ากับสรีระเจ้าของบ้าน
ขนาดพื้นที่รอบศาลก็น่าสนใจ เนื่องจากต้องมีการวางอุปกรณ์ตกแต่งศาลให้มีความสมบูรณ์และขลังมากยิ่งขึ้น เช่น เหล่าตุ๊กตาบริวาร ตั้งแต่พระราม นางรำ สนมบ่าวชายหญิง ม้าและช้างที่เป็นพาหนะ รวมถึงมีโอ่งเงินโอ่งทองวางไว้ช่วยเรื่องเก็บเงินทอง ตบท้ายด้วยการพาดพวงมาลัยและพันผ้าสามสีเพื่อความกลมกล่อม ช่างที่ผลิตศาลคิดเผื่อระยะโดยรอบไว้ให้วางสิ่งเหล่านี้เพียงพอมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
เรื่องสนุกและน่าสนใจมากที่ทางร้านอินทรศิลป์กระซิบกับเราก็คือ ระยะความกว้างยาวของศาลต้องใช้ตลับเมตรของจีนวัดเท่านั้น เพราะตลับเมตรจีนนอกจากจะมีหน่วยวัดแบบระบบเมตริกทั่วไป สายวัดนี้ยังมีแถบตัวอักษรจีน มีช่องสีแดง (มงคล) และสีดำ (ไม่มงคล) สลับกันไป ขนาดของศาลต้องเป็นตัวเลขมงคลเท่านั้น
เมื่อเราดึงตลับเมตรจีนมาวัดขนาดศาลเพื่อพิสูจน์ ก็ต้องอุทานเบาๆ ว่า “เฮ้ย…ลงเลขมงคลจริงด้วย” ทำให้เรามีความรู้เพิ่มอีกอย่างว่า คนไทยเรามีเสรีทางความเชื่ออย่างแท้จริง ไม่ว่าความเชื่อประเทศไหนเข้ามา ก็เอามายำรวมกันในที่เดียวได้อย่างลงตัว
การซื้อศาลก็เหมือนการลงทุนซื้อบ้าน
“การออกแบบบ้านเราจะซี้ซั้วไม่ได้นะเว้ย เขาเก็บเงินทั้งชีวิตมาให้เราออกแบบให้” เราจำคำพูดของรุ่นพี่คนหนึ่งได้แม่น
การปลูกบ้านสักหลังจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แค่สร้างบ้านให้ถูกใจอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ เพราะการซื้อศาลมาตั้งบูชาก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เช่นกัน
บางคนอาจมองว่า ศาลเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน ดังนั้นต้องเลือกให้ถูกใจที่สุด หากเรากดค้นหาศาลทางอินเทอร์เน็ต จะพบรูปแบบศาลที่หลากหลาย วัสดุก็หลากหลาย ตั้งแต่เรือนไม้ไทยประเพณี ทรงปราสาทวิหารโบราณที่ทำจากปูนทาด้วยสีสันสดใส ศาลโมเดิร์นทำจากคอนกรีตดิบๆ สไตล์ลอฟต์ หรือฉีกแนวมาเป็นศาลมินิมอลเรียบๆ ทำจากหินอ่อนอิตาลีก็ยังมี
เมื่อเรามีรูปแบบศาลในใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปขอแนะนำให้เดินทางไปหยิบจับของจริงที่ร้านขายศาล เพราะศาลหลังหนึ่งราคาไม่ใช่ถูกๆ เลย (มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน) ถ้ามีเงินหน่อยการลงทุนในรายละเอียดที่พิถีพิถันของศาลเป็นเรื่องที่ดี จะไม่ได้ต้องมาปวดหัวทีหลัง แค่บ้านเรามีรอยร้าวก็กลัวจะแย่ หากศาลพระภูมิคุณภาพไม่ดีแล้วเกิดแตกหัก เราอาจไม่เป็นอันหลับนอนเลยทีเดียว
เมื่อได้ศาลที่ถูกใจแล้ว การเลือกตำแหน่งที่ตั้งก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องตั้งอยู่หน้าทางเข้าหลักของบ้านเสมอ ห้ามหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และเงาของบ้านห้ามทับบนศาล แน่นอนว่า ในปัจจุบันบ้านบางหลังอาจไม่มีพื้นที่พอให้วางตามความเชื่อนี้ได้ กลับกัน เงาทับศาลอาจช่วยรักษาสีของศาลให้ยังคงสดไว้ได้
แม้รูปแบบของศาลจะมีให้เลือกมากมายตามความพอใจ แต่ความพอใจนั้นก็อาจต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นๆ ด้วย เช่น อาจารย์ประจำตระกูล หรือซินแซประจำบ้าน นั่นทำให้เราอาจจะได้ศาลที่หน้าตาไม่ถูกใจ แต่ได้ความสบายใจกลับมาแทน
บนความสบายใจนั้น รูปแบบของศาลควรเคารพบริบทของเจ้าของของศาลด้วยเช่นกัน ศาลพระภูมิที่แปลกมากๆ ที่เคยได้ยินมา มีตั้งแต่บ้านบาหลี ยันวิหารเสาโรมันแบบกรุงเอเธนส์ ก็อาจจะสุดทางเกินไป
ลองนึกถึงเวลาเรายกมือไหว้ศาลกรุงเอเธนส์ ในขณะเทวดาในศาลยังแต่งชุดยุคโบราณ ก็อาจจะไม่ค่อยเข้ากัน หากเบื่อรูปแบบไทยเดิม การตัดจบด้วยการเลือกศาลโมเดิร์นเรียบๆ อาจเข้าท่ากว่า เพราะไม่ว่าท่านจะใส่ชุดโบราณแค่ไหน ก็ยังดูเข้ากันอยู่
ขณะที่โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน ความเชื่อก็ผันแปรและมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงความเชื่อบางอย่างที่ค่อยๆ จางหายไป คนรุ่นใหม่เลือกไม่ตั้งศาลมากขึ้น บ้านในเมืองก็มีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับตั้งศาลพระภูมิหน้าบ้าน ทำให้เราแอบคิดว่าถ้าไม่มีพื้นที่หน้าบ้านแล้วจะทำยังไง นั่นทำให้นึกถึงการตั้งศาลเจ้าที่แบบจีน ‘ตี่จู้เอี๊ย’ เพราะมักตั้งในบ้านเป็นอินทีเรีย ซึ่งอาจเป็นแนวคิดเรื่องศาลเจ้าที่แบบคนจีนที่มักอาศัยในพื้นที่แออัดนั่นเอง
ส่วนการตั้งศาลพระภูมิมีวิธีคิดการวางในเชิงภูมิสถาปัตย์ อาจเกี่ยวเนื่องกับที่บ้านไทยตามต่างจังหวัดมักมีพื้นที่โล่งๆ หน้าบ้าน ไม่แน่ในอนาคตศาลพระภูมิของเราอาจต้องย้ายมาเข้าภายในบ้านแทนก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการไม่ตั้งศาลก็อาจไม่ใช่เรื่องผิดธรรมเนียมอะไร สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่ออะไร สบายใจกับการใช้ชีวิตแบบไหน และไม่รบกวนใคร
สวัสดีครับ