เมื่อใดที่ได้ยินคำว่า ‘คนไร้บ้าน’ จินตนาการของเรามักติดภาพว่า คนกลุ่มนี้น่ากลัวและเป็นภัยคุกคาม รวมถึงเรื่องความสกปรกที่พบเจอตามริมท้องถนนในยามค่ำคืน และเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่มักจูงลูกให้เดินห่างๆ คนไร้บ้าน

มือที่คอยปิดตาเด็กน้อยให้รู้สึกปลอดภัยในวันนั้น ทำให้ผู้ใหญ่ในวันนี้หลายคนไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับคนไร้บ้าน และปล่อยให้ผ่านไปเหมือนไม่เคยมีพวกเขาอยู่ในสังคม

คนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คงกำลังคาดหวังว่าจะได้อ่านปัญหาโครงสร้างสังคมในเชิงสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นในบรรทัดถัดไป เรื่องอาจไม่ลงลึกเช่นนั้น เนื่องจากผู้เขียนสนใจเรื่องของสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ ทำให้เรื่องคนไร้บ้านถูกมองในเชิงการใช้พื้นที่เสียแทน (ต้องขออภัยผู้อ่านบางท่าน)

แล้ว ‘บ้าน’ ของคนไร้บ้าน จริงๆ มีหน้าตาเป็นอย่างไรล่ะ…

คนไร้บ้าน

เราได้ไปเยือนงาน ‘อร่อย RICE บ้าน’ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 60 ที่ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นงานที่ยกพลเครือข่ายคนไร้บ้านมาทำกิจกรรมสนุกๆ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติกับคนทั่วไป ด้วยการให้คนไร้บ้านทำอาหารแข่งกับร้านอาหารดัง จัดโดย สสส. ร่วมกับ WHY NOT Social Enterprise

เราจึงได้รู้จัก ลุงดำ ชายฉกรรจ์อารมณ์ดีวัย 63 ปี ผู้เคยมีเตียงนอนเป็นพื้นฟุตปาธนาน 3 ปี ลุงมาพร้อมรองเท้า Nike Air Max 1 และเสื้อเชิ้ตสีดำมีลายเส้นขาวตัดแนวตั้งเรียบร้อย

ลุงดำ หรือ สุทิน เอี่ยมอินทร์ เคยมีชีวิตเป็นคนไร้บ้านมานานกว่าสิบปี ตั้งแต่ 2544 จนกลายมาเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ทั้งที่ยังไม่มีบ้านของตนเองจริงๆ ปัจจุบันแกอาศัยอยู่ที่ ‘ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย’ หรือ ‘ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู’ ในปัจจุบัน

“เกิดอะไรขึ้นครับลุงดำ…ทำไมตอนนั้นถึงมาเป็นคนไร้บ้านได้”

“ลุงเกิดที่กรุงเทพฯ แถวๆ ทวีวัฒนา ช่วงใกล้ๆ ปี 40 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ลุงตกงานจากการเป็นลูกจ้าง เลยมาอยู่บ้านเฉยๆ ลุงก็ไม่อยากเป็นภาระของที่บ้านให้น้องๆ ต้องมาดูแล แล้วพอตัดสินใจได้ คืนนั้นก็หนีออกจากบ้านเลย (หัวเราะ)”

หากไม่นับเรื่องอารมณ์งอแง ปัจจัยภายในที่ดันให้การที่คนจะออกมาใช้พื้นที่สาธารณะเป็นที่ซุกหัวนอน คือปัจจัยทางโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจ และปัจจัยโครงสร้างทางครอบครัว ซึ่งต้องมีทั้ง 2 ปัจจัย เช่นเดียวกับลุงดำ เมื่อมี 2 ปัจจัย ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะออกมาหาบ้านใหม่ในที่สาธารณะ…

คนไร้บ้าน

“ตอนเริ่มเป็นคนไร้บ้าน ลุงดำออกมานอนที่ไหนครับ”

“เริ่มแรกลุงนอนสนามหลวงเลย เข้ามาจับจองต้นมะขาม ตรงนั้นใครๆ ก็เข้ามานอน เพราะมีแสงสว่างตลอด มันดีตรงที่ทำให้เราปลอดภัย อากาศก็ไม่ร้อน รวมทั้งมีสังคมพวกเดียวกันตรงนั้น แถมใกล้แหล่งที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ด้วยนะ”

โดยสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว เราต้องการที่นอนที่ปลอดภัย มิดชิด ถึงจะเรียกว่าได้เต็มปากว่าบ้าน แต่ที่นอนของคนไร้บ้านมักเป็นพื้นที่ที่สาธารณะที่ค่อนข้างมีความสำคัญ มีพื้นที่กว้างและมีแสงไฟสอดส่องตลอดเวลา ดังสถานที่ยอดฮิต เช่น สนามหลวงในอดีต หรือว่าปัจจุบันเป็นถนนราชดำเนินและลานคนเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมืองเราทั้งนั้น

พอมีคนไร้บ้านไปนอนในที่เหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมทำแบบนี้ นี่เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นหน้าตาของเมืองนะ สิ่งนี้เป็นตัวกระตุ้นทำให้เรารู้สึกว่าคนไร้บ้านมีปริมาณมาก ทั้งที่จริงแล้ว คนไร้บ้านทั้งหมดในกรุงเทพฯ มีประมาณ 1,300 คน (ผลสำรวจจาก สสส. เมื่อปี 2558) เทียบกับปริมาณคนกรุงเทพฯ ทั้งหมดประมาณ 5.5 ล้านคน นั่นคือ 0.0002%

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านไม่อาจนับเป็นตัวเลขได้ พวกเขาอาจสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของที่สาธารณะในหลายที่ แต่การบังคับไม่ให้พวกเขานอนตรงนั้นก็อาจไม่ใช่เรื่องดี

“ในแต่ละวันลุงดำทำอะไรบ้างครับ”

“ลุงต้องรีบตื่นก่อนสว่าง เพราะเกรงใจคนที่จะมาแถวนั้น ห้องน้ำสวนสราญรมย์จะเปิดช่วงเวลานั้นพอดี ลุงก็ต้องรีบเข้าไปใช้ห้องน้ำ รีบอาบน้ำแปรงฟันอะไรที่นั่น เสร็จแล้วก็รอเวลาที่ร้านรถเข็นข้าวไข่เจียวกระทงราคาถูกๆ มาขาย ดีอย่างที่ลุงยังมีเงินไปซื้อข้าวเขา วันนึงอย่างน้อยต้องกินให้ได้สัก 2 มื้อ”

แล้วคนอื่นๆ ที่ไม่มีเงินล่ะครับ ไปหากินที่ไหน (อันนี้เราไม่ได้ถามลุงเอง เพราะลืม)

สถานที่แจกอาหารฟรียังไงล่ะ (คำตอบนี้มาจากพี่เจ้าหน้าที่หน่วยงานพัฒนาที่อยู่อาศัย)

ในหมู่คนไร้บ้านมีการแบ่งปันข้อมูลของกิจกรรมและตำแหน่งเวลาที่ชัดเจน อย่างเรื่องแจกอาหารฟรี ถ้าอยู่แถวสนามหลวง เขาจะรู้ว่าที่โบสถ์ซิกข์ย่านพาหุรัดมีแจกอาหารตอน 9 โมงเช้า แต่ถ้าไม่ชอบอาหารรสชาติมันๆ ก็จะบอกต่อให้ไปที่สภาสังคมสงเคราะห์ซึ่งแจกอาหารตอน 11 โมง ถ้าข้ามมาฝั่งปิ่นเกล้า จะมีวัดเจ้าอามที่แจกข้าวฟรีตอน 11 โมงเช่นกัน ส่วนมื้อค่ำก็อาจจะมีที่หน้าหัวลำโพงหรือลานคนเมือง

จะเทียบได้ไหมว่า การก้าวเดินจากห้องนอน ไปห้องอาบน้ำ และเดินห้องครัวหาอาหาร ของคนไร้บ้าน อาจจะใช้พื้นที่ทางเดินยาวไปหน่อย แต่ถ้าพอเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ แล้ว เราจะเห็นอาณาบริเวณการใช้พื้นที่ของคนไร้บ้าน และจะพบว่ามีห้องใหม่ๆ มากกว่าแค่ห้องนอนที่สนามหลวง

“หลังจากนั้น ลุงก็เริ่มทำงาน เดินเก็บขยะหาของเก่าไปขาย ทำไปเรื่อยๆ คนไร้บ้านแถวนั้นยุคนั้นมีอาชีพหลากหลายนะ มีตั้งแต่แจกใบปลิว เปิดแผงขายของ รับจ้างก่อสร้าง ไอ้พวกรับจ้างไปปรบมือก็มีนะ แต่ลุงเลือกเก็บขยะเพราะแก่แล้ว ร่างกายทำได้แค่นั้น”

“ลุงรู้ได้ไงว่าพวกไหนทำอะไร”

“นอนดูก็รู้แล้วครับ เพราะแต่ละคนจะหายไปในช่วงเวลาที่ต่างกัน พวกรับจ้างปรบมือจะหายไปทั้งคืน พวกแจกใบปลิวจะหายไปช่วงสั้นๆ หรือพวกรับจ้างก่อสร้างก็จะมีรถขับมารับ”

เรียกได้ว่าช่วงเวลาเข้าออฟฟิศนั่นเอง ไม่ต่างจากพวกเราที่ใช้เวลากับ Second Place ในสถานที่ทำงาน  ไม่ใช่คนไร้บ้านทุกคนที่จะเป็นขอทาน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เราจะไม่ค่อยเห็นคนไร้บ้านมากเท่าตอนมืดค่ำ

อีกอย่างที่สายตาของสถาปนิกมองไม่ค่อยเห็นก็คือร่องรอยของที่อยู่อาศัยของพวกเขา

“ลุงดำได้กำหนดตำแหน่งที่นอนของตัวเองที่สนามหลวงไหมครับ”

“ไม่มีนะ ใครมาจองต้นมะขามต้นไหนได้ก่อนก็นอนตรงนั้นเลย บางคนก็มีเสื่อมาจองก่อนไม่นาน ปกติกว่าลุงจะมานอนก็เกือบๆ ตี 2”

“ลุงมีอุปกรณ์เครื่องใช้ติดตัวอะไรบ้างครับ”

“สิ่งสำคัญมากสำหรับการเป็นคนไร้บ้านคือ ต้องมีของให้น้อย ไม่พะรุงพะรัง คว้าง่ายๆ เวลาต้องหนี (หัวเราะ) หรือเวลาเขาขโมยไปจะได้ไม่เสียดาย ในกระเป๋าของลุงพกของอยู่ไม่กี่อย่าง ผ้าห่มผืนนึง แปรงสีฟันกับยาสีฟัน เสื้อผ้า 2 ชุด เวลานอนก็ห่มผ้า ใช้กระเป๋าเป็นหมอน”

ของเพียงเท่านี้ก็เอาตัวรอดได้แล้ว สำหรับการเป็นคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ

ประเทศไทยซึ่งมีภูมิอากาศอยู่สบายๆ ชิลล์ๆ ไม่ต้องทำเพิงหลังคาชั่วคราว จึงเป็นข้อดีที่ไม่ต้องหาวัสดุอะไรมาก เพียงแต่เรามักเห็นว่าพวกเขานิยมเลือกตำแหน่งที่นอนที่มีการยกสเต็ปจากพื้นทางเดินปกติ เช่น ชานพักบันไดหน้าร้านตึกแถว หรือว่าเก้าอี้ม้านั่งในที่สาธารณะ เหมือนเป็นสัญชาติญานของการกำหนดขอบเขตพื้นที่การนอนไปโดยอัตโนมัติ

แต่ก็มีเรื่องฝนที่เป็นเงื่อนไขหนึ่ง เขาแก้เกมด้วยการไปขอนอนหน้าบ้านตึกแถวสักที่ โดยตกลงว่าจะเฝ้าและดูแลความสะอาดหน้าบ้านให้เจ้าของบ้านตรงนั้น วินวินทั้งสองฝ่าย

หากเทียบกับคนไร้บ้านในฝั่งยุโรป เราจะเห็นรูปแบบของที่พักอาศัยของคนไร้บ้านที่ค่อนข้างชัดเจนมากกว่า เนื่องด้วยภูมิอากาศที่หนาวเย็น เราจะเคยเห็นตั้งแต่บ้านกระดาษลัง ไปจนถึงบ้านรถเข็น หรือการที่สถาปนิกตั้งใจลงมาออกแบบที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านอย่างจริงๆ จังๆ ในที่สาธารณะ

คนไร้บ้าน

www.metalocus.es

ตัวอย่างเช่น งาน ‘A-KAMP47’ โดยสำนักงานสถาปนิก Malka Architecture จากปารีส ที่ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงทดลอง เพื่อเป็นกลุ่มบ้านชั่วคราวของคนไร้บ้านสำหรับฤดูหนาว ด้วยการฝากโครงเต็นท์ ติดไปกับนั่งร้านที่วางตัวขนานไปในแนวตั้ง ตั้งชิดกับผนังเลียบทางรถไฟลอยฟ้าในเมืองมาร์กเซย์ ฝรั่งเศส

ด้วยหน้าตาของการออกแบบที่เก๋ไก๋และดูทดลองเกินไป จึงได้รับคำวิจารณ์พอสมควร แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่ใช้แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้ดียิ่งขึ้น

คนไร้บ้าน

adsttc.com

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานภาครัฐของเราได้แก้ปัญหาในอีกทางที่ดีเช่นกัน โดยการจัดที่อยู่อาศัย ‘ศูนย์พักพิงผู้ไร้บ้าน’ เหมือนที่ลุงดำอาศัยอยู่ มีการตกลงสัญญาเก็บค่าอยู่อาศัย และมีการทดสอบวินัยการออม เพื่อฝึกนิสัยให้คนไร้บ้านมีศักยภาพพอที่กลับเข้าสู่ระบบที่แท้จริง

แม้ศูนย์พักพิงผู้ไร้บ้านคล้ายจะบ้านของลุงดำไปแล้ว แต่ก็ยังอาจเป็น ‘บ้านล่องหน’ ของลุงดำอยู่

“คำว่า ‘บ้าน’ ของลุงดำตอนนอนสนามหลวงกับตอนนี้แตกต่างกันไหมครับ”

“ใช่แล้ว ตอนนั้นแทบไม่มีความนึกฝันอะไร ใช้ชีวิตไปวันๆ ลุงไม่เคยเห็นมีใครพูดว่า ‘กลับบ้าน’ เลย มีแต่ที่จะพูดว่า กลับหัวลำโพงก่อนนะ กลับสนามหลวงก่อนนะ”

“แล้วบ้านในความคิดของลุงตอนนี้ล่ะครับ”

“(เงียบเล็กน้อย) บ้านในความคิดของลุงน่าจะเป็นบ้านชั้นเดียวนะ แบบง่ายๆ มีห้องเอาไว้เก็บของเก่าที่จะเอาไว้ขาย ไม่มีอะไรมาก มีเพื่อนดีๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็พอแล้วครับ”

นกน้อยยังทำรังแต่พอตัว จึงไม่มีอะไรน่ากลัวสำหรับการอยากมีบ้านเล็กๆ ของคนไร้บ้าน

‘บ้านล่องหน’ ของลุงดำกำลังค่อยๆ ก่ออิฐฉาบปูนขึ้นมาใหม่ ด้วยศักยภาพในวัย 63 ปี ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝันที่ไม่ช้าไป จากเดิมที่มีห้องนอนคือสนามหลวง และมีห้องน้ำเป็นสวนสราญรมย์

เสาเข็มและหลังคาของบ้านล่องหนที่กำลังจะค่อยๆ ปรากฏในอนาคตนี้ เราเชื่อว่าจะมีความแข็งแรงมั่นคงไม่แพ้บ้านราคาพันล้านแน่นอน

สำหรับกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในบ้านล่องหน ชีวิตของพวกเขาอาจจะไม่ได้พึ่งพาอาศัยแค่ปัจจัย 4 แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตยังคงดำรงอยู่ได้คือ ปัจจัยที่ 5

นั่นคือ ความฝัน

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ๆ คนไร้บ้านที่กำลังฝันอยากจะมีบ้าน ณ ที่นี้ด้วยครับ

คนไร้บ้าน

Save

Save

Save

Save

ขอขอบคุณ

คุณสุทิน เอี่ยมอินทร์ (ลุงดำ) ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน
คุณสมพร หารพรม เจ้าหน้าที่หน่วยงานพัฒนาที่อยู่อาศัย

บรรณานุกรม

  1. บทความ บ้านไร้รูปแบบ ของคนไร้บ้าน หนังสือ “บ้าน บ้าน = BAAN BAAN” (2560)
  2. www.designboom.com/architecture/malka-architecture-erects-a-kamp47-stealth-shelters-from-tents/

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น