หากการให้เวลา ‘คอย’ ให้ใครสักคนเข้ามาในชีวิต คนที่เข้ากับเราได้ เพียงแค่มองตาก็รู้ใจ และสัมผัสได้ว่าเขาคนนั้นคือคนที่ ‘ใช่’ สำหรับเรา เป็นหนึ่งในกระบวนการของความรักที่สวยงาม และคุ้มค่าสมราคาแก่ได้การรอคอยคนที่ใช่ คนบางคนกลับใช้เวลารอคอยคนที่ใช่ไม่นานนัก

“ถ้าเป็นช่วงเช้าผมใช้เวลารอคนนึงประมาณ 10 – 15 นาทีครับ”

คือคำตอบเรื่องประสบการณ์ของการรอคนที่ใช่ของ พี่ประจักษ์ วินมอเตอร์ไซค์หมายเลข 7 หน้าสถานที่ราชการแห่งหนึ่งในเขตพญาไท แน่นอนว่าการรอคอยคนที่ใช่ของพี่ประจักษ์ คือผู้โดยสารซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของเขาไปยังจุดที่ปักหมุดหมายไว้ด้วยเวลาที่น้อยที่สุด โดยสถิติแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการพี่ประจักษ์ในแต่ละวันมีถึงร้อยกว่าคนเลยทีเดียว

“ช่วงบ่ายๆ จะรอนานหน่อยนะ กว่าคนจะมาเรียกก็เกือบๆ 30 นาที วิ่งเสร็จก็กลับมานั่งรอคิวต่อที่เก้าอี้ตรงนี้ ก็นั่งคุยสัพเพเหระกับเพื่อนไป ไม่ก็นั่งกินข้าวรอคนมาเรียกเราไปทำงานต่อนี่แหละครับ”

พี่ประจักษ์เล่าต่อถึงกิจกรรมระหว่างรอทำงาน พลางจิบน้ำที่ตักจากกระติกพลาสติกสีน้ำเงินขนาดใหญ่ข้างๆ กาย ในบริบทสบายๆ บนเก้าอี้ม้านั่งไม้เก่าๆ ภายใต้เงาของร่มสนามสีฉูดฉาดเข้ากับสีเสื้อกั๊กวิน ที่เรียงตัวเป็นแถวขนานไปกับแนวมอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้ริมฟุตปาท เพื่อนวินมอเตอร์ไซค์บางคนนอนไกวเปลที่แขวนกับต้นไม้ข้างๆ บางคนกำลังแกะกับข้าวถุงใหญ่ใส่จานข้าว (หยิบจานมาจากไหนไม่รู้) เพื่อเอามานั่งกิน ทุกอย่างดูคล้ายเป็นช่วงเวลาพักกลางวันในห้องนั่งเล่นของออฟฟิศสักแห่ง ที่กลมกลืนแต่เกะกะไปกับฟุตปาทริมทาง

บรรยากาศแนวนี้เป็นภาพที่เราเจอบ่อยๆ แต่อาจไม่ได้ตั้งข้อสังเกต สำหรับเรา พื้นที่ซุ้มพี่วินมอเตอร์ไซค์แบบนี้เป็นรูปแบบพื้นที่สถาปัตย์แปลกๆ ของคนไทย น่าสนใจและน่ากล่าวถึงพอๆ กับเรื่องของความรัก

คอยเวิร์กกิ้งสเปซ

ในขณะที่เทรนด์การออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตย์ในรูปแบบธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีคำว่า ‘โคเวิร์กกิ้งสเปซ (Co-working Space)’  หรือพื้นที่เอาไว้นั่งทำงานที่ไม่ใช่ร้านกาแฟ แต่ก็ไม่ใช่ออฟฟิศที่เป็นกิจจะลักษณะ มักมีความเอกเขนก มีลูกเล่นทางการออกแบบ คล้ายเป็นห้องนั่งเล่นที่นั่งทำงานรวมกับคนแปลกหน้าได้ เหมาะสำหรับเหล่าฟรีแลนซ์สมัยใหม่ที่หมุนเวียนมาใช้พื้นที่แบบนี้ นั่งทำงานตามเวลาที่ตัวเองสะดวก เดี๋ยวนี้ไม่ว่าลูกค้าจะจ้างออกแบบสถาปัตย์เชิงพาณิชย์อะไรก็ตามแต่ นอกจากร้านกาแฟที่นิยมแล้ว ก็จะมีโคเวิร์กกิ้งสเปซพ่วงตามมาด้วย เพื่อเป็นจุดขายของโครงการ

แต่ ‘คอยเวิร์กกิ้งสเปซ’ ดูจะมีจำนวนมากกว่า

พื้นที่นั่งคอยลูกค้าเรียกไปทำงานของเหล่าพี่วินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นอาชีพฟรีแลนซ์เช่นกัน ที่เราเห็นตามปากซอยออกแบบโดยพี่วินเหล่านั้น ถือเป็นงานอินทีเรียดีไซน์กลางแจ้ง ที่จัดสรรสพื้นที่บนทางเท้าให้กลายเป็นห้องนั่งเล่นเพื่อรอลูกค้า ซึ่งเป็นที่ที่เรากำลังนั่งคุยกับพี่ประจักษ์แบบสบายๆ นั่นเอง

“เก้าอี้ไม้ที่น้องนั่งอยู่เนี่ย พวกพี่ออกเงินแล้วช่วยกันทำเอง ยกมาวางเองเลยนะ ร่มสนามพวกนี้ก็ไปช่วยๆ กันหามา พอแดดมาจะได้หลบ ฝนตกก็จะได้กันฝนทั้งเราเองและลูกค้าที่มารอ” พี่ประจักษ์เริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของเฟอร์นิเจอร์รอบตัวเขา พร้อมชี้ไปที่พื้นที่นั่งของม้านั่ง ให้เห็นว่ามีการพ่นสีคัดลายเป็นตัวหนังสือว่า “วินหน้ากรมสถานที่ราชการxxx” อย่างชัดเจน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของพื้นที่บริเวณนี้แบบแมนๆ

การออกแบบพื้นที่ซุ้มวินมอเตอร์ไซค์ทั่วไป นอกจากจะให้ความสำคัญกับที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ และพื้นที่แขวนป้ายเลขคิวที่ต้องมี ปัจจัยอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็สำคัญ เช่น เก้าอี้พลาสติกที่เอาไว้นั่งคอย (บางวินยกโซฟามาเลย) กระติกน้ำรวมขนาดใหญ่ไว้แบ่งกันจิบน้ำเย็นดับกระหาย กระทั่งพวกสื่อโสตทัศนูปกรณ์ ตั้งแต่วิทยุ เครื่องเสียง โทรทัศน์ ที่มักขาดไม่ได้ก็คือแผ่นเกมกระดานหมากรุก เอาไว้สร้างความผ่อนคลายให้เหล่านักบิดระหว่างคอยเวิร์กกิ้ง เหมือนเป็นห้องนั่งเล่นจริงๆ

“แต่ละวินมีข้าวของแตกต่างกันนะ แล้วแต่วินนั้นจะตกลงกัน บางวินเอาเตาแก๊สมาตั้งไว้เผื่อหุงอาหารกันเอง กินเสร็จก็เก็บให้เรียบร้อยไม่ให้หาย อย่างวินถัดไปนี่ลงทุนมาก พวกเขาลงเงินรวมกันสร้างซุ้มที่มีกันสาดยาว เอาไว้ให้ลูกค้าหลบแดดหลบฝนระหว่างยืนต่อคิว พวกพี่คำนึงถึงลูกค้าก่อนเสมอนะ แต่วินพี่เงินไม่เยอะเลยได้แค่ร่มสนามก่อน (หัวเราะ)” เราสังเกตเห็นว่าพี่วินในซุ้มวินถัดไป กำลังเอาหม้อดินมาตั้ง เอาผักเอาหมูที่ซื้อมาวางบนเก้าอี้พลาสติก เตรียมจะมาทำจิ้มจุ่มกัน พร้อมกับเริ่มจุดไฟจากถ่านควันโขมง เหมือนที่ตรงนั้นกำลังกลายเป็นห้องครัวซะงั้น!?

คอยเวิร์กกิ้งสเปซ

คอยเวิร์กกิ้งสเปซ

ช่วงเวลานั้นเรานึกถึงวลีคำว่า ‘Form follows function’ ที่มีความหมายว่า รูปทรงของงานสถาปัตยกรรมจำต้องคล้อยตามประโยชน์ใช้สอยเสียก่อน ของ หลุยส์ ซัลลิแวน สถาปนิกชาวอเมริกัน บิดาของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เมื่อปี 1947 แต่คอยเวิร์กกิ้งสเปซเหมือนจะใช้ทฤษฎีที่กลับหัวกลับหาง โดยที่ form ไม่ follow function และ function ก็ไม่ follow อะไรเลย… กล่าวได้ว่า ที่ตรงริมฟุตปาทตรงนี้จะเป็นห้องอะไรก็ได้แล้วแต่ความต้องการของเหล่าพี่วินมอเตอร์ไซค์ หาจำเป็นต้องมีทฤษฎีการออกแบบ ไม่อาจคล้ายเรื่องความรัก บางครั้งอาจไม่ต้องรอทฤษฎีเข้ามากำหนดให้ยุ่งยาก

เพื่อนสถาปนิกคนหนึ่งเคยเล่าให้เราฟังว่า พื้นที่ซุ้มของเหล่าพี่วินมอเตอร์ไซค์นิยามในเชิงวิชาการได้ว่า ‘ปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมปรสิตในพื้นที่เมือง’ อาจฟังดูแล้วรู้สึกน่าขนลุกขนพอง แต่การนิยามด้วยคำนี้ค่อนข้างอธิบายอาการของซุ้มพี่วินได้ชัดเจน หากริมถนนฟุตปาทหรือซอกหลืบเสาไฟฟ้ามุมตึกแห่งใดโดนซุ้มพี่วินมอเตอร์ไซค์เข้าไปจับจอง พื้นที่ตรงนั้นจะถูกปรับกลายเป็นห้องนั่งคอยลูกค้า ที่มีรูปแบบสอดคล้องตามสภาพพื้นที่ตรงนั้น มักใช้ของรอบตัวแบบง่ายๆ เพื่อเข้ามาจัดวางตกแต่ง คล้ายว่าพื้นที่ริมถนนถูกปรสิตเกาะทำให้กลายสภาพ

เราเคยเห็นซุ้มวินมอเตอร์ไซค์หนึ่ง เอาท่อนไม้หนาๆ มามัดลวดยึดไว้กับเสาไฟ 2 ต้น เพื่อเป็นม้านั่งยาวๆ หรือว่าเคยเห็นซุ้มวินที่ถือโอกาสใช้รั้วเตี้ยๆ ของอาคารริมถนนเป็นที่แขวนหมวกกันน็อกและเสื้อวิน กลายเป็นตู้เสื้อผ้าสาธารณะ ถ้าลองสังเกตดีๆ แล้ว เราจะเห็นความคิดสร้างสรรค์แบบไทยๆ ที่สะท้อนอยู่ในการจัดแจงออกแบบห้องนั่งเล่นกันเองในแต่ละซุ้ม พี่วินพิสูจน์ให้เราเห็นว่าห้องนั่งเล่นไม่จำเป็นมีผนังหรือกำแพงกั้นก็ได้ วิธีคิดเหล่านี้นักออกแบบอาจไม่สามารถคิดได้เลย หากได้รับโจทย์ให้ปรับปรุงพื้นที่ริมถนนให้กลายเป็นห้องนั่งเล่น (อันนี้พูดจริงนะ)

“การที่พวกพี่เอาเก้าอี้มาวางบนที่สาธารณะแบบนี้ตามกฎหมายถือว่าผิดนะ คนอื่นทำแบบนี้ไม่ได้หรอก…” พี่ประจักษ์กล่าวถึงความเป็นจริงที่พวกเขาได้เข้าไปแทรกแซงพื้นที่สาธารณะ พร้อมกล่าวต่อว่า

“แต่น้องจะเห็นว่ารอบๆ วินพี่สะอาดมากนะ พวกพี่เจรจาข้อแลกเปลี่ยนกับทาง กทม. ว่า เดี๋ยวพวกพี่จะดูแลความเรียบร้อยบริเวณนี้เอง ทั้งเรื่องขยะและเรื่องคน” เป็นข้อแลกเปลี่ยนแบบไทยๆ กับภาครัฐ เพื่อการดำรงอยู่ของคอยเวิร์กกิ้งสเปซแบบนี้ เราก็เห็นว่าซุ้มวินของพี่ประจักษ์ก็มีความสะอาดสะอ้านเลยทีเดียว โดยเฉพาะเก้าอี้หินอ่อนนี่ยังขาวสะอาดตามากๆ และมีถุงขยะและไม้กวาดแขวนเป็นเรื่องเป็นราว

คอยเวิร์กกิ้งสเปซ

หากความรักเปรียบคือการดูแลเอาใจใส่ ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เหล่าพี่วินมอเตอร์ไซค์กำลังกระทำอยู่เป็นเหมือนความรักที่มีต่อพื้นที่ของเมืองด้วย ถึงแม้ว่าบางคนมองว่าการที่เวลาซุ้มวินมอเตอร์ไซค์ไปตั้งที่ไหน ก็จะดูวุ่นวายไม่มีระเบียบเรียบร้อย ทำลายทัศนียภาพของฟุตปาทไป แต่สำหรับเราการที่มีซุ้มวินมอเตอร์ไซค์แบบพี่ประจักษ์ กลับทำให้เมืองแบบบ้านเรามีความสมบูรณ์และมีสีสันขึ้น เพราะช่วยลดช่องว่างของพื้นที่เมืองที่ไม่ปลอดภัย จุดไหนที่ค่อนข้างอับสายตา อันตราย หากมีซุ้มวินเข้าไปเกาะ ตรงนั้นจะมีความปลอดภัยขึ้นทันที เพราะมีกลุ่มคนเข้าไปนั่งเฝ้าเกือบทั้งวัน เป็นกลไกการดูแลเมืองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

“ถ้าซุ้มวินพวกพี่ไปขวางทางเดินอะไรยังไง ก็ขออภัยนะครับ แต่อาชีพแบบพี่ยังไงก็ต้องมีที่นั่งรอลูกค้าแบบนี้แหละ” พี่ประจักษ์กล่าว ก่อนที่คำถามของเรากำลังหมดลง ไม่นานนักก็ถึงคิววิ่งรถมอเตอร์ไซค์ของพี่ประจักษ์ พี่แกก็วิ่งไปกระโดดคร่อมรถเครื่องคู่ใจ เพื่อบิดไปส่งลูกค้า ขณะที่ตัวพี่ประจักษ์ไปออกรอบ แน่นอนว่า ห้องนั่งเล่นริมฟุตปาทรอคอยพี่ประจักษ์กลับมาใช้งานนั่งคอยลูกค้าคนต่อไป  

แม้บางเวลาเราอาจไม่เห็นตัวเหล่าพี่วินมอเตอร์ไซค์ แต่ก็ยังมีร่องรอยของซุ้มวินมอเตอร์ไซค์ ทั้งเก้าอี้และของใช้จิปาถะทั้งหลายเหลือไว้ให้เห็นเสมอ บางครั้งก็เห็นโซ่คล้องข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ด้วย สิ่งเหล่านี้เหล่านี้แสดงให้เห็นการใช้งานทางสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน เป็นการยืนยันว่าพื้นที่สาธารณะตรงนี้ถูกใช้งานจริง ด้วยกลุ่มคนที่คอยให้บริการเพื่อแก้ปัญหาการเดินทาง ดังนั้นซุ้มวินมอเตอร์ไซค์อาจถือว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ที่เกิดขึ้นจากกลไกของการพัฒนาเมืองแท้ทรูเลยล่ะ

หากวันใดวันนึง เราได้นัดใครสักคนที่เราคิดว่าใช่ แล้วไม่อยากให้เขาต้องรอคอยนาน เราขอแนะนำให้รีบเดินไปที่ ‘คอยเวิร์กกิ้งสเปซ’ แล้วใช้บริการพี่วินมอเตอร์ไซค์เพื่อเดินทางตามเสียงหัวใจ ไปหาเธอคนนั้นที่ไม่ได้พบเจอกันได้ง่ายๆ ในเมืองที่โคตรวุ่นวายแห่งนี้

ขอให้มีความสุขกับการซ้อนมอเตอร์ไซค์ครับ

คอยเวิร์กกิ้งสเปซ

คอยเวิร์กกิ้งสเปซ

ขอขอบคุณ: ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น