เราเชื่อว่าใครหลายคนต้องเคยสัมผัสประสบการณ์อันหอมหวานในวันวาน จากสถานการณ์ที่ทำให้เราได้เอื้อมแตะคำว่า ‘อิสรภาพ’ จากขอบเขตพื้นที่อันจำเจ ด้วยการเอาเท้าเหยียบสันกำแพง กระโดดก้าวออกผ่านเหล็กอันแหลมคมของ ‘รั้ว’ โรงเรียนออกมาได้สำเร็จ

เรื่องลับริมรั้ว

Credit Photo: news.mthai.com

หลายคนมีภาพจำว่า รั้วโรงเรียนมีไว้ป้องกันนักเรียนโดดเรียนออกไปเที่ยว แต่แท้จริงแล้ว รั้วมีหน้าที่ป้องกันการบุกรุกและป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเข้ามาในสถานที่นั้นๆ เหมือนเป็นผู้ช่วยของลุงยาม เพราะเมื่อยามเหงา อาจไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เท่าที่ควร  

‘รั้ว’ เป็นของคู่บ้านคนไทยเสมอมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 ให้นิยามรั้วไว้ว่า ‘เครื่องล้อมกันเป็นเขตของบ้านเป็นต้น มักทำด้วยเรียวไผ่ ต้นไม้ขนาดเล็กหรือสังกะสี เช่น รั้วมะขามเทศ รั้วสังกะสี, โดยปริยายเรียกทหารซึ่งทำหน้าที่เป็นกำลังป้องกันชาติว่า รั้วของชาติ’ ในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร เราอาจเห็นรั้วมะขามเทศได้ไม่ง่ายนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นรั้วที่ทำจากอะไร มันก็ยังเป็นรั้วในความหมายที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน

กำแพงความสูงท่วมหัวซึ่งขอบบนประดับด้วยเหล็กแหลมขึ้นสนิมตะมุตะมิ แถมด้วยประตูรั้วเหล็กดัดลายดอกไม้แต่งแต้มด้วยสีทอง ดูเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ในเชิงสถาปัตยกรรมสำหรับคนไทย รั้วถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะบ้านเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นส่วนตัวสูงสุด รั้วจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างความเป็นส่วนตัวกัน การลงทุนสร้างรั้วจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่า แม้แต่คนงบน้อยก็ยังขอใช้เศษขวดแก้วแทนเหล็กแหลมให้อุ่นใจ

เรื่องลับริมรั้ว

สายตาของสถาปนิกอาจมองว่า รั้วเป็นทั้งปัญหาและการแก้ปัญหาในการออกแบบบ้าน รั้วที่ทึบตันสร้างปัญหาในแง่มุมมองของอาคารทั้งภายนอกและภายใน บ้านบางหลังถึงจะออกแบบสวยงามเพียงใด ก็ถูกรั้วบังจึงต้องออกแบบรั้วให้สวยอลังการแทน เพื่อให้คนภายนอกคิดว่าตัวบ้านคงอลังการเหมือนรั้ว จนบางทีเราก็อดคิดไม่ได้ ว่า เจ้าของบ้านอยากอวดรั้ว หรืออวดบ้านมากกว่ากันแน่

หากมองจากในบ้านออกไป กำแพงอาจทำให้เจ้าของบ้านอึดอัดและอบอ้าว เพราะรั้วสร้างความทึบตัน และอาจกั้นทางลมด้วย ถ้าไม่ได้ออกแบบรั้วให้โปร่งระบายลมได้ดี คนทั่วไปก็มักแก้ปัญหาด้วยการจัดสวนเล็กๆ ไว้บังความทึบ และลากพัดลมมาเป่าแก้ความอบอ้าวเวลานั่งเล่นนอกบ้าน

การใช้รั้วก็เป็นวิธีแก้หลายๆ ปัญหาที่ดีเช่นกัน อย่างการป้องกันอันตรายจากการโจรกรรมที่ค่อนข้างชุกชุมในเมืองไทย  ยิ่งของในบ้านมีมูลค่ามากเท่าใด จิตใต้สำนึกของเรายิ่งอยากสร้างสิ่งป้องกันให้แน่นหนามากขึ้นเท่านั้น

การออกแบบรั้วไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ออกแบบบ้านให้ถูกใจเจ้าของก็ยากแล้ว การออกแบบรั้วจึงมักทำกันตามรูปแบบมาตรฐาน เน้นให้ปลอดภัยหายห่วง ไม่ป่วยใจ จนต้องฝากบ้านไว้กับตำรวจ

การออกแบบรั้วยังมีเรื่องน่ารู้อีกอย่างก็คือ ‘รั้วถือว่าเป็นอาคาร’ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.. 2544 กล่าวไว้ว่า ‘อาคาร หมายถึง … ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึง รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กฎกระทรวงกำหนด’

การตั้งรั้วบ้านริมถนนสาธารณะจึงจำเป็นต้องไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างเสียก่อน ในขณะที่การสร้างรั้วฝั่งที่ติดกับบ้านข้างๆ เราไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้าง แต่เราจำเป็นต้องขออนุญาตเพื่อนบ้านก่อนเพื่อความปรองดอง

เรื่องลับริมรั้ว

หากเราลองถอยห่างจากรั้วออกมาอีก จะพบว่า หลายคนมักบ่นว่า การออกแบบอาคารในบ้านเมืองเราไม่สวยและไม่เป็นมิตร สำหรับเราแล้ว เหตุผลหลักไม่ใช่เรื่อง การออกแบบตัวอาคาร แต่เป็นเรื่องของ ‘รั้ว’ ที่กั้นระหว่างถนนกับบ้านหรืออาคารอื่นๆ ต่างหาก

เราอยากชวนผู้อ่านทุกคนลองหลับตาและจินตนาการว่าเราเป็นพนักงานออฟฟิศผู้โชคดีที่บังเอิญจับฉลากให้ต้องเลิกงานดึก ณ ซอยที่ลึกที่สุดในย่านเอกมัย การย่างเท้าออกจากออฟฟิศเพื่อเดินไปโบกแท็กซี่ที่ปากซอยระยะทางเกือบกิโล เราจะพบแต่ความดำมืดไร้ชีวิตของซอยแคบๆ ยาวไปสุดลูกหูลูกตา ไร้ซึ่งดวงไฟจากเสาและและโคมหน้าบ้าน จะมีก็เพียงลำแสงจากไฟหน้ารถยนต์รอบดึกที่ผ่านแวะเข้ามาทักทายในบางครั้ง

ความโคตรไม่เป็นมิตรของสถานการณ์แบบนี้เกิดจากที่ถนนในซอยเส้นนั้น มีรั้วบ้านทึบๆ ยาวไปตลอดแนวทางเดิน ทำให้เราเหมือนถูกตัดขาดจากสัญญาณไวไฟของชุมชนและชีวิตผู้คนแถวนั้นโดยปริยาย คล้ายกำลังเดินเหงาๆ เพียงลำพังอยู่บนดวงจันทร์ที่ไร้ผู้คน (และไร้ผู้รัก)

จากที่กล่าวมาในข้างต้น การที่บ้านจะกั้นรั้วถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในความปกตินี้กลับทำให้เกิดความไม่ปกติ

ในบริบทของความเป็นเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร บ้านหลายหลังได้แบ่งตัวเองออกจากเมืองโดยไม่รู้ตัว ด้วยการนำรั้วมาวางบนรอยต่อระหว่างพื้นที่สาธารณะกับที่ดินตัวเอง และเมื่อมีรั้วจากหลายๆ บ้านมาชนกัน ก็กลายเป็นแนวกำแพงที่เชื่อมไปตลอดทาง ส่งผลให้เกิดพื้นที่อับสายตามากขึ้น อาจทำให้เกิดเหตุอาชญากรรมได้ง่ายขึ้น พื้นที่แบบนี้มักเกิดกับหมู่บ้านจัดสรร และโซนในเมืองที่นิยมปลูกบ้านเดี่ยวในที่ดินแปลงโต เช่น ย่านอารีย์ เอกมัย และทองหล่อ

เรื่องลับริมรั้ว

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า กำแพงเมืองจีน ณ กรุงปักกิ่ง หรือ กำแพงเยรีโค ณ ดินแดนปาเลสไตน์ ที่ใดเป็นจุดกำเนิดแนวคิดของการกั้นรั้วเพื่อแสดงอาณาเขตที่ดินเป็นแห่งแรก แต่อย่างไรก็ตาม ใน ค.. 1600 ประเทศอังกฤษได้เริ่มกำหนดกฎหมายให้ใช้มีการกั้นรั้วรอบบ้าน เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้อยู่อาศัยให้ชัดเจนเพื่อลดปัญหาการทะเลาะกับเพื่อนบ้าน แนวคิดนี้น่าจะส่งต่อไปทั่วโลก จนวนมาถึงบ้านไทยเราในทุกวันนี้

สิ่งที่แตกต่างระหว่างรั้วของฝรั่งกับเราก็คือ หน้าตารั้วของเขามีความเป็นมิตรมากๆ มักทำเป็นรั้วเตี้ยและปลูกต้นไม้ ลอกนึกถึงฉากในหนังอเมริกัน ที่พระเอกกำลังเดินจากบ้านและหันกลับไปทักป้าข้างบ้านที่กำลังรดน้ำต้นไม้ริมรั้วอยู่ อาจเป็นเพราะบ้านเมืองเขามีความปลอดภัยมากกว่าบ้านเรา จนไม่จำเป็นต้องทำรั้วบ้านไว้ป้องกันโจร แค่กำหนดขอบเขตที่ดินก็พอ เขาจึงทำให้รั้วให้เตี้ยลงได้ ซึ่งช่วยเปิดมุมมองหน้าบ้านให้ได้มองตากัน แชร์แสงไฟหน้าบ้านให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ทำให้เมืองให้มีชีวิตชีวา อีกทั้งยังลดจุดอับสายตาและลดพื้นที่เสี่ยงอาชญากรรมในเมืองได้อีกด้วย

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ในบ้านเราเริ่มมีแนวคิดทลายกรอบรั้วบ้านแบบทึบๆ แล้วเหมือนกัน แต่รั้วทึบๆ ที่เคยถูกสร้างไว้แล้วก็ยังคงมีอยู่ และเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์เซอร์ๆ แบบบ้านเรา (อีกแล้ว) แม้ว่าบางบ้านหรือหมู่บ้านจะจ้างยามมาดูแลอย่างแน่นหนาแล้วก็ตาม รั้วแบบนี้ก็ยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ

แต่มองในแง่ดี ในอนาคตเมืองไทยเราอาจจะมีรั้วที่ออกแบบให้แก้ปัญหาทั้งการโจรกรรมและสร้างมิตรก็เป็นได้ ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรมที่เผยแพร่ไปยังประเทศที่มีปัญหาแบบบ้านเราได้ด้วย

ก่อนสุดท้าย เราอยากจะย้อนกลับไปเมื่อเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ปี 3 (อีกแล้ว) ตอนนั้นได้รับโจทย์ให้ออกแบบโรงเรียนมัธยม ซึ่งกำหนดให้มีป้อมยามด้วย สิ่งที่เราออกแบบแถมลงไปด้วยก็คือ รั้วยาวๆ เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแล้ว ก็มีป้อมยามง่อยๆ แปะลงไปข้างรั้วนั้น

เรื่องลับริมรั้ว

อาจารย์ถามเราตอนตรวจแบบว่า ถ้าไม่มีรั้วกับป้อมยาม โรงเรียนสามารถสร้างความปลอดภัยด้วยตัวเองได้หรือไม่ ในตอนนั้นเราไม่มีคำตอบ อาจารย์ก็แนะนำเราไม่ได้เช่นกัน ตอนจบโปรเจกต์นี้ ป้อมยามและรั้วก็ยังคงอยู่ที่เดิม

ไม่ว่าจะเป็นรั้วโรงเรียนที่เราผู้เขียนไม่เคยปีนหนี หรือรั้วบ้านที่เล่ามาทั้งหมด การออกแบบรั้วอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยของคนในอาคาร  หลายครั้งที่รายการข่าวตอนเช้ารายงานว่า เหตุร้ายต่างๆ ถูกคลี่คลายด้วยเพื่อนบ้าน ที่คอยช่วยเหลือและแจ้งแก่ตำรวจ ดังนั้นมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้านอาจสำคัญกว่ารั้วบ้านด้วยซ้ำ

บางทีการลดรั้วลงและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบบ้านของเรา อาจเป็นการสร้างรั้วบ้านที่ปลอดภัยและแข็งแรงที่สุดก็เป็นได้นะ

สวัสดีครับ

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น